วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

NT ชูธงย้ำนโยบายสิ่งแวดล้อม พร้อมหนุนไทยบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่สากล ตามแนว BCG เชื่อมโยง SEP


บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้นำหลักการและแนวคิดในการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ BCG (Bio-Circulation-Green Economy) รูปแบบการพัฒนาที่เชื่อมโยงหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีอยู่มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และให้บริการด้านธุรกิจ อีกทั้งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วย Reuse, Recycle, Reduce มาบูรณาการเพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ให้ผู้บริหารและพนักงานภายในองค์กรถือปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ

นอกจากนี้ NT ยังตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมดำเนินงานและบริหารจัดการผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ อย่างมีความรับผิดชอบ ครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจและบริการ (Economy) สังคม (Social) และสิ่งแวดล้อม (Environment) จึงได้กำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green IT Management) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการใช้พลังงาน ลดปริมาณการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างขยะ และนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มารีไซเคิลใหม่  ถือเป็นพันธกิจหลักและได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานทุกระดับที่ได้ถือปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง 



ทั้งนี้ การดำเนินงานภายใต้นโยบาย BCG นั้น NT ตระหนักดีว่าองค์กรต่าง ๆ ควรมีบทบาทผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง โดย NT ได้ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีมาบูรณาการและดำเนินโครงการที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่

โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ  (National Environmental Data) ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น  PM 8,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเตือนภัยและดูแลสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศ พร้อมเปิดให้หน่วยงานใช้ประโยชน์จากข้อมูลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่ง NT ได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบทุนอุดหนุนการวิจัยให้ NT เป็นผู้ดำเนินการจัดทำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พร้อมทั้งติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000 ตำบล ใน 900 อำเภอทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) รวมถึงส่งข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนแบบเรียลไทม์ผ่านทางแอปพลิเคชัน RGuard ที่ใช้ได้ฟรี

สำหรับสถานีทั้งหมดจะสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ค่าฝุ่น PM1 PM2.5 PM10 อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม ซึ่งข้อมูลคุณภาพอากาศและภูมิอากาศ จะมีการจัดเก็บทุก ๆ 5 นาที แล้วส่งผ่านเครือข่าย LoRaWan ของ NT และนำเข้าสู่คลังข้อมูล (Big Data) เพื่อนำไปวิเคราะห์และพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาฝุ่น PM ในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ

นอกจากบทบาทในการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกตามนโยบายหลักของรัฐบาลแล้ว โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังเป็นโครงการต้นแบบของกระทรวงดีอีเอส ในการสร้างทรัพยากรกลางด้านข้อมูล (Big Data) และจัดทำเป็นข้อมูลสาธารณะ (Open Data) ผ่านทางแอปพลิเคชัน RGuard เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดจากการดำเนินการของภาครัฐ ทั้งด้านการวิจัย ข้อมูลสถิติ หรือสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ซึ่งจะปูทางไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

โครงการ Green IT เกิดขึ้นจากความพยายามของ NT ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดทำแนวทางการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Waste ขึ้นมา โดยตั้งตู้รับบริจาคขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกตามจุดต่าง ๆ ของอาคารสำนักงาน ก่อนจะนำขยะเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลหรือกำจัดตามวิธีการที่เหมาะสมต่อไป  

ในการบริหารงานด้านเอกสาร NT ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัลจึงมุ่งมั่นในการยกระดับความเชื่อมั่นด้วยการนำระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) มาบริหารอย่างเต็มรูปแบบ ลดการใช้กระดาษ ตั้งแต่กระบวนการจัดสร้าง จัดทำเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การรับ ส่ง ติดตามสถานะ สืบค้นข้อมูลด้วยความสะดวก รวดเร็ว สามารถลดเวลา ลดขั้นตอน ทำให้การสื่อสารภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเข้าใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ดำเนินการจัดหาพัสดุตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีการกำหนดคุณลักษณะสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใน TOR ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่กำลังเป็นวาระเร่งด่วนในระดับโลก ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นี้

NT มีความมุ่งมั่นพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลไทยทุกวิถีทาง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ประกาศในการประชุม COP26 ครั้งล่าสุดซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2564 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ โดยรัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้เกิดขึ้นภายในปี 2593 และเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Carbon) ภายในปี 2603 เพื่อร่วมเป็นพลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษทางอากาศอันเนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก สร้างปัญหาหลายด้านให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนในวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้พยายามดำเนินการต่าง ๆ เพื่อควบคุมและจำกัดมลพิษไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนหันมาใส่ใจปัญหานี้อย่างจริงจัง  อย่างไรก็ดี หากอาศัยเพียงการดำเนินนโยบายและการสร้างความตระหนักรู้จากภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ลุลวงได้ การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาบรรลุถึงเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

 

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

บิสกิต โซลูชั่น บุกนครปฐม ติดระบบ AI "รับฟังเสียงประชาชน” ครั้งแรกในไทย

นายสุทธิพันธุ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด (BIZCUIT Solution) เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัท ฯ ได้เข้าไปให้บริการกับ เทศบาลนครนครปฐม ตามนโยบายของ นายเสรินทร์ แก้วพิจิตร นายกเทศมนตรีนครนครปฐม นำเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาโดยคนไทยและได้รับรางวัล Microsoft Innovation Excellence Award 2020 จาก Microsoft Thailand เข้ามาบูรณาการใช้เพื่อบริการประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเทศบาลนครนครปฐมให้ดียิ่งขึ้น บนบริการที่ง่าย สะดวก และเร็วรวดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นำร่องด้วยโซลูชัน Fullloop “ระบบรับฟังเสียงประชาชน” นับเป็นมิติใหม่ของงานบริการประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City บนงบประมาณที่สมเหตุสมผลและใช้เวลาในการดำเนินการไม่นานประมาณ 1 เดือน


“เทคโนโลยี AI ของโซลูชัน Fullloop นี้สามารถแยกแยะทุกเรื่องราวที่ประชาชนส่งเข้ามาจากทุกช่องทาง ว่าเรื่องใดเป็น ‘คำร้องเรียน’ เรื่องใดเป็น ‘ข้อเสนอแนะ’ การแยกแยะเจตนาในการให้ข้อมูลจากประชาชนนี้สำคัญมาก เพราะทำให้พนักงานเทศบาลสามารถลำดับความสำคัญในการจัดการ และจัดส่งต่องานไปยังผู้ปฏิบัติงานที่รับผิดชอบงานด้านนั้นโดยตรงให้ไปจัดการได้อย่างตรงจุด รวมถึงการนำไปต่อยอดในการสร้างระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ให้กับงานบริการอื่น ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย ความสามารถของ AI ที่เข้าใจภาษาไทยได้ในระดับลึกซึ้งนี้ เกิดขึ้นจากการเทรน AI ด้วยปริมาณข้อมูลกว่า 10 ล้านข้อความ ซึ่งล้วนมาจากฐานข้อมูลและความเชี่ยวชาญของบริษัท BIZCUIT Solution ที่ให้บริการกับหลากหลายอุตสาหกรรม การันตีคุณภาพด้วยรางวัลจาก Microsoft Thailand และเรานำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์กับงานภาคประชาชน ถือเป็นความภูมิใจของเราทุกคนในฐานะที่เป็นทีมงานพัฒนาที่เป็นคนไทย 100%”


บิสกิต โซลูชั่น เชื่อว่านี่คือการยกระดับ “เทศบาลนครนครปฐม” สู่เมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี AI ฝีมือคนไทย การันตีด้วยรางวัล Microsoft Innovation Excellence Award 2020 จาก Microsoft Thailand นำร่องบูรณาการโซลูชัน Fullloop สู่ “ระบบรับฟังเสียงประชาชน” อัจฉริยะ ตัวช่วยรวบรวมเรื่องราว – แยกแยะ – จัดส่ง ทันที ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงแก้ไข ลดเวลาและขั้นตอนที่ส่งข้อมูลตามสายงาน แบบ Omni-channel ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อัพเดทติดตามสถานะได้เรียลไทม์ ตอบสนองงานบริการประชาชนได้เร็วขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนทุกพื้นที่ ทุกวัย ชูประหยัดต้นทุน เวลา และกำลังคน มุ่งช่วยยกระดับการบริการประชาชนและต่อยอดวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ชูเป็นโมเดลทางเลือกยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ


นายสุทธิพันธุ์ กล่าวเสริมว่า นอกจากโซลูชัน Fullloop “ระบบรับฟังเสียงประชาชน” บริษัทยังมีโซลูชัน Bizcuit Vision Analytic นั้นคือ Video Analytic ที่ทำงานด้วยระบบ Edge Computing ร่วมกับ Computer Vision AI ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time โดยไม่ผ่านระบบบันทึกภาพ ทำให้ไม่ละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยเปลี่ยนกล้อง CCTV ที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นกล้อง AI ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชน เช่น นำไปปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการจราจรบนท้องถนน ซึ่งนับเป็นทางออกใหม่ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในงบประมาณที่ไม่สูงและดำเนินการติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว


นายสมโชค พงษ์ขวัญ รองนายกเทศมนตรีนครนครปฐม ในฐานะผู้รับนโยบายและผู้ดูแลโครงการจาก นายเสรินทร์ แก้วพิจิตร นายกเทศมนตรีนครนครปฐม กล่าวว่า ที่ต้องการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จึงได้นำร่องนำโซลูชัน Fullloop “ระบบรับฟังเสียงประชาชน” อัจฉริยะ ที่นำเอา AI ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยมาใช้ในการวิเคราะห์ แยกแยะ ส่งต่องานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการติดตามสถานการณ์ แก้ไขปัญหาแบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชน รวมถึงอำนวยความสะดวกการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย อาทิ ระบบนี้ทำให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียน หรือให้คำแนะนำ ด้วยการแนบรูปถ่ายของเหตุการณ์ และพิกัดสถานที่ผ่านมือถือได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ความอัจฉริยะของ AI ยังช่วยแยกเรื่องร้องเรียนหรือข้อเสนอแนะออกจากกันได้ ทำให้ประหยัดเวลาแก้ไขปัญหาร้องเรียน หรือนำข้อเสนอแนะมาพัฒนาตามแต่ละหน่วยงานได้รวดเร็วขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ก็สามารถเข้ามามอนิเตอร์งานในระบบได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญหรือมีความรู้เฉพาะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์


ทั้งนี้ ระบบที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ไว้บริการประชาชนนี้ สามารถใช้งานได้ตามทุกช่องทางที่ประชาชนสะดวกหรือคุ้นเคยทั้งวิถีเก่าและวิถีใหม่ แบบ Omni-channel ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ได้อย่างสมบูรณ์ รองรับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เช่น การส่งจดหมายไปรษณีย์ การพบเจ้าหน้าที่เวลาลงพื้นที่ให้บันทึกข้อมูลลงระบบได้ หรือเดินทางเข้ามาให้ข้อเสนอแนะที่ศูนย์บริการประชาชน ทางโทรศัพท์ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ถนัดใช้เทคโนโลยีก็สามารถสแกนและกรอกข้อเสนอแนะผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดีย บนโทรศัพท์มือถือ ทำให้เทศบาลนครนครปฐมสามารถบริการประชาชนได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของเทศบาลก็มี AI คอยติดตามงานเพื่อให้เราทำงานได้เร็วตามคำมั่นสัญญากับประชาชนอีกด้วย


นอกจากนี้ โซลูชันดังกล่าวยังเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากใช้งบประมาณไม่สูง ระยะเวลาในการดำเนินการสั้นเพียง 1 เดือน ค่าซ่อมบำรุงไม่สูง ใช้งานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง


https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9650000111705


 

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

"ปลัด มท." ถวายมุทิตาสักการะ "หลวงพ่อสำรวย-พระอาจารย์สังคม" ในพิธีถวายโล่รางวัลบุคคลแห่งสันติภาพโลกและรางวัลไดม่อน ออฟ เอเซีย


ปลัด มท. ถวายมุทิตาสักการะยกย่อง พระครูวิทูรธรรมนิเทศ และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) ผอ.ศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง เป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนไทยและคนทั้งโลก

เมื่อวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น. ที่พระมหาธาตุเจดีย์ ชั้น 2 ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานถวายช่อดอกไม้แสดงมุทิตาสักการะในพิธีถวายโล่รางวัล "บุคคลแห่งสันติภาพโลก" และรางวัลไดม่อน ออฟ เอเซีย (Diamond of Asia) ในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมนานาชาติแห่งประเทศไทยครั้งที่ 21 แด่พระครูวิทูรธรรมนิเทศ (หลวงพ่อสำรวย ตายโน) เจ้าอาวาสวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติธรรมมาบเอื้องเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย "ศูนย์ศึกษานานาชาติแห่งศาสตร์พระราชาไทย" ท่ามกลางอาคันตุกะศิลปินจากนานาประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานอย่างพร้อมเพรียง 

โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวประภัสรา ศรีทอง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พลตรี อำนาจ จันทรนิมะ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย นายธงชัย สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) นางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก

    


โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วถวายช่อดอกไม้แสดงมุทิตาสักการะแด่พระครูวิทูรธรรมนิเทศ (หลวงพ่อสำรวย ตายโน) และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ (ขุนศิริ) และร่วมกล่าวอนุโมทนา โดยกล่าวว่า "ผมมั่นใจในวัตรปฏิบัติของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูวิทูรธรรมนิเทศ และพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ พระสงฆ์ผู้มีวัตรปฏิบัติเป็นหลักชัยของความยั่งยืนและเป็นหลักชัยของการช่วยเหลือเกื้อกูลพี่น้องประชาชน ให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : UN SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ด้วยการสนองแนวพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีความแน่วแน่มั่นคงในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อนำพาพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่กับการธำรงรักษาสภาวะแวดล้อมให้เป็นสภาวะแวดล้อมที่ดี เหมาะสมต่อมวลมนุษยชาติ ให้ได้อยู่อาศัย เป็นการต่ออายุของโลกใบนี้ของเราให้มีอายุยืนยาว หายเจ็บไข้จากภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ     

"อย่างเช่นสถานที่มหาเจดีย์แห่งนี้ แม้ว่าจะก่อสร้างด้วยวิทยาการสมัยใหม่ แต่ก็เป็นการเห็นถึงคุณค่าแห่งความยั่งยืน ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ท่านก็นำเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นอาคารที่ประหยัดไฟ อนุรักษ์พลังงาน แม้แต่พระประธาน ก็นำดินมาประมวลรวมสร้างเป็นพระประธานแทนการใช้เหล็ก ทองเหลือง หรือซีเมนต์ อันเป็นเครื่องยืนยันว่าท่านคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความยั่งยืน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ท่านได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในชีวิตประจำวัน และเผยแผ่ขยายผลเพื่อให้ญาติโยมได้มีที่พึ่งเป็นแสงประทีปนำทางชีวิตให้ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ" นายสุทธิพงษ์  กล่าวในช่วงต้น

     


นายสุทธิพงษ์   ได้กล่าวอีกว่า พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ เป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์อาจจะลืมไปแล้วว่า การนำทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาสู่ประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต ท่านเป็นผู้ที่ค้นพบคำพูดที่เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้โดยง่าย จากเมื่อก่อนเราจะรู้จักเศรษฐกิจพอเพียงกันในชื่อเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านมีมากกว่า 40 ทฤษฎี เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นเพียงทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งท่านพระอาจารย์ได้ร่วมกับอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร และทีมงานอีกหลายท่าน จนเกิดการอรรถาธิบายทฤษฎีใหม่ในชื่อ โคก หนอง นา ผ่านงานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยเด็กผู้เป็นอนาคตของชาติ อนาคตของโลก ปั้นดินปั้นทรายเป็นโมเดล เรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ผ่านการเล่นและงานฝีมือบนกระบะทราย (sandbox) โดยที่ไม่รู้ว่า นั่นแหละ คือ ทฤษฎีใหม่ กระทั่งเมื่อมาตรวจผลงานดู เกิดการอุทานว่า "โคก หนอง นา" และท่านอาจารย์ยักษ์ ได้น้อมนำทฤษฎีใหม่ไปทดลองทำในรูปแบบที่สมบูรณ์มากขึ้น ใช้ชื่อว่า โคก หนอง นา ตลอดมา 

จวบจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" และทรงลงมือทำแปลงโคก หนอง นา ด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษา ค้นคว้า และพระราชทานโครงการให้กับกรมราชทัณฑ์ ชื่อ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง เพื่อที่จะให้ผู้ที่หลงผิดต้องโทษจำขัง ได้ฝึกปฏิบัติ ได้รับองค์ความรู้ ก่อนที่จะพ้นโทษ สำหรับการไปช่วยเหลือตนเอง เพื่อที่จะให้ตนเองสามารถดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้องไปทำผิดซ้ำซาก และยังผลทำให้สถิติของผู้ที่พ้นโทษและกลับมารับโทษซ้ำลดลง จากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 30 เพราะพระมหากรุณาธิคุณ และได้พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง โคก หนอง นา แห่งความสุข และ Happy Family หลายต่อหลายภาพ ซึ่งเกิดจากการสรุปองค์ความรู้และพระราชทานกำลังใจแก่พวกเราทุกคนจากห้องทรงอักษรของพระองค์

   


 

"ผมขอเรียนย้ำเตือนว่า "โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง" ไม่ใช่เพียงช่วยผู้ต้องขังให้มีวิชาความรู้ แต่ได้ช่วยทุกคนในสังคม ด้วยเพราะว่า เมื่อพวกเขาได้รับการพัฒนาทักษะให้เป็นคนที่มีวิชาความรู้แล้วนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบสัมมาชีพที่สุจริต มีคุณภาพชีวิตที่ดี เลี้ยงดูตนเองได้ ก็จะไม่หลงผิด และมุ่งมั่นตั้งใจที่จะประกอบความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงถือได้เป็นการช่วยให้คนไทยทุกคนได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หรือเรียกว่าเป็นการ "แก้ไขในสิ่งผิด" ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารของพระองค์ท่านว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ ได้น้อมนำพระราชดำรัสดังกล่าวมาเผยแผ่ด้วยกุศโลบายในการสื่อสารสังคม โดยเชิญคุณแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ ไปทำโคก หนอง นา เอามื้อสามัคคี ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นการสื่อสารกับสังคมว่า ดาราศิลปินดังก็เห็นประโยชน์ของทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ทำให้เกิดเป็น "โคก หนอง นา ดาราโมเดล" ที่ช่วยกระตุ้นปลุกเร้าให้แฟนคลับของคุณแพนเค้ก เขมนิจ ได้ให้ความสนใจศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

     

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คุณูปการที่พระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ ได้ทำมาทั้งหมด โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย ทั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มอบเพชรเม็ดงาม คือ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล มูลนิธิ Earth Safe ยังช่วยส่งผลทำให้กระทรวงมหาดไทยสามารถน้อมนำเอาสิ่งที่พระอาจารย์และผู้มีคุณูปการภาคีเครือข่ายข้างต้น มาขับเคลื่อนไปสู่พี่น้องประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งพวกเราทุกคนทั้งในฐานะศิษยานุศิษย์และในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอแสดงมุทิตาจิตยินดีที่ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติร่วมกับพระอาจารย์ของท่าน และขอให้กำลังใจที่พวกเราทุกคนมาร่วมกันสามัคคีสโมสรในวันนี้ เป็นการดลบันดาลให้ท่านพระอาจารย์ ดร.สังคม ธนปญฺโญ และพระครูวิทูรธรรมนิเทศ ได้เพิ่มพูนความช่วยเหลือสาธารณสงเคราะห์ให้กับมวลมนุษยชาติไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมตลอดจนถึงชาวโลกประเทศอื่น ๆ ด้วย และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้ช่วยกันนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ ณ พื้นที่มาบเอื้องแห่งนี้ ขยายผลสร้างการรับรู้ไปสู่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชลบุรีและพี่น้องประชาชนทุกคนโดยทั่วกัน เพื่อให้พี่น้องประชาชนและประเทศชาติมีความวัฒนาสถาพรเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืนตลอดไป


แนวทางนำ "เครือข่าย ไอที การวิจัย" ช่วยยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยยุค AI

การยกระดับการศึกษาคณะสงฆ์ไทยในยุค AI จำเป็นต้องใช้เครือข่าย ไอที และการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา แม้ว่าจะมีความท้าทาย แต่การวางแผนแ...