วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"รองอธิการบดี มจร" หนุนคณาจารย์เรียนภาษาอังกฤษ 1 ปี สามารถพัฒนาปัญญา ช่วยงานคณะสงฆ์มากยิ่งขึ้น



"รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร" กระตุ้นคณาจารย์ปรับตัวยุคหลังโควิด หนุนเรียนภาษาอังกฤษ 1 ปี เป็นฐานสร้างพุทธนวัตกรรมพัฒนาปัญญา (ประดิษฐ์)  สามารถช่วยงานคณะสงฆ์มากขึ้น หวังยกระดับพระพุทธศาสนาบริการสังคมมากยิ่งขึ้น 

วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. อาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เลขานุการศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มจร เปิดเผยว่า ในฐานะคณาจารย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้เข้าร่วมพิธีปฐมนิเทศคณาจารย์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในรูปแบบของ Onsite และรูปแบบของ Online ผ่านโปรแกรมระบบ Zoom โดยพระเทพปวรเมธี, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและรักษาการแทนอธิการบดี มจร เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการจัดการศึกษามหาจุฬาหลังโควิด ๑๙” สาระสำคัญว่า ที่ผ่ามามหาจุฬาจัดการเรียนการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในสถานการณ์โควิด แต่หลังโควิดจะต้องปรับมาใช้รูปแบบ Onsite โดยสามปีที่ผ่านมาทำให้เราคุ้นเคยกับรูปแบบออนไลน์แต่ทำให้ทำงานหนักกว่าเดิมเพราะไม่มีวันหยุดซึ่งออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายทุกที่ทุกเวลา 

นโยบายการจัดการศึกษามหาจุฬาหลังโควิด ๑๙ อาจารย์จะต้องเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เพื่อยอมรับฟังคนอื่นสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตร เปิดหน้าต่างความรู้ เปิดประตูความคิด     เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะต้องปรับตัวให้ทันด้วยการรู้เท่าทันการเปลี่ยนผ่านหลักของพระไตรลักษณ์ “รู้เท่าเอาไว้ป้องกัน รู้ทันเอาไว้แก้ไข” บริบทขององค์กรมีการเปลี่ยนแปลงแบบหักศอกแต่เราต้องไม่ตามกระแสแต่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงแต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากภายใน โดยจะต้องถอดบทเรียนในอดีตเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้ปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น แต่ต้องระวังข้อมูลข่าวสารบางอย่างอาจจะไม่เป็นจริง จึงต้องมีสติในการรับสารต่างๆ 

โดยสถานการณ์ของโควิดทำให้เรามีความห่างกัน ทำให้เกิดสังคมที่ขาดการสัมผัสหรือขาดความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในปัจจุบันจึงมีการเปลี่ยนผ่านหลายมิติมีปัญญาประดิษฐ์ จึงกลับมาทบทวนว่าแผนพัฒนาจะต้องมีการยืดหยุ่นเพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมองภาพกว้างคือแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ นำไปสู่แผนการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยรวมถึงแผนพัฒนาแต่ละหน่วยงาน มีการกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์เน้น Soft Skills มากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาจะต้องพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพสังคม ฝึกให้เป็นผู้มีการสื่อสารอย่างเข้าใจ เคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม สถาบันอุดมศึกษาจะต้องแข่งขันเพื่อยกระดับให้มีคุณภาพ ซึ่งแนวโน้มการจัดการศึกษาให้ยุควิถีใหม่จะเห็นว่าจำนวนมหาวิทยาลัยมากขึ้น มีการแย่งลูกค้ากัน ขึ้นอยู่ว่าหลักสูตรนั้นจัดการเรียนการสอนที่สามารถตอบโจทย์ บางหลักสูตรคนเรียนน้อยลงจะต้องปิดลง จึงต้องลดบุคลากรลงเพราะจำนวนงบประมาณที่รัฐสนับสนุนน้อยลง ภายใต้วิกฤตต่างๆ เช่น โควิด มหาจุฬาจึงต้องเพิ่มคณาจารย์อัตราจ้างมากขึ้นเพราะอาจารย์ประจำไม่เพียงพอ หลักสูตรบัณฑิตจะต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่นเพื่อสามารถพึ่งพาตนเองได้    

ความท้าทายในการจัดการศึกษาคืออัตราการเกิดน้อยลง หลักสูตรเกินความต้องการ แต่ผู้สูงอายุมากขึ้น จึงต้องจัดหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แต่มหาจุฬามีต้นทุนทางสังคมที่ดี ทิศทางในการจัดการศึกษาจะต้องมีรูปแบบที่หลากหลาย มีมาตรฐานกำกับมีความเป็นสากล ให้ผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้นตามความต้องการ เน้นยุทธศาสตร์เชิงรุกตอบโจทย์สังคม จึงมองถึงมาตรฐานการศึกษาโดยมองด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการเงินบัญชี และด้านการบริหาร แต่กายภาพน่าจะเพียงพอแล้วแต่ควรเน้นวิชาการให้มากขึ้น มุ่งการเรียนการสอน การวิจัยการสร้างนวัตกรรม จึงต้องปลูกศรัทธาพัฒนาปัญญา โดยมหาจุฬาจะต้องเป็นฐานของการพัฒนาปัญญาเป็นฐานช่วยคณะสงฆ์ให้มากขึ้น โดยยกระดับไปสู่พระพุทธศาสนาเพื่อสังคมมากขึ้น แต่ต้องมีคันถธุระและวิปัสสนาธุระเป็นฐาน

โดยกระทรวง อว. มีจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ซึ่ง มจร อยู่ในกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา ซึ่งวิสัยทัศน์ของ มจร คือมหาวิทยาลัยจัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ และสร้างพุทธนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม ซึ่งสอดรับกับพันธกิจ ๕ ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต  การวิจัยพัฒนา  ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการสังคม ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และพัฒนาระบบการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล แต่สิ่งที่เน้นย้ำมากคือการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพตามปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ของสถาปนามหาจุฬาในการเรียนพระพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ หลักสูตรในแผน ๑๓ จะต้องคุยกันอย่างจริงจังว่าสามารถตอบโจทย์สังคมหรือไม่อย่างไร ปริมาณหลักสูตรมากเกินไปหรือไม่ ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของมหาจุฬาหรือไม่ หลักระดับบัณฑิตศึกษาจึงกลับมาทบทวนให้ชัดเจน อะไรมากเกินไปขอให้ลดแต่เพิ่มหลักสูตรระยะสั้นให้มากขึ้น คณาจารย์จะต้องได้รับการพัฒนาให้เชี่ยวชาญจริงๆ เลือกความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ หรือ สนับสนุนให้คณาจารย์เรียนภาษา ๑ ปี ที่อังกฤษเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดมีความเชี่ยวชาญ ผลงานของคณาจารย์มีความเป็นสากลนำไปสู่สาธารณปัญญา มีการวัดผลประเมินอย่างมีมาตรฐาน นำไปสู่ผู้ใช้บัณฑิตมีความพอใจหรือไม่อย่างไร เช่น คณะสงฆ์ จึงต้องสร้างพุทธนวัตกรรมผ่านศาสนาบุคคล ศาสนธรรม ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และศาสนพิธี โดยคำนึงนวลักษณ์ของบัณฑิต มจร จึงมีการบูรณาการตรีลักษณ์ของบัณฑิต มจร ประกอบด้วย ความรู้ดี มีคุณธรรม นำสังคมสันติสุข 

การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ จะต้องเผชิญกับความเร็วของการเปลี่ยนแปลง การบริหารการศึกษาในยุคเปลี่ยนผ่านจะต้องรับใช้สังคมไทยมากขึ้น  มีการทำวิจัยเพื่อการพัฒนาการศึกษามากขึ้น จัดกิจกรรมที่ขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น จึงสรุปว่ามหาจุฬาหลังโควิดจะต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศในเรียนรู้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันขอให้ทำอย่างเต็มที่อย่างสร้างสรรค์ในเชิงบวก สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา มีระบบคุณธรรมมุ่งความโปร่งใสจึงขออนุโมทนาขอบคุณรองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไปในการนำเสนอให้กรรมการทำให้ มจร ยกระดับความโปร่งใสอย่างมีธรรมาภิบาล  สุดท้ายจึงขอให้เรายกระดับรับผิดชอบต่อสังคม คือ ให้มากกว่าเอาจากสังคม คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน  เคารพและร่วมมือกับภาคส่วนอื่น และเป้าหมายสุดท้ายคือความเจริญของพระพุทธศาสนา พื้นที่ชุมชน และ   ประเทศชาติต่อไป     


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น