วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

ข้อเสนอสันติภาพ'ไดซาขุ อิเคดะ'


เมื่อไม่นานนี้ ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล หรือเอสจีไอ (Soka Gakkai International: SGI) ซึ่งมีเครือข่ายชุมชนชาวพุทธที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา กว่า 12 ล้านคนทั่วโลก ได้เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาทั่วโลกจากมุมมองของชาวพุทธคนหนึ่ง ในวันที่ 26 มกราคมของทุกปี และในวาระครบรอบการก่อตั้งสมาคม
         
เอสจีไอ (ปี 2020 ครบรอบ 90 ปีการก่อตั้ง สมาคมสร้างคุณค่า และครบรอบ 45 ปีการก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล) ประเด็นที่อิเคดะให้ความสำคัญคือ การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ โดยเน้นที่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและความทุกข์ทรมานที่มักซ่อนอยู่เบื้องหลังดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจมหภาค  เขาอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น "ความท้าทายสำคัญที่ชี้ชะตามนุษยชาติ" พร้อมกับย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ความพยายามของทั่วโลกในการบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กลายเป็นเรื่องสูญเปล่า
         
นอกจากนี้ เขายังยกย่องพลังของเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศ โดยกล่าวว่า "ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงความจริงและการมองโลกในแง่ดีอย่าง ไม่ย่อท้อของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัด"

อิเคดะเสนอให้จัดการประชุม UN Youth Climate Summit ทุกปี  ไปจนถึงปี 2030 และเรียกร้องให้ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ
         
สืบเนื่องจากการเคลื่อนไหว เพื่อขจัดอาวุธนิวเคลียร์ตลอดหลายสิบปี ที่ผ่านมา อิเคดะได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายพยายามร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจว่า สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW)จะมีรัฐภาคีให้สัตยาบันถึง 50 รัฐ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ในปีนี้ซึ่งเป็นวาระ ครบรอบ 75 ปีเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
         
เขาเสนอให้จัดการประชุม People's Forum for a World Without Nuclear Weapons สำหรับผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณู (ฮิบากุฉะ) และภาคประชาสังคมในฮิโรชิมาหรือนางาซากิ เพื่อติดตามความคืบหน้าของการบังคับใช้สนธิสัญญาดังกล่าว พร้อมกันนี้ เขาเรียกร้องให้มีการขยายสนธิสัญญา New START  Treaty ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียออกไปอีกห้าปี เพื่อเป็นก้าวแรกสู่การเจรจาปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับพหุภาคี
         
นอกจากนี้ เขากังวลว่า การโจมตีทางไซเบอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจสั่นคลอนระบบอาวุธนิวเคลียร์ เขาจึงกระตุ้นให้มีการเริ่มพิจารณาหลักเกณฑ์การห้ามโจมตีทางไซเบอร์ต่อระบบนิวเคลียร์  รวมถึงAIและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประชุมทบทวนสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก อิเคดะยังเน้นย้ำถึงสถานการณ์ อันเลวร้ายของเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางอาวุธหรือภัยธรรมชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการยกระดับความแข็งแกร่งทางการเงินของกองทุน Education Cannot Wait ของยูนิเซฟ
         
เขาปิดท้ายด้วยการให้คำมั่นสัญญาว่าจะสานต่อการดำเนินการในระดับรากหญ้า โดยกล่าวว่า "สมาคมเอสจีไอจะเดินหน้าส่งเสริมการสร้างพลังอำนาจโดยประชาชนเพื่อประชาชน พร้อมจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและความท้าทายอื่นๆ ด้วยการเคลื่อนไหวในวงกว้างอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก"

          บรรยายใต้ภาพ
          ไดซาขุ อิเคดะ
          ส่วนหนึ่งของกิจกรรมสมาคมสร้างคุณค่า

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กรอบหนังสือ "ตื่นธรรม"

  แนวคิดหลัก: "ตื่นธรรม" เป็นหนังสือที่ช่วยปลุกจิตให้เข้าใจและสัมผัสธรรมชาติของธรรมะในชีวิตประจำวัน โดยนำเสนอธรรมมิติต่างๆ และแก่น...