วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

อภัยภูเบศรแนะรัฐ ส่งเสริมวิจัยเครื่องสำอางสมุนไพรจากฐานภูมิปัญญา ดันดุลการค้าบวก 

            ในปัจจุบันผู้คนต่างให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพอนามัย การเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดี จึงทำให้ตลาดเครื่องสำอางของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี  ในปี 2558 เครื่องสำอางมีมูลค่าตลาดในประเทศถึง 2.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกที่ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 9 หมื่นล้านบาท

            แต่ในขณะเดียวกันการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้น  อย่างในปี 2558 มีมูลค่านำเข้ากว่า 3 หมื่นล้านบาท  ถึงแม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าการส่งออก  แต่ก็เป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง  เนื่องจากเครื่องสำอางเป็นสินค้าแฟชั่น ความนิยมโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นขึ้นกับกระแสความนิยมในดาราต่างชาติ ดังนั้นการพัฒนาเครื่องสำอางเพื่อให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจำเป็นต้องมีงานวิจัยสนับสนุน

            มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ธุรกิจเพื่อสังคมชั้นนำ ที่มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประเทศ  ได้เสนอแนะภาครัฐให้ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเครื่องสำอางจากภูมิปัญญาไทยเพื่อสร้างดุลการค้าด้านบวก  ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร  ผู้แทนกรรมการบริหารของมูลนิธิ ฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาเครื่องสำอางจากสมุนไพรที่ผ่านมา  เราได้นำภูมิปัญญาสมุนไพรไทยมาใช้เป็นฐานในการพัฒนา  ประกอบกับค้นคว้าการศึกษาวิจัยสมัยใหม่ที่ช่วยสนับสนุนการใช้สมุนไพรไทยนั้น ๆ จากการทำงานกว่า 20 ปี  เราค้นพบสิทธิบัตรของสมุนไพรไทยที่ถูกจดโดยต่างชาติแล้วมากกว่า 100 ฉบับ  สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยมีประสิทธิภาพและปลอดภัย  และมีศักยภาพที่สามารถมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ  ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 นี้ จะมีการรวบรวมสมุนไพรที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางได้หลากหลายชนิด


            โดยเฉพาะเรื่องฝ้าที่นับเป็นปัญหาของหญิงไทย เราก็จะนำเสนอสมุนไพรที่ใช้ได้ดีกับฝ้า  ที่บางชนิดมีงานวิจัยและสิทธิบัตรในต่างประเทศแล้ว อย่าง มะขามป้อม  ใบฝรั่ง หัวกลอย  มะหวด  ดู่ท่ง ตาลเดี่ยว  เมล็ดบานเย็นและผักเบี้ยใหญ่  หรือกระแสของเวชสำอาง หรือ Cosmeceuticalsที่รวบรวมคุณสมบัติของเครื่องสำอางกับยาไว้ด้วยกันนั้น ก็มีสมุนไพรที่น่าจะสามารถนำมาพัฒนาเป็นเวชสำอางต่อได้  อย่างอัญชัน  ขมิ้นชัน  บัวบก  รางจืด  ว่านหางจระเข้  ดาวเรือง ความรู้เหล่านี้เรารวบรวมไว้ในหนังสือบันทึกแผ่นดิน 9 สมุนไพรในภาวะโลกร้อน  ที่แจกจ่ายให้กับประชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจฟรีวันละ 200 เล่มในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ  เราหวังว่าองค์ความรู้ภูมิปัญญาที่บันทึกในหนังสือจะจุดประกายให้ผู้ประกอบการหรือภาครัฐนำสมุนไพรไทยไปพัฒนาเป็นเครื่องสำอางและเวชสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ  ลดการนำเข้าได้มากขึ้น”

            ผู้สนใจสมุนไพรและความรู้ภูมิปัญญาสามารถเข้าร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 4 กันยายน 2559  อิมแพ็คเมืองทองธานี อาคาร 6-8  




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.นิยม เวชกามา" จับมือกรรมาธิการศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาตั้งวัดในศรีสะเกษกว่า 300 แห่ง

วันที่ 24 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม  เวชยชัย ในฐานะอนุกรรมมา...