วันนี้ (11 ก.ค. 66) เวลา 09.30 น. ณ แปลงโคก หนอง นา ชมนคร หมู่ที่ 5 บ้านสระแก้ว ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงาน โคก หนอง นา การขยายผลโดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ โดยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเอกชัย สุนทร นายอำเภอท่าศาลา หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายประยุทธ์ รักธรรม เจ้าของแปลงโคก หนอง นา พี่น้องประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ผลิตภัณฑ์คนพิการ ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดนครศรีธรรมราช นำเสนอกระเป๋าสานจากวัสดุทางธรรมชาติ กลุ่มเครื่องแกงบ้านนากุน นำเสนอการน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" วิสาหกิจชุมชนโกโก้พรีเมี่ยมอำเภอท่าศาลา วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกล้วยกรอบทอง บ้านศาลาสามหลัง ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพแม่บ้านหัวคู เช่น ขนมหม้อแกง มังคุดกวน สวนโคก หนอง นา น้ำเคยเชียร และเยี่ยมชมสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านชมช็อป แหล่งรวมสินค้าผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มาจัดจำหน่ายในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตของประชาชน
@siampongnews [ส่งฟรี] ข้าวหอมมะลิตรา #หงษ์ทอง ♬ One Side - Iyanya
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา ของนายประยุทธ์ รักธรรม ผู้เป็นนักธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนเมื่อปี พ.ศ. 2565 ได้มีแนวคิดที่จะดำเนินการตามแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้กลับมาทำแปลงโคก หนอง นา ที่บ้านสระแก้ว ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา โดยใช้งบประมาณส่วนตัว เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่โคก หนอง นา สมบูรณ์แบบ เช่น มีการขุดหนองน้ำรูปหัวใจคู่ 2 ดวง เพื่อทำนา เลี้ยงปลา และเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตรทำปุ๋ยหมักจากวัชพืช มีการปลูกผักผลไม้ ข้าวโพด ในโคก หนอง นา โดยจะนำผลผลิตมาปรุงอาหารของร้านอาหารชมนคร หรือนำมาปั่นเป็นเครื่องดื่ม ทำผัก สลัดผัก แกงเลียง นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่รักษาสิ่งแวดล้อม เพราะจะมีการคัดแยกขยะ ขยะเปียก เศษอาหาร ทิ้งลงในถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการใช้ถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก ใช้กล่องชานอ้อยแทนกล่องโฟม อีกครั้งยังเป็นภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประชาชนในชุมชน ด้วยการกำหนดนโยบายรับพนักงานในร้านที่เป็นชาวตำบลสระแก้ว เพื่อเป็นการสร้างงานในชุมชน โดยในอนาคตวางแผนทำประกันสังคมเพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน สร้างศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน และขยายผลสินค้าภายในอำเภอให้เป็นจุดวางสินค้าเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มช่องทางการตลาด จำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่บ้านสระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันนี้ ทำให้ได้เห็นจุดเด่นของพื้นที่ คือ ทุกภาคส่วนมีความรักความสามัคคี น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน และเรื่องจิตอาสาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนเป็นวิถีชีวิตประจำวันอย่างได้ผลดีมาก จะเห็นได้เลยว่า ทุกคนมาร่วมกันทำด้วยความเบิกบานใจ อันแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ใจ ความมีน้ำใจไมตรี ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
"แม้ว่าพื้นที่แห่งนี้ ได้ถูกใช้สอยเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจ ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง ทำร้านอาหาร และทำรีสอร์ท แต่เจ้าของ คือ คุณประยุทธ์ รักธรรม และภรรยา มีความประทับใจในแนวทางวิถีชีวิตภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ หรือ "อารยะเกษตร" อันเป็นศัพท์บัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีการจัดพื้นที่ครบทุกส่วน มีโคก มีหนอง มีนา มีพืชไร่ พืชสวน ผสมผสานทำให้มีความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์ และยังสามารถเติมเสริมในเรื่องของที่พักผ่อน และที่พักอาศัยในพื้นที่ให้มีความสวยงาม ร่มรื่น ใครมาเห็นก็ประทับใจ นอกจากนี้ยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าของแปลงตลอดช่วงเวลาของการเยี่ยมชม เช่น ในเรื่องของพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ว่าง ที่ปลูกหญ้า ก็สามารถปรับเปลี่ยนมาปลูกผักชี ปลูกต้นคุณนายตื่นสาย ปลูกกุหลาบดิน หรือพืชสมุนไพรอื่น ๆ ทำเป็นพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและสมุนไพร ก็สามารถเพิ่มความสวยงามให้พื้นที่ และสำหรับบริเวณคลองไส้ไก่ หรือริมน้ำ ก็มีการเลี้ยงปลา ปลูกบัว ทำนาข้าวเต็มพื้นที่อย่างครบวงจรอยู่แล้ว แต่อาจจะใช้ที่ว่างรอบ ๆ คลองไส้ไก่ปลูกต้นดาหลาเพิ่มเติม ซึ่งมีความสวยงามและสามารถนำมากินได้ด้วย เพราะดาหลาก็ใช้ผสมในข้าวยำที่เป็นอาหารเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้ อีกทั้งต้มจิ้มน้ำพริก ทำแกงส้ม แกงเผ็ด แกงจืด แกงกะทิ ใส่ในไข่เจียวก็อร่อย" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและนายอำเภอทั้ง 23 อำเภอ ได้เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายของจังหวัด ช่วยกันขยายผลทำให้สิ่งที่คนไทยเราโชคดีที่ได้รับแนวพระราโชบายในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เฉกเช่น พื้นที่โคก หนอง นา ชมนครแห่งนี้ ให้กระจายไปเต็มพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งการน้อมนำพระราชดำริเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร "โครงการบ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง" มาเสริมให้เต็มทุกครัวเรือน ให้เราได้เห็นภาพผักสวนครัวที่ชัดเจน ที่อุดมสมบูรณ์มากขึ้น รวมไปถึงการนำพื้นที่สาธารณะมาใช้สร้างความมั่นคงด้านอาหารตามพระราชดำริ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" และการรณรงค์ส่งเสริมให้คนรักโลกใบเดียวนี้ ดังที่พื้นที่แห่งนี้ได้พยายามขับเคลื่อนเป็นผู้นำการใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติมาทำเป็นสิ่งที่ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงมี "ถังขยะเปียกลดโลกร้อน" โดยเชื่อว่าภายใน 2 เดือนนี้ ท่านอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้พี่น้องประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ก่อนจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ภายใต้หลักการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันจะยังผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
หลังจากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจครัวเรือนต้นแบบที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนายสุพจน์ ศรีสุชาติ ซึ่งมีการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ปลูกผักกางมุ้ง เน้นการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี เพื่อปลูกไว้บริโภค มีแบ่งปัน และเหลือก็จำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ทั้งมีมีการเลี้ยงไก่ไว้บริโภคในครัวเรือน และเปิดบ้านเป็นจุดเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น