วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“เฉลิมชัย”เห็นชอบ”พิมพ์เขียววิสัยทัศน์ฮาลาล”ดันไทยฮับฮาลาลโลก



กระทรวงเกษตรฯ เร่งฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด “เฉลิมชัย”เห็นชอบ”พิมพ์เขียววิสัยทัศน์ฮาลาล”(Thailand Halal Blueprint)พร้อมเสนอครม. ดันไทยฮับฮาลาลโลก หวังเจาะตลาดฮาลาล 48 ล้านล้านบาท“อลงกรณ์”เดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล(Halal Economic Corridor)เผย3โครงการอุตสาหกรรมเกษตรอาหารภาคใต้คืบหน้าพร้อมขยายไปทุกภาคทั่วประเทศเล็งเป้าหมายกลุ่มประเทศมุสลิม2พันล้านคน

วันที่ 23 มิถุนายน 2564  นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) แถลงวันนี้ (23มิ.ย.) ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามเห็นชอบ“วิสัยทัศน์ นโยบายและแผนพัฒนาสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล”แล้วโดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไปโดยเร็ว นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ นโยบาย แผนและโครงการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบครบวงจร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลของไทยสู่เป้าหมายฮับฮาลาลโลก โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า “ในยุคโควิด เราต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติและตลาดฮาลาลคืออนาคต” ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48 ล้านล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท) และประเมินว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (68 ล้านล้านบาท) ภายใน5ปีข้างหน้า ทั้งนี้ยังไม่รวมตลาดที่ไม่ใช่มุสลิม (non-muslim market) 

“ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 2 ของเอเชียและอันดับ 11 ของโลกในปี 2562 และภายใต้ “5ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บนความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล มอ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า ศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) และทุกภาคีภาคส่วนจะเป็นฐานการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีพลังและพลวัตร เมื่อเป้าหมายชัด นโยบายชัด ความร่วมมือแข็งแกร่ง”  

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน“ฮาลาล” กล่าวว่า วิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล มีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ (1) การเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (2) การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) การเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (4) การเพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ (5) การยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งใน และต่างประเทศ ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) โครงการและงบประมาณเป็นแผนแม่บทสำหรับ การพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก

นายอลงกรณ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผล การเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล 3 โครงการ และตั้งเป้าหมายจะขยายอีก 5 โครงการในยะลา ปัตตานี และนราธิวาสโดยความร่วมมือกับ ศอบต. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นฮับของอุตสาหกรรมฮาลาลภายใต้แนวทางระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล(Halal Economic Corridor) 

“ที่ประชุมยังให้ขยายการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารฮาลาลในภาคเหนือ ภาคอีสาน  ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่านเช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก กาญจนบุรี เป็นต้น โดยประสานกับโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ AIC เพื่อขยายฐานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำ ปลายน้ำไปทุกภาคทั่วประเทศ 

ฟื้นเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิด สร้างงานสร้างอาชีพสร้างผลิตภัณฑ์สร้างตลาดใหม่ๆให้มากที่สุดเร็วที่สุด รวมทั้งเห็นควรขยายความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการพัฒนามาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล ตลอดจนการขยายผลการเรียนการสอนหลักสูตรการบริหารจัดการฮาลาล และโครงการโรงเชือดแพะต้นแบบมาตรฐานฮาลาลของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.-หาดใหญ่) สำหรับผู้ประกอบการและเกษตรกร 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบรายงานผลการแก้ไขปัญหาเนื้อวัวปลอม ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค นับเป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามประสบผลสำเร็จแต่ก็ต้องเฝ้าระวังต่อไป 

ดร.เฉลิมชัย ย้ำว่า “ในยุคโควิด เราต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติและตลาดฮาลาลคืออนาคต”

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...