วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์กู่โมเดลตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" เยียวยาหลังโควิดซา



สันติศึกษา"มจร" จับมือชุมชนปรางค์กู่ ตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" ใช้กระบวนการธรรมโค้ชฟื้นฟูจิตใจเสริมสร้างอาชีพเยียวยาหลังโควิดซา 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่สาธารณสุขอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พร้อมด้วยนายชูชีพ สืบทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอปรางค์กู่ นายเอกชัย ว่องไว พัฒนาการอำเภอ และผู้แทนเกษตรอำเภอ การศึกษานอกโรงเรียน พยาบาลจิตบำบัด โรงพยาบาลปรางค์กู่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  จัดประชุมระดมสมองเพื่อสร้างรูปแบบการฟื้นฟูจิตใจ และจัดเตรียมออกแบบอาชีพเพื่อรับผู้ป่วยหลังโควิด

นายชูชีพ กล่าวว่า พี่น้องชาวอำเภอปรางค์กู่ที่ติดโควิดแล้วกลับมารักษาที่บ้าน เมื่อหายจากโควิด คนจำนวนมากไม่สามารถกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯได้ หลายคนสิ้นหวัง หาทางออกไม่เจอ จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหามาตรการในการฟื้นฟูจิตใจ และสร้างอาชีพเพื่อรองรับคนในพื้นที่ 

ทางด้านพระมหาหรรษา กล่าวว่า หลังจากออกจากโรงพยาบาลสนามแล้วกลับออกมาพักฟื้น 14 วัน เป็นช่วงเวลาที่จิตใจกำลังสับสนใจ ว้าวุ่น และพยายามค้นหาคำตอบให้แก่ชีวิตตัวเอง กระบวนการโค้ชสติเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้กลับมามีสติ สมาธิและปัญญา จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน หลังจากนั้น จึงค่อยคัดกรองและส่งต่อให้เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนไปพัฒนาทักษะด้านอาชีพในท้องถิ่นต่อไป 

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้จับมือกับชุมชน ตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" ขึ้นมา เพื่อรองรับการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพื่อสร้างงานให้แก่ผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนท้องถิ่น

นายเอกชัย กล่าวว่า อำเภอปรางค์กู่ มีโครงการโคกหนองนากว่า 200 โครงการ ที่ผ่านการดำเนินการของกรมพัฒนาชุมชนมากเป็นอันดับสองของศรีสะเกษ โครงการเหล่านี้ สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานให้แก่พี่น้องจำนวนมาก ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะแล้วนำมาต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้ 

พระมหาหรรษา กล่าวเสริมอีกว่า เชื่อมั่นว่า ชีวิตหลังโควิด (Post Covid) ของพี่น้องชาวอำเภอปรางค์กู่ ศรีสะเกษ จะได้รับการฟื้นฟูจิตใจ ให้สามารถอยู่กับความเป็นจริงอย่างมีสติ และค้นพบความต้องการที่แท้ของตนเอง ในที่สุด จะออกแบบชีวิตใหม่ของตนเองให้สามารถใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในชุมชนของตัวเองได้อย่างมีความสุขต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์กรรมฐานยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างสันติภาพภายในให้เป็นคุณลักษณะของนิสิตยุคเอไอ: ความเป็นมาและสภาพปัญหา หลักการ อุดมการณ์ วิธีการ แผนยุทธศาสตร์ โครงการ อิทธิพลต่อสังคมไทย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บทนำ ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต การพัฒนาคุณลักษณะของนิสิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสันติภ...