วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"อุตตม" ประกาศสร้างอนาคตไทยชูนโยบายแก้หนี้ เสนอพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 5 ปี

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565  ที่โรงแรมศิวา รอยัล จังหวัดพัทลุง พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคและประธานภาคใต้ นายวิเชียร ชวลิต รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการพรรค นายนริศ เชยกลิ่น รองหัวหน้าพรรคและโฆษก นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ กรรมการบริหารพรรค นายวัชระ กรรณิการ์ รองเลขาธิการพรรค และนายกำพล ปัญญาโกเมศ ประธานกรรมการวิชาการเพื่อการสร้างอนาคตไทย นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการบริหารพรรคและรองโฆษกพรรค เปิดเวทีปราศรัย และเปิดตัว 3 ว่าที่ผู้แสดงเจตจำนงเป็นผู้สมัคร ส.ส. พัทลุง

 

นายอุตตม กล่าวบนเวทีกิจกรรมที่พัทลุงว่า ตนมายืนที่ตรงนี้ วันนี้ หวังที่จะให้เห็นกับตาเรื่องที่นายนิพิฎฐ์บอกกับตนว่า คนพัทลุงมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ “หัวใจใหญ่กว่าปอด” เพราะเป็นคนพูดจริงทำจริง รักใครแล้วรักเลย เรียกว่ารักหมดใจ ที่สำคัญคนพัทลุงมีพลังพิเศษที่เรียกว่า “พลังรักบ้านเกิด” พร้อมที่จะทุ่มเทเพื่อสร้างสิ่งดีๆให้กับบ้านเกิดเมืองนอน วันนี้ตนได้เห็นหัวใจและพลังของคนพัทลุงแล้ว และพรรคสร้างอนาคตไทยขอประกาศที่จะรับใช้และเป็นหนึ่งเดียวกับคนพัทลุง


ทั้งนี้หลายปีที่ผ่านมาพัทลุงขาดโอกาสการพัฒนาอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มีทรัพยากร ธรรมชาติมากมาย ทั้งการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้มีรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อมองไปในรายละเอียดแต่ละจังหวัดกลับมีความแตกต่างกันมาก เช่นเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตรายได้ต่อหัวประชากรเกือบ 3 แสนบาทต่อปี แต่พัทลุงมีรายได้ต่อหัวเพียง 6 หมื่นกว่าบาทต่อปี ดังนั้นจึงต้องคิดทำอย่างไรให้รายได้คนพัทลุงเพิ่มขึ้น ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้ทั่วถึงมากขึ้น


อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือหนี้สินของประชาชนที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน เนื่องจากเป็นตัวถ่วงทำให้ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ วันนี้หนี้สินครัวเรือนคนไทยอยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท ที่สำคัญเป็นหนี้นอกระบบซึ่งน่าจะมีมูลค่าในระดับหลักแสนล้านบาท พรรคสร้างอนาคตไทยจึงชูนโยบายแก้ไขหนี้แบบเบ็ดเสร็จ


โดยการแก้ปัญหาหนี้จะต้องทำ 3 เรื่องพร้อมๆกัน คือ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ หยุดหนี้ทั้งหมดทั้งต้นทั้งดอก อย่างน้อย 5 ปี เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ปัญหาก็จะวนกลับมา 2.เติมทุนใหม่ให้ประชาชนนำไปต่อยอดทำรายได้เพิ่ม 3.เติมความรู้และเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ทั้งนี้ก่อนนายอุตตมขึ้นกล่าว มีการแนะนำว่าที่ผู้สมัครพรรคสร้างอนาคตไทยจังหวัดพัทลุง 3 เขต ประกอบด้วย นายเอกภัทร ภัทร์รัศมี เขต 1 นายพลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร เขต 2 และนายวัฒนา เรืองแก้ว เขต 3


วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565

สมาคมสื่ออีสานสร้าง"นักข่าวชาวบ้าน"สู่นักสื่อสารมืออาชีพ

สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ร่วมกับร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด,ศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น และไทยเสรีนิวส์ จัด โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวยุคดิจิทัล "นักข่าวชาวบ้าน" ประจำปี 2565 ขึ้น ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2565 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยมี นายไพศาล วงค์ซีวะสกุล ปลัดอาวุโสอำเภอชุมแพ เป็นประธานเปิดการอบรมฯ ผศ.ดร.อำไพพรรณ สิงห์สกุล ผอ.ศูนย์ศึกษาพระเครื่อง จ.ขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ นายยุทธนา ชินทะนาม ประธานสภาฯ อบต.วังหินลาด ,คณะผู้บริหาร อบต.วังหินลาด ,ผู้นำชุมชน และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน เข้าร่วมอบรม

โดยมี อาจารย์จำรัส จันทนาวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการหลอกลวงในโลกออนไลน์ ,วิธีการสร้างเรื่อง Content สร้างสื่อและตกแต่งแก้ไข ,การถ่ายภาพด้วยมือถือ และการตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Snap Seed, Canva, เทคนิคการถ่ายภาพ ,การเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์และ พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน บรรยายเรื่องรู้จักสื่อออนไลน์ ,เทคนิค การนำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์และการใช้ Social Media ,จริยธรรมสื่อมวลชน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.PDPA และในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่ม Work shop ระดมสมอง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น โดยคณะวิทยากร

พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ นายกสมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน เปิดเผยว่า "นักข่าวชาวบ้าน" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่คนในชุมชนหันมาจับกล้องสวมบทบาทเป็นนักข่าว บอกเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นของตน ซึ่งแนวคิดนี้กำลังอยู่ในกระแสความสนใจ โดยมีการขยายแนวคิดนี้ ให้คนธรรมดาที่สนใจได้เปลี่ยนบทบาทเป็นนักข่าวชาวบ้าน ทำให้เกิดคำถามว่า "นักข่าวชาวบ้าน" มีมโนทัศน์เกี่ยวกับจริยธรรมสื่อในการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างไร การรายงานข่าวสาร ข้อมูล เรื่องราวเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสนใจของประชาชนผ่านทางสื่อออนไลน์อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ได้ผ่านการฝึกฝนหรืออบรมวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผลิตเนื้อหาข่าวเผยแพร่ไปสู่สาธารณะด้วยตัวเอง การรายงาน ข้อมูลข่าวที่เน้นความรวดเร็วของนักข่าวชาวบ้านผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบโดยกองบรรณาธิการ ทำให้เกิดปัญหาข่าวสารที่มีลักษณะไม่รอบด้าน หรืออาจมีการเผยแพร่รูปภาพที่ไม่สมควรออกไป นำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การละเมิดลิขสิทธิ์ และหมิ่นประมาท เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น กระบวนทัศน์ในการกำกับดูแลสื่อ โดยมี จรรยาบรรณสื่อหรือจริยธรรมสื่อมาเป็นแนวทางพื้นฐานในการปฏิบัตินั้น สมาคมเครือข่ายหนังสือพิมพ์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ ภาคอีสาน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในอิทธิพลของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย จึงต้องการส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในตำบลวังหินลาด อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจาก 12 หมู่บ้าน ได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ พร้อมฝึกปฏิบัติการผลิตสื่อแบบเข้มข้นจากนักสื่อสารมืออาชีพ ให้ความรู้ในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในยุคดิจิทัล เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สำหรับงานด้านประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเซียลมีเดีย และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการทำงานในอนาคตได้

https://www.banmuang.co.th/news/region/300176

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"ไทยสร้างไทย" ชูนโยบายแก้เพิ่มสร้าง ปลดล็อกเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 10 ตุลาคม 2565   ที่ห้องบอลรูม 1 โรงแรม ไฮแอท รีเจนซี่ บางกอก สุขุมวิท พรรคไทยสร้างไทยจัด “ถึงเวลา…ปลดล็อกเศรษฐกิจ”  เปิดนโยบายเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย  ภายในงาน ดร.โภคิน พลกุล ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันอำนาจนิยม ที่ไม่รับฟังเสียงประชาชน กติกาที่เป็นไปเพื่อคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ  เราจึงต้องสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน รวมถึงการปลดล็อคระบบรัฐราชการ ที่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากิน และพรรคไทยสร้างไทยจึงมีเป้าหมายในการสร้างนโยบายให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตั้งแต่เกิดจนแก่ ดังนั้นเราต้องปลดปล่อยประชาชน Liberate และเพิ่มพลังให้กับประชาชน Empower พรรคไทยสร้างไทยจึงมีนโยบายบำนาญประชาชน 3,000 บาท เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี หรือกองทุนคนตัวเล็ก เพื่อให้พี่น้องมีพลังและลุกขึ้นมาทำมาหากินได้อย่างเข้มแข็ง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหา หลายประการตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เป็นเครื่องยนต์หลักสำคัญในการขับเคลื่อนทั้ง 4 ตัว คือ การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และ การบริโภคภายในติดลบทุกตัว พรรคไทยสร้างไทยจึงเสนอแพคเกจนโยบาย แก้เพิ่ม สร้าง คือ การแก้หนี้ เพิ่มเงินในกระเป๋า และ สร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 


นายสุพันธุ์ชี้ว่า ปัญหาหลักของประเทศตอนนี้ที่ต้องเร่งแก้คือปัญหาหนี้ โดยพรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายสำคัญคือการแก้หนี้ โดยเปิดตัว 3 กองทุน คือ 1.กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย “ปลดล็อกเครดิตบูโรให้ประชาชน” นายสุพันธุ์ชี้ว่า หนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปีมีประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่วันนี้เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 500,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งปลดล็อกเครดิตบูโร แก้ปัญหาดอกเบี้ย และ กู้อิสรภาพในการกู้เงิน 2. กองทุน SMEs เพื่อช่วยเหลือในการทำธุรกิจ ทั้งภาคท่องเที่ยว และ วิสาหกิจชุมชน และ 3. กองทุนเครดิตประชาชนเพื่อจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ให้ประชาชนสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยต่ำ และ ผ่อนชำระรายวันได้


ต่อมาจะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋า โดยนายสุพันธุ์ ระบุว่าจะเน้นสิ่งที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง พัฒนาต่อได้ ด้านแรกคือ ด้านการเกษตร และ อาหาร ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ระบบชลประทานที่จะต้องแก้ไข หาวัตถุดิบราคาถูก เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธ์ และมีการจับคู่เกษตรกรกับผู้รับซื้อผลผลิต การแบ่งโซนนิ่ง ต่อมาคือด้านสุขภาพและวิถีชีวิต ที่จะสนับสนุนให้ไทยเป็น Medical Hub ในทุกมิติ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และ แพทย์ทางเลือก การผลิตเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง สมุนไพรไทย และ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ให้มีความเป็น Universal Design มากขึ้น และสุดท้าย คือด้านการท่องเที่ยว ที่รัฐจะผลักดันการใช้งานแพลตฟอร์มของไทย เช่น Thai Guide หรือ ไทยเท่ ให้นักท่องเที่ยวจองที่พัก ร้านอาหาร การเดินทางได้ในราคาถูกกว่า ไม่ต้องพึ่งพาแอปของต่างชาติ รัฐโปรโมทให้ไม่ต้องเสียค่าโฆษณากับแอปพลิเคชั่นต่างชาติ 


ส่วนสุดท้ายคือการสร้างเศรษฐกิจโลกใหม่ หรือ New World Economy คือการแก้ปัญหาของใหม่ๆ ของโลกในปัจจุบันด้วยวิธีการใหม่ เช่นปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่ไทยต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยการส่งเสิรมอาหาร 5 ด้าน ได้แก่อาหารเเสริมสุขภาพ อาหารทางการแพทย์ อาหารอินทรีย์ อาหารทางนวัตกรรม และอาหารสำหรับตลาดเฉพาะให้มากขึ้น นอกจากนั้น ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้สิทธิประโยชน์ใน BOI ลดหย่อนภาษีนักธุรกิจในประเทศ เพื่อที่จะแข่งขันกับทุนต่างชาติได้  และต้อง ปรับตัวชี้วัดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องมีการดู GDP ของ SMEs แยกออกมาอีกตัวหนึ่ง มีการดูหนี้ในระบบมาเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญเพิ่มขึ้นไปกว่าแค่ดู GDP ทั้งประเทศ 

นายสุพันธุ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญทั้งในการค้าและการเมืองคือความเชื่อมั่น และวันนี้ตนเชื่อมั่นในพรรคไทยสร้างไทย และ หวังว่าประชาชนคนตัวเล็กทั้งประเทศจะเชื่อมั่นพรรคไทยสร้างไทยต่อไปด้วย


วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"ปลัดมท." โพสต์โต้ "ก้าวไกล" ยัน "โคก หนอง นา โมเดล" ไม่ล้มเหลว กระแสตอบรับดีได้ประโยชน์เกินคุ้มกับงบฯ

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ Suttipong Juljarern ชี้แจงโครงการโคกหนองนาโมเดล หลังจากว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.จากพรรคก้าวไกลออกมาเปิดเผยข้อมูล โครงการโคกหนองนา ล้มเหลวความว่า


"ผมยืนยันว่าการนำงบประมาณมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของรัฐบาลนั้นไม่ได้ล้มเหลว เราดำเนินการทั้งสิ้น 7 กิจกรรม ในโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนา จำนวน 25,179 โครงการ ทั่วประเทศ นั้นได้ประโยชน์เกินคุ้มกับงบประมาณที่ลงไป"


ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการพึงพอใจอย่างมาก (ดังรายละเอียดของงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำให้ Grisda) ที่ผมส่งให้มาพร้อมนี้


การนำเสนอของหน่วยตรวจสอบอย่าง สตง. ท่านตรวจสอบบางโครงการ บางพื้นที่ จนกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งยังน้อยกว่าการด่วนสรุป ทำลายล้างโครงการ ที่มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์สู่โคกหนองนา ว่าล้มเหลว


อ่านบทสรุปของผู้บริหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำไว้ 15 หน้าก็ได้ครับ


อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 "นายอดิศักดิ์ สมบัติคำ" หรือ "จ่าตา" ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคก้าวไกล จ.มหาสารคาม ได้ออกมาเปิดรายงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งจากรายงานพบว่าโครงการแทบไม่เดิน ทำจริงไม่ได้ ยังไม่เกิดผลทางปฏิบัติ


"นายอดิศักดิ์"  อ้างว่า สตง. เขียนเอาไว้ชัดเจนว่า โครงการมีปัญหา 3 เรื่อง ที่ทำให้โคก หนอง นาเป็นโครงการส่อล้มเหลว


1. โครงการล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดโครงการ กรมพัฒนาชุมชนทำเสร็จเพียง 1 จาก 6 กิจกรรม ทำให้ต้องขอขยายเวลากว่า 2 รอบ ถึงจะปิดโครงการได้


2. พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบทำไม่ได้จริง ส่วนใหญ่ยังทำไม่ได้ตามแบบ บางที่ยังสร้างไม่เสร็จ บางที่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ส่วนที่สร้างเสร็จแล้วยังไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านสื่อการเรียนรู้ วัสดุ อุปกรณ์เพื่อใช้สำหรับการสาธิตและ ฝึกปฏิบัติประจำฐานเพื่อการเรียนรู้


3. ครุภัณฑ์อุปกรณ์ต่างๆ ในวันที่ สตง. ลงไปตรวจสอบ ยังถูกใช้ไม่ครบ ซึ่งมีทั้งบางที่ยังไม่ได้ใช้อุปกรณ์เลยแม้แต่รายการเดียว บางที่ใช้ไปแค่บางส่วน หรือก็คือ งบอุปกรณ์ที่จัดซื้อลงไปถูกเอาไปวางทิ้งไว้เฉยๆ


"ตามศูนย์อบรมที่โคก หนอง นา ให้เกษตรกร ยังแทบจะไม่มีการอบรมให้เกษตรกรเอาไปใช้จริงเลย" ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ก้าวไกล กล่าว






















วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565

"สุพันธุ์" อัดรัฐนโยบายพักหนี้ แต่ไม่พักดอก เท่ากับซ้ำเติมประชาชน"เจ็บ จน เจ๊ง"

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565  นายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ภูเก็ตที่ผมเห็นวันนี้มันไม่ต่างอะไรกับเมืองร้าง!


แม้รัฐบาลจะเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาบางส่วน แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ เพราะเจ็บหนักจากโควิด แม้จะมีนโยบายพักหนี้ แต่ไม่พักดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่วิ่งทุกวัน ประกอบกับหนี้เสียที่เกิดขึ้นตอนปิดประเทศ ซ้ำเติมประชาชนให้ "เจ็บ จน เจ๊ง"


โดยเฉพาะโรงแรมเล็ก ยิ่งเจ็บหนัก เพราะมี พ.ร.บ.โรงแรม ที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ควบคุมเงื่อนไขการเปิดโรงแรมที่เหมาะสำหรับโรงแรมขนาดใหญ่ แต่โรงแรมขนาดเล็กที่มีห้องหลักสิบ ไม่สามารถทำได้ เช่น พื้นที่ว่าง 30% หรือทางเดินและบันไดในอาคารต้องกว้าง 1.2 เมตรขึ้นไปเป็นต้น โรงแรมเล็กไม่สามารถทำได้แน่นอน นอกจากทุบตึกสร้างใหม่ เพราะพวกเขาปรับปรุงอาคารพาณิชย์มาเป็นที่พักให้เช่าก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ แถมช่วงเวลาผ่อนปรนที่รัฐบาลให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ไปปรับปรุงให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายก็ต้องเจอกับโควิดและล็อกดาวน์ ขาดรายได้ เป็นหนี้ ทำให้โรงแรมเล็กตอนนี้ทยอยกันปิดตัว ถูกธนาคารยึด และขายทอดตลาด เฉพาะป่าตองอย่างเดียว ปิดตัวไปเกือบ 200 แห่ง มูลค่าความเสียหายกว่า 68,000 ล้านบาท


เมื่อโรงแรมเล็กหายไป แล้วเกิดอะไรขึ้น? ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจในชุมชนก็พังไปด้วย โรงแรมขนาดเล็กเหล่านี้ มีแค่ที่พัก หรือขายอาหารด้วยนิดหน่อย แต่นักท่องเที่ยวเมื่อมาพักแล้วก็จะมากินมาเที่ยว มาใช้จ่ายในชุมชน ต่างจากโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีทุกอย่างให้บริการในตัว จากที่โรงแรมเหล่านี้เคยเป็นหูเป็นตา ตามตรอกซอกซอยในภูเก็ต ก็กลับปิดไฟมืดทำให้ตรอกซอยที่เคยสว่างก็ดูน่ากลัวสำหรับผู้มาเยือน แถมเมื่อปิดกิจการก็ต้องเลิกจ้างพนักงาน เลิกใช้บริการซักรีดหรือรับซื้อผลผลิตจากในชุมชน โรงเรียนบางแห่งแทบไม่เหลือนักเรียน เพราะคนย้ายไปหางานที่อื่นกันหมด


ภาพที่ผมถ่ายมาคือโรงแรมเล็กที่ปิดตัวตามสองข้างทางในป่าตอง จ.ภูเก็ต บางที่ถูกยึดจนธนาคารมาติดป้ายประกาศขายก็แล้ว ทุกวันนี้ยังขายไม่ได้ ป้ายขาดเปื่อยไปก็มี เพราะเศรษฐกิจไม่ดีไงครับ รัฐบาลที่มองแต่จีดีพี แล้วเอากฎหมายมาปิดขวางการทำมาหากินของประชาชนคนตัวเล็ก มันจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ตายไปเรื่อยๆ จากฐานราก เหมือนต้นไม้ที่รากเน่าไม่มีผิด ถ้าผู้บริหารประเทศยังนั่งกันอยู่ในห้องแอร์ ไม่ลงมาดูปัญหาของคนรากหญ้าจริงๆ พวกคุณก็จะเกาไม่ถูกที่คัน ตัดเสื้อผิดไซส์ คนตัวเล็กก็ตายไป คนตัวใหญ่ก็อ้วนขึ้น


โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...