วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

10ชม.ฝ่าวารีรับมอบเรือ-ถุงยังชีพจากวธ.



เมื่อเวลาประมาณ 9.00น.ของวันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ออกจากหมู่บ้านวิรากรในซอยกันตนา ต.-อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ที่น้ำท่วมสูงประมาณ 1.50 เมตร เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ไปรับเรือและถุงยังชีพจากกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ผ่านประสานจากเพื่อนๆที่เป็นห่วงเกรงว่าหากเกิดเหตุร้ายขึ้นกับตัวข้าพเจ้าและชาวบ้านที่ยังอาศรัยอยู่ในหมู่บานจะแก้สถานการณ์ไม่ทัน ไปยังนายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารมว.วัฒนธรรม ที่มอบหมายให้อธิบดีกรมการศาสนาดำเนินการอีกทอดหนึ่ง

อันดับแรกได้นั่งรถเก็บขยะของทางเทศบาลตำบลบางใหญ่ ซึ่งก็มีประชาชนสองข้างทางอาศรัยไปด้วยเป็นจำนวนมาก ได้เก็บภาพบรรยากาศน้ำท่วมตามหมู่บ้านต่างๆตลอดเส้นทางไปจนถึงปากซอยก็พบว่ามีประชาชนรอที่จะเดินทางเข้าไปดูบ้านในซอยเป็นจำนวนมากแสดงว่ารถหรือเรือบริการไม่ค่อยมีหรือมีก็ช้า

ขณะเดียวกันตลอดเส้นทางก็ได้เห็นรถจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปมอบสิ่งของให้กับประชาชนในซอยเป็นจำนวนมาก เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่มากเช่นนี้ ก็ได้แต่นึกในใจว่าที่มากเป็นพิเศษหรือเป็นเพราะมีข่าวชาวจังหวัดนนทบุรีจะมีการเคลื่อนไหวให้เปิดประตูระบายน้ำคลองมหาสวัสดิ์หรืออย่างไร และเย็นวันนั้นข่าวสามมติก็มีเสนอสกรู๊ปเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนเมืองนนท์แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงท้ายๆแล้ว แต่พอวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย.จึงได้เสนอเกี่ยวกับเมืองนนท์เต็มอัตราศึก

เดินทางไปถึงกระทรวงวัฒนธรรมก็เวลาประมาณ 11.30น.ก็ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ที่อธิบดีกรมการศาสนาที่ได้รับมอบหมายไว้ และทำเรื่องรับมอบเป็นที่เรียบร้อย เป็นเรือ 1 ลำ และถุงยังชีพประมาณ 15 ถุง ที่นี้ก็ติดปัญหาว่าจะนำสิ่งของนี้กลับอย่างไร ก็นึกไว้เป็น 2 ทางก็คือเหมารถกระบะไปถึงที่คลองบางกอกน้อยใกล้กับสายใต้เก่าแล้วก็พายเรือไปตามคลองบากกอกน้อยสุดที่เทศบาลบางม่วงและเข้าคลองบางใหญ่เข้าหมู่บ้าน หรือไม่ก็ไปส่งที่สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์แล้วก็พายเรือต่อ

ก็ได้เดินหารถกระบะบริเวณใกล้เคียงได้ถามอยู่หลายคันเขาไม่รับจ้าง พอดีเห็นรถตุ๊กตุ๊กจึงได้เจรจาก็ตกลงราคาอยู่ที่ 200 บาทไปส่งที่สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งจากเดิมก็ประมาณราคาไว้คือ 300 บาท เมื่อเขาเรียก 200 บาทก็โอเคทันทีโดยยกเรือไว้บนหลังคารถแล้วไว้เชือกผูก ส่วนถุงยังชีพก็ใส่ในตัวรถก็นั่งได้พอดี เมื่อไปถึงสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ได้เพิ่มค่ารถให้เขา 240 บาท เพราะคิดว่าที่เขาเรียก 200 บาทถูกมากแล้วถ้าเป็นรถกระบะอย่างน้อยๆก็ 500 บาทแล้ว

เวลาประมาณ 13.00 น. เป็นเวลาที่เดินทางถึงสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ระดับน้ำก็ยังลึกประมาณ 70 ซม.จึงได้พายเรือออกจากคอสะพาน ซึ่งก็ได้พบปัญหาก็คือว่ามีคลื่นจากรถที่วิ่งมากไม่สามารถที่จะพายไปได้ง่ายๆ จึงได้ติดสินใจพายเรือลัดไปทางซอยมหาสวัสดิ์เพราะหากพายไปทางคลองมหาสวัสดิ์ก็คงมีคลื่นจากเรือหางยาวเช่นกัน ก็ได้พายๆไปเรื่อยๆทวนน้ำที่ไหลแรงอยู่พอสมควรจึงต้องออกแรงพายกว่าจะพายไปได้ 100 เมตรก็กินเวลามากอยู่พอสมควร ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะเป็นวันหยุดจะกินเวลาเท่าไรคงไม่มีปัญหา เหนื่อยก็หยุดแวะซื้อของกิน ถ่ายภาพบรรยากาศความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้พูดคุยกับชาวบ้านเหมือนคนเคยรู้จักกัน

เมื่อพายไปได้ 2 ชั่วโมงได้ผ่านพื้นที่เทศบาลตำบลปายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ด้านหลังโลตัสบางใหญ่ ได้ถามชาวบ้านว่าทางที่ทะลุไปทางคลองประปามหาสวัสดิ์ไปทางไหนเพราะว่าผ่านซอยกันตนา เมื่อทราบทางก็พายไปเรื่อยๆจนถึงซอยสำเร็จ8(อัจฉิยะประสิทธิ์) และพายไปอีกประมาณเกือบ 30 นาทีก็ถึงคลองประปามหาสวัสดิ์เวลาก็ผ่านไปจนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. แล้วก็พายไปตามถนนคลองประปาผ่านซอยวัดสมเกี้ยงและวัดพระเงินก็กินเวลาเกือบจะหกโมงเย็นแล้ว บางช่วงก็ต้องพายเข้าไปในคลองประปาก็เสียวๆจระเข้อยู่เหมือนกันแต่ก็ผ่านไปด้วยดี

จากซอยวัดพระเงินมาถึงทางเข้าวัดโตนดตะวันก็ตกดินพอดี แต่สิ่งที่น่าทึ่งที่ได้พบก็คือศาลพระพิฆเนศที่กำลังสร้าง จะผ่านไปเฉื่อยๆ โดยไม่เข้าไปหาข้อมูลก็จะเสียโอกาส จึงได้เข้าไปสอบถาม ปรากฏว่าช่างที่ทำงานก่อสร้างอยู่เป็นคนเขมรจากนครวัดประเทศกัมพูชา และผู้รับเหมาก็เป็นคนรู้จักเคยอยู่ในหมู่บ้านวิรากรที่เป็นหมู่ที่ตัวเองอาศรัยอยู่ ก็เป็นเรื่องที่บังเอิญดีแท้ หลังจากสอบถามข้อมูลจากช่างเสร็จก็ได้ให้สินน้ำใจไปประมาณ 260 บาท

หลังจากนั้นก็พายต่ออีกไม่นานนัก็ถึงซอยกันตนาที่คลองประปาตัดผ่านและพายอีก 1 กิโลเมตรก็ถึงหมู่บ้านก็เป็นเวลาประมาณ 19.00น. ก็รวมเวลาที่เดินทางไปรับเรือ 1 ลำเพื่อใช้ในหมู่บ้าน และถุงยังชีพที่นำมาแจกชาวบ้านก็กินเวลา 10 ชม.กว่า ตลอดทางหมดน้ำดื่มชูกำลังและเกลือแร่ไปหลายขวดอยู่เหมือนกัน ก็เหนื่อยนะแต่ก็ได้สร้างวิริยะและขันติบารมีรวมถึงอนุโมทนามัยไปในตัวด้วย ก็มีด้วยประการฉะนี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วธ.ร่วมสืบสานพิธีบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี ส่งเสริมให้เยาวชนเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ ...