วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

"เกษตรอินทรีย์"ทางเลือกทางรอดยั่งยืน


“เมื่อตอนเป็นเด็ก ผมเกิดคำถามกับตัวเองมาตลอดเวลาว่าทำไมผมถึงจน บ้านผมทำไร่ทำนากันทั้งครอบครัวเราทำงานหนักกันทั้งครอบครัว แต่ทำไมครอบครัวเราถึงหนีความจนไม่พ้น”

ดร.ชมชวน บุญระหงส์ ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน สะท้อนความรู้สึกบางส่วนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ตนเอง และครอบครัวยึดเป็นอาชีพหลักมาตลอดทั้งชีวิตในการเสวนาหัวข้อ “พลังใหม่ พลังเกษตรอินทรีย์” ในงานประชุมวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์สู่สังคม ครั้งที่1 ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายตลาดนัดสีเขียว

การจัดงานในครั้งนี้ยังมีวิทยากรภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับทางเลือก และทางรอดของเกษตรไทยในยุคใหม่ อย่างไรก็ตามมีเกษตรกรจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพไม่ต่างจากครอบครัวของ ดร.ชวนชม เนื่องเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงทำให้เกิดการเร่งการผลิตพืชผลทางเกษตร ทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และฮอร์โมนต่าง ๆ จึงทำให้เกษตรและผู้บริโภคต้องพบเจอกับความเสี่ยงจากสารเคมีต่างๆ เหล่านี้

ทั้งนี้จากรายงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์เรื่องของการบริโภคกับความเสี่ยงพบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด โดย 70เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เสียชีวิตนั้นสาเหตุมาจากมลพิษจากอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายโรคที่เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนไทย อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันและโรคเบาหวาน ก็เกิดมาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยแทบทั้งสิ้น

“สมัยก่อนแถวบ้านผมเรียนการปลูกพืชผักพวกต้นหอม ถั่ว หัวกะหล่ำว่า ผักไร้ญาติ เพราะผักพวกนี้จะต้องเติบโตได้ด้วยสารเคมี พอญาติเสียชีวิตเขาชวนให้ไปงานศพก็ไปไม่ได้เพราะต้องฉีดยาฆ่าแมลงให้กับผัก ญาติก็โกรธไม่มีใครคบ เขาก็เลยเรียกว่าผักไร้ญาติ เรื่องเล่าอันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ตลกสำหรับคนที่ได้ฟังครั้งแรกแต่สำหรับเกษตรที่เขาประกอบอาชีพนี้เขาต้องพบเจอเรื่องราวเหล่านี้จริงๆ อย่างเช่นครอบครัวผมพ่อผมก็ต้องตายไปก็เพราะได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่แกใช้ตอนปลูกผัก” ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนบอกเล่าให้ผู้เข้าร่วมงานเสวนาฟัง

ดร.ชวนชม ยังบอกเล่าเพิ่มเติมอีกว่า ภายหลังจากที่ครอบครัวได้รับผลกระทบในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องเสี่ยงกับการใช้สารเคมี เขาได้พยายามหาช่องทางใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกทางรอดให้กับเกษตรไทย ในยามที่ยุคของสารเคมีเฟื่องฟูเช่นนี้ จนมาพบกับแนวทางของเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ต้องพึ่งพิงสารเคมี และเป็นมิตรกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค “ผมและแกนนำชาวบ้านหลายคนได้เปลี่ยนมาปลูกผักด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ต้องพึ่งพิงสารเคมี ปุ๋ยเราก็ทำกันเอง ที่ดินก็ที่ดินของเรา เมล็ดพันธุ์เราก็ไม่ต้องไปซื้อจากนายทุน พวกเราลองทำกันแบบลองผิดลองถูกจนปัจจุบันนี้หลายครอบครัวอยู่กันได้พึ่งพิงตนเองได้ หลายคนมีเงินซื้อที่ดินเพิ่มมีเงินซื้อรถด้วย ผมไม่ได้เอาเงินมาล่อแต่สิ่งที่มันได้รับมันเห็นกันได้ขนาดนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการขยายเครือข่ายในการทำงานด้านนี้ออกไปให้มากๆ” ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนกล่าว

นอกจากการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรที่จะวางมือจากสารเคมีเพื่อหันกลับมาสู่รูปแบบการผลิตของเกษตรอินทรีย์อย่างที่ดร.ชวนชมได้กล่าวทิ้งท้ายในการเสวนาไว้นั้น ทุน หรือตลาด ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การผลิตรูปแบบนี้อยู่รอดในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ด้วย

วัลลภ พิชญ์พงศา เลขานุการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย ได้เป็นตัวแทนขององค์กรเล็กๆ ที่ขยายตลาดเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรไทยให้ยิ่งใหญ่ในต่างแดนร่วมแสดงทรรรศนะไว้ในการเสวนาครั้งนี้อย่างน่าสนใจว่า “แรกเริ่มเดิมทีนั้น บริษัทของผมทำโรงสีข้าวธรรมดา เราก็ไปทำการรับข้าวจากชาวนามาสี ก็รับมาสีไป แบบไม่ได้มีการพูดคุยอะไรกันมาก ต่อมาที่บริษัทได้เกิดความคิดในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจนี้คือเราได้เปลี่ยนมาทำการส่งออกข้าวอินทรีย์ให้กับประเทศยุโรป ผมเห็นได้ชัดเจนเลยว่าการทำธุรกิจแบบเดิมนั้นขาดความสัมพันธ์กันกับชาวนา แต่การทำการเกษตรอินทรีย์นั้นเราได้ลงไปพูดคุยกับชาวนา และชาวนาเองก็มีสิทธิ์และมีส่วนที่จะเข้ามาร่วมกับกระบวนการผลิตกับเราเกือบทุกขั้นตอนทั้งการส่งข้าว การสีข้าว การเก็บข้าว” เลขานุการสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทยกล่าววัลลภยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่าการทำธุรกิจในลักษณะนี้นั้นจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดในระบบตลาด เพราะไม่มีการเจรจาต่อรอง ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร และระบบธุรกิจอินทรีย์นั้นจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกัน เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรนั้นมักจะถูกเอาเปรียบและถูกแนะนำให้ทำการเกษตรในรูปแบบที่เป็นอันตรายกับตัวเองจากตัวแทนของบริษัทขายปุ๋ย และยาฆ่าหญ้า หากแต่การเกษตรอินทรีย์นั้นจะทำลายระบบเดิมๆ และทำให้เกษตรสามารถพึ่งพิงตนเองได้

ขณะที่ รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ด้วยเช่นกันกล่าวถึงประโยชน์ของการทำการเกษตรอินทรีย์ว่า “เกษตรอินทรีย์ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมที่เราใช้ระบบกู้กิน กู้ใช้ มันจะกลายเป็นการอยู่ดี กินดี ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหา ตามความศรัทธาของท่านมหาตมะคานธีกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า กิจกรรมที่มนุษย์ควรทำคือการทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับชีวิตต้องเกี่ยวกับปัจจัยสี่นั้นจะต้องนำไปสู่การขัดเกลาชีวิตของเราเองให้ได้ เรื่องอาหารเป็นเรื่องทีเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ ข้อยึดถือของการเกษตรอินทรีย์จึงมีอย่างชัดเจนว่า การเกษตรของเรานั้นจะต้องไม่ไถพรวนดิน ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ฉีดยาค่าแมลงและต้องไม่ใส่ปุ๋ย ซึ่งแนวคิดนี้นั้นผลประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นอยู่กับผู้ทำแทบทั้งสิ้นเพราะไม่ต้องมาเสี่ยงกับการได้รับผลกระทบจาการใช้สารพิษและสารเคมีต่างๆ ” สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานครกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

อาจกล่าวได้ว่าในวันนี้ เริ่มมีเกษตรกลุ่มเล็กๆ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบใหญ่ การต่อสู้ของเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ในครั้งนี้นั้นอาจจะเป็นบุคคลกลุ่มเล็กแค่สิบหรือยี่สิบคน หากแต่กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ นี้อาจจะกลายเป็นทางเลือกทางรอดในยามที่โลกเกิดวิกฤตขึ้นในวันข้างหน้า ก็ได้เหลือแค่รอเวลาให้โลกเป็นผู้จัดสรรและพิสูจน์เท่านั้นเอง !!!

.........
(หมายเหตุ : ที่มา เขียนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) http://www.isranews.org/)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...