วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ฝ่ายค้าน"ร้อง"ป.ป.ช."ฟัน157 "บิ๊กตู่" ปมปิดปากสื่อจนศาลปค.สั่งห้าม

 


วันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่สำนักงานป.ป.ช. แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน และส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นเรื่องถึงประธานคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ถึงการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนายกฯ โดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา


นายกฯ ยังได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกข้อกำหนดแล้ว จำนวน30 ฉบับ เพื่อกำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติเพื่อมุ่งที่จะควบคุมการระบาดของโควิด ให้คลี่คลายโดยเร็ว แต่ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ข้อ1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

          

ข้อ 2 ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต   ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.)แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี(IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที

          

จนเกิดการทักท้วงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชนทั่วไปว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่ง จนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และคำสั่งระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดฉบับที่ 29

          

โดยศาลระบุว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีลักษณะไม่แน่ชัด ขอบเขตกว้างทำให้สื่อมวลชน ประชาชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา35 วรรคหนึ่งบัญญัติคุ้มครองไว้ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่

          

ส่วนข้อ2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อคดาวน์ ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้จำกัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต สำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคลและเป็นการปิดกั้นสุจริตชน ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา36 วรรคหนึ่งแห่งรัฐธรรมนูญ การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้

          

อย่างไรก็ตาม การออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 น่าจะมาจากกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาการระบาดของโควิดได้ ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะทางสื่อออนไลน์ เป็นเหตุให้คะแนนนิยมในตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ตกต่ำลงอย่างมาก ตรงกันข้ามการที่สื่อมวลชนและประชาชนได้เสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการะบาดของโรคโควิด กลับจะเป็นผลดี ต่อประชาชนที่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงภยันตรายดังกล่าว เพื่อจะได้ป้องกันตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรค

          

ดังนั้น เหตุผลในการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเหตุผลที่มีเจตนาหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเพื่อต้องการลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของตนเองไม่ใช่เหตุผลและเงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

          

การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 จึงเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เข้าข่ายกระทำความผิดอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 172

          

นอกจากนี้ การกระทำของพล.อ.ประยุทธ์ ยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีด้วย ตามข้อ 8 ข้อ 11 ข้อ 12 และข้อ 13 จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...