วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2559

 สานพลังภาคีเครือข่ายร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย



สสส.สานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย พบ 1 ใน 5 เด็กเล็กพัฒนาการล่าช้า เดินหน้าพัฒนาเครือข่ายกลไกพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด 23 แห่ง เผยเคล็ดลับวาง 6 ระบบ พัฒนากลไกระดับจังหวัดเชื่อมต่อการทำงานระดับตำบลและศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพ

            เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่โรงแรมโรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการ “สานพลังร่วมสร้างสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ขยายผลสู่การขับเคลื่อนระบบและกลไกระดับจังหวัด” โดยมีองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ ครู อาจารย์ ผู้ปกครองและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,000 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เครือข่ายที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่การผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนระบบและกลไกการทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดที่เป็นรูปธรรม

            ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี เป็นโอกาสทองของการพัฒนาเพราะเป็นช่วงที่สมองพัฒนาถึง 80% จึงเป็นโอกาสสำคัญในการจัดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมกับวัย อย่างไรก็ตามยังมีเด็กปฐมวัยอีก 12% ที่ขาดโอกาสในการเตรียมความพร้อม จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2555 พบว่า มีเด็กจำนวน 365,506 คน จากจำนวนเด็กช่วงอายุ 0-5 ปี 4,585,759 คน หรือ คิดเป็น 12% ของเด็กในช่วงอายุ 2-5 ปี ที่ไม่ได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลเพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงปฐมวัย นอกจากนี้ยังพบ 1 ใน 5 ของเด็กปฐมวัย มีพัฒนาการล่าช้า จากการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 3.5 ปีทั่วประเทศ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

            ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้มีมติให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด ภายในปี 2559 กลไกการทำงานของจังหวัดจึงเป็นรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจที่ท้องถิ่นลุกขึ้นเป็นเจ้าของรับผิดชอบและดูแลลูกหลานของเขาเอง สสส.ในฐานะองค์กรที่มุ่งสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบและเครือข่ายการทำงานจึงสนับสนุนตัวอย่างกลไกเด็กปฐมวัยในระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดรูปธรรมในการทำงานที่เชื่อมโยงกันระหว่าง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข ท้องถิ่น และกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เวทีแลกเปลี่ยนในครั้งนี้จึงเป็นการนำองค์ความรู้จากการทำงานเพื่อสร้างเครือข่ายให้เกิดกลไกระดับจังหวัด ทั้ง 23 จังหวัด ที่กระจายทุกภูมิภาคของประเทศ รวมถึงการจัดทำข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านเด็กปฐมวัยและแผนปฏิบัติการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด

            รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง ผู้จัดการโครงการบริหารและจัดการหน่วยวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการดูแลเด็กปฐมวัย สสส. กล่าวว่า จากศึกษาสถานการณ์ปัญหาและความต้องการการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยของชุมชนร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ท้องถิ่น ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคนในชุมชน จำนวน 15 จังหวัด และนำสู่การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มีศักยภาพสามารถเป็นแม่ข่ายที่มีคุณภาพ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ระบบบริหารจัดการ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ระบบการดูแลสุขภาพ และระบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญในระดับตำบลขยายผลไปสู่ระดับจังหวัด แต่ปัญหาที่พบคือยังขาดการบูรณาการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย จึงไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในระดับจังหวัด และไม่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับระดับชาติได้

            รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง กล่าวว่า การมีนโยบายให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด เพื่อกำหนดนโยบาย ติดตามผลการทำงาน สนับสนุนความรู้และทรัพยากรในการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการปิดช่องว่างและทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานในระดับจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลไกของจังหวัดควรมีองค์ประกอบสำคัญใน 6 ระบบ โดยแบ่งเป็น ระบบสนับสนุน 3 ระบบ ได้แก่ 1)การบริหารจัดการ 2)สารสนเทศ 3)การมีส่วนร่วมของภาคีและเครือข่าย ระบบหลัก 3 ระบบ ได้แก่ 1)การจัดทำแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย 2)ฐานข้อมูล 3)การพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ระบบฐานข้อมูลคือหัวใจในการนำมาวิเคราะห์ นโยบาย วิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงให้เห็นสถานการณ์เด็กจากข้อมูลที่เป็นจริงสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...