วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559


มท.จับมือ'บาเยิร์น' เปิดสอนครูปั้นแข้งเด็กไทยไปบอลโลก

 “มหาดไทย” จับมือ “บาเยิร์น มิวนิค” ทีมฟุตบอลดังเยอรมัน ปั้นแข้งเด็กไทยไปบอลโลก ดึงครูดีระดับโลกมาติวเข้มผู้ฝึกสอนครูไทยสู่ระดับสากล

              เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการสร้างเสริมและสนับสนุนทักษะด้านกีฬาฟุตบอลแก่เยาวชนไทยอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1 จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับบริษัท สปอร์ต ไทย- บาวาเรีย จำกัด ซึ่งเป็น Official Strategic Partnership กับทางสโมสรฟุตบอลบาเยิร์น มิวนิค ประเทศเยอรมัน

              นายสุทธิพงษ์  กล่าวว่าโครงการสร้างเสริมและสนับสนุนทักษะด้านกีฬาฟุตบอลแก่เยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ถูกพัฒนาจากแนวทางและวิธีการฝึกซ้อมฟุตบอลตามมาตรฐานสากล และได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับกิจกรรมกีฬาฟุตบอลของนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยถ่ายทอดแนวทางการพัฒนานี้ไปทางผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลประจำโรงเรียนทั่วประเทศ

              อย่างไรก็ตามเบื้องต้นทางผู้จัดทำโครงการฯ ได้กำหนดให้มีการฝึกอบรมผู้ฝึกสอนด้านฟุตบอล ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน จนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยเปิดฝึกอบรม รุ่นละ 40 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 รุ่น ตั้งแต่เวลา 08.00  - 19.30 น. โดยมีวิทยากรจากบริษัท สปอร์ต ไทย- บาวาเรีย จำกัด ได้แก่ Mr.Dennis Amato ตำแหน่ง Head of Academic  และ Mr.Ronald Boretti ตำหน่ง Director of Coaching ซึ่งทั้งสองคนเป็นโค้ชระดับ​ UEFA A-License เป็นผู้ฝึกสอน

              “เนื่องจากผู้ที่จะนำหลักสูตรเหล่านี้ไปเผยแพร่และฝึกสอนให้กับนักเรียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการอบรมจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อให้ผู้ฝึกสอนหรือครูพละศึกษานำหลักสูตรไปสอนนักเรียนได้อย่างถูกต้องตามวิธีการฝึกของสโมสรบาเยิร์น มิวนิค ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนนักฟุตบอลไทยที่มีความสามารถ และมีฝีมือทัดเทียมกับนักฟุตบอลในระดับสากลมากขึ้น ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างเสริมและสนับสนุนทักษะด้านกีฬาฟุตบอลแก่เยาวชนไทยได้อย่างยั่งยืน”

              นอกจากนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวฝากให้ครูอาจารย์และโค้ชของโรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่นที่โชคดีได้รับโอกาสจากกลุ่มวังขนาย สปอร์ตไทย บาวาเรีย และโค้ช ได้นำเอาความรู้เทคนิคต่างๆที่ได้จากอาจารย์จากบาร์เยินมิวนิคไปถ่ายทอดให้ลูกศิษย์และเด็กๆในพื้นที่ให้มีทักษะ ซึ่งความรู้ ในการเล่นบอลแบบบาร์เยินมิวนิค เพื่อช่วยกันปั้นเด็กๆให้เป็นกำลังสำคัญของทีมชาติไทยให้ได้ไปบอลโลก โดยเฉพาะในยุคนี้ฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆนอกจากทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงจิตใจดีงามแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ใช้เป็นอาชีพได้ด้วย และเหนืออื่นใดคือ ทำให้คนไทยทั้งชาติมีความสุขร่วมกันจากความสำเร็จของนักฟุตบอลนักกีฬาไทย จึงขอฝากให้ตั้งใจรับการถ่ายทอดและนำไปสอนเด็กๆของเราต่อไป

              ด้าน นายศวัสกร วิบุญวิริยะวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สปอร์ต ไทย-บาวาเรีย จำกัด กล่าวว่าจากนโยบายรัฐบาล “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”  คือการลดเวลาในห้องเรียนให้น้อยลง แต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่ควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนให้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมที่นักเรียนสนใจ เพื่อเพิ่มทักษะในการเรียนรู้นอกห้องเรียนและสามารถพัฒนาสู่เส้นทางสายอาชีพได้ในที่สุด ซึ่งกิจกรรมที่เป็นที่นิยมสูงสุดของเยาวชนไทย คือการฝึกฝนเพื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนไทยจะได้รับการฝึกฝนขั้นพื้นฐานตามรูปแบบมาตรฐานสากล

              ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทางบริษัท สปอร์ต ไทย-บาวาเรีย จึงได้จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลขึ้น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการเรียนการสอนด้านกีฬาฟุตบอลของนักเรียน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งฝึกสอนและพัฒนาทักษะให้แก่ครูพลศึกษา ผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอล ได้นำไปใช้ในช่วงเวลาของการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามนโยบายของทางรัฐบาล (ช่วงเวลา 14.30 – 16.00 น.)

              นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังสามารถนำไปปรับใช้กับการสอนในวิชาพละศึกษาตามหลักสูตรสามัญได้อีกด้วย โดยหลักสูตรนี้ถูกพัฒนาร่วมกันระหว่างโค้ชจากทั้งสองประเทศ  มีระดับการฝึกทั้งหมด 12 ระดับด้วยกัน (ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6) แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลาในการฝึกสอน หลักสูตรนี้จึงถูกปรับเปลี่ยนให้มีความเข้าใจง่ายและมุ่งเน้นในการปลูกฝังความรู้และความเข้าใจในการเตรียมตัวเพื่อเป็นนักกีฬาอาชีพ อีกทั้งรูปแบบการฝึกซ้อมที่จะสามารถนำไปฝึกฝนด้วยตนเองในเวลาอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน  การปลูกฝังสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความมุ่งมั่นและเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อสู่ความเป็นมืออาชีพต่อไป

              โดยผู้สนใจ โครงการสร้างเสริมและสนับสนุนทักษะด้านกีฬาฟุตบอลแก่เยาวชนไทยอย่างยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท สปอร์ต ไทย- บาวาเรีย จำกัด จะสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์. 02-716-1790-2 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป


ถกวาง5กรอบคุ้มครองและปกป้องศาสนา 

 ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. วันพุธที่ 31 สิงหาคม2559 นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนคุ้มครองศาสนาต่างๆในประเทศไทยตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 เพื่อหารือกรอบการทำงานร่วมกันของทุกศาสนาให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้าคสช.ดังกล่าวใน 5 แนวทางคือ

1.ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา 2. ส่งเสริมสนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมที่ถูกต้อง 3.อุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา 4.สร้างการรับรู้และเข้าใจระหว่างศาสนาต่างๆ และ 5.การประชาสัมพันธ์ในสังคมได้เข้าใจในกิจการศาสนาอย่างถูกต้อง

 และจากนี้ทุกองค์การศาสนาจะไปคิดวิธีการปฏิบัติและกลไกแนวทางต่อไป โดยหน่วยงานด้านศาสนาจะประชุมร่วมอีก 2 ครั้ง ให้แล้วเสร็จภายในที่ 31 ต.ค.นี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบก่อนวันที่ 22 พ.ย.นี้



โดยมีผู้แทนจากทุกศาสนาเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ผู้แทนฝ่ายพุทธศาสนาประกอบด้วยพระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ผู้แทนฝ่ายคริสต์ศาสนาคือมุขนายกยอห์น บอสโก ปัญญา กฤษเจริญ เหรัญญิกสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย มงซินญอร์ ดร. วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ที่ปรึกษาคณะกรรมการการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาว่า "กระบวนการการปลูกฝังคุณธรรมในทางพระพุทธศาสนา นั้น เรียกว่า ไตรสิกขา  สรุปแล้วการปลูกฝังคุณธรรมจะใช้ ๓ คำ คือการสอนให้รู้ ทำให้ดู และอยู่ให้เห็น เบญจศีล หรือศีล ๕ กับเบญจธรรมคือธรรมะ ๕ ประการแรกคือ เมตตา กรุณา  ข้อที่ ๒ คือทานหรือการให้ หรือมีจิตอาสา   ส่วนเรื่องกามสังวร คือการควบคุมตนเองไม่ให้ผิดลูกผิดเมีย   และเรื่องของสัจจะ ความซื่อสัตย์สุจริตที่จะมาเป็นฐานรองรับของศีลมุสาวาท สุดท้ายให้มีสติสัมปชัญญะ สติคือความรู้ตัว สัมปชัญญะคือปัญญา

 ................................

(หมายเหตุ - ที่มาของรูปจากเฟซบุ๊ก Varintorn Hema)

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559



ส่งผู้แทนมส.๓รูปร่วมประชุมหา'มาตรการคุ้มครองศาสนา'


การประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่  ๓๐ ส.ค.๒๕๕๙ ได้มีมติให้กรรมการมหาเถรสมาคม 3 รูปประกอบด้วยพระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส ร่วมประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามที่ คสช. มีคำสั่ง ม.๔๔ ที่ ๔๙/๒๕๕๙ มาตรการคุ้มครองศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย กําหนดมาตรการ-ความสมานฉันท์ทุกศาสนา ในวันที่ ๓๑ ส.ค.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล

..............
(หมายเหตุ :  คลิปจากhttps://www.youtube.com/watch?v=0rkxmoGPLZ0&feature=youtu.be)

ประชุมศาสนิกสัมพันธ์ตามคำสั่งม.44อุปถัมภ์ค้ำชูและคุ้มครองป้องกันศาสนา


วันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2559 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมกรมการศาสนา ชั้น 12 โดย นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา เป็นประธานการประชุมศาสนิกสัมพันธ์ ครั้งที่ 5/2559 เพื่อหารือกำหนดมาตรการและแนวทางดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ที่49/2559 ว่าด้วยการอุปถัมภ์ค้ำชูศาสนาและคุ้มครองป้องกันการบ่อนทำลายศาสนาต่างๆในประเทศไทย  โดยนางสาววรินทร เหมะ เป็นผู้แทนสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

.........................................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊กVarintorn Hema)

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

 
       'บิ๊กตู่'ไฟเขียวตั้งGlobal Monitoring Center ติดตามการใช้ภูมิปัญญาไทย 


           วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๙ คณะผู้จัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ นำโดย นพ.สุริยะ  วงศ์คงคาเทพ  อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เข้าพบนายกรัฐมนตรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชาสัมพันธ์งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๑ สิงหาคม – ๔ กันยายน ๒๕๕๙  ณ  ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อาคาร ๖-๘

           ในการเข้าพบนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  โดย  นพ.จรัญบุญฤทธิการ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาล  และ ภญ.ดร.สุภาภรณ์ปิติพร  รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทย  ได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้สนับสนุนการจัดตั้ง Global Monitoring Centerfor Thai wisdom หรือศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวการใช้ภูมิปัญญาไทย  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากภูมิปัญญาไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่านพ.จรัญ“จากการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติมาเป็นเวลา ๑๒ ปีนั้น  ทำให้เราทราบสมุนไพรไทยหลายชนิดที่คนไทยไม่รู้จักนั้นได้ถูกนำไปศึกษาวิจัยต่อยอดโดยต่างชาติแล้ว  เช่น  ประดู่ทุ่ง มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีในฐานข้อมูลให้ใช้เป็นส่วนประกอบเป็นเครื่องสำอางได้ในยุโรป  ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้”

           ในปี 2559 ตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั่วโลกจะสูงถึง 107 พันเหรียญสหรัฐ  ในขณะที่ตลาดสมุนไพรมีขนาดใหญ่ขนาดนี้ และประเทศก็จัดเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง  มีภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพที่เก่าแก่  มีความถนัดทางด้านเกษตรกรรม  แต่กลับสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาเพื่อประโยชน์ทางด้านสุขภาพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศได้น้อยมากดังนั้นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ฯ จึงได้เสนอนายกรัฐมนตรีให้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวการใช้ภูมิปัญญาไทย อันจะเป็นทางลัดในการหายาใหม่จากสมุนไพรเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับสัตว์ โดยที่ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการศึกษาวิจัยสมุนไพรไทย  เนื่องจากศูนย์จะมีการรายงานความเคลื่อนไหวทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เกิดการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่ตรงกับความต้องการตลาดโลก  สามารถวางแผนการปลูกสมุนไพรและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีความเหมาะสม

           ภญ.ดร.สุภาภรณ์ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการขอรับการสนับสนุนว่า “การขอรับการสนับสนุนการจัดตั้ง Global Monitoring Centerfor Thai wisdom นี้จะขอดำเนินการที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรก่อนเป็นแห่งแรก เนื่องจากจังหวัดปราจีนบุรีเป็นหนึ่งในเมืองสมุนไพร  (Herbal city) ที่ภาครัฐกำลังผลักดันอยู่  ประกอบกับทางโรงพยาบาลเองมีความพร้อมของข้อมูลการติดตามการเคลื่อนไหวการใช้ภูมิปัญญาไทยมาระดับหนึ่ง  และพร้อมที่จะเผยแพร่ฐานข้อมูลให้กับภาคเอกชน โดยการขอรับการสนับสนุนจะประกอบด้วย กำลังคน ได้แก่ เภสัชกรด้านสมุนไพร และบุคลากรประจำศูนย์  และการเข้าถึงฐานข้อมูลการวิจัยและสิทธิบัตรนานาชาติ  ที่จะทำให้การสืบค้นข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องไว้ และบอกว่าให้ดำเนินการได้เลย พร้อมกับกำชับว่า สมุนไพรเป็นภูมิปัญญาไทยที่ต้องส่งเสริม ซึ่งจะต้องสร้างการรับรู้ที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับอันตรายจากการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้อง พร้อมขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจดสิทธิบัตร และให้ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ให้เป็นสินค้า OTOP รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมสมุนไพรอย่างจริงจัง เพื่อให้มีมาตรฐาน สามารถนำขึ้นไปจัดจำหน่ายบนเครื่องบินได้

คลิปย้อนหลังน้ำท่วมปี54ทำงานบนหลังคาปลูกผักลอยน้ำ 
ทำงานบนหลังคาปลูกผักลอยน้ำยังชีพยามน้ำท่วม-การเป็นอยู่ของชาวซอยกันตนา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ช่วงประสบภัยน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.2554เป็นต้นมา ต้องทำทำงานบนหลังคาบ้าน ปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉดลอยน้ำยังชีพให้อยู่รอด นอกจากนี้ยังแก้ปัญหาท่อน้ำทิ้งชั้นสองต้นโดยใช้วิธีกาลักน้ำระบายออก
‘ต้นกล้ามัคคานุคา’ปลุกกระแสป้องวัยโจ๋ฝ่ามรสุมดิจิตอล  

‘โครงการต้นกล้ามัคคานุคา’ ปลุกกระแสสังคมไทยกับ สร้างเกราะป้องกันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตให้เป็นในโลกยุคดิจิตอล

             ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนไทยตกอยู่ในความเสี่ยงหลายด้าน เนื่องจากการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องต่างๆ มาจากเครื่องรู้และสิ่งที่รับรู้ เรียกว่าอายตนะ ทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่ามกลางอันตรายจากโลกของการสื่อสาร หมายถึงจิตที่หลงไปกับสื่อต่างๆ ทั้งสื่อทีวี สื่อออนไลน์ เกม ที่อยู่รอบตัวและเข้าถึงได้ไม่ยากในยุคสมัยนี้

             ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในความเสี่ยงเหล่านี้ จนเกิดปัญหาในการเรียนรู้ในยุคของการสื่อสารไร้พรหมแดน อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร กาทำแท้ง ความรุนแรง ติดเกมส์ ก่ออาชญากรรม และยาเสพติด จนกลายเป็นปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคม แต่

             ในอีกมุมหนึ่งครอบครัว พระธรรม โรงเรียน มีส่วนสำคัญที่จะสามารถสร้างเกราะป้องกันให้กับปัญหาเหล่านี้ได้โดยอาศัยความร่วมมือ

             “โครงการต้นกล้ามัคคานุคา” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะช่วยสร้างเกราะป้องกันให้เด็กและเยาวชนในยุคสมัยนี้

             โดยใช้รูปแบบของการบูรณาการการเรียนการสอน กับการฝึกสติสัมปชัญญะ ควบคู่ไปกับเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือครอบครัว เป็นการผสานความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร ในยุคสมัยก่อนที่บ้าน วัด และโรงเรียน ต่างเชื่อมโยงเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการนี้เพื่ออบรมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็กและเยาวชน เป็นการสร้างเกราะป้องกันที่ติดตัวไปจนเติบใหญ่ โดยบูรณาการการเรียนการสอนกับการฝึกสติสัมปชัญญะ

             พร้อมกับสร้างครอบครัวและนักเรียนแกนนำ “ต้นกล้ามัคคานุคา” รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้เยาวชคนรุ่นใหม่มีจิตสาธารณะ รู้จักการเสียสละเพื่อส่วนรวม มีน้ำใจแห่งคุณธรรม (จาคะ) และเป็นพลเมืองอันพึงประสงค์ให้กับสังคม

             สำหรับเป้าหมายสำคัญของโครงการ “ต้นกล้ามัคคานุคา” เพื่อให้โรงเรียนเห็นความสำคัญของการนำพระธรรมเข้ามาบูรณาการ การเรียนการสอนโดยใช้การฝึกสติสัมปชัญญะ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 รวมถึงครอบครัวที่มีเด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 3-6 จำนวน 30 ครอบครัว (เฉพาะในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หรือจังหวัดที่มีความพร้อมในการจัดการอบรม)


             โดยเปิดรับสมัครจากโรงเรียนทั่วไปที่สนใจ ตั้งแต่วันที่ 1-30กันยายน 2559 ช่วงเวลาดำเนินกิจกรรม ตั้งแต่19-28 กุมภาพันธ์ 2560 ประกาศผลในวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 และมอบรางวัลเดือนมิถุนายน 2560

             ทั้งนี้โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจะต้องมีการจัดรูปแบบของกิจกรรม ดังนี้ ครูผู้สอนเข้าคอร์ส ปฎิบัติธรรมการฝึกสติสัมปชัญญะกับ

             โครงการ การจัดอบรมนักเรียนให้รู้จักการฝึกสติสัมปชัญญะ และประโยชน์ที่ได้รับ จัดให้เมีการท่องพระสูตร คำสอนจากพุทธโอษฐ์ หน้าเสาธงหรือในชั้นเรียน จัดให้นักเรียนเจริญสติสัมปชัญญะก่อนการเรียนทุกครั้ง ให้นักเรียนทำความเข้าใจจากการฝึกสติสัมปชัญญะ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงของนักเรียน ทั้งในห้องเรียน ในโรงเรียนและที่บ้าน (โดยให้นักเรียนบันทึกผลที่ได้นำไปใช้)

             เชิญผู้ปกครอง เพื่อรับทราบรายละเอียดของโครงการ จัดกิจกรรมคัดเลือก “ต้นแบบต้นกล้ามัคคานุคา” ของโรงเรียน สนับสนุนนักเรียนเข้าร่วมโครงการ “ครอบครัวต้นกล้ามัคคานุคา”

             อย่างไรก็ตามโรงเรียนที่ผ่านการพิจารณาการบูรณาการการเรียนการสอนกับการฝึกสติสัมปชัญญะในชั้นเรียนจะได้รับรางวัล 10,000 บาท

             พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ส่วนคุณครูที่ดำเนินกิจกรรมในห้องเรียนที่รับผิดชอบ เหรียญทอง ได้รับรางวัลห้องเรียนละ 15,000 บาท เหรียญเงินห้องเรียนละ 10,000 บาท และเหรียญทองแดงห้องเรียนละ 8,000 บาท พร้อมโล่และใบประกาศเกียรติคุณ ส่วนครอบครัวต้นกล้ามัคคานุคา นักเรียน ครู และโรงเรียนจะได้รับรางวัลสูงสุด 10,000 บาท

เปิดรับสมัครในเดือนกันยายนนี้ ท่านที่สนใจสามารถติดตามข่าวการรับสมัครได้จากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/buddhawaybuddhawords/?ref=page_internal เฟสบุ๊ก ต้นกล้ามัคคานุคา




มมร.อส.โครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่เขตลุ่มแม่น้ำโขง2559
 พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ศากยะ) บรรยายเรื่องการเผยแผ่ในศตวรรษที่21 ในโครงการพัฒนาศักยภาพพระนักเผยแผ่เขตลุ่มแม่น้ำโขง ปี2559 ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น ภาคเช้า27สค.59 ... มีพระนักเผยแผ่จาก 6ประเทศร่วมโครงการ คือ ไทย เมียนม่าร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ประมาณ70รูป (หมายเหตุ : ข้อมูลจาก https://www.youtube.com/watch?v=PEVQIX9TlLo)
จัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติครั้งที่ ๘ เปิดตัวโครงการ '๗๐ บุคคลต้นแบบ ๗ ล้านความดี' 

 วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. ห้องประชุมชั้นที่ ๑๒ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานกรรมการจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ และนายสิน สื่อสวน ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม มงซินญอร์ ดร วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

 ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘” รวมพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม พร้อมเปิดตัวโครงการ “๗๐ บุคคลต้นแบบ ๗ ล้านความดี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๘๔ พรรษา ในวันที่ ๑ – ๒ กันยายน ๒๕๕๙ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. ณ อาคารรอิมแพคฟอรั่ม ๑ ฮอลล์ ๙ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ๗๗ องค์กรภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น

 .......................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Varintorn Hema)
ถ้ำอชันต้า อาจันต้า อชันตาเป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใกล้ถ้ำนั้น ห่างจากเมืองออรังกบาดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 104 กม. เป็นสถานที่มีการขุดเจาะภูเขาเข้าไปเป็นถ้ำ เรียงกันถึง 30 ถ้ำ สำหรับถ้ำเหล่านนี้ใช้เป็นห้องโถงสำหรับสวดมนต์ และประกอบศาสนกิจ รวมถึงเป็นที่พำนักพระสงฆ์ จะเรียกว่าเป็นวัดถ้ำในพุทธศาสนาก็ว่าได้ ที่มา:https://www.youtube.com/watch?v=VVO8HaItDkY&feature=youtu.be

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พุทธสันติวิธีแก้โรคซึมเศร้าป้องเหตุฆ่าตัวตาย

ทุกครั้งที่มีข่าวบุคคลฆ่าตัวตายไม่ว่าสาเหตุใดๆ ก็ตาม ย่อมสร้างความสะเทือนขวัญกับผู้ที่รับข่าวสารนั้น ยิ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงด้วยแล้ว และเย็นวันที่ 28 ส.ค.2559 นี้ก็เกิดเหตุสาวนิรนามกระโดดคอนโดย่านถนนพระราม 3 เสียชีวิต อย่างเช่นกรณีล่าสุดทราบสาเหตุเกิดจากโรคซึมเศร้า โดยเกิดจากฐานจิตว่าหากร่างกายไม่มีอยู่ในโลกนี้แล้วจะหมดทุกข์ แต่ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แล้วจะมีทางแก้ไขอย่างด้วยวิธีการใด วิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ผลมากน้อยเพียงใด

ล่าสุดมีการแชร์ข้อมูลของ ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์ สำนักสื่อธรรมะ (http://dhamma-media.blogspot.com/2016/08/blog-post_96.html?m=1)  ที่กล่าวถึงเรื่องราวของแพทย์หญิงพจนีย์ พงษ์ประภาพันธ์ ชีวิตของเธอก็เจริญรุ่งเรื่องในหน้าที่การงาน แล้วอยู่ๆ ความเจ็บป่วยก็มาเยือนเธอด้วยโรคหมอนรองกระดูกแตกโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง หมดทางรักษาทางวิทยาศาสตร์ เธอได้หันมารักษาทางธรรมศาสตร์จากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ในที่สุดเธอก็หายกลับมาทำงานเหมือนเดิม

นั่นก็แสดงให้เหตุว่า ธรรมศาสตร์ สามารถรักษาโรคได้ สูตรยาที่ใช้ในการรักษาคือโพชฌงค์ 7 แต่หัวใจของสูตรยานี้อยู่ที่ "สติ" นั้นก็คือหลักสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง

แล้วโรคซึมเศร้าจะใช้ยาเม็ดไหนในสติสติปัฏฐาน ๔ พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ได้ยกกรณีนี้เป็นตัวอย่างศึกษาแก่นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา หลังจากได้ทำวัตรปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔ แล้วว่า กรณีนี้ต้องใช้จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานคือการตามรู้ความคิด เมื่อคิดก็ให้กำหนดว่า "คิดหนอ" แล้วความคิดความฟุ้งซ้านก็จะค่อยๆหายไป แล้วกลับมากำหนดพอง ยุบ หรืออารมณ์ที่ปรากฏชัด ปฏิบัติเช่นนี้ไปเลื่อยๆ โรคซึมเศร้าก็จะหายไป

เกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าตามหลักโพชฌงค์ 7 มีงานวิจัยจาก มจร รองรับชัดเจน


 สานพลังภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย



สสส.สานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย พบ 1 ใน 5 เด็กเล็กพัฒนาการล่าช้า เดินหน้าพัฒนาเครือข่ายกลไกพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด 23 แห่ง เผยเคล็ดลับวาง 6 ระบบ พัฒนากลไกระดับจังหวัดเชื่อมต่อการทำงานระดับตำบลและศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ

            เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่โรงแรมโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการ “สานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ขยายผลสู่การขับเคลื่อนระบบและกลไกระดับจังหวัด” โดยมีองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้ปกครองและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เครือข่ายที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่การผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนระบบและกลไกการทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดที่เป็นรูปธรรม

            ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี เป็นโอกาสทองของการพัฒนาเพราะเป็นช่วงที่สมองพัฒนาถึง 80% จึงเป็นโอกาสสำคัญในการจัดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมกับวัย อย่างไรก็ตามยังมีเด็กปฐมวัยอีก 12% ที่ขาดโอกาสในการเตรียมความพร้อม จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2555 พบว่า มีเด็กจำนวน 365,506 คน จากจำนวนเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี 4,585,759 คน หรือ คิดเป็น 12% ของเด็กในช่วงอายุ 2-5 ปี ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงปฐมวัย นอกจากนี้ยังพบ 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัย มีพัฒนาการล่าช้า จากการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 3.5 ปีทั่วประเทศ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

            ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้มีมติให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ภายในปี 2559 กลไกการทำงานของจังหวัดจึงเป็นรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจที่ท้องถิ่นลุกขึ้นเป็นเจ้าของรับผิดชอบและดูแลลูกหลานของเขาเอง สสส.ในฐานะองค์กรที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบและเครือข่ายการทำงานจึงสนับสนุนตัวอย่างกลไกเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่าง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข ท้องถิ่น และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จึงเป็นการนำองค์ความรู้จากการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดกลไกระดับจังหวัด ทั้ง 23 จังหวัด ที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยและแผนปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด

            รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการบริหารและจัดการหน่วยวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย สสส. กล่าวว่า จากศึกษาสถานการณ์ปัญหาและความต้องการการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยของชุมชนร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ท้องถิ่น ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคนในชุมชน จำนวน 15 จังหวัด และนำสู่การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีศักยภาพสามารถเป็นแม่ข่ายที่มีคุณภาพ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ระบบบริหารจัดการ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ระบบการดูแลสุขภาพ และระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญในระดับตำบลขยายผลไปสู่ระดับจังหวัด แต่ปัญหาที่พบคือยังขาดการบูรณาการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย จึงไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในระดับจังหวัด และไม่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับระดับชาติได้

            รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง กล่าวว่า การมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด เพื่อกำหนดนโยบาย ติดตามผลการทำงาน สนับสนุนความรู้และทรัพยากรในการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปิดช่องว่างและทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในระดับจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลไกของจังหวัดควรมีองค์ประกอบสำคัญใน 6 ระบบ โดยแบ่งเป็น ระบบสนับสนุน 3 ระบบ ได้แก่ 1)การบริหารจัดการ 2)สารสนเทศ 3)การมีส่วนร่วมของภาคีและเครือข่าย ระบบหลัก 3 ระบบ ได้แก่ 1)การจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย 2)ฐานข้อมูล 3)การพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ระบบฐานข้อมูลคือหัวใจในการนำมาวิเคราะห์ นโยบาย วิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นสถานการณ์เด็กจากข้อมูลที่เป็นจริงสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

"ความมหัศจรรย์ของสัจนิยมในศิลปะ และสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรม" 




"ความมหัศจรรย์ของสัจนิยมในศิลปะ และสัจนิยมมหัศจรรย์ในวรรณกรรม" (ตอนที่ 1) วิทยากรคือ ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ์ และ รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ณ ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ มธ.(ท่าพระจันทร์)
อภัยภูเบศรแนะรัฐ ส่งเสริมวิจัยเครื่องสำอางสมุนไพรจากฐานภูมิปัญญา ดันดุลการค้าบวก 

            ในปัจจุบันผู้คนต่างให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพอนามัย การเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี  ในปี 2558 เครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 9 หมื่นล้านบาท

            แต่ในขณะเดียวกันการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้น  อย่างในปี 2558 มีมูลค่านำเข้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท  ถึงแม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าการส่งออก  แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง  เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นสินค้าแฟชั่น ความนิยมโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นขึ้นกับกระแสความนิยมในดาราต่างชาติ ดังนั้นการพัฒนาเครื่องสำอางเพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำเป็นต้องมีงานวิจัยสนับสนุน

            มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ธุรกิจเพื่อสังคมชั้นนำ ที่มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประเทศ  ได้เสนอแนะภาครัฐให้ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางจากภูมิปัญญาไทยเพื่อสร้างดุลการค้าด้านบวก  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร  ผู้แทนกรรมการบริหารของมูลนิธิ ฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาเครื่องสำอางจากสมุนไพรที่ผ่านมา  เราได้นำภูมิปัญญาสมุนไพรไทยมาใช้เป็นฐานในการพัฒนา  ประกอบกับค้นคว้าการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยนั้น ๆ จากการทำงานกว่า 20 ปี  เราค้นพบสิทธิบัตรของสมุนไพรไทยที่ถูกจดโดยต่างชาติแล้วมากกว่า 100 ฉบับ  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพและปลอดภัย  และมีศักยภาพที่สามารถมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 นี้ จะมีการรวบรวมสมุนไพรที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางได้หลากหลายชนิด


            โดยเฉพาะเรื่องฝ้าที่นับเป็นปัญหาของหญิงไทย เราก็จะนำเสนอสมุนไพรที่ใช้ได้ดีกับฝ้า  ที่บางชนิดมีงานวิจัยและสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว อย่าง มะขามป้อม  ใบฝรั่ง หัวกลอย  มะหวด  ดู่ท่ง ตาลเดี่ยว  เมล็ดบานเย็นและผักเบี้ยใหญ่  หรือกระแสของเวชสำอาง หรือ Cosmeceuticalsที่รวบรวมคุณสมบัติของเครื่องสำอางกับยาไว้ด้วยกันนั้น ก็มีสมุนไพรที่น่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นเวชสำอางต่อได้  อย่างอัญชัน  ขมิ้นชัน  บัวบก  รางจืด  ว่านหางจระเข้  ดาวเรือง ความรู้เหล่านี้เรารวบรวมไว้ในหนังสือบันทึกแผ่นดิน 9 สมุนไพรในภาวะโลกร้อน  ที่แจกจ่ายให้กับประชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจฟรีวันละ 200 เล่มในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ  เราหวังว่าองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่บันทึกในหนังสือจะจุดประกายให้ผู้ประกอบการหรือภาครัฐนำสมุนไพรไทยไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอางและเวชสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ  ลดการนำเข้าได้มากขึ้น”

            ผู้สนใจสมุนไพรและความรู้ภูมิปัญญาสามารถเข้าร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2559  อิมแพ็คเมืองทองธานี อาคาร 6-8  




กรมการค้าต่างประเทศบุกเมียนมานำร่องแสดงสินค้าที่ตองจี 

 เปิดประวัติศาสตร์การค้าไทย-เมียนมา ภายใต้การขับเคลื่อนของกรมการค้าต่างประเทศเดืนหน้าบุกตลาดชายแดน จัดงานThailand Festival @Shan เป็นครั้งแรกประเดิมทีเมืองตองจี เมื่อเวลา10.00น. วันที่ 26 ส.ค.ที่National State Stadium รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ไทย ร่วมหอการค้าเชียงราย และรัฐฉาน จัดงานThailand Festtival @Shan เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.หลิน ทุด มุขมนตนีรัฐฉานมาเป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมกับนายอู โซว หยุ้น ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังมีคณะรัฐมนตรีของรัฐฉาน ที่มาร่วมในพิธีเปิดคือ ดร.หงี่ หงี่ อ่อง รัฐมนตรีกระทรวงอนุรักษ์สี่งแวดล้อมและป่าไม้ ท่านจาย ซัน ติป หลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยประธานร่วมจากประเทศไทยคือนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ โดยการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมืออันดีจากหอการค้าจังหวัดเชียงราย สมาคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจไทย-เมียนมา สาขาเชียงราย หน่วยประสานงานชายแดนไทย เมียนมา ประจำพื้นที่ 1และหอการค้าตองจี หอการค้ามูเซน้ำคำ หอการค้าเชียงตุง และหอการค้าท่าขี้เหล็ก โดยมีผู้ประกอบการไทย และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำสินค้าเข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่า 132 ราย 

นายอู โซว หยุ้นลวิน รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้นักลงทุนชาวต่างประเทศได้เข้ามาทำการค้า การลงทุนด้วนการร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนมากขึ้น และการจัดงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นการขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เมียนมาได้เป็นอย่างดี โดยทางรัฐฉานมีนโยบายให้เกิดการค้าแบบโปร่งใสระหว่างกัน และท่าเทียมกัน รวมถึงการยกระดับการค้าให้ถูกต้อง

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ทางกรมการค้าต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับทางรัฐบาลเมียนมา นำนักธุรกิจจากย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์ เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือ “เย็นดี YEN-D” ( Young Entrepreneur Network Development Program ) ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งไทย และเมียนมา และในครั้งต่อไปจะเชิญนักธุรกิจจากรัฐฉานมาร่วมโครงการดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดการสร้างเคริอข่ายทางการค้า และต่อยอดทางธุรกิจระหว่างกันต่อไป

นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จังหวั ดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการขยายการค้า การลงทุนร่วมกัน และเชื่อว่าโอกาสหน้าจะเกิดคสามสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากนั้น ในวันเดียวกันที่ โรงแรมรอยัลตองจี รัฐฉาน

ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้เป็นตัวแทนเซ็นบันทึกความจำ MOU กับ 4 หอการค้า3ภาคของรัฐฉาน คือ หอการค้ามูเซน้ำคำ ติดชายแดนจีน หอการค้าตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน หอการค้าเชียงตุง เมืองเอกของฉานตะวันออก และหอการค้าท่าขี้เหล็ก ติดชายแดนไทย เป็นข้อตกลงในความร่วมมือบนพื้นฐาน ของกฎระเบียบของ2ประเทศและแลกเปลี่ยน ด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เกษตรกรรม การศึกษา แรงงาน วัฒนธรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยการเซ็น MOUโดยมีนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผวจ.เชียงราย และหัวหน้าส่วนราชการสมาชิกหอการค้า และนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน
ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ฯ
แนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดย พระพรหมบัณฑิต !

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559


'วีระ'เปิดศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดไทยนอร์เวย์ 
ยกเป็นเครือข่ายร่วมส่งเสริม สนับสนุน การอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวัฒนธรรมไทยในประเทศนอร์เวย์และใกล้เคียง

            ในโอกาสที่นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเดินทางไปเป็นประธานเปิดงานไทยแฟร์ ออสโล ที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย จากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ออกบูธอาหารไทย และสินค้าโอทอป เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น


            วันที่ 21 สิงหาคมนายวีระ พร้อมคณะได้เดินทางไปที่วัดไทยนอร์เวย์ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดไทยนอร์เวย์ โดยมีพระวิมลศาสนวิเทศ เจ้าอาวาส และรองประธานสหภาพพระธรรมทูต ในทวีปยุโรป ,นายจักร บุญ-หลง เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล , Marianne Grimstad Hansen ,Sørum Ordfører พร้อมทั้งข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม และชาวไทยในนอร์เวย์ มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก


            ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดตั้งให้วัดไทยนอร์เวย์เป็นเครือข่ายศูนย์วัฒนธรรม ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์กิจกรรมด้านวัฒนธรรมในประเทศนอร์เวย์และใกล้เคียง





            และวันที่ 22 สิงหาคม พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เยี่ยมชมการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ซึ่งจำพรรษา ณ วัดไทยนอร์เวย์ด้วย

........................
(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Wat Thai Norway วัดไทยนอร์เวย์)

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559



สุดเจ๋ง!คลิปเปลี่ยน Smartphoneกลายเป็น Laptop 

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=q2xgvOQD4v4

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เด็กไทยไล่จับโปเกม่อนโกเด็กออสเตรเลียไล่จับสติ 

ปัจจุบันนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไทยฮิตไล่จับโปเกม่อนโก ทำให้ตำรวจต้องสั่งห้ามขณะขี่จยย.เสียชีวิตไปแล้วก็หลายราย ด้วยเหตุนี้สถิติการศึกษาไทยจึงอยู่อันดับ 8 ของอาเซียน ซึ่งเราห่วงกันมากเรื่องเด็กสมาธิสั้น แต่ก็ไม่มีมุ่งเน้นฝึกกันอย่างจริงจังได้แต่มานั่งบ่น

ต่างจากโรงเรียนทั่วรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเว็บไซต์ http://www.winnews.tv/news/6818 ได้เสนอรายงาน ปังมาก! "โรงเรียนทั่วรัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย ฮิตการฝึกสติ เด็ก5ขวบก็ฝึกสมาธิทุกวัน" โดย Aksornsiri พร้อมกับมีภาพประกอบจาก: http://www.google.com ความว่า มีการแก้ปัญหาเด็กติดสมาร์ทโฟนสมาธิสั้น โดยการให้เด็กนักเรียนได้นั่งสมาธิ ครั้งละ 5นาที โดยทำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นอยู่กับอายุของเด็ก

เด็กนักเรียนที่อายุน้อยๆจะได้รับการสอนให้จดจ่อกับการหายใจและมีความผ่อนคลายโดยมีเครื่องมือช่วยเช่น แอพพลิเคชั่นสมาธิยิ้ม ( http://smilingmind.com.au/)  ขณะที่นักเรียนที่อายุมากขึ้นจะได้ฟังข้อความที่ลึกซึ้งมากขึ้น

ผลดังกล่าวส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเกิดจากผลงานของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ และการฝึกสมาธิปัจจุบันนี้ได้รับความสนใจไปทั่วโลก
การสื่อสารแบบเครือข่ายช่วยยกระดับการศึกษา
ฝึกสื่อสารกับตนเองจนถึงจิตเดิมแท้ถึงจะมีพลังในการไกล่เกลี่ย

ผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาษอันดับแรกจะต้องรู้จักสื่อสารกับตัวเองก่อนถึงจะสามารถทำหน้าที่ได้ดี สื่อสารให้รู้จักตัวตนของเราเป็นอย่างไร สื่อสารให้ถึงจิตเดิมแท้(ภวังคจิต)ของเราเป็นอย่างไร ถึงจะทำให้เรารู้จักฟังผู้อื่น  จะสามารถเข้าจิตใจของคนอื่นอย่างแท้จริง เอาภาพของเราใส่กล่องเอาไว้หรือเรียกว่าเป็นการล้างสมองให้สะอาดก่อนที่จะทำหน้าที่ และจะต้องเป็นผู้มีวินัยเพราะจะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพและต้องศึกษาหาความรู้อยู่เสมอโดยเฉพาะภาษาของผู้ที่เราเข้าไปไกล่เกลี่ยและที่สำคัญคือภาษาใจของเขา
วันที่ ๒๔ ส.ค.                     
Dr.Roland  B.Wilson กล่าวว่า..พื้นฐานของมนุษย์มีความต้องการเหมือนกันซึ่งมาร์สโลแบ่งออกเป็น ๕ ขั้น หากไม่ตรงกันย่อมเกิดความขัดแย้งทั้งเชิงเดียวเชิงซ้อนเชิงโครงสร้างและพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางตรง โครงสร้างและวัฒนธรรม วิธีการที่จะระงับความขัดแย้งไม่ใช้พัฒนาเป็นความรุนแรงเชิงลบจะต้องใช้มาตรการด้วยการประนอมไกล่เกลี่ยเชิงป้องกัน และจะต้องพัฒนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับโลก 

                             Nino Kukhianidze กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างจอเจียกับรัสเซียใช้วิธีการเจรจาการพูดคุยสันติภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่ม   วิธีที่จะเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งคือ ระบบการศึกษา ปฏิรูปการศึกษาเพื่อนำไปสู่สันติภาพ  ต้องมีแนวทางใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหา จอเจียมีความเชื่อใจสหรัฐอเมริกามากกว่าประเทศอื่นๆ 

                          ผู้แทนจากออสเตรเลีย   เยอรมัน  สิงคโปร์    ไทย     นิวซีแลนด์  สหรัฐอเมริกา  ไทย   สันติศึกษา และแคนนาดา แบ่งปัน ประนอมเป็นทักษะที่ต้องฝึกอยู่บ่อยครั้ง มิใช่ฝึกมาแล้วจะเป็นเลย  ทักษะการฟังจึงมีความสำคัญมาก  เราต้องฝึกทักษะการประนอมกับคนในครอบครัว หลักสูตรการฝึกอบรมให้ยาวขึ้น อย่างน้อย ๒๐๐  ชั่วโมง   เพื่อหาตกลงร่วมกัน   เรานำคนทั่วสหรัฐมาพัฒนาฝึกอบรมในด้านการประนอม เป็นศูนย์แห่งชุมชน  ฝึกอบรมจำนวน ๔๐ ชั่วโมง   ความขัดแย้งในทางครอบครัว

Mr.Ethelwald O. Mender มาจากอินเดีย กล่าวว่า การประนอมเกิดขึ้นสมัยกรีกโบราณ  ซึ่งพระพุทธศาสนาสนับสนุนระงับข้อพิพาทจัดให้การพูดคุยกันถือว่าเป็นที่ดีมาก  เราต้องเข้าใจเหตุของความขัดแย้ง ต้องเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง  เพราะจะไม่ทำให้เกิดความรุนแรง  การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งมีหลายมิติ ดั้งนั้น  "งานไกล่เกลี่ยจึงเป็นงานที่มีความท้าทายมาก  สิ่งสำคัญความขัดแย้งในชุมชน คือ เราจะหาเป้าหมายร่วมกัน  ต้องลดการแสดงความรุนแรง ให้ทุกคนมีบทบาทร่วมกัน มีการเยียวยาด้วย  ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นความขัดแย้ง ผู้นำชุมชนจึงต้องใส่ใจ ดั้งนั้น  " ผู้ประนอมต้องประสานความต้องการที่มีความแตกต่างกัน "   ย้ำว่า...ความขัดแย้งในชุมชนขึ้นบันไดเลื่อนไม่ได้ แต่ต้องเดินทีละก้าว 

" Sports  Diplomacy : a tool  for helping  mediating  conflicts "

                   เป็นการส่งเสริมข้อพิพาทด้วยการกีฬา  Dr.Soyoung  Kwon   จากเกาหลี กล่าวว่า นักกีฬาจจะทำเกิดสันติได้อย่างไร ? เราจะใช้กีฬาเพื่อเป็นข้อประนอมได้อย่างไร?  

กีฬามีพลังที่เปลี่ยนแปลงโลกได้ power of Sport สามารถผ่าทางตันได้ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้มีความขัดแย้งมา ๗๐ ปี  ก็มีการสร้างกีฬาเป็นเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์ นำมาซึ่งความผูกพันซึ่งกันและกัน

เอาความขัดแย้ง รุนแรง สงคราม มาเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ     

Legislative  Developments  in Singapore  on Mediation
                Mr.Andy  Yeo กล่าวว่า  การร่างกฎหมายการประนอมของสิงคโปร์  ตั้งเป็นศูนย์ข้อพิพาท
ไทยเหมาะในการประนอมเพราะเป็นประเทศที่รักสันติ  ไทยมีรากเหง้าด้านสันติภาพอยู่แล้ว  ทางสิงคโปร์มีการร่างกฎหมายในการประนอม ผู้ประนอมต้องผ่านการรับรองคุณภาพคุณสมบัติ ที่สำคัญมีการกำหนดมาตรฐาน เพื่อใช้เป็นวิชาชีพ  คนที่ไม่ใช่นักกฎหมายสามารถเป็นผู้ประนอมได้อย่างดี  แต่นักหมายอาจจะใช้อำนาจบังคับ เพราะเขาต้องการหารายได้จากคู่กรณี  ทุกอาชีพเป็นสามารถเป็นผู้ไกล่เกลี่ย


Geert Hofstede เขาวิเคราะห์มิติของสังคมเป็น 5 มิติ

1. Small vs. large power distance - ในสังคมนั้น ถ้าคนที่อยู่ระดับสูงกว่า (พ่อแม่ รุ่นพี่ อาจารย์ หัวหน้า ..) ทำอะไรผิด ผู้ที่อยู่ระดับต่ำกว่า กล้าที่จะตำหนิหรือพูดอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่? (Democratic vs Autocracy)

2. Individualism vs. collectivism - สังคมคาดหวังให้คนในสังคม ทำงานเดี่ยว มีเป้าหมายและบุคคลิกเป็นอิสระจากกัน หรือคนในสังคมอยู่เหนี่ยวแน่นกันเป็นกลุ่ม เช่นครอบครัว ศาสนา ชุมชน

3. Masculinity vs. femininity - การแข่งขัน ความมั่นใจในตัวเอง ความทะเยอทะยาน (Masculinity) vs มนุษยสัมพันธ์ และคุณภาพชีวิต (femininity)

4. Weak vs. strong uncertainty avoidance - คนในสังคม ชอบวิธีการต่างๆ ที่ตายตัวมั่นคง เช่นกฏกติกา ศาสนา การไม่เปลี่ยนที่ทำงาน หรือชอบการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการตีกรอบ

5. Long vs. short-term orientation - ให้ความสำคัญกับอนาคต เช่นความแน่วแน่ การประหยัดอดออม ความละอาย หรือให้ความสำคัญกับปัจจุบัน เช่นการรักษาหน้าตัวเอง ราคาหุ้น การทักทาย ให้ของข


....................
(หมายเหตุ :ภาพจาก Pramote Od)

การศึกษาต้องไม่‘หนุน-ใช้’ความรุนแรง

การศึกษาต้องไม่‘หนุน-ใช้’ความรุนแรง แนะนำ‘พุทธวิถีสร้างสันติภาพโลก’ : พระปราโมทย์ วาทโกวิโทและสำราญ สมพงษ์ มหาบัณฑิต สันติศึกษา มจร รายงาน
            เกิดความสะเทือนขวัญเป็นอย่างมากกับวงการการศึกษาไทย เมื่ออาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษาถึงขึ้นระดับปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ก่อเหตุยิงเพื่อนอาจารย์ที่มีวุฒิการศึกษาระดับและสถานบันเดียวกัน นับเป็นดัชนีชี้วัดได้ประการหนึ่งว่าเป็นเพราะอะไรการศึกษาไทยถึงอยู่ระดับ ๘ ของประเทศในกลุ่มอาเซียน จนกระทั้งมีเสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา ๔๔ ผ่าตัดอุดมการศึกษาไทย ดังนั้น แนวทางการศึกษาไทยควรจะเป็นอย่างไร

            เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก (International Council for the Day of Vesak) ประจำปี ๒๕๕๙  และประเทศไทยได้รับอนุมัติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองวิสาขบูชานานาชาติ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติในหัวข้อ “พุทธวิถีสู่สันติภาพโลก”  ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๓ พ.ค.นี้ โดยมี ๔ ประเด็นที่นำมาระดมความคิดเห็นกัน คือ ๑.ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒.ด้านการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ๓.ด้านการศึกษา  ๔.ด้านสันติภาพโลก นั้นก็แสดงให้เป็นว่าชาวพุทธก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาเช่นเดียวกัน

            การประชุมชาวพุทธนานาชาติเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๒ พ.ค. ที่ มจร วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเปิดงานและกล่าวสัมโมทนียกถาเปิดงานในช่วงเช้า และช่วงบ่ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกอาชวินทร์  เศวตเศรนี  ผู้แทนพระองค์เป็นประธานเปิด โดยปีนี้มีประมุขสงฆ์ ผู้นำทางการเมือง และนักปราชญ์คนสำคัญทางพระพุทธศาสนาจาก ๘๕ ประเทศทั่วโลกกว่า ๒,๐๐๐ รูป/คน เดินทางเข้าร่วมประชุม

            สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้เชิญชวนชาวพุทธพร้อมใจกันรำลึกถึง “สามัคคีธรรม” พร้อมทั้งดำเนินชีวิตด้วยเมตตา ปัญญา อดทน เสียสละและไม่ประมาท อันเป็นวิถีแห่งพระพุทธองค์ ที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง ขณะที่พลเอกอาชวินทร์ได้ระบุว่า หากมีการน้อมนำธรรมะมาปฏิบัติบัติอย่างจริงจังแล้วจะเกิดขสันติสุขอย่างแน่นอน

            ทั้งนี้พระพรหมบัณฑิต พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะมีส่วนสำคัญของการแก้ความขัดแย้ง รุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มจร ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อให้คนมาศึกษาเกี่ยวกับกับสันติภาพ  ซึ่งพระพุทธศาสนาเปิดใจกว้างรับฟังคนอื่นเสมอ

            "ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นำไปสู่การเลือกตั้ง  จะได้นำไปสู่การระงับข้อพิพาทข้อขัดแย้ง ขอให้เราสวดมนต์ร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ  อย่างน้อยเรามาคุยกันช่วงนี้จะทำให้เรามีความสันติสุขระดับชีวิต   เราหวังว่าพระพุทธศาสนาจะเป็นกรรมการเป็นคนกลาง  เพื่อให้เกิดสันติสุขในโลก  แต่เราสื่อสารธรรมให้แก่ชาวโลก เราต้องมี   ๓ ประการ คือ  ๑.เราต้องป้องกันความขัดแย้ง ๒.เราต้องหาข้อระงับความขัดแย้ง ๓.เราต้องฟื้นฟูคนที่มีข้อความขัดแย้ง คำสอนของพระพุทธเจ้าจะช่วยให้เราจัดการความข้อขัดแย้งได้อย่างไร  ฉะนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นเวทีของกัลยาณมิตรทุกๆ ท่าน  เราจะมาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดสันติภาพของโลกและให้เกิดสันติสุขในประเทศของข้าพเจ้าเช่นกัน" อธิการบดี มจร กล่าว

            ขณะเดียวกันการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง  “การศีกษาแนวพุทธเพื่อสันติภาพ” ซึ่งมีผู้นำชาวพุทธจากประเทศฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ต่างก็ลงความเห็นว่าการศึกษานั้นไม่ควรที่จะสนับสนุนการใช้ความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมคือความรุนแรงระดับโครงสร้าง ควรเป็นการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างสันติภาพสันติสุขให้เกิดขึ้นทุกระดับชั้น และควรนำหลักการของพระพุทธเจ้าที่ไม่สนับสนุนความรุนแรงการใช้กำลังทั้งทางตรงและทางอ้อมและควรจะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆให้มาก

            พร้อมกันนี้ยังมีการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธทั่วโลกซึ่งสามารถประมวลเป็นหลักพุทธวิถีสร้างสันติภาพโลกได้อย่างเช่น หลักอหิงสา พรหมวิหาร ๔  ขันติธรรม สาราณียธรรม  อปริหานิยธรรมเป็นต้น  ซึ่งนายสุวพันธุ์  ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เน้นหลักอหิงสธรรม  ขณะที่ Dr.Wijeyadasa  Rajapakshe รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพระพุทธศาสนา ประเทศศรีลังกา กล่าวในการปาฐกถาพิเศษระบุว่า  พระพุทธเจ้าถือว่าเป็นต้นแบบด้านการสร้างสันติภาพ   ด้วยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เริ่มตั้งแต่ การปฏิบัติตามสัมมาทิฐิ   ธรรมะมีส่วนสำคัญในการบริหารประเทศ  ทรัพยากรถ้าไม่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์เท่าๆ กัน จะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้การปกครองมีปัญหาอย่างแน่นอน

           "พระพุทธเจ้าตรัสว่า  สิ่งใดมีค่ามากกว่ากันระหว่างน้ำกับชีวิตของคนความเกลียดหยุดได้ด้วยความรักเท่านั้น  อาวุธไม่สามารถยุติความเกลียดชังได้ นอกจากความเมตตาเท่านั้นถึงสามารถยุติ  ความเกลียดชัง สงครามเกิดจากใจของมนุษย์มิใช่เกิดจากอาวุธ  สันติภาพที่เกิดจากอาวุธหรือสงครามจะเป็นสันติภาพที่ไม่ยั่งยืน   มีคนกล่าวว่า...ถ้าเกิดสงครามครั้งที่ 3  สงครามครั้งที่ 4 ไม่รู้จะใช้อะไรเป็นอาวุธแล้ว เพราะมันทำร้ายกันตั้งแต่สงครามครั้งที่ 3 แล้ว จนไม่เหลืออะไรให้ทำร้ายกัน  ศาสนาพุทธเป็นสิ่งเดียวกันกับวิทยาศาสตร์ เป็นปรัชญาของชีวิต สามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น  ประเทศศรีลังกาจะขอเป็นเจ้าภาพจัดวิสาขบูชาโลกครั้งต่อไป" รมต.ศรีลังกา กล่าว

            ทั้งนี้ภายในงานมีพิธีเจริญพุทธมนต์ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๔ พรรษา  และวันที่ ๒๓ พ.ค.ผู้นำชาวพุทธที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เดินทางไปร่วมประชุมต่อที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติและออกปริญญากรุงเทพมหานครเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

สรุปสุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธทั่วโลก๑๐ประเทศ

            ๑.ผู้นำชาวพุทธกัมพูชา
   
            ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีชื่นชมกับผู้จัดงานในครั้งนี้ โดยมีชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกันเป็นจำนวนมาก  เราร่วมกันเพื่อสัจธรรมแห่งโลก คนในโลกจะต้องเชื่อมโยงกัน เราร่วมมือกันเพื่อให้คำสอนไปทั่วโลก ถ้ามีพี่น้องของเราหลงผิดเราควรเข้าไปตักเตือน อย่าปล่อยให้เขาต้องทุกข์ทรมาน  แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่มีเรื่องเข้าใจผิดจำนวนมาก  เราควรตระหนักร่วมกัน
   
๒.ผู้นำชาวพุทธศรีลังกา    

            เราเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มาเจอกันในวิสาขบูชาโลก ในนามของศรีลังกาขอชื่นชมในการจัดงานครั้งนี้ ขอให้สันติสุขเกิดขึ้นกับทุกท่าน เราล้วนมีแต่ "ความเท่าเทียมกัน"   อดีตเรามีการแบ่งแยกคนออกเป็นวรรณะ นำมาซึ่งความขัดแย้ง   เราต้องทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เราต้องเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้มากๆ ด้วยการทำหนังสือออกไปทั่วโลก  ขอให้ทุกท่านอย่ากลับมาเกิดอีก

๓.ผู้นำชาวพุทธลาว        

            ขอบคุณที่ให้โอกาสคณะสงฆ์ลาวได้ขึ้นมากล่าวสุนทรพจน์ ถือว่าเป็นเกียรติมาก วันนี้เป็นวันแห่งมหัศจรรย์  เพราะเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน  ถึงเวลาผ่านไปนานแต่พระธรรมคำสอนยังส่องสว่างอย่างสง่างาม นำไปสู่สันติภาพโลก ขอยกคำกล่าวบุคคลสำคัญของลาว ว่า..." ถึงแม้พวกเรามีความสามารถเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ดวงดาวเพื่อไปสันติสุข คงไม่พบสันติสุข แต่สันติภาพอยู่ในจิตใจของพวกเรา เริ่มต้นจากการฝึกปฏิบัติตามศีล 5 " งานครั้งนี้ถือว่าเป็นงานมหัศจรรย์ยิ่ง

๔.ผู้นำชาวพุทธจีนสิบสองปันนา

            มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวครั้งนี้ ขอให้ประชาคมโลกมีความสามัคคีกัน  ไม่ว่าจะศาสนาใดๆ ขอให้มีความรักกัน เผยแผ่คำสอนให้โลกเกิดสันติสุขร่วมกัน

๕.ผู้นำชาวพุทธเนปาล    

            วันนี้เป็นวันที่มีความหมายเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวพุทธทั่วโลก  วันนี้เราเลือกหัวข้อที่เหมาะสมมาก  เพราะโลกเราต้องการสันติภาพ ตามแนวทางมรรควิธี 8 ประการ  เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างไรด้วยพุทธสันติวิธี  นี่คือสิ่งที่เราต้องมาพูดคุยกัน      

๖.ผู้นำชาวพุทธเกาหลีใต้        

            เริ่มต้นจากการสวดมนต์ด้วยความไพเราะมีพลังมาก  นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าเริ่มต้นสันติภาพ ชาวพุทธเกาหลีขอชื่นชมในการจัดงานครั้งนี้  แม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปนานแล้ว แต่วิถีพุทธเรายังปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอด งานนี้เป็นงานที่ให้โอกาสในการแบ่งปันความคิดความรัก ขอบคุณรัฐบาลไทย ถือว่ามีค่าอย่างยิ่ง  เรามาฝึกปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้า

๗.ผู้นำชาวพุทธเวียดนาม

            ในนามสภาสงฆ์เวียดนามขอชื่นชมในการจัดงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นวันสำคัญสุดของชาวพุทธทั่วโลก  สำหรับปีนี้เป็นปีที่ ๑๓ ในการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา  ขอให้ร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้เกิดสันติภาพต่อคนทั้งโลก เราชาวพุทธต้องตระหนักถึงความเมตตา ความรักความห่วงใยต่อกัน และแสดงความเคาพต่อพระเจ้าอยู่หัว องค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดมา

๘.ผู้นำชาวพุทธสิงคโปร์        

            วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นประวัติศาสตร์โลก เป็นโอกาสให้คนทั้งโลกมาเจอกันอย่างมีความสุข ได้รับความสนับสนุนจากคณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทย เราจะมาพูดคุยเรื่องสันติภาพของโลก  ถือว่าเป็นที่สำคัญมากที่สุดของโลก เพราะเรื่องของสันติสุข

๙.ผู้นำชาวพุทธอินเดีย      

            ทำให้เรานึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้เราตระหนักว่าควรร่วมมือกัน สามัคคีกัน เพื่อนำไปสู่สามัคคีธรรมไปสู่ชาวโลก

๑๐.ผู้นำชาวพุทธภูฏาน

            ข้าพเจ้ามาจากประเทศเล็ก เรามาประชุมกันครั้งนี้ระดับชาวโลก   ภูฏานวัดจากความสุขของประชาชน เรานำคำสั่งสอนมาปฏิบัตินำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง  เรารักกษัตริย์ของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง  เราจะเดินทางไปสู่สันติภาพร่วมกันเพื่อสันติภาพของโลกใบนี้ ด้วยความร่วมมือ สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว

"""""""""""""""""""""""""
http://www.komchadluek.net/news/amulets/228163

กรมพัฒน์ ร่วม NECTEC ดันแผนพัฒนาแรงงานด้าน AI เป้า 3 ปี 10,000 คน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดันแผนพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ เป้าหมาย 10,000 คน ในระยะ...