วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ความทรงจำ!'ทะไลลามะ'เฝ้าพระสังฆราช

              ข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อเวลา 19.30น.ของวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2556ที่ผ่านมา   ได้รับความสนใจจากสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำหรับเผยแพร่ไปทั่วโลก พร้อมกับรายงานเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นสหายขององค์ทะไลลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต โดยทรงยกย่องสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็น "พี่ชายของฉัน" 

              พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้รายงานในเวลาต่อมาว่า “ขณะนี้อาตมากำลังร่างหนังสือเพื่อแจ้งไปยังองค์ทะไลลามะอย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยองค์ทะไลลามะกับสมเด็จพระสังฆราช มีความผูกพันอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่องค์ทะไลลามะมาเยือนประเทศก็จะต้องมาเฝ้าและสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราช โดยพระองค์ยกย่องสมเด็จพระสังฆราชว่า"เป็นพี่ชายทางธรรม"

              และวันต่อมาพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เปิดเผยว่า องค์ทะไลลามะได้ส่งสาส์นธรรมสังเวชผ่านเว็บไซต์ http://www.dalailama.com/ แสดงความเสียใจเมื่อทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช มีใจความว่า
   
              "สหายทางจิตวิญญาณที่รักทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจการพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช  ในระยะเวลาอันสั้นหลังงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ในระหว่างที่ข้าพเจ้าสวดภาวนาอุทิศถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจมายังมหาเถรสมาคมและศิษยานุศิษย์นับหลายล้านคนของพระองค์ทั้งในประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก การจากไปของสมเด็จพระญาณสังวรฯนั้น เราทั้งหลายได้สูญเสียสหายทางธรรมอันวิเศษ"
   
              พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า สาส์นขององค์ทะไลลามะได้แสดงความชื่นชมอย่างสุดซึ้งต่อวิถีทางที่สมเด็จพระสังฆราชทรงปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบที่มีต่อพระศาสนาได้สมบูรณ์ยิ่งตลอดพระชนม์ชีพอันยาวนานและมีความหมายยิ่ง และยังทรงอุทิศพระองค์ในการสร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึงตลอดมา และจะหาโอกาสส่งผู้แทนมาสวดภาวนาและแสดงความอาลัยต่อประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพนับถือด้วย

              ทั้งนี้องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2510  และได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหารด้วย ครั้งนั้นทรงปรารภกับสมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณว่า "อยากศึกษาการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาท"  เจ้าหน้าที่จัดการรับเสด็จจึงได้จัดให้สมเด็จพระสังฆราชถวายคำแนะนำในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาทแก่องค์ทะไลลามะตามพระประสงค์ ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง

              องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยหลายครั้ง และทุกครั้งได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหารและทรงพบปะสนทนากับสมเด็จพระสังฆราชเสมอ จึงทรงคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี

              ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 และประทับแรมที่ศาลา 150 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร คำแรกที่องค์ทะไลลามะตรัสทักทายสมเด็จพระสังฆราชเมื่อทรงพบกันในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารก็คือ “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า” อันแสดงถึงความเคารพรักที่ทรงมีต่อกัน

              และวันที่องค์ทะไลลามะกราบทูลลาสมเด็จพระสังฆราชได้กราบทูลว่า "เวลาเหลือน้อยเต็มที เมื่อวานนี้กระหม่อมมีโอกาสทูลใต้ฝ่าพระบาทเพียงสั้นๆ กระหม่อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตจะได้เห็นชาวพุทธทิเบตกับชาวพุทธไทยมีการติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น และคงจะได้มีการประชุมสัมมนาร่วมกันเป็นครั้งคราวด้วย เพื่อให้พระภิกษุไทยกับพระภิกษุทิเบตได้สากัจฉากันในเรื่องพระวินัย เรื่องสมาธิ เรื่องอภิธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์มากทีเดียวด้วยวิธีดังกล่าวนี้ พวกเราชาวทิเบตก็จะได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยและในทำนองเดียวกันชาวไทยก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากขนบธรรมเนียบประเพณีแบบทิเบต"

              สมเด็จพระสังฆราชได้แสดงพระทัศนะเห็นด้วยกับข้อเสนอขององค์ทะไลลามะในครั้งนั้น

              และเมื่อต้นปี2556 พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ได้เปิดเผยถึงการร่วมสนทนาธรรม "พระพุทธศาสนาหลังพุทธชยันตี 2600 ปี" กับองค์ทะไลลามะ พร้อมผู้แทนคณะสงฆ์ทิเบต ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียว่า "องค์ทะไลลามะยินดีต้อนรับพระสงฆ์ นักวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยจากประเทศไทย ที่จะไปศึกษาที่สถาบันกลางเพื่อทิเบตศึกษาขั้นสูง หรือที่รู้จักกันในนามว่า มหาวิทยาลัยกลางเพื่อทิเบตศึกษา ที่เมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย" ทั้งนี้คงเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างอันดีระหว่างสมเด็จพระสังฆราชกับองค์ทะไลลามะนั้นเอง

              การเยือนประเทศไทยเมื่อพ.ศ. 2536 ขององค์ทะไลลามะนี้เอง ผู้เขียนได้มีประสบการณ์โดยตรง เนื่องจากขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งจากหัวหน้าให้ไปทำข่าวสังเกตบรรยากาศ ก็งงๆเหมือนกันว่าทำไมหัวหน้าถึงใช้ให้ไปทำหน้าที่นี้ทั้งๆไม่สามารถฟังภาษาอังกฤษได้เข้าใจ หรือเป็นเพราะเราเคยเป็นคนวัดมาก่อนก็เป็นได้

              เหตุการณ์ที่ได้สัมผัสกับองค์ทะไลลามะโดยตรงนั้นก็คือตอนที่ประทับแรมที่ศาลา 150 ปี ได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษ์ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ความขัดแย้งระหว่างทิเบตกับจีน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็อยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำหนักเพ็ชรนั้นได้ใช้เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม เวลาที่มีประเด็นข่าวและเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมก็จะเดินทางไปทำข่าวเสมอ

              นอกจากนี้ทุกๆปีของวันที่ 3 ตุลาคมเป็นวันประสูติของสมเด็จพระสังฆราช ทางวัดบวรฯก็จะมีการจัดงาน ก็ได้มีโอ
กาสเดินทางทำไปข่าว หลังจากนั้นก็จะได้รับแจกวัตถุมงคลรุ่นต่างๆ แต่ที่ขึ้นชื่อเห็นจะเป็นพระพิมพ์ไพรีพินาศ แม้นว่าตอนนั้นจะไม่ค่อยนิยมพระเครื่องเท่าใดนัก แต่เมื่อเห็นพิมพ์แล้วถือว่าสวยงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งซุ้มเรือนแก้ว ได้เก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ไม่ได้นำออกมาแก้จนแต่อย่างใด คงเป็นเพราะประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องวัดบวรฯนี้เองทำให้สนใจศึกษาพุทธศิลป์ ลายไทย ลายกนกในเวลาต่อไป

              ความจริงแล้วผู้เขียนได้ติดตามศาสนกิจของสมเด็จพระสังฆราชเสมอมา ตั้งแต่สมัยอยู่ในเพศสมณะได้ศึกษาระดับปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิต เอกปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเมื่อปี2529 เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังได้รับประทานปริญญาบัตรจากพระองค์

              จากความทรงจำดังกล่าวทำให้มีความรู้สึกว่าสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระรูปหนึ่งที่มีไม่มากนัก สามารถนำมารำลึกเป็นสังฆานุสสติได้อย่างสนิทใจ

: สำราญ สมพงษ์ อดีตผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงศึกษาธิการรายงาน(FB-samran sompong)

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เหรียญปลอดภัย'หลวงพ่อทวีป สมพงษ์'อดีตเกจิดังกำแพงเพชรทายาทราชวงศ์ลาว

                คำว่า "ปลอดภัย" ในวงการพระเครื่องถือว่าเป็นคำมงคล ถูกนำไปใช้ในการสร้างวัตถุมงคล แต่ที่มีชื่อเสียงเห็นจะเป็นเหรียญปลอดภัยหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม(สว่าง เจริญศรี) อดีตเจ้าอาวาสวัดคฤหบดีสงฆ์ (ท่าพุทรา) อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งเหรียญปลอดภัย

                ด้วยอิทธิพลแห่งเหรียญปลอดภัยดังกล่าว ทำให้หลวงพ่อทวีป ญาณวโร นามสกุลสมพงษ์ หรือพระสิทธิธรรมเวที อดีตเจ้าอาวาสวัดจันทาราม  บ้านวังแขม  หมู่ที่ 1    ต.วังแขม   อ.คลองขลุง  พระเกจิชื่อดังแห่งเมืองกำแพงเพชรและภาคเหนือ ได้สร้างเหรียญปลอดภัยขึ้นมาด้วย โดยเรียกขานกันว่าเหรียญปลอดภัยหลวงพ่อทวีป ญาณวโร และมีการโพสต์ให้เช่าหรือประมูลในกระดานเว็บไซต์พระเครื่องอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อว่าหากมีไว้ติดตัวแล้วจะปลอดภัย

                ความจริงแล้วพระเครื่องที่หลวงพ่อทวีปสร้างขึ้นขณะที่มีชีวิตอยู่นั้นหลายรุ่น โดยลูกศิษย์ก็ได้ทำเฟซบุ๊กในนาม "ชมรมศิษย์หลวงพ่อทวีป ญาณวโร" และเว็บไซต์ lptaveep.com ให้ผู้สนใจได้ติดตาม อย่างเช่น สมเด็จปลอดภัย รูปหล่อ ตัวต่อเงินต่อทอง พระกริ่งรุ่นแรกหลวงพ่อศรีมงคล วัดจันทาราม ปี 2521

                ขณะเดียวกันที่วัดจันทรารามแห่งนี้มีพระพุทธรูปที่สาคัญคือหลวงพ่อศรีมงคล พระประธานในอุโบสถหลังเก่า "ปางมารวิชัย" เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนเป็นอย่างมากผู้ใดมีทุกข์ร้อน มักมาขอพึ่งบารมีของหลวงพ่อด้วยพวงมาลัยก็จะได้สาเร็จตามปรารถนาทุกประการ  

                วัดจันทรารามถือว่าเป็นอีกวัดหนึ่งที่เก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร ได้สร้างขึ้นเป็นวัดมาเป็นเวลานานลงทะเบียนไว้เป็นวัดนับได้ตั้งแต่ประมาณปี 2225 เป็นวัดที่ร้างมาเป็นเวลานานและได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านในแทบนั้นมักนิยมเรียกชื่อวัดตามชื่อของหมู่บ้านว่า "วัดวังแขม" ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้าน และต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นหลักฐานมั่นคงเริ่มมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2420

                และในครั้งสมัยนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จประพาททางชลมารคและทรงแวะประทับพักแรมที่ปะรำพิธีที่หาดทรายหน้าวัดนี้ด้วย และนับตั้งแต่ปี 2507 วัดจันทารามจึงได้รับการพัฒนาเรื่อย ๆ มา จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 2 เดือนเมษายน พุทธศักราช 2523 

                สำหรับหลวงพ่อทวีปนั้นมีประวัติที่น่าสนใจคือหลวงพ่อทวีป เกิดวันที่ 1 พฤษภาคม 2477 ปีจอ นามบิดา นายเฟื่อง สมพงษ์ นามมารดา นางบุญเกิด สมพงษ์ บ้านเลขที่ 205 หมู่ที่ 5 ต.แม่ลาด อ.คลองขลุง หลังจากจบการศึกษาป.4 ที่บ้านเกิดแล้ว ได้บวชเป็นสามเณรและพระที่วัดโมลี ต.บางรัก ใหญ่ ต.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เรียนนักธรรมบาลีจบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม  5 ประโยคเมื่อพ.ศ.2502 หลังจากนั้นไปกลับไปพัฒนาบ้านเกิดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดจันทราราม ต.วังแขม ลำดับที่ 8 ตั้งแต่ปี 2507-2549

                และเมื่อพ.ศ.2516 ได้รับการตั้งแต่เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท ที่พระครูโสภณพัชรญาณ (จต.ชท.) พ.ศ.2520 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นโท ที่ พระครูโสภณพัชรญาณ (จอ.ชท.) พ.ศ.2524 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นเอก ที่ พระครูโสภณพัชรญาณ (จต.ชอ.) พ.ศ.2539 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระสิทธิธรรมเวที (สป.)

                หลวงพ่อทวีปมีตำแหน่งทางการปกครองจนถึงขั้นรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะจังหวัดให้ดูแลงานด้านการศึกษา เนื่องจากได้ส่งเสริมการศึกษา จัดให้มีการเรียนการสอนพระธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณร มีการให้รางวัลแก่พระภิกษุ-สามเณร และเด็กนักเรียน ที่เรียนดี มีความประพฤติดี ให้การสนับสนุนแก่พระภิกษุ-สามเณร ไปศึกษาต่อยังสำนักอื่น ๆ ที่มีการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และบาลี ที่สูงขึ้นไป พร้อมกันนี้พ.ศ.2512 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสายที่ 3 ประจำอำเภอคลองขลุงอีกด้วย

                ในด้านงานสาธารณูปการนั้นหลวงพ่อทวีปได้เป็นเป็นประธานดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ 1 หลัง ลักษณะทรงไทย อีกทั้งนำสร้างเมรุเผาศพศาลาการเปรียญ รวมถึงให้การสงเคราะห์ในพื้นที่การปกครองอย่างต่อเนื่อง

                พร้อมกันนี้ชาติภูมิของหลวงพ่อทวีปยิ่งน่าสนใจ คือเมื่อมีการสืบสาวที่มาที่ไปของตระกูลสมพงษ์ โดยคนรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เล่าทราบว่า คนต้นตระกูลสมพงษ์มาจากเชื้อราชวงค์พระเจ้าไชเชษฐาธิราชแห่งราชอาณาจักรลาวหลายร้อยปีมาแล้ว ตั้งแต่มีชายแดนถึงโคราชา (นครราชสีมา) พระองค์ได้ส่งพระราชบุตรไปปกครองตามหัวเมืองต่างๆ สกุลสมพงษ์ไปครองนครจำปาศักดิ์(ลาวตอนใต้)ภายหลังเกิดภัยสงครามจึงอพยพมาทางด่านจอหอปรากฏนามสกุลสมพงษ์จำนวนมากที่จังหวัดนครราชสีมาโดยมีพ.อ.วิน้ย สมพงษ์ อดีตรมว.คมนาคม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

                ส่วนหนึ่งปักหลักอยู่ที่ อ.จัสตุรัส จ.ชัยภูมิ หัวหน้าชื่อนายทองดีภายหลังได้รับพระราชทานนามพระนริศสงครามซึ่งเป็นเพื่อนกับพระยาแล(พระนรินสงคราม)ซึ่งอพยพเลยไปตัวเมืองชัยภูมิ ปัจจุบันนี้ลูกหลานพระนริศสงครามได้แตกลูกแตกหลานเต็มพื้นที่ อ.จัสตุรัส  สายพระนริศสงครามนี้เป็นสายใหญ่แตกออกเป็นสายทหารเรือไปรบตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จึงทำให้มีลูกหลานแถวฝั่งธนบุรีก็ไม่น้อย

                ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องสืบสานกันต่อไป แต่ปัจจุบันนี้ถือได้ว่าคนตระกูลสมพงษ์ได้กระจายกันอยู่เกือบทุกจังหวัด ทางภาคใต้อย่างเช่นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ส่วนภาคอีสานนั้นไม่ต้องพูดถึง เมื่อทราบเช่นนี้จะทำให้ความยึดติดในภาคนิยมนั้นหมดไป แต่จากประวัติของหลวงพ่อทวีปแล้วทำให้เห็นภาพว่าคนตระกูลสมพงษ์ได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรไม่น้อย 

.............

: สำราญ สมพงษ์รายงาน (FB-samran sompong)

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กลุ่มนักเขียน-สื่อโดดร่วม! 'เดินด้วยใจปากบารา-จะนะ'

              ปรากฏการณ์เดินเท้าต้านโครงการยักษ์ของรัฐที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างโครงการสร้างเขือนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ภายใต้การนำของนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้มีหลายภาคส่วนกระโดดลงมาร่วมเดินด้วย

              และวิธีการเดินเท้านี้ก็ขยายวงออกไป อย่างเช่นล่าสุดขบวนของเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลา แสดงพลังต่อต้านโครงการเมกะโปรเจกต์ชุดใหญ่คือ  “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” หรือโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และเส้นทางรถไฟสงขลา-ปากบารา ถือเป็นบิ๊กโปรเจกท์ใช้เงินลงทุนมหาศาล สำหรับการปฏิรูประบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้เพื่อเชื่อมไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์

              หลังจากรัฐบาลได้แนบท้ายโครงการดังกล่าวในบัญชีพระราชบัญญัติเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท นั้นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเร่งผลักดันทั้งสองโครงการนี้

              ภายใต้ชื่อ "เดินด้วยใจปากบารา-จะนะ" โดยเริ่มออกเดินเท้าจากท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. จนถึงปลายทางที่บ้านสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยระยะทาง 220 กม.ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ซึ่งก็มีประชาชนเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง
       
              เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านเป็นวันที่ 4 ของขบวน"เดินด้วยใจปากบารา-จะนะ" ได้เดินไปถึงจุดพักที่บ้านหูแร่ ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขล ทั้งนี้ในช่วงบ่ายนายระพินทร์ พุฒิชาติ หรือน้าซู แห่งวงซูซู และนายศศินได้เข้าร่วมเดินเท้าด้วย ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักขึ้น

              นายสมบูรณ์ คำแหง ผู้ประสานงานเครือข่ายฯกล่าวว่าตั้งแต่เดินเท้าเข้าเขตสงขลารู้สึกยินดีมากที่ได้รับการต้อนรับอบอุ่นจากประชาชนยิ่งขึ้น โดยมีผู้นำอาหารและน้ำดื่มมาร่วมสมทบและให้กำลังใจบ่อยเป็นระยะๆ และคิดว่าในวันที่ 26 เมื่อถึงอำเภอหาดใหญ่จะมีประชาชนเข้าร่วมมากขึ้น

              ด้านนายไกรวุฒิ ชูสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัทหลีเป๊ะเฟอรี่แอนสปีชโบ้ท ซึ่งร่วมในขบวนเดินเท้ากล่าวว่า ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในหลีเป๊ะและตะรุเตาต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทุกคนต่างช่วยกันบริจาคเงินลงขันสำหรับทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

              และวันที่ 26 ตุลาคมนี้ซึ่งเป็นวันที่ 5 ขบวน"เดินด้วยใจปากบารา-จะนะ" ได้เดินเข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา  ได้มีชาวหาดใหญ่ร่วมต้อนรับเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้อนุญาตใช้วิทยุของมหาลัยสื่อสารกับสังคมด้วย

              พร้อมกันนี้เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลายังได้เปิดเฟซบุ๊กนาม "เดินด้วยรัก ปกป้องปากบาราจะนะ" ขึ้นมา เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารให้กับสังคมได้ทราบการเคลื่อนไหว ปรากฏว่าวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ได้มีกลุ่มนักเขียน สื่อมวลชน ได้ออกมาสนับสนุนพร้อมกับร่วมกันเขียนบทกวีเพื่อแสดงท่าที 13 คนแล้วอาทิ "พิเชฐ แสงทอง" "ธัช ธาดา" "นายทิวา" "ประมวล มณีโรจน์" "ชนะ เสียงหลาย" โดยมี "โสพล โสภณอักษรเนียม" อดีตนักสื่อสารมวลชน เป็นผู้จุดประเด็น

              เริ่มจาก เดินด้วยรัก ฯ # 1


สู้เท่าที่สูจักสู้ได้

สู้เท่าที่ไหว ยังพอหวัง

สู้เท่าที่แรงแห่งกายยัง

สู้ทั้งที่ฝั่ง ช่างแสนไกล

เท่าที่ยุคสมัยของคนยาก

ถูกฝังฝากรอยทนซึ่งหม่นไหม้

เท่าที่หลุมความโลภอันจัญไร

ถูกกระชากลากไส้เนื้อในทราม

เรี่ยวแรงน่าดูแคลนเพียงแขนขา

หาญท้าอำนาจบาปอันหยาบหยาม

ดุ่มเดินเชื่องช้าพยายาม

กลางดงสงครามลุกลามไฟ

ปลีน่องทอดแน่วสู่แนวหน้า

แผ่นดินปู่ย่าแบกบนไหล่

ทุกรอยย่ำย่างหนทางไกล

เท่ากับย่ำหัวใจเนรคุณ

พลัง เพียงพิรุฬ
กวี-นักเขียน
ผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2556


              เดินด้วยรักฯ # 10


"ปากบารา" ถึง "จะนะ" : ตอบด้วยหัวใจ

๏ เราจะมุ่งหน้าเดินสู่หนใด

ถ้าหัวใจทุกใจถูกยีย่ำ

ไปสู่หุบเหวที่มืดดำ

โดยการกระทำที่ย่ำยี

๏ ปลายทางหายนะคือพัฒนา ?

เสียงจาก "ปากบารา" ถามทุกที่

เสียงจาก "จะนะ" ถามชั่วดี

ต่อการกระทำนี้เพื่อตอบตน

๏ บ้านของเราเมืองของเราคนของเรา

ควรหรือปล่อยให้เขาเข้ามาปล้น

อำนาจที่แท้ประชาชน

ใช่อำนาจใครบางคนข่มขืนใคร

๏ บ้านของเราเมืองของเราคนของเรา

ใครก็ไม่มีสิทธิ์ยึดเอา, ใช่-ไม่ใช่ ?

จาก "ปากบารา" ถึง "จะนะ" เพื่ออะไร

เพื่อสนองตัณหาหรือไม่ ? ช่วยตอบที

๏ บ้านของเราเมืองของเราคนของเรา

สิทธิ์นี้ไม่ใช่ของเขาทุกพื้นที่

สิทธิ์นี้เป็นของเราเท่าที่มี

เพื่อไม่ให้ใครย่ำยีอย่างริยำ

๏ เราจะมุ่งหน้าเดินสู่หนใด

ตอบได้ด้วยใจทุกใจถูกยีย่ำ

ไม่ยินยอมสู่หุบเหวที่มืดดำ

และไม่ให้ใครกระทำเพื่อย่ำยี !.

นายทิวา
กวีผู้เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2553


              เดินด้วยรักฯ #11


“พายุครืนข่มคุกคาม

เดือนลับยามแผ่นดินมืดหม่น

ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน

ปลุกหัวใจ...ปลุกคน...

อยู่มิวาย....

ขอเยาะเย้ย...ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ

คน...ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

แม้ผืนฟ้ามืดดับ...

เดือนลับละลาย

ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน...”

อยากร้องเพลงนี้ขับกล่อมให้ทุกย่างก้าว...ชัดเจน...มั่นคง...

และด้วยเจตนาที่จะให้รู้ว่า...

คุณจะไม่เดียวดาย...ด้วยหัวใจที่เสรี

ขอพลังอยู่คู่คุณ

จุฬาลักษณ์ ทองย้อย
ครูสอนร้องเพลง
เจ้าของกิจการร้านเบเกอรี่


              เดินด้วยรักฯ # 13

อาจดูเหมือนคำใหญ่คำโตเกินไป

แต่เมื่อพิจารณาถึง ‘หัวใจ’

และเนื้อหาสาระของคณะเดินเท้าฯแล้ว

ถ้าผมขออนุญาตหยิบยืมถ้อยคำ

ของนีล อาร์มสตรอง

ที่พูดไว้เมื่อคราเหยียบเยือนดวงจันทร์ว่า

‘นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ (กลุ่มหนึ่ง)

แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ’

ก็ดูจะไม่ใช่สิ่งที่เกินเลยไปนักครับ


โสพล โสภณอักษรเนียม
อดีตนักสื่อสารมวลชน

              นับได้ว่าการเดินเป็นวิถีหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย เพื่อแสดงออกให้ผู้ใช้อำนาจรัฐฟังเสียงรากหญ้าบ้าง ไม่ใช้ว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะตัดสินทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ไม่เช่นนั้นแล้วเขาเรียกว่า "เผด็จการ" หาใช่ประชาธิปไตยไม่

........................................

(กลุ่มนักเขียน-สื่อโดดร่วม! 'เดินด้วยใจปากบารา-จะนะ' : สำราญ สมพงษ์รายงานFB-samran sompong)






วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'มจร'นำธารน้ำใจซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วม แนะตั้งธ.พุทธหนุนบริการสังคม

              จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรามาถึงจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครนั้น ได้มีหลายภาคส่วนลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยรวมถึงพระสงฆ์ด้วย

              โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ภายใต้การนำของพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเปิดรับบริจาคสิ่งของจากญาติโยม ทั่วไป ทั้งนี้สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายธรรมวิจัย 035-248000 ต่อ 8138 หรือวัดมหาธาตุ 02-2222835 หรือเว็บไซต์ http://www.mcu.ac.th

              เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยในภาคต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย พระพรหมบัณฑิต พร้อมด้วยน.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.ชลบุรี ประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันออกรายการที่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT หรือช่อง 11 เมื่อเวลา 22.00-24.00น.ของวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

              หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา พระพรหมบัณฑิต  ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและคณะ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน จำนวน 3 คันรถบัส และรถส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่ง ได้นำถุงยังชีพซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 500 ชุด และถุงยังชีพพร้อมปัจจัย จำนวน  1,000 ชุด จัดถวายแก่พระสงฆ์ที่เดือดร้อนจำนวน 109 วัด และประชาชนอีก 3 จุด อีกหลายร้อยครัวเรือน ฝ่ายสงฆ์มีพระราชภัทรธาดา เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานรับมอบ และรับช่วงดำเนินการแจกจ่ายแก่พระสงฆ์และประชาชนต่อไป

              ขณะเดียวกันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการ ได้รับรายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ว่ามีวัดที่ประสบภัยแล้ว 533 วัด ใน 12 จังหวัด 63 อำเภอ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีษะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี โดยภาคกลางสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

              ทั้งนี้ นายนพรัตน์ ได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด นำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จัดเตรียมไว้กว่า 5,000 ชุด ถวายให้พระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมจัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท ช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร ที่ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้รูปละ 100 บาทต่อวัน ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือระดับจังหวัดและอำเภอในพื้นที่ประสบอุทกภัย ช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสานกองทัพจัดรถส่งเครื่องอุปโภคและเคลื่อนย้ายของมีค่ามาไว้ในที่ปลอดภัยด้วย

              ขณะเดียวกันคณะสงฆ์ก็ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร ญาติโยม ที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะคณะสงฆ์จากวัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย พระพรหมสุธี หรือ "เจ้าคุณเสนาะ เจ้าคณะภาค 12 กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. และพระราชมงคลรังษี วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้มอบหมายให้พระราชภาวนาพิธาน วิ. รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

              อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 1-13  ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ นำโดยพระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน และคณะครูอาสา ได้นำข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า ยารักษาโรค และเงินสดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ และอ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โดยจัดถุงยังชีพ 3,000 ชุด

              จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนและผู้ใจบุญทั้งหลายร่วมบริจาคสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ถวายพระภิกษุ สามเณร และประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ตามกำลังศรัทธาโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นคณะทำงานจะได้ทยอยนำสิ่งของทั้งหมดไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ที่ประสบภัย รวมถึงญาติโยม พุทธศาสนิกชนที่กำลังมีความทุกข์และเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เพื่อบรรเทาเหตุการณ์เบื้องต้น เป็นการเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจสืบไป ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญได้ที่ศูนย์อำนวยการที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-1933-7714 ๔ และ 08-7146-3944 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง อีกช่องทางหนึ่งด้วย

              นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของพระที่ให้บริการสังคม ถ้าจะให้ดีควรจะมีการตั้งเป็นกองทุนพระพุทธศาสนาหรือธนาคารพระพุทธศาสนาเพื่อการบริการสังคมขึ้นมา เพราะความจริงแล้วเงินของวัดหรือของพระพุทธศาสนาที่ฝากอยู่ตามธนาคารต่างๆมีจำนวนไม่น้อยไม่ต้องมีการเปิดรับบริจาคก็ยังได้ เมื่อเกิดเหตุเภทภัยใดๆขึ้นมาสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที อาจจะมีการตั้งเป็นโรงครัวเคลื่อนที่หรือตั้งเป็นหน่วยบริการแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่นหน่วยบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจเพื่อให้หายเศร้าโศกจากการสูญเสียจากภัยน้ำท่วมเป็นต้น


...................................


'มจร'นำธารน้ำใจซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วม แนะตั้งธ.พุทธหนุนบริการสังคม : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)



วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วันปิยะ!พระจีนถวายสังฆทานนานาชาติที่'มจร' 'เณรอดีตศิษย์เอกชัย'เทศน์มหาชาติทำนองใต้

              เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 วันที่ 23 ตุลาคมหรือวันปิยมหาราชของทุกปี ภาครัฐและเอกชนได้จัดกิจกรรมและวางพวงมาลาถวายราชสักการะ

              เช่นเดียวกับผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต ผู้แทนส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้รวมกันวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หน้าพระบรมรูปฯ หน้าหอพระไตรปิฎก มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระพรหมบัณฑิต อธิการบดีเป็นประธาน  และผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปอ่านอาเศียรวาทสดุดี ในฐานะที่พระองค์ทรงสถาปนา มจร

              นอกจากนี้ มจร ยังได้จัดกิจกรรรมที่สำคัญ 2 ประการคือการถวายสังฆทานนานาชาติและการเทศน์มหาชาติ 4 ภาค

              การถวายสังฆทานนานาชาตินั้นพระธรรมาจารย์ ชุน ฝ่า เจ้าอาวาสวัดหยวนทง เมืองคุนหมิง ประเทศจีน คณะสงฆ์มหายานร่วมกับโครงการศูนย์วิปัสสนานานาชาติ (IBMC) ที่มีพระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร เป็นหัวหน้าโครงการ จัดขึ้น

              พระธรรมาจารย์ ชุน ฝ่า ได้นำพระและญาติโยมชาวจีนจากเมืองคุนหมิงประมาณ 50 คนมาร่วมถวายสังฆทานนานาชาติแก่พระภิกษุและสามเณรจำนวน 3,009 รูป ทั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันปิยมหาราชดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการทำบุญคล้ายวันเกิดของพระโพธิสัตว์กวนอิมอีกด้วย

              ทั้งนี้พระธรรมาจารย์ ชุน ฝ่า กล่าวสุนทรพจน์ว่า แม้นชาวพุทธไทย-จีนจะมีวัฒนธรรมแตกต่างกันแต่ก็ถือว่าเป็นพุทธบุตรเช่นเดียวกัน ที่มีหน้าเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธเจ้าให้เจริญรุ่งเรื่องต่อไป มจร นั้นถือว่าเป็นสถานการศึกษาพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพ ประมุขสงฆ์มณฑลยูนนานก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มจร ซึ่งจะสานความร่วมมือจัดการศึกษาและด้านต่างๆต่อไป

              พระพรหมบัณฑิตกล่าวสุนทรพจน์ว่า การเดินทางมาถวายสังฆทานนานาชาติของพระธรรมาจารย์ ชุน ฝ่า และคณะครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของชาวพุทธทั้งสองประเทศให้แนบแน่นมากขึ้น อีกทั้งเป็นการเยี่ยมเยือนตอบแทนที่ผู้บริหาร มจร เดินทางไปประเทศจีนก่อนหน้านี้

              ทั้งนี้พระอุ่นเงิน มนิโต พระเถรวาทจากเมืองคุนหมิงที่ได้เดินทางมาศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติที่ มจร เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้มีพระจากเมืองคุนหมิงเข้ามาศึกษาที่ มจร 2 รูป เพราะพระและสามเณรที่เมืองคุนหมิงนั้นมีการศึกษาตามรูปแบบของไทยเฉพาะนักธรรมเท่านั้น ส่วนการเรียนภาษาบาลีต้องเข้ามาเรียนที่ประเทศไทย ซึ่งต่อไปนี้ทางรัฐบาลจีนจะให้การสนับสนุนด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาในหลักสูตรปริญญาตรีที่เมืองคุนหมิง

              ส่วนการเทศน์มหาชาติ 4 ภาคนั้น ทาง มจร ได้ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าจัดขึ้น ภาคเช้านิมนต์พระสงฆ์กัมพูชา 10 รูปสดับปกรณ์  พระสงฆ์มอญ 10 รูป เจริญพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์และเลี้ยงอาหารกลางวัน จำนวน 1,000 รูป/คน

              ภาคบ่ายเป็นการเทศน์มหาชาติ 4 ภาคโดยนิมนต์พระเณรนักเทศน์ประกอบด้วย ภาคกลางพระอาจารย์สาคร ปุญญการี ภาคอีสานพระครูสังฆรักษ์อรรถสิทธิ์ อริยเมธี ภาคเหนือพระมหาเอกพจน์ ปิยสีโล และภาคใต้สามเณรนัทวุธ สำเภา ซึ่งเป็นพระนิสิต มจร โดยมีลักษณ์การเทศน์เรียงไปตามกัณฑ์ทั้ง 13 กัณฑ์โดยเน้นประเด็นสำคัญโดยมีการบรรยายและเทศน์แหล่สลับกันไปตามภาคต่างๆ โดยไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นภาคใดก่อนหลัง พร้อมทั้งอธิบายความให้ผู้ฟังเข้าใจอาจจะยกเหตุการณ์ปัจจุบันประกอบบ้าง โดยใช้เวลา 2 ชั่งโมงจบ

              หลังจากเทศน์เสร็จได้สอบถามพระอาจารย์สาครได้ความว่าไม่เคยเทศน์มหาชาติ 4 ภาคมาก่อน ถือว่าเป็นการด้นสดๆตามไหวพริบปฏิภาณของแต่ละรูปก็ถือว่าผ่านไปด้วยดี  หากมีการเทศน์ร่วมกัน 2-3 ครั้งก็จะคล่องตัวมากขึ้นและเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการสั่งสอนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะการเทศน์มหาชาติเช่นนี้เป็นการเทศน์ตามทำนองหลวงไม่ได้เน้นเชิงลิเกแต่อย่างใด

              ด้านสามเณรนัทวุธนั้นถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจปัจจุบันนี้เรียนอยู่ที่คณะครุศาสตร์ปี 3 สอบถามประวัติได้ความว่าตอนเป็นเด็กได้อยู่ในคณะโนราของ "เอกชัย ศรีวิชัย" นักร้องลูกทุ่งชื่อดังเมืองใต้ เมื่อบวชเป็นสามเณรมีแนวความคิดที่จะประยุกต์การร้องโนรามาเป็นเทศน์แหล่ทำนองภาคใต้ โดยเริ่มฝึกหัดด้วยตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ที่โรงเรียนปริยัติธรรมชั้น ม.3-4 เมื่อมีความชำนาญก็เริ่มรับงานเทศน์ตามจังหวัดต่างๆทางภาคใต้ รวมถึงเทศน์ผ่านทางเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นทำให้มีชื่อเสียงมากขึ้น ทุกวันนี้ก็มีรับนิมนต์ไปเทศน์เป็นระยะๆ

              "นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ในรูปแบบซีดี อย่างเช่นชุดล่าสุดคือชุดเทศน์แหล่ธรรมะคีตะประยุกต์ชุดธรรมวัยใส สู่ใจวัยธรรม อย่างเช่น แหล่นกกระยาง แหล่ศีล  5 แหล่ชีวิตดีมีทางเลือก แหล่เสน่ห์ใต้ และเร็วๆนี้จะมีการออกซีดีชุดแหล่ธรรมร่วมกับ เอกชัย ศรีวิชัย ด้วย" สามเณรนัทวุธ ระบุ

........................

วันปิยะ!พระจีนถวายสังฆทานนานาชาติที่'มจร' 'เณรอดีตศิษย์เอกชัย'เทศน์มหาชาติทำนองใต้ :  สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน









   

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'R.I.P.-ขอให้หลับสบาย'คำไว้อาลัยเหยื่อบินลาวตก

              หลังจากเกิดเหตุการณ์เครื่องบินสายการบินลาว ตกกลางแม่น้ำโขง ที่บริเวณดอนเขาะ เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก นับเป็นความสูญเสียครั้งที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 49 คนนั้น

              ในสังคมออนไลน์ต่างแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตด้วยถ้อยคำต่างๆ แต่มีคำหนึ่งที่ใช้นั้นก็คือคำว่า 'R.I.P.' อย่างเช่นเฟซบุ๊กคนลาวนาม "Clip Ded Clip Dung - ຄລິບເດັດ ຄລິບດັງ" ได้ภาพคำนี้บนหน้าปก หรือแม้นแต่การที่อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย "เอ็กซ์" จักรกฤษณ์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ก็มีผู้ใช้คำนี้ไว้อาลัยเช่นกัน

              แล้วคำว่า 'R.I.P.' หมายความว่าอย่างไร

              บล็อกเกอร์นาม "จอมมาร26" ในเว็บบล็อก"oknation.net" ได้ให้ความหมายไว้ว่า "R.I.P. คำนี้เป็นคำที่มีความหมายถึง "ขอให้หลับให้สบาย" "ขอให้ไปสู่สุขคติ"  ย่อมาจาก Rest In Peace มีที่มาจากรากศัพท์ของภาษา Latin "Requiescat In Pace" แปลได้ประมาณว่า "May He Rest In Peace" หรือ ขอให้ไปสู่สุขคติ

              ส่วนคำว่า Rest In Peace เชื่อกันว่ามีที่มาจากนิกายของศาสนาคริสต์บางนิกาย ที่เชื่อกันว่า หากตายไปแล้วต้องไปรอคำพิพากษาว่าจะไปอยู่ที่ไหน ดังนั้นคำว่า Rest In Peace จึงมีความหมายประมาณว่า ขอให้ไปรอคำพิพากษา ในที่ที่สงบ แต่คำคำนี้มีการใช้อย่างมากขึ้น หลังๆคำคำนี้จึงกลายเป็นคำเขียน ที่เอาไว้เขียนบนป้ายหลุมศพ ซึ่งมีความหมายว่า ขอให้ไปสู่สุขคติ

              การใช้คำนี้อย่างถูกวิธี คำว่า R.I.P. เป็นคำเขียน ไม่ใช้เป็นคำพูด และการใช้คำนี้อย่างถูกก็คือ R.I.P. (มีจุด) แต่จะใช้โดยไม่มีก็ไม่ว่ากันเพราะขึ้นอยู่กับสถานการณ์อยู่แล้ว เช่น RIP Steve Jobs (RIP ตามด้วยชื่อบุคลที่เสียชีวิต) การใช้คำนี้กับคน ต้องใช้กับคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น

              อย่างไรก็ตาม คำว่า RIP  ในส่วนของคอมพิวเตอร์ คำคำนี้หลายๆท่าน อาจเคยได้ยินมากันบ้างการ RIP File คือการนำไฟล์ต่างๆ มาทำให้มีขนาดเล็กลง หรือ สั้นลง รูปแบบคือทำให้มันน้อยลงอาจจะทั้งเวลา ขนาด หรือ สกุล เปลี่ยนไป แต่ยังคงมีรูปแบบเดิมอยู่ เช่น การ Rip video ให้เล็กลงจาก DVD เป็น VCD หรือการ Rip ไฟล์เพลง จาก Adio ให้เป็น Mp3"

              จึง "R.I.P." ขอให้หลับสบาย เป็นการไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เครื่องบินลาวตกครั้งนี้ 

.......................

(หมายเหตุ : 'R.I.P.-ขอให้หลับสบาย' คำไว้อาลัยเหยื่อบินลาวตก :  สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน)

เข้าใจ!ความหมายวันออกพรรษามุ่ง'ปวารณา'ต่อกันลดแตกแยก

             ในฐานะที่เป็นชาวพุทธคนหนึ่งก็ต้องขออนุโมทนาบุญกับหลายท่านที่ตื่นแต่เช้าตั้งจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลตั้งแต่เช้าทำอาหารถวายพระตามที่พระท่านบอกว่าทานมัยบุญเกิดจากการให้ ซึ่งได้บุญตั้งแต่ก่อนให้ขณะให้และหลังให้ ทั้งที่มีลักษณะของการถวายพระธรรมดา หรือตามพิธีกรรมที่เรียกว่าทำบุญตักบาตรเทโว โดยนึกถึงว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา

             หากมีโอกาสมากกว่านั้นก็คงไปวัดสมาทานศีลตามแต่กำลังความสามารถอาจจะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ หรือที่เรียกว่าอุโบสถศีล แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันก็คือไม่ทานข้าวเย็น คงจะได้บุญในข้อศีลมัยบุญเกิดจากการรักษาศีลกัน

             และที่มากไปกว่านั้นก็มีการฟังพระเทศน์สั่งสอน นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ ตามที่พระท่านว่าภาวนามัยบุญเกิดจากการเจริญภาวนา คงจะขัดเกลากิเลส ความเห็นแก่ตัวกู พวกพร้อง ออกไปได้บ้าง

             บุญทั้ง ๓ ประเภทนี้ท่านทั้งหลายก็คงจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วต้องขอโทษทีที่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็ขอให้คิดว่าเป็นการทวนความจำก็แล้วกัน                             

             แต่ความหมายของวันออกพรรษาที่มีมากกว่าการทำบุญดังกล่าวแล้ว คิดว่าวันออกพรรษาน่าจะมีส่วนในการช่วยชาติที่เกิดวิกฤติแยกเป็นฝ่ายอยู่ขณะนี้ จนกระทั้งคนไทยฆ่ากันเองให้ต่างชาติเขานั่งหัวเราะจะด้วยปัจจัยต่างๆได้บ้าง

             เดิมทีนั้นก็ต้องการที่จะปลีกวิเวกเหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ทรงทนเห็นพระสงฆ์และญาติโยมเมืองโกสัมพีแตกแยกเป็นฝ่าย พระองค์ทรงตักเตือนก็ไม่ฟัง พระองค์จึงเสด็จปลีกวิเวกจำพรรษาอยู่ในป่าให้ลิง ช้าง ถวายอุปัษฐากพระองค์ เพื่อให้สองฝ่ายทดทิฐิมานะ แต่นึกดูอีกทีความเห็นนี้อาจจะมีส่วนช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อยๆก็เป็นการแทนคุณข้าวก้นบาตรบ้าง

             ความหมายของวันเข้าพรรษาอีกประการหนึ่งก็คือเป็นวันมหาปวารณา ที่พระสงฆ์ท่านทดทิฐิมานะประกาศให้พระรูปอื่นสามารถตักเตือนหรือชี้แนะในความผิดหรือข้อบกพร่องที่ได้เคยกระทำในช่วงเข้าพรรษา เพื่อที่จะปรับตัวเองให้ดียิ่งขึ้น นี้คือความหมายของวันออกพรรษาอีกประการหนึ่ง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าในทางปฏิบัติแล้วจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

             แต่สำหรับญาติโยมชาวพุทธแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีมานะแยกเป็นฝ่ายถือตัวดีแล้วกล่าวโทษคนอื่น วันนี้ลองมาปฏิบัติตามความหมายหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติพิธีที่ทรงประโยชน์ให้เป็นผล ลดทิฐิมานะแล้วยอมรับคำตักเตือนจากบุคคลอื่นบ้างแล้วปรับปรุงตัวเอง 

             หันหน้าเข้าหากันยึดคำว่าชาติไทยเป็นหลัก ทิ้งคำว่าตัวเอง พรรคพวกทิ้งหรือใส่ไว้ในลิ้นชัก ถอดปลอกคอที่ตัวเองสวมอยู่ทิ้งไป

              แล้วมาระดมความคิดว่ากติกาของบ้านเมืองที่คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพราะทั้งแต่ที่จำความได้และสนใจประเด็นการเมืองจนกระทั้งเข้ามามีส่วนในการรายงานสถานการณ์การเมืองแล้วจะเห็นได้ว่า เราร่างกติกาของบ้านเมืองไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที และก็ฆ่ากันเพราะกติกาบ้านเมืองนี้ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองให้

             หากตราบใดที่เราคนไทยไม่หันหน้าเข้าหากันยอมกันบ้าง ยอมที่จะรับคำตักเตือนจากคนอื่นบ้าง แต่รู้จักคำว่าพอบ้าง รู้จักคำว่าแบ่งปันความสุขให้คนอื่น คนไทยสังคมไทยก็จะมีความสุขมากขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วชาติไทยก็มีแต่พังกับพัง ทุกคนก็มีแต่เห็นแก่ตัวมุ่งที่จะเอาตัวรอดโดยไม่คำนึงว่าคนอื่นจะเห็นอย่างไรก็ชั่ง

             หากเราชาวพุทธยกฐานะมากกว่ากระทำตามพิธีกรรมนำความหมายของคำสอนที่แท้จริงมาปฏิบัติแก้ปัญหาแล้วก็เชื่อแน่ว่าจะสามารถแก้ได้ อยู่ที่ว่าจะตั้งใจนำมาแก้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่หากยังเป็นอยู่อย่างเช่นทุกนี้ ก็แล้วแต่สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมก็ได้กัน แล้ววันออกพรรษาจะมีความหมายอะไร

................................

สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน


วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ลาวขอบใจ!ไทยช่วยกู้ภัยเครื่องบินตก

              "ທີມງານພີ່ນ້ອງລາວໄທ ນໍ້າໃຈພີ່ນ້ອງຍາມຍາກທີ່ບໍ່ມີວັນຈາງຫາຍ" นี้คือภาษาลาวที่เฟซบุ๊กนาม "ສະເໜ່ເມືອງລາວ The Glory of Laos " ได้รายงานเหตุการณ์การกู้ภัยเครื่องบินสายการบินลาว ตกกลางแม่น้ำโขง ที่บริเวณดอนเขาะ เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก นับเป็นความสูญเสียครั้งที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 49 คน โดยแปลเป็นภาษาไทยว่า "ทีมงานพี่น้องลาวไทย น้ำใจพี่น้องยามยากไม่มีวันจางหาย" ทุกครั้งที่โพสต์ภาพเหตุการณ์จะมีการระบุข้อความนี้เสมอ

              พร้อมกันนี้ได้มีคนลาวได้แสดงความเห็นเป็นการขอบคุณรวมถึงระบุถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเช่น "Surasak Chaitee" ระบุว่า บ้านพี่เมืองน้อง มีอะไรเราจะอยู่เคียงกัน สายสัมพันธ์ที่ยาวนาน ไทย~ลาว

              Yen Davong -  Thank you Thai gov.and all thai team r helping that's so kind.ขอบคุณมากๆนะคะ ,สู้ๆค่ะ, ขอเป็นกำลังใจนะคะ !

              Mon Mon Keomaneevanh - ขอบใจแทนคนลาวหลายๆ รักคนไทยที่มีน้ำใจ

              Takob Chung- ไทยลาวเป็นเพื่อนบ้านกัน รักกันมากๆนะครับอย่าให้คนเพียงหยิบมือเดียวมาทำลายความสัมพันธ์ที่ดีของสองชาติเลยครับ เช่นเดียวกับ Manit Kwanchai  - ไทย ลาว กะพี่น้องกัน แสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วยคับ

              TOon CyberHacker- แค่แม่น้ำโขงมากั้น ความสัมพันธ์บ่เคยเปลี่ยน

              Mindfulness Mac -  ขอขอบพระคุณแทน 6 ล้านคน  หัวอกของคนลาวกับพี่น้องทหารชาวไทย ขอคอบคุณเราเป็นพี่น้องกัน เป็นมนุษย์ด้วยกันช่วยกันเมื่อมีภัยขอบคุณมากๆ เป็นกำลังใจให้ สู้ๆ

              Keaw Vorachakt -  สู้ๆๆ ค่ะ พี่น้องลาวไทยขอให้พบศพ ของผู้ที่เสียชีวิตในไวๆนี้

              Pany Noy - ขอบใจกับความช่วยเหลือที่มีให้กันในยามลำบาก

              Nick Pommany - ไม่มีประเทศใดในโลกที่ติดกันและมีน้ำใจต่อกันและเหมือนกัน มีน้ำใจส่งถึงกันแบบไทย ลาว ขอขอบคุณน้ำใจจากพี่น้องชาวไทย

              Saksith Noitamyae - ไทย ลาว ช่วยเหลือกันยามลำบากมีคุณค่าทางจิตใจและมิตรภาพที่ยาวนาน รักกันตลอดไปครับ

              รวมถึงภาพที่หน่วยกู้ภัยลาวแสดงความขอบคุณต่อหน่วยภูัภัยไทยที่ต้องเดินทางกลับก่อนที่โพสต์โดยเฟซบุ๊ก"Clip Ded Clip Dung - ຄລິບເດັດ ຄລິບດັງ" พร้อมข้อความเป็นภาษาลาวว่า ภาพแห่งความประทับใจของน้ำใจทีมงานกู้ภัยจากประเทศไทยก่อนถอนตัวกลับเพราะทางการไทยจะได้ส่งมนุษย์กบเข้ามา และอีกหลายหน่วยงานขอขอบใจทีมกู้ภัยไทยหลายพวกเราจะไม่ลืมความดีและการช่วยเหลือของท่านครั้งนี้"

              พร้อมกับความเห็นตามมาในลักษณะเดียวกันเช่น Santisouk Theppanya-  ชาติลาวและไทยก่อนนั้นเคยได้สัมพันธ์ร่วมสายโรหิตเดียวกันเพียงน้ำเท่านั้นมากั้นแบ่งกลาง  หรือ อ๊อด ลั๊ลลา อย่าลู่ลู้-  ขอบใจทีมงานไทยหลายๆเด้อ สู้ๆๆๆ

              อีกทั้งมีการโพสต์เพลงสองฝั่งโขงประกอบด้วย

              นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพันความเห็นที่คนลาวแสดงความขอบในความช่วยเหลือของคนไทยในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่นายสุทธินันท์ บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้สั่งการและประสานงานไปยังมูลนิธิการกุศล 4 จังหวัดของอีสานใต้ ที่มีความพร้อมและมีผู้เชี่ยวชาญในการค้นหาใต้น้ำ และตามด้วยหน่วยงานของประเทศไทยหลายส่วนที่เดินทางได้ช่วยค้นหาศพผู้ประสบภัย

...........................................

(หมายเหตุ : ลาวขอบใจ!ไทยช่วยกู้ภัยเครื่องบินตก กระชับสายสัมพันธ์สองฝั่งโขง : สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน)


วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'สงฆ์ไทย-ลาว'หนุนรักษาศีล5สร้างสันติภาพประชาคมอาเซียน-โลก

               ตามที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีแนวคิดจัดตั้งหมู่บ้านรักษาศีล 5 ขึ้นมา โดยสมเด็จให้แนวทางว่า จะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน พระภิกษุสงฆ์ เข้าไปในแต่ละหมู่บ้าน ช่วยกันพูดช่วยกันชวนประชาชน ญาติโยม ให้รักษาศีล 5 ข้อ

               1.ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป 2.อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ 3.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม 4.มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ 5.สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และหากเมื่อใดทุกคน ทุกฝ่ายยอมรับว่าหมู่บ้านนี้ช่วยกันรักษาศีล 5 ได้แล้ว จะได้รับการประกาศและขึ้นป้ายหน้าหมู่บ้านว่า หมู่บ้านรักษาศีล 5 แต่ถ้าหากยังไม่ประสบความสำเร็จก็ยังไม่ขึ้นป้ายประกาศ
   
               “แนวคิดหมู่บ้านรักษาศีล 5 นี้จะเป็นไปได้หรือไม่ จะทำได้หรือไม่ได้ก็ยังไม่รู้นะ เพียงแต่เป็นความดำริของอาตมาเอง และอยากจะดำเนินการด้วยตัวเอง ตอนนี้คงไม่เสนอให้มหาเถรสมาคมรับทราบ แต่จะพยายามหาหมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบก่อนว่าสามารถปฏิบัติได้จริง ก่อนหน้านี้อาตมาได้เคยไปพูดแนวคิดนี้ที่ จ.นครสวรรค์ให้กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฟัง ทางนายอำเภอหลายคนก็ตอบรับว่าจะลองนำแนวคิดนี้ไปทำดู หากมีหมู่บ้านใดทำได้จริง ถึงจะเสนอให้มหาเถรสมาคมรับทราบต่อไป” สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าว

               ขณะที่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า แนวคิดหมู่บ้านรักษาศีล 5 ถือเป็นการต่อยอดจากโครงการอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการนำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนาอย่างน้อยคือ ศีล 5 ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ครอบครัว ช่วยกันดูแลปกป้องหมู่บ้านของตัวเอง แก้ปัญหาสังคมเรื่องยาเสพติด อบายมุข อาชญากรรมลดลง เกิดความมั่นคงชายแดนมากขึ้น โดย พศ.จะนำแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ เพื่อให้คณะสงฆ์ เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค รับทราบและถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน

                จากแนวความคิดของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวความคิดของหลวงปู่พระมหาผ่อง สะมะเลิก อายุ 98 ปี  ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ สปป.ลาว หรือสังฆราชลาว เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทร์ ได้ระบุผ่านสื่อมวลชนไทยว่า "เส้นทางสันติภาพก็คือ“ศีล 5” มนุษย์เป็นสัตว์เมืองไม่ใช่สัตว์ป่า ธรรมชาติสัตว์เมืองใครจะอยู่โดดเดี่ยวคนเดียว ต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นคณะ แต่มนุษย์ก็มีความคิดความเห็นไม่ตรงกัน จำเป็นจะต้องมีกฎระเบียบเพื่อให้มวลมนุษย์ปฏิบัติ"

               หลวงปู่พระมหาผ่องได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมงานฉลองเจริญพระชันษาครบ 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และได้เดินทางไปยังวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เพื่อเป็นประธานในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศและอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย

               หลวงปู่พระมหาผ่องนั้นเป็นคนไทยเกิดอำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อายุ 20 ปี ข้ามโขงไปบวชที่ฝั่งลาว แล้วก็ได้มาจำพรรษาศึกษาบาลีอยู่วัดชนะสงคราม กรุงเทพฯ นาน 16 ปี สอบได้ประโยค 6 พร้อมกันนี้หลวงปู่ยังได้เป็นลูกเลี้ยงของ นายโฮจิมินห์  ผู้นำคอมมิวนิสต์ ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้นายโฮจิมินห์นั้นเคยมาบวชเป็นศิษย์หลวงพ่อบ๋าวเอิ๋งอยู่วัดญวนสะพานขาว กรุงเทพฯ 1 ปีต่อมาก็เปลี่ยนไปบวชเป็นพระไทยนิกายธรรมยุตที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่จะเดินทางไปโซเวียตรัสเซีย ศึกษาวิชาคอมมิวนิสต์จากเลนิน กลับเวียดนามกอบกู้เอกราชจากประเทศฝรั่งเศส

               จะเห็นได้ว่าประเทศในอาเซียนทั้งพม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ต่างก็มีมีผู้นำของประเทศในอดีตและปัจจุบันที่มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนา หากมีการนำหลักธรรมเบื้องต้นเพียงศีล 5 มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจังแล้ว ก็เชื่อแน่ว่าจะสร้างสันติภาพขัดจัดความขัดแข้งในมีภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และจะทำให้ประชาคมอาเซียนแข็งแกร่งอย่างแน่นอน แต่ส่วนใหญ่เข้าตำรามือถือสากปากถือศีลเสียมากกว่า

.........................
สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)รายงาน






วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'ภารกิจพระ'ซับน้ำตาโยม ประสบภัยน้ำท่วมฝั่งตะวันออก

              ทันทีที่พายุเข้าทางตะวันออกของประเทศไทยส่งผลให้น้ำท่วมเต็มพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรามาถึงจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครอยู่ขณะนี้

              ได้เห็นภาพทหารภายใต้การสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้จัดส่งกำลังพลจากกองร้อยเฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชน จำนวน 4,800 นาย ยานพาหนะ 219 คัน เรือท้องแบน 122 ลำ เข้าช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทหารที่ปฎิบัติภารกิจครั้งนี้ภายใต้การดำเนินการของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)

              นอกจากได้เห็นภาพทหารออกช่วยเหลือประชาชนแล้ว ยังได้เห็นภาพของพระที่ได้เปิดรับบริจาคสิ่งของจากประชาชนทั่วไป แล้วบริหารจัดการนำไปมอบให้กับญาติโยมที่ประสบภัย เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ได้มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านครอบครัวข่าว 3 เพื่อส่งต่อให้กับผู้เดือดร้อน โดยมีนายอัชฌา สุวรรณปากแพรก รองประธานมูลนิธิครอบครัวข่าว 3 รับมอบ

              ทั้งนี้นายอัชฌากล่าวว่า ถุงยังชีพจำนวน 2,000 ชุดทางวัดจะนำไปมอบตามวัดและสำนักสงฆ์ ในพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถูกน้ำท่วมกว่า 957 แห่ง ทำให้พระสงฆ์และสามเณรได้รับความเดือนร้อนเกือบหมื่นรูป ส่วนถุงยังชีพอีก 500 ชุดที่มอบผ่านครอบครัวข่าว 3 จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เดือดร้อน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ยังได้ให้พรเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบภัยในครั้งนี้ด้วย

              ขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ภายใต้การนำของพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเปิดรับบริจาคสิ่งของจากญาติโยมทั่วไป ทั้งนี้สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายธรรมวิจัย 035-248000 ต่อ 8138 หรือวัดมหาธาตุ 02-2222835 หรือเว็บไซต์ http://www.mcu.ac.th

              และวันที่ 5 ตุลาคม ได้มอบให้ฝ่ายธรรมวิจัยโดยมีพระมหาศุภชัย ปิยธมฺมชโยเป็นหัวหน้า ส่วนธรรมนิเทศ สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม นำโดยพระมหาบุญชู เขมจารี รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายธรรมวิจัย เดินทางไปบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ถวายพระครูบวรสังฆการ (หลวงพ่อเงิน) เจ้าอาวาสวัดแก้วสามัคคี อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อถวายพระสงฆ์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับวัดแก้วสามัคคีได้ส่งพระภิกษุในวัดมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยาต่ออย่างเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลืองานมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ

              นอกจากพระไทยที่ได้ปฎิบัติภารกิจดังกล่าวแล้ว ยังได้เห็นภาพพระลาวและพระกัมพูชาลักษณ์เช่นนี้เหมือนกัน เพราะว่าทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ประสบภัยหนักไม่ต่างจากไทย

              นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของพระที่ให้บริการสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มจร ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เช่นกัน



.........................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)





วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เสียงครวญ!พระธรรมทูตไทยในต่างแดน คล้อยหลัง'ปู'ปากหวานพร้อมหนุนงาน

              เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นความสำคัญงานของพระธรรมทูตที่ระบุว่า
              "พระธรรมทูตสายต่างประเทศถือเป็นภารกิจสำคัญและมีเกียรติอย่างสูง ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นอย่างดี เป็นผู้ซึ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลาจารวัตรที่งดงามเพื่อมีความพร้อมทุกด้านในการถ่ายทอดหลักธรรม และหลักปฏิบัติให้พุทธศาสนิกชนได้รับรู้และเข้าใจในคำสอนที่ถูกต้อง สามารถน้อมนำหลักของพุทธธรรมไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินชีวิต

              รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาถวายสนองภารกิจของคณะสงฆ์ในส่วนของพระธรรมทูตสายต่างประเทศ พร้อมรับทราบปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขเพื่อสร้างความพร้อมให้กับพระธรรมทูตที่จะออกไปประกาศเผยแพร่หลักธรรมในต่างประเทศ และเชื่อมั่นว่าพระธรรมทูตทุกรูปจะสามารถปฏิบัติศาสนกิจในฐานะทูตแห่งธรรมนำหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้บรรลุตามพุทธปณิธาน"

              ในโอกาสที่เดินทางเป็นประธานในพิธีประชุมเสวนาพระธรรมทูตไทย 4 ทวีปประมาณ 200 รูป  เนื่องในงานฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้เป็นประธานในพิธีถวายสังฆทาน พิธีตักบาตรพระสงฆ์ 200 รูป พิธีเปิดนิทรรศการพระชันษา 100 ปี สดุดีพระสังฆบิดร

              หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระธรรมทูตไทย 4 ทวีปได้เดินทางไปร่วมประชุมเสวนาต่อที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อ.ศาลายา จ.นครปฐม จัดขึ้นเพื่อเทอดพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน โดยได้ฟังปาฐกถาพิเศษเทิดพระเกียรติเรื่อง "ศตวัสสาสังฆราชา:กึ่งศตวรรษพระธรรมทูตไทย" จากพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้ชี้่แนะคุณสมบ้ติของพระธรรมทูตที่จะเดินทางไปเผยแพร่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาในต่างแดนจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

              ต่อจากนั้นเป็นการเสวนาวิชาการเรื่อง "ยุทธศาสตร์การพัฒนางานพระธรรมทูตในต่างประเทศ:ในมิติการบริหาร การสร้างเครือข่าย พัฒนา ส่งเสริมและอุปถัมภ์"  โดยผู้แทนจากพระธรรทูต 4 ทวีป ซึ่งได้สะท้อนปัญหาที่ผ่านมา อย่างเช่น พระธรรมทูตเองยังอ่อนด้านภาษาอังกฤษมาก ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นๆไม่ต้องพูดถึง ดังนั้น สถานการศึกษาสงฆ์ควรจะส่งเสริมอย่างจริงจังอาจจะเรียบควบคู่กับภาษาบาลีก็เป็นได้

              ด้านการบริหารจัดการยังไม่เป็นเอกภาพเท่าที่ควรต่างคนต่างทำ โดยไม่ได้เดินทางไปในนามของมหาเถรสมาคมโดยตรงจึงทำให้มีปัญหาในการทำงานไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากประเทศต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ซึ่งจะมีการมอบหมายให้ไปทำงานอย่างชัดเจน ส่วนการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐนั้นไม่ต้องพูดถึงเช่นกัน  ร่วมถึงวีซ่าจะมีการออกให้ในฐานะนักท่องเที่ยงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ บ้างครั้งวีซ่าขาดเป็นบุคคลเถื่อนก็มี  บางรูปไปทำหน้าที่กลับมาประเทศไทยไม่มีวัดอยู่ก็มี

              อีกทั้งควรมีการให้รางวัลกับพระธรรมทูตโดยควรจะได้รับการพิจารณาเลื่อนสมณศักดิ์ตามผลงาน เพราะนี้คือขวัญกำลังใจแม้นว่าบางรูปอาจไม่ต้องการเพราะถือว่าเป็นการทำงานเพื่อพระศาสนาก็เพียงพอแล้วก็ตามที ควรจะมีการอนุเคราะห์กันยามเจ็บป่วยยากจนและยามมรณภาพ ส่วนยยุทธศาสตร์นั้นควรจะมีเป้าหมายที่เยาวชนเป็นสำคัญ

              ขณะเดียวกันพระครูปริยัติโพธิวิเทศ (ดร.คมสรณ์ คุตตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุสินารา พระธรรมทูตสายประเทศอินเดียซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ได้แสดงความเห็นทางบล็อกเกอร์ท่านคมสรณ์โอเคเนชั่นความว่า "พร้อมกันนี้นับเป็นครั้งแรกในระยะเวลาห้าสิบปี กึ่งศตวรรษ ที่คณะสงฆ์ไทย ได้ส่งพระธรรทูตสายต่างประเทศ ออกไปประกาศพระศาสนาเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 คราวฉลองพุทธชยันตี ที่ประเทศอินเดีย โดยรัฐบาลอินเดียได้เชิญชวนประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลกไปร่วมสร้างวัด ณ บริเวณโดยรอบโพธิมณฑล พุทธคยา แดนตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยรัฐบาลไทยได้เริ่มสร้างวัดแห่งแรกในต่างประเทศขึ้นคือวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ได้ส่งพระธรรมทูตรุ่นแรกไปประจำในต่างแดนคือที่ประเทศอินเดียตั้งแต่ปีพ.ศ.2500  จากวันนี้ถึงวันนี้ พระสงฆ์ไทยได้นำพระพุทธศาสนาออกไปสร้างวัดทั่วโลกจำนวน 450 วัด มีพระธรรมทูตสายต่างประเทศจำนวน 1390  รูปทั่วโลก และนับวันยิ่งจะมีการขยายงานสายต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ในทุก ๆ ประเทศที่มีพระพุทธศาสนาไปจากประเทศไทย

              การมาประชุมเสวนาพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศจำนวนกว่าสองร้อยรูปในครั้งนี้นั้น จึงถือเป็นโอกาสที่คณะพระธรรมทูตสายต่างประเทศจักได้มาทบทวนบทบาท การประกาศธรรม  การทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาในต่างแดน พร้อมรวบรวมปัญหา อุปสรรคในการทำงาน มาเสนอต่อภครัฐเพื่อเป็นแนวทางสนับสนุน ส่งเสริม และการอุปถัมภ์ให้การทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ให้ภาครัฐมีกาบทบาทต่องานพระธรรมทูตสายต่างประเทศมากขึ้น เพราะที่ผ่าน ๆ มานั้นรัฐแทบไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย และเพื่อให้สมกับการทีีต่างชาติได้ยอมรับยกย่องประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลกอย่างแท้จริง"

              พร้อมกันนี้พระมหานรินทร์ นรินฺโท พระธรรมทูตวัดไทยในรัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความเห็นผ่านอะลิตเติ้ลบุ๊ดด่ะดอทคอม ต่อคำพูดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า "พูดน่ะง่าย แต่ทำนะยาก แค่ตั้ง "หน่วยงานสนับสนุนกิจการพระธรรมทูตสายต่างประเทศ" กองเล็กๆ ไว้ที่พุทธมณฑล ก็ยังไม่มีปัญญาจะหาบุคคลากรและงบประมาณสนับสนุน ต้องให้สำนักพุทธฯ แบ่งคน-เจียดเงิน มาจัดการเอง เหมือนเด็กเล่นหม้อข้าวหม้อแกง พูดแล้วก็จะหาว่าไม่สนับสนุนคนกันเอง"

              นี้เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของพระธรรมทูตและวันที่ 2 ต.ค.นี้จะมีการประชุมกลุ่มย่อยแล้วจะมีการสรุปเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ให้การสนับสนุนส่งเสริมตามที่ระบุ ส่วนจะเป็นจริงอย่างไรนั้นก็คงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นคงขึ้นกับพุทธสุภาษิตที่ว่า "มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายา ว อนปายินี" จะเป็นไปได้หรือไม่อยู่ที่ใจ


................................


สำราญ สมพงษ์(FB-samran sompong)



"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...