"มะเร็ง" นับเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตมนุษย์ในแต่ละปีเป็นจำนวนไม่น้อยไม่แพ้โรคเอดส์ ไม่ว่าจะเป็นยาจกหรือมหาเศรษฐีอย่าง "สตีฟ จ็อบส์" เจ้าพ่อแอบเปิ้ล ผลิตไอแพด-ไอโฟนให้มนุษย์ได้ใช้กันก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อไม่นานมานี้
เมื่อเป็นโรคมะเร็งแล้วจะรักษาหรือบริหารชีวิตอย่างไรให้อยู่อย่างมีความสุข หน่วยงานใดในสังคมจะมีส่วนช่วยบ้าง หากเป็นโรคเอดส์ระยะสุดท้ายวัดพระบาทน้ำพุ ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี ภายใต้การดูแลของพระอุดมประชาทร (อลงกต ติกฺขปญฺโญ ) ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ที่ไร้ที่พึ่งได้เป็นอย่างดียิ่ง แล้วเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจะมีหน่วยงานใดดูแล
วัดคำประมง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้ทำหน้าที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยสอนเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติตนที่ถูกต้องของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ปรับสภาพจิตใจที่เศร้าหมองให้มีคความสุขผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ดนตรีบำบัด สวดมนต์ร่วมกัน สร้างมิตรภาพและกำลังใจร่วมกัน ผ่านความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างเกื้อกูลภายในวัด
หลักธรรมที่มีเทคนิคในการสอนทำให้ผู้ฟังผ่อนคลายทุกข์จากความเจ็บป่วยทางกายและใจ พิธีกรรมต้มยาสมุนไพร การฝึกสมาธิโดยมรณานุสติ ร่วมถึงการเรียนรู้ความจริงเชิงประจักษ์ คือการร่วมสวดมนต์ให้กับคนไข้หนักที่ใกล้เสียชีวิต ทำให้เห็นสัจธรรมของชีวิตและเกิดความปล่อยวาง เกิดปัญญาในการดำเนินชีวิตที่เหลือของตนเองอย่างมีความสุข
จากผลการปฏิบัติต่อผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของวัดคำประมงดังกล่าว ทำให้สุขภาพกายและใจของผู้ป่วยเป็นไปในทางที่ดีขึ้น รับประทานอาหารได้มากขึ้น หน้าตายิ้มแย้ม ร่างกายสดชื่น ก้อนเนื้อมะเร็งนิ่มลง ส่วนผลลัพธ์ความทุกข์ทางใจ ทุกข์น้อยลง เกิดความปล่อยวาง มีความตั้งใจที่จะต่อสู้กับโรคร้ายแต่ในขณะเดียวกันถ้ามีอาการลุกลามมากขึ้น ก็สามารถยอมรับและพร้อมที่จะจากไปอย่างมีความสุข
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบองค์รวมของวัดคำประมงดังกล่าว เป็นผลการวิจัยเรื่องการจัดการเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบองค์รวม : กรณีศึกษาวัดคำประมง จังหวัดสกลนคร ของนางสาวจรัสแสง ผิวอ่อน นักศึกษาปริญญาโท พุทธศาสตรมหาบัญฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ซึ่งมีนามสกุลด้วยกับนายปิยะพงษ์ ผิวอ่อน อดีตศูนย์หน้าฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นวิจัยเด่นประจำปี 2555 หนึ่งในหกเรื่องจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร รองอธิการบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร. และผู้วิจัย ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการคัดเลือก และจะจัดงานสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่น ในวันอาทิตย์ที่ 26 ส.ค.นี้ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00น.ที่หอประชุมมวก.49 มจร.อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ภายในงานจะได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายของวัดคำประมงแล้ว ยังจะได้ทราบเกี่ยวกับผลงานวิจัยดีเด่นอีก 5 เรื่องคือ
1.การศึกษาวิเคราะห์ปาณาติบาตในเซลล์มนุษย์และตัวอ่อนมนุษย์ ซึ่งจะได้ทราบว่าการคุมกำเนิดแบบต่างๆ การผสมเทียม การทำเด็กหลอดแก้วเป็นต้น มีความเสี่ยงต่อการผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่อย่างไร
2.กายวิภาคที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
3.CURING BODY AND MIND : HOW MODERN MEDICINE MAKES USE OF THE BUDDHA'TEACHINGS
4.พุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งจะประยุกต์ใช้กับความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี
5.การศึกษาวิเคราะห์เรื่องรัศมีในพระพุทธศาสนาเถรวาทผ่านแนวคิดเรื่องแสงในวิทยาการสมัยใหม่เรื่องสนามพลังงานในมนุษย์
จะเห็นได้ว่าผลงานวิจัยที่บัณฑิตวิทยาลัย มจร.คัดเลือกให้เป็นผลงานที่ดีเด่นประจำปี 2555 นั้น เน้นหนักทางด้านสาธารณสุขและการดูแลสุขภาพเป็นสำคัญ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับภาวะของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในช่วงวัยทำงานและเข้าสู่วัยชรา ดังนั้นการดูแลสุขภาพจึงถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศอีกทางหนึ่งด้วย เชื่อแน่ว่างานสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นของ บัณฑิตวิทยาลัย มจร. จะตอบสนองประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง
เรื่อง/รูป โดยสำราญ สมพงษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น