วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

'8ต.ค.'สำคัญไฉน!7ปีรัฐประหาร'ทักษิณ'จึงพูดถึง

                วันที่ 19 ก.ย.2556 นี้นับเป็นวันครบรอบ 7 ปีของการรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำ ได้ระบายความรู้สึกผ่านไทยรัฐออนไลน์ความว่า  7 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทย เสียเวลา จึงอยากแนะนำให้ทุกคนหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และตนเองพร้อมให้อภัยทุกฝ่าย

               พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงการปฎิรูปการเมือง ซึ่งฝ่ายค้านไม่ไว้ใจ เพราะพรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าเรื่องนิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องถามว่า ตอนพรรคประชาธิปัตย์ ได้ไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ขโมยคนของพรรคพลังประชาชนไป แล้วตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้แก้ตามใจตัวเองหรือไม่ แก้กติกาการเลือกตั้งซึ่งเป็นหัวใจสำคัญด้วยซ้ำ พวกเราก็ไม่ได้ว่า ไม่ได้ค้านแต่พอวันนี้พรรคเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญตามที่ได้รับปากไว้กับประชาชนตอนหาเสียงเลือกตั้ง ก็กลับไม่ยอม กลับมีการป่วนทั้งในและนอกสภา

               "ถามว่าทำอย่างนี้เพื่ออะไร แล้ววันนี้ก็ประกาศด้วยว่า เป็นที่รู้กันภายในว่าจะต้องเอารัฐบาลล้มให้ได้ในวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งผมก็รู้ว่ามันคือวันอะไร ถือฤกษ์ ถือยาม อะไร ซึ่งมันตลก ผมว่ามันไม่อยู่ในกติกา กติกามันต้องคิดว่า 4 ปีนะ การเซ็นเซอร์ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การอภิปรายต่าง ๆ มันต้องผ่านกระบวนการตามระบอบ ไม่เห็นเป็นไร วันนี้มันเหมือนกับว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ มันรวน ถ้า"ไม่รีเซต" มันก็เดินต่อไม่ได้ "

               อดีตนายกฯกล่าวว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น วันนี้เชื้อเชิญทุกอย่าง เหลืออย่างเดียว เอาดอกไม้ธูปเทียนไปให้เท่านั้นแหละ เชื้อเชิญทุกอย่าง ใจกว้างทุกอย่าง เอาไงก็เอากัน
   
               ส่วนที่มีคำเรียกร้องว่า ทุกอย่างจะจบถ้า พ.ต.ท.ทักษิณหยุดนั้น อดีตนายกฯกล่าวว่า "แล้วเป็นไง กลัวผมหรือไง กลัวอะไรผม ผมไม่มีอะไรเลยจริง ๆ ผมเป็นคนใจดีออก ใครมาหาก็ให้พบหมด วันนี้เนี่ย ก้าวข้ามพ้นผมได้มั้ย ก้าวข้ามไม่พ้นผม ยังติดหล่มผมด้วยสิเนี่ย คือ ผมไม่มีอะไรเลย ผมคือ ทักษิณธรรมดา ผมเป็นคนที่มาพูดคุยกับผมสิ ผมเป็นคนพูดง่ายมากเลยนะ พูดเรื่องอะไรจบเป็นจบ แต่ถ้าบอกว่า จะเอาชนะคะคานกัน มันเสียแรงที่จะพูด "

               เมื่อถามว่าพร้อมจะหยุดใช่หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนไม่เล่นการเมืองมา 7 ปีก็ไม่เห็นเป็นไร พร้อมทั้งระบุว่า "อ่านรามเกียรติ์ รึเปล่า เวลาทศกัณฐ์รบ และถอดหัวใจรบ ฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ตาย ก็เอาผมไปไว้เมืองนอก ทำไมไม่ให้ผมกลับเมืองไทยเล่า ถ้าผมอยู่เมืองนอก ตีผมยังไงก็ตีไม่ตาย"

               เมื่อถามว่าฟันธงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อยู่ถึง 4 ปี หรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ก็ยังไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องยุบสภา

               แต่มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าทำไมอยู่ๆ พ.ต.ท.ทักษิณถึงระบุถึงฤกษ์วันที่ 8 ตุลาคมที่จะถึง โดยเฉพาะเกี่ยวกับดวง ทั้งนี้นางฟองสนาน จามรจันทร์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสและนักโหราศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ คม ฅน คิด ของสำนักข่าวทีนิวส์ ถึงดวงชะตาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมเป็นต้นไป ดาวพฤหัสบดีที่คุ้มครองดวงชะตาชีวิตของนายกรัฐมนตรีจะเข้าสู่ภพมรณะ ดวงจะตกมากที่สุดในรอบ 12 ปี อีกทั้งดวงเมืองในปีนี้ช่วงเดือนกันยายน และตุลาคม จะเป็นช่วงที่ยากลำบากของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำนายว่า ดวงตกเช่นเดียวกัน แต่เป็นลักษณะที่อาจถูกบริวารหักหลัง

               นางฟองสนาน กล่าวต่อว่า ขณะที่ดวงเมืองนั้น ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมให้ระวังเรื่องเขตแดน ส่วนเรื่องภายในประเทศนั้นให้ระวังเช่นเดียวกัน เพราะดาวพฤหัส ตัวแทนดาวดี เผชิญหน้ากับ ดาวเสาร์ ตัวแทนดาวร้าย ซึ่งจะเกิดเหตุการณ์อะไรนั้นเป็นเรื่องที่คาดหมายได้ยาก ยิ่งในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม โดยเฉพาะวันที่ 8 ตุลาคม ต้องตั้งสติให้มั่น เพราะตรงนี้จะเป็นปรากฏการณ์สุดท้ายที่จะนำไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง

               ขณะเดียวกันวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2513 เป็นวันที่ "มิตร ชัยบัญชา" ประสบอุบัติเหตุ ตกเฮลิคอปเตอร์เสียชีวิต ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ที่หาดดงตาล อ่าวพัทยาใต้ จ.ชลบุรี


...............

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)รายงาน

วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

อึ้ง!'ธัมมชโย'รวยที่กว่า2หมื่นไร่ วัดสาขาผุดในสหรัฐฯกว่า10แห่ง

               ตามที่มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง "บทบาทในการรักษาพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศึกษาเฉพาะกรณีธรรมกาย" เป็นผลงานวิจัย ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (บุญถึง) หรือ "ว.วชิรเมธี" เมื่อครั้งเรียนอยู่ที่ มจร. คณะพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พระพุทธศาสนา) โดยมีคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์  ชิ้นนี้มี 3 ท่าน คือ  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ นายสนิท ศรีสำแดง และ นาย รังษี สุทนต์

               อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลงานวิจัยชิ้นนี้จะถูกนำเสนอเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2546 หรือเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว แต่ผลงานชิ้นนี้ถูกหยิบขึ้นมาโพสต์และมีการแชร์ต่อผ่านสื่อออนโลน์กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ใน  "www.mcu.ac.th/thesis_file/254620.pdf" มีผู้เข้าชม 12,128 ครั้ง" ในขณะที่ "www.komchadluek.net" มีผู้เข้าชมกว่า 70,000 ครั้ง  ณ วันที่ 13 ก.ย.

               ขณะเดียวกันศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมืองโดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ได้รายงานเรื่อง "ชำแหละที่ดินเมืองไทยวันนี้อยู่ในมือใคร ไม่ใช้ประโยชน์-เสียหายปีละ 1.3 แสนล้าน" เผยแพร่ทางเว็บไซต์ http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3085 เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสรุปจากเวทีสาธารณะที่จัดโดยศูนย์ข่าว TCIJ เรื่อง"ก้าวข้ามความขัดแย้งกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย"  ความว่า หนึ่งในวิทยากรคือ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่มองปัญหาความขัดแย้งในสังคมผ่านมิติเศรษฐศาสตร์การเมือง พบว่า ความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่อย่างเนิ่นนานและมีแต่จะสูงขึ้น คือต้นตอสำคัญของความขัดแย้ง

               โดย ศ.ดร.ผาสุก ได้ยกข้อมูลทรัพย์สินที่แสดงระดับการผูกขาดที่สูงมาก โดยเฉพาะการถือครองที่ดินที่มีโฉนดในเมืองไทยที่พบว่า คนที่มีโฉนดที่ดินมากที่สุดร้อยละ 10 มีที่ดินรวมกันถึงร้อยละ 62 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะที่คนระดับล่างที่มีที่ดินร้อยละ 50 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 2 ของโฉนดที่ดินทั่วประเทศเท่านั้น ซ้ำปัจเจกบุคคลและนิติบุคคลเพียง 837 รายมีที่ดินโฉนดมากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป และในจำนวนนี้ปัจเจกบุคคลคนหนึ่งมีที่ดินมากที่สุดถึง 631,263 ไร่

               แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าศ.ดร.ผาสุกนอกจากได้เปิดเผยที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของนักการเมือง เอกชนแล้วยังพบว่า พระธัมมชโย หรือ พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ถือครองที่ดินในชื่อเดิมว่า พระไพบูลย์ สุทธิผล 1,045 ไร่ และถือครองในชื่อร่วมและถือครองในชื่อคนอื่น รวมทั้งสิ้น 27,920 ไร่

               นอกจากนี้ยังพบว่าวัดธรรมกายได้มีการขยายวัดไปยังต่างประเทศในจำนวนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สหรัฐอเมริกามีเกือบ 10 วัดโดยระบุชื่อชัดเจนเช่น วัดพระธรรมกายแคลิฟอร์เนีย รัฐแคลิฟอร์เนีย วัดพระธรรมกายชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ วัดพระธรรมกาย นิว เจอร์ซี่ รัฐนิวเจอร์ซี่  วัดพระธรรมกายซีแอ๊ตเติ้ล รัฐวอชิงตัน วัดพระธรรมกายมินิโซต้า รัฐมินิโซต้า     วัดพระธรรมกายฟลอริด้า รัฐฟลอริด้า  วัดพระธรรมกายบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตช์  วัดพระธรรมกายออเรกอน รัฐออเรกอน  วัดพระธรรมกายซิลิคอนวัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

...........................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)รายงาน




วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

คืบสร้าง'รพ.พระพุทธเจ้า'วัดไทยพุทธคยา อีกหนึ่งศาสนกิจพระธรรมทูตไทยในต่างแดน

              การปฏิบัติศาสนากิจของพระธรรมทูตไทยที่เดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนนั้น นอกจากจะทำหน้าที่ในการสอนธรรมแล้วยังต้องทำหน้าที่บริการสังคมในพื้นที่นั้นๆด้วย

              อย่างเช่นที่ประเทศอินเดีย พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ได้มีความริเริ่มที่จะสร้างโรงพบาลขึ้นโดยให้ชื่อว่า"สถานพยาบาลวัดไทยพุทธคยา" ขณะนี้ก็ดำเนินการต่อสร้างเสร็จไปมากแล้ว

              ล่าสุดเฟซบุ๊กวัดไทยพุทธคยาได้รายงานภาพพร้อมระบุว่า พระราชรัตนรังษีตรวจสอบความคืบหน้าและให้คำปรึกษากับสถาปนิกและช่าง ในการสร้างโรงพยาบาลพระพุทธเจ้าวัดไทยพุทธคยา ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงก่อสร้าง เพื่อเตรียมพร้อมในการต้อนรับผู้แสวงบุญในช่วงเทศกาลที่จะมาถึง และเพื่อเป็นสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสากล ในการให้บริการการรักษาสำหรับพระสงฆ์และผู้แสวงบุญ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

              พร้อมกันนี้ยังได้รายงานว่า ทางวัดไทยพุทธคยาโดยพระราชรัตนรังษีได้ลงนามนามกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คือ รศ.ดร.สุรชัย จิวเจริญสกุล คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ในการพัฒนากิจการงานที่จะพัฒนาการศึกษา วัฒนธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตลอดถึงการร่วมมือในการฝึกอบรมบุคลากร การส่งนิสิตร่วมปฏิบัติสหกิจการศึกษา ณ แดนพุทธภูมิ เพื่อรองรับงานพระศาสนา และโครงการบรรพชาอุปสมบท เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 45 ปี คณะศึกษาศาสตร์ และ 72 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

              นับได้ว่ากิจกรรมของวัดไทยพุทธคยาเป็นสิ่งที่น่ายินดีน่าอนุโมทนายิ่ง เพราะในครั้งพุทธกาลนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาพระป่วยแม้นแต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงปฏิบัติด้วยพระองค์เอง และด้วยพุทธกิจดังกล่าวชาวพุทธในอดีตจึงมีการพัฒนสถานพยาบาลพระและโยมป่วย ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้เป็นเอกภาพแสดงพุทธนุภาพมากกว่าเป็นอั
ตานุภาพอย่างไร

              ทั้งนี้บล็อกเกอร์ศุภศรุตได้เขียนบทความเรื่อง “อโรคยศาลา” พยาบาลสถานแห่งพระพุทธเจ้ากับข่าวคราวครั้งล่าสุด !!! อโรคยศาลาคืออะไร ? เมื่อปี 2552 (http://www.oknation.net/blog/voranai/2009/08/20/entry-1) โดยลงความเห็นว่า  "อโรยศาลา หรือ ที่ผมเรียกว่า “พยาบาลสถานแห่งพระพุทธเจ้า” เป็นชื่อรวมของสถานที่หนึ่ง ที่มีการจัดพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ ส่วนที่เราเห็นหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็น “ประภามณฑลแห่งอำนาจของพระพุทธเจ้าไภษัชยไวฑูรยประภาสุคต” ประกอบด้วย “หอพระ” หรือ “ปราสาทประธาน” (Chapel - Shrine) ตั้งอยู่กลาง “มณฑลศักดิ์สิทธิ์” ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วบนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม" ทั้งนี้โดยมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับอโรยศาลาสมัย "พระเจ้าชัยวรมันที่ 7"  

              บล็อกเกอร์ศุภศรุต ได้ระบุต่อว่า "คำถามหนึ่งที่น่าสนใจ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้รับ “แรงบันดาลใจ” จากไหน ถึงได้โปรดให้สร้างอโรคยศาลามากมายทั่วพระราชอาณาจักร ?

               คำตอบก็คือ ในยุคหนึ่ง พระองค์ “อาจ” เคยได้เสด็จไปถึงชมพูทวีป(อินเดีย) ในคราวหนีการปกครองของพระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน ผู้ยึดครองบัลลังก์ ตามตำนานเก่าแก่ในประเทศอินเดีย – ลังกา เล่าว่าเคยมีกษัตริย์แห่งศรียโสธรปุระเสด็จกลับไปครองราชย์ที่อินเดีย - ลังกา ซึ่งนั่นก็น่าจะหมายถึงพระองค์เท่านั้น

              พระองค์คงได้ศึกษาและได้ยินเรื่องราวของ “พุทธมหาราชา” ในอดีต อย่างน้อย 2 พระองค์ ได้แก่ “พระเจ้าอโศกมหาราช”  และ “พระเจ้ากณิษกะ”แห่งอาณาจักรกุษาณะ

              มหาราชาทั้งสอง เป็นผู้อุปถัมภกพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ในการทำนุบำรุงและควบคุมบ้านเมืองภายหลังสงครามรวบรวมอาณาจักร ทั้งสองพระองค์ทำเหมือนกันหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ การสร้างพยาบาลสถานและการขุดบ่อน้ำไว้ทั่วทุกตำบลใน “ขอบเขต” ปกครอง

              ประโยชน์ทาง “การเมือง” ที่ได้จากการสร้าง “พยาบาลสถาน” ของพุทธกษัตริย์โบราณ คือ การประกาศขอบเขต ”เดชานุภาพ” ของพระองค์โดยพฤตินัย ด้วยอาคารและผู้คนที่มีรูปแบบเดียวกัน การบริหารขึ้นตรงต่อราชสำนักกลาง บ้านเมืองใด ไม่สร้างอโรคยศาลา ไม่ประดิษฐานรูปเคารพแห่งศูนย์กลางอาณาจักร ก็เป็นที่ชัดเจนว่า บ้านเมืองนั้นเอาใจออกห่าง และผลที่ตามมาก็คือ “สงครามปราบกบฏ” !!!

              ประโยชน์สำคัญในทางสังคม คือการทำนุบำรุงไพร่ฟ้าประชาชน ให้อยู่ดีมีสุข ด้วยการรักษาโรคโดยไม่คิดค่ารักษา อโรคยศาลาคือที่พึ่งทั้งทางกายและจิตใจของไพร่ฟ้าประชาชน สามารถสร้างเงื่อนไขความผูกพันให้ประชาชนจงรักภักดี สวามิภักดิ์ต่อผู้ปกครองตลอดรัชสมัย การบูชาสักการะพระพุทธเจ้าแห่งอาณาจักรและพระราชาผ่านพยาบาลสถาน มีผลทางจิตวิทยากับประชาชนเป็นอย่างมาก

              แรงบันดาลใจจากอดีตนี้ คงเป็น “แรงขับ” สำคัญที่ส่งผลให้พระเจ้าศรีชัยวรมัน ประกาศตนเป็นพุทธมหาราชาทั้งทางเดชานุภาพของอาณาจักรกัมพุชเทศ พร้อมผลในการทำนุบำรุงไพร่ฟ้าประชาชนด้วยการสร้าง “พยาบาลสถาน” ขึ้นไปพร้อมกัน เฉกเช่นพุทธมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งอดีต !!!"

              นับได้ว่าเป็นข้อมูลที่พระธรรมทูตนำมาประยุกต์ใช้ในเหตุการณ์ปัจจุบันได้



.................................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)รายงาน



วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

วิพากษ์'ค้านใส่ชุดนศ.'สะท้อนสังคมวจีทุจริต?

               ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กลุ่มหนึ่งจัดทำโปสเตอร์เป็นภาพชายหญิงในชุดนักศึกษาแสดงท่าทางมีเพศสัมพันธ์ ติดทั่วมหาวิทยาลัยท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงการคัดค้านที่อาจารย์ผู้สอนรายวิชา TU 130 หรือวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียน ด้วยข้ออ้างเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ ไม่เหมาะสมกับสโลแกนของมหาวิทยาลัยที่ว่า "มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

               จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะถูกผิดหรือเหมาะสมอย่างไรก็ว่ากันไปตามสังคมประชาธิปไตยที่ค่อนข้างไปทางอเมริกาที่ให้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ก่อนได้ ส่วนจะถูกผิดอย่างไรนั้นค่อยตามแก้กันทีหลังจะมีผลกระทบอย่างไรช่างหัวเผือก ก็ได้แต่คิดว่าคำว่าประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้นจะใช้โดดๆคงไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตัวเอง คงจะต้องมีอะไรมานำหน้าหรือไม่ อย่างเช่น สันติ หรือสัมมาเป็นต้น เป็นสันติประชาธิปไตยหรือสัมมาประชาธิปไตย

               อย่างไรก็ตามอีกมุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีเวทีสัมมนาความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาโครงการปริญญาโทสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเรียนการสอนทางธรรมโดยเฉพาะวิชาพุทธศาสนศึกษามาหลายปีแล้วเช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย ทำให้พระแม่ชีได้มีโอกาสให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกาษาต่อที่ต่างประเทศเช่นประเทศอินเดียเหมือนรุ่นพี่

               งานสัมมนาครั้งนี้มีนักศึกษาเสนอวิทยานิพนธ์เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความตายทรรศนะของพระไพศาล วิสาโล การแก้ปัญหาโลกร้อนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมทานตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเถรวาท การเยียวยาผู้ป่วยด้วยวิธีการเชิงพุทธบูรณาการ : กรณีศึกษาบทบาทและผลงานองพระครรชิต อกิญจโน ณ โรงพยาบาลชัยภูมิ  มุมมองทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการตาย : กรณีศึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล  วิธีการแก้ปัญหาการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่พระพุทธศาสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

               วจีทุจริตในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท การศึกษาเรื่องความโลภในพระพุทธศาสนาเถรวาท การวิเคราะห์การเป็นนักบวชของแม่ชีไทยในพระพุทธศาสนาเถรวาท การบำบัดความเครียดตามวิธีแก้ปัญหาแบบอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิวิจารณ์ตลอดงานคือผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

               วิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจกับเหตุการณ์สังคมไทยปัจจุบันนี้มากที่สุดโดยเฉพาะในรั้วมธ.เองคงจะเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง วจีทุจริตในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นผลงานของแม่ชีทิพวรรณ เจินยุหะ ในฐานะนักศึกษา โดยแม่ชีทิพวรรณได้เสนอว่าสาเหตุที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เพราะมีพฤติกรรมในสังคมไทยเกิดบ่อยๆ โดยไม่สำนึกว่าผลกระทบตามมาจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสื่อมวลชนนำเสนอเฉพาะในสิ่งที่ไม่ดี ทางทีวีมีการเปิดเผยความลับของดาราแม้จะจริงแต่ไม่ควรนำเสนอ ละครทีวีช่วงเย็นมักใช้คำรุนแรงเช่นเรื่องแรงเงา  เนื้อหาของเพลงก็กำกวมส่วนใหญ่ด้านลบ เช่นเพลงคันหู แน่นอก กินตับ

               ทั้งๆที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การพูดจึงมีคำสอนที่เกี่ยวกับการพูดไว้มากมาย เช่นให้งดเว้นจากมุสาวาทให้กล่าวคำสัตย์ ซื่อตรง เชื่อถือได้ไม่ลวงโลก ไม่ใช่วาจาละเมิดความเป็นจริงเพราะเห็นแก่ตัวหรืออามิสสินจ้างและมุ่งทำลายผู้อื่น ให้ละเว้นวจีทุจริตซึ่งอยู่ในอกุศลกรรมบท 10 ประการ ถือเป็นศีลขั้นละเอียดคือนอกจากมีเจตนางดเว้นการกล่าวมุสาวาทแล้วยังรวมไปถึงเจตนางดเว้นจากวาจาส่อเสียด วาจาหยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าตามหลักพระพุทธศาสนา การพูดจึงเป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือบกพร่อง ส่วนการที่ละเมิดศีลหรืออกุศลกรรมบถเป็นการพูดไม่ชอบเป็นวจีทุจริตซึ่งเป็นบาปและให้โทษ

               แม่ชีทิพวรรณเผยว่า วิทยานิพนธ์เรื่องนี้แม้นจะไม่สามารถแก้อะไรได้มากไปจนถึงขั้นออกกฎหมายมาบังคับแต่สิ่งที่จะได้คือเป็นการเตือนสติ สังคมไม่ควรจะสนบสนุนหรือลอกเรียนแบบ

               อย่างไรก็ตามแม้นว่าวิทยานิพนธ์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องดีสะท้อนปัญหาของสังคมได้ชัดเจนที่เต็มไปด้วยวจีทุจริตโดยเฉพาะวาจาส่อเสียด วาจาหยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อ แต่ก็ติดปัญหาว่าจะยกตัวอย่างได้อย่างไร อย่างเช่นการใช้วจีทุจริตของนักการเมือง  เพราะหากมีการยกขึ้นมาแล้วอาจจะถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นจึงได้ให้มีส่วนในการให้ความเห็นไปว่า อาจารย์ที่ปรึกษาควรจะมีส่วนทำให้วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้สำเร็จออกมาให้สมบูรณ์มากที่สุดแม้นจะยากก็ตาม

               หากต้องการที่จะหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนาเพื่อนำมาแก้ปัญหาสังคมเพิ่มเติมแล้ว วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย. นี้บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร ) โดยมีพระสุธีธรรมานุวัตรเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จะจัดแสดงผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปีหรือ “ยอดมงกุฏ” อันล้ำค่าทางวิชาการ พระพุทธศาสนา ที่พร้อมเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าใจเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง ที่สามารถนำพุทธบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่อย่างลงตัว  พร้อมได้องค์ความรู้ใหม่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม มวลมนุษยชาติได้
        
               งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ระดับดีและระดับดีเด่นที่นำมาแสดงในวันดังกล่าวอาทิเช่น การสร้างสังคมตื่นรู้จากชุมชนไม้เรียง จ. นครศรีธรรมราช ของนายประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ,  แนวทางการฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬา ที่กำลังเป็นไฮไลท์ของคนทั้งประเทศ คือกีฬาเร็คเก็ต น้องเมย์ แชมป์โลกแบตบินตันชาวไทย เป็นตัวอย่างของการมีสติในการเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดี,  การลดสภาวะซึมเศร้าในผู้ประสบภัยพิบัติด้วยการรับบทสวดโพชฌงคปริตรเข้าจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นทางออกสำหรับคนที่กำลังมีความทุกข์ให้ทุกข์น้อยลง, รูปแบบการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นแนวทางของการฝึกอย่างถูกวิธี ฯลฯ

               นอกจากนี้ ยังมี ผลงานวิจัยของอาจารย์ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม เรื่อง รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา : กระบวนการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม ที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงของปัญหาและสาเหตุการเข้าวัดของคนในสังคมอย่างคาดไม่ถึง และอีกหลากหลายเรื่องที่พร้อมจะนำเสนอออกสู่สาธารณะ ซึ่งล้วนน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

               สำหรับการสัมมนาเผยแพร่ผลงานในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556  เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ หอประชุม มวก. 49  พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา

.....................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong) 

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

เนปาลฮือฮา!ตีแผ่ข่าวพระไทยบิณฑบาต กรุงกบิลพัสดุ์เมืองเจ้าชายสิทธัตถะ

               หนังสือพิมพ์ Katmandu Post  ของประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ได้ตีแผ่ข่าวที่พระสงฆ์ไทย จากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัยและจากวัดไทยลุมพินี วัดไทยกบิลพัสดุ์ วัดไทยนิโครธาราม  จำนวนกว่าสี่สิบรูป  เดินออกรับอาหารบิณฑบาต ที่เมืองเตาลิฮาวา กรุงกบิลพัสดุ์  อดีตวังของพระเจ้าสุทโธทนะ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับในช่วงทรงพระเยาว์และครองเรื่องจนพระชนมายุ 29 จึงเสด็จออกบวช

               การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ไทยเป็นนิมิตบอกว่า พระพุทธศาสนากำลังกลับคืนสู่แดนดินถิ่นแห่งหิมวันตประเทศ หลังจากที่เงียบหายไปนานแสนนาน และประชาชนชาวเนปาล ท้องถิ่นต่างก็ออกมาใส่บาตรพระสงฆ์ไทยเป็นจำนวนมาก แม้พวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นชาวฮินดู ไม่ใช่ชาวพุทธ ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่เมื่อได้เห็นภาพอันน่าศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรอันงดงามนี้ ของเหล่าพระสงฆ์ไทย ประชาชนชาวเนปาลต่างก็ตื่นเต้นที่จักได้มีส่วนร่วมในการถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระสงฆ์สมณศากยบุตร จากประเทศไทย  นับเป็นภาพที่น่าชื่นชมยิ่งนัก

               ข้อความข้างต้นนี้เฟซบุ๊กนามท่านคมสรณ์ของพระธรรมทูตอินเดียคือพระครูปริยัติโพธิวิเทศ ภายใต้การนำของพระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ได้รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้รายงานการปฏิบัติศาสนกิจของพระธรรมทูตอินเดีย-เนปาลอย่างต่อเนื่อง

               พร้อมกันนี้ได้โพสต์บทความเรื่องพระธรรมทูตไทยในอินเดียและเนปาลช่วยสร้าง “ความนิยมไทย” เขียนโดย ไพฑูรย์ สงค์แก้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี วันที่ 27 สิงหาคมความว่า

               "เมื่อวันที่ 14-16 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดียและเนปาลได้จัดงาน "ทำบุญบูรพาจารย์และประชุมพระธรรมทูตพุทธภูมิ" ที่วัดไทยพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร พระภิกษุไทยประมาณ 120 รูปจากวัดไทยในอินเดียจำนวน 26 วัดและวัดไทยในเนปาล 1 วัด รวมทั้งพระภิกษุไทยที่ได้รับนิมนต์ให้จำพรรษาในวัดนานาชาติในอินเดียจำนวน 5 วัด และในเนปาลอีก 4 วัด ทั้งสังกัดมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย รวมจำนวน 36 วัด ได้เดินทางมาร่วมงานดังกล่าว นอกจากนี้ พระภิกษุชาวเนปาล จำนวน 2 รูป ได้มาร่วมประชุมด้วย

               พระธรรมสุธี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ซึ่งได้เดินทางจากประเทศไทยมาเป็นประธานการประชุมพระธรรมทูตครั้งนี้ ได้ให้โอวาท และแนวทางการทำงานแก่พระธรรมทูต ที่นอกจากมุ่งเน้นการทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์สุข และเกื้อกูลต่อชาวอินเดียและชาวไทยที่มานมัสการสังเวชนียสถาน ในอินเดียและเนปาลแล้ว ก็ควรเป็นพี่เลี้ยงพระภิกษุอินเดีย (All India Bhikkhu Sangha) เพื่อให้ฝ่ายหลังเติบโตแข็งแรงด้วย หลังจากนั้น ทั้งพระธรรมทูตและพระภิกษุไทย ที่มาปฏิบัติพุทธศาสนกิจ รวมทั้งพระภิกษุนักศึกษาในอินเดียทั้ง 120 รูปได้แลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์การทำงานในฐานะพระธรรมทูต ส่วนผู้แทนสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงความพร้อมโดยเฉพาะของสถานเอกอัคร-ราชทูต ณ กรุงนิวเดลี และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตา ที่จะสนับสนุนอุปถัมภ์การดำเนินงานของพระธรรมทูตอย่างดีที่สุด

               ในงานมีการทำพิธีเชิญธงอินเดียขึ้นสู่ยอดเสาในวัดไทยพุทธคยา โดยนักเรียนโรงเรียนปัญจศีล ซึ่งเป็นเด็กชาวพุทธใหม่โดยมีพระภิกษุชาวอินเดียเป็นผู้นำและพระภิกษุไทย ที่เข้าร่วมงานครั้งนี้เข้าร่วมพิธีด้วย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันฉลองวันเอกราชของอินเดียด้วย

               ส่วนการประกอบพิธีทำบุญบุรพาจารย์ก็จัดขึ้นในพระอุโบสถวัดไทยพุทธคยา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยาสามรูปที่ได้มรณภาพไปแล้ว และแก่อดีตเอกอัครราชทูต  ณ กรุงนิวเดลี ตลอดทั้งแก่ กงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาที่ล่วงลับไปแล้ว

               นอกจากนี้ ก็มีการมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุไทย สามเณรอินเดีย และเยาวชนอินเดีย จำนวน 33 ทุน รวมเป็นเงิน 159,000 รูปี รวมทั้งการมอบทุนการศึกษาจำนวน 1 แสนรูปี (ผ่านตัวแทนสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ให้แก่นักศึกษาไทยมุสลิมของมหาวิทยาลัยอลีครห์ (Aligarh University) ในรัฐอุตตรประเทศด้วย

               งานดังกล่าวนอกจากเพื่อการส่งเสริมพระพุทธศาสนาในอินเดียแล้ว ยังเป็นการสร้าง “ความนิยมไทย” ได้อย่างดีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการมอบทุนการศึกษาโดยเฉพาะแก่เยาวชนชาวอินเดียที่เรียนดี แต่ยากจนน่าจะสามารถช่วย
ยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว

               จากบทความนี้พอจะเป็นการสะท้อนภารกิจของพระธรรทูตอินเดีย-เนปาลได้ชัดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่จาริกไปพื้นที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมและสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอินเดีย-เนปาล และควรจะขยายภาพไปที่รัฐอัสสัม ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บังคลาเทศก็มีประโยชน์ยิ่ง หากนำภาพดังกล่าวมาประกอนการเรียนการสอนวิชาพระพุทธประวัติแล้วคงจะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจมากขึ้นและรวดเร็วนิ่งยิ่งขึ้นแทนที่จะให้เรียนในตำราเป็นตัวหนังสือเท่านั้น เพราะยุคปัจจุบันนี้มีสื่อการเรียนการสอนมากมายที่จะนำมาประกอบ



.....................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)





ชาวลาวสูญเสีย!'ดร.พระมหาชาลี กันตสีโล' รองประมุขสงฆ์พระนักเผยแผ่

               ช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านชาวพุทธได้ทราบข่าวการสุญเสียครั้งใหญ่ของวงการคณะสงฆ์อาเซียนถึง 2 ครั้งด้วยกัน คือเมื่อ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ชาวพุทธทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างเศร้าโศกเสียใจ  และได้มีการบำเพ็ญกุศลฟังสวดพระอภิธรรมเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

               ขณะเดียวกันวันที่ 10 ก.ย.ที่เพิ่งผ่านไปนี้ พี่น้องชาวลาวก็ได้สูญเสียพระนักปกครอง พระวิปัสสนาจารย์ พระนักแผ่ศีลธรรมและด้านการสั่งสอนประชาชนที่ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ประเทศ สปป.ลาว นั้นก็คือดร.พระมหาชาลี กันตสีโล รองประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์แห่งประเทศลาว (อพส.) หรือรองประมุขสงฆ์ลาว หัวหน้ากรรมาธิการใหญ่ เผยแผ่ศีลธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐานทั่วประเทศลาว

               ทั้งนี้ดร.พระมหาชาลีเกิดที่จังหวัดยโสธร ปี 2476  และเดินทางไปจำพรรษาที่สปป.ลาวเพื่อสอนอภิธรรมปี 2498 และได้ พธ.ด.กิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปี 2551

               ทั้งนี้เว็บไซต์ Lao Buddhismได้รายงานว่าดร.พระมหาชาลี กันตสีโลได้มรณภาพเมื่อคืนวันที่ 10 ก.ย.ได้อาการสงบที่วัดป่านาคูนน้อย เมืองนาชายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ด้วยโรคมะเร็งตับ รวมอายุได้ 81 ปี 60 พรรษา

               ดร.พระมหาชาลี กันตสีโลนั้นเป็นรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวและเป็นประธานโครงการพุทธศาสนาเพื่อการพัฒนาทั้งเป็นประธานโครงการแปลประไตรปิฎกฉบับภาษาลาว เป็นอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐานสืบสานมาจากพระอาจารย์ใหญ่มหาอานันโท ที่วัดพุทธวงสาป่าหลวงในเมืองก่อน

               การจากไปของพระอาจารย์ใหญ่ดร.พระมหาชาลีในครั้งนี้ถือว่าคณะสงฆ์ลาวได้สูญเสียบุคลากรสงฆ์และบูชนียบุคคลสงฆ์สำคัญไป เป็นการสูญเสียเพชรเม็ดงามแห่งแดนดินลาวไปอีกผู้หนึ่ง

               ยาท่านใหญ่(เป็นคำสรรพนามเรียกพระเถระด้วยความเคารพ) เป็นผู้มีจริยวัตรอันงดงามและเป็นอุทิศชีวิตเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาตลอดมา เป็นผู้สืบสานปฏิปทาของพระอาจารย์ใหญ่มหาปาน อานันโท เพื่อวางรากฐานแห่งการเผยแผ่พระธรรมในดินแดนลาวให้แผ่หลายดังที่สามารถเห็นได้ในโครงการที่ยาท่านใหญ่ได้ดำเนินการมาดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนแล้วนั้น

               ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ทางคณะสงฆ์จากศูนย์กลางและท้องถิ่น ตลอดจนพ่อแม่ประชาชน บรรดาศิษยานุศิษย์ได้พากันมาที่วัดป่านาคูนน้อย เพื่อประชุมจัดตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบงานจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการคือคระกรรมการรับผิดชอบจากด้านบนประสานกับท้องถิ่น

               มติของที่ประชุมให้บรรจุพระศพของยาท่านใหญ่ไว้ในโกศแก้ว(หีบแก้ว)และกำหนดการบำเพ็ญกุศลไปจนกระทั้ง 50 วันและ 100 วัน หลังจากนั้นจึงจะได้พิจารณาต่อไปว่าจะกำหนดวันถวายพระเพลิงศพหรือจะรักษาไว้ในโกศแก้ว  และสร้างโรงไว้เหมือนกับพระอาจารย์มหาปาน อานันโท ดังที่เคยทำมาที่วัดโศกป่าหลวงเมืองก่อน แต่ก็ยังไม่ได้ตกลงกันชัดเจน แต่ตามเจตนารมณ์ของลูกศิษย์ญาติโยมต้องการให้รักษาไว้ในโกศแก้วเพื่อกราบไหว้บูชาต่อไปตามแต่อัตภาพและกาลเวลาจะอำนวย

               ดังนั้นการกำหนดการถวายพระเพลิงศพของยาท่านใหญ่นั้นยังไม่ได้กำหนดและจะรักษาไว้จึงขอให้ได้ติดตามข่าวต่อไปและขอให้ศิษยานุศิษย์ได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลเพื่อแสดงถึงความไว้อาลัยถึงคุณงานความดีและคำสอนของอาจารย์ใหญ่ตามปรกติจนกว่าจะรู้กำหนดการที่แน่นอน

               ทั้งๆที่ยาท่านใหญ่ดร.พระมหาชาลีเป็นคนไทย แต่คงต้องยอมรับกันว่าคนไทยรับทราบคุณูปการของท่านน้อยมาก อย่างไรก็ตามในสารมิตรภาพไทย-ลาวปี2555 ของสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพที่มีดร.วีรพงษ์ รามางกูรเป็นนายกสมาคม ได้เผยแพร่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวในด้านต่างๆ ร่วมถึงด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่รายงานถึงคณะกรรมการ องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อ.พ.ส.) 2554-ปัจจุบัน สังคม วัฒนธรรม ลาว โดย หอมหวล บัวระภา bhomhu@kku.ac.th ความโดยสรุปว่า

               องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (อ.พ.ส.)เป็นองค์การสงฆ์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วยความเห็นพร้องต้องกันของคณะสงฆ์และรัฐบาล แห่ง สปป.ลาว ด้วยเห็นว่า พระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานอย่างมั่นคง ผ่านวิวัฒนาการของชาติลาวมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ดังปรากฏในธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว พ.ศ.2541 ว่าพฤติกรรมอันแท้จริงยืนยันให้พวกเราเข้าใจว่า“พุทธศาสนาจะตัดแยกออกจากชาติไม่ได้และพระสงฆ์สามเณรจะตัดแยกออกจากญาติโยมทุกชนเผ่าไม่ได้”


               ประวัติศาสตร์ของชาติลาวที่ผ่านมาได้บ่งชี้ว่า พระสงฆ์ลาวในทุกยุคสมัยล้วนถือธงชาติเป็นชีวิตจิตใจและถือศีลธรรมเป็นปัจจัย เป็นส่วนประกอบในการกอบกู้เอกราชทั่วผืนแผ่นดินลาวและสนับสนุนพรรค-รัฐ สร้างบ้านแปงเมือง เพื่อความสุขของญาติโยมลาวทุกชนเผ่าและความ ศิวิไลซ์ของประเทศชาติเหนือจิตใจแห่งความเป็นเอกราชของชาติองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ได้รับการสถาปนาขึ้น เพื่อความเป็นเอกภาพทางหลักศีลธรรมและการปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพเปลี่ยนแปลงใหม่ของบ้านเมือง จึงได้ปรับปรุงกฎระเบียบที่กองประชุมใหญ่ผู้แทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 รับรองมาเป็น“ธรรมนูญปกครองสงฆ์” ฉบับปัจจุบัน (ฉบับ พ.ศ.2541)

               ดังปรากฏในธรรมนูญปกครองสงฆ์ หมวดที่ 4 การจัดตั้งคณะบริหารสงฆ์ในมาตรา 11 ที่ว่า ให้มีการจัดตั้งคณะบริหารศาสนกิจ เป็นองค์การนําพาของพระสงฆ์ลาวขึ้น เรียกว่า “องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เรียกและเขียนคําาย่อว่า อ.พ.ส.” ให้ถือเอาตราพระธรรมจักรเป็นเครื่องหมาย และมีตราประทับประจําตำแหน่งการจัดตั้งตามระเบียบ อ.พ.ส. ครั้งที่ 3 มีตัวหนังสือเขียนอยู่ข้างบนว่า องค์พุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ขอบข้างล่างเขียนชื่อตําแหน่งและตรงกลางมีตราธรรมจักรสำนักงานของคณะบริหารงานสงฆ์ ศูนย์กลางตั้งอยู่เมืองหลวงของประเทศหรือตามที่สนักงานศูนย์กลางพรรคและรัฐตั้งอยู่

               มาตรา 12 องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวมีการจัดตั้งขึ้นตามการรวมศูนย์ประชาธิปไตยร่วมกันเป็นคณะรับผิดชอบเป็นบุคคล ทุกคนขึ้นอยู่กับการจัดตั้ง เสียงส่วนน้อยขึ้นอยู่กับเสียงส่วนมากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกองประชุมใหญ่กองประชุมใหญ่ผู้แทนสงฆ์ทั่วประเทศเลือกตั้งคณะผู้บริหารงานสงฆ์ศูนย์กลาง ส่วนการประชุมใหญ่ระดับท้องถิ่นเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสงฆ์ในระดับเดียวกัน โดยวิธีเปิดเผยหรือวิธีปิดลับแล้วแต่ความเหมาะสม

               มาตรา 13 อ.พ.ส. ปกครองสงฆ์มีการจัดตั้งเป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1. อ.พ.ส. ระดับศูนย์กลาง 2. อ.พ.ส. ระดับแขวง กำแพงนคร เขตพิเศษหรือเทศบาลแขวง, นครหลวงเวียงจันทน์ เขตพิเศษ 3. อ.พ.ส. ระดับเมือง หรือระดับ เทศบาลเมือง 4. อ.พ.ส. ระดับวัด 13.1 อ.พ.ส. ระดับศูนย์กลางประกอบด้วยผู้แทนพระสงฆ์ทั่วประเทศอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 องค์ อย่างมากไม่เกิน 45 องค์ ในนั้นเป็นคณะประจํา 11 องค์ ประกอบด้วยประธาน 1 องค์ รองประธาน 4 องค์ นอกนั้นเป็นคณะ

               13.2 อ.พ.ส. ระดับแขวง กำแพงนครหรือเขตพิเศษ ประกอบด้วย กรรมการ อย่างน้อย 11 องค์ อย่างมากไม่เกิน 25 องค์ ในนั้น 3 ถึง 7 องค์เป็นคณะประจำประกอบด้วยประธาน 1 องค์ รวมทั้งเป็นผู้ประจำการ รองประธาน 4 องค์ นอกนั้นเป็นคณะ ทุก 3 เดือนต้องรายงานให้ระดับสูงถัดจากตนขึ้นไประดับหนึ่ง ทุกหนึ่งปีประชุมสามัญครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และวางแนวทางข้างหน้าการจัดตั้งในชั้นแขวงหรือเมือง ให้จัดตั้งเป็นกรรมการรับผิดชอบงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับท้องถิ่น

               13.3 อ.พ.ส. ปกครองเมืองหรือเทศบาลเมืองประกอบด้วยกรรมการ 7 – 15 องค์ ในนั้น 3 – 5องค์ เป็นคณะประจําหนึ่งองค์เป็นประธานทั้งเป็นประจําการ 3-4 องค์เป็นรองประธาน นอกนั้นเป็นคณะกรรมการ หนึ่งปีประชุมกันหนึ่งครั้ง เพื่อสรุปผลงานประเมินผลดีผลเสียและบทเรียนทุกสามเดือนรายงานสภาพการให้ระดับสูงถัดจากตน ในกรณีรีบด่วนต้องรายงานทันที

               มาตรา 14 กงจักรบริหารของ อ.พ.ส. ระดับศูนย์กลางมี 4 กรรมาธิการ 14.1 กรรมาธิการฝ่ายปกครองสงฆ์ 14.2กรรมาธิการฝ่ายศึกษาสงฆ์ 14.3 กรรมาธิการฝ่ายเผยแพร่ศีลธรรม และปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน 14.4 กรรมาธิการฝ่ายสาธารณูปการให้ประธานแต่งตั้ง 1 องค์เป็นหัวหน้าห้องการศูนย์กลาง อ.พ.ส. และเลือกเอาคณะพระวินัยธร 3 – 5 องค์พระคณะธรรมธร 3 – 5 องค์

               ในหมวดที่ 7 ที่ว่าด้วยกองประชุมอ.พ.ส.ในมาตรา 26 พระสงฆ์ทั่วประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต้องเข้าร่วมกองประชุมใหญ่สามัญประจําาปี ตามการกําาหนดของประธานศูนย์กลาง อ.พ.ส. เพื่อรับฟังรายงานการสรุปศาสนกิจประจําปี ประเมินจุดดีจุดอ่อน และถอดถอนบทเรียนพิจารณารับเอาแผนต่อไปและปัญหาอื่นๆ เพื่อปฏิบัติต่อไป

               มาตรา 27 กองประชุมใหญ่พระสงฆ์ทั่วประเทศ 5 ปี เปิดครั้งหนึ่งเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารงานสงฆ์ศูนย์กลางชุดใหม่ และกองประชุมใหญ่ระดับล่างเลือกตั้งคณะบริหารงานสงฆ์ระดับท้องถิ่นชุดใหม่ในกองประชุมใหญ่ หลังจากได้รับฟังรายงานในรอบ 5 ปีผ่านมาของ อ.พ.ส. ชุดเก่าแล้วให้พระสงฆ์อาวุโสมีคุณธรรม สุขภาพดีสมัครรับเลือกตั้งหรือเสนอชื่อในเมื่อไม่มีผู้สมัคร ศูนย์กลาง อ.พ.ส. ต้องดําเนินการเลือกตั้ง ใน 2 วิธี

               คือ 1.เสนอชื่อตามจํานวนคาดหมาย 30 องค์หรือ 45 องค์ ครั้งเดียวแล้วให้เลือกแบบปิดลับ หรือเปิดเผยแบบใดก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสมองค์ที่ได้คะแนนสูงสุด ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานศูนย์กลาง อ.พ.ส. แล้วให้ผู้ถูกเลือกเป็นประธานคัดเลือกเอา 4 องค์ ตามความพอใจเพื่อแต่งตั้งเป็นรองประธาน

               2. ให้ประธานศูนย์กลาง อ.พ.ส. ในจําานวน30 องค์ หรือ 45 องค์ สมัครเลือกตั้งเป็นประธานตามแบบปิดลับหรือเปิดเผย ในแบบที่หนึ่ง องค์ใดคะแนนสูงเป็นประธาน องค์ใดมีคะแนนรองลงมาเป็นรองประธาน 4 องค์ เพื่อรับผิดชอบ กรรมาธิการ แล้วให้ประธานและรองประธานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่งตั้งพระหัวหน้าสําานักงาน 1 องค์ คณะพระวินัยธร 3 หรือ 5 องค์ และคณะพระธรรมธร 3-5 องค์

               มาตรา 28 ให้ประธานศูนย์กลาง อ.พ.ส. องค์เก่าประสานกับคณะประจําาศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ เสนอชื่อประธาน อ.พ.ส. องค์ใหม่ รับทราบแล้วให้ลงลายเซ็นใบแต่งตั้ง ถวายประธานกรรมาธิการกล่าวคือ รองประธานทั้ง 4 องค์ หัวหน้าสําานักงานอ.พ.ส. 1 องค์ คณะพระวินัยธร และคณะพระธรรมธรตามลําดับ

               3.คณะกรรมการองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว(อ.พ.ส.)ชุดใหม่ 2554-ปัจจุบันในที่ประชุม พระอาจารย์เหวด มะเสไน เจ้าอาวาสวัดสีสะเกด เวียงจันทน์ได้เสนอมติต่อกองประชุมใหญ่ผู้แทนพระสงฆ์ทั่วประเทศ สมัยที่ 6 เพื่อตกลงแต่งตั้งพร้อมกับรับรองคณะกรรมการบริหารงานประจําาศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวจํานวน 18 รูปคือ 1.พระอาจารย์มหาผ่อง สมาเลิก 2.พระอาจารย์มหางอน ดํารงบุน 3.พระอาจารย์มหาจะรุน วชิรรังสี

               4.พระอาจารย์มหาชาลี กันตสีโล 5.พระอาจารย์มหาบัวคํา สารีบุด 6.พระอาจารย์มหาบุนมา สิมมาพม 7.พระอาจารย์เหวด มะเสไน 8.พระอาจารย์บุนสี วงพูมี 9.พระอาจารย์คำมา  ปันยาวิจิด 10.พระอาจารย์พูมสะหวัน พันทะบัวลี 11.พระอาจารย์สุขี เฮือนมุงคุน 12.พระอาจารย์ดาวเฮือง คำปะเสิด 13.พระอาจารย์สีทน ไซยวงสอน 14.พระอาจารย์บุนทะวี ประสิดทิสัก 15.พระอาจารย์บุนส่วน แก้วพิลม 16.พระอาจารย์ถาวอน พอนปะเสิด 17.พระอาจารย์วันนา สุริยะวง18.พระอาจารย์บุนส่วน พันทะวง

               ที่ประชุมได้แต่งตั้งและรับรองประธานคณะกรรมการศูนย์กลาง องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาวสมัยกองประชุมใหญ่ ครั้งที่ 6 ประกอบด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่ดังนี้ 1.พระอาจารย์มหาผ่อง สมาเลิก ประธานคณะกรรมการศูนย์กลาง องค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว มีหน้าที่รับผิดชอบชี้นํารวม ปฎิบัติงานกิจการต่างประเทศ 2.พระอาจารย์มหางอน ดำรงบุน เป็นรองประธานรูปที่ 1 รับผิดชอบกิจกรรมงาน อ.ส.พ. ใน 5 แขวงภาคใต้ 3.พระอาจารย์มหาจะรุน วชิรรังสี เป็นรองประธานรูปที่ 2 รับผิดชอบกรรมาธิการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ

               4.พระอาจารย์มหาชาลี กันตสีโล เป็นรองประธานรูปที่ 3 รับผิดชอบกรรมาธิการเผยแผ่ศีลธรรมและปฏิบัติวิปัสสนากัมมฐาน 5.พระอาจารย์มหาบัวคำ สารีบุด เป็นรองประธานรูปที่ 4 รับผิดชอบกรรมาธิการศึกษาสงฆ์ 6.พระอาจารย์มหาบุนมา สิมมาพม เป็นรองประธานรูปที่ 5 รับผิดชอบกรรมาธิการปกครองสงฆ์ 7.พระอาจารย์เหวด มะเสไน เป็นรองประธานรูปที่ 6 เป็นผู้ประจําการสํานักงาน นอกจากนี้ยังได้แต่งตั้งให้พระอาจารย์พูมสะหวัน พันทะบัวลีเป็นหัวหน้าห้องการศูนย์กลาง อ.พ.ส.

               3.ในธรรมนูญปกครองสงฆ์ลาว ได้ระบุสิทธิหน้าที่ของผู้ดําารงตําาแหน่งใน อ.พ.ส.ไว้ในหมวดที่ 5 ดังนี้มาตรา 17 หน้าที่ อ.พ.ส. ศึกษาสงฆ์ 1.ปรับปรุงการศึกษาสงฆ์ ให้ได้ศึกษาพระธรรมวินัย, ภาษาบาลี, สันสกฤต, ภาษาสากลและการศึกษาประสมประสานกับวิชาการทางโลก ที่เกี่ยวข้องกับสังคมอย่างพอเหมาะและก้าวหน้า 2.จัดให้มีกองวิชาการแต่งแบบเรียนธรรมวินัย, ภาษาบาลี, สันสกฤตแบบง่ายๆ รับรู้ได้เร็วและนําาไปใช้อย่างถูกต้องและแบบเรียนวิชาอื่นๆ

               3.ให้มีห้องสมุดค้นคว้าไปพร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายการศึกษาให้ได้อย่างน้อยแขวงละ 1 - 2แห่ง และในทุกเมืองใหญ่ 4.ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพุทธยุวชนวันอาทิตย์ เน้นการปลูกฝังศีลธรรมประสานกับวิชารับใช้สังคมและภาษาสากล 5.สร้างครูสงฆ์ให้มากขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยจัดให้มีขึ้นทั่ว สปป. ลาว 6.จัดส่งพระเณรที่เรียนจบมัธยม หรือจบมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทุกๆ ปี ไปประจําการอยู่ตามแขวงหรือเมือง หรือวัดที่ขาดพระเณรทั่วประเทศ เพื่อบริหารศาสนกิจตามกฎระเบียบของโรงเรียนสงฆ์อย่าง
เข้มงวด

               มาตรา 18 หน้าที่ อ.พ.ส. เผยแพร่ศีลธรรมและปฏิบัติกรรมฐาน 1.จัดตั้งสังฆบัญญัติ, สังฆาณัติกฎระเบียบสงฆ์ ในการดําาเนินการเผยแพร่ศีลธรรม ฝึกอบรมพระธรรมกถึกในหลายรูปแบบ และปฏิบัติกรรมฐานให้กว้างขวางทั่วประเทศ

               2.ฝึกอบรมพระวิทยากร, วิปัสสนากร ให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 10 องค์เมื่อถึงปี 2000 ต้องให้ทุกแขวง และเขตพิเศษ อย่างน้อย 2 – 3 องค์ขึ้นไป 3.ใช้วิทยากรผู้มีประสบการณ์สูงทั้งฝ่ายสงฆ์และคฤหัสถ์อย่างเหมาะสม ตามคำชี้แนะของศูนย์กลาง อ.พ.ส. เพื่อให้มีวิชาการทั้งภาคปฏิบัติและการเผยแผ่ศีลธรรมและวิชาอื่นๆ ดําเนินไปพร้อมๆ กัน

               สรุปความ บทความนี้ได้แสดงที่มาขององค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว พร้อมกับคณะกรรมการชุดใหม่พร้อมกับสิทธิบทบาทหน้าที่ ที่ปรากฏในธรรมนูญปกครองสงฆ์ พ.ศ. 2541 ซึ่งจะทําาให้มองเห็นโครงสร้างการบริหารงานของคณะสงฆ์ลาว ในการบริหารปกครองสงฆ์ให้ก้าวทันโลกสมัยใหม่ เป็นการปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือรัฐบาลภายใต้ระบอบสังคมนิยมที่เคร่งครัดพอประมาณระบอบการเมืองมิใช่อุปสรรคในการบริหารจัดองค์กรสงฆ์ สิ่งที่สําคัญและเป็นอุปสรรคสำคัญก็คือการบริหารกิจการสงฆ์จะฝ่าวิกฤตจากการไหลบ่าท่วมทับของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีแรงเหวี่ยงของทุนนิยมที่แรงและเร็วได้อย่างเข้มแข็งเพียงไร เหมือนกับคณะสงฆ์ไทยเจอปัญหาอุปสรรคในการบริหารกิจการสงฆ์ในภาวการณ์ปัจจุบัน


.....................
สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

กรมการศาสนา(ศน.)จัดจาริกเมเลย์ชมวัดเก็บศพ'อดีตนายกฯไทย'

              กรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดวิสัยทัศน์สานสมพันธ์ศาสนิกอาเซียน โดยได้นำคณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย เดินทางไปเจรจาหารือเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ณ ประเทศมาเลเซียน ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น 

              มีคณะผู้แทนประกอบด้วย นายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองอธิบดีกรมการศาสนา พระมหาสาธิต สาธิโต ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มจร  และจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ทุ่งคา จังหวัดสงขลา ผู้แทนเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาได้เดินทางไปที่ประเทศมาเลเซีย

              นายกฤษฎา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า เพื่อแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียน ผ่านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ภาษา วัฒนธรรมไทยเป็นสื่อกลาง อันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศมากขึ้น  กิจกรรมดำเนินการ มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตร ธรรมะอินเตอร์ มุ่งสอนพัฒนาเด็กให้สามารถสื่อสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้  โดยมีองค์กรเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น


             กิจกรรมเริ่มจากวันที่ 5 ก.ย.ในเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย คณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย ได้เดินทางถึงวัดวิสุทธิประดิษฐาราม บ้านปลายระไม อำเภอเปิ้นดัง รัฐเคดาห์ โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่และชาวบ้านชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยสยาม ตั้งวงกลองยาวรอให้การต้อนรับ ในโอกาสที่คณะผู้แทนไทยฯเดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งตั้งขึ้นมากว่า 50 ปี ใช้เป็นที่สอนภาษาไทยและสอนธรรมะแก่เด็กไทยในชุมชนคนไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดไทยที่เข้าร่วมโครงการใน 5 รัฐทั่วประเทศมาเลเซีย จำนวนนักเรียนประมาณ 2,000 คน โดยมีการเรียนการสอนธรรมศึกษาชั้นตรี โท เอก ในวันหยุดราชการ (วันศุกร์-เสาร์) และมีการเรียนภาษาไทยในวันอาทิตย์-พฤหัสบดี ในช่วงเย็น

              จากนั้นคณะผู้แทนไทยฯได้เจรจาหารือกับองค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซีย (PERTUBUHAN SAMI BUDDHA KETURUNAN SIAM MALAYSIA) ซึ่งประกอบด้วยพระราชธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดเทพบัณฑิต ในฐานะประธานองค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซีย รวมทั้งเจ้าคณะรัฐเคดาห์-เปอร์ลิส ประธานองค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซีย พระวิสุทธิศีลคุณ เจ้าอาวาสวัดวิสุทธิประดิษฐาราม รองเจ้าคณะรัฐเคดาห์-เปอร์ลิส พระนิโครธธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดนิโครธาราม รองเจ้าคณะรัฐเคดาห์-เปอร์ลิส พระครูสุเทพวรารักษ์ เจ้าอาวาสวัดเทพชุมนุม ประธานกรรมการศึกษาคณะสงฆ์มาเลเซีย และพระครูพิพัฒน์ธรรมกิจ เจ้าคณะอำเภอเปิ้นดัง รัฐเคดาห์

              ในโอกาสนี้ ประธานองค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซียได้กล่าวสัมโมทนียกถาและแสดงความยินดีที่คณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทยได้มาเยี่ยมและยินดีในความร่วมมือของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในมาเลเซีย โดยพระครูสุเทพวรารักษ์ ประธานกรรมการศึกษาคณะสงฆ์มาเลเซีย และพระมหาสิริสำพันธ์ จนฺทสาโร เลขานุการกรรมการศึกษาคณะสงฆ์มาเลเซีย ได้กล่าวถึงการศึกษาภาษาไทยและการเรียนพระพุทธศาสนาของเด็กและเยาวชนและคณะสงฆ์มาเลเซีย ซึ่งมีการเรียนพระพุทธศาสนาและธรรมศึกษาต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยมีวัดไทยที่เข้าร่วมโครงการใน 5 รัฐทั่วประเทศมาเลเซีย จำนวนนักเรียนประมาณ 2,000  คน

              โดยมุ่งเน้นสอนให้นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ก่อน เนื่องจากภาษาไทยจะเป็นพื้นฐานในการสร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมศึกษาล้ว จึงให้ความคู้ด้านธรรมศึกษา โดยใช้หลักสูตรการศึกษาของกองบาลี และได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลมาเลเซีย การเรียนการสอนในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของชุมชนด้วย อีกทั้งยังเป็นการให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาอยู่ใกล้ๆ วัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางร่วมมือร่วมใจในชุชน เพื่อเป็นการอบรมบ่มนิสัย และส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมและจริยธรรม อันจะเป็นหลักในการดำรงชีวิตต่อไป โดยคณะกรรมการฯ ของวัดยังได้กล่าวขอให้ทางการไทยให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนา เนื่องจากยังประสบปัญหาในเรื่องการขาดบุคลากร ครูอาจารย์สอนภาษาไทย และขาดสื่อการเรียนการสอน

              ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย ได้รับทราบการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทยของวัดวิสุทธิประดิษฐาราม รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการของการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในภาพรวมด้าย


              กรมการศาสนามีความยินดีที่จะขยายความร่วมมือและสนับสนุนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในประเทศมาเลเซียและอาเซียนด้วย เพื่อให้เด็กและเยาวชนของไทยและอาเซียนที่นับถือพระพุทธศาสนาได้มีโอกาสเรียนรู้พระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม โดยใช้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เป็นสื่อกลาง อีกทั้งยังเป็นการเสีงเสริมบรรยากาศการรียนรู้ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และขนบธรรมเนียมของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเป็นรากฐานในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนร่วมกันต่อไปในอนาคต

              ในโอกาสนี้ ประธานและองค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซียได้กล่าวชื่นชม และอนุโมทนาในเจตนาอันเป็นกุศลนี้ ซึ่งจะยังประโยชน์ให้แก่เด็ก เยาวชน และชาวพุทธในประเทศอาเซียนได้ต่อไป ในตอนท้าย คณะผู้แทนไทยฯ ได้ร่วมกันถวายอุปกรณ์การศึกษาและทุนสนับสนุนการศึกษาจำนวนหนึ่งให้แก่องค์การคณะสงฆ์สยามมาเลเซีย เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์กิจการของศูนศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในประเทศมาเลเซียอีกด้วย


              วันที่ 6 ก.ย.คณะผู้แทนไทยฯได้เดินทางไปที่วัดจันทร์หอม ตำบลเสาะ อำเภอเซะ รัฐเคดาห์ ซึ่งเป็นวัดศูนย์รวมของชาวพุทธ และเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพุทธศาสนาของเด็กและเยาวชนที่มีชื่อเสียงในประเทศมาเลเซีย โดยมีพระครูสมุห์เซี้ยน สุเมธโส เจ้าอาวาสวัดจันทร์หอม เนื่องจากในวันดังกล่าวมีการจัดพิธีฉลองอายุวัฒนมงคล 54 ปี 31 พรรษา ของพระปลัดเจริญ อุตตโร รองเจ้าคณะอำเภอเซะ และฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค ประจำปี พ.ศ.2556 ให้กับพระมหาจารัญ พุทธปฺปิโย โดยมีพระธรรมวงศาจารย์ เจ้าคณะภาค18 เป็นประธานในพิธี  ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนไทยฯและญาติโยมในชุมชนอำเภอเซะร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ได้ทราบว่าพระมหาจารัญเป็นพระภิกษุชาวมาเลเซียรูปแรกในประเทศมาเลเซียที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยคดังกล่าว


              วันที่ 7 ก.ย. เวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย คณะผู้แทนไทยฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและทัศนศึกษาวัพุทธ วัดไทยต่างๆ ในรัฐปีนัง ได้แก่ 1) วัดบุปผาราม ซึ่งเป็นวัดที่มีความหมายดังคำว่า “วัดดอกไม้” ที่ตั้งอยู่ใน Pulau Tikus ในรัฐปีนัง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2385 เป็นวัดที่มีขนาดกลาง แต่มีพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงกว่าร้อยปีประดิษฐานอยู่ วัดนี้เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของเครื่องรางที่คอยป้องกัน เป็นที่หาได้ยาก และใช้นับถือกันมีจำนวนน้อยมากในท้องถิ่น ปัจจุบันมีพระครูปโยโคเป็นเจ้าอาวาส

              2) เวลา 10.00 น.น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย คณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและทัศนศึกษา ณ วัดไชยมังคลาราม ก่อสร้างในปี พ.ศ.2388 ตั้งอยู่ในเขตปูเลาติกุส และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสมาก่อน สถาปัตยกรรมของวัดไชยมังคลารามเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทย พม่า และจีนเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้วัดแห่งนี้มีสีสันสะดุดตา ดูแปลกไปจากวัดในประเทศไทย วัดไชยมังคลารามยังตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดพม่าธรรมิการาม ซึ่งเป็นวัดพม่าที่มีชื่อเสียงของรัฐปีนัง

              3)เวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศมาเลเซีย คณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและทัศนศึกษา ณ วัดปิ่นบังอร (ใน) เดิมชื่ิวัดบาตูลันจัง ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ตั้งอยู่ริมถนนกรีนเลน (Green Lane) เป็นวัดที่มีเนือที่กว้างขวางมากถึงประมาณ 50 ไร่ อาคารสถานที่ของวัดมีบริบูรณ์ตามแบบอย่างวัดในเมืองไทย เคยเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลศพและเก็บศพของอดีตนายกรัฐมนตรี (พระยามโนปกรณ์นิติธาดา) ผู้ซึ่งลี้ภัยการเมืองไปอาศัยอยู่ในเมืองปีนัง และได้ถึงแก่อสัญกรรมลง ก่อนญาติมารับกลับไปกระทำพิธีพระราชทานเพลิงศพในกรุงเทพฯ ตามประเพณต่อไป ปัจจุบันมี พระครูวชิระธรรมาภินันท์ เป็นเจ้าอาวาส

              จวบจนทุกวันนี้บนเกาะปีนังก็มีคนไทยที่สืบเชื้อสายจากคนรุ่นก่อนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมาก และประชากรส่วนใหญ่ในปีนังเป็นคนเชื้อสายจีนที่เข้ามาทำมาค้าขาย และนับถือศาสนาพุทธ ทำให้เกาะปีนังมีวัดไทยที่เป็นศูนย์รวมของชาวพุทธ มีกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญ ซึ่งวัดเหล่านี้ ล้วนเป็นวัดที่มีที่มีการจัดแสดงของเทศกาลชาวไทย เช่น ประเพณีลอยกระทง และประเพณีสงกรานต์ และในโอกาสต่างๆ จนเป็นที่รู้จักของชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป

              การที่กรมการศาสนาทำกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะได้เห็นภาพพระพุทธศาสนาในประเทศมาเลเซียเป็นอย่างไรชัดขึ้นแล้ว ยังได้เป็นภาพคนไทยสยามด้วย


.........................

(หมายเหตุ : ศน.จัดจาริกเมเลย์ชมวัดเก็บศพ'อดีตนายกฯไทย' : สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน)

วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ9ได้ ศน.เปิดวิสัยทัศน์สานสัมพันธ์ศาสนิกอาเซียน

              ดูเหมือนว่าในสังคมไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจกับบาลีศึกษามากขึ้น เพราะเป็นภาษาที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า หากต้องการที่จะเข้าใจคำสอนลึกซึ้งต้องเรียนภาษาบาลีแตกฉาน
             
              ดูได้จากรายงานเรื่อง "ทึ่ง!นศ.สาวจุฬาฯสอบบาลีประโยค4ได้" ที่เผยแพร่วันแรกก็มีคนอ่านกว่าหมื่นคน มากกกว่าข่าวดาราแย่งผัวแย่งเมียตบตีกันผ่านไปเพียง 2 อาทิตย์มีคนอ่าน 13,016 คน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าดีๆก็มีคนอ่านไม่แพ้ข่าวน้ำเน่า ก็อยู่ที่ว่าจะหาประเด็นข่าวดีๆที่น่าสนใจมานำเสนอได้อย่างไร  

              ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้ฆราวาสก็เริ่มหันมาเรียนภาษาบาลีมากขึ้น อย่างเช่นที่สำนักเรียนมหาธาตุวิทยาลัยที่ น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล นิสิตชั้นปีที่ 2  สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 18 ปี ธรรมศึกษาเอก สอบได้บาลีศึกษา 4 ประโยค เรียนประโยค 5 อยู่ตอนนี้ ก็มีผู้เรียนมากกว่า 200 คน

              พร้อมกันนี้ที่มหาบาลีวิชชาลัยที่วัดโมลีโลกยาราม บางกอกใหญ่ เปิดเรียนสำหรับบุคคลทั่วไป ได้จัดกิจกรรมสอนภาษาบาลีให้กับนักโทษที่เรียนจำแม่สอด จังหวัดตาก ได้รับความสนใจจากสื่อนำไปเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้ทราบ

              หากจะเปรียบเทียบการเรียนการสอนภาษาบาลีระหว่างไทยกับศรีลังกาและพม่าแล้วยังถือว่ายังห่างชั้นกันมาก เพราะว่าทั้งสองประเทศนั้นผู้เรียนสามารถบรรยายเทศน์หรือสนทนาเป็นภาษาบาลี ด้วยเหตุนี้พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ซึ่งเป็นหัวหน้าของคณะสงฆ์ไทยในการเดินทางไปงานสัมมนานานาชาติ เรื่องการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก เพื่อเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนา นิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา ที่ สถาบันวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา (SIBA) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค. ที่ผ่านมา

              ภายในงานสัมมนาดังกล่าวมีการใช้ภาษาบาลีในการสื่อสารหรือบรรยาย โดยนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ของศรีลังกาสามารถใช้ภาษาบาลีในการสื่อสาร สนทนา ได้เป็นอย่างดี ต่างจากของไทยที่ยังไม่ค่อยมีการส่งเสริมการสอนภาษาบาลีเพื่อการสนทนามากเท่าใดนัก

              ดังนั้น พระพรหมบัณฑิตจึงเกิดแนวความคิดว่า มจร  เตรียมที่จะส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว โดยการพัฒนาหลักสูตรการสนทนาภาษาบาลี รวมไปถึงจะกำหนดให้นักศึกษาของ มจร ทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ ที่มี การศึกษาเกี่ยวกับภาษาบาลีให้มีการทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาบาลีด้วย

              สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สภาพการศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทยของพระภิกษุสามเณรแม่ชีและฆราวาสทั่วไปนั้นคงมาจากการเน้นท่องจำแปล โดยไม่ได้เน้นที่การเข้าใจและการสนทนาเพื่อนำมาใช้สื่อสารเป็นหลัก เมื่อทาง มจร มีแนวความคิดเช่นนี้ก็ถือว่าถูกต้อง

              อย่างไรก็ตามปีหนึ่งๆ จะมีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีในแต่ละชั้นได้เป็นจำนวนมากอย่างเช่นปี 2556 สอบได้จำนวน 3,420 รูป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยคหรือป.ธ. 9 สอบได้ 65 รูป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนนั้นมีพระมหาจารัญ  พุทฺธปฺปิโย หาดใหญ่สิตาราม จ.สงขลา เมื่อระบุเช่นนี้ก็คงคิดว่าเป็นพระไทย

              ล่าสุดกรมการศาสนากระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดวิสัยทัศน์สานสมพันธ์ศาสนิกอาเซียนภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ไปที่วัดจันทร์หอม ตำบลเสาะ อำเภอเซะ รัฐเคดาห์ ซึ่งเป็นวัดศูนย์รวมของชาวพุทธ และเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพุทธศาสนาของเด็กและเยาวชนที่มีชื่อเสียงในประเทศมาเลเซีย โดยมีพระครูสมุห์เซี้ยน สุเมธโส เจ้าอาวาสวัดจันทร์หอม

              เนื่องจากวันดังกล่าวมีการจัดพิธีฉลองอายุวัฒนมงคล 54 ปี 31 พรรษา ของพระปลัดเจริญ อุตตโร รองเจ้าคณะอำเภอเซะ และฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค ประจำปี พ.ศ.2556 ให้กับพระมหาจารัญ พุทธปฺปิโย โดยมีพระธรรมวงศาจารย์ เจ้าคณะภาค18 เป็นประธานในพิธี  ในโอกาสนี้ คณะผู้แทนไทยฯและญาติโยมในชุมชนอำเภอเซะร่วมงานเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ได้ทราบว่าพระมหาจารัญเป็นพระภิกษุชาวมาเลเซียรูปแรกในประเทศมาเลเซียที่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

              สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้นภายใต้การดูแลของกรมการศาสนา โดยได้นำคณะผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไทย เดินทางไปเจรจาหารือเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ณ ประเทศมาเลเซียนครั้งนี้ มีคณะผู้แทนประกอบด้วย นายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองอธิบดีกรมการศาสนา พระมหาสาธิต สาธิโต ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มจร  และจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้แทนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดใหม่ทุ่งคา จังหวัดสงขลา ผู้แทนเปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา และเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา
             
              นายกฤษฎา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเดินทางมาว่า เพื่อแสวงหาความร่วมมือในกรอบอาเซียน ผ่านกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ภาษา วัฒนธรรมไทยเป็นสื่อกลาง อันจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศมากขึ้น  กิจกรรมดำเนินการ มีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตร ธรรมะอินเตอร์ มุ่งสอนพัฒนาเด็กให้สามารถสื่อสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้  โดยมีองค์กรเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น

              นอกจากนี้กรมการศาสนายังได้จัดกิจกรรมนำคณะผู้แทนศาสนิกสัมพันธ์ไทยสัญจรสู่อาเซียนยังได้เดินไปยังสภาที่ปรึกษามาเลเซียแห่งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ และลัทธิเต๋า เพื่อส่งเสริมความสามัคคี สร้างความร่วมมือระหว่างศาสนาและศาสนิกชนบนความแตกต่างหลากหลายทางศาสนา

              หรือเมื่อเร็วๆนี้นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดการเสวนา "บ้านเราอุษาคเนย์" พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ไทย-มาเลเซียในดินแดนอุษาคเนย์" ที่โรงแรมบีพี สมิหลา บีช รีสอร์ท รัฐเกดาห์เช่นกัน

              นับได้ว่ากรมการศาสนาได้เปิดวิสัยทัศน์การทำงานให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น แม้นว่าจะผลักดัน "พุทธสภา" ยังไม่เกิดผลก็ตาม เพราะงานไม่ใช่มีหน้าที่เพียงแค่จับสึกพระเท่านั้น ยังมีงานอีกมากที่ควรทำในโลกยุคออนไลน์


...........................

(หมายเหตุ : สาธุ!พระมาเลย์รูปแรกสอบป.ธ.9ได้  กรมการศาสนาเปิดวิสัยทัศน์สานสัมพันธ์ศาสนิกอาเซียน : สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน)


วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

แนะอ่านนิทานเรื่อง'นกกระจาบ'ลดความขัดแย้งในสังคมไทย

                 "ปัจจุบันนี้แม้นว่าจะมีการแก้ไขกฏมายหรือวางแนวทางปฏิรูปการเมืองไม่ว่าจะออกมาดีอย่างไร หากใจของคนในสังคมไทยไม่ยอมรับแล้วก็ยากที่แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้น หากจิตใจคนในสังคมไทย ลด ละ เลิกทิฐิ ไม่มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง และเห็นประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นสำคัญแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าจะลดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้"
               นี้เป็นข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัย มจร ที่กล่าวในงานแถลงข่าวของบัณฑิตวิทยาลัย มจร ที่เปิดเผยผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นระดับ “ยอดมงกุฏ” ที่สามารถนำพุทธบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่อย่างลงตัว  พร้อมได้องค์ความรู้ใหม่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะลดความขัดแย้ง ซึ่งเตรียมที่จะจัดโชว์ต่อสาธารณชนในวันที่ 22 ก.ย.นี้ ที่ มจร  อ.วังน้อย  จ.พระนครศรีอยุธยา

               ในส่วนของคุณหญิงสุดารัตน์เองก็เร่งที่จะทำวิจัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อหาแนวทางในการลดความขัดแย้งสร้างความปรองดองในสังคมไทย โดยตั้งชื่อข้อวิทยานิพนธ์เบื้องต้นว่า "พุทธศาสนากับการสร้างความปรองดองในสังคมไทย" หรือ "พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย" เพราะเห็นว่าสังคมไทยละเลยที่จะนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาใช้แก้ปัญหามานานแล้ว

               ทันทีที่ข่าวนี้กระจายออกไปทั่วโลก ก็มีเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาเมืองไทยในลักษณะไม่มีความเชื่อมั่นในตัวองค์กรที่คุณหญิงสุดารัตน์กำลังศึกษาคือ มจร ว่า "อย่ามัวแต่ดึงดารานักการเมืองมาสร้างภาพอยู่เลย ควรที่จะเน้นสร้างคุณภาพของนิสิตนักศึกษาเป็นหลักจะดีกว่า"

               พร้อมกันนี้ก็มีเสียงดังจากสังคมออนไลน์ออกมาว่างานวิจัยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยนั้นมีอยู่มากแล้วเป็นแต่เพียงไม่นำออกมาใช้เท่านั้น 

               ขณะเดียวกันก็มีการเคลื่อนไหวจาก 50 องค์กรที่จะร่วมกันตั้งสภาปฏิรูปการเมืองคู่ขนานกับสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล

               จะมีการตั้งอะไรอย่างไรหรือดำเนินการอย่างไรก็ตาม แต่จุดที่สำคัญก็คืออยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ หากยังมัวแต่เห็นแต่โยชน์ส่วนตัวเป็นหลักและชี้หน้าตำหนิกันและกันก็ยากที่ความขัดแย้งจะลดลงได้

               เมื่อมีเสียงท้วงติงความเห็นของคุณหญิงสุดารัตน์แม้นว่าจะเป็นความปารถนาดีก็ตาม แต่ยามนี้ควรที่จะให้กำลังใจกันและกันยึดหลักสัมมาวาจาตามมรรคมีองค์ 8  จะไม่เกิดประโยชน์มากกว่าหรือ

               เมื่อสังคมไทยยังมีบรรยากาศของการชี้หน้าด่ากันอยู่เช่นนี้ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องนกกระจายความว่า

               "ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดนิโคธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภการทะเลาะกันของพระประยูรญาติ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

               กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฝูงนกกระจาบหลายพันตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่ง มีอาชีพจับนกกระจาบขายอยู่เป็นประจำ วันหนึ่ง นกกระจาบจ่าฝูงได้แนะนำนกกระจาบทุกตัวว่า
  
               "ท่านทั้งหลาย เมื่อถูกตาข่ายนายพรานครอบแล้ว ให้ท่านทุกตัวสอดหัวเข้าในตาข่ายตาหนึ่งๆ แล้วพากันบินไปที่ต้นไม้มีหนาม ทิ้งตาข่ายไว้แล้วบินหนีไปนะ "หมู่นกกระจาบพากันรับคำ ต่อมาอีกสองวัน ฝูงนกกระจาบถูกตาข่ายนายพรานเข้าก็พากันทำเช่นนั้น นกทุกตัวสามารถหนีรอดไปได้ กว่านายพรานจะปลดตาข่ายออกจากหนามก็ค่ำมืดพอดี

               อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หากินอาหาร มีนกกระจาบตัวหนึ่ง บินลงพื้นที่หากินเหยียบถูก หัวนกกระจาบอีกตัวหนึ่งเข้า ตัวถูกเหยียบหัวโกรธจึงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันลามไปทั้งฝูงว่า
  
               "เห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นกระมัง ที่ยกตาข่ายขึ้นได้ ตัวอื่นไม่มีกำลังหรอกนะ"

               ฝ่ายนกกระจาบจ่าฝูง เห็นพวกนกมัวแต่ทะเลาะกัน ก็คิดว่า
  
               "ขึ้นชื่อว่า การทะเลาะกัน ย่อมไม่มีความปลอดภัย ความพินาศจะเกิดขึ้น " จึงได้พาบริวารส่วนหนึ่งบินหนีไปอยู่ที่อื่น

               ฝ่ายนายพราน พอผ่านไปสองสามวัน ก็มาดักตาข่ายอีก พอฝูงนกกระจาบติดตาข่ายนายพรานในครั้งนี้อีก ต่างทะเลาะกันเกี่ยงกันบินขึ้น จึงถูกนายพรานรวบไปเป็นอาหารและขายทั้งหมด

               นายพรานจึงกล่าวเป็นคาถาว่า "นกกระจาบทั้งหลาย ร่าเริง บันเทิงใจ พาเอาข่ายไปได้ เมื่อใดพวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในเงื้อมมือของเรา"

               นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การทะเลาะกันนำมาซึ่งความพินาศ
   
               เรื่องที่ 3 ในกุลาวกวรรค หน้า 335-338 พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่มที่ 3 ภาคที่ 1 ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ 1 โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)" 

               เมื่อสังคมไทยเอาใจอ่านนิทานเรื่องนกกระจาบนี้แล้ว บวกกับนักการเมืองยึดหลักมรรคมีองค์ 8 โดยเริ่มจากความเห็นที่ถูกต้อง ตามข้อเสนอของนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.แล้ว ก็เชื่อแน่ว่าความแข้งแย้งจะลดลงอย่างแน่นอน


'''''''''''''''''''''''''''''''''

แนะอ่านนิทานเรื่อง'นกกระจาบ'ลดความขัดแย้งในสังคมไทย : สำราญ สมพงษ์รายงาน

วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

นิยามความหมาย'ปชต.จากเวทีปาฐกถาพิเศษ'โทนี่ แบลร์'

               งานการปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต: เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” หรือ "Uniting for the Future: Leaning form each other’s experiences"  ที่รัฐบาลจัดขึ้นภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ ที่รร.พลาซ่า แอทธินี วันที่ 2 กัยายน

               ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้สาธารณชนไทยได้รับฟังประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่มีส่วนร่วมและประสบการณ์ในการส่งเสริมประชาธิปไตย และเสริมสร้างสันติภาพในหลายประเทศทั่วโลก ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับสังคมไทยในการสร้างอนาคตและส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย  โดยมีองค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ มูลธิองค์การเพื่อประชาธิปไตย ภาคประชาชนเข้าร่วม

               งานนี้ได้เชิญนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นายมาร์ตรี อาห์ติซารี อดีตประธานธิบดีฟินแลนด์ นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และที่ปรึกษาอาวุโส Centre for Humanitarian Dialogue (HDC) ร่วมเป็นองค์ปาฐก โดยมีองค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ มูลธิองค์การเพื่อ

               ดูจากวัตถุประสงค์แล้ว มีคำที่สำคัญอยู่ 2 คำคือ "ประชาธิปไตย" กับคำว่า  "สันติภาพ" ว่ามีนิยามความหมายอย่างไร เริ่มจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะที่เป็นประธานกล่าวเปิดงานที่ระบุว่า

               "เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้เพียงหมายถึงระบบที่เสียงข้างมากเป็นรัฐบาลและเสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน แต่หมายรวมถึงวัฒนธรรมที่ประชาชนทุกคนเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และที่ทุกคนยึดและเคารพต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม"

               นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เสนอว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่ต้องรวมถึงการที่ผู้มีเสียงข้างมากเข้าไปดูแลเสียงส่วนน้อย ไม่ใช่ Winner takes all ไม่ได้หมายถึงอำนาจของพรรคการเมืองหนึ่ง แต่จะต้องสร้างโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในสังคม ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยจะต้องทำให้ระบบกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ เป็นธรรม เพื่อที่คนในสังคมจะได้ยอมรับการบังคับใช้กฎหมายนั้นๆ"

               นายโทนี่ แบลร์ยังได้กล่าวถึงการสร้างความปรองดองในประเทศไทยว่า ปัญหาในประเทศไทยต้องแก้ด้วยคนไทยเท่านั้น คนนอกไม่เกี่ยว เพียงแต่จะเข้ามาเล่าประสบการณ์และกระบวนการว่าเคยทำอย่างไรบ้าง การสร้างความปรองดองจะต้องสร้างให้เกิดโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับทุกคนได้แบ่งปันร่วมกัน เพื่อทำให้ทิ้งผลประโยชน์ส่วนตนไว้ก่อน ยกตัวอย่างการสร้างความปรองดองในไอร์แลนด์ คือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อจะได้ทิ้งความขัดแย้งไว้ก่อน เราต้องยอมรับว่าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ได้ แต่เราต้องอย่าไปย้อนตัดสินประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีทำให้ใครพอใจได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความขัดแย้งในไอร์แลนด์ คือการปล่อยนักโทษ

               การทำให้คนเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับอดีต เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้นจะต้องทำให้ทุกคนหันมาสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันแทน และการออกจากความขัดแย้งคือต้องมองอนาคตร่วมกัน ชี้การปรองดองไม่ใช่ทำให้ทุกคนลืมอดีต ต้องยอมรับว่าความรู้สึกเจ็บปวดยังอยู่ แต่ต้องทำให้เห็นอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน ซึ่งการสร้างปรองดองจะต้องมีการทำ Frame work เพื่ออนาคต ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก คงไม่สามารถย้อนไปแก้อดีตได้

               นายโทนี่ แบลร์ กล่าวต่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ เมื่อการเมืองสามารถนำมาได้ซึ่งนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ความโปร่งใส ความธรรมาภิบาลของรัฐบาลที่ขึ้นมาบริหารประเทศ จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน และนำไปสู่ความปรองดองง่ายขึ้น การปรองดองจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการในสร้างความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าดีขึ้น ด้วยความโปร่งใส ซึ่งตอนนี้เราอาจจะไม่เชื่อในการปรองดอง แต่อย่างน้อยต้องมีการเริ่ม อย่าเพิ่งท้อ และแม้จะมีความแตกต่างแค่ไหน แต่จะต้องใช้ความพยายาม และนักการเมืองที่มีความตั้งใจในการนำไปสู่ความปรองดองเพื่อคนทั้งประเทศ

               พร้อมกันนี้นายโทนี่ แบลร์ ยังได้แนะนำเพียวกับการปรองดองกับน.ส.ยิ่งลักษณ์โดยตรงว่า การสร้างความปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความพยายามในการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย จุดเริ่มต้นที่สามารถลดความขัดแย้งได้  นั่นคือการที่รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายที่ได้ประโยชน์แก่ประชาชนทุกฝ่ายเพื่อสร้างความไว้วางใจว่าจะไม่ทำประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นอกจากนี้ในระยะยาวจะต้องพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้พร้อมอย่างเต็มที่ในการที่จะสนับสนุนให้เกิดการปรองดองขึ้นในประเทศไทยด้วยการแบ่งปันประสบการณ์

               ด้านทางนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่เข้าร่วมงานด้วยเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อยู่ที่หลักการและกระบวนการประชาธิปไตย ที่ถูกตีความไปตามแต่ละความเห็น ซึ่งสำคัญอยู่ที่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วม จะช่วยคลี่คลายปัญหาได้ แต่ทุกวันนี้ ฝ่ายค้านไม่สามารถทำงานได้ในรัฐสภา หรือองค์กรอิสระยังไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ทำให้ทำงานไม่มีสิทธิภาพ รวมทั้งสื่อมวลชนตกอยู่ในภาวะกีดกันเข้าถึงข้อมูล ทำให้ไม่มีเสรีภาพเท่าที่ควรจะเป็น สำหรับข้อเสนอแนะที่มีการพูดกันวันนี้ คงต้องให้ทุกฝ่ายได้เปิดรับและนำไปใช้ ก็เพื่อให้การปรองดองประเทศสามารถเกิดขึ้นได้    

               นายสุรินทร์ ยืนยันว่า กระบวนการประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามผลักดันของบางคนจากนอกประเทศ ทำให้สิ่งที่ทำกันอยู่ในประเทศเกิดความไขว่เขว่ เพิ่มเชื้อความเข้าใจผิดๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกัน แล้วกระบวนการปรองดองประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อยังสิ่งรบกวนประชาธิปไตยและสันติสุขของประเทศอยู่

               ขณะที่นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้มองถึงเวทีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่สังคมไทยมีการตื่นตัวในเรื่องสันติภาพและสร้างความปรองดอง ซึ่งเมื่อสังคมตื่นตัวและเป็นตัวนำ ซึ่งจะบีบให้การเมืองต้องเดินเข้าสู่กระบวนการปรองดอง แม้จะมีนักการเมืองไม่เห็นด้วย แต่เป็นเรื่องที่ทำง่ายกว่าการให้รัฐเป็นผู้ริเริ่มหรือเป็นตัวนำ ซึ่งจะมีฝ่ายไม่เห็นด้วยออกมาขัดแย้ง และในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น จะเชิญนายอดัม คาเฮน ผู้เขียน หนังสือเรื่อง Power and Love และหนังสือ Solving Tough Problems เป็นผู้เชี่ยวชาญแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระดับโลก ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโคลัมเบีย และอาร์เจนติน่า มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนไทย    

               “ผมยังเชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยจะแก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ เพราะเราไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องศาสนาหรือเชื้อชาติ เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้น อย่าไปท้อใจเราต้องช่วยกัน เราขัดแย้งกันได้ ทะเลาะกันได้แต่อย่าฆ่ากันตาย ขณะนี้แม่ว่าฝ่ายค้านจะยังไม่เห็นด้วยเราก็ต้องเปิดกว้างและมองคนที่ไม่เห็นด้วยให้เป็นพวกเดียวกัน วันข้างหน้าเขาอาจเห็นด้วยก็ได้”ราษฎรอาวุโสกล่าว

               ทั้งนี้นพ.ประเวศได้กล่าวในงานประชุมวิชาการ เรื่องสันติสุขเริ่มที่วิถีชุมชน ที่สถาบันพระปกเกล้าจัดขึ้นที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ที่มีประชาชนและนักศึกษาหลักสูตรสันติศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)เข้าร่วมรับฟัง

               จากเวทีดังกล่าวคงจะทำให้คนไทยเข้าใจความหมายของคำว่าประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

.............................

นิยามความหมาย'ปชต.จากเวทีปาฐกถาพิเศษ'โทนี่ แบลร์' : สำราญ สมพงษ์รายงาน 

   


ประชาธิปไตย ภาคประชาชนเข้าร่วม

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ร.ร.วัดพุทธิสารตั้งศูนย์ครูนานาชาติรับ'เออีซี'

              ปี2558นี้ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทุกภาคส่วนจึงมีความการเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป และสิ่งหนึ่งที่จะรองรับนั้นก็คือภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษไม่นับรวมภาษาเพื่อนบ้านก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน  ไม่ใช่มีความรู้แค่ทักทายก็จบกันเท่านั้น

              โรงเรียนวัดพุทธิสาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้วเขต 2 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่ที่ ม. 5 ต. หนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีนายสมศักดิ์ ถาวรยิ่ง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีนักเรียนจำนวน 187 คน สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นชนบท ประชาชนมีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนห่างจากตัวอำเภอเมืองสระแก้วประมาณ 50 กิโลเมตร และใกล้กับประเทศกัมพูชาจึงจำเป็นต้องเตรียมความอย่างเติมที่เช่นกัน

              วิธีการของโรงเรียนวัดพุทธิสารนั้นได้มีการจัดหาครูอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาสในโรงเรียนวัดพุทธิสารและโรงเรียนเครือข่าย โดยมีนายวิชัย นนทการ (ครูเจสัน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นับเวลาย้อนหลังแรกเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2555 มาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนมีอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษจำนวน 6 รุ่น 7 คน 5 สัญชาติ ได้แก่ ชาวกัมพูชา 2 คน ชาวจีน 2 คน ชาวอเมริกัน 1 คน ชาวอิตาลี 1 คน และชาวอังกฤษ คน ร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกับครูไทยในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

              ผลการในการดำเนินการในภาคเรียนที่ผ่านมาในปีการศึกษา 2555 นักเรียนได้มีพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษดีขึ้น คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบ O-net ของระดับโรงเรียน สูงกว่า คะแนนเฉลี่ยผลการสอบระดับสำนักงานเขต และมีนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 3 คน ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสำเร็จที่ดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของการสอบในระดับของโรงเรียน 5 ปีย้อนหลัง โรงเรียนไม่ได้เคยได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับหรือสูงกว่าระดับเขตแม้แต่ครั้งเดียว

              และผลการเอกชิ้นที่บ่งบอกถึงพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของโรงเรียนคือ โรงเรียนได้ส่ง นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันเล่านิทานภาษาอังกฤษ (Story Telling) ระดับช่วงชั้นที่ 2 และแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ ช่วงชั้นที่ 1 เป็นปีแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งผลการแข่งขันนักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองระดับภาค เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัลเหรียญเงินในระดับเขตพื้นที่การศึกษาในการแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของโรงเรียน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง

              จากผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการจึงต้องการขยายผลการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยอาสาสมัครชาวต่างชาตินี้ โดยศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติ โรงเรียนวัดพุทธิสาร ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “INTERNATIONAL COORDINATIION CENTER VOLUNTEER TEACHER, THAILAND”ขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนต่างได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่ขาดโอกาสในอนาคตจึง ได้เข้ามาศึกษาดูงานและเพื่อจะทำการขยายโครงการนี้ต่อไปให้เป็นระบบที่มีมาตรฐานสากลต่อไปยิ่งขึ้น 

              “ขอบคุณมากที่มีแนวความคิดดีๆสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการ สอนภาษาอังกฤษให้เด็กชอบและมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจนได้รับรางวัล ขอชื่นชม ....ขยายแนวความคิดนี้สู่โรงเรียนอื่น เพื่อเด็กสระแก้วของเราจะได้เก่ง และมีประสบการณ์ที่ดี” นายศักดิ์ชัย บรรณสาร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 กล่าวและว่า

              ในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 นี้ มีอาสาสมัครได้ส่งใบสมัครและจะมาทำหน้าที่ช่วยสอนในโรงเรียนและโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 12 คน จากหลายๆประเทศมาทำงานร่วมกันกับครูไทย ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ฟิลิบปินส์ เยอรมัน ตุรกี และแคนาดา ขณะนี้โรงเรียนต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมกับการต้อนรับครูอาสาสมัครต่างชาติมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาอังฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับอาสาสมัครต่างชาติ นอกเหนือจากการเข้ามาช่วยสอนให้กับนักเรียนชนบทไทยแล้ว ทางศูนย์ประสานงานฯ ก็ได้จัดกิจรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชาวต่างชาติด้วย อันได้แก่ คอร์สเรียนภาษาไทย รำไทย เข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยพุทธ และพาชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เป็นต้น ซึ่งอาสาสมัครก็ประทับใจเป็นอย่างมากและอาสาเป็นเครือข่ายของโรงเรียนในการหาอาสาสมัครให้ทางศูนย์ด้วย

              จากผลการดำเนินจึงเป็นที่ประจักษ์ระดับหนึ่งว่า กิจกรรมที่ได้ทำในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้อย่างดียิ่ง ดังนั้น กิจกรรมยังต้องมีการดำเนินต่อเนื่องต่อไปและต้องมีการพัฒนากิจกรรมให้ดีขึ้นยิ่งๆขึ้นไปให้มีคุณภาพในระดับสากล มีอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเททำงานอาสาด้วยใจซึ่งปราศจากสิ่งตอบแทนมาจำนวนมากร่วมกิจกรรม และเพื่อหวังว่านักเรียนและครูจะมีความรู้ความสามารถในด้านการใช้ภาษาอังกฤษดีอย่างมีคุณภาพ สามารถนำความรู้สร้างประโยชน์สุขต่อประเทศชาติต่อไป

              ขณะเดียวกันโรงเรียนวัดพุทธิสารได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติ (International Coordination Center for Volunteer Teachers, Thailand) ขึ้น ด้วยแนวคิดและความตั้งใจของนายวิชัย  ที่อยากเห็นนักเรียนไทยตัวน้อยๆในชนบทของจังหวัดสระแก้วมีโอกาสฝึกพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครต่างชาติจากทั่วมุมโลก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย บัดนี้ความฝันนั้นเป็นจริง เด็กน้อยเหล่านั้นมีโอกาสแล้ว               

              วันที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นวันครบรอบของกิจกรรมครูอาสาสมัคร 1 ปีเต็ม ของการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ สรุปมีอาสาสมัครต่างชาติตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันมาปฏิบัติหน้าช่วยสอนภาษา จำนวนทั้งสิ้น 69 คน จาก 17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย เยอรมัน อิตาลี โปแลนด์ บราซิล สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ไอแลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส  อัฟริกาใต้ เยอรมณี  และแคนาดา มีโรงเรียนประถมในจังหวัดสระแก้วเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 23 โรงเรียน และอนาคตจะขยายโอกาสให้กับโรงเรียนอื่นๆในภาคตะวันออกและระดับประเทศ                       

              ทีมงานมีครูเจสัน นนทการ (ผู้ก่อตั้ง) ครูอาสาฯCelia Long(มือดีมือขวาผู้ก่อตั้ง)จากนิวซีแลนด์ และอาสาฯศุภชัย วิสาชัย (เวปมาสเตอร์อาสาฯของเรา) ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนากิจกรรมโดยงบประมาณอันน้อยนิด  พวกเราเอาใจทำงาน ยินดีสละเวลา ทรัพย์และแรงใจ มุ่งมั่นทำงานนี้ โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง แต่ทว่า รอยยิ้มของภาพแห่งการเรียนรู้ของครูและนักเรียนทั้ง ไทยต่างชาติต่างหาก คือรางวัลที่พวกเราพึงปรารถนาเป็นที่สุด        

              และหวังว่ากิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆแล้ว ยังหวังว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งจะช่วยเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้ประทับใจตรึงตาชาวโลกได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ชาติไทยยืนหยัดบนเวทีโลกอย่างทัดเทียมนานาประเทศอย่างภาคภูมิใจ ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมการทำงาน ภาพประทับใจและความรู้สึกดีๆของโครงการของพวกเราได้ที่ www.freevolunteerthailand.org

              ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย จ.สระแก้ว รศ.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ  รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้สังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยในงานโครงการสัมมนาด้านการให้บริการแก่ชุมชนและสังคมปี 2555 ที่ผ่านมางานบริการวิชาการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม มศว ได้งบประมาณทั้งสิ้น 68 ล้านบาท  ปี  2556 งบประมาณเพิ่มขึ้น เป็น 115 ล้านบาท และปี 2557 งบประมาณเพิ่มเป็น 116 ล้านบาท  งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการที่มศวเน้นการดูแลพื้นที่ชุมชนโดยเน้นนโยบายรัฐบาล หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย  โดยมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ไหนหรือใกล้เคียงกับกับจังหวัดไหนให้ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแล เป็นพี่เลี้ยงให้จังหวัดนั้นๆ ในส่วนของมศว นั้น รับผิดชอบ 2 จังหวัด คือ จ. นครนายกและ จ.สระแก้ว

              งบประมาณงานด้านบริการวิชาการที่เพิ่มขึ้นทุกปีถือเป็นพันธะกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยต้องใส่ใจมากขึ้น เพราะงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหมายถึงภาษีของประชาชนที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย เราจึงต้องรับฟังความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ให้มากขึ้น ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และติดตามผลเพื่อให้งานลงพื้นที่เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้การทำงานต้องเชื่อมโยงหลายๆ ส่วนเข้าหากัน คณะแต่ละคณะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ยิ่งบูรณาการมากและหลากหลายคณะ หลากหลายหน่วยงานก็จะยิ่งเกิดประโยชน์กับทางชุมชน อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณได้ด้วย จะเห็นว่าโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศวนั้น จะไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน เพราะใช้โครงการฯใช้วิธีการบริหารด้วยการพูดคุย ประชุมกันก่อนที่จะเขียนโครงการฯ

              “ในปี 2550 งานบริการวิชาการแก่ชุมชน และสังคม จ.สระแก้ว อ.วัฒนานคร มีเป้าหมายลงพื้นที่ต.หนองหมากฝ้าย และหนองตะเคียนบอน ส่วนในจ.นครนายก ลงพื้นที่ในอ.องครักษ์ ในปีงบประมาณ2556 ยังคงพื้นที่เดิมที่เคยให้บริการอยู่ แต่จะขยับไปสู่ตำบลอื่นๆ ได้อีก 2 ตำบล แต่ให้อยู่ในเขตอ.วัฒนานครในจังหวัดสระแก้ว และอ.องครักษ์ในจังหวัดนครนายก ในปี 2557 ขยายพื้นที่ออกไปอีก แต่ให้คงพื้นที่ในปีงบประมาณ 2556 ไว้ แต่สามารถขยายพื้นที่ออกนอกพื้นที่อ.วัฒนานคร จ.สระแก้วได้ และออกนอกพื้นที่อ.องครักษ์ เป็นจ.นครนายกได้ จะเห็นว่าการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศว มียุทธศาสตร์และการวางแผนอย่างเป็นระบบและไม่ทอดทิ้งพื้นที่เดิมเคยไปให้บริการมาก่อน การจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความเข้มแข็งได้นั้น ต้องอาศัยความต่อเนื่อง และติดตามผลอย่างจริงจัง ก่อนจะลงพื้นที่หรือเปิดพื้นที่ใหม่ๆ โดยการทำงานบริการวิชาการนั้นเพื่อสอดรับกับนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

              ผศ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า งานบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศว นั้น นอกจากจะเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านแล้ว เราต้องเน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน มีความสุขและเกิดการพัฒนา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

              ดังนั้นหากทาง  มศว จะเข้าไปดูแลศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติโรงเรียนวัดพุทธิสารด้วย เชื่อแน่ว่าจะทำให้การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จะมีความคืบหน้ายิ่งขึ้น


..........................

(ร.ร.วัดพุทธิสารตั้งศูนย์ครูอาสานานาชาติรับเออีซี หวัง'มศว'ลงพื้นที่ส่งเสริมอีกแรง : สำราญ สมพงษ์(fb-samran sompong)รายงาน)

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...