วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'แก้วแพ้'บทพิสูจน์ไทย2มาตรฐานกับคำว่า'โกง'

              กลับเมืองไทยได้รับการต้อนรับและฉลองอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม สำหรับทัพนักกีฬาไทยที่เดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมรับเงินอัดฉีดปลอบขวัญจากภาครัฐและเอกชน
   
                   นำโดย 2 นักกีฬาฮีโร่ "จ่าแก้ว" จ.ส.อ.แก้ว พงษ์ประยูร นักมวยสากลสมัครเล่นเหรียญเงิน  "น้องแต้ว" พิมศิริ ศิริแก้ว นักยกน้ำหนักสาวเหรียญเงิน และ "น้องเล็ก" ชนาธิป ซ้อนขำ นักเทควันโดสาวเหรียญทองแดง
   
                   แต่ควันหลงที่ตามมาก็คือเสียงวิจารณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของ "แก้ว พงษ์ประยูร" ที่แพ้ให้กับนักชกจีน ซึ่งค้านสายตาของคนไทยและต่างชาติ จึงมีเสียงออกมาว่าถูกปล้นชัยชนะหรือโดน"โกง" อย่างเช่นบทบรรณาธิการประจำวันที่ 15 ส.ค.2555 เรื่องกีฬากับการพัฒนาประเทศ ระบุว่า "การประท้วงคัดค้านการให้คะแนนของกรรมการตัดสินก็ถือเป็นเรื่องที่ตามมาเป็นขั้นตอนสุดท้าย"
   
                   ขณะที่แคน สาริกา ก็ได้ระบุในคอลัมน์มนุษย์สองหน้าเรื่อง "รักชาติชั่วข้ามคืน"ทางคมชัดลึกเช่นเดียวกันสรุปความว่า"เรื่องของ แก้ว พงษ์ประยูร แตกต่างจากฮีโร่คนอื่น ก็ตรงเกิดประเด็น "กรรมการโกง" ในความรู้สึกของคนไทย
       
                   ประกอบกับมันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย ความเห็นหลังการชกถูกส่งต่อไปในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว จุดอารมณ์รักชาติขึ้นมาโดยพลัน คนไทยที่เคยถูกปรามาสว่าแตกแยกกันมา 4-5 ปี ก็รักสามัคคีกันภายในชั่วข้ามคืน
       
                   สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (ไอบา) และประธานไอบาชาวไต้หวัน ตกเป็นจำเลยในข้อหาปล้นเหรียญทองนักชกไทย"
   
                   จากเหตุการณ์ของ "แก้ว พงษ์ประยูร" ในความรู้สึกของคนไทยกับคำว่า "โกง" นั้นเป็น 2 มาตรฐานหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้โพลล์หลายสำนักก็เปิดเผยผลสำรวจออกมาว่า "คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับได้กับการโกงหรือการทุจริตคอรัปชั่น" แล้วทำไมกรณีของ "แก้ว พงษ์ประยูร" คนไทยถึงยอมรับไม่ได้กับคำว่า"โกง" เพราะคนไทยเอาความพอใจหรือถูกใจไปตัดสินคำว่า"โกง"มากกว่าความถูกต้องหรือไม่
   
                   จากประเด็นคำว่า "โกง" นี้ ดร.พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)  ได้ให้ข้อคิดผ่านทางเฟซบุ๊คนาม "Hansa Dhammahaso" ในโอกาสที่ได้รับนิมนต์จากส่วนงานธรรมนิเทศ มจร. โดยพระอาจารย์มหาวัลลพ โกวิโล ไปร่วมเป็นวิทยากรเสวนา เรื่อง เยาวชนจะเหลวไหล ถ้าผู้ใหญ่ไม่ช่วย "กัน แก้" เมื่อวันที่ 14 ส.ค.เช่นกัน
   
                   โดยมีผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วย"ครูหยุ่น" นายมนตรี สินทวิชัย อดีตส.ว. นางสาวมยุริญ ผ่องผุดพันธ์ ดร.บรรเจดพร สู่แสน ดำเนินรายการโดย รท.หญิง ชลรัสมี นาทวีสุข ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 250 รูป/คน ประะกอบด้วยผู้บริหารครูพระสอนศีลธรรม และศึกษานิเทศประจำจังหวัดต่างๆ
   
                   ดร.พระมหาหรรษาได้นำเสนอว่า จุดอ่อนการศึกษาสมัยนี้ คือ เราสามารถพัฒนานักเรียนให้เป็นอย่างน้อย ๓ นัก ได้แก่ "นักรัก นักเลง และนักมวย" การที่จะกันหรือแก้นั้นจำเป็นต้องมองใน 2 มิติ คือ ระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ในระดับนโยบายนั้นควรจะเน้น "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" (Education for Peace) ให้มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ท่ามกลางความแตกต่างทางวิธีคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ผลประโยชน์ และความต้องการ การเรียนรู้วิชานี้ ควรเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อให้เด็กมีทัศนคติในเชิงบวกต่อความต่างมากขึ้น
   
                   ในแง่ของการปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น ควรค้นหาคุณค่าเด่น หรือค่านิยมหลักในการกัน และแก้พฤติกรรมที่เป็นจุดอ่อน "นักรัก นักเลง และนักมวย" แล้วออกแบบค่านิยมหลักเหล่านั้นเป็นบทเพลง กิจกรรม กลอน หนังสือการ์ตูน บทความ ที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของเด็กในแต่ละช่วงชั้น แล้วนำไปสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Youtube FB Blog TV Cable TV Clip และหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เยาวชนได้ซึมซับ เรียนรู้ และปฏิบัติตามค่านิยม หรือแนวปฏิบัติเหล่านั้น ในประเด็นนี้ สถาบันภาษา มหาจุฬาฯ พยายามที่จะบูรณาการหลักสูตรภาษาเชิงบูรณาการ โดยเรียนทั้งภาษาทางโลก เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และอาเซียนกับภาษาธรรม โดยการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และสวดมนต์ ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า "ภาษาเพื่อชีวิตที่ดีงาม"
   
                   อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญในการที่จะกัน (Prevention) และแก้ (Resolution) ไม่ให้เยาวชนมีพฤติกรรมในเชิงลบนัน คือ "ผู้ใหญ่" ด้วยเหตุนี้ ผู้ใหญ่ หรือผู้นำทางสังคมควรจะเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ให้แก่เยาวชนไทย ทั้งในแง่ต่างๆ เช่น ความรุนแรง พฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พฤติกรรมในการโกง หรือคอรั่ปชั่น" (Abuse of Power@Function) โดยไม่ให้เยาวชนเกิดทัศนคติที่ผิดๆ ว่า "โกงกินได้ขอให้ทำงานบ้าง" มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่า "พอกรรมการโกงผลการตัดสินแก้ว พงษ์ประยูร เรายอมไม่ได้ แต่เรายอมได้ถ้ามีการโกงและคอรั่ปชั่นในชาติบ้านเมืองของเรา"
   
                   หากคนไทยไม่ปรับความรู้สึกกับคำว่า"โกง"ตามแนวทางของดร.พระมหาหรรษา ก็คงจะถูกตราหน้ามี 2 มาตรฐานกับคำว่า"โกง"อยู่ตลอดไป

สำราญ สมพงษ์รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เพลงมาร์ชอโยธามหาจุฬาเกมส์

คลิก ฟังเพลงที่นี้ เพลงมาร์ช: อโยธยามหาจุฬาเกมส์ (ชื่อเพลง: รวมใจสีชมพู) [ทำนองและจังหวะ: เร้าใจ ฮึกเหิม] [ท่อนที่ 1] มอจอรอ รวม...