วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฝึก'พระธรรมทูต'เทียบชั้น'มิชชันนารีวาติกัน'


               การท่องแดนพุทธภูมิประเทศอินเดียของคนไทยพุทธส่วนใหญ่แล้ว ต้องการที่จะสัมผัสพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้ปฏิบัติธรรมทวีคูณขึ้นไป

               หลังจากร่วมคณะนิสิตปริญญาโทสันติศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) รุ่นที่ 1 (และกำลังรับสมัครรุ่นที่ 2 ถึงวันที่ 30 มี.ค.นี้) ได้จัดโครงการ "จาริกสันติธรรม สู่ดินแดนแห่งพุทธภูมิ" ประเทศอินเดีย-เนปาล จำนวน 40 รูป/คน ระหว่างวันที่ 16-26 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้การนำของพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตร จึงทำให้ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของพุทธศาสนิกชนที่เดินทางไปแสวงบุญคณะต่างๆผ่านทางเฟซบุ๊กวัดไทยในประเทศอินเดีย

               ได้เห็นกิจกรรมต่างๆ ที่น่าอนุโมทนายิ่งอย่างเช่น กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การนำของนายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดี ได้จัดโครงการส่งพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนประกอบศาสนกิจ ณ สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นรุ่นที่ 2 แล้วประกอบด้วย พระสังฆาธิการ พระธรรมวิทยากร จำนวน 100  รูป และฆราวาสผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จำนวน 35 คน หรือโครงการเดินธุดงค์ตามรอยบาทพระศาสดา จำนวน 56 รูป ฤาษี 1 ตน ระยะทาง 1,000 กิโลเมตรกว่า

               รวมถึงกิจกรรมล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา พระเทพโพธิวิเทศ เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประธานพระธรรมทูตไทยอินเดีย – เนปาล เป็นประธานเ ปิดงานและบรรยายพิเศษโครงการอบรมพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ รุ่นที่ 20  ถวายเป็นพระราชกุศล ศึกษาดูงานอินเดีย – เนปาล ณ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ภายใต้การนำของพระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงาน  ในการนี้มีผู้บริหาร มจร พระธรรมทูต  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน 120 รูป/คน

               ในโอกาสนี้พระเทพโพธิวิเทศได้ให้คำแนะนำความว่า เจ้าชายสิทธัตถะมหาบุรุษทิ้งถาดทองคำเปรียบด้วยลาภสักการะที่คอยบังตา มาคว้าภาชนะทองธรรม การต่อสู้ครั้งนี้เดิมพันด้วยชีวิต "ตายเป็นตาย" ไม่ตรัสรู้ไม่ลุกหนี สุดท้ายชัยชนะที่ได้คือ "โพทธิปัญญ" 

               "งานพระธรรมทูตเป็นงานที่ทำด้วย "ฉันทะ" ไม่ใช่งานที่อยากได้อยากเป็นด้วย "ตัณหา" มองอะไรให้เข้าถึงพระพุทธเจ้าแม้นถนนจะขรุขระเห็นข้างนอกดูวุ่นวายแล้วปฏิบัติธรรมภายในใจ ให้สติสงบปัญญาสว่างให้รู้ทันนี้แหละ "แสวงบุญ"   ศรัทธาอ่อนแต่ปัญญาไม่อ่อนพระพุทธศาสนาอยู่รอด หากปัญญาอ่อนศรัทธาไม่เข้มแข็งพระพุทธศาสนาไปไม่รอดแน่" ประธานพระธรรมทูตไทยอินเดีย – เนปาลให้คำแนะนำ 

               อย่างไรก็ตามคณะผู้แสวงบุญที่เดินทางไปที่วัดไทยพุทธคยาคงจะได้เห็นอาคารวิปัสสนาวิรภุชงค์กำลังก่อสร้างอยู่ที่พระเทพโพธิวิเทศได้ตั้งความหวังไว้ว่า จะพัฒนาวัดไทยพุทธคยาให้เป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตมีความรู้ความสามารถเทียบชั้นสำนักวาติกัน

               พระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศรุ่นที่ 20 ที่เดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดียภายใต้การดำเนินการของ มจร ครั้งนี้ หลังจากที่สมัครและเปิดการอบรมตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  โดยได้รับความรู้ในแง่มุมต่างๆจากวิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยาอย่างเช่น เรื่อง "ภาษาอังกฤษกับการพัฒนาศักยภาพพระธรรมทูต"   "พระธรรมทูต ทูตแห่งสันติภาพ" โดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผอ.หลักสูตรปริญญาโท สันติศึกษา มจร 

               "ประสบการณ์การเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในต่างแดน"  โดยพระครูวิเทศปัญญาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แคลลีฟฟอเนีย สหรัฐอเมริกา "เทคโนโลยีทางอาคารและความรู้ในด้านวัสดุ ก่อสร้าง"  โดยผศ.สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง "ประสบการณ์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา"  โดยพระราชปริยัติเวที เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร "พระไตรปิฏกวิเคราะห์"  โดยพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม รวมถึงเรื่อง "พระพุทธศาสนาในสถานการณ์ปัจจุบัน" โดยพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร 

               ขณะเดียวกันเคยแสดงความเห็นไว้ว่า ควรจะมีเรื่อง "เทศน์หรือโพสต์เฟซบุ๊กอย่างไรให้เป็นข่าว" ด้วย โดยเอาหลักนิเทศศาสตร์เข้าไปจับบวกด้วยหลักสัปปริสธรรม 7 ประการ เพราะธรรมชาติของข่าวอันดับแรกคือประเด็นต้องใหม่น่าสนใจและผลประโยชน์ตามมา เข้าหลัก "ธัมมัญญุตา"  เป็นผู้รู้จักเหตุ "อัตถัญญุตา" เป็นผู้รู้จักผล และที่สำคัญคือกาลัญญุตาต้องทันกาล เกิดเหตุวันนี้วินาทีนี้แล้วไปโต้อีกวันแบบนี้ถือว่าไม่ทันกาล ธรรมชาติของข่าวต้องปัจจุบันขณะ  และ"ปุคคลปโรปรัญญุตา" ก็สำคัญเมื่อบุคคลสำคัญคนดังไปที่วัดก็เป็นข่าวแล้ว

               หลังจากนั้นนำหลักการทำ SEO เข้ามาประกอบ "คีย์เวิร์ด" จะต้องฮิตเพื่อให้กูเกิ้ลจับเพื่อจะได้อยู่อันดับแรกของการค้นหา ต่อจากนั้นนำหลักโซเชียลเน็ตเวิร์คเข้ามาช่วยสร้างยอดคนอ่าน ดังนั้น ข่าวหนึ่งชิ้นจะต้องแชร์ไปที่ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิ้ลพลัต หรือแท้งโก้ ก็จะช่วยในการเผยแผ่ธรรมได้เป็นอย่างดี


"มจร"อนุมัติตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูต
               
               ด้านพระโสภณวชิราภรณ์ กล่าวว่า มจร ได้อนุมัติตั้งวิทยาลัยพระธรรมทูตขึ้นมาเพื่อสร้างพระธรรมทูตให้มีคุณภาพและสานความร่วมมือกับคณะสงฆ์พุทธศาสนาประเทศต่างๆด้วย ซึ่งต่อไปนี้ไม่ใช่เฉพาะการเปิดการอบรมเท่านั้น ซึ่งจะทำให้งานมีระบบมากขึ้นและถือเป็นงานของมหาเถรสมาคม พร้อมกันนี้ให้มีสมณศักดิ์สายต่างประเทศด้วยเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ผลงานเหล่านี้สืบเนื่องมาจากงานของสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่ได้สร้างมา

               รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร กล่าวต่อว่า วิทยาลัยพระธรรมทูตนี้จะเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยจะเริ่มปีการศึกษา 2557 นี้ ซึ่งจะรับทั้งพระและฆราวาส แต่รุ่นแรกนี้คงจะรับเฉพาะพระก่อน ส่วนหลักสูตรนั้นก็จะเกี่ยวกับวิธีการเผยแพร่ ภาษา ศาสนาพิธี และประเทศที่จะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ
              
               "จะแบ่งเป็นช่วงๆ สลับกันคือปีแรกเรียนวิชาการ ปีที่สองจะต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศต่างๆ โดยจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแพร่ด้านต่างๆ รวมถึงการเขียนบทความ รายงาน เผยแพร่ผ่านสื่อประเทศนั้นๆ ปีที่สามกลับมาเรียนที่ประเทศไทยและปีที่สี่ก็กลับไปปฏิบัติที่ประเทศนั้นๆอีก ดังนั้น พระธรรมทูตจะต้องเรียนรู้ภาษาของประเทศที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจถือเป็นภาคบังคับ" พระโสภณวชิราภรณ์ กล่าว 

.....................................

ฝึก'พระธรรมทูต'เทียบชั้น'มิช


ชันนารีวาติกัน'  'มจร'ตั้งวิทยาลัยสอนป.โท-เอกรองรับงานคณะสงฆ์ : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FBsamran sompong)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์

  การวิเคราะห์ “มหาวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พร...