วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ปรางค์กู่โมเดลตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" เยียวยาหลังโควิดซา



สันติศึกษา"มจร" จับมือชุมชนปรางค์กู่ ตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" ใช้กระบวนการธรรมโค้ชฟื้นฟูจิตใจเสริมสร้างอาชีพเยียวยาหลังโควิดซา 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่สาธารณสุขอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) พร้อมด้วยนายชูชีพ สืบทรัพย์ สาธารณสุขอำเภอปรางค์กู่ นายเอกชัย ว่องไว พัฒนาการอำเภอ และผู้แทนเกษตรอำเภอ การศึกษานอกโรงเรียน พยาบาลจิตบำบัด โรงพยาบาลปรางค์กู่ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  จัดประชุมระดมสมองเพื่อสร้างรูปแบบการฟื้นฟูจิตใจ และจัดเตรียมออกแบบอาชีพเพื่อรับผู้ป่วยหลังโควิด

นายชูชีพ กล่าวว่า พี่น้องชาวอำเภอปรางค์กู่ที่ติดโควิดแล้วกลับมารักษาที่บ้าน เมื่อหายจากโควิด คนจำนวนมากไม่สามารถกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯได้ หลายคนสิ้นหวัง หาทางออกไม่เจอ จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหามาตรการในการฟื้นฟูจิตใจ และสร้างอาชีพเพื่อรองรับคนในพื้นที่ 

ทางด้านพระมหาหรรษา กล่าวว่า หลังจากออกจากโรงพยาบาลสนามแล้วกลับออกมาพักฟื้น 14 วัน เป็นช่วงเวลาที่จิตใจกำลังสับสนใจ ว้าวุ่น และพยายามค้นหาคำตอบให้แก่ชีวิตตัวเอง กระบวนการโค้ชสติเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้กลับมามีสติ สมาธิและปัญญา จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน หลังจากนั้น จึงค่อยคัดกรองและส่งต่อให้เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนไปพัฒนาทักษะด้านอาชีพในท้องถิ่นต่อไป 

พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ หลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้จับมือกับชุมชน ตั้ง "วิสาหกิจชุมชนรักษ์สันติสุข" ขึ้นมา เพื่อรองรับการพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ เพื่อสร้างงานให้แก่ผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนท้องถิ่น

นายเอกชัย กล่าวว่า อำเภอปรางค์กู่ มีโครงการโคกหนองนากว่า 200 โครงการ ที่ผ่านการดำเนินการของกรมพัฒนาชุมชนมากเป็นอันดับสองของศรีสะเกษ โครงการเหล่านี้ สามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานให้แก่พี่น้องจำนวนมาก ซึ่งสามารถพัฒนาทักษะแล้วนำมาต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้ 

พระมหาหรรษา กล่าวเสริมอีกว่า เชื่อมั่นว่า ชีวิตหลังโควิด (Post Covid) ของพี่น้องชาวอำเภอปรางค์กู่ ศรีสะเกษ จะได้รับการฟื้นฟูจิตใจ ให้สามารถอยู่กับความเป็นจริงอย่างมีสติ และค้นพบความต้องการที่แท้ของตนเอง ในที่สุด จะออกแบบชีวิตใหม่ของตนเองให้สามารถใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในชุมชนของตัวเองได้อย่างมีความสุขต่อไป

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"อลงกรณ์”เปิดงาน18ปีศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาฯ



เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” เป็นประธานในพิธีเปิดงานครบรอบ 18 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปิดศูนย์จำหน่ายสินค้าฮาลาลภายใต้ร้าน ธาช็อป (THA Shop) โดยมี รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ รศ.ดร. ปกรณ์ ปรียากร ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาล นายสมพล รัตนาภิบาล นายต่อศักดิ์ สุทธิชาติ ที่ปรึกษา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้เข้าร่วมงานทางออนไลน์ซึ่งภายในงานยังมีการนำเสนองานกิจกรรมเพื่อสังคม การสอนออนไลน์ การดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของพร้อมทั้งการเสวนาแบบWebinar ในหัวข้อ “ ศักยภาพฮาลาล SME กับการฟื้นฟู เศรษฐกิจไทยในยุค COVID-19” โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ (ผู้ก่อตั้งบริษัท Tough&Tumble) ร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้นายอลงกรณ์กล่าวว่าที่ผ่านมานายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายไทยแลนด์ฮาลาลฮับเพื่อเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลก โดยในปี 2020 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2026 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่จะสามารถเพิ่มการส่งออกสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยในยุคโควิด19

ทั้งนี้จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” บนความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันมาตรฐานฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย สถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโดยมีการกำหนดวิสัยทัศน์และแผนการพัฒนาฮาลาลเป็นแนวทางการขับเคลื่อนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการซึ่งมีความคืบหน้าของการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล(Halal AgriIndustry)ในเบื้องต้นกว่า3โครงการในพื้นที่3จังหวัดภาคใต้โดยขณะนี้อยู่ระหว่างกำลังหารือเรื่องการลงทุนและการขยายตลาดกับบริษัทใหญ่รายหนึ่งในตะวันออกกลางและเอเชียกลางเพื่อส่งออกสินค้าให้ได้มากที่สุดด้วย

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

"ผอ.สันติศึกษา มจร" มอบฟ้าทะลายโจร รพ.ปรางค์กู่ ร่วมช่วยทะลายเชื้อโควิด



วันที่ 11 สิงหาคม 2564  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)เปิดเผยว่า  ด้วยเหตุที่พี่น้องชาวอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ติดเชื้อจากจังหวัดต่างๆ แล้วกลับมารับการรักษาจากทีมงานของหมอและพยาบาลอำเภอปรางค์กู่มีเป็นจำนวนมาก จึงได้ระดมกัลยาณมิตรและมวลศิษย์หลักสูตรสันติศึกษา มจร ให้ช่วยกันจัดหา แบ่งปัน และจัดส่งฟ้าทะลายโจรมาช่วยสนับสนุนพี่น้องในพื้นที่ ทั้งที่อยู่ใน รพ.สนาม และศูนย์พักคอยตามตำบล และหมู่บ้านต่างๆ 

"ทั้งนี้ได้มอบให้ นพ.เสกสรรค์ จวงจันทร์ ผอ. รพ.ปรางค์กู่ได้นำช่วยสนับสนุน ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป เชื่อว่า ยาฟ้าทะลายโจรจะช่วยทะลายเชื้อโควิดของพี่น้องที่กำลังติดเชื้อในขณะนี้  ให้มีสุขภาพกายแข็งแรงโดยเร็ววัน เพื่อจัดได้อยู่ร่วมกับชุมชนและพี่น้องอย่างมีความสุขต่อไป" 

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ชาวปรางค์กู่ร่วมคืนธรรมชาติให้โลกา คืนผืนป่าให้ชุมชน ปลูกสมุนไพรสู้ภัยโควิด เนื่องในวันแม่แห่งชาติ



เมื่อวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า  เครือข่ายรักษ์ป่า อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งบ้าน วัด และราชการ  ร่วมแรงร่วมใจกันจัดโครงการ "ปลูกต้นไม้ให้แม่" ในโอกาสวันแม่แห่งชาติที่กำลังจะมาถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2564 โดยมีคุณแม่ได้พาลูกมาปลูกต้นไม้ร่วมกัน ณ ป่าชุมชนบ้านพอก  อำเภอ ปรางค์กู่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 50 ไร่

รากฐานดั้งเดิมนั้น ป่าชุมชนคือแหล่งที่มาของปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีพของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเห็ด มัน เผือก ผักหวาน และผักชนิดต่างๆ รวมถึงยาสมุนไพร ฟืนหุงข้าว และเครื่องใช้สอยในครัวเรือน และเครื่องนุ่งห่ม



อย่างไรก็ก็ตาม  ด้วยเหตุที่จำนวนประชาชนมีจำนวนมากขึ้น  บางกลุ่มจึงได้เข้าไปบุกรุกป่า ตัดต้นไม้ รวมถึงการนำขยะในหมู่บ้านทิ้งในป่าชุมชน จึงทำให้ป่าชุมชนแปรงสภาพกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม และยิ่งมีการย้ายที่เผาศพที่อยู่ในป่าชุมชนออกไปไว้ในวัด ก็ยิ่งทำให้คลายความเชื่อเรื่องผีในป่าช้าคลายตัวลง ยิ่งนำไปสู่การบุกรุกป่าชุมชนมากยิ่งขึ้น

จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจับมือกันรักษาป่าชุมชน และช่วยกันคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่าด้วยการบวชต้นไม้ และปลูกต้นไม้ทดแทนต้นเดิมที่มีการตัดออกไป อีกทั้งได้นำกล้วยพื้นบ้าน และปลูกไม้ท้องถิ่น เช่น ยางนา และไม้รัง รวมถึงไม้กินได้ เช่น ขี้เหล็ก และต้นไม้ผลที่เกิดในป่าท้องถิ่น เพื่อให้เป็นแหล่งพักผ่อน และอาหารแก่ชุมชนในระยาวยาวต่อไป

พร้อมกันนี้ขอเชิญร่วมบุญตามกำลังศรัทธาบริจาคสมทบทุน ปลูกต้นไม้ เป็นพุทธบูชา เพื่อถวายพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ตั้ง ณ วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ธ.กรุงศรี เลขบัญชี 056-1-68197-3 ชื่อบัญชี วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ หรือ สแกน Qr code การถวายต้นไม้เป็นพุทธบูชา 

ผู้ถวายย่อมได้รับอานิสงค์ คือ "องค์พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ติสสะ เป็นสยัมภู เป็นอัครบุคคล ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดปลูกต้นโพธิ์นี้ และกระทำพุทธบูชาโดยเคารพ เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักได้เสวยเทวรัชสมบัติในเทวดาทั้งหลาย ตลอด 30 กัป และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ 64  ครั้ง เคลื่อนจากดุสิตพิภพแล้ว อันกุศลมูลตักเตือน เสวยสมบัติทั้งสองแล้วจักรื่นรมย์อยู่ในความเป็นมนุษย์ ผู้นั้นมีใจแน่วแน่เพื่อความเพียร สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ เข้าถึงพระนิพพาน" 

หวั่นพระถูกข้อหารุกป่า! พศจ.ขอนแก่นแจ้งเจ้าสำนักที่พักสงฆ์ ขอตั้งวัด-ผ่อนผันภายใน 7 ก.ย.นี้

 


สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนที่พักสงฆ์ในพื้นที่ เร่งยื่นความจำนงค์จัดตั้งวัดถูกต้องตามกฎหมายและขอผ่อนผันการใช้พื้นรัฐภายใน 7 กันยายน 64 นี้ตามระยะเวลาที่ผ่อนผัน หวั่นถูกข้อหารุกป่า

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 นายสำราญ  รัตนพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่นเปิดเผยว่าจากตรวจสอบในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่นในส่วนรับผิดของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่นที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการตรวจสอบถึงการจัดตั้งวัด ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่นพบว่า มีหลายแห่งยังไม่ได้มีจัดตั้งวัดโดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลายแห่งที่เป็นเพียง ที่พักสงฆ์ทั้งที่ มีการตั้งมานานโดยในส่วนของชาวบ้าน จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาจำวัด เพื่อปฏิบัติธรรมตามประเพณีพื้นบ้าน เท่านั้น แต่ยังไม่มีการขอจัดตั้งเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย และบางแห่ง ยังมีการสร้างในพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นของรัฐ ที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายฐานบุกรุกพื้นที่ป่า


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลจจึงมีนโยบายที่จะเร่งรัดดำเนินให้มีการจัดตั้งวัดให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะทะนุบำรุงศาสนาเป็นเป็นไปตามหลักศาสนาทางภาครัฐจึงเสนอให้มีการดำเนินการผ่อนปรนให้กับที่พักสงฆ์ ให้เร่งรัดดำเนินยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าให้ถูกตามกฎหมาย ทั้งนี้หากที่พักสงฆ์ใดที่ยังไม่ยื่นคำขอ  ขอให้แจ้งความประสงค์ต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทราบ ให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 7 กันยายน 2564  นี้ เพื่อจะนำเสนอต่อการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป


อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดนคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เรื่อง เรื่อง การเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และขอผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2523 ในกรณีที่ปรากฏว่ายังมีส่วนราชการใดเข้าทำประโยชน์    ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาต โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 เพื่อให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้ประประโยชน์พื้นที่ป่าไม้เป็นไปอย่างถูกต้อง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563     จึงขอให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563  ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ภายใน 180 วัน ตามระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมิติเห็นชอบ (ภายในวันที่ 18 ธันวาคม  2563)โดยพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ตามมติดังกล่าวนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1 . พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2. พื้นที่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484


เบื้องต้นสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่นได้รับการรายงานเข้ามาตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วกว่า 520 รายชื่อ  ต่อมากรมป่าไม้ได้รับแจ้งจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐว่า หน่วยงานในสังกัดที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตจำนวนมากไม่สามารถยื่นคำขอได้ทันกำหนด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยกรมป่าไม้ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณารับทราบผลการดำเนินงาน จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ไปอีก 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ( สิ้นสุดการยื่นคำขอวันที่ 7 กันยายน 2564 )

 

ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาในการยื่นคำขออนุญาต ฯ ครั้งนี้แล้ว ห้ามมิให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐใด เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตอย่างเด็ดขาด หากปรากฏว่ามีส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐใดฝ่าฝืน ให้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจึงขอให้ทางสำนักสงฆ์ที่ยังไม่ยื่นขอจัดตั้งวัดให้เร่งดำเนินการให้ถูกต้องก่อนวันที่ 7 กันยายน นี้

 

ทูตสหรัฐฯประจำUN อัดฉีดไทยอีก 5 ล้านดอลล์ หนุนบุคลากรด่านหน้าได้ฉีดไฟเซอร์

 


วันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 เพจ U.S. Embassy Bangkok ได้โพสต์ข้อความว่า  วันนี้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ประกาศความช่วยเหลือด้านโรคโควิด-19 รอบใหม่ มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนกับประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19 

เพลง: จี่บ่

ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌,ai ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno   คลิกฟังเพลงที่นี่ (Verse 1) ยามหนาวลมพัด ต้องจี่ข้าวจี่กลม ข้าวเหนียวหอมควันไฟลอยอวล ทาด้ว...