วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"ปลัด มท." ถวายมุทิตาสักการะ "หลวงพ่อสำรวย-พระอาจารย์สังคม" ในพิธีถวายโล่รางวัลบุคคลแห่งสันติภาพโลกและรางวัลไดม่อน ออฟ เอเซีย


ปลัด มท. ถวายมุทิตาสักการะยกย่อง พระครูวิทูรธรรมนิเทศ และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) ผอ.ศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง เป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยและคนทั้งโลก

เมื่อวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น. ที่พระมหาธาตุเจดีย์ ชั้น 2 ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานถวายช่อดอกไม้แสดงมุทิตาสักการะในพิธีถวายโล่รางวัล "บุคคลแห่งสันติภาพโลก" และรางวัลไดม่อน ออฟ เอเซีย (Diamond of Asia) ในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 แด่พระครูวิทูรธรรมนิเทศ (หลวงพ่อสำรวย ตายโน) เจ้าอาวาสวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย "ศูนย์ศึกษานานาชาติแห่งศาสตร์พระราชาไทย" ท่ามกลางอาคันตุกะศิลปินจากนานาประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานอย่างพร้อมเพรียง 

โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวประภัสรา ศรีทอง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พลตรี อำนาจ จันทรนิมะ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย นายธงชัย สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

    


โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วถวายช่อดอกไม้แสดงมุทิตาสักการะแด่พระครูวิทูรธรรมนิเทศ (หลวงพ่อสำรวย ตายโน) และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) และร่วมกล่าวอนุโมทนา โดยกล่าวว่า "ผมมั่นใจในวัตรปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูวิทูรธรรมนิเทศ และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ พระสงฆ์ผู้มีวัตรปฏิบัติเป็นหลักชัยของความยั่งยืนและเป็นหลักชัยของการช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องประชาชน ให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ด้วยการสนองแนวพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีความแน่วแน่มั่นคงในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อนำพาพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กับการธำรงรักษาสภาวะแวดล้อมให้เป็นสภาวะแวดล้อมที่ดี เหมาะสมต่อมวลมนุษยชาติ ให้ได้อยู่อาศัย เป็นการต่ออายุของโลกใบนี้ของเราให้มีอายุยืนยาว หายเจ็บไข้จากภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ     

"อย่างเช่นสถานที่มหาเจดีย์แห่งนี้ แม้ว่าจะก่อสร้างด้วยวิทยาการสมัยใหม่ แต่ก็เป็นการเห็นถึงคุณค่าแห่งความยั่งยืน ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ท่านก็นำเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นอาคารที่ประหยัดไฟ อนุรักษ์พลังงาน แม้แต่พระประธาน ก็นำดินมาประมวลรวมสร้างเป็นพระประธานแทนการใช้เหล็ก ทองเหลือง หรือซีเมนต์ อันเป็นเครื่องยืนยันว่าท่านคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ท่านได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในชีวิตประจำวัน และเผยแผ่ขยายผลเพื่อให้ญาติโยมได้มีที่พึ่งเป็นแสงประทีปนำทางชีวิตให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ" นายสุทธิพงษ์  กล่าวในช่วงต้น

     


นายสุทธิพงษ์   ได้กล่าวอีกว่า พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ เป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์อาจจะลืมไปแล้วว่า การนำทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่ประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต ท่านเป็นผู้ที่ค้นพบคำพูดที่เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้โดยง่าย จากเมื่อก่อนเราจะรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงกันในชื่อเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านมีมากกว่า 40 ทฤษฎี เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งท่านพระอาจารย์ได้ร่วมกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร และทีมงานอีกหลายท่าน จนเกิดการอรรถาธิบายทฤษฎีใหม่ในชื่อ โคก หนอง นา ผ่านงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ อนาคตของโลก ปั้นดินปั้นทรายเป็นโมเดล เรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ผ่านการเล่นและงานฝีมือบนกระบะทราย (sandbox) โดยที่ไม่รู้ว่า นั่นแหละ คือ ทฤษฎีใหม่ กระทั่งเมื่อมาตรวจผลงานดู เกิดการอุทานว่า "โคก หนอง นา" และท่านอาจารย์ยักษ์ ได้น้อมนำทฤษฎีใหม่ไปทดลองทำในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น ใช้ชื่อว่า โคก หนอง นา ตลอดมา 

จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" และทรงลงมือทำแปลงโคก หนอง นา ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษา ค้นคว้า และพระราชทานโครงการให้กับกรมราชทัณฑ์ ชื่อ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เพื่อที่จะให้ผู้ที่หลงผิดต้องโทษจำขัง ได้ฝึกปฏิบัติ ได้รับองค์ความรู้ ก่อนที่จะพ้นโทษ สำหรับการไปช่วยเหลือตนเอง เพื่อที่จะให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องไปทำผิดซ้ำซาก และยังผลทำให้สถิติของผู้ที่พ้นโทษและกลับมารับโทษซ้ำลดลง จากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 30 เพราะพระมหากรุณาธิคุณ และได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง โคก หนอง นา แห่งความสุข และ Happy Family หลายต่อหลายภาพ ซึ่งเกิดจากการสรุปองค์ความรู้และพระราชทานกำลังใจแก่พวกเราทุกคนจากห้องทรงอักษรของพระองค์

   


 

"ผมขอเรียนย้ำเตือนว่า "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง" ไม่ใช่เพียงช่วยผู้ต้องขังให้มีวิชาความรู้ แต่ได้ช่วยทุกคนในสังคม ด้วยเพราะว่า เมื่อพวกเขาได้รับการพัฒนาทักษะให้เป็นคนที่มีวิชาความรู้แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบสัมมาชีพที่สุจริต มีคุณภาพชีวิตที่ดี เลี้ยงดูตนเองได้ ก็จะไม่หลงผิด และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะประกอบความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงถือได้เป็นการช่วยให้คนไทยทุกคนได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือเรียกว่าเป็นการ "แก้ไขในสิ่งผิด" ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารของพระองค์ท่านว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ ได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาเผยแผ่ด้วยกุศโลบายในการสื่อสารสังคม โดยเชิญคุณแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ไปทำโคก หนอง นา เอามื้อสามัคคี ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า ดาราศิลปินดังก็เห็นประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทำให้เกิดเป็น "โคก หนอง นา ดาราโมเดล" ที่ช่วยกระตุ้นปลุกเร้าให้แฟนคลับของคุณแพนเค้ก เขมนิจ ได้ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

     

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณูปการที่พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ ได้ทำมาทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย ทั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มอบเพชรเม็ดงาม คือ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล มูลนิธิ Earth Safe ยังช่วยส่งผลทำให้กระทรวงมหาดไทยสามารถน้อมนำเอาสิ่งที่พระอาจารย์และผู้มีคุณูปการภาคีเครือข่ายข้างต้น มาขับเคลื่อนไปสู่พี่น้องประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งพวกเราทุกคนทั้งในฐานะศิษยานุศิษย์และในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงมุทิตาจิตยินดีที่ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติร่วมกับพระอาจารย์ของท่าน และขอให้กำลังใจที่พวกเราทุกคนมาร่วมกันสามัคคีสโมสรในวันนี้ เป็นการดลบันดาลให้ท่านพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ และพระครูวิทูรธรรมนิเทศ ได้เพิ่มพูนความช่วยเหลือสาธารณสงเคราะห์ให้กับมวลมนุษยชาติไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมตลอดจนถึงชาวโลกประเทศอื่น ๆ ด้วย และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ช่วยกันนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ณ พื้นที่มาบเอื้องแห่งนี้ ขยายผลสร้างการรับรู้ไปสู่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชลบุรีและพี่น้องประชาชนทุกคนโดยทั่วกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติมีความวัฒนาสถาพรเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...