วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"มหานิยม" ชื่นชมมติ "มส." อย่างเร่งด่วน ห้ามปลูก-เสพ "กัญชา-กัญชง" ในวัด



วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565   ดร.นิยม เวชกามา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าจากการที่ประชุมมหาเถรสมาคมที่ผ่านมามีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สำหรับกัญชา คือ 1.ห้ามวัดทุกวัดใช้พื้นที่วัด หรือที่ธรณีสงฆ์ เพาะปลูกกัญชา กัญชง ใบกระท่อม 2.ห้ามพระภิกษุสามเณร เสพกัญชา กัญชงใบกระท่อม เว้นแต่เป็นการบำบัดรักษาโรคตามแพทย์สั่ง 3. มอบสำนักพุทธฯแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับกำชับให้คณะสงฆ์ในปกครองปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม  ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ซึ่งตนขอชื่นชมที่ทางมหาเถรสมาคม ออกคำสั่งอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวงการสงฆ์

ดร.นิยม กล่าวต่อไปว่า สำหรับการออกคำสั่งต่างๆ รวมถึงแก้กฎหมายที่มีการผลักดันจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เร่งรัดให้ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย นี่เป็นเพราะที่ผ่านมาไม่มีผลงานในการบริหารงานเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ จึงเร่งมาทำให้กัญชาถูกกฎหมายในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการจะทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ควรมีมาตรการที่ให้ความคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง ให้ปลอดภัยเสียก่อนไม่ว่าจะเป็น เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร พระภิกษุสามเณร การเร่งออกกฎหมายแบบนี้จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยเสียหายหรือไม่เพราะในหลายประเทศยังไม่ยอมรับกัญชา หากนักท่องเที่ยวเขากลับไปยังประเทศเขาซึ่งมีกัญชาอยู่ในร่างกายโดยเขาไม่ทราบ เขาจะเดือดร้อนหรือไม่จะกลับมาเมืองไทยอีกไหม และในฐานะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธแล้วปล่อยให้กลายเป็นแหล่งยาเสพติด ต่างชาติที่เขาเป็นเมืองพุทธเขาจะมองเราในฐานะที่เคยเป็นอดีตศูนย์กลางพุทธโลกอย่างไร

คลอดแล้ว! "งบ"ครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม หลังรอคอยกว่า 40 ปี



วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30 น. ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการร้องเรียนของคณะครูของโรงเรียนพระปริยัติเรื่องงบประมาณต่างๆ โดยเฉพาะเงินเดือนครูอาจารย์ ที่สอนในโรงเรียนพระปริยัติ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มี พรบ.พระปริยัติธรรม มาแล้วแต่ก็ยังไม่มีการจัดสรร งบประมาณแต่อย่างใด ซึ่งในกระบวนการได้มีการร่างกฎหมายลูก และคณะทำงานต่างๆ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน 




อย่างไรก็ตามหลังจากที่รับการร้องเรียนจากคณะครูอาจารย์ ทางคณะกรรมาธิการได้ประชุมกับ กรมบัญชีกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเรื่องติดขัดในข้อกฎหมาย ซึ่งภายหลังได้ข้อยุติและให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยล่าสุดได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว

ด้าน นายณพลเดช มณีลังกา อนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาฯ ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนขอชื่นชมคณะกรรมาธิการฯ เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะนายเพชรวรรต ที่ติดตามงานอย่างต่อเนื่องและทำงานอย่างหนัก อย่างไรก็ตามล่าสุดหลังจากการเห็นชอบจากกระทรวงการคลังแล้ว ก็ถือว่ามีผลทางกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือ แต่ด้วยงบประมาณ 2565 ใกล้จะหมดงบประมาณแล้ว อีกทั้งงบประมาณ 2566 ก็มิได้จัดสรรไว้ ตนเห็นว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาต้องเร่งของบกลาง ซึ่งต้องประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาของบกลาง ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหลังจากที่ คณะครู ทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ซึ่งจากการร้องเรียนไม่ได้งบประมาณมากว่า 40 ปีแล้ว

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งหนุนมหาดไทยแก้จน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



มหาดไทยร่วมหารือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการเพื่อ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน 

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ห้องรับรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมให้การต้อนรับและหารือการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับนายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิฯ และคณะ โดยมี นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายบุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง ร่วมหารือ     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนให้สามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างเหมาะสม และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ โดยใช้กระบวนการบริหารจัดการชีวิตครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนงาน คือ กระบวนงานที่ 1 ชี้เป้าชีวิต กระบวนงานที่ 2 จัดทำเข็มทิศชีวิต กระบวนงานที่ 3 บริหารจัดการชีวิต และกระบวนงานที่ 4 ดูแลชีวิต ผ่านการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ตกเกณฑ์รายได้ จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ข้อที่ 22 รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี น้อยกว่า 38,000 บาท และเป็นครัวเรือนที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้การสนับสนุนวัสดุ/อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ ค้าขาย หัตถกรรม ช่าง และบริการ รับจ้าง แก่ครัวเรือนยากจนที่ผ่านการฝึกอบรมหรือมีอาชีพแล้ว ในวงเงินไม่เกินครัวเรือนละ 30,000 บาท     

“การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งฯ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 ด้วยกระบวนการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ชี้เป้าชีวิต จัดทำเข็มทิศชีวิต หรือแผนชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต ตลอดจนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อให้ครัวเรือนได้มีผักปลอดสารพิษไว้รับประทานในครัวเรือน เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับร่างกาย และประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เป็นต้น โดยแนวทางของความร่วมมือได้กำหนดการดำเนินงานไว้ คือ กรมการพัฒนาชุมชนทำการสำรวจครัวเรือนยากจนเป้าหมายที่ต้องการอาชีพ จัดกลุ่มแยกประเภทอาชีพที่ต้องการขอรับการสนับสนุนองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ วิเคราะห์ศักยภาพครัวเรือนยากจน เพื่อกำหนดครัวเรือนยากจนเป้าหมาย และแนวทางการสนับสนุน โดยมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจนที่ผ่านการจัดกลุ่มมาแล้ว จากนั้นทั้งสองหน่วยงานจะสื่อสารสังคมสร้างการรับรู้ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ และนำผลการประเมินมาพัฒนาช่วยเหลือคนยากจนและคนที่ด้อยโอกาส ให้มีเครื่องมือในการประกอบอาชีพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองทุกเรื่อง เพื่อการแก้ไขปัญหารายครัวเรือนแบบพุ่งเป้าและตรงตามสภาพปัญหา โดยมีนายอำเภอเป็นผู้นำในการสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ประสบปัญหาเพิ่มเติม โดยข้อมูลจากระบบ Thai QM ที่ควรนำมาใช้ในการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกันเพิ่มเติม 7 กลุ่มปัญหา ได้แก่ 1) บ้าน/ที่อยู่อาศัย 2) น้ำดื่ม/น้ำใช้ 3) การศึกษา 4) รายได้และอาชีพ 5) ความปลอดภัย 6) กลุ่มเปราะบาง และ 7) ความเดือดร้อนที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเอง นอกจากนี้ ในด้านการบรรเทาสาธารณภัย ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งมีแผนการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เพื่อฝึกอบรมด้านการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยจะได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหารือถึงแนวทางที่จะสามารถดำเนินการร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป     

ด้าน นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว ในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง โดยมีครัวเรือนที่ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพแล้ว จำนวน 98 ครัวเรือน วงเงินสนับสนุน 1,288,712 บาท ซึ่งจากการติดตามผลการประกอบอาชีพของครัวเรือนเป้าหมายหลังจากได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาชีพ พบว่า ครัวเรือนเป้าหมายมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 9,200 บาท และเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิต เช่น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีอุปกรณ์ทำให้ประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น ผลผลิตจากอาชีพมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ครอบครัวอบอุ่น และบางครัวเรือนมีการขยายกิจการอาชีพ โดยได้พบข้อขัดข้องและความต้องการเพิ่มเติม เช่น ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้บางอาชีพประกอบอาชีพไม่ได้ บางอาชีพรายได้ลดลง และขาดเงินทุน สำหรับในระยะที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี มีจำนวนครัวเรือนเป้าหมายที่ส่งให้มูลนิธิบ่อเต็กตึ้งพิจารณา จำนวน 518 ครัวเรือน ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้แจ้งผลครัวเรือนที่ผ่านการพิจารณาเบื้องต้นจากเอกสารมาแล้ว จำนวน 253 ครัวเรือน และได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ครัวเรือนเป้าหมายเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพครบทุกจังหวัดแล้ว พร้อมทั้งได้มีการมอบวัสดุอุปกรณ์ให้กับครัวเรือนเป้าหมายแล้ว 16 จังหวัด 197 ครัวเรือน วงเงินสนับสนุน 2,990,460 บาท คงเหลือจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ผ่านการพิจารณาจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล้ว จำนวน 12 ครัวเรือน และกำหนดส่งมอบวัสดุฯ ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมายจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติม อีกจำนวน 22 ครัวเรือน ซึ่งมีกำหนดลงพื้นที่สัมภาษณ์ครัวเรือนเป้าหมายเพิ่มเติม ระหว่างวันที่ 6 - 8 กรกฎาคม 2565 นี้ และสำหรับระยะที่ 3 อยู่ระหว่างดำเนินการ ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ มีจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเสนอขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ รวม 338 ครัวเรือน     

ด้าน นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในการขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว จะมีการพัฒนาอาชีพในรูปแบบโคก หนอง นา ภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ  ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อครัวเรือนยากจนที่สนใจ ซึ่งในขณะนี้ มีจำนวน 12 ครัวเรือน จากพื้นที่ 10 จังหวัด นอกจากนี้ ในการดำเนินงานระยะที่ 4 จะขับเคลื่อนดำเนินการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากการลงพื้นที่ดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า การบริการของหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชนของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ได้มีการออกหน่วยร่วมบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป การมอบแว่นตา บริการตัดผม และตรวจคัดกรองเบาหวาน พร้อมกับการมอบวัสดุอุปกรณ์ให้กับครัวเรือนเป้าหมายที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จะให้มีการบริการร่วมด้วยในครั้งต่อไป พร้อมทั้งจะพิจารณาสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือให้กลุ่มอาชีพที่จัดตั้งตามแนวทางสัมมาชีพชุมชน โดยเป็นกลุ่มที่มีจำนวนสมาชิกเป็นคนในชุมชน ไม่น้อยกว่า 20 คน หรือมีการจ้างงานคนในชุมชนอีกด้วย     

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยกับภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากลำบากเดือดร้อนให้ได้รับการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะได้ขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือและขยายผลร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพลังการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง อันจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงจนหมดไปอย่างยั่งยืน

 


"ส.ส.ลพบุรี"รุดเคลียร์ "กมธ.ศาสนาฯสภาฯ" ปมวัดร้างลพบุรีจากค้างคานับร้อยปี



วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย ห้อง CA303 นายประทวน สุทธิอำนวยเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลพบุรี เขต 1 เปิดเผยถึงจากการที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ประเด็นปัญหาที่ดินในเขตพื้นที่จ.ลพบุรี ซึ่งได้มีประเด็นของวัดสิงหล (ร้าง) หมู่ที่ 1 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี  ว่า ได้ติดตามมาตลอดจากกรณีวัดสิงหล (ร้าง) ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน ลำเภอเมืองลพบุรี อำเภอบ้านเช่า อำเภอโคงสำโรง จังหวัดลพบุรีและอำเภอปากเพรียว อำเภอหนองโตน อำเภอชัยบาดาล จังหวัดสระบุรี พุทธศักราช 2479 ทำให้วัดไม่สามารถขึ้นทะเบียนวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจากประวัติได้มีการสำรวจจากกรมศิลปากรพบพระในวัดสิงหล มีประวัติศาสตร์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18 

ทั้งนี้ยังได้ค้นพบพระพุทธรูปหินทรายปรางค์นากปรก พระพุทธรูปองค์เล็ก โอ่งไห โบราณที่แตกหินศิลาแลง และของเก่าเป็นจำนวนมาก ได้กระจายอยู่เต็มบริเวณ ทั้งนี้ได้พบใบเสมาโบราณนั้นน่าจะมีลักษณะเป็นโบสถ์ในสมัยเมื่อประมาณ 400 - 500 ปีก่อน ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง และ พระพุทธรูปหินทรายปรางค์นาคปรกจากการสันนิษฐานแล้วมีอายุประมาณ 700 - 800 ปี

นายประทวน กล่าวต่อไปว่า จากที่ตนได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาด้านพระพุทธศาสนาฯในกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยตัวแทนจาก มณฑลทหารบกที่ 13 กรมศิลปากร สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้แนวทางการแก้ปัญหาจากการชี้แจงของตัวแทนมณฑลทหารบกที่ 13 ประกอบด้วย

1.การชี้ถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าหากวัดเกิดก่อนพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินอำเภอเมืองลพบุรี พุทธศักราช 2479 ก็ถือว่าวัดเกิดก่อนกฎหมายดังกล่าว ก็สามารถขึ้นทะเบียนวัดได้ถูกต้องตามกฎหมาย  2.กรณีวัดที่เกิดหลังพุทธศักราช 2479 ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่ง ก็สามารถดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยการแจ้งต่อผู้ใช้ที่ดินจากที่ราชพัสดุคือ มณฑลทหารบกที่ 13 ให้อนุมัติคืนพื้นที่กลับไปเป็นที่ราชพัสดุต่อกรมธนารักษ์ หลังจากนั้นให้สำนักงานพระพุทธศาสนาขอใช้ โดยให้สำนักพุทธฯ ใช้อำนาจตามกฎกระทรวง การสร้าง การตั้ง การรวม การย้าย และการยุบเลิกวัดกฎกระทรวงการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา และการยกวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา พ.ศ. 2559 ตามข้อ 6 ของสำนักงานพระพุทธศาสนา

นายประทวน กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกรณีวัดสิงหล (ร้าง) จะใช้กรณีข้อแรก เพื่อบรรจุเป็นวัดที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา และขอวิสุงคามสีมา ซึ่งในเขตพื้นที่เขตหนึ่ง จ.ลพบุรี ตนกำลังเร่งผลักดันให้การใช้สิทธิ์อย่างถูกต้องโดยเฉพาะวัด ให้สามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ การเพิ่มแหล่งฟื้นฟูจิตใจ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ขอให้จังหวัดอื่นๆ ประสานงานก็สามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขข้างต้น

วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2565

วัดสารอดเตรียมจัดงานใหญ่ปิดทองถวายไข่หลวงพ่อรอดประจำปี พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ “ราษฏร์บูรณะศีลบวร”



วันที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 17.30 น. คณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ นำโดยพระเดชพระคุณ พระศรีธีรพงศ์, ดร. เจ้าคณะเขตราษฏร์บูรณะ ได้นัดเจ้าคณะพระสังฆาธิการในเขตปกครองคณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการภายหลังจากได้ลงนามในประกาศ ครั้งที่ 1/2565 เรื่องการจัดนิทรรศการ “ราษฎร์บูรณะศีลบวร” ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่นับเป็นจัดกลุ่มความร่วมมือในการรวบรวมข้อมูลตามเกณฑ์ประเมินเพื่อนำเสนอในนิทรรศการของแต่ละกลุ่มโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางประสานงาน ทั้งนี้ นิทรรศการ ราษฏร์บูรณะ ศีลบวร จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 17-25  กันยายน 2565  

ผู้เข้าร่วมประชุมวันนี้ ได้แก่  พระศรีธีรพงศ์, ดร. เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ พระครูปลัดพรหมจริยวัฒน์ เจ้าคณะแขวงราษฎร์บูรณะ  พระมหาสมศักดิ์ ทนฺตจิตโต เจ้าอาวาสวัดราษฏร์บูรณะ พระครูสิถิตกิจจานุการ เจ้าอาวาสวัดบางปะกอก พระครูสุนทรธีราภิวัฒน์, ดร. เจ้าอาวาสวัดเกียรติประดิษฐ์ พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. เจ้าอาวาสวัดสารอด  พระปลัดจำเนียร กิตฺติสาโร ประธานกองงานเลขานุการเจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ พระสมุห์สุรัตน์ สุรสทฺโธ เลขานุการกองงานเลขานุการเจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ และพระสังฆาธิการระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ

การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นการประชุมเป็นการเฉพาะคณะสงฆ์ ครั้งที่ 2 ของคณะสงฆ์เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อติดตาม ปรึกษาหารือแนวทางการเตรียมการจัดงานและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ และเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากเจ้าคณะผู้ปกครอง ถือว่าเป็นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม เกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมดำเนินการ ตลอดจนถึงการร่วมรับประโยชน์ร่วมกันทั้งชุมชน

โดยการประชุมครั้งนี้ พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. เจ้าอาวาสวัดสารอด ได้รับมอบหมายจาก เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ ให้เป็นผู้นำเสนอร่างแผนผังการจัดงาน เพื่อให้คณะทำงานได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ก่อนจะนำเสนอแก่ที่ประชุมใหญ่ภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันจัดงานครั้งนี้ ผังที่นำเสนอเป็นผังที่ได้กำหนดพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ตลอดงานครั้งนี้

การจัดงานครั้งนี้ กำหนดจัดเป็นงานประจำปีวัดสารอดเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามของชาวเขตราษฎร์บูรณะ โดยเฉพาะการนำหลักศีล 5 มาปฏิบัติในวิถีชีวิตโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางที่พึ่งทางใจ งานประจำปีวัดสารอดจึงจะเป็นงานบุญประจำปีศีล 5 ปราศจากอบายมุข แต่จะเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ส่งเสริมการรักษาศีล 5 

ดังนั้น จึงนับว่าเป็นบุญ เป็นมงคลที่ยิ่งใหญ่ของชาวราษฏร์บูรณะ ที่ได้มีวัดทุกวัดเข้มแข็งและได้รวมพลังเป็นหนึ่งศูนย์กลางที่พึ่งทางใจของชุมชน  งานนี้จึงมีเสน่ห์ที่ต่างจากงานวัดทั่วไปแน่นอน เพราะงานนี้ มีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายที่จะจัดแสดงเพื่อการส่งเสริมการรักษาศีล 5 ของชาวชุมชนราษฎร์บูรณะ  ที่สำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวัดสารอดและชาวชุมชนคนราษฏร์บูรณะ จะได้ร่วมกันแห่อัญเชิญองค์หลวงพ่อรอดอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อขอบารมีหลวงพ่อรอด พระประธานเก่าแก่คู่วัดสารอด เพื่อโปรดแผ่บารมีแก่ลูกหลาน  ดังนั้น งานนี้ 17-25 กันยายน 2565 เตรียมพบกับงานวัดงานบุญปิดทองถวายไข่หลวงพ่อรอดประจำปี ซึ่งจะมีหนดจัดงานเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกพิเศษที่สุดก็คือพิธีอัญเชิญหลวงพ่อรอดแห่เสด็จโปรดลูกหลานทั้งทางบกและทางน้ำ หลวงพ่อรอดผ่านบ้านใครถือว่าท่านโชคดีมากๆ เส้นทางกำหนดอัญเชิญลงวิหารจากวัดสารอดไปท่าน้ำวัดประเสริฐสุทธาวาส โปรดชาวริมคลองราษฏร์บูรณะ จากวัดประเสริฐสุทธาวาส ขบวนอัญเชิญทางน้ำไปสู่ท่าเสด็จวัดสารอด แล้วนำหลวงพ่อรอด ประดิษฐานมณฑลพิธีกลาง โปรดลูกหลาน 9 วัน 9 คืน ต่อไป นี่เป็นการเตรียมการเบื้องต้น ช่วงนี้อยู่ในช่วงการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้แจ้งให้ท่านได้ทราบอีกเป็นระยะต่อไป

เปิดตัวหลักสูตรไกล่เกลี่ยอินเตอร์รุ่นแรกของไทย ผ่านความเห็นชอบจาก กก.พัฒนายุติธรรมแห่งชาติ



วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน 2565  พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC)  (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส)  และประธานศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เปิดเผยว่า ภายหลังที่ลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างสำนักงานกิจการยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  ได้นำไปสู่การเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน  และการพัฒนานักไกล่เกลี่ยตาม พรบ.ไกล่เกลี่ย 2562 



มาบัดนี้ หลักสูตรสันติศึกษา และวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร จึงได้ขออนุมัติหลักสูตรไกล่เกลี่ยอินเตอร์ จากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ หรือ กพยช. โดยมี ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา 

ดังนั้นระหว่างวันที่  29 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่  3 กรกฏาคม 2565 จึงได้มีการเปิดหลักสูตรไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนที่เป็นหลักสูตรอินเตอร์ครั้งแรกของประเทศไทย ภายใต้ พรบ. ฉบับนี้ โดยมีผู้สนใจ ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น ศรีลังกา พม่า เนปาล และบังคลาเทศ มาเข้ารับการพัฒนาและฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามกฏหมายไทย  

ผลดีที่จะตามมานับจากนี้  เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นไกล่เกลี่ยแล้ว จะสามารถออกไปใช้ทักษะด้านภาษาบวกการไกล่เกลี่ยไปช่วยทำหน้าที่ร่วมไกล่เกลี่ยคู่ความที่มีข้อขัดแย้งระหว่างชาวต่างชาติกับชาวไทย หรือระหว่างชาวต่างชาติกับต่างชาติ ผู้ซึ่งเดินทางมาท่องเที่ยว หรือประกอบธุรกิจ เช่น ชลบุรี ระยอง กรุงเทพฯ หรือพระนครศรีอยุธยา

เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป กางแผนสยายปีกสร้างความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนในไทย เปิดโรงแรมใหม่ 100 แห่งในปี 68



เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป เดินหน้าเต็มที่รับแผนฟื้นฟูตลาดท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศไทย พร้อมแผนการขยายตัวของธุรกิจแบบทวีคูณ ตั้งเป้าเปิดโรงแรมและรีสอร์ทครบ 100 แห่งในไทย ในปี 2568 โดยแผนการเติบโตทางธุรกิจสำหรับประเทศไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายธุรกิจในวงกว้างที่เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป วางเป้าหมายไว้ว่าจะขยายการเติบโตของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือที่ปัจจุบันมีอยู่ 400 แห่ง ให้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,000 แห่งภายในปี 2568 ในปัจจุบันโรงแรมในเครือเรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ในประเทศไทยมีจำนวน 6 แห่ง โดยมีโรงแรมที่เปิดให้บริการอยู่ 4 แห่งในกรุงเทพฯ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง ที่ภูเก็ตและพัทยา



การที่เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป วางแผนกลยุทธ์ที่มีความท้าทายเช่นนี้เป็นกลไกลขับเคลื่อนรูปแบบทางธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุนและเจ้าของโรงแรมแต่ละคนโดยเฉพาะ เป็นการตอบสนองเชิงกลยุทธ์ที่มาจากแรงผลักดันทั้งภายในและภายนอกรวมกัน ทั้งการเติบโตแบบออร์แกนิก (Organic Growth) ที่เกิดขึ้นด้วยศักยภาพขององค์กรเอง การควบรวมกิจการ รวมถึงการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธ์ในการบริหาร (master license agreements) โดยทุกแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกลุ่มบริษัทในเครือเรดิสันนั้น มีโครงสร้างการออกแบบของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น เรดิสัน คอลเลคชั่น (Radisson Collection) เรดิสัน บลู (Radisson Blu) และ เรดิสัน (Radisson) ขณะเดียวกันก็มุ่งเจาะกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรีสอร์ทและเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ โดยเน้นเลือกทำเลที่ตั้งที่เป็นแหล่งธุรกิจและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ และเกาะสมุย รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่ที่กำลังมาแรงของไทยในขณะนี้



กลุ่มโรงแรมเรดิสันเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของประเทศไทยที่มีแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง และเห็นศักยภาพมหาศาลในการเติบโตของแบรนด์ต่างๆ ในเครือ ดังนั้น สำหรับการเจาะตลาดในประเทศไทย จึงมุ่งเน้นที่แบรนด์ เรดิสัน อินดิวิดวลส์ (Radisson Individuals)โดยเฉพาะ ที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ล่าสุดที่กำลังกระแสแรงฉุดไม่อยู่ทั่วโลก และคาดว่าจะสามารถดึงดูดและได้รับความนิยมจากเจ้าของและนักพัฒนาธุรกิจโรงแรมในไทยที่ต้องการทำธุรกิจกับกลุ่มโรงแรมคุณภาพ ที่มาพร้อมสัญญาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมูลค่าการลงทุนที่ลดลง ขณะเดียวกันยังคงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ลักษณะและบุคลิกภาพของโรงแรมไว้ ส่วนอีกแบรนด์ที่กำลังผลักดันให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในไทยตอนนี้คือแบรนด์ระดับ upper midscale อย่าง Park Inn by Radisson  ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับกลางค่อนไปทางระดับบนที่นำเสนอบริการแบบปัจจัยพื้นฐานที่ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยคำนึงถึงความอบอุ่นและสะดวกสบายของผู้เข้าพักเป็นหลัก ด้วยการให้บริการที่เป็นมิตร มีความพิเศษและให้ความรู้สึกที่ดียิ่งขึ้น และอีกหนึ่งแบรนด์ที่เน้นคือ Radisson RED เป็นแบรนด์ระดับ upscale ที่ผสมผสานระหว่างรูปลักษณ์โรงแรมในแบบเดิมมาปรับให้เข้าพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัวให้มีความสนุกสนานด้วยสไตล์การออกแบบที่โดดเด่น ซึ่งทำให้แขกของเราสามารถสัมผัสได้ถึงแรงบันดาลใจ มีความรู้สึกเชื่อมโยงและเข้าใจถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างลึกซึ้ง



นอกจากนี้ เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ยังมีการเซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระดับภูมิภาคกับผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทจินเจียง อินเตอร์เนชั่นแนล (Jin Jiang International) และบริษัทในเครือเพื่อเร่งการขยายตัว ซึ่งบรรดาเจ้าของธุรกิจและนักพัฒนาจะสามารถเข้าถึงกลุ่มแบรนด์หลากหลายที่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้นในตลาดทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในประเทศไทย กลุ่มโรงแรมเรดิสันได้รับสิทธิ์ในการบริหารและพัฒนาธุรกิจกับแบรนด์ 7 Days และ Metropolo โดยได้มีการทำสัญญาอนุญาตและสิทธิหลักในการเป็นผู้ดำเนินงานบริหารจัดการธุรกิจของกลุ่มบริษัทในเครือจินเจียง เพื่อเจาะกลุ่มตลาดระดับบนและระดับกลาง ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ที่ เรดิสัน โฮเทล กลุ่ม ได้รับสิทธิเข้าพัฒนาธุรกิจแล้ว ได้แก่ โกลเด้น ทิวลิป (Golden Tulip) คีเรียด (Kyriad) และ คัมพานิล (Campanile) จาก ลูฟวร์ โฮเทล กรุ๊ป (Louvre Hotels Group)

โดยตลอดปี 2564 ที่เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของ จินเจียง และ Sino-Ceef ทำให้สามารถดำเนินการตามแผนการปฏิรูปในระยะ 5 ปีอย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีซึ่งถือว่าเป็นการนำระบบที่ดีที่สุดมาใช้ในการดำเนินการที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มโรงแรมในเครือ ตลอดจนทำให้มีการลงทุนอย่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระบบปฏิบัติการ ซึ่งส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนนงานมากที่สุดในอุตสาหกรรมนี้

ด้วยความมุ่งมั่นของเรดิสันในการเดินหน้าขยายธุรกิจโรงแรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยในอนาคตอย่างเต็มที่ จึงมีแผนเปิดสำนักงานเรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ประจำประเทศไทยขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับพันธมิตรทางธุรกิจชาวไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีอันยาวนานระหว่างกันและกัน



“ดิฉันคิดว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางซึ่งเป็นที่ปรารถนาและส่งมอบประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับนักเดินทางทุกประเภท การประกาศยกเลิกมาตรการเข้าราชอาณาจักรจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ และเรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป คาดหวังที่จะเห็นภาพของการเดินทางเข้ามีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เรา เตรียมพร้อมและมุ่งมั่นอย่างเต็มที่สำหรับอนาคตของธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมในประเทศไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ทำงานร่วมงานกับพันธมิตรของเราเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสให้กับในประเทศที่มีเสน่ห์แห่งนี้” มิส. แคทรีน่า จีอานูกา ประธาน เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป เอเชียแปซิฟิก กล่าว



มร. เดวิด เหงียน กรรมการผู้จัดการ ด้านยุทธศาสตร์ความร่วมมือในภูมิภาคอินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของโรงแรมในเครือเรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ทีมงานของเรารวมถึงตัวผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานกับพันธมิตรในประเทศเพื่อขยายพอร์ตการลงทุนของกลุ่มบริษัทของเรา เพื่อเตรียมพร้อมรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้า”


การที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยไม่ต้องกักตัวหรือแสดงผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสในขณะนี้ จึงเป็นก้าวที่สำคัญในการฟื้นฟู “สยามเมืองยิ้ม” แห่งนี้ให้เพื่อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองให้กลับมาเยือนจุดหมายปลายทางที่พวกเขาโปรดปรานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้มากกว่า 7 ล้านคนในปี 2565


ในระยะยาวนั้น การกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนประเทศไทย จะมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของกลุ่มโรงแรมเรดิสันและประเทศไทยโดยรวม ก่อนโรคระบาดจะเกิดขึ้น นักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทั้งหมดของประเทศ เมื่อการท่องเที่ยวขาออกจากประเทศจีนกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ได้รับผลประโยชน์ ดังนั้น การเป็นพันธมิตรระหว่าง เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป กับ จินเจียง อินเตอร์เนชั่นแนล จะสามารถสร้างอรรถประโยชน์จากตลาดที่สำคัญนี้จำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ ยังมีช่องทางการทำจองเป็นภาษาจีนและ การชำระเงินดิจิทัลเพื่อเข้าถึงสมาชิกทั้งหมดของลอยัลตี้โปรแกรมที่มีมากกว่า 182 ล้านคน


นอกจากนี้ เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ยังจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้มีอนาคตที่ยั่งยืน บริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาอย่างแน่วแน่กับแนวคิดในการจัดการเพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์โดยกระบวนการกำจัดคาร์บอน (carbon net zero) ภายในปี 2050 รวมถึงการจัดงานประชุมของโรงแรมในเครือเรดิสันทั้งหมดนั้นปลอดคาร์บอน 100% โดยร่วมมือกับผู้นำในภาคอุตสาหกรรมหลายองค์กร เช่น สมาคมโรงแรมภูเก็ต เป็นต้น นอกจากนี้ เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป ยังเป็นพันธมิตรของ Hotel Sustainability Basics ซึ่งเป็นองค์กรภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ในการขับเคลื่อนการเดินทางอย่างยั่งยืน

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มโรงแรมเรดิสัน ได้ที่เว็บไซต์ www.radissonhotels.com


 

"สภามหาวิทยาลัย มจร" มีมติเห็นชอบ "พระธรรมวัชรบัณฑิต" ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่ออีกอีกสมัย



เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565   พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร ในฐานะกรรมการสรรหาอธิการบดี และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ตามที่พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดีจะหมดวาระในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี( 4ปี )ในเดือนสิงหาคม นี้ และตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2541 ให้มีการดำเนินการสรรหาอธิการบดีเพื่อที่สมเด็จพระสังฆราช จะได้ทรงแต่งตั้งก่อนที่อธิการบดีจะหมดวาระ           

ในการนี้มหาวิทยาลัยโดยสภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีประกอบด้วย พระพรหมบัณฑิต ประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย พระพรหมโมลี พระสุวรรณเมธาภรณ์ พระเเมธีธรรมาจารย์ พระโสภณวชิราภรณ์ ศ.(พิเศษ)จำนงค์ ทองประเสริฐ รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม   คณะกรรมการสรรหาได้ประชุมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เวลา 14.30 ณ ห้องประชุม 205 ตึกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กทม.           

เบื้องต้นคณะกรรมการสรรหาได้ให้ที่ประชุมเสนอชื่อพระเถระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณา ตามข้อบังคับกำหนดไว้ว่า 1.เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าใจทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี  2.เป็นผู้ที่มีผลงานทางวิชาการหรือประสบการณ์ด้านการบริหารที่ประจักษ์ชัดว่ามีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี 3.เป็นผู้ที่มีภาวะผู้นำเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาคมในมหาวิทยาลัย  4.เป็นผู้ที่สามารถอุทิศเวลาให้แก่การปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่   

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวต่อไปว่าที่ประชุมได้เสนออธิการบดี และรองอธิการบดีที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณา ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากให้เสนอ พระธรรมวัชรบัณฑิต อธิการบดี เป็นอธิการบดีต่ออีกสมัย ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ไปก็คือการเสนอชื่อเพื่อให้สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับรองและเห็นชอบเพื่อจะได้เสนอขอพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งต่อไป        

วันนี้ (29 มิ.ย.) สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ประชุมมีมติรับรองและเห็นชอบให้พระธรรมวัชรบัณฑิต ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่ออีกหนึ่งวาระ จากนี้ไปสำนักงานเลขานุการสภามหาวิทยาลัยจะได้เสนอขอรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชเพื่อลงพระนามแต่งตั้งต่อไป        

"การดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีข้อกำหนดเรื่องวาระในการดำรงตำแหน่งอธิการบดี เพราะพระเถระที่เป็นผู้บริหารระดับสูงนี้หาได้ยาก กฎหมายจึงเปิดกว้างให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้หลายวาระ" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวในตอนท้าย

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"อนุฯกมธ.พุทธศาสนาสภาฯ" เผยช่องกฎหมายวัดใช้ที่ดิน นสล. และที่ดินแห่งรัฐ



เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. ที่อาคารรัฐสภาเกียกกาย ห้อง CA303 ดร.เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล รองประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จากการปรจากที่มีข้อถกเถียงในข้อกฎหมายเรื่องวัดจัดตั้งและอยู่ในพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน (นสล.) ซึ่งยังไม่มีข้อทางออกสำหรับทางออก เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียน จากประชาชนในหลายจังหวัดพื้นที่ ที่วัดไม่สามารถจัดตั้งวัดได้ โดยในเบื้องต้นได้มีการหารือในข้อกฎหมาย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีชาวไทยนับถือมากถึง 96% 

ในอดีตที่ผ่านมาอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีการออกที่ดิน นสล. ครอบวัด แต่ด้วยวัดหลายวัดไม่มีการบันทึกประวัติเอาไว้ และพระสงฆ์ก็มีความชรา ทำให้ภายหลังวัดหลายพื้นที่จึงมีข้อถกเถียงว่าวัดไม่สามารถที่จะจัดตั้งวัดได้ 

อย่างไรก็ตามในการประชุมในชั้นอนุกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมในชั้นอนุกรรมาธิการฯพุทธศาสนาฯ โดยได้เชิญตัวแทนอธิบดีกรมที่ดิน และตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ได้เสนอแนวทางโดยในช่วงแรกจะใช้การขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน) ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คราวละ ห้าปี ยื่นเป็นการชั่วคราว ผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหลังจากนั้นเพื่อเป็นไปอย่างถาวรก็จะดำเนินการ ออก พรบ. โอนที่ดินให้วัด ซึ่งจะดำเนินการต่อไป

"นฤมล" แนะทุกฝ่ายต้องร่วมกู้ระเบิดปลดหนี้ครัวเรือน รับมือ 10 ส.ค. นี้ ธปท.ส่อขึ้นดอกเบี้ยเป็น 0.75%



วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และหัวหน้านโยบายพรรค พปชร. โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “หนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาที่ทุกคนต้องช่วยแก้” ระบุว่า เดือนนี้ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยพุ่งไปถึง 90.1% สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นระเบิดเวลาในระบบเศรษฐกิจ


ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเทียบกับรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) สูงขึ้นแตะ 34% สะท้อนว่า แทนที่ภาระหนี้จะกระตุ้นการบริโภค ภาระหนี้กลับกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


10 ส.ค. นี้ ธปท.มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.5% เป็น 0.75% ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ หนี้ครัวเรือนจึงอยู่ในจุดเปราะ ที่เสี่ยงจะเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก


ใคร ๆ ก็ออกมาชี้นิ้วว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่จริง ๆ แล้ว ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสะสม และเกิดขึ้นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน ก็แก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนไม่ได้


ใครบ้างต้องร่วมมือแก้ปัญหานี้


1.ผู้ให้กู้ ต้องปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ ต้องเข้าใจก่อนว่า หนี้ครัวเรือน ไม่ได้มาจากธนาคารเท่านั้น ยังมีหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ จากบริษัทเช่าซื้อ จากลิสซิ่ง ที่สำคัญ ยังมีหนี้นอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่มีการจัดเก็บสถิติไว้ ผู้ให้กู้ต้องปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่คิดแต่กำไรดอกเบี้ยที่จะได้ หรือมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันว่าคุ้มมูลหนี้ โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เรื่องนี้สำคัญมาก และต้องเอาจริงเอาจังกันซักที บ่อยครั้ง ชาวบ้านที่มากู้ไม่รู้หรือเข้าใจภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ท้ายที่สุด หนี้เสีย แถมเสียบ้าน เสียที่ดิน


2.ผู้กู้ ต้องได้รับความรู้พื้นฐานทางการเงิน ผู้กู้ควรวางแผนทางการเงินง่าย ๆ ได้ ว่ากู้ได้เท่าไร กู้ได้เท่าไรจะไม่ทำให้เกิดภาระที่หนักเกินตัวในอนาคต ตรงนี้ เรื่องที่น่าห่วงคือ รัฐต้องไม่ดำเนินนโยบายที่หวังผลทางการเมืองด้วยการเอาแบงก์รัฐมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย เพราะมันไปกระตุ้นให้ทุกครัวเรือนกู้เพิ่ม วิธีการนี้ได้ผลทางการเมืองระยะสั้น แต่ก่อปัญหาให้ประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว


3.รัฐบาลและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันช่วยเพิ่มรายได้ให้คนไทย รัฐบาลฝ่ายเดียวไปเพิ่มค่าแรง เพิ่มรายได้ให้ประชาชนคนไทยไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐและเอกชนจึงต้องหันหน้าเข้ามาช่วยกันกำหนดแผนลงทุนควบคู่กับแผนพัฒนาแรงงานของประเทศ ขอเน้นประเด็นที่พูดมาหลายครั้ง ต้องกล้าโยกแรงงานออกจากภาคการเกษตรอย่างน้อยร้อยละ 10 เติมทักษะ และย้ายเขาไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่รายได้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันกันเพิ่มนวัตกรรมการผลิตให้ภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ ที่สำคัญสุด คือ การพัฒนาและปรับเปลี่ยนทักษะของคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด


รัฐบาลและผู้ให้กู้ ช่วยครัวเรือนปลดนี้เดิม ตรงนี้ มีหลายโครงการดำเนินการอยู่ สนับสนุนให้ดำเนินการขยายผลไปถึงการแก้หนี้นอกระบบ ช่วยลดหนี้เดิมให้ครัวเรือน ไม่ว่าจะด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ หันหน้าเข้าหากัน แล้วช่วยกันแก้ปัญหาระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน ก่อนที่จะสายเกินแก้

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"ชัชชาติ" เข้ากราบ"เจ้าคณะกทม." ร่วมมือแนวถวายการอุปถัมภ์กิจการพระพุทธศาสนา



วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2565   เพจพระอาจารย์ พระธรรมวชิรมุนี วิ. โอวาทธรรมและศาสนกิจ ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน เวลา 22:04 น.  ความว่า "วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๓๐. น. พระอาจารย์ พระธรรมวชิรมุนี  วิ.  เมตตาให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พร้อมคณะเข้ากราบถวายสักการะ

เนื่องจากได้รับตำแหน่งใหม่ และได้ปรึกษาเรื่อง ความร่วมมือกันในเรื่องกิจการพระพุทธศาสนากับการถวายการอุปถัมภ์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ณ  ศููนย์วิปัสสนานานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ราชวรวิหาร

 พระธรรมวชิรมุนี วิ. พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ กองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย  กรรมการมหาเถรสมาคม  เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์"

"ดร.นฤมล" ชง 3 เพิ่ม 3 ลดแก้จน แนวเพิ่มพลังเศรษฐกิจฐานรากแนว "พปชร."



​วันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2565 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) และหัวหน้านโยบายพรรคพปชร.ได้ โพสเฟซบุ๊ก วันนี้(28มิถุนายน 2565 )โดยระบุว่า พรรคพลังประชารัฐมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนเพื่อพลังเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องที่เป็นนโยบายหลักของพรรคตามเป้าหมายของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคที่จะมุ่งยกระดับให้ประชาชนกินดีอยู่ดี สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเพื่อเป็นกลไกหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบยั่งยืน

​“พรรคพลังประชารัฐ เราจะชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันช่วยเพิ่มพลังให้แก่คนฐานราก เพื่อให้พวกเขาสามารถกลับมาสู้ต่อไปได้ ดันเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และการขับเคลื่อนต้องมองแบบองค์รวมในทุกมิติโดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะเป็นฐานรากที่สำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป“ ศ.ดร.นฤมลกล่าว

​สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญได้แก่

1. เกษตรประชารัฐ 3 เพิ่ม 3 ลดคือ เพิ่มนวัตกรรม เพิ่มทางเลือก เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน ลดภาระหนี้ ลดความเสี่ยง กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

​2. ร่วมทุนระหว่างชุมชนและเอกชนเพื่อใช้เป็นกลไกการเงินชองชุมชนในการพัฒนาความเป็นอยู่ชุมชนให้ดียิ่งขึ้น

​3. ส่งเสริมเติมเต็มระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มีความหลากหลายในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้

​4. เติม เสริม แกร่งให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือ SMEs ชุมชนรายย่อย รายเล็ก เติมทุน เสริมทักษะ เพิ่มรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 พรรคสร้างคนาคตไทย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคได้ประกาศยุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขปัญหา ปัญหาหนี้สิน รายได้ตกต่ำ ข้าวของแพง ต้นทุนการผลิตสูง เป็นต้น ภายใต้แนวคิด “ปรับ-เติม-เพิ่ม-ลด” เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ กล่าวคือวันนี้คนไทยทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินสะสมมายาวนาน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลง จากนั้นต้องเติมเงินทุนเพื่อให้นำไปดำเนินกิจการต่อ ขณะเดียวกันก็ต้อง เพิ่มแหล่งรายได้ให้ประชาชนจากกิจกรรมที่ทำอยู่เดิมก่อนหน้านี้ และสุดท้ายต้อง ลดต้นทุนการผลิตเพื่อสร้างผลกำไรให้มากยิ่งขึ้น

“หลายสิบปีที่ผ่านมาหนี้สินของเกษตรกรไม่เคยถูกแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ การพักหนี้แค่เพียงปีสองปีแต่ดอกเบี้ยเดินอยู่ไม่ได้ช่วยอะไร หากจะทำให้สำเร็จและเป็นรูปธรรม จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ยืดหนี้ออกไปนานขึ้น จะเป็น 7-8 ปีก็ได้ แต่เกษตรกรต้องปรับตัวในการที่จะเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่ๆ เพื่อให้ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายหนี้ได้ โดยภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมเงินทุน เทคโนโลยี และช่วยหาตลาด สุดท้ายต้องมีโครงการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรอย่างจริงจัง” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้จากแนวคิดของศ.ดร.นฤมลและพรรคสร้างคนาคตไทยควรจะมีการปรับเป็น" กระบวนการแก้จนตามแนวคิดโคกหนองนาโมเดิร์นแปลงใหญ่"  โดยเริ่มจากการปลอดหนี้ตามแนวคิดของพรรคสร้างอนาคตไทยด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือนที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมดำเนินการอยู่ แล้วสร้างรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับการไกล่เกลี่ยฯตามการดำเนินการแก้จนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ และบูรณาการให้ครบวงจรเป็นโคกหนองนาโมเดิร์นแปลงใหญ่ถึงจะยั่งยืน



 

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"หลักสูตรสันติศึกษา มจร" จัดปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ลงสู่ห้องปฏิบัติการสันติภาพสัมผัสลมหายใจชุมชน


ระหว่าง 23-26 มิถุนายน 2565  หลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ทั้งระดับปริญญาโท และเอก นำโดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC)  (พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส)  ได้นำคณาจารย์  และนิสิต ทั้งเก่า และใหม่ ประมาณ 100 รูป/คน จัดกิจกรรมปฐมนิเทศภายใต้หัวข้อ "เปิดตัวนิสิตใหม่ เปิดใจสู่สันติธรรม" ณ ห้องปฏิบัติการเรียนรู้สันติภาพชุมชน (Peace Community Lab) อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  โดยพระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์ได้เขียนสรุปภาพรวมกิจกรรมการปฐมนิเทศเอาไว้อย่างสนใจในหัวข้อ "ปฐมนิเทศอย่างไร?? จึงจะได้สันติธรรม" 



การจะตอบโจทย์ข้อนี้ ต้องตอบคำถามแรกให้ได้เสียก่อนว่าสันติธรรมสิงสถิต์ ณ แดนใดฤา??   หากค้นลึกลงไปจะพบว่า สันติธรรมอยู่ทั้งในใจ (Inner Peace)  และสันติธรรมปรากฏอยู่ภายนอก (Outer Peace) ด้วย 

สันติธรรมในใจ ปรากฏตัวผ่านสติ สมาธิ ความอดทน ความเหนื่อย ความท้อ ความหงุดหงิด ความง่วง ความรัก ความสงสารเห็นอกเห็นใจ เบิกบานยินดีฯลฯ ขยายคำว่า "สันติธรรมภายนอก" นั้น  มีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ทั้งในดิน น้ำ ลม ป่า นา ไร่  บนถนนหนทาง แดดที่ร้อนเร้า วัฒนธรรม ประเพณี  วิถีชุมชนฯลฯ 



การปฐมนิเทศจึงเป็นจังหวะ และโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจนิยามสันติวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติการของคำว่าสันติธรรมในมิติที่คลุมคลุมและหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะการเปิดตัวครั้งแรกจะนำเข้าสู่การกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เกิดแรงจูงใจต่อการขยายขอบฟ้าความรู้ของสันติศึกษาให้ระดับที่เพิ่มสูงขึ้น 

ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้หลักสูตรฯ ได้ออกแบบกิจกรรมการปฐมนิเทศ "เปิดตัวนิสิตใหม่ เปิดใจสู่สันติธรรม" ในพื้นที่ห้องปฏิบัติการสันติภาพ (Peace Lab) ที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2556 ณ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  



จนบัดนี้ ได้เกิดสันตินวัตกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านสันติภาพ ทั้งหมู่บ้านสันติภาพ หมู่บ้านช่อสะอาด โคกหนองนาสันติศึกษาโมเดล ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข สถาบันสติภาวนาสากล  

ขณะที่พื้นที่อำเภอปรางค์กู่ยังอุดมด้วยแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งปราสาทปรางค์กู่ ชุมชนเผ่าต่างๆ ทั้งชาวกูย  และลาว ที่เชื่อมโยงกับอาณาจักขอมยุคดั้งเดิม อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมการกิน การแต่งตัว บทเพลง และอื่นๆ อีกมากมาย 



หลักสูตรฯ จึงได้ใช้เวลาระหว่าง 23-26 มิถุนายน 2565 พานิสิตลงพื้นที่ไปทำกิจกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยการทำวัตร สวดมนต์ บำเพ็ญจิตภาวนา การทำพิธีสู่ขวัญ พิธีมอบตัวเป็นศิษย์  การเดินธรรมยาตรา การศึกษาวิถีคนกูย ลาว และเขมรที่สัมพันธ์กับปราสาทปรางค์กู่ การเรียนรู้วิถีปู่ตา การให้กำลังใจผู้สูงอายุ รวมถึงการเรียนรู้วิถีเกษตรแบบโคกหนองนา การไกล่เกลี่ยในชุมชน การดำนาสามัคคี และการปลูกต้นไม้ร่วมกัน 



ทั้งหมดคือการออกแบบกิจกรรมการปฐมนิเทศเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงวิถีแห่งสันติธรรมทั้งในจิตใจ และวิถีสันติภาพที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่น (Local  Peace)  

การเปิดดวงตาเรียนรู้ และเปิดใจยอมรับวิถีที่แตกต่างจะกลายเป็นปฐมบทสำคัญที่จะนำผู้เรียนรู้เข้าสู่ประตูการศึกษาในหลักสูตรสันติศึกษาเชิงลึกในช่วงเวลาอีก 3 ปีข้างหน้าต่อไป อีกทั้งจะส่งผลเชิงบวกต่อการนำองค์ความรู้ ทักษะ และเจตคติไปพัฒนาชีวิต ชุมชน และสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไปฯ

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เพื่อไทยเสนอแนวแก้จน! ชู "สวัสดิการโดยรัฐ " ผ่านนโยบาย "เงินโอน คนขยัน"



วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2565 นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะทำงานด้านการขจัดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ กล่าวถึงแนวคิดนโยบายด้านสวัสดิการสังคมของของพรรคเพื่อไทย ในหัวข้อ 8 ปีสวัสดิการสังคมไทยภายใต้ระบอบประยุทธ์ กับอนาคตรัฐสวัสดิการอนาคตประชาธิปไตยไทย ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาชน ประธานคณะก้าวหน้า และตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย ว่ามาวันนี้เพื่อเสนอแนวคิดการทำ ‘สวัสดิการโดยรัฐ’  ผ่านนโยบาย ‘เงินโอน คนขยัน’ หรือ Nagative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางพรรคเห็นว่าสามารถทำได้จริง

นายสุทิน กล่าวอีกว่า ภายใต้ข้อจำกัดภาวะวิกฤตการเงินการคลังที่รัฐบาลปัจจุบันได้ก่อหนี้ไว้มหาศาล และนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงไว้ทำไม่ได้ สุดท้ายผลงาน 8 ปีของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จึงได้สร้างสถิติประชาชนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 2,700 บาทต่อเดือนถึง 4.8 ล้านคน สร้างกลุ่มคน ‘เกือบจน’ ถึง 5.1 ล้านคน และยังมีแรงงานนอกระบบอีกกว่า 20 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง อีกประการ แนวคิดเงินโอนคนขยัน หรือ NIT เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยเก็บภาษีได้ 14% ต่อ GDP และงบประมาณก็อยู่ที่ 18% ต่างจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียเก็บภาษีได้มากกว่า 50% ของ GDP ประเทศแถบนั้นจึงมีงบสวัสดิการแบบ UBI (universal basic income) ได้ ชัดเจนว่าพื้นฐานต่างจากประเทศไทยวันนี้มาก 

เงินโอนคนขยัน หรือ Negative Income Tax (NIT) จะจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินไปที่กลุ่มที่มีความจำเป็นมากที่สุด โดยใช้เส้นความยากจนและค่าแรงขั้นต่ำเป็นฐานการคำนวน โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน หมายความว่า เริ่มด้วยการมุ่งเพิ่มเงินให้กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จนกระทั่งกลุ่มนี้มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำก่อน และการได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ จะเป็นไปในลักษณะหากหารายได้ได้มาก ก็มีโอกาสได้รับเงินสมทบมากขึ้น ซึ่งส่งผลถึงรัฐ จะสามารถใช้จ่ายงบสนับสนุนเป็นไปในขนาดที่เหมาะสม และในขึ้นตอนการดำเนินการนั้น วิธีการนี้ก็สามารถโยกงบประมาณที่รัฐบาลปัจจุบันใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4 หมื่นล้านต่อปีมาใช้ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม และเพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็น ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ โดยแท้จริง

ประเด็นสำคัญที่สุดของนโยบายนี้ คือ การสร้างแรงจูงใจให้คนอยากทำงานและพัฒนาตัวเองไปด้วย นโยบายนี้จึงต้องมาพร้อมกับนโยบายอื่น ที่จะปลดล็อกศักยภาพของประชาชน และใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการพัฒนาทั้งคนและเศรษฐกิจในระยะยาว

“พรรคเพื่อไทย ต่อสู้กับ ‘ความจน’ เพื่อประชาชนมาอย่างยาวนาน นโยบายของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนจนมาถึงเพื่อไทยพิสูจน์แล้วว่าได้ช่วยลดความยากจนลงได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราเริ่มคิดจากนโยบายที่ทำได้จริง ‘เงินโอนคนขยัน หรือ Negative Income Tax (NIT)‘ จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยเกินกว่าจะดำรงชีพได้ จะได้รับเงินภาษีแทนการจ่ายเงินภาษี จนกระทั่งมีรายได้สูงพอเสียภาษีได้ แนวคิดนี้มีใช้จริงแล้ว มีข้อมูลศึกษาชัดเจน ชี้ชัดว่าในสหรัฐอเมริกาจำนวนคนจนลดไปถึง 28 ล้านคน และที่รัฐจ่ายเพื่อช่วยเหลือนั้น กลับมาใช้ในเศรษฐกิจได้มากกว่าวิธีการอื่น นี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังศึกษาเพื่อแก้ความยากจนอีกก้าวหนึ่งให้กับพี่น้องคนไทย” นายสุทิน กล่าว

รายงานพิเศษ : “กระบี่” เมืองท่องเที่ยวก็มี “โคก หนอง นา”



หลายคนอาจไม่ทราบว่าภาคใต้ของประเทศไทยนับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป “ไม่มีฤดูหนาว” จังหวัดชุมพรเดือนที่มีอากาศหนาวที่สุดของปี คือ ธันวาคม โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยเท่ากับ 22°C  นอกนั้นนับได้ว่า มีเพียงสองฤดูเท่านั้น คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งเดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน และ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม

“ทีมข่าวพิเศษ” เดินทางไปจังหวัดกระบี่ จังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก “กระบี่” แม้เป็นจังหวัดขนาดเล็ก แต่มากด้วยทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และมรดกทาง วัฒนธรรม อันเก่าแก่ มีการผสมผสานการดำรงชีวิตของผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และ ความเชื่อที่แตกต่างอย่างกลมกลืน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินประมาณ 814 กิโลเมตร รายได้หลักของจังหวัดกระบี่เกิด จากการท่องเที่ยวและการประมง และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญจังหวัดกระบี่ คือ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา



“จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากมีแหล่งผลิตอาหารพืชผักไม่เพียงพอ” นี่คือคำพูดของ “กล้วย”  จำเริญ เขียวขาว วัย 52 ปี ชาวตำบลโคกหาร อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่บอกกับทีมงาน ซึ่งคำพูดนี้กล้วยบอกว่าเป็นคำกล่าวของ  “ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล”  หรือ อ.โก้ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดำเนินงาน โคก หนอง นา บอกกับเขาในวันที่พบกันครั้งแรกเมื่อคราวที่จำเริญ เขียวขาว อบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตอนนั้นตัวเขาเองก็ยังงงอยู่กับคำพูดของที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยคนนี้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้รู้ว่าคำพูดของอาจารย์โก้เป็นจริง ประชาชนตกงาน ขาดแคลนเงิน ประชาชนขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะผักที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี  กล้วยเล่าต่ออีกว่า  ประมาณปี 2555-2556 เริ่มสนใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เดิมทำธุรกิจส่วนตัวและขายรถมือสองตอนทำงานอยู่เริ่มสับสนกับตัวเอง ทำงานหาเงินและตายไป รู้สึกเหมือนชีวิตไม่ได้อะไร สังคมในระบบการแข่งขันที่สูง มันไม่ใช่แก่นแท้ของชีวิต ช่วงนั้นรู้สึกสับสน และมองหาทางออกของชีวิต เมื่อได้ศึกษาหาข้อมูลแล้วก็เจอว่า อ. ยักษ์  (วิวัฒน์ ศัลยกำธร)  ได้มีการเปิดอบรม จึงได้เข้าร่วมอบรมพร้อมกับภรรยา อ.ยักษ์ ได้มีการกล่าวถึงในหลวง ร.9 บ่นว่า ใครก็ว่าฉันคิดดี ทำดี แต่ไม่มีใครนำไปปฏิบัติ พอนำปฏิบัติแล้วก็ปลูกมะเขือ 3 ต้นพริก 3 ต้น  และเขียนป้ายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำงบประมาณของฉันออกไปใช้ เมื่อได้ฟังแบบนี้แล้ว รู้สึกน้ำตาตก จึงได้ตัดสินใจกับภรรยาอยากจะทำให้เรื่องนี้สำเร็จ ทั้งๆที่ตอนนั้นธุรกิจส่วนตัวกำลังไปได้ดี เพราะผมทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต



แต่ก็ตัดสินใจหันมาทำเกษตร เดินตามรอยศาสตร์พระราชา เริ่มต้นจากขอที่ดินจากพ่อตา 10 ไร่ ซึ่งเดินทีพื้นที่ตรงนี้ได้ปลูกยางพาราไว้ และโค่นยางออกไปแล้ว เริ่มแรกเรียนรู้ปรัชญาและนำมาปรับใช้กับครอบครัว จากนั้นก็นำทฤษฎีมาปรับใช้ด้วย ด้วยการขนเปลือกมะพร้าวทุกวัน จนชาวบ้านระแวกนั้นต่างพากันหัวเราะ ระยะแรกไม่มีรายได้เลย ต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ แต่ไม่เหมือนตอนที่ทำงาน เราใช้เงินแบบไม่แยกว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น จึงเป็นปัญหาของชีวิต แต่เมื่อมาอยู่แบบนี้แล้วดูเหมือนไม่มีเงิน แต่เราก็อยู่ได้ สมัยที่ทำธุรกิจคนภายนอกดูเหมือนว่าเรามีเงินเยอะแต่จริงๆแล้วไม่มี!!

 “ตอนอายุ 48 ปี เมื่อปี 2561 ได้เริ่มมาอยู่ที่นี่และทำเศรษฐกิจพอเพียงแบบจริงจัง 100% รายได้หลักมาจากการเลี้ยงวัว ผมคิดว่าแนวทางปฏิบัติในการดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อย่างแรกต้องเริ่มจากความศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญ ตั้งมั่นในศรัทธา มีความเพียรที่บริสุทธิ์ และลงมือปฏิบัติจริง เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ และมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกับเราหลายครั้ง จึงทำให้เรายิ่งเชื่อมั่นในศาสตร์ของพระราชา นอกจากวัวที่เป็นรายได้หลักแล้ว ยังมีหน่อไม้ น้ำผึ้ง กล้วย และหญ้า ก่อนตายคิดว่าอยากจะสร้างวัด หรือโรงเรียนเล็กๆ สอนความรู้นอกตำรา สอนวิชาชีพ หากจะว่าไปทฤษฎี 9 ขั้น ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ก็ดัดแปลงมาจากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ผมและไม่เคยทำสวนมาก่อน เพราะที่ผ่านมาทำแต่ธุรกิจ ตั้งแต่เข้ามาทำเศรษฐกิจพอเพียงได้ 1 ปีกว่า เมื่อก่อนกลัวตายมาก ทำประกันต่างๆไว้มากมาย เดี๋ยวนี้ไม่ต้องทำ มันเหมือนว่าเราได้ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สำหรับคนอื่นอาจจะคิดแตกต่างกันไป..”



ปัจจุบัน “กล้วย”  จำเริญ เขียวขาว อาศัยอยู่กับภรรยาและลูกน้อย ในบ้านดินที่สองสามีภรรยาทำเอง บนที่ดินประมาณ 40 ไร่ ซึ่งเป็นสวนแบบผสมผสานมีไผ่ 30 กว่าชนิดทั้งของไทยและต่างประเทศ มีปลาหลายหลายชนิด ซึ่งกล้วยบอกว่า “ไม่ขาย แต่จะแบ่งให้กับคนมีรายได้น้อย” ใครมีบัตรสวัสดิการของรัฐมารับได้เลย มีการเลี้ยงผึ้งโพรงตามธรรมชาติกว่า 40 รัง ที่นี่ได้ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ย่อยของ สปก. เวลาคนมาอบรมจะมีรายได้จากค่าอาหาร ค่าวิทยากร ในอนาคตอยากให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ที่ผ่านมาใช้ชีวิตแบบไม่เห็นแก่นแท้ของชีวิต และเมื่อได้ฟัง อาจารย์ยักษ์ที่พูดถึงการนำศาสตร์ของพระราชามาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน จนทำให้มีความคิดที่จะนำความรู้ที่มี คือ 4 พ. (พออยู่ พอกิจ พอใช้ พอร่มเย็น)  นำไปบอกต่อกับผู้อื่นให้ได้เห็นความสุขที่แท้จริง  “สมัครเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยไว้ 15 ไร่ ทางกรมก็เข้ามาช่วยในเรื่องการขุดบ่อ การสร้างฐานเรียนรู้ 9 ฐาน และสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถือว่าการช่วยเหลือของกรมการพัฒนาชุมชน นี้ มีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ถ้าหากต้องใช้ทุนของตัวเองทั้งหมดก็จะช้ากว่านี้ เฉพาะค่าขุดบ่อก็ 1,040,000 บาทแล้ว นอกนี้ยังมีค่าวัสดุอุปกรณ์อีกมากมาย ตรงนี้ก็ต้องขอขอบคุณที่เห็นคุณค่าของคนทำจริงในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง..”  หลังจากพูดคุยกับ จำเริญ เขียวขาว  หรือ  “กล้วย”  ผู้ซึ่งดูแลมีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน แต่แววตาแฝงไปด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจกับคนผู้พบเห็น 



เป้าหมายต่อไปคือแปลงโคก หนอง นา ของ  “ประเสริฐ บุตรมิตร”  ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่  สองข้างทางในฤดูฝนแบบนี้ “เขียวขจี” ไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม บางเวลาขับรถผ่านเนินเขามองไปเต็มไปด้วยสวนปาล์มสุดลูกตา ผสมกับมีสวนยางเป็นระยะ ๆ  ภายในสวนยางมีห้องแถวเห็น “แรงงานข้ามชาติ” อยู่กันเป็นครอบครัว ๆ  เห็นเด็กเล็กเล่นกันอยู่เป็นหมู่คณะ ฤดูฝนที่ยาวนานแบบนี้ “การกรีดยาง” หรือภาษาคนใต้เรียกว่า “ตัดยาง”  คงได้รับผลกระทบไปด้วย แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ในจังหวัดภาคใต้มีหลายจังหวัดต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะแบบนี้ เพราะในหมู่แรงงานมีคำกล่าวขานกันว่า “เคยถูกปล้น” มาแล้วหลายราย จึงต้องอยู่ร่วมกันเป็นคณะเพื่อป้องกันภัย เคยสอบถามแรงงานชาวพม่าและมอญ หลายคนบอกว่า “เรื่องจริง”  บางทีถูกเจ้าหน้าที่รัฐรบกวนบ้าง ถูกคนปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเรียก “ค่าคุ้มครอง” ก็เคยมี ร้ายสุดคือ “ถูกปล้นและฆ่า” ก็มีหลายกรณี การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะหรือห้องแถวตามสวนปาล์ม สวนยางแบบนี้ จึงปลอดภัยกว่า แยกกันอยู่แบบโดดเดี่ยว   ส่วน “เด็กเล็ก” บางครอบครัวฝากให้ลูกหลานไปโรงเรียนใกล้ ๆ  แต่บางครอบครัวอยู่ไกลจากโรงเรียนเด็กเล็กเหล่านี้ก็ “อดเรียน”  หรือมีบางครัวเรือนส่งลูกกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายายที่ประเทศต้นทางก็มีบ้าง



ความจริงประเทศไทย รัฐบาลไทย มีนโยบายเรื่องการให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับแรงงานข้ามชาติหรือคนไร้สถานะค่อนข้างก้าวหน้า คือ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติ ศาสนาใด เมื่ออยู่ในประเทศไทยทุกคนมี “สิทธิทางการศึกษา”   ในปีการศึกษา 2560  มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบการศึกษาของไทยตั้งแต่อนุบาลจนถึงอุดมศึกษาทั้งสิ้นประมาณ 15 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่มีเลขประจำตัวไม่ถูกต้อง ประมาณ 6 แสนคน และจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ในปี 2559 แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนเข้ามาเป็นแรงงานมีใบอนุญาตถูกต้องประมาณ  2.5 ล้านคน และคาดว่ายังมีแรงงานเถื่อนกว่า 1 ล้านคน  ทั้งหมดนี้ ยังมีผู้ติดตาม หรือบุตรหลานที่เกิดในประเทศไทย เป็นเด็กไร้สัญชาติอยู่ประมาณ 3 แสนคนด้วย แต่เด็กเหล่านี้มีเพียง ร้อยละ 52  เท่านั้นที่รับการศึกษาอยู่ตามศูนย์การเรียน กศน. หรือโรงเรียนต่าง ๆ ที่เปิด รับเด็กข้ามชาติ แต่ก็ยังมีเด็กข้ามชาติอีกเกือบครึ่งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้ แม้แต่ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี” ก็ทรงเป็นห่วงและมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือและมอบโอกาสให้ โดยเฉพาะเรื่อง “สัญชาติ” ซึ่งเปรียบเสมือนประตูบานแรกให้พวกเด็กเหล่านี้มีโอกาสทางสังคมอย่างมีคุณภาพ..!!



ณ แปลง โคก หนอง นา  ของ  “ประเสริฐ บุตรมิตร”  ขนาด 3 ไร่  เมื่อเราไปถึงมีเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนชื่อ “นก” รอให้ข้อมูลอยู่  ทีมงานขอให้ประเสริฐ พาดูแปลงที่รอบล้อมไปด้วยคลองใส้ไก่ ฝังท่อน้ำโยงถึงกันทุกแปลง ในขณะที่ในคลองเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด สังเกตุเห็นมีแปลงผักลอยฟ้า ซึ่งเจ้าของแปลงบอกว่าคือการปลูกแบบ ไฮโดรโปนิกส์ คือ การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน และอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผักไร้ดิน” ก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืชที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง



“ประเสริฐ” บอกว่าตอนนี้ในสวนแห่งนี้ มีผลผลิตหลัก คือ ผักไฮโดรโปนิกส์  นำไปขายในตลาดนัดชุมชน เวลาขายจะแพ๊คเป็นถุง ขายมัดละ 20 บาท เราตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ในกลุ่มมีประมาณ 20 กว่าคน ไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่ทำโคก หนอง นา เท่านั้น มีผู้ที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงคนอื่นเข้ามารวมกลุ่มกัน มีตลาดนัดขายทุกวันพุธและวันศุกร์ ถ้าหากวันไหนที่ขายผักไม่หมด ก็จะนำไปแจกจ่ายผู้คน  ได้เข้ามาทำโครงการ โคก หนอง นา ประมาณ 1 ปี ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วมโครงการพื้นที่ 3 ไร่ ได้รับการขุดบ่อ  คลองไส้ไก่ ที่เดิมทีนั้นเป็นสวนยางพารา เนื่องจากมีสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้ต้นยางตาย จึงได้หันมาเข้าร่วมโครงการ

“ฤดูฝนจะทำนา ถ้าหน้าแล้งจะปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือ ปลูกพืชผสมผสาน ช่วยกัน2 คนกับภรรยา ในคลองไส้ไก่มีปลานานาชนิด ปลาดุก ปลานิล ปลาหมอ  เลี้ยงไว้ทั้งกิน และขายใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปลาดุกรัสเซียขายเหมาๆ กิโลละ 60 บาท ประมาณ 4-5 เดือนก็สามารถขายได้  มีเลี้ยงผึ้งด้วย เอาไว้ขายน้ำผึ้งได้ราคาขวดละ 400-500 บาท แต่ถ้าในช่วงที่มีเยอะๆ ราคาก็จะลดลงมาเหลือประมาณขวดละ 350 บาท ในตลาดมีความต้องการซื้อ  ไม่พอขาย  เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงในเล้า เหลือไก่อยู่ 14 ตัว ออกไข่วันละ 13 ฟอง   ที่ผ่านมาทาง กรมการพัฒนาชุมชนหรือ พช. เข้ามาสนับสนุนพวกต้นไม้ ปุ๋ยชีวภาพ มูลวัว มูลไก่  และไม่ให้ใช้สารเคมี  ตอนนี้อยากให้ พช .ช่วย ในเรื่องเครื่องสูบน้ำ ช่วงฤดูแล้ง  มีการร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ไปช่วยกันเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โคก หนอง นา นี้ส่งผลดีเพราะเราปลูกพืชที่ไม่ได้ใช้สารเคมี  เราก็บริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ เป็นผลให้สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเมื่อก่อนก็มีอาการเจ็บป่วยบ้าง ปัจจุบันอายุ 50 ปี      ฝากถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียงว่า การใช้วิถีชีวิตแบบนี้ จะทำให้มีความสุข เป็นหนี้ก็ทำได้ แต่ทำแบบนี้จะมีความสุขมากกว่า ไม่ลองไม่รู้..”  ประเสริฐ บุตรมิตร  ฝากคำกล่าวทิ้งท้ายถึงประชาชนคนไทย



สำหรับจังหวัดกระบี่มีการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ทั้งหมด 802 แปลง แบ่งออก ขนาด 1 ไร่ จำนวน 346 แปลง ขนาด 3 ไร่ จำนวน 427  ขนาด 10 ไร่จำนวน  3 แปลง และ ขนาด 15 ไร่ 26 แปลง  ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ และ 53 ตำบล

ปลัด มท. สั่งการผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด จัดกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ของนักเรียนทุกคนในทุกโรงเรียน



เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) ร่วมกับผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 เพื่อให้ทุกจังหวัดเป็นแนวหน้าและเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ร่วมกับทีมงานของ UN และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งในท้องถิ่นและชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


"การลงนามประกาศเจตนารมณ์ฯ ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่ชาวมหาดไทยทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ อันเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะเกื้อกูลทำให้ทรัพยากรน้ำอันมีค่า อันมีความหมายต่อชีวิตคนไทยและชาวโลกได้อุดมสมบูรณ์ ดังพระราชดำรัส "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า" ซึ่งได้รับการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันสะท้อนให้เห็นแก่นของการที่จะทำให้วัฏจักรของน้ำสมบูรณ์ คือ การทำระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์ สอดรับกับเรื่องการลดภาวะโลกร้อน


รวมไปถึงแนวพระราชดำริที่สะท้อนผ่านโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มุ่งส่งเสริมให้มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากร ด้วยการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ และมีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชและทรัพยากรสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมให้พันธะสัญญาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันดูแลรักษาโลก เพราะ "เราทุกคนไม่มี 'แผนสอง' ในเรื่องการรักษา เยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มี 'โลกที่สอง' ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว" นายสุทธิพงษ์ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามประกาศเจตนารมณ์ฯ ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน "โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 13 Climate Action ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดและในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัดที่เป็นผู้นำของจังหวัด บูรณาการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษาทุกแห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดหาพื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น วัด โรงเรียน ป่าชุมชน สวนสาธารณะ ป่าชายเลน หรือสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อจัดกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ของนักเรียนทุกคนในทุกโรงเรียน


ตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของรัฐบาล ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนปลูกต้นไม้ในพื้นที่นั้นๆ อย่างน้อยคนละ 1 ต้น เพื่อให้ต้นไม้เป็นเหมือนเพื่อนคู่ชีวิตที่จะต้องดูแลทำนุบำรุงต้นไม้นั้นตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนทั้ง 3 ปี หรือ 6 ปี เพื่อให้เกิดความผูกพันและหมั่นดูแลเอาใจใส่ รู้คุณค่า คุณประโยชน์ของต้นไม้ กระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิต กลายเป็น DNA ของคนรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในสายเลือด และเมื่อนักเรียนทุกรุ่น ทุกปี ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เป็นจำนวนมาก และช่วยกันจัดทำ QR Code เพื่อสแกนค้นหาว่าต้นไม้นั้นคือต้นอะไร มีคุณค่า มีประโยชน์อย่างไร ก็จะทำให้กลายเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศน์ ศึกษาต้นไม้พันธุ์ต่าง ๆ ชั้นยอดที่อยู่ภายในพื้นที่ สอดคล้องกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย


"ในการปลูกต้นไม้คู่ชีวิตของนักเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดในปีแรก ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดหาพันธุ์กล้าไม้ให้กับนักเรียนทุกคนเพื่อใช้ปลูกก่อน พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการดูแล การเพาะพันธุ์ การเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ เพื่อใช้ปลูกขยายพันธุ์ในปีต่อๆ ไป รวมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนที่มีสมาชิกในบ้านในครอบครัวหลายคน ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ลุง ป้า น้า อา คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ได้ช่วยกันเก็บเมล็ดพันธุ์ ช่วยกันเพาะชำ ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน หรือที่พักอาศัย หรือนำพันธุ์ไม้จากที่บ้านไปปลูกในพื้นที่สาธารณะที่จัดไว้ หรือบางครอบครัวที่มีความสามารถในกล้าเพาะพันธุ์กล้าไม้ก็สามารถนำมาแจกจ่ายให้ผู้สนใจ นำไปปลูกหรือจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ซึ่งการปลูกต้นไม้เหมือนการมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้กับโลก ช่วย ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้โลกมีอากาศบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น ช่วยลดภาวะโลกร้อนไปพร้อม ๆ กันยังได้สร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นในเรื่องอาหาร การมีไม้ไว้ใช่สอย หรือสร้างที่อยู่อาศัย อีกด้วย นายสุทธิพงษ์ กล่าว


นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ "การพัฒนาคน" เพื่อให้คนมีความรู้ ความเข้าใจที่ถ่องแท้ และลงมือทำด้วยตนเอง ด้วยแรงปรารถนา (Passion) ที่มีจิตอาสา อยากทำประโยชน์ให้เกิดกับส่วนรวม ซึ่งการดำเนินกิจกรรม "ปลูกต้นไม้คู่ชีวิต" ที่กำลังจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และตลอดไปนั้น จะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประโยชน์ต่อชุมชน/หมู่บ้าน ต่ออำเภอ ต่อจังหวัด ต่อประเทศไทย และต่อโลกใบเดียวนี้ ให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอากาศที่บริสุทธิ์ และเป็นหลักประกันว่าลูกหลานของพวกเราในอนาคตจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในโลกที่สดใสอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565

"กมธ.ศาสนา" จี้ "สำนักพุทธ-ตร." ไล่เช็คบิล "หมอปลา" กรณีบุกวัด 9 จังหวัด



เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา 11.55 น. ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสุชาติ อุสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร   และคณะ ได้แถลงข่าวประเด็นที่ คณะ กมธ. พิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามกฎหมายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับกลุ่มบุคคลที่กระทำการไม่เหมาะสม กรณีนายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือหมอปลาพร้อมคณะ บุกรุกที่พักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร และพื้นที่ของวัดและกุฏิสงฆ์ 9 จังหวัด 

โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนกองบังคับการตำรวจภูธรในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย  สถานีตำรวจภูธรจ.สมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรจ.ฉะเชิงเทราสถานีตำรวจภูธรจ.นครนายก สถานีตำรวจภูธรจ.ยโสธร สถานีตำรวจภูธรจ.นครราชสีมาสถานีตำรวจภูธรจ.พิษณุโลก สถานีตำรวจภูธรจ.กาญจนบุรี สถานีตำรวจภูธรจ.นครปฐม สถานีตำรวจภูธรจ.สุพรรณบุรี โดยทั้ง 9 เรื่อง หมอปลาและคณะได้เข้าไปบุกรุกวัดโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาส่งเรื่องเข้ามายังคณะ กมธ. รวมทั้งเป็นเรื่องที่กรมการประสานงานกลางพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย และสภาสื่ออนไลน์เพื่อความยุติธรรมไทยร้องเรียนเข้ามา 

คณะ กมธ. ได้บรรจุเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณา โดยในวันนี้การพิจารณามีความคืบหน้า ดังนี้  1. วัดโคกงูเห่า อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี สถานะล่าสุดอยู่ในระหว่างการออกหมายเรียก ครั้งที่ 12. วัดบางหญ้าแพรก อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ในเบื้องต้นพนักงานสอบสวนยังไม่พบการกระทำความผิดทางคดีอาญา3. วัดหนองเตย อ.เมือง จ.นครนายก อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และรอออกหมายเรียกต่อไป 4. วัดหนองปรือ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานและออกหมายเรียกโดยใช้เวลาประมาณ 15 วัน 5. วัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน และเตรียมออกหมายเรียกต่อไป 

6. วัดด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เจ้าอาวาสไม่ติดใจดำเนินคดี ส่วนที่เป็นคดีอาญาซึ่งไม่สามารถยอมความได้ สำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติจะทำหน้าที่ดำเนินการต่อไป 7. วัดโนนไทย อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา  เจ้าพนักงานตำรวจรับเป็นคดีที่ 538/2565 เจ้าพนักงานตำรวจยืนยันว่าระยะเวลาต่อจากนี้ไปไม่เกินสองเดือนจะเกิดความชัดเจนและสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ 8. วัดใหม่พรหมพิราม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก อยู่ระหว่างดำเนินการ  9. ที่พักสงฆ์ดงสว่างธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร เรื่องนี้กำลังจะออกหมายเรียกภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก 


สำหรับในวันนี้ ทั้ง 9 เรื่อง สำนักงานพระพุทธ ศาสนาแห่งชาติ ได้ส่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาชี้แจงในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งผู้กำกับและพนักงานสอบสวนทั้ง 9 แห่งเข้ามาชี้แจงความคืบหน้าของคดี ทั้งนี้ คณะ กมธ. ดำเนินการเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ากรณีดังกล่าวเรื่องใดสามารถดำเนินคดีได้หรือเรื่องใดดำเนินคดีไม่ได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชน และพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศเกิดความกระจ่างและสบายใจต่อไป 

ส่วนจะมีการเชิญหมอปลามาหรือไม่นั้น นายสุชาติ ระบุว่า ขั้นตอนนี้ยังไม่มีการเชิญหมอปลา เพราะถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ ที่มีผู้ร้องเข้ามาว่าผลของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ซึ่งบางฝ่ายมองว่าลักษณะแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย แต่ทั้งนี้กรรมาธิการก็จะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย และคิดว่าในอนาคตก็คงไม่ต้องเชิญหมอปลามา เพราะหากเรื่องนี้เข้าสู่ระบบของพนักงานสอบสวนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ก็จะไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการฯแล้ว

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะมีการรายงานมายังกรรมาธิการมาเป็นระยะ พร้อมยืนยันว่ากรรมาธิการฯ ต้องการให้เกิดความชัดเจนต่อประชาชนและชาวพุทธทั้งประเทศ และทางกรรมาธิการยังได้ย้ำไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาให้ตรวจสอบเรื่องอำนาจหน้าที่ของ หมอปลาที่เข้าไปดำเนินการลักษณะต่างๆด้วย

ขณะที่ตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนา ยืนยันว่าจะไปติดตามความคืบหน้าจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีผู้ไปแจ้งความดำเนินคดี และจะติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีที่จังหวัดกาญจนบุรีที่เจ้าอาวาสไม่ติดใจเอาความ แต่เป็นคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ จึงจะหารือพระชั้นผู้ใหญ่ต่อไป

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ตามไปดู โคก หนอง นา จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมต่อยอดสู่ “เขตเศรษฐกิจพอเพียง”



เป้าหมายหนึ่งของการลงพื้นที่ทั่วประเทศของทีมงานข่าวนอกจากติดตามไปดูแปลง โคก หนอง นา ที่ประสบผลสำเร็จ มีปัญหาและอุปสรรคให้อะไรบ้างแล้ว อีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อไปดูผลผลิตที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีของการดำเนินการแปลงโคก หนอง นา มีผลผลิตอะไรบ้าง แล้วเจ้าของมีแนวคิดที่จะต่อยอดในการแปรรูปออกจำหน่ายอย่างไรบ้าง

และการดำเนินการตรงนี้มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างที่ต้องการสื่อสารให้กับประชาชนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างไรบ้าง  อย่างเช่นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีครัวเรือนระดับ 15 ไร่ ผลผลิตออกจำหน่ายแล้ว จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนทำจานรองจาก “ใบตองตึง” ไม่มีตลาดรองรับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวง มหาดไทย ขอตัวอย่างไปดูและรับปากจะดูแลให้ 


เช่นเดียวกันที่ “จังหวัดเพชรบูรณ์” แปลงโคก หนอง นา ขนาด 3 ไร่ของ “การ์ฟิว”  ณัฎฐากร แก้วคง  ตำบลนาซำ อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ทีมงานเคยเดินทางมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางปีที่แล้ว ตอนนั้นเพิ่งเริ่มปลูกและเอามื้อสามัคคี  ตอนที่เราเดินทางไปถึง เห็นมีคนงานผู้สองอายุ 2 คนกำลังช่วยกันตัดหญ้า ทั้งสองเมื่อเห็นเราถามจุดประสงค์ที่มาแล้ว บอกเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ตอนนี้ผลผลิตในสวนออกเยอะแล้ว มีทั้งผักและปลา “เถ้าแก่” นอกจากจ่ายเงินเดือนมีบ้านพักให้แล้ว ปลา ผัก ในสวนก็อนุญาตให้กินได้ด้วย อยู่แบบนี้มีความสุขมาก สบายใจกว่าอยู่บ้าน  เมื่อทีมงานเดินชมสวนสักพัก “การ์ฟิว” ก็เดินทางมาถึงทักทายเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เดินพาชมแปลงโคกหนองนา พร้อมกับบอกว่า ตอนนี้ผลผลิตในแปลงออกมาหลายอย่างแล้ว ขั้นพื้นฐาน 4 พ. ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ตอนนี้สบายแล้ว ทำบุญ ทำทานก็ได้ทำ พร้อมกับชี้ไปที่สระน้ำซึ่งมีดอกบัวหลวงกำลังออกดอกบานสะพรั่ง และกล่าวว่า ตอนนี้ขายได้ทั้งดอก เมล็ด และใบ  ตลาดต้องการเยอะ ไม่พอขาย



“สำหรับดอกบัวขายดอกละ 2 บาท ตัวเมล็ดขายเป็นถุง ๆละ 20 บ้าง 30 บ้าง แล้วแต่ขนาด สำหรับใบบัวหากใบใหญ่สวย ๆ  จะแพงหน่อยเขาใช้สำหรับรองรับปลงผมนาค หรือไม่ก็ไปห่อข้าว ใบละ 20 บาท ความจริงตลาดพวกนี้หาไม่ยากตามตลาด ตามรถกับข้าว บางทีคนก็มาดูถึงสวนนี้เลย..”

“การ์ฟิว” เดินไปคุยไปด้วยความภาคภูมิใจกับผลผลิตที่ออกมาจากแปลงโคกหนองนา ที่ตนเองลงมือทำเองทุกตารางนิ้ว โดยมีพ่อและแม่เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งทุกวันช่วงเย็น ๆ จะร่วมกับครอบครัวมารับประทานอาหารและทำกิจกรรมร่วมกันที่นี้

“ตอนนี้ปลา ไก่ มีเยอะ ไข่ไก่ขายได้วันหนึ่งประมาณ 2 แผง เป็ดก็มีตอนนี้ขายอยู่ตัวละประมาณ 100-200 บาท อยากต่อยอดที่ว่าจะทำโฮมสเตย์ตอนนี้ก็ยังไม่ถึง อีกอย่างหนึ่งก็คืออยากจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ สำหรับปลาผมเอามาเลี้ยงไว้เยอะแล้วมันโตผมจะทำปลาส้ม เป็นแบรนด์ปลาส้มของกำนันจุน ประมาณนั้น แล้วก็ผลิตภัณฑ์จากกล้วย กล้วยเรามีเยอะแล้วก็อาจจะตัดมาทำตากแห้ง อบแห้ง แล้วก็ทำโรงเรือนอบพลังงานแสงอาทิตย์ แล้วก็ผลิตภัณฑ์จากล้วยอื่นๆอีกด้วย ซึ่งตอนนี้ผมไม่มีทุนที่จะทำตรงนั่นเลย อยากขอกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่กล้าพอที่จะร้องขอ เพราะทาง พช.เอง ท่านก็ช่วยเรามาเยอะพอสมควรแล้ว..”



หลังจากเดินชมแปลงโคก หนอง นา ขนาด 3 ไร่ ของ “การ์ฟิว”  ณัฎฐากร แก้วคง ที่ตอนนี้กำลังมีผลผลิตออกมาเป็นรูปเป็นร่างพร้อมที่จะต่อยอด “ขั้นก้าวหน้า” เป็นศูนย์เรียนรู้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังติดอยู่คือว่า การต่อยอดทำโรงเรือนอบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ยังไม่มีทุนหรือแหล่งทุนที่จะเข้ามาสนับสนุนเพื่อทำเป็นวิสาหกิจชุมชน 

“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย  ได้ฝากคำพูดก่อนลงพื้นที่กับ “ทีมข่าวพิเศษ” ไว้ว่า  “การลงพื้นที่จริง หากมีโอกาสขอให้พี่ได้คุยกับชาวบ้านบ้าง เพื่อให้กำลังใจพวกเขาที่ร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมและประเทศชาติ  หรือหากชาวบ้านเขาเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลืออะไร หากช่วยได้ ก็จะได้ช่วยเหลือกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนได้บ้าง..”

หน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”  การเข้าถึงประชาชนแบบให้ทันต่อความต้องการเป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยโหยหาจากภาครัฐในทุกมิติ โดยเฉพาะประชาชนจำนวนมากมักติดภาพการทำงานของข้าราชการแบบ “เช้าชาม เย็นชาม” และซ้ำมองภาพกลุ่มข้าราชการมีการทุจริตคอร์รัปชัน ค่อนข้างสูง ซึ่งความจริงมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเพื่อประชาชนได้ “อยู่ดี กินดี” 



“ทีมข่าวพิเศษ” ได้ต่อสายให้ “การ์ฟิว” หรือ  ณัฎฐากร แก้วคง ได้เล่าการดำเนินการแปลงโคกหนองนา ประสบผลสำเร็จอะไรบ้าง และอยากต่อยอดอย่างไรต่อ กับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ  ซึ่งหลังพูดคุยเสร็จเรียบร้อยการ์ฟิว ยิ้มแย้มด้วยใบหน้าเบิกบานแบบมีความหวังในการที่จะต่อยอดเป็นขั้นก้าวหน้า


“นางสาวมนทิรา เข็มทอง” พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ถือว่าเป็นมือทำงานคนหนึ่งที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ตั้งแต่ตั้งไข่ จนขับเคลื่อนกระจายไปสู่ประเทศ มีครัวเรือนเข้าร่วม 25,179 ครัวเรือน แบ่งเป็นขนาด 15 ไร่จำนวน 337 แปลง ขนาด 1ไร่และ 3 ไร่ 24,842 แปลง จาก 73 จังหวัด 575 อำเภอ และ 3,246 ตำบล เม็ดเงินกระจายสู่ชุมชนหมู่บ้านมากกว่า 4,000 พันล้าน เริ่มตั้งแต่จ้างงาน 8,000 กว่าตำแหน่ง สร้างงานให้รถขุดดิน คนขายต้นไม้ คนขายปุ๋ยชีวภาพ เจ้าของคอกวัว คอกหมู และร้านขายอุปกรณ์การเกษตร  จากการริเริ่มตรงนี้ปัจจุบันประชาชนอยู่แบบ 4 พ. คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น นับหมื่นครัวเรือน สร้างชุมชนสามัคคีแบบพึ่งพาตนเองได้ หลายชุมชนหมู่บ้าน  

“พี่มน” หรือ นางสาวมนทิรา เข็มทอง  นัดให้ทีมเราไป เพื่อดูแปลงโคกหนองนาอีกแปลงที่ วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ  อำเภอศรีเทพ ซึ่งห่างจากแปลงของ “การ์ฟิว” จากอำเภอหล่มเก่า ประมาณ 200 กิโลเมตร พร้อมกับบอกว่าจะรออยู่ที่วัดเพื่อร่วมดูแปลงโคก หนอง นา ของวัดที่ร่วมทำด้วยกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ขนาด  15 ไร่

“พระภาวนามังคลาจารย์ วิ.” เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ  อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยพัฒนาการจังหวัดเดินพาชมแปลงโคกหนองนา เท่าที่สังเกตสภาพดินที่นี่ไม่ดี มีแต่ก้อนกรวด แม้ทางวัดพยายามห่มดิน ใส่ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อปรับสภาพดินแล้วก็ตาม พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. พาชุมแปลงพลางพรรณนาบรรยายถึงความดีของปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญว่า ว่าเป็นเป็นคนติดดิน เข้าถึงประชาชน เป็นคนวัด มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ตอนเริ่มทำโคก หนอง นา ท่านก็มาหว่านข้าวและร่วมปลูกต้นไม้ที่แปลงแห่งนี้ ปัจจุบันต้นไม้โตแล้ว พร้อมกับกล่าวว่าที่นี่มีปัญหาสภาพดิน แต่ก็พยายามปลูกผักไว้แจกจ่ายประชาชนยามเดือดร้อน



 “จริง ๆ เพื่อให้ประชาชนพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ประสบปัญหาโควิด เพราะว่าอาหารการกินเราก็ไม่ได้เตรียมพร้อมส่วนใหญ่ทำงานที่กรุงเทพกัน เวลากลับมาบ้านนอกไม่มีอาหาร เพราะว่าที่ไร่ที่นาก็แห้งแล้ง ไม่ได้มีการปลูกกล้วยหรือปลูกอาหารที่จะกิน ชีวิตประจำวันของเกษตรกรที่นี้เนื่องด้วยชาวบ้านเป็นคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำ เวลาที่จะมาทำการเกษตรที่หล่อเลี้ยงชีวิตยาก ก็เลยคิดว่ามีโครงการโคก หนอง นา เกิดขึ้นก็เลยอยากให้มี อยากให้ประชาชนมีอาหารกินการอยู่ มีโรงครัว อย่างสบายไม่เดือดร้อน ช่วยประหยัดเงินเพราะว่าถ้าเรากินแบบประจำๆ โคกหนองนาก็ช่วยให้ประหยัดลง เพราะว่าถ้าเรามีมะละกอ มีสะเดา และผักต่างๆเราไม่จำเป็นต้องซื้อ เราก็จะได้ประหยัดเงินมา รายจ่ายเราก็ลดลง การเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อนดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ท่านบอกว่าให้ชาวบ้านอยู่แบบเรียบง่ายอยู่แบบมัชฌิมา คืออยู่แบบทางสายกลางพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่สร้างความทุกเดือดร้อนให้กับตนเองและครอบครัว หรือสังคม อยู่แบบสบาย ๆ  ซึ่งโคก หนอง นา ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ทำอยู่นี่ คือคำตอบที่ชัดเจน ตรงเป้าหมายที่สุดในยุคนี้..”

ไม่ไกลจากวัดพระวรราชาทินัดดามาตุมากนัก “พี่มน” พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์พาไปดูอีกแปลงโคก หนอง นา อีกแปลงหนึ่ง ขนาด 3 ไร่ ซึ่งตรงนี้แปลกกว่าแปลงโคก หนอง นา ที่ทีมงานดูมาแล้วทั่วประเทศคือมีป้าย “โคก หนอง นา โมเดล”  ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ประกบอยู่กับป้าย กรมการพัฒนาชุมชนร่วมอยู่ด้วย ได้สอบถามเจ้าหน้าที่คนหนึ่งตอบว่ามันคือ แปลง โคก หนอง นา ของราษฎรผู้กระทำความดี พร้อมกับอธิบายต่ออีกว่า

“ราษฎรผู้กระทำความดี” คือ บุคคลตัวอย่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงอนุเคราะห์ให้พสกนิกรของพระองค์ ให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อตอบแทนคุณงามความดีของประชาชนทั่วไปที่บำเพ็ญตนให้กับสังคมและประเทศชาติ

“ลุงผวน ขามโคกกรวด” ราษฎรหมู่ 5 ต.นาสนุ่น อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ อายุ 72 ปี คือ ราษฎรผู้โชคดีและมีบุญวาสนาที่ว่านั้น

“จื้อ” หรือ “ศุภกร ขามโคก กรวด” ลูกชายลุงผวน เล่าให้ฟังว่า  วันนี้พ่อไม่สบายเลยไม่ได้มาดูแปลงโคกหนองนา ตามปกติ หากว่างไม่ได้ไปวัด ท่านจะมาอยู่ที่แปลงโคกหนองนาแห่งนี้

“ราษฎรผู้กระทำความดี คือ รางวัลความดีที่ในหลวงท่านทรงมอบให้กับคุณพ่อ เนื่องจากพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นคลิปของวัดพระพุทธแสงธรรม จ.สระบุรี ชื่อคลิปว่า  ขอจับมือคนมีบุญ จิตเป็นบุญ – ธรรมะสัญจร เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก ซึ่งเนื้อหาในคลิป หลวงพ่อ พระสุนทรธรรมภาณ เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี คณะธรรมยุต ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ชอบช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนทั่วไปที่ยากไร้ วันหนึ่งท่านสัญจรมาถึงบ้าน เห็นพ่อกำลังกวาดถนนอยู่ ท่านคงสงสัยว่าทำไมกวาดถนนสาธารณะ จึงเดินเข้าไปถามทำให้รู้ว่า คุณพ่อกวาดหินกรวดเล็ก ๆ  เพื่อให้พระที่เดินบิณฑบาตสบายเท้า ไม่ถูกก้อนกรวดทิ่มแทงเท้า และคุณพ่อท่านก็ทำแบบนี้ประจำ รายละเอียดในคลิปจะมีอยู่..”



หลังจากมีภาพเผยแพร่ออกไปไม่นานก็มีหน่วยทหารจากกองบัญชาการทหารพัฒนา มาหาพ่อที่บ้านสอบถามการเป็นอยู่ และอาชีพ  คุณพ่อท่านอยากมีบ่อน้ำ ทำแปลงเกษตรแบบ “โคก หนอง นา” ทหารจึงมาขุดบ่อให้ นำอุปกรณ์การเกษตรมาช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันแปลงตรงนี้มีประมาณ 9 ไร่ตอนนี้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็มาช่วยทำให้ด้วย มีมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำหรือ “EarthSafe” เข้ามาดูแลเรื่องการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้

“ตอนนี้การเป็นอยู่ของครอบครัวเราหากวัดตามทฤษฎี 9 ขั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9 ขั้นพื้นฐาน 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็นครบแล้ว ทำบุญทำทานแบ่งปันครบแล้ว ตอนนี้ถึงขั้นก้าวหน้าบ้างแล้ว คือ ขาย แต่ ยังไม่เต็มที่เพราะเพิ่งเริ่มได้ปีกว่า ๆ และปัญหาหลักที่นี่คือ ปัญหาที่ดิน ต้องแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม..”

นางสาวมนทิรา เข็มทอง  พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้สรุปภาพรวมของการดำเนินการแปลงโคก หนอง นา ในจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า  ในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีเป้าหมายโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”  เราดำเนินการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด -19 จำนวน 1,081 แปลง แบ่งเป็น ขนาด 1 ไร่ 202 แปลง ขนาด 3 ไร่ 874 แปลง และขนาด 15 ไร่    5 แปลง ได้รับการจัดสรรเงิน 164,219,240 บาท ดำเนินการขุดปรับแปลงเสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ตอนนี้ขั้นพื้นฐานตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของในหลวง 4 พ.คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น ชาวบ้านพึ่งตนเองได้แล้ว 



“การที่ก้าวสู่การต่อยอดสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้นำ Model ของการขับเคลื่อนแนวทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือที่เราเรียกกันว่า SEDZ  ซึ่งหมายถึง Sufficiency Economy Development Zones  ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ มาปรับใช้ ได้แก่ การสร้าง PLM (Province Lab Model) : ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ โดยทั้ง 11 อำเภอ จะต้องดำเนินการสร้างเครือข่าย DLM ซึ่งประกอบด้วยครัวเรือน HLM ในแต่ละอำเภอ รวมกันเป็น DLM และจะใช้ CLM แม่ข่าย ได้แก่ แปลงวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ แปลง นางสาวไพลินรุ้ง ขันธ์วราพันธิชัย ตำบลยางงาม อำเภอหนองไผ่ แปลง นายพัฒนพงษ์ เทืองน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลน้ำชุน อำเภอหล่มสัก แปลงนายบุญธรรม ดวงอุปะ หมู่ที่ 6 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง และแปลงของ นายวรพล บุญศิริ ตำบลปากช่อง อำเภอหล่มสัก เพื่อให้ ครัวเรือน HLM แต่ละอำเภอเข้ารับการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้โคกหนองนาโมเดล โดยใช้กลไก 3- 5 -7 สำหรับการขับเคลื่อน : สานพลัง 3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคี ร่วมปฏิรูปประเทศด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเรามั่นใจว่าตอนนี้เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนการต่อยอดเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว..”

การตระเวนดูแปลงโคก หนอง นา ทั้ง 3 แปลงตลอดทั้งวันใช้เวลานานจนใกล้มืดค่ำ ก่อนจากกัน “พี่มน” พัฒนาการจังหวัดฝากบอกให้ทีมงานพรุ่งนี้ให้ไปดูอีกแปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอวิเชียรบุรี ย้อนกลับไปทางอำเภอหล่มเก่า ซึ่งเป็นอำเภอติดกันกับอำเภอศรีเทพที่ตั้งของแปลง “ลุงผวน” ราษฎรผู้กระทำความดี พร้อมกับกล่าวว่าไม่ห่างไกลนักตรงนั้นถึง “ขั้นก้าวหน้า” หมายถึงมีผลผลิตจากโคก หนอง นา ออกจากหน่ายและแปรรูปแล้ว

“สำนึกรักบ้านเกิด” เป็นโครงการที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมรณรงค์มาเนิ่นนานแล้วในสังคมไทย เพื่อปลุกจิตสำนึกให้เยาวชน นักศึกษาที่จบการศึกษากลับไปพัฒนาบ้านเกิดมากกว่ามุ่งเข้าสังคมอุตสาหกรรมหรือทิ้งบ้านเกิดเรือนนอนปล่อยให้ที่ดิน บ้าน หรือพ่อแม่อยู่ตามลำพัง ซึ่ง “นางสาวฐิติรัตน์ พรมนอก” ตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหญิงสาวคนหนึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้ว จากบ้านไกลเรือนนอนไปค้าแรงงานอยู่ที่จังหวัดชลบุรี จนวันหนึ่งในฐานะลูกสาวคนเดียวของครอบครัวเห็นว่า พ่อแม่ทำเกษตรมาตั้งแต่เกิด แต่ทำไมกำหนดราคาไม่ได้ ทำนาข้าวแต่ต้องซื้อข้าวกิน มีแต่หนี้ ซ้ำตอนหลังพ่อป่วย จึง “ลาออก” จากงาน มาดูแลพ่อและแม่



“เราแม้จะเป็นลูกชาวนา แต่ไม่รู้เรื่องเกษตรเลย เริ่มแรกก็ไปเรียนกับอาจารย์เทพ เพียมะลัง ประธานเครือข่าย “คนต้นน้ำเพชบุระ ตามรอยพ่อของแผ่นดิน”  ต.นางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์  ที่บอกว่า ถ้ารักพระเจ้าอยู่หัว ให้มาเรียนรู้งานของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครั้งแรกเราไปดูของท่านซึ่งทำเกี่ยวกับโคกหนองนาด้วย  ท่านเป็นวิทยากรด้วยในวันนั้น พาไปดูในส่วนของพื้นที่ซึ่งบริบทพื้นที่มันเหมือนกับของเรา คือน้ำท่วม แล้งก็โคตรแล้งเลย พอกลับมาก็มองพื้นที่เราว่ามันมีปัญหาแบบนี้นะ เราอยู่ติดแม่น้ำก็จริงแต่เราไม่สามารถใช้ได้ เพราะว่าสระน้ำอยู่ปลายนา ซึ่งถ้าพ่อป่วยผักทุกอย่างคือตาย เพราะว่าพ่อเป็นคนเดียวที่สามารถเอาเครื่องลงได้แล้วก็ต่อน้ำเป็น  ก็เลยเข้าไปที่ ธกส. แล้วก็ประสานเรื่องพ่อแม่เป็นหนี้ไหม จึงทำเรื่องขอรับใช้หนี้ต่อ แล้วก็ขอกู้มาเพิ่ม 40,000 บาทเพื่อที่จะมาขุดแนวน้ำ เพราะนั้นเราคิดว่าน้ำคือปัญหาหลัก หลังจากขุดสระเสร็จก็ทำมาตั้งแต่ปี 61 จนโครงการ โคก หนอง นา เข้ามาก็ไปสมัคร จนมีผลผลิตดังที่เห็นทุกวันนี้..”

นางสาวฐิติรัตน์ พรมนอก เล่าต่อว่า ตอนนี้มีรายได้ทุกวันขายไข่บ้าง ผักบ้าง ส่งให้กับคนวัยเกษียณและคนสูงอายุ ซึ่งเป็นลูกค้าประจำมีอยู่ประมาณ 10-20 ครัวเรือน สำหรับผลผลิตที่เป็นผักปลอดสารพิษในสวนก็จะไปขายที่โรงพยาบาลและตลาดศาลเจ้าที่แปลงโคก หนอง นา  “ตาตา -ยายเอี่ยม” เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนแถวนี้ด้วยจะมาทำร่วมสบู่บ้าง น้ำยาซักผ้า ปลอดสารเคมีบ้าง บางส่วนเอาไว้ใช้ หากไม่หมดก็เอาไปขาย ตอนนี้มีความสุขกว่าทำงานบริษัทเยอะ เพราะได้อยู่กับครอบครัวและได้ทำสิ่งที่ตนเองชอบ!!


จังหวัดเพชรบูรณ์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ 117 ตำบล 1,430 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ ประมาณ 7,917,760 ไร่ มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของประเทศ ลักษณะทางกายภาพของจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแบบท้องกระทะ ประกอบด้วยเนินเขา ป่า และที่ราบเป็นตอน ๆ สลับกันไป พื้นที่มีลักษณะลาดชันจากเหนือลงไปใต้ ตอนเหนือมีทิวเขาสูง ตอนกลางเป็นพื้นที่ราบและมีเทือกเขาขนาบกันไปทั้งสองข้างมีลักษณะเป็นรูปเกือกม้า มีแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำสายสำคัญโดยไหลจากจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ ผ่านไปสู่จังหวัดในภาคกลาง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตามลำดับ จึงส่งผลให้พื้นจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดินมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชทำการเกษตร โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังโรงงาน ถั่วเขียว ยาสูบ ยางพารา มะขามหวาน กะหล่ำปลี เป็นต้น 

การดำเนินการขับเคลื่อนแปลง โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นอกจากตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านแล้ว สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ระบุไว้ว่าจะมุ่งการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม และรวมทั้งมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกรรุ่นใหม่อีกด้วย



กรมพัฒน์ ร่วม NECTEC ดันแผนพัฒนาแรงงานด้าน AI เป้า 3 ปี 10,000 คน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดันแผนพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ เป้าหมาย 10,000 คน ในระยะ...