วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'จอบส์-คลินตัน'ปฏิบัติธรรมโลกนี้นะจ๊ะ'ธัมมชโย'

              กลายเป็น "ทอร์ค ออฟ เดอะทาวน์" ขึ้นมาทันควัน เมื่อสถานีโทรทัศน์ DMC ของวัดพระธรรมกาย เผยแพร่สารคดี “Where is Steve Jobs” หรือ "สตีฟ จอบส์" ตายแล้วไปไหนตอนที่ 1 และเว็บไซต์วัดพระธรรมกายเผยแพร่ต่อเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย)  เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ตอบคำถามของของพนักงานบริษัทแอปเปิล  อย่างไรก็ตามทางเว็บไซต์ได้ชี้แจงว่าสารคดี"สตีฟ จอบส์ ตายแล้วไปไหน" นี้เป็นเพียงทรรศนะหนึ่งเท่านั้น ผู้ฟังมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่ก็ได้


              เมื่อมีประเด็นนี้เกิดขึ้นได้มีผู้ออกมาท้วงติงอย่างเช่น พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) วัดสวนแก้ว และพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาส วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ ต่างมองว่าไม่เหมาะสมส่อเข้าข่ายอุตริมนุสธรรม ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระได้  หรือแม้นแต่นายมโน เลาหวณิช วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานมูลนิธิชีวันตารักษ์ อดีตเคยบวชที่วัดธรรมกายก็ได้ออกมาระบุในลักษณะเดียวกันและไม่แปลกใจในพฤติกรรมของพระเทพญาณมหามุนีและเชื่อว่ามีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างดี


              ทั้งนี้เนื้อหาของสารคดีดังกล่าวสรุปว่า สตีฟ จอบส์ตายไปเกิดเป็น "เทพบุตรภุมมเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์" มีผิวดำและเขี้ยวเป็นยักษ์ แต่ด้วยผลบุญที่ได้คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ให้แก่โลก จึงทำให้เขาได้พบมิตรที่ดีบนสวรรค์ และสตีฟ จอบส์ จึงตั้งใจบำเพ็ญเพียรเพื่อเข้าถึงธรรมกายต่อไป ทั้งนี้รู้ได้ด้วยการวิปัสสนา การเข้าญาณ ที่ถูกต้อง 


              นอกจากนี้เว็บไซต์วัดธรรมกายยังได้เผยแพร่ "สตีฟ จอบส์" ตอนที่ 2 ทำไม จึงเป็นคนฉลาด และ"สตีฟ จ๊อบส์"ตอนที่ 3 ทำไมจึงเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเนื้อหาและภาพวาด "สตีฟ จอบส์" ที่ระบุเป็น  "เทพบุตรภุมมเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์"


              อย่างไรก็ตามเนื้อหาแห่งเรื่องนี้เริ่มด้วยคำถามของพนักงานบริษัทแอปเปิลที่กล่าวถึงประวัติของ "สตีฟ จอบส์" ชีวิตการทำงานและช่วงที่ป่วยพร้อมกับระบุว่า "สาเหตุที่ผมเขียนจดหมายมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับสตีฟ จอบส์ทั้งหมดนี้  เพราะเขาเป็นชาวพุทธครับ ในสมัยที่สตีฟ จอบส์ยังเป็นหนุ่ม เขาเคยเดินทางไปอินเดีย  และทำให้เขาตัดสินใจหันมานับถือพระพุทธศาสนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเขา สตีฟ จอบส์ เคยคิดที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วย แต่เพราะติดโครงการสร้างคอมพิวเตอร์ เขาจึงพลาดโอกาสบวชเป็นพระไปครับ"


              ต่อจากนั้นเป็นการตอบคำถามโดยพระเทพญาณมหามุนีโดยมีเนื้อหาและรูปภาพประกอบที่ระบุถึงภูมิต่างๆ (เหมือนไตรภูมิ) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "สตีฟ จอบส์"  ได้ระบุว่า  "สตีฟ จอบส์" มีความกังวลเกี่ยวกับบริษัทแอปเปิล พร้อมถึงกังวลลึกๆว่า “เมื่อตัวเขาตายไปแล้วชีวิตหลังความตายของเขาจะเป็นอย่างไร ตัวเขาจะได้ไปอยู่ที่ไหน และที่แห่งนั้นจะเป็นอย่างไร หรือว่าจะเป็นอย่างที่อาจารย์ของเขา ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นและเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา ได้เคยสอนเอาไว้หรือเปล่าหรือว่าจะเป็นอย่างอื่น”


              ด้วยความที่  "สตีฟ จอบส์" มีความกังวลนี้เองพระเทพญาณมหามุนี จึงระบุว่า  เมื่อ"สตีฟ จอบส์" ได้ละจากโลกนี้ไปแล้ว ตัวเขาก็ได้ไปบังเกิดใหม่เป็น “เทพบุตรภุมมเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์” ที่มีที่อยู่ที่อาศัยซ้อนอยู่บนโลกมนุษย์ใกล้ๆ กับที่ทำงานเดิมของตัวเขาในทันที   "ภุมมเทวาสายวิทยาธรกึ่งยักษ์" คือภุมมเทวาสายนี้มีลักษณะเป็นวิทยาธรกึ่งยักษ์เพราะมีอัธยาศัยรักในความรู้ต่างๆและก็มักโกรธ  ขี้โมโห และหงุดหงิดง่าย ต่อจากนั้นก็ได้มีการอธิบายความเป็นของของ"สตีฟ จอบส์" ในภาพของเป็น “เทพบุตรภุมมเทวาระดับกลางสายวิทยาธรกึ่งยักษ์” โดยจะมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่เป็นไฮเทคต่างๆ


              และช่วงท้ายของตอนนี้พระเทพญาณมหามุนีได้ระบุว่า "ระหว่างที่ท่านเทพบุตรสตีฟ จอบส์ กำลังเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภุมมเทวาแห่งนั้นก็ได้มีกระแสธารแห่งบุญจากที่แห่งหนึ่ง ไปเชื่อมจรดที่ศูนย์กลางกายของท่านเทพบุตรใหม่สตีฟ จอบส์  ซึ่งทันทีที่กระแสบุญดังกล่าวได้ไปจรดเชื่อมที่ศูนย์กลางกายของเขา ก็เป็นผลทำให้ใจของเขาบังเกิดความสว่างไสวขึ้นมาในทันที แล้วภาพของแหล่งกำเนิดแสงสว่าง ที่มาจากคนกลุ่มหนึ่งที่ได้สร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวให้กับตัวเขาและก็นึกถึงเขาก็ได้ไปปรากฏฉายขึ้นภายในใจของเขา"


              ส่วนตอนที่ 2 ทำไมจึงเป็นคนฉลาดนั้น พระเทพญาณมหามุนีได้ระบุว่า ในอดีตนั้น"สตีฟ จอบส์" ได้สั่งสมปัญญาบารมีและทานบารมีมาข้ามภพข้ามชาติและหลายภพหลายชาติ โดยมีการยกตัวอย่างว่าเคยเกิดเป็นเกษตรกรอยู่สองชาติและได้เกิดในประเทศอินเดียนับคือพระพุทธศาสนาด้วย โดยได้อธิบาวิถีชีวิตเป็นฉากๆเน้นการถวายทานเป็นสำคัญ และได้ฝึกสมาธิหลังจากสิ้นอายุขัยก็ได้เปิดเกิดเป็น “เทพบุตรสุดหล่อ” อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อจุติ (หรือตาย) จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็ได้เกิดมาเป็นชาวพุทธสร้างวัดและเมื่อตัวเขาได้ละจากภพชาตินั้นไปตัวเขาก็ได้กลับไปเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมาเกิดเป็น "สตีฟ จอบส์"


              ขณะที่ตอนที่ 3 ทำไมจึงเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นการสรุปถึงปัจจัยที่ "สตีฟ จอบส์" มีความคิดสร้างสรรค์ 7 ประการในอดีตชาติ โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากมีกัลยาณมิตรที่ดีทำทานที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นประติมากรที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น ไมเคิล แองเจโล  จิตรกร สถาปนิก และประติมากรชื่อดังชาวอิตาลียุคปัจจุบันนี้ ปฏิบัติสมาธิจนเห็นแสงสว่างนอกตัวเป็นต้น ตายแล้วจึงไปเกิดเป็น “เทพบุตรสุดหล่อ” อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วมาเกิดเป็น"สตีฟ จอบส์"


              ตามที่พระเทพญาณมหามุนีระบุนั้นเป็นภาพในอดีตอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ส่วนภาพ "สตีฟ จอบส์" ในโลกปัจจุบันนี้ "สตีฟ จอบส์" ได้เรียนรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาและเตรียมตัวก่อนตายอย่างไร พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เขียนบทความเรื่อง "ความตาย : พระพุทธเจ้าสอน สตีฟ จอบส์ปฏิบัติ'' เมื่อปี 2554 ช่วงที่ "สตีฟ จอบส์" ยังมีชีวิตอยู่ และได้เตรียมตัวอย่างไรเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็ง 


              บทความดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ความตายที่สตีพ จอบส์กำลังเผชิญหน้าอยู่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่การ ดำรงชีวิตของเขามากมายนัก เพราะครั้งหนึ่ง สตีพ จอบส์ได้เคยเรียนรู้บทเรียนดังกล่าว และรับอิทธิพลเรื่อง “ความตาย” จากพระพุทธศาสนานิกายเซ็นในประเทศสหรัฐอเมริกา


              ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จอบส์เริ่มหันมาศึกษาพุทธศาสนานิกายเซน เขาสนใจอ่านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาหลายเล่ม และหนังสือที่มีอิทธิพล สูงสุดกับเขาคือ Zen Mind, Beginner’s Mind ซึ่งเขียนโดยชุนริว ซูซุกิ กล่าวกันว่า หลังการศึกษาหลักธรรมของเซน จอบส์เริ่มมีความเชื่อว่า การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณนั้น ก่อให้เกิดปัญญา จึงเริ่มฝึกสมาธิในห้องนอนแคบๆ ที่แชร์ร่วมกับ “แดเนียล คอตคี” เพื่อนสนิท ท่ามกลางกลิ่นธูป และเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนอย่างจริงจังกับ “โกบุน ชิโนะ โอโตโกวะ” พระอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่ศูนย์เซน ลอส อัลทอส (ซึ่งภายหลัง เมื่อจอบส์เข้าพิธีแต่งงานแบบเซน กับ “ลอรีน เพาเวล” ในวันที่ 18 มีนาคม 1991 พระอาจารย์โอโตโกวะได้มาเป็นประธานในพิธี)
  

              การที่สตีพ จอบส์ได้อ่านหนังสือและเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้จากหนังสือเกี่ยวกับพระ พุทธศาสนา รวมไปถึงการนำหลักการพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้การใช้ชีวิตในโลกธุรกิจอย่าง จริงจังนั้น ทำให้วิธีคิดและการแสดงออกของเขาสอดรับกับแงุ่มุมทางพระพุทธศาสนา  ดังจะเห็นได้จากการที่เขาได้กล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ "ความตาย" ในพิธีพิธีสำเร็จการศึกษาของ บัณฑิตมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ปี ค.ศ. 2005 ว่า เมื่อผมอายุราว 17 ผมได้อ่านประโยคเด็ดในทำนองว่า ‘ถ้าคุณใช้ชีวิต ราวกับว่าแต่ละวันนั้นเป็นวันสุดท้ายของชีวิต วันหนึ่งคุณจะสมหวัง’  ผมประทับใจมาตลอด 33 ปี ทุกเช้าผมจะมองกระจกและถามตัวองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ผมอยากทำอะไร และวันนี้ผมจะทำอะไร ?” และเมื่อใดที่คำตอบกลับมาว่า ไม่อยากทำอะไร หลายๆ วันเข้า คุณต้องรู้แล้วว่าคุณต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิตแล้ว”


              ในพิธีเดียวกันนี้ เขาได้ชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของความตายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “การ ใช้มรณานุสติเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผมตัดสินใจเรื่อง ใหญ่ของชีวิต เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังจากผู้คนทั้งหลาย เกียรติยศชื่อเสียงทั้งปวง ความกลัวที่จะเสียหน้าหรือกลัวที่จะล้มเหลว มันก็จะหายไปเมื่อเราตาย เหลือไว้เพียงเรื่องที่สำคัญจริงๆ มรณานุสตินี่เองที่จะช่วยให้คุณหลบหลีกกับดักทางความคิดที่ว่าคุณไม่อยากจะ สูญเสียอะไร จริงแล้วคุณไม่มีอะไรติดตัวเลย จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะไม่ทำอะไรตามที่ใจคุณต้องการ

              และเมื่อ สตีพ จอบส์ได้เรียนรู้ และนำหลักการนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาได้ค้นพบสัจธรรมเกี่ยวกับความตาย  ซึ่งการค้นพบสัจธรรมของความตายดังกล่าว ทำให้เขาค้นพบ “iPod  iPad  และ iPhone” ในที่สุด"


              การอัดฉีดพลังแห่งความตายเข้าไปในจิตใจนั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเซลล์ ประสาทให้ตื่นตัว  และมุมมองต่อชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของบุคคลต้นแบบที่ได้นำเสนอในเบื้องต้นว่า การค้นพบความตาย  การเข้าใจและตระหนักรู้ในความตายทุกวินาทีนั้น ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเปลี่ยนแปลง “โลกทางจิต” ไปสู่ความเป็น “พระพุทธเจ้า”  และเมื่อ สตีพ จอบส์ได้เรียนรู้ และนำหลักการนี้มาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขาได้ค้นพบสัจธรรมเกี่ยวกับความตาย  ซึ่งการค้นพบสัจธรรมของความตายดังกล่าว ทำให้เขาค้นพบ “iPod  iPad  และ iPhone” ในที่สุด


              คำเตือนดังกล่าวได้ส่งต่อมาถึงสตีพ จอบส์จนทำให้เขาได้ตกผลึก และรับรู้บทเรียนที่ทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “ความตาย” จนเป็นที่มาของประโยคทองที่ว่า “คุณ มีเวลาจำกัด ดังนั้นอย่าเสียเวลาไปกับการใช้ชีวิตแบบคนอื่น อย่าตกหลุมลัทธิความเชื่อที่ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างที่ผู้คนเขาคิดกันว่าควรจะ เป็น อย่าปล่อยให้ความคิดของคนอื่นเข้ามารบกวนเสียงจากใจของคุณ (Inner voice) และที่สำคัญที่สุด คุณต้องมีความกล้าที่จะทำตามหัวใจและการหยั่งรู้ (Intuition) ของคุณ ที่จะช่วยให้คุณบรรลุสิ่งที่คุณต้องการจะเป็นจริงๆ แล้วก็ปล่อยให้เรื่องอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องรองไป” และเพื่อให้บรรลุความฝันและแรงบันดาลใจดังกล่าว "จงกระหายที่จะเรียนรู้ และจงทำตนเหมือนคนโง่" (Stay Hungry, Stay Foolish )


              จะเห็นว่า การมีสติระลึกถึงความตายทุกวินาทีแห่งลมหายใจนั้น จะทำให้มนุษย์ตื่นรู้ ใส่ใจ และเพียรสร้างสิ่งต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดี ความงาม และความสุข รวมไปถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เอาไว้เป็น "ธรรมเจดีย์" แก่ชีวิตและโลกของเรา"


              ไม่ใช่แต่ "สตีฟ จอบส์" ที่รู้คุณค่าของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้วนำมาปฏิบัติในชีวิตแม้แต่ "บิล คลินตัน" อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาสุขภาพมาหลายปีแล้ว ให้แพทย์ผ่าหัวใจทำบายพาสมาใหญ่แล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งระยะหลัง "บิล คลินตัน" ได้ดูแลสุขภาพด้วย "ชีวจิต" จะเห็นได้ว่าในช่วงที่จัดงานแต่งงาน "เชลซี" ลูกสาว ดูยังหนุ่มอยู่เลยทั้งๆที่อายุ 66 ปีแล้ว


              และล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555 สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า "บิล คลินตัน" ได้เข้ารับการฝึกสมาธิแบบพุทธศาสนากับพระภิกษุรูปหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาจิตใจและสุขภาพ


              แน่นอนคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับภพภูมิอย่างเช่นในไตรภูมิพระร่วง แต่ธรรมส่วนใหญ่มุ่งที่จะแก้ปัญหามนุษย์ในโลกนี้ภพภูมินี้เป็นสำคัญ ผู้ใดจะรู้ภพภูมิหน้าอย่างไรนั้นเป็นความสามารถของแต่ละคน และเมื่อรู้แล้วพระองค์ทรงห้ามไม่ให้พูดเพราะว่าเรื่องเช่นนี้เป็นอจินไตยรู้ได้เฉพาะตน ไม่เช่นนั้นพระองค์ไม่ทรงบัญญัติอาบัติปาราชิกข้อห้ามอวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน หรือมีก็ห้ามเช่นเดียวกันหากฝ่าฝืนก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ดังนั้น อย่างให้สัทธรรมปฏิรูปบัดเบือนไปมากกว่านี้เลย

สำราญ สมพงษ์ รายงาน             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น