วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

วธ.ประเดิมงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดสารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน”



กระทรวงวัฒนธรรมเปิด “งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน” ณ วัดประยุรวงศาวาส  ภายใต้งานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 18.00 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กล่าวสัมโมทนียกถา และมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม  ผู้นำศาสนาต่างๆ หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรม ข้าราชการ ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ภายในพิธีเปิดงานมีการแสดงชุด “มิตรไมตรี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” หลังพิธีเปิดงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมด้วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและผู้บริหารเยี่ยมชมซุ้มสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนและซุ้มอาหารของชุมชน 

สำหรับงานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน จัดขึ้นวันที่ 19-23 เมษายน 2567  ภายใต้งานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ มีกิจกรรม การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงวงออร์เคสตร้า วงดนตรีสากล  วงดุริยางค์กรุงเทพมหานครและนักร้องศิลปินแห่งชาติ วงโยธวาทิต ลิเกรวมดาว  การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง การแสดงหุ่นกระบอกไทย การประกวดอาหารสามศาสน์ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “ปั่นจักรยานเที่ยววัดยามค่ำคืน” การสาธิตภูมิปัญญาด้านอาหารและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม

ขณะเดียวกันงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นวันที่ ๒๑ - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๗ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ภายในงานมีกิจกรรม เช่น ซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ การแสดงสวนแสงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครในยามค่ำคืน (Night Museum) นิทรรศการและการเสวนาวิชาการ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ตลาดย้อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตลาดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ตลาดอาหารไทย อาหารถิ่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ๕ แห่ง ที่เข้าร่วมจัดงานใต้ร่มพระบารมี ๒๔๒ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดให้ประชาชนเข้าชมนิทรรศการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้แก่ ๑.พิพิธภัณฑ์ศาลาว่าการกลาโหม ๒.พิพิธภัณฑ์ตำรวจ วังปารุสกวัน ๓.พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ ๔.พิพิธบางลำพู และ ๕.มิวเซียมสยาม

ทั้งนี้ งานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐยิ่งที่ได้ทรงนำพาประเทศชาติให้เจริญเป็นปึกแผ่นมั่นคง ทรงทำนุบำรุงศาสนา สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมให้เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนปัจจุบัน และเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจากมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้สู่ประชาชนและชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  “วัดรั้วเหล็ก” ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี เขตธนบุรี กรุงเทพฯ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา จึงได้อุทิศสวนกาแฟ ณ ตำบลกุฎีจีน ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม เริ่มสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๗๑ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า ๘ ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๗๙  

ต่อมาปีพ.ศ.๒๓๙๓ ได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า  “วัดประยุรวงศาวาส” ซึ่งคล้องกันกับพระราชทินนามที่ได้รับในเวลาต่อมา โดยชื่อของวัดนั้นมีความหมายว่า  “อารามแห่งวงศ์พระประยูรญาติ”  ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูงแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และเหล่า “ราชินิกุลบุนนาค”


วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567

“หมอชลน่าน” เปิดหอสงฆ์อาพาธดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย รพ.หนองคาย



หมอชลน่าน เปิดศูนย์หัวใจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพสู่อินโดจีน รพ.หนองคาย เพิ่มศักยภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งชาวไทย นักท่องเที่ยวและประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ทันเวลาพร้อมเปิดหอสงฆ์อาพาธดูแลสุขภาพพระสงฆ์ตามหลักพระธรรมวินัย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567  นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์หัวใจ และหอสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลหนองคาย โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ท่านคำพัน อั่นลาวัน เอกอัครรัฐทูต สปป.ลาว ประจำประเทศไทย นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เข้าร่วมงาน และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมุ่งให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์เชี่ยวชาญโรคเฉพาะทางสาขาต่างๆ ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและทันเวลา ลดการส่งต่อและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจังหวัดหนองคายมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวยาวตามลำน้ำโขงไปจนถึง จังหวัดบึงกาฬ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยต้องใช้เวลามาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจที่จำเป็นต้องสวนหัวใจให้การรักษาแบบเร่งด่วน และยังเป็นจังหวัดชายแดนที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษลุ่มน้ำโขงรองรับการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และ สปป.ลาว ที่จะมีทั้งนักท่องเที่ยวและประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขในทุกด้าน 

“ศูนย์โรคหัวใจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพสู่อินโดจีน โรงพยาบาลหนองคาย เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย มีห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือด (CATH LAB) พร้อมระบบปรับอากาศปลอดเชื้อ หออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจปลอดเชื้อ (CCU) ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งชาวหนองคายและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งชาว สปป.ลาว ได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน” นายแพทย์ชลน่านกล่าว 

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลหนองคายได้มีการจัดตั้งหอสงฆ์อาพาธขึ้นมาให้บริการโดยเฉพาะ โดยได้รับความเมตตาจาก พระเทพวชิรคุณ รศ.ดร. (พิศิษฐ์ ธรรมโรจน์) เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยพระอารามหลวง บริจาคเงินจำนวน 10,000,000 บาท ปรับปรุงหอสงฆ์อาพาธ ณ อาคารพระสิริปุณโณเมตตา ชั้น 9 ประกอบด้วย ห้องพิเศษ ห้องพิเศษรวม และห้องแยก รวม 28 เตียง และยังมีห้องสำหรับทำกิจสงฆ์ ซึ่งการบริการและดูแลรักษาทั้งหมดเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย 


รัฐบาลขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนส ดัน "นวดไทย-อาหารไทย-สมุนไพรไทย" เป็น Soft Power



วันที่ 20 เมษายน 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีนโยบายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างงาน ให้กับประชาชน รวมถึงสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของประเทศ ที่จะเป็นการยกระดับความสามารถของคนไทย ทั้งการอนุรักษ์ พื้นฟูและพัฒนาต่อยอดศิลปะ วัฒนธรรม ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรให้กับเกษตรกร เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนส นวดไทย และสมุนไพร เพื่อสนับสนุนนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดประชุมขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนส นวดไทย และสมุนไพร โดยการประชุมดังกล่าวได้มีการนำเสนอ (ร่าง)การแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเวลเนสและสมุนไพร คู่มือยาสมุนไพรที่ผลิตในประเทศไทย การดำเนินงาน Wellness และ Healthy City กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตำรับยาสมุนไพรแห่งชาติ 324 ตำรับ สมุนไพรประจำจังหวัด Advanced therapy medicinal products (ATMPs) รวมทั้งมีการพิจารณารายการผลิตสมุนไพรในโรงงาน WHO GMP ของกระทรวงสาธารณสุข ให้สอดคล้องกับสมุนไพรประจำจังหวัด การผลิตผู้ประกอบอาชีพด้านการนวดไทย การวิจัยเรื่อง Mesenchymal Stem Cells (MSCs) 

“แพทย์แผนไทยฯได้สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ โดยเฉพาะอาชีพนวดแผนไทย ที่ถือเป็นอัตลักษณ์ของไทย เป็นที่รู้จักของนานาประเทศ ซึ่งต่างประเทศมีความต้องการแรงงานกลุ่มนี้จำนวนมาก และยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ, อาหารไทย ,ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างพลังสร้างสรรค์ (Soft power) ของประเทศ“


"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ



วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า จากที่เป็นคนเชียงรายแท้ๆ วันนี้ไม่ได้ข้ามมายังแผ่นดินลาวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำมานาน ผมเคยมาที่นี่น่าจะเกิน 30 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เปลี่ยนไปมาก กลางคืนเป็นเมืองไม่หลับใหลแบบฮ่องกง กลางวันเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ จากที่ทราบคือ ประเทศลาวให้ นักลงทุนชาวจีนมาลงทุนระยะยาว จึงเกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และ"เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์" รวมทั้งกาสิโน ต้องบอกว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้ามองในสายตาของผมแล้ว หากปล่อยให้เจริญขึ้นเอง ก็คงจะใช้เวลาอีกพันปี แต่พอให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ ผมเห็นคนลาวที่ไม่มีงานทำ ก็มีอาชีพลืมตาอ้าปากได้ ไม่เพียงชาวลาว คนพม่าก็มาทำงานจำนวนมาก ด้วยแผ่นดินตรงนี้เชื่อม 3 ประเทศ โดยคั่นด้วยแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย-ลาว-พม่า โดยมียักษ์ใหญ่คือจีน เชื่อมโดยการเดินทางอยู่ไม่เกิน 6 ชม. ในการเดินรถไฟความเร็วสูงการเดินทางโดยเครื่องบินก็ง่ายเพราะอยู่ตรงกลาง และเชียงรายมีสนามบิน นานาชาติ น่าสนใจเข้าไปอีกมีทางเชื่อมออกทะเลทางเวียดนามและพม่า หมายความว่า สามารถจะเชื่อมทางธุรกิจขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 ประเทศ ที่อยู่ใกล้กัน



การลงทุนฝั่งลาว มีการลงทุนสัมปทานพื้นที่จากกลุ่มทุนจีนชื่อ กลุ่มดอกงิ้วคำ เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงที่มีจ้าวเหว่ย กลุ่ม คิงส์โรมัน บริหาร ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ในสายตาของผมเราไม่ต้องอิจฉาเขาหรือไม่ต้องไปแข่งกับเขาเลยครับ ถ้าประเทศไทยเราใช้ยุทธศาสตร์ในฐานะ อยู่กึ่งกลางของทุกประเทศข้างต้น ออกกฎหมายที่เหมาะสม เชียงรายจะกลายเป็นเมืองการค้าการลงทุนที่ใหญ่มาก ในภูมิภาคนี้ ไม่แน่อาจกลายเป็นศูนย์กลางทาง Finance แบบสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยภูมิประเทศโอบล้อมด้วยแผ่นดินรอบล้อมด้วยประเทศต่างๆ ไม่ติดทะเล ปลอดภัยจากสงครามจากทางทะเล อาจนำไปสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ผนวกกับ เชียงราย โดยเฉพาะเชียงแสน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีศิลปะและวัฒนธรรม ที่ยาวนาน เราจะสามารถขายการท่องเที่ยวขายเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นให้ต่างชาติ มาเยี่ยมชมเราได้อีกมาก

พอเดินทางกลับจากประเทศลาว ผมจึงถือโอกาสไปรดน้ำดำหัวท่านศุลกากรเชียงของ และได้ถือโอกาสหารือกับนายด่านเชียงของ ถึงแนวคิดการ ผลักดันการค้าชายแดน ที่เชียงของที่เชื่อมกับถนน R3A ของลาวเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงสู่จีน นายด่านให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก ตรงนี้ผมเริ่มเห็น โอกาสภูมิประเทศของเชียงราย ที่คล้ายกับสวิสเซอร์แลน การเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจทั้งการเงินการธนาคาร ธุรกิจการค้าขาย แน่นอนหากมีการหมุนเม็ดเงินลงทุนมาสู่เชียงราย อาจนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของโลก เบื้องต้นต้องผลักดันเชียงราย-เชียงใหม่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเสียก่อน โดยออกกฎหมายเฉพาะ และเชิญชวนองค์กรสันติภาพระหว่างประเทศมาตั้งสำนักงานที่นี่ ดึงการค้าการเงินการธนาคาร เพื่อผลักดันการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยมีความมั่นคงอยู่แล้ว อีกทั้งเชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้สะดวกขึ้น และดึงเม็ดเงินมาลงในพื้นที่ ก็อาจจะทำให้เชียงราย-เชียงใหม่ กลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย อย่างไรผมจะลองเอาโมเดลนี้ไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไปครับ


วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567

"ดร.มหานิยม" พาไปไหว้ พระวัดงามตามรอยพระอริยะ วัดป่าโสมพนัสสกลนคร



เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา อดีต สส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย  หรือ "ดร.มหานิยม" ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฯพณฯภูมิธรรม เวชยชัย พาไปวัดป่าโสมพนัสบ้านภูเพ็ก ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร   วัดป่าแห่งนี้ ขึ้นชื่อด้านการเผยแผ่พุทธธรรมด้วยการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว โดยมี "พระอาจารย์สุริยา มหาปญฺโญ" เป็นประธานสงฆ์ ตามแนว "หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ" มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 โดยมีผู้ที่เข้ามารับการฝึกปฏิบัติในแต่ละปีเป็นจํานวนมาก

 การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว คือ ให้ระลึกรู้อยู่กับอิริยาบถปัจจุบัน รู้เท่าทันความคิด ไม่ปรุงแต่งจิต ไม่ยึดติดรูปนาม รู้จักตนเอง รู้จักความทุกข์ รู้สาเหตุและทางออกจากทุกข์ สอนให้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ไม่ยึดติดประเพณีพิธีกรรม โดยพระอาจารย์สุริยา จะดูแลทําการสอนอย่างจริงจัง แต่เรียบง่าย และให้ความเอาใจใส่ผู้ปฏิบัติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้รู้ได้เห็น ได้เป็นได้สัมผัสในหลักธรรมคําสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสู่การดับทุกข์อย่างแท้จริง

 วัดป่าโสมพนัส มีความเป็นมา ว่า พ.ศ. 2492 - 2494 เป็นช่วงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำภูเพ็ก โดยใช้แรงงานคนในการก่อสร้าง มีการจ้างแรงงานชาวบ้านรอบๆ พื้นที่ โดยเฉพาะ บ้านนาหัวบ่อ บ้านหนองดินดํา การเดินทางมาทํางานมีคนงานบางคนก็เดินทางไปเช้าเย็นกลับ โดยจักรยานบ้าง เดินเท้าเปล่าบ้าง และมีบางส่วนก็สร้างที่พักรอบๆอ่างเก็บน้ำเพื่อไม่ต้องเดินทางกลับ โดยพักอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ จึงเริ่มเกิดชุมชนขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

แต่คนในชุมชนบ้านอ่างจะเดินทางไปประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาในวันสําคัญๆ เช่นการทําบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ที่วัดโพธิ์คํา บ้านนาหัวบ่อ ซึ่งต้องเดินทางไกลและยากลําบากระยะทาง 6-7 กิโลเมตร ในสมัยนั้นถนนหนทางไปมาไม่สะดวก และแต่ก่อนวัดพระธาตุภูเพ็กก็ยังไม่เกิดขึ้น มีเพียงโบราณสถานบนภูเขากลางป่าเท่านั้น ไม่มีพระภิกษุอยู่อาศัยไม่ค่อยมีชาวบ้านขึ้นไปเพราะการเดินทางยากลําบาก แต่บางครั้งก็มีพระธุดงค์ปลีกวิเวกขึ้นไปจําพรรษาบ้าง เพราะเป็นสถานที่สงบวิเวก

เมื่อ พ.ศ.2494 หลวงปู่โสม โสภิโต ซึ่งเป็นพระธุดงค์มาจากจังหวัดสุรินทร์ ได้เดินธุดงค์เพื่อไปจําพรรษาที่พระธาตุภูเพ็ก และเดินมาถึงบริเวณที่กําลังมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในคืนนั้น รุ่งเช้าเมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงนําอาหารมาถวายและชาวบ้านก็ได้นิมนต์ท่านอยู่ที่หมู่บ้าน เพราะหมู่บ้านภูเพ็กไม่มีวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเวลาทําบุญต้องเดินทางไปที่วัดโพธิ์คํา บ้านนาหัวบ่อ

จากนั้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกุฏิ ศาลา ห้องน้ำ เป็นที่พักสงฆ์ขึ้น บริเวณลานหิน ใกล้กับต้นไฮใหญ่ติดกับห้วยวังกอไผ่ ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน โดยไม่มีชื่อวัด แต่ชาวบ้านเรียกที่พักสงฆ์นั้นว่า วัดหลวงพ่อเซ็น ซึ่งเป็นผู้มาริเริมก่อตั้ง

ต่อมา พ.ศ. 2503 พระมหาสม สุมโณ เลขานุการวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ท่านเป็นผู้มีความรู้ และชอบค้นคว้าวิชาโบราณคดีประวัติศาสตร์ได้ติดตามคณะเจ้าคณะพระมหาเถระระดับภาคที่ต้องการเยี่ยมชมพระธาตุภูเพ็ก พร้อมด้วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมและพระมหาเถระระดับภาคอีกจํานวนหนึ่งทุกครั้งที่ท่านมาจะพักที่วัดหลวงพ่อเซ็น พระมหาสมจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า วัดโสมพนัส 

 ตลอดระยะเวลาพ.ศ.2494- 2538 วัดโสมพนัสได้เป็นที่พักของพระสงฆ์ มีพระจําพรรษาในบางปีและหลายปีก็เป็นวัดร้างไม่มีพระจําพรรษา

จากการที่มีกลุ่มพระมหาเถระมาศึกษาพระธาตุภูเพ็กครั้งนั้น ทําให้เกิดการสร้างถนนขึ้นและต่อมาพระธาตุภูเพ็ก จึงเป็นโบราณสถานที่รู้จักทั่วไป โดยพระมหาสมได้ร่วมกับคณะสงฆ์อําเภอพรรณานิคมและร่วมกับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาก่อสร้างถนนหนทางขึ้นวัดพระธาตุภูเพ็ก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การเปลี่ยนแปลงชื่อวัด ระยะแรกชาวบ้านเรียกชื่อเป็นวัดหลวงพ่อเซ็น ต่อมา วัดโสมพนัส  วัดป่าโสมพนัสสามัคคีธรรม ถูกตั้งชื่อในสมัยที่หลวงพ่อสนใจ จําพรรษาอยู่ระหว่างพ.ศ.2531- พ.ศ.2534 และ “วัดป่าโสมพนัส” ถูกตั้งชื่อในสมัยที่พระอาจารย์สุริยา มหาปญฺโญ มาจําพรรษาที่วัดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2538 ถึง ปัจจุบัน

 วัดป่าโสมพนัสได้มีการย้ายจุดที่ตั้งวัดตามลําดับอยู่ 2-3 ครั้ง เนื่องจาก การขยายตัวของหมู่บ้านและการก่อสร้างโรงเรียนบ้านภูเพ็ก จาก พ.ศ.2494 จน พ.ศ.2543 มีการขยายบริเวณวัดออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยญาติธรรมจากกรุงเทพฯได้ซื้อที่ดินทํากินจากชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบๆ ทําให้ปัจจุบันวัดป่าโสมพนัสมีพื้นที่โดยประมาณ 60 ไร่


กรมการจัดหางาน ตอบโจทย์มนุษย์ฟรีแลนซ์ เปิดพื้นที่ดีลงาน ผ่านแพลตฟอร์ม “คนทำงาน”

 


กรมการจัดหางาน เปิดตัวแหล่งบริการงานอิสระโดยภาครัฐ ปลอดภัย ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ชวนผู้ว่าจ้าง + คนทำงานอิสระ ประกาศหางาน หาคน ที่แพลตฟอร์ม “คนทำงาน” 

นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และการทำงานของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ work life balance หรือการทำงานที่ตอบโจทย์เรื่องความสุขและเวลา จึงทำให้เกิดรูปแบบการทำงานที่สร้างรายได้จากความชอบ ความถนัด ความสามารถเฉพาะตัว หรือการทำงานระยะสั้นๆ รับจ้างจบเป็นครั้ง ๆ มากขึ้น กรมการจัดหางาน จึงพัฒนาแพลตฟอร์ม “คนทำงาน” ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งบริการงานอาชีพอิสระ ครอบคลุมทุกอาชีพไว้ใน 10 หมวดงานหลัก ได้แก่ 1.Graphic & Design 2.การตลาดและโฆษณา 3.พิมพ์/เขียน/แปลภาษา 4.ภาพและเสียง 5.Web & Programming 6.ปรึกษาและแนะนำ 7.การให้บริการ 8.รับจัดทำสินค้าและอาหาร 9.งานช่างนอกสถานที่ และ 10.การสอน ให้บริการผ่านเว็บไซต์ คนทํางาน.doe.go.th สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ที่ต้องการใช้ทักษะความสามารถหารายได้เสริมมาประกาศรับจ้างทำงาน และสำหรับผู้ว่าจ้างสามารถค้นหาผู้รับงานอิสระที่ตรงตามความต้องการ โดยกรมการจัดหางานไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากแพลตฟอร์ม มีความปลอดภัยเนื่องจากผู้รับงานอิสระและผู้ว่าจ้างผ่านการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน ผ่านระบบ Single Sign-On ของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีทีมงานให้คำปรึกษาครอบคลุมทั่วประเทศ ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด

“แพลตฟอร์ม “คนทำงาน” จะเติมเต็มโอกาสการประกอบอาชีพครอบคลุมทุกมิติ ประชาชนที่เป็นแรงงานอิสระจะมีพื้นที่ทำงานถ้วนหน้า ไม่จำกัดทุกช่วงวัย” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

นายสมชายฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับคนทำงานอิสระลงประกาศงานง่าย ใน 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.ลงทะเบียนเป็นผู้รับงานอิสระ - กรอกข้อมูลส่วนตัว สำหรับยืนยันตัวตนให้ครบถ้วน **หากมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมสามารถแนบเพิ่มได้ และ/หรือยืนยันตัวตนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ ที่อยู่ปัจจุบันที่ลงทะเบียนไว้ เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ผู้ว่าจ้าง

2. นำเสนอตัวเอง - อธิบายตัวตนที่เกี่ยวข้องกับงานให้โดดเด่น เช่น ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ทักษะความสามารถ รางวัล ใบประกาศ เพื่อเพิ่มโอกาสการจ้างงาน 

3. ลงประกาศงาน - เลือกหมวดหมู่งานหลัก ระบุรายละเอียด อัพโหลดรูปผลงาน ขั้นตอนทำงาน กำหนดราคาและวิธีการส่งงาน ส่งประกาศงานตรวจสอบผ่านระบบ หากตรงตามเงื่อนไข จะอนุมัติประกาศงาน ภายใน 2 วันทำการ

4. ประกาศงานเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม "คนทำงาน" 

สำหรับผู้ว่าจ้าง จ้างงานง่ายๆ 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. ค้นหาผู้รับงานอิสระที่ถูกใจ - พิจารณาจากผลงาน และรีวิว

2. ลงทะเบียนเข้าใช้งาน - กรอกข้อมูลส่วนตัว สำหรับยืนยันตัวตนให้ครบถ้วน **หากมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมสามารถแนบเพิ่มได้ และ/หรือยืนยันตัวตนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ในพื้นที่ ที่อยู่ปัจจุบันที่ลงทะเบียนไว้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

3. สื่อสาร / สอบถามรายละเอียดผ่านช่องทาง chat ของระบบ 

4. สร้างใบเสนอราคา – ผู้รับงานอิสระสร้างใบเสนอราคา หากถูกต้องแล้ว กดปุ่ม "อนุมัติใบเสนอราคา"

5. รอผู้รับงานอิสระส่งงาน 

6. ให้เรตติ้งและรีวิวงานที่จ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถใช้บริการได้ที่ เว็บไซต์ คนทํางาน.doe.go.th หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694


กรมส่งเสริมการเกษตรแนะปลูกอัญช้น “เทพรัตนไพลิน 63” พืชสมุนไพรมากคุณค่า ปลูกง่าย ได้ผลเร็ว

   


เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อัญชัน เป็นพืชที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงสายตา ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และที่สำคัญคือมีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางการแพทย์ อาทิ สารแอนโทไซยานิน สารแอนโทไซยานิน มีสรรพคุณในด้านกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้เป็นอย่างดีคนไทยใช้ประโยชน์จากอัญชัน ในรูปแบบต่างๆ  เช่น ให้เป็นสีผสมอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม ใช้บำรุงเส้นผม ฯ จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน

สำหรับวิธีการขยายพันธุ์อัญชัน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดอัญชันแช่ในน้ำสะอาดทิ้งไว้ 12-24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดนำเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ ไปบ่มต่อในผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ และเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด นาน 24 ชั่วโมง สังเกตได้ว่าเมล็ดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วนำเมล็ดไปเพาะในภาชนะเพาะ โดยใช้วัสดุปลูกเป็นพีทมอส หรือดินผสม ได้แก่ พีทมอส แกลบดำ และขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำใส่ในภาชนะเพาะ เช่น ถาดหลุม ขนาดไม่เกิน 104 หลุม หรือถุงเพาะชำ ขนาด 2.5 x 6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม หยอดเมล็ดลงในถาดหลุมหรือถุงเพาะชำ หลุมละ 2-3 เมล็ด แล้วกลบวัสดุปลูกทับบาง ๆ รดน้ำอีกครั้ง และควรรดน้ำทุกวันจนกระทั่งกล้ามีใบจริง 2 ใบ จึงย้ายลงแปลงปลูก 

วิธีการที่สอง คือ การปักชำ โดยตัดกิ่งอัญชันที่มีลักษณะไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ความยาวไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ให้มีข้อตาไม่น้อยกว่า 4-5 ข้อตา แล้วตัดแต่งใบ โดยลิดใบล่างทิ้ง  ส่วนใบด้านบนตัดให้เหลือครึ่งใบ นำกิ่งที่ตัดแต่งแล้วไปแช่ในสารเร่งราก และสารป้องกันกำจัดเชื้อรา นาน 20 นาที ก่อนปักชำนำขึ้นมาผึ่งไว้ให้แห้ง เตรียมวัสดุเพาะชำ ได้แก่ หน้าดิน แกลบดำ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:1:1:0.5 คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำใส่ในถุงเพาะชำสีดำ ขนาด 2.5x6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม นำกิ่งที่แช่สารเร่งรากและสารป้องกันกำจัดเชื้อราแล้ว มาปักลงในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ โดยให้ส่วนที่ปักลงในวัสดุปลูกมีข้อตาติดอยู่ 1-2 ข้อตา นำถุงเพาะชำที่ปักชำกิ่งอัญชันแล้วมาใส่ใน ถุงพลาสติกขนาด 20x30 เซนติเมตร แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปวางไว้ในที่ร่มรำไร หรือเรือนเพาะชำ หมั่นสำรวจไม่ให้ถุงขาด และเมื่อครบ 1 เดือน จึงเปิดปากถุงเพื่อให้อากาศและให้ต้นอัญชันปรับตัว ประมาณ 5-7 วัน จากนั้นจึงนำต้นอัญชันออกมาดูแลรักษาต่ออีกประมาณ 7-14 วัน จึงนำลงแปลงปลูกได้


รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกอีกว่า สำหรับอัญชันพันธุ์ดีที่ กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ คือ อัญชัน พันธุ์ “เทพรัตนไพลิน 63” เป็นพืชที่ถูกวิจัยปรับปรุงพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร โดยมีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตดอกสดต่อไร่สูง เฉลี่ย 2,122 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าพันธุ์ทั่วไปประมาณ 6 วัน และมีปริมาณแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) รวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม ด้วยคุณลักษณะและประโยชน์ด้านการแพทย์ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการนำอัญชัน พันธุ์ “เทพรัตนไพลิน 63” มาเพาะขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าถึงอัญชัน “เทพรัตนไพลิน 63” โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ 5 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65230 โทรศัพท์ 055 - 906 - 220 หรือต้องการสั่งซื้อพันธุ์พืชชนิดอื่นได้ผ่านช่องทาง “DOAE Marketplace” ทางเว็บไซต์ www.doae.go.th/doae_marketplace


วธ.ประเดิมงานใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เปิดสารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน”

กระทรวงวัฒนธรรมเปิด “งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพรย้อนวันวาน สารพันอาหารย่านกะดีจีน-คลองสาน” ณ วัดประยุรวงศาวาส  ภายใต้งานใต้ร่มพระบารมี 2...