วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เปิดนักกวีลาวซิวโล่'สุนทรภู่'คู่'เนาวรัตน์'


              เป็นที่ทราบกันดีว่าวันที่ 26 มิ.ย.เป็นวันสุนทรภู่กวีเอกของประชาชนชาวไทยและได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี พ.ศ.2529 และมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท่านเพื่อเป็นการกระตุ้นให้บุคคลเจริญรอยตามเป็นประจำทุกปี

               ขณะเดียวกันในปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านงานกวีนิพนธ์  จึงร่วมมือจากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ริเริ่มที่จะมอบรางวัลสุนทรภู่ระดับอาเซียนขึ้นหรือเรียกว่า "Sunthorn Phu Award "  ให้แก่กวีดีเด่นขอประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเป็นอนุสรณ์และเผยแพร่เกียรติคุณของสุนทรภู่ให้กว้างขวางออกไป อีกทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านงานกวีนิพนธ์ รวมถึงมีความหวังให้เทียบชั้นรางวัลซีไรท์

               มีหลักเกณฑ์การคัดเลือกโดยจะดูจากคุณสมบัติของกวี ได้แก่ 1.เป็นกวีผู้มีสัญชาติประเทศสมาชิกอาเซียนและยังมีชีวิตอยู่ 2.เป็นกวีผู้มีผลงานโดยองค์รวมแสดงความเชี่ยวชาญเชิงวรรณศิลป์และมีคุณธรรมเหมาะสมที่จะเป็นกวีของชาติ และ3.เป็นกวีผู้สร้างสรรค์ มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องและโดดเด่นเป็นที่ยอมรับในวงการกวีนิพนธ์ของประเทศ

               สำหรับประเทศไทยนั้น วธ.ได้ประกาศเชิญผู้สนใจเสนอชื่อกวีเข้ารับการคัดเลือกเป็น "กวีรางวัลสุนทรภู่" คนแรก ประจำปี 2555 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2555 เป็นต้นมา และมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกนักกวีจากจำนวนทั้ง 27 คนที่ส่งผลงานเข้าประกวดเข้าสู่รอบสุดท้ายมีดังนี้ 1.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 2.นายไพวรินทร์ ขาวงาม 3.นายสุจิตต์ วงษ์เทศ 4.นายสถาพร ศรีสัจจัง 5.นายอดุลจันทรศักดิ์

               และขณะนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 รายชื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพื่อเข้ารับรางวัลในวันที่ 26 มิ.ย.ที่จะถึงนี้

               โอกาสที่มูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล โดยมีนายสมชาย เสียงหลาย อดีตปลัดวธ. เป็นประธานกรรมการ ได้จัดกิจกรรม "ร่องรอยกาลเวลา : ลาว เพื่อนบ้านอาเซียนวัฒนธรรมร่วมสองฝั่งโขง"วันที่   30 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และเรียนรู้เพื่อนบ้านประชุมร่วมนักเขียนไทย – ลาวภาคสนาม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน ที่มีนักเขียนและผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 100 คน

               ในการนี้นายทองแถม นาถจำนง เลขาธิการมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล หนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือก "กวีรางวัลสุนทรภู่" ได้เปิดเผยในระหว่างพบปะกับนักเขียนลาวที่หอวัฒนธรรมแห่งชาตินครหลวงเวียงจันทน์ว่า ขณะนี้สมาคมนักประพันธ์ลาวได้แจ้งว่าได้คัดเลือกนักกวีชาวลาวเพื่อเข้ารับรางวัลสุนทรภู่เป็นที่เรียบร้อยแล้วคือนางดารา กันละยา โดยใช้นามปากกาว่า "ดวงจำปา" ซึ่งเป็นบุตรสาวของมหาสิลา วีระวง นักวรรณกรรมเอกของลาว นับเป็นคนลาวคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้เช่นเดียวกับประเทศไทยคือนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

               "ส่วนรายชื่อนักกวีอาเซียนที่เหลือที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละประเทศเพื่อเข้ารับรางวัลสุนทรภู่ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ คาดว่ามีการแจ้งให้ทางวธ.ทราบหมดแล้วและคงจะมีการเปิดเผยในเร็วๆนี้" นายทองแถมระบุ

               ขณะที่นางผิวลาวัน ทิดาจัน รักษาประธานสมาคมนักประพันธ์ลาว กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกจากผลงานของนักประพันธ์ที่ส่งเข้าประกวดซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเห็นว่าผลงานของนางดาราจากกวีเรื่องสั้นเรื่อง "รักดอกจึงมาบอก" มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นการรวบรวมบทกวีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เป็นการสะท้อนวิถีชีวิตของคนลาวในแต่ละช่วงเป็นอย่างดี

               ด้านนางดาราได้กกล่าวในโอกาสที่คณะเข้าชมหอสมุดมหาสิลาว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนี้ ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าได้รับการถ่ายทอดจากพ่อที่ให้ตนนั้นอ่านหนังสือให้แม่ฟังตั้งอายุ 8 ขวบทำให้เกิดความชอบและฝึกหัดเรื่อยมา

               พร้อมกันนี้นางดาราได้พาชมหอสมุดที่เก็บรวบรวบผลงานของมหาสิลาตั้งแต่อดีตที่เป็นคนชาวร้อยเอ็ดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯบวชเรียนจนสอบได้เปรียญธรรมได้ชื่อว่า "เป็นมหา"  และมีความสนใจด้านงานวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนไทยอีสานและคนลาว อย่างเช่นเรื่อง "ท้าวฮุ่งท้าวเจือง" ที่คัดลอกต้นฉบับจากหอสมุดแห่งชาติ สังข์ศิลป์ชัยหรือสินไซ จำปาสี่ต้น เป็นต้น

               นางดาราได้เปิดเผยว่า มีแนวความที่จะส่งผลงานของพ่อเรื่อง "ท้าวฮุ่งท้าวเจือง" ให้ยูเนสโกประกาศให้เป็นผลงานสำคัญแห่งความทรงจำโลกร่วมกับประเทศไทย

               รางวัลสุนทรภู่ระดับอาเซียนคงจะเป็นอีกรางวัลหนึ่งที่เป็นน้ำเลี้ยงดุจแม่น้ำโขงเลี้ยงนักกวีนักประพันธ์ โดยเก็บอัต(ตา)ลักลักษณ์ของตัวเองไว้ในวงเล็บบ้าง สร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้อาเซียนและโลกสงบสุขเกิดสันติภาพต่อไป

.....................

(หมายเหตุ : เปิดนักกวีลาวซิวโล่'สุนทรภู่'คู่'เนาวรัตน์'  : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 2 มิ.ย.2556)

'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์'พ่อพระของผู้ทุกข์ยาก


              'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์' นอกจากจะเป็นดารานักแสดงแล้ว ยังมีจิตเป็นกุศลช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากได้บรรเทาลงบ้าง

              ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของ"บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์"ระยะหลังนี้จะเห็นว่ามีการโฟสต์ภาพที่เขาไปให้กำลังใจโดยไม่เลือกชนชั้นหรือศาสนา อย่างเช่นล่าสุดได้โฟสตข้อความเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ความว่า "สวัสดีครับเพื่อนๆ..ตอนนี้ผมอยู่ที่ จ.หนองคายมาเยี่ยมคุณยายคูน สีหะรักษา อายุ 101ปี อยู่ ต.ปะโก อ.เมือง จ.หนองคาย คุณยายมีลูก 11คน แต่ล่ะคนก็ตายจากคุณยายไปเหลืออยู่ 4 คน แต่ละคนก็มีฐานะยากจน จึงไม่ค่อยได้ดูแลคุณยายเท่าไร

             คุณยาย หูไม่ดี ตามัว เดินไม่ได้ เวลาไปไหนก็จะไถตัวไป กินข้าวได้วันละ4-5 คำ คุณยายอยู่กับลูกชายบางวันก็ได้กินบางวันก็ไม่ได้กิน จะมีชาวบ้านเอาขนมบ้างข้าวบ้างมาให้ คุณยายพูดเก่งแต่ไม่ค่อยรู้เรื่องไม่เคยไปหาหมอเพราะกลัวเข็มแต่ไม่ค่อยเป็นอะไรเท่าไร..วันนี้ผมมอบเงินให้ยาย 10,000บาทและสำนักงานกองสลากอีก 10,000บาท เพราะไม่อยากให้มากกลัวมีคนมาเอาไป

              คุณยายขอบคุณและให้สินให้พรนานมากครับ แต่ท่านใดจะช่วยเหลือก็ยินดีครับเพราะคุณยายมีเลขที่ บ/ช เจ้าหน้าที่จะดูแลให้คุณยาย ชื่อ บ/ช นาง คูณ สีหะรักษา ธ.เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาหนองคาย เลขที่ บ/ช 01 052 2 409065 ขอบคุณครับตอนนี้กำลังไปอีก 4 เคสครับ"

             ได้พบ "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ที่ท่าอากาศยานดอมเมืองเวลาประมาณ 22.00น.ของวันที่ 1 มิ.ย.จึงเข้าไปสอบถามได้ความว่า "ขึ้นเครื่องมาจากที่ท่าอากาศยานจังหวัดอุดรธานีหลังจากไปร่วมงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล"
 
            พร้อมกันนี้ได้ถามว่าที่โพสต์ข้อความและภาพที่ไปพบผู้ตกทุกข์ได้ยากแถบจะทุกวันนั้นได้ข้อมูลมาจากไหน ก็ได้รับคำตอบว่า มีผู้แจ้งเข้ามา จึงไปพบและให้กำลังใจช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

             อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 30 พ.ค. "บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" ได้โพสต์ข้อความว่า "ทำไมไม่มี รพ. ที่รับรักษาคนเจ็บป่วยที่มีฐานะอยากจนจริงๆ..รักษาแบบไม่มีเงื่อนไข ทำเขาเหมือนญาติของคุณเอง ทำไมต้องดูฐานะการเงิน ต้องดูนามสกุล ทุกวันนี้มีไม่กี่ รพ. หรอกครับที่จะช่วยคนยากคนจน บางที่หมอคนไหนช่วยคนไข้โดยไม่เก็บเงินก็จะมีปัญหากับ รพ. ทันที 30บาทใช่ว่าจะไม่มีปัญหาบางที่ก็มี อยากให้คนจนที่เขาไม่มีเงินจริงๆได้รับการรักษาได้ทันถ้วงที เหมือนกับคนรวยๆทั่วไป..
 
            ทุกวันนี้คนเจ็บป่วยหลายคนไม่กล้าไป รพ. พอบอกใช้บัตร 30บาท ก็จะให้ยาแล้วให้กลับบ้านทั้งๆที่ต้องนอน รพ. หรือต้องรักษาแต่ปฏิเสธการรักษา ผมชื่นชม รพ.หลายๆ รพ. ที่ทำดีและช่วยเหลือคนจนๆจริงๆ ที่ผมเขียนมาผมไม่มีอคติกับใคร แต่ผมฟังจากการบอกเล่าจากพี่น้องที่ผมไปช่วยมารู้สึกหดหู่กับสิ่งที่พวกเขาได้รับ..สงสารก็สงสารผมก็คงพูดอะไรไม่ได้ไม่สามารถบอก รพ. ได้

             เพราะสมัยนี้การพูดความจริงจะรับกันไม่ได้ ผมเองรักและเคารพในอาชีพของทุกทุกอาชีพ แต่อยากให้สังคมมีความเอื้ออาทรกันบ้างคนจนไม่สิทธิ์เจ็บป่วย ไม่มีสิทธิ์โต้เถียงกับใครๆทั้งที่อยากจะพูดอยากจะบอกความจริง..ผมกราบล่ะครับขอพื้นที่ให้กับคนจนๆได้ยื่นอยู่ในสังคมบ้าง..ขอให้รักและดูแลพวกเขาเหมือนญาติมิตร เงินทองใครก็อยากมีอยากได้ แต่ชีวิตคนคนนึงก็สำคัญมากนะครับถ้าเขาเป็นญาติของคุณ คุณคงไม่ทำแบบนี้ ถ้าผมมีเงินมากพอผมจะสร้าง รพ. ไว้สำหรับพวกเขาทุกคน..รักษาโดยไม่มีเงื่อนไข และผมมั่นใจว่าจะมีหมอดีๆมาช่วยผม..

             ขอโทษนะครับผมไม่ได้ว่าใครแต่อยากระบายเพื่อพวกเขา..เขาก็คือคนไทยเหมือนกันราตรีสวัสดิ์ครับ"
 
            ก็ได้แต่หวังว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการกินเงินเดือนที่เป็นภาษีของประชาชนจะได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ไม่ใช่มัวแต่วิ่งตามนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ใส่ตัว

................................

(หมายเหตุ : 'บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์'พ่อพระของผู้ทุกข์ยาก : สำราญ สมพงษ์รายงาน เผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 2 มิ.ย.2556)

วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ศรีลังกาฉลอง'นิกายสยามวงศ์'260ปี โชว์'พระราชสาส์นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ'


               เสร็จสิ้นลงแล้วสำหรับภารกิจของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาเมื่อวันที่ 31 มิถุนายน พ.ศ.2556 เพื่อร่วมการเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการสถาปนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา

               ในการนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมรัฐสภาศรีลังการะบุว่า "ในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่รุนแรงในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มีความวุ่นวายทางการเมือง และความผันผวนสังคม เราจึงต้องร่วมมือกันส่งเสริมพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เน้นความอดทน อดกลั้น และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และจะนำมาซึ่งสันติภาพ ไม่เพียงแต่สำหรับปัจเจกบุคคล แต่รวมถึงมนุษยชาติ"

               พร้อมกันนี้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้เยี่ยมชมวัด 3 แห่งของศรีลังกา เริ่มจากวัดทีปทุตตมาราม ในกรุงโคลัมโบ ต่อด้วยการเดินทางไปยังเมืองแคนดี้เพื่อเยี่ยมชมวัดมัลวัตตะ โดยมีพระมหานายกและพระสงฆ์ฝ่ายมัลวัตตะเจริญชัยมงคลคาถาให้นายกรัฐมนตรีและคณะ ก่อนจะเดินทางต่อไปเยี่ยมชมวัดอัสกิริยะ โดยนายกรัฐมนตรีถวายดอกไม้สักการะพระประธานและนมัสการพระอูดูกามะ ศรีปุตตารักขิตา

               ขณะเดียวกันมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้พระพรหมสิทธิ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค 10 และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ พร้อมด้วยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นผู้แทนไปร่วมการเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย  โดยเข้ากราบนมัสการพระมหานายก ซึ่งพระมหานายกได้นำพระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศคราวส่งพระอุบาลีเถรไปสถาปนาพระพุทธศศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกา ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่วัดแห่งนี้  โดยเป็นภาษาบาลีอักษรขอม ประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4 แต่เป็นม้วนเดียว เก็บรักษาไว้ ในกล่องงาช้าง จะออกให้ชมเฉพาะแขกบ้านแขกเมืองเท่านนั้น

               ทั้งนี้พระพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร ซึ่งเดินทางไปด้วยได้เปิดเผยว่า พระพรหมสิทธิจะรวบรวมนักวิชาการเดินทางไปประเทศศรีลังกาเพื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้ให้แพร่หลายต่อไป อย่างไรก็ตามอาตมาได้มอบให้ผศ.รังษี สุทนต์ อาจารย์บัณฑิตวิทยาลัย มจร แปลเฉพาะตอนต้นซึ่งเป็นภาษาบาลีอักษรขอมพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้

               ศุภอักษรอัครมหาเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครมหาเสนาบดีลังกา

               ติภวโลกมกุฏอุตฺตมปรมมหิสฺสรวรวํสสุริเยนฺทฺรนเรนฺทฺราธิปตินฺทฺรวโรตฺตมขตฺติยชาติราชวราตุลวิปุลคุณคมฺภีรวีรอนนฺตมหนฺตมหาจกฺกวตฺติสฺสรวรราชาธิราชนาถนายกติลกโลกจุธานรามรนิกรภิวนฺทอนนฺตปูชิตมหิทฺธินารายนุปฺปตฺติสทิสาติเรกอเนกจตุรงฺคพลพหลอจลสุริโยทิตอมิตเตชาเอกาทสรุทฺธอิสฺสรวรปรมนาถปรมปวิตฺตสฏฺฐิต เทวมหานครปวรทฺวาราวติสิริอยุทฺธยามหาติลกภพฺพนพฺพรตนราชธานีปุรีรมย อุตฺตมสามีสิริสุวณฺณปาสาทรตนวรราชนิธิกาญฺจนกุญฺชรสุปติตนาเคนฺทฺรคเชนฺทฺรปทุมทนฺตเสตวารณนาคินฺทฺรกรินฺทฺรเอกทนฺตสนิมฺพงฺสธรอฏฺฐทิสนารายนทสพิธราชธมฺมธโรตฺตมมหาราชสฺส อมจฺเจสุ อคฺคมหาเสนาธิปตินา มยา ปวรสิริลงฺกาทีเป รชฺชสิริสมฺปตฺตสฺส สิริวฑฺฒนปุราธิวาสี มหาราชุตฺตมสฺส อมจฺเจสุ อคฺคมหาเสนาธเปติสฺส เปสิตํ สุภกฺขรปวรวจนํ นาม.
             
               แปลว่า "ข้าพเจ้าผู้เป็นอัครมหาเสนาธิบดี ในหมู่อำมาตย์ของสมเด็จพระตรีภพโลกมกุฏอุตตมบรมมหิศรวรวงศ์สุริเยนทร์ นเรนทราธิบดินทรวโรตตม ขัตติยชาติราชวราดุล พิบุลคุณคัมภีร์วีรอนันต์ มหันตมหาจักรพรรดิศร วรราชาธิราชนารถนายกดิลกโลกจุธานรามร นิกรภิวันท์ อนันตบูชิตมหิทธินารายนอุปปัตติสทิสาดิเรกอเนกจตุรงคพล พหลอจลสุริโยทิต อมิตเดชา เอกาทศรถ อิศวร บรมนารถบรมบพิตร สถิตกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมสามีศรีสุวรรณปราสาท รัตนวรราชนิธิกาญจน กุญชรสุประดิตนาเคนทร์ คเชนทรปทุมทันต์ เสวตรวารณนาคินทร์ กรินทรเอกทันต์ สนิมพงศธร อัฏฐทิศนารายน ทศพิธราชธรรม ธโรดมมหาราช ขอส่งศุภอักษร บวรพจน์ มาถึงท่านอัครมหาเสนาธิบดี อำมาตย์ในพระเจ้ามหาราชอุดมผู้ครองกรุงศิริวัฒนบุระ ดำรงสิริราชสมบัติในลังกาทวีป อันทรงสิริประเสริฐ"

               เชื่อแน่ว่าเนื้อหาแห่งพระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนี้จะเป็นอนุสสติสำหรับพระธรรมทูตที่เดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างแดนและประดับความรู้พุทธศาสนิกชนทั่วไป

..........................

(หมายเหตุ : ศรีลังกาฉลอง'นิกายสยามวงศ์'260ปี โชว์'พระราชสาส์นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ' : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 2 มิ.ย.2556)

3มิ.ย.วัน'เสฐียร พันธรังษี'รำลึก

               "เสฐียร พันธรังษี"ศาสตราจารย์แห่งธรรมะนักเขียน
               ศาสตราจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิตทางพุทธปรัชญา และวิชาการหนังสือพิมพ์ เป็นอาจารย์ ผู้มีลูกศิษย์มากมายในบ้านเมืองนี้ เพราะเป็นผู้มีความสำคัญต่อการสอนวิชาการหนังสือพิมพ์และจรรยาบรรณแก่นักศึกษา เป็นอาจารย์สอนที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนปี 2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ทางวิชาการหนังสือพิมพ์ โดยมีความถนัดและเชี่ยวชาญงานเขียน โดยเฉพาะตำรางานวิชาการ ทั้งด้านการศึกษา ประวัติศาสตร์ ศาสนา และเรื่องราวต่างประเทศ

               โดยเฉพาะศาสนา ซึ่งเป็นธรรมสากลสำหรับสังคม เป็นเครื่องประคับประคองสังคมให้ตั้งอยู่ได้ ช่วยขัดเกลาสังคมให้พ้นจากความดุร้ายมาสู่ความเห็นอกเห็นใจรักใคร่สามัคคีกัน ศาสนามิได้เป็นสมบัติของชาติหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทางแห่งการปฏิบัติธรรมในศาสนาเพื่อความเรียบร้อยของสังคมนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศและสังคม เป็นคำนิยมที่ เสถียร พันธรังษี ร่ายเป็นบทนำในหนังสือ ศาสนาเปรียบเทียบ

               สำหรับ เสฐียร พันธรังษี และคู่หูอย่าง เฉลิม วุฒิโฆษิต สมัยเป็นนักหนังสือพิมพ์ทั้งสอง เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้ง สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในครั้งแรก โดยมีนักหนังสือพิมพ์ประจำการประมาณคน มี เฉลิม วุฒิโฆสิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวไทย เป็นหัวหน้า ต่อมา เสฐียร พันธรังษี เป็นนายกสมาคมคนถัดมา 50

               ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มอบที่ดินของกรมธนารักษ์ที่อยู่ในความดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลวชิระ ถนนสามเสน ซึ่งเป็นบ้านพักของผู้แทนราษฎร ใช้เพื่อเป็นที่ก่อสร้างที่ทำการของสมาคมฯ

               ในปี 2512 เสฐียร พันธรังษี เป็นนายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการของสมาคม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2512 นับตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมในปี 2508 จนถึงการรวมกับสมาคมนักข่าวฯ สมาคมนักหนังสือพิมพ์

               นับได้ว่าสมาคมฯ แห่งนี้เป็นองค์กรเดียวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จฯ มายังองค์กรของผู้ประกอบการวิชาชีพหนังสือพิมพ์.....

               โดยองค์กรแห่งนี้ นับเป็นของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ทุกระดับประเภท ไม่ว่าจะเป็นช่างเรียง ช่างแท่น คนตรวจปรู๊ฟ นักข่าว ช่างภาพ คนในกองบรรณาธิการ ตลอดจนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ผู้อำนวยการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ รวบรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

               ข้อความข้างต้นนี้ถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2552 และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2554 และได้เผยแพร่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์เสฐียร พันธรังษี อีกครั้งเรื่อง "เสฐียร พันธรังษี นักวิชาการศาสนาและนักหนังสือพิมพ์" http://soclaimon.wordpress.com/2011/06/27/เสฐียร-พันธรังษี-นักวิชา/

               แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่าวันที่ 3 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันเสฐียร พันธรังษี เมื่อถึงวันนี้ของทุกปีบรรดาลูกศิษย์ของอาจารย์เสฐียรจะเดินทางไปทำบุญที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กทม.เพื่อทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลและรำลึกถึงคุณงามความดีของอาจารย์ตามที่ปรากฏในข้อความดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เพราะอาจารย์ก็ถือได้ว่าเป็นศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาสงฆ์เช่นนี้เช่นเดียวกัน

...................
(หมายเหตุ : 3มิ.ย.วัน'เสฐียร พันธรังษี'รำลึก : กระดานความคิด โดยสำราญ สมพงษ์เผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 3 มิ.ย.2556)

พระไทยหนึ่งเดียวผงาดบนเวทีศก.โลกที่พม่า

               ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมเศรษฐกิจ 'เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม' ในเอเชียตะวันออก ณ กรุงเนปีดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 5-7 มิ.ย.2556 ที่มีผู้แทนเกือบ 900 คนจาก 55 ประเทศเข้าร่วม นับเป็นครั้งแรกที่เมียนมาร์มีโอกาสได้จัดการประชุมระดับใหญ่เช่นนี้

              และมีผู้นำสำคัญอย่างเช่นประธานาธิบดีเต็ง เส่งของเมียนมาร์  ประธานาธิบดีเบนิกโน่ อาคิโน่ ของฟิลิปปินส์ นายกรัฐนตรีเหงียน ตัน ดุง ของเวียดนาม นายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ของลาว และนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของเมียนมาร์ ส่วนไทยนั้นมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที เข้าร่วม

               ดูเหมือนว่าความสนใจจะมุ่งเป้าไปที่นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ฝ่ายค้านของเมียนมาร์ ที่เธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมพร้อมกับระบุว่าเธอต้องการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมถึงท่าทีของเธอที่มีต่อกรณีชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่

               แต่คงแปลกใจไม่น้อยที่การประชุมครั้งนี้ได้มีพระไทยเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมในฐานะตัวแทนผู้นำทางศาสนา ภาคประชาสังคมด้วย พระรูปดังกล่าวคือพระมหานพดล ปุญญัสสวัฑฒโก  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ รองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ทั้งนี้ได้รับเชิญจากรัฐบาลเมียนมาร์ และรองผู้อำนวยการศาสนา จริยธรรม และมนุษยชน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นามว่า "Eimear Farrell" ให้เข้าร่วม

              พระมหานพดล ได้เปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายที่เข้าร่วมและเผยแพร่ภาพระหว่างเข้าร่วมทางเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "Nopadol Saisuta" โดยให้ชื่อภาพว่า "Dhamma and World Economic Forum on East Asia 2013 organized during 5-7 June 2013 at Myanmar International Convention Center (MICC) at Nay Pyi Taw, New Capital City of Myanmar."

               พระมหานพดล ระบุว่าได้มีโอกาสได้เผยแพร่ "ปฏิญญากรุงเทพมหานครปี 2556 การประชุมสัมมนาวิชาการชาวพุทธนานาชาติฉลองวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 10 เรื่องการศึกษากับความเป็นประชากรโลกตามคำสอนทางพระพุทธศาาสนาจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาติประจำประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม พ.ศ.2556  โดยเฉพาะปฏิญญา...ข้อที่ 3.เพื่อกระตุ้นเตือนผู้นำชาวพุทธ ให้ขยายเพิ่มงานเผยแผ่หลักธรรมที่มีอยู่แล้วไปในการส่งเสริมการศึกษา พร้อมทั้งให้มีการพัฒนาสังคมและงานสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้เกิดสันติภาพโลกที่ยั่งยืน

               ข้อ 6.เพื่อเตือนให้ทุกองค์กรทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพียรพยายามพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องมีความสมดุลย์ระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อม  ข้อ 7.เพื่อเพิ่มพูนความเพียรพยายามที่จะเผยแผ่ข่าวสารที่ว่ามวลมนุษยชาติมีภาวะ เชื่อมโยงถึงกัน โดยกระตุ้นเตือนปัจเจกบุคคลและองค์กร ให้พัฒนามุมมองของมนุษย์ในฐานะเป็นพลเมืองโลก เมื่อต้องเผชิญเรื่องสำคัญในการทำงานร่วมกัน และข้อ 8.เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้สติอย่างถูกต้องในการดูแลรักษาสุขภาพ การศึกษา การจัดการ และการพัฒนาชุมชน

               "และได้ปฏิบัติหน้าที่ตามปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจของ มจร ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทยประชาชนไทยและรัฐบาลประเทศไทยไปด้วยพร้อม ๆ กัน" รองคณบดีคณะพุทธศาสตร์ ระบุ
             
               อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ทางเมียนมาร์นิมนตร์พระจาก มจร ไปร่วมนั้น ได้รับคำชี้แจงจากทางผู้บริหาร มจร ว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะทาง มจร โดยคณะพุทธศาสตร์ได้จัดโครงการบรรพชาภาคฤดูร้อนอาเซียน (ไทย-พม่า) รุ่น 1/2556 วัดอ่องเถกดี้ ชองอู่ โมนยวา เมืองสกาย มัณฑเลย์ เมียนมาร์  ระหว่างวันที่ 20 เม.ย.-10 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลพม่าและองค์กรศาสนาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตื่นตัวเรื่องนี้ จึงนิมนต์พระจาก มจร เข้าร่วมประชุมด้วย

               เชื่อแน่ว่า ปฏิญญากรุงเทพมหานครปี 2556 ในการประชุมสัมมนาวิชาการชาวพุทธนานาชาติฉลองวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 10 ที่ศูนย์ประชุมสหประชาติประจำประเทศไทย ที่พระมหานพดลนำไปเสนอต่อที่ประชุมเศรษฐกิจ 'เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม' ที่ประเทศเมียนมาร์ครั้งนี้ คงจะทำให้ผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกได้เข้าใจถึงหลักเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งกันอยู่แบ่งกันกินไม่แย่งกัน ก็คงจะทำให้โลกเกิดสันติภาพเร็วขึ้น


..............................

(หมายเหตุ : พระไทยหนึ่งเดียวผงาดบนเวทีศก.โลกที่พม่า : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่เว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 7 มิ.ย.2556)

ทำบุญเข้าพรรษายล'โบสถ์ไม้แกะสลัก'สุดวิจิตรทั้งหลัง

              การสร้างพระอุโบสถหรือโบสถ์ของคนไทยพุทธนั้นปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยปูน แต่สำหรับโบสถ์ที่วัดเขาชวัง หมู่ 6 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จะสร้างด้วยไม้เก่าทั้งหลังและแกะสลักสวยงาม

              ทั้งนี้เฟซบุ๊กที่นี่จันทบุรีได้นำภาพและเรื่องมาเผยแพร่พร้อมแนะนำความว่า  มีพระประธานสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวงดงามมาก  วัดแห่งนี้เป็นเล็กๆอยู่ห่างจากสี่แยกทับไทรเข้าไปทางโป่งเก่าประมาณ 15 กิโลเมตรทางซ้ายมือ วัดนี้เคยเป็นสำนักสงฆ์มาก่อน ปัจจุบันโบสถ์สร้างเสร็จแล้วแต่ยังมีงานก่อสร้างตกแต่งรอบๆวัดอยู่ เข้าพรรษานี้ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทำบุญที่วัดไหนก็ขอเชิญที่วัดนี้มีพระจำพรรษาอยู่ 15 รูป และ เณรอีก 1 รูป

              ภาพที่เฟซบุ๊กที่นี่จันทบุรีนำมาเผยแพร่นั้นเป็นภาพของ"ลุงถึก ลุงถึก" และเฟซบุ๊กVilla Gardenอีกทอดหนึ่ง

              แต่จากการค้นข้อมูลยังพบว่ามีโบสถ์สร้างด้วยไม้และมีการแกะสลักนั้นยังมีที่วัดบางแคน้อยตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตำบลแควอ้อม   อำเภออัมพวา  จังหวัดสมุทรสงครามเช่นกัน   ซึ่งมีคุณหญิงจุ้ย (น้อย) วงศาโรจน์ เป็นผู้สร้างเมือ พ.ศ.2441 เดิมอุโบสถของวัดสร้างบนแพไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นโพธิ์ ต่อมาพระอธิการรอด เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ได้สร้างโบสถ์บนพื้นดิน ในปี พ.ศ.2418   

              ต่อมาอุโบสถหลังเดิมได้ชำรุดทรุดโทรม พระอธิการเขียว เจ้าอาวาสองค์ที่ 6 ได้สร้างอุโบสถขึ้นใหม่ ใรปี พ.ศ.2492 จนกระทั่งปี พ.ศ.2540  อุโบสถหลังเดิมเกิดชำรุดอีก เนื่องจากขาดแคลนวัสดุและคุณภาพเพราะตอนสร้างอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พระครูสมุทรนันทคุณ (แพร)  จึงได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น พร้อมกันนี้พื้นโบสถ์ยังสร้างด้วยไม้ตะเคียนเพียง 7 แผ่นอีกด้วย

              ช่วงเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ไม่รู้จะไปทำบุญที่ไหนลองไปทำบุญที่วัดแห่งใดแห่งหนึ่งในสองวัดนี้ นอกจากจะได้ทำบุญแล้วยังจะได้ชมความงามของโบสถ์ไม้แกะสลักฝีมือคนไทยว่าวิจิตรขนาดไหน

.................................

(หมายเหตุ : ทำบุญเข้าพรรษายล'โบสถ์ไม้แกะสลัก'สุดวิจิตรทั้งหลัง :สำราญ สมพงษ์รายงาน)

วิจารณ์แซ่ด!ชุดละคร'วันนี้ที่รอคอย' หมวกไทยใหญ่โสร่งพม่า

             ทันทีที่ออกอากาศสำหรับละครเรื่องใหม่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เรื่อง"วันนี้ที่รอคอย"  ที่บทประพันธ์โดย : วราภา บทโทรทัศน์โดย : ปราณประมูล กำกับการแสดงโดย : ธงชัย ประสงค์สันติ ผลิตโดย : บริษัท พอดีคำ จำกัด ที่ออกอากาศทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.25 น. ก็เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับชุดของนักแสดงว่าเหมาะสมหรือสมจริงหรือไม่

              ทั้งนี้ได้มีการโพสต์กระทู้ในเว็บไซต์พันทิพย์พร้อมกับรูปภาพของชุดประกอบ พร้อมระบุที่มาของรูปภาพคือมาจากเฟซบุ๊ก Tai Community Online โดยมีการตั้งกระทู้ว่า "วันนี้ที่รอคอย คุณทำผิด บานตะไท จะทำไงแก้ทันไหม" พร้อมกับมีการแสดงความคิดเห็นประกอบความว่า "อยากให้ทีมงานที่สร้าง ละคร วันนี้ที่รอคอย  ได้ศึกษาให้ดีก่อนว่าไทยใหญ่กับพม่าคนละพวกกันการแต่งตัวก็ไม่เหมือนกัน  แต่นี่คุณจับอะไร คุณก็มิกซ์ตามใจชอบเลย มีโอกาสแก้ไขได้ทันก็ดีนะ จะได้ไม่หน้าแตก  ลองเข้าไปชมเฟซบุ๊กในภาพนะ  เผื่อจะได้ปรึกษาเค้าได้ เพราะพวกเค้าเป็นคนไทยใหญ่ จะให้ข้อมูลได้ชัดเจนละครฟอร์มใหญ่ แต่กำลังตกม้าตาย ซะแล้ว" ซึ่งตามภาพคือหมวกไทยใหญ่แต่โสร่งพม่า

              มีผู้แสดงความเห็นตามมาว่า "ละครเป็นแค่ความบันเทิง อย่าคิดหรือจับผิดอะไรมากเลยค่ะ คนสร้างเค้าจะเสียกำลังใจ" พร้อมกับความเห็นตามมาว่า"รู้สึกทุกคนจะเข้าใจยกเว้นเจ้าของกะทู้ นะประเทศคีรีรัฐ ไม่ใช่ประเทศไทยใหญ่หรือพม่า หากแต่ว่าถูกสมมติขึ้นมา ให้อยู่ทางตอนเหนือของไทยติดพม่า ติดจีน ติดไทยติดลาว หาในแผนที่ไม่เจอหรอก มันถูกสมมติขึ้นมา วิถีชีวิตก็ผสมผสานกับประเทศที่ติดกัน เราว่าทำให้ถูกไม่ยาก แต่ถ้าทำแล้วเกิดการพาดพิงเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ละครจะโดนแบนไม่รู้ตัว เดี๋ยวจะไปกระทบไทยใหญ่กับพม่าเขา เดี๋ยวจะกลายเป็งปัญหาระดับประเทศ" และ"เรื่องนี้เป็นประเทศสมมติไม่ใช่หรือ ต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามแบบชนชาติใดชนชาติหนึ่งด้วยหรือ  สงสัยจริงๆนะ พอดีไม่เคยอ่านนิยายเรื่องนี้"

              ขณะที่ฝ่ายเห็นตามผู้ตั้งกระทู้เห็นว่า "ในเมื่อเป็นประเทศสมมติก็สร้างเครื่องแต่งกายขึ้นมาใหม่เลยซิ จับโน่นผสมนี่ทำไมเมื่อไม่ใช่ไทยใหญ่แต่เอาหมวกเอาเครื่องกายตามวัฒนธรรมเขาไปใส่ คนที่รู้ก็เลยข้องใจ ถามว่าคนที่เขาข้องใจเขาผิดด้วยเหรอแล้วไทยใหญ่กับพม่าตามประวัติศาสตร์ก็ใช่ว่ารักใคร่กันหนักหนา คนไทยใหญ่ไม่พอใจก็ไม่แปลกใจอะไร"

              อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าไปดูความเห็นจากเฟซบุ๊ก Tai Community Online ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวไทยใหญ่ พร้อมกับมีการโพสต์ภาพที่เป็นชุดไทยใหญ่ที่ถูกต้องพร้อมกับข้อความประกอบว่า "จายหลาวเปิง ในละครเรื่อง บ่วงบรรจถรณ์ ที่เคยออกมาฉายทางช่อง 7 ละครชุดนี้แต่งตัวถูกต้องทุกอย่าง บ่วงบรรจถรณ์เป็นชื่อของหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่องเกี่ยวกับความรักต่างมิติเวลาของแพรนวลหญิงสาวไทยยุคปัจจุบัน โดยมีเตียงอาถรรพณ์โบราณของบิดาที่เชียงรายเป็นสื่อนำแพรนวลไปตื่นที่เชียงตุงและพบรักกับจายหลาวเปิงชายหนุ่มสูงศักดิ์ในมิติเวลา 50-60 ปีก่อนสงสัยละครเรื่องนี้ ไม่ได้สมมุติขึ้นมาเลยทำการแต่งกายถูกต้องได้โดยไม่ต้องผสมกับพม่า"

              ทางกลับกันละครเรื่อง"วันนี้ที่รอคอย"นี้ออกอากาศในช่วงที่ละคะรเรื่อง "สุภาพบุรุษจุฑาเทพ" กำลังจะจบตอน"คุณชายรัชชานนท์" แม้นจะถูกท้วงติงเรื่องสำเนียงภาษาลาวหรืออีสานบ้าง และสำหรับการใช้ชุดนั้นเป็นชุดไทยทรงดำ เมื่อเข้ามาดูความเห็นในเฟซบุ๊กของสมัชชาลาวโซ่งไทยทรงดำ(ไทดำ)แห่งประเทศไทยแล้วจะเห็นว่าเขามีความดีใจที่ละครเรื่องนี้ชุดไทยทรงดำอย่างถูกต้อง และช่วงนี้ชุดชุดไทยทรงดำขายดี

              จึงถือว่าเป็นอุทาหรณ์ของผู้ทำละครแม้นจะมีความปรารถนาดี แต่ควรที่จะศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพื่อไม่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีหรือเกิดความขัดแย้งขึ้น

................................

 (หมายเหตุ :วิจารณ์แซ่ด!ชุดละคร'วันนี้ที่รอคอย' หมวกไทยใหญ่โสร่งพม่า : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 8 มิ.ย.2556)

พระอารมณ์ดีนำธรรมะอารมณ์ดีออกรายการ'ตีสิบ'

              "อีกครั้งกับโอกาสในการเผยแผ่ธรรมขออนุโมทนาคุณวิทวัส สุนทรวิเนตรและคณะทำงานตีสิบ ได้ขยายพื้นที่สีขาวให้เครือข่ายธรรมะอารมณ์ดีได้มีโอกาสอีกก้าว"

              นี้เป็นข้อความที่พระมหาวีรพล วีรญาโณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ๔๐  ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปลงในเฟซบุ๊ก"พระมหาวีรพล ธรรมะอารมณ์ดี"  เมื่อวันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๕๕๖ หลังจากอัดเทปรายการตีสิบ ที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวันอังคารทางช่อง ๓

              และเป็นประจำทุกวันหลังจากเสร็จจากการปฏิบัติศาสนกิจในเครือข่ายกัลยาณมิตร "ธรรมะอารมณ์ดี"  สำนักงานสถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทย วัดยานนาวา พระมหาวีรพลก็จะโพสต์ข้อความพร้อมรูปลงในเฟซบุ๊ก"พระมหาวีรพล ธรรมะอารมณ์ดี" ไม่ได้ขาด พร้อมกันนี้ยังเผยแพร่ทางเว็บไซต์ dhammaaromdee.com อีกด้วย

              ทั้งนี้เครือข่ายกัลยาณมิตร "ธรรมะอารมณ์ดี"นั้น  "ไตรเทพ ไกรงู" นักข่าวหน้าพระเครื่องหนังสือพิมพ์คมชัดลึกได้เขียนรายงานเรื่อง "เทศนามัลติมีเดียของทีมพระนักเทศน์... "ธรรมะอารมณ์ดี" ไว้ว่า เริ่มต้นจากพระหนุ่มไฟแรง ๓ รูป คือ

              ๑.พระมหาวีรพล  วีรญาโณ  วัดยานนาวา เขตสาทร กทม. วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ๒. พระมหามงคล  วรธมฺมวาที วัดนิมมานรดี เขตภาษีเจริญ กทม.วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการอนสังคม และ ๓.พระปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี วัดสังข์กระจายวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กทม.วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ (เกียรตินิยม)

              “เมื่อเรียนจบต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงานเผยแผ่ตามแนวของตน แต่เมื่อทำได้ระยะหนึ่งก็เกิดความคิดว่า หากร่วมกลุ่มกันทำงานน่าจะมีอะไรที่ดีขึ้น มีเพื่อนช่วยคิดวางแผนในการทำงาน ที่สำคัญ คือ มีพลังมกกว่าคิดคนเดียว ทำคนเดียว” นี่เป็นเหตุผลของการรวมกลุ่มของทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี”จากคำบอกเล่าของพระครูปลัดบัณฑิต

              พร้อมกันนี้พระครูปลัดบัณฑิต ยังบอกด้วยว่า การเทศน์ในช่วงแรกๆ มีสื่อไม่มาก ใช้แต่กระดาษและคำพูด ทุกครั้งที่ไปเทศน์เชื่อว่าคนฟังต้องเบื่อในขณะที่พระนักเทศน์ไม่ต้องพูดถึง การเผยแผ่ธรรมไม่มีการพัฒนาจากอดีต แต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์ คลิป เพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ จึงมีความคิดว่า น่าจะใช้สื่อต่างๆ ใช้ประกอบการเทศน์ได้ จึงนำมาทดลองใช้

              สำหรับสื่อวีดิทัศน์ที่นำมาใช้มีเยอะมาก เช่น รายการคนค้นคน ตอน ครูเชาว์ โฆษณา เรื่อง บูชาคุณครู ของเซเว่นอีเอฟเว่น โฆษณา พ่อเป็นใบ้ ของบริษัทไทยประกันชีวิต ทั้งนี้หากพูดถึงในหลวง ก็จะใช้โฆษณา เด็กที่เขียนจดหมายถึงในหลวง ที่ไม่ได้ติดแสตปม์ ส่วนเพลงนั้นมีหลายเพลง ที่ทำเป็นมิวสิกวิดีโอได้กินใจที่สามารถใช้ร่วมกับการเทศน์ได้อย่างลงตัว

              เพื่อให้ประเด็นเทศน์อินเทรนด์ ทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี” จะมีการประชุมทุกๆ สัปดาห์ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีละคร ภาพยนตร์ โฆษณา มิวสิกวิดีโอ รวมทั้งข่าวสารอะไรบ้างที่สามารถสะกดคนฟังได้

              “คำพูดนับพันคำไม่สู้ภาพใบเดียว เป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งตรงกับหลักธรรมเรื่องอายตนะ ทั้ง ๖ ที่แปลว่า ที่เชื่อมต่อ, เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น บ้างเรียกว่า อินทรีย์ ๖ มี ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  และใจ” พระครูปลัดบัณฑิตกล่าว

              อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเทศน์ด้วยการใช้อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเทศน์ด้วยการใช้สื่อมัลติมีเดียจะเข้าถึงผู้ฟังได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อขึ้นนั่งเทศน์บนธรรมมาสน์ที่วัด พระครูปลัดบัณฑิต ยังคงต้องรักษาธรรมเนียมการเทศน์แบบเดิมๆ คือ นั่งประนมมือถือใบลาน แต่แต่งขึ้นใหม่ให้เข้าใจธรรมมากขึ้นโดยอ้างพุทธสุภาษิต

              การที่ "วิทวัส สุนทรวิเนตร" ได้นิมนต์พระนักเทศน์ "ธรรมะอารมณ์ดี" ไปถ่ายทำรายการตีสิบครั้งนี้  นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดีตามที่พระมหาวีรพลระบุ และคงจะตัดกระแสข่าวฉาวของ "หลวงปู่เณรคำ" ที่กำลังเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อยู่ในขณะนี้ลงได้บ้าง "ธรรมะอารมณ์ดี" คงจะมีส่วนช่วยดึงสติและศรัทธามีศีลและปัญญากำกับได้บ้าง จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

............................

(หมายเหตุ : พระอารมณ์ดีนำธรรมะอารมณ์ดีออกรายการ'ตีสิบ' : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 25 มิ.ย.2556)

สกว.สวนกระแส'เณรคำ' ชู'ครูพระลำปาง'ยอดนักวิจัย

              ช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาชาวพุทธคงจิตตกไม่น้อยกับกระแสข่าวในวงการพระสงฆ์ ทั้งการสึกของอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะ การแฉพฤติกรรมของ "หลวงปู่เณรคำ" ส่วนข้อเท็จจริงทั้งสองเรื่องนี้จะเป็นจริงหรือมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตนวิญญูชนพิจารณาเอาเองเถิด

              หากจะพิจารณาถึงสาเหตุของอาการจิตตกนั้น พอจะมองได้ว่าคงเกิดจากชาวพุทธไทยยึดติดกับตัวบุคคลมากเกินไปหรือไม่ แทนที่จะยึดพระพุทธ พระธรรม  และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง กลับไปยึดติดกับพระปุถุชนสงฆ์ไปที่พึ่งแทน เพราะพระปุถุชนสงฆ์ยังตกอยู่ในลักษณ์ของไตรลักษณ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา หากไปยึดติดก็เป็นทุกข์อย่างที่เห็นกัน

              ความจริงแล้พระในประเทศไทยมีมากกว่าสองแสนรูปหากไม่ยึดติดในตัวบุคคลมากจนเกินไปก็พอจะหาเป็นแบบอย่าง เป็นที่พึ่ง หรือเป็นเพื่อนเพื่อพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้

              ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างหนึ่งของพระที่ทำหน้าที่เพื่อสังคมเป็นครูสอนศิลธรรมในโรงเรียนถิ่นธุรกันดาร นั้นก็คือพระประพจน์สรัช ญาณธีโร สังกัดวัดสัณฐาน อ.แม่ทะ จ.ลำปาง โดยเป็นครูสอนศิลธรรมในโรงเรียนสุนทรศึกษา ต.ป่าตัน อ.แม่ทะ  และมีตำแหน่งงานวัดผลประเมินผลหมวดวิชาคณิตศาสตร์ โดยโรงเรียนแห่งนี้​ประกอบด้วยนัก​เรียนส่วน​ใหญ่​เป็นสาม​เณร​และ​เด็กยากจน ​ไร้สัญชาติ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นครูพระ​ผู้สอน​เด็ก​ไร้สัญชาติ-ยากจน  จากโครง​การสังคม​ไทยร่วมกันคืนครูดี​ให้ศิษย์ยกย่อง​เชิดชูครูสอนดีเนื่องในวันครูประจำปี 2555

​              โดยสำนักงานส่ง​เสริมสังคม​แห่ง​การ​เรียนรู้​และคุณภาพ​เยาวชน ​ได้ระดม​ความร่วมมือ จากชุมชนท้องถิ่น​และจังหวัด กว่า 150,000 คน มาร่วมกันคัด​เลือกครูที่มีผลงาน​เชิงประจักษ์ จน​ได้ครูสอนดีจำนวน​ทั้งสิ้น 18,871 คน ที่อยู่​ทั้ง​ในสถานศึกษา​ และนอกสถานศึกษา นอกจากนี้ยังมีครูสอนดีที่สอน​เด็กด้อย​โอกาส ​ซึ่ง​ได้รับงบประมาณ ​ในรูปของ "ทุนครูสอนดี" รายละ 250,000 บาท จำนวน​ทั้งสิ้น 549 คน  ​เพื่อจัด​ทำ​โครง​การขยายผล​การพัฒนากลุ่ม​เด็ก​และ​เยาวชนด้อย​โอกาส ​ในระยะ​เวลา 18 ​เดือน

              "จิตวิญญาณของ​ความ​เป็นครู สิ่งสำคัญคือต้อง​ให้​ความสน​ใจ​เด็ก ถ้า​เรา​เข้า​ใจ​เด็ก​แต่ละกลุ่ม​ได้​ก็จะช่วย​เติม​ในสิ่งที่ขาด ​และด้วย​ความมุ่งมั่นที่อยาก​เห็น​เด็กมี​ ความรู้​ความสามารถ ​เนื่องจากอาตมา​เอง​ก็​เคยขาด​โอกาส​ได้​เรียนมาก่อนด้วยสภาพทาง​เศรษฐกิจ​ในครอบครัว ​จึงอยากสอน​เด็ก​ได้มี​โอกาส​เรียนอย่างมีคุณภาพ​ เท่า​เทียมกับ​โรง​เรียนที่มี​ความพร้อม" พระประพจน์สรัช ได้แสดงความรู้สึกตามที่หนังสือพิมพ์​ไทย​โพสต์ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2555

              พระประพจน์สรัชนั้นจบวุฒิการศึกษษนักธรรมเอก เปรียญธรรมประโยค 1-2 ปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิตเอกภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 15 และได้รับการเห็นชอบจากประชุมมหาเถรสมาคมให้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดพุทธวิหารอัมสเตอร์ดัม กรุงอัมสเตอร์ดัม ประ เทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันพุธที่ 20  มิถุนายน พ.ศ.2555

              จากการที่พระประพจน์สรัชจบวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทนอกจากจะทำหน้าที่ศิลธรรมในโรงเรียนแล้ว ยังมีทักษะการทำวิจัย เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2539 ที่ได้ริเริ่มชุดโครงการการศึกษากับชุมชนส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นต่างๆ ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กเพื่อชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยมีการสร้างเครือข่ายการวิจัยโดยมีครูนักวิจัยและชุมชนชาวบ้านร่วมเรียนรู้งานวิจัย ข้อค้นพบนำไปสู่การขยายผลการทำงานอีกมาก อาทิ งานวิจัยท้องถิ่น งานวิจัยย่อยเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โครงการครุวิจัย โครงการยุววิจัย ซึ่งกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาได้มีผลงานวิจัยมากมายที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเด็กเยาวชนและการศึกษาทั้งในระดับนโยบายและระดับท้องถิ่นในหลากหลายพื้นที่ ขยายไปสู่ยุทธศาสตร์การทำงานวิจัยเพื่อพัฒนาทั้งพื้นที่ (ABC, Area-Based Collaborative Research) ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทำงานของ สกว.

              จังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในพื้นที่การทำงานที่ สกว.ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยในหลากหลายมิติซึ่งมีโครงการวิจัยในพื้นที่ลำปางไม่น้อยกว่า 60 โครงการ ทั้งนี้ในมิติด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาที่ได้บุกเบิกมาไม่น้อยกว่าสองทศวรรษผ่านโครงการต่างๆ นั่นคือ ตั้งแต่ชุดโครงการการศึกษากับชุมชน โครงการนำร่องติดตามสภาวการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดลำปาง (Child Watch) ชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุดโครงการวิจัยและพัฒนา เครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ โครงการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้เรื่อง “การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดจังหวัดลำปาง”

              ที่สำคัญในรอบปี พ.ศ.2554-2556 ที่ผ่านมา สกว.ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีหลายภาคส่วนในการทำงานพัฒนาพื้นที่จังหวัดลำปาง อาทิ โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนานักวิจัยและการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดลำปางภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว.กับมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง โดยมีผศ.จำลอง คำบุญชู ดูแลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างความรู้และขับเคลื่อนความรู้หลากหลายมิติ  ชุดโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสกว.กับธนาคารกสิกรไทย โดยมี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ดูแลส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้คู่วิจัยในลักษณะต่างๆ โครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว.กับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดูแลขับเคลื่อนให้มีระบบพี่เลี้ยงเพื่อการพัฒนาครูในพื้นที่ต่างๆ โครงการพัฒนาตัวแบบการเรียนรู้นอกฐานโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อของเยาวชน(Non-traditional Learning)เป็นโครงการย่อยที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ ภาคีด้านเด็กเยาวชนและท้องถิ่น พัฒนานวัตกรรมปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานการผลิตสื่อสารคดี โดยมีนายสรรชัย หนองตรุด และคณะดูแล ซึ่งต่างก็มีส่วนสร้างนวัตกรรมและตัวแบบการจัดการที่มากมาย

              นอกจากนี้มีหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่ต่างก็ทำงานคู่ขนานขับเคลื่อนไปกับสกว. อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา มูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน เป็นต้น ที่ต่างลงไปทำงานร่วมกับโรงเรียน ภาคีการศึกษา และท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ซึ่งน่าจะได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กัน

              สถาบันรามจิตติในฐานะทำหน้าที่เป็นสำนักประสานงานเครือข่ายวิจัยด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาให้แก่ สกว. มีภารกิจในการสร้างและสนับสนุนการวิจัยที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษา โดยประสานงานภายในและภายนอกชุดโครงการตลอดจนสนับสนุนให้ทำงานขับเคลื่อนความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่องานพัฒนาในพื้นที่ได้มองเห็นโอกาสของการประสานพลังการขับเคลื่อนความรู้จากงาน สกว.ไปสู่การพัฒนางานด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษาภายใต้ “ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่” (Area-Based Strategy) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งพื้นที่อย่างเป็นองค์รวม  ด้วยเหตุนี้ สถาบันรามจิตติจึงได้จัดทำโครงการประชุมวิชาการเรื่อง “การขับเคลื่อนความรู้เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชนและการศึกษาเชิงพื้นที่ : จังหวัดลำปาง” ขึ้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง  เวลา 08.00-15.30 น. เพื่อการเผยแพร่ผลงานและเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมขับเคลื่อนความรู้จากงานวิจัยไปสู่การผลักดันให้เกิดประโยชน์ ต่อยอด และขยายผลจากงานวิจัยในกลุ่มเด็ก เยาวชน และการศึกษาของ สกว.ให้เกิดพลังในการทำงานด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และการปฏิวัติการเรียนรู้ในพื้นที่ต่อไป

              การประชุมวิชาการครั้งนี้จะเป็นที่รวมของนักบริหาร นักวิจัย นักวิชาการด้านการศึกษาอาทิ ดร.สุรัฐ  ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) อาจารย์ชุติมา  คำบุญชู หัวหน้าโครงการศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พระประพจน์สรัชพระครู​นักวิจัยโครงการตัวแบบการเรียนรู้นอกฐานโรงเรียนผ่านกระบวนการผลิตสื่อ ของเยาวชนโรงเรียนสุนทรศึกษา จังหวัดลำปาง จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยด้วย

              พระประพจน์สรัชนับได้ว่าเป็นพระดีรูปหนึ่งที่น่ายกย่องท่ามกลางกระแสข่าวอีกด้านของอดีตพระอาจารย์มิตซูโอะและหลวงปู่เณรคำ ในภาวะเช่นนี้คงได้แต่นึกถึงคติธรรมของพระหลวงพ่อพุทธทาสที่ว่า

              "...เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา

              จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่

              เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู

              ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย

              ...จะหาคน มีดี โดยส่วนเดียว

              อย่ามัวเที่ยว ค้นหา สหายเอ๋ย

              เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเลย

              ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริง"

...............................

(หมายเหตุ :  สกว.สวนกระแส'เณรคำ' ชู'ครูพระลำปาง'ยอดนักวิจัย : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 5 ก.ค.2556)

'ยันตระ'ทูเดย์!อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอมตีแผ่ละเอียดยิบ

             อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอมของพระมหานรินทร์ นรินฺโท พระจำอยู่ที่วัดในรัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐอเมริกา นับได้ว่าเป็นเว็บไซต์แรกๆ ที่ติดตามพฤติกรรมของอดีตพระวิรพล ฉัตติโก หรือหลวงปู่เณรคำ ประธานที่พักสงฆ์ป่าขันติธรรม อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ที่รูปภาพของอดีตพระวิรพลนอนคู่กับสีกาและอริยาบถต่างๆออกมาเผยแพร่ทางสังคมออนไลน์ เข้าใจว่าคงพร้อมๆกับการเผยแพร่คลิปนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวทางยูทูบ

              แต่เป็นเพราะช่วงนั้น "เณรคำ" ยังมีบารมีคับฟ้าอยู่จึงทำให้กระแสไม่ร้อนแรงเท่าใดนัก

              ต่อมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาแฉพฤติกรรมหรูใช้เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของ "เณรคำ" ในช่วงที่กระแสรถหรูถูกไฟไหม้กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป เท่ากับเป็นการใส่เชื้อสื่อกระพือข่าวกลบบางข่าวอย่างได้ผล ส่งผลให้อดีตพระวิรพลถูกมติของคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษว่าต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น เรื่อง "เณรคำ" จะมีผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาอย่างไร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

              และในช่วงที่มีการตรวจสอบ "เณรคำ"นั้น มีการโยงพฤติกรรมของอดีตพระยันตระ อมโรหรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ เมื่อเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพราะมีพฤติกรรมคล้ายๆกัน และวันที่ 16 ก.ค.2556นี้ อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอมก็ได้มีการเผยแพร่บทความเรื่อง " YANTRA TODAY" พร้อมกับเกริ่นนำว่า "ยันตระ อมโร อดีตพระภิกษุนัมเบอร์วันของไทย ในปี 2527-3537 คนลือว่า "เป็นอริยบุคคล" ปูพรมให้เหยียบแย่งกันถวายปัจจัย จนเหลือกินเหลือใช้ และกลายเป็นตำนาน วันนี้ อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะ ดอทคอมจะนำท่านไปพบกับบุคคลในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาหน้านั้น" โดยมีรูปภาพที่เกี่ยวกับชีวิตของนายวินัยปัจจุบันนี้ประกอบเป็นจำนวนมาก โดยสามารถติดตามได้ที่ http://www.alittlebuddha.com/html/Special%20Event/Yantra%20Today.html

              ความจริงแล้ววิถีชีวิตของนายวินัยนั้นได้มีผู้ถ่ายคลิปและเผยแพร่ผ่านทางยูทูบมาตลอดเป็นจำนวนมาก แต่พอเรื่องของนายวิรพลร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ คลิปดังกล่าวถูกลบออกเกือบหมด

              นับได้ว่าเหต์การณ์ทั้งสองเหตุการณ์นั้นคงจะเป็นอุทาหรณ์ แต่สาวกของพระพุทธเจ้าที่แท้จริงหรืออริยสงฆ์แล้ว หาได้ทำให้หวั่นไหวในพระรัตนตรัยไม่

 ..............................

(หมายเหตุ :  'ยันตระ'ทูเดย์!อะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอมตีแผ่ละเอียดยิบ : สำราญ สมพงษ์รายงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์คมชัดลึกวันที่ 16ก.ค.2556)

18ก.ค.พระราชทานเพลิงศพ'เจ้าคุณรุ่น' พระผู้สานปณิธานหลวงพ่อปัญญา


             ส่งมอบเป็นที่เรียบร้อยแล้วพระอุโบสถกลางน้ำที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา หนึ่งในปณิธานของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี ที่ละสังขารไปแล้วถึง 6 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา

              พระอุโบสถกลางน้ำแห่งนี้ก่อสร้างเสร็จได้สมปณิธานสวยงามและสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมไทยปัจจุบันที่แบ่งออกเป็นสีต่างๆ ภาพส่วนหนึ่งสื่อออกมาเป็นมือตบ ตีนตบ ปืน รวมทั้งเครื่องตรวจวัตถุระเบิดทางภาคใต้นั้น บุคคลหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันที่สำคัญยิ่งนั้นก็คือพระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.๙)  อดีตเจ้าคณะภาค 17 อดีตหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9  อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์  โดยได้ร่วมแถลงข่าวเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2555ด้วย

              แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด หลังจากนั้นไม่นานพระธรรมวิมลโมลีได้ล้มป่วยเข้ารับการรักษาอาการปอดติดเชื้อที่โรงพยาบาลชลประทานในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 จากนั้นได้ย้ายไปรักษายังโรงพยาบาลศิริราช กระทั่งมรณภาพในที่สุดในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2556 โดยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตรวมสิริอายุ 66 ปี พรรษาที่ 46

              ทั้งนี้สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆ์ราช กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามได้กล่าวถึงพระธรรมวิมลโมลีในโอกาสเป็นประธานส่งมอบพระอุโบสถกลางน้ำแก่ มจร ว่า "งานพิธีส่งมอบอุโบสถกลางสระน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ถ้าวันนี้พระธรรมวิมลโมลีผู้สืบสานมโนปณิธานสร้างอุโบสถหลังนี้จนแล้วเสร็จ มายืนอยู่ ณ จุดนี้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ท่านต้องมาจากไปก่อนวัยอันควร ขอดวงวิญญาณของพระเดชพระคุณอาจารย์ จงสู่สุคติเถิด"            

             หลังจากพระธรรมวิมลโมลีมรณภาพลง คณะศิษยานุศิษย์ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ตลอดมา  และได้กำหนดที่จะประกอบพิธีฌาปนกิจและได้รับพระราชเพลิงศพเวลา 15.00น.ของวันที่ 18 ก.ค.นี้โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงเป็นประธาน ทั้งนี้วันที่ 15 ก.ค.คณะศิษยานุศิษย์ได้อัญเชิญโกศศพพระธรรมวิมลโมลีบำเพ็ญกุศล ณ เมรุมาศ วัดชลประทานฯ ก่อนประกอบพิธีพระราชทานเพลิง

              พระธรรมวิมลโมลี มีนามเดิมว่า รุ่น นามสกุล รักษ์วงศ์ เกิดวันที่ 24 มกราคม 2490 ที่บ้านลำภายตีน ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุงบรรพชาอุปสมบท เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2510 ณ วัดธาราสถิตย์ ตำบลโคกชะงาย อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ในปี 2512 สอบได้ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดตรัง ปี2523 สอบได้ ป.ธ.9 สำนักเรียนวัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร ปี 2549 สำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กทม.

              ตำแหน่งทางการปกครอง ในปี 2516 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดกุฏยาราม จังหวัดตรัง  ปี 2527 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้ขอลาออก เมื่อปี 2532 เพื่อไปรับตำแหน่ง รองเจ้าคณะภาค 17  ปี 2551ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์สมณศักดิ์ ในปี 2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ "พระเมธีวราภรณ์"  ปี 2539ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ "พระราชวิสุทธิโมลี"  ปี 2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพปริยัติเมธี” ปี2552ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ "พระธรรมวิมลโมลี"

              "พฤกษภผกาสร อีกกุญชรอัดปลดปลง โททนเสน่ห์คง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรี สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา"

 ............................

(หมายเหตุ : 18ก.ค.พระราชทานเพลิงศพ'เจ้าคุณรุ่น' พระผู้สานปณิธานหลวงพ่อปัญญา : สำราญ สมพงษ์รายงาน เว็บคมชัดลึกวันที่ 17 ก.ค.2556)



"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...