วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

เตือนโพสต์'คำด่า'โผล่ตอนสมัครงาน

                ความขัดแย้งในสังคมไทย  เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุพื้นฐานมาจากความแตกต่างทางด้านความคิด  ความเชื่อ  และวัฒนธรรม  ความขัดแย้งมีทั้งนำไปสู่ความสร้างสรรค์และความรุนแรง  โดยสภาพทางสังคมปัจจุบันการใช้คำพูดที่ให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ในสังคมออนไลน์ และนิยมใช้ Social Media ในการใส่ข้อความที่สร้างความเกลียดชัง เช่นใน Facebook เป็นต้น ส่งผลให้ เกิด ความขัดแย้งในสังคม ซึ่งอาจขยายผลนำไปสู่ความรุนแรงและความเสียหายตามมา

                ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลนักศึกษา  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  เล็งเห็นความสำคัญเรื่องการป้องกันและจัดการความขัดแย้ง ในสังคมให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้อาจารย์  นักศึกษาและบุคคลทั่วไปทราบถึงผลเสียของการใช้คำพูดที่ให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ในสังคมออนไลน์ เพื่อลดความความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม  สร้างสรรค์ ส่งผลให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

                ศูนย์สันติวิธีและธรรมาภิบาลนักศึกษาจึงกำหนดจัดโครงการปรองดองเพื่อพ่อ   เรื่อง “Hate Speech ไวรัสทางสังคมไทย”ขึ้นเมื้่อวันพุธที่  9  เมษายน พ.ศ.2557   เวลา  09.00 – 12.00 น. โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ด้านนี้มาให้ความรู้  และมีนักศึกษานิเทศศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง สโมสรนักศึกษา และแกนนำนักศึกษาจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเขตภาคกลางตอนบน ผู้บริหาร และคณาจารย์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่สนใจ ผู้ประกอบการและชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน

                หลังจากดร.วันวร จะนู  ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานเปิดโครงการแล้ว  พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและผู้อำนวยการหลักสูตร   พุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  บรรยายพิเศษ เรื่อง “เมื่อติดไวรัส Hate speeeh จะทำอย่างไร” ความว่า ท่ามกลางสังคมไทยซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับกระแสการใช้คำพูดกระตุ้นให้เกิดการ "แปลกแยก แบ่งแยก และแตกแยก" ระหว่างกลุ่มคนในชาติ สังคมไทยดั่งเดิมเป็นสังคม "นินทา" หรือ "สังคม Gossip" เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นไปในเชิงบวก มิได้มีจุดมุ่งหมายในการใช้ Gossip เพื่อให้เกิดการดูถูก เหยียดหยาม และเกลียดชังซึ่งกันและกัน แต่กระบวนการในปัจจุบัน เป็นมากกว่าการ Gossip หรือนินทา เพราะมุ่งเพื่อให้เกิดการเกลียดชังและแบ่งฝ่าย รวมไปถึงการดูถูกเหยียดหยามกลุ่มคนที่มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่แตกต่าง

                สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ หากมิได้มีการแสวงหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม แนวโน้มที่จะเกิดตามมาคือ สังคมไทยกำลังพาตัวเองไปสู่วงเวียนที่คล้ายคลึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา คือ เหตุการณ์ที่ชนพื้นเมืองชาวตุดซี (Tutsi) และชนพื้นเมืองชาวฮูตู (Hutu) ถูกสังหารหมู่ไปประมาณ 800,000-1,071,000 คนในช่วงเวลา 100 วันตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคมในปี พ.ศ. 2537 (1994) ในประเทศรวันดา โดยกลุ่มผู้กระทำการสังหารหมู่คือ กลุ่มทหารบ้านหัวรุนแรงชาวฮูตู ได้แก่กลุ่มอินเตราฮัมเว (Interahamwe เป็นภาษากินยาร์วันดาแปลว่า "ผู้ที่สู้ด้วยกัน") และกลุ่มอิมปูซูมูกัมบิ (Impuzamugambi แปลว่า "ผู้ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน")

                ต่อจากนั้นเป็นการสนทนา เรื่อง “Hate Speech ไวรัสทางสังคมไทย” โดยมีผู้ร่วมการสนทนาประกอบด้วยนางพิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวพรทิพย์  โม่งใหญ่  อดีตผู้สื่อข่าว Thai PBS ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัณฑกานต์  ดวงรัตน์  คณบดีคณะนิเทศศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์   ดำเนินการสนทนาโดยอาจารย์ฐิติ  ลาภอนันต์  ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษาและรักษาการหัวหน้าศูนย์สันติวิธี   และธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

                นางพิจิตรา กล่าวว่า ความจริงแล้วสังคมไทยมีความคุ้นเคยกับถ้อยคำที่นำไปสู่ความเกลียดชังหรือ Hate Speech มานานแล้ว อย่างเช่นคำว่า เจ๊ก แขก  เกย์ ตุ๊ด กะเทย แต่ช่วงวิกฤติการเมืองเกิดขึ้นทำให้คำเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการปลุกเร้ามากขึ้นอย่างมีเจตนาแล้วสื่อไปตามสื่อต่างๆทั้งสื่อเสรี วิทยุ และดาวเทียม รวมไปถึงสื่อสังคมออนไลน์ แต่สิ่งที่นักวิจัยเป็นห่วงก็คือว่าคำเหล่านี้จะพัฒนาไปถึงขั้นสร้างความรุนแรงโดยเมื่อเห็นฝ่ายตรงข้ามสามารถใช้ความรุนแรงได้ทันที

                "ทั้งนี้สื่อควรที่จะฝึกให้รู้เท่าทันแหล่งข่าว แม้นว่าสื่อกระแสหลักพยายามจะกลั่นกรอง แต่สื่อนอกนี้ที่มีอยู่มากยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด"  อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯให้ความเห็น

                ด้านนางสาวพรทิพย์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานการชุมนุมทั้งสองฝ่ายได้รับความกดดัน ถูกคุกคาม และกำจัดสิทธิ อย่างกรณีกระชับพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้าหรือที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการปลุกเร้าต่างๆ แต่สื่อที่อยู่ในหน้างานไม่ทราบเลยว่าเบื้องหลังจริงๆแล้วฝ่ายใดทำอะไรบ้าง และมีการนำเสนอทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยที่มุ่งความเร็วเป็นสำคัญจึงยากที่จะมีการตรวจสอบ บวกกับสื่อปัจจุบันนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่วุฒิภาวะในการนำเสนอนั้นอาจจะน้อยอาจจะผิดพลาดได้ และความรับผิดชอบตามมาก็มีน้อยเช่นกัน ดังนั้น สื่อต้องมีจริยธรรมในตัวเอง อ่านข้อมูลมากๆ เพื่อให้รู้เท่าทันอย่าเชื่อทั้งหมด

                ส่วนดร.ทัณฑกานต์ กล่าวว่า ตนเป็นนายกสมาคมนิเทศศาสตร์ก็มีการพูดกันมากในเรื่องนี้และถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับของประเทศไทย และไม่มั่นใจว่าจะหาทางออกอย่างไร ปัจจุบันนี้คำเกลียดชังมีมากขึ้น แต่คนรุนใหม่แม้นรู้เทคโนโลยีตามข้อมูลไม่ทันและไม่รู้เท่าทันยิ่งสิ่งที่สื่อนั้นยิ่งสื่อออนไลน์ด้วยแล้วยากมาก

                "โลกในสังคมออนไลน์ปัจจุบันนี้พัฒนาไปถึงขึ้นกระตุ้นให้คิดฆ่าตัวตายอย่างกรณีลูกฆ่าพ่อแม่ก็ได้แรงกระตุ้นจากสื่อ ก็คุยกับกสทช.เกี่ยวกับเรื่องการกำกับดูแลกันเอง แต่เรื่องเหนือเมฆสองเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าสื่อเองก็กำกับดูแลกันเองไม่ได้ ก็มาถึงจุดคือมีองค์กรรัฐเข้ามากำกับก็ถูกสื่อออกมาร้องว่าคุกคามสื่อ ดังนั้น กสทช.ก็ทำอะไรมากไม่ได้ ก็ต้องมาอีกจุดหนึ่งก็คือกำกับดูแลร่วมกัน แต่ก็ติดปัญหาก็คือสื่อมีการประกาศตัวชัดเจนไม่พอใจก็ลาออกจากองค์กรสื่อนั้นก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก" ดร.ทัณฑกานต์ กล่าวและว่า

                นอกจากนี้สิ่งที่สื่อหรือโพสต์ออกไปทางออนไลน์ระบบต่างๆรวมถึงระบบไลน์ด้วยนั้นเสียงต่อการถูกฟ้องได้ และมีระบบการเก็บข้อมูลแม้นว่าจะลบไปแล้วก็สามารถกู้กลับขึ้นมาดูได้ พร้อมกันนี้ยังมีการนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบในการพิจารณาคนเข้าทำงานด้วย ตั้งแต่ที่ตนเป็นที่ปรึกษาของบริษัทประเทศญี่ปุ่นมา 4 ปีกว่าทำให้ทราบว่าเขานำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณามีคนเข้าทำงาน เมื่อเข้ามาตั้งบริษัทในประเทศก็ยังใช้วิธีการเช่นนี้อยู่ รวมถึงบริษัทของคนไทยเองก็เริ่มใช้วิธีการเช่นนี้โดยเฉพาะบุคลากรที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร แต่หน่วยงานภาครัฐยังไม่มีแนวความคิดเช่นนี้

                ดร.ทัณฑกานต์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นผู้บริโภคก็ต้องรู้เท่าทัน และสื่อเองก็จะต้องปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกในดีเอ็นเอ  และก่อนจะโพสต์อะไรควรมีสติและนึกถึงผลดีผลเสียที่จะตามมาให้มาก

                หากสังคมไทยเต็มไปด้วยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือ Hate Speech แล้ว ก็คงจะเป็นไปตามที่วิทยากรหลายคนปรารภก็คือสังคมไทยอยู่ยากขึ้นทุกวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักของการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขคือสังคหวัตถุ 4  คือ ทาน คือ การให้ การเสียสละ 2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน 3. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิดหรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น 4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงแนะนำให้ใช้ Hate Speech เลย

................

(หมายเหตุ : เตือนโพสต์'คำด่า'โผล่ตอนสมัครงาน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์สร้างภูมิคุ้มกันให้นศ. : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong))

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"พวงเพ็ชร" มาแล้วมอบสำนักพุทธจับมือ "พม." ตรวจสอบ พ่อ-แม่ ‘น้องไนซ์ เชื่อมจิต’ หากเข้าข่ายหลอกลวง ปชช. สั่งฟันทันที

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนเรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาส...