วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จุฬาฯถวายทุน'พระมหาจุฬาฯ' ทำวิจัย'พระกับการเมือง'

           สภาพการเมืองไทยทุกวันนี้พูดได้เต็มปากว่ามีการแบ่งฝ่ายเล่นกันอย่างชัดเจนแบบไม่มีกติกา ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักชนะ ไม่รู้จักให้อภัย ต่างชี้หน้าด่ากัน "เลว"  ทำดีก็ด่าว่า "สร้างภาพ"  ทำชั่วก็ทับถม ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า "สนับสนุนคนชั่ว"

            ไม่ขีดวงในการเล่น ไม่รู้ว่าการเมืองไหนในเป็นการเมืองในประเทศ การเมืองไหนเป็นการเมืองระหว่างประเทศที่คนทั้งชาติต้องร่วมมือกัน

            ไม่นึกถึงคำของพระพุทธทาสที่ว่า "เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย"

            ตอนนี้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นักการเมืองไทยก็รู้เพียงแค่ผลว่าจะออกมาอย่างไรเท่านั้น แต่ไม่สนใจว่าหลังจากนั้นเขาร่วมมือกันพัฒนาประเทศอย่างไร

            นักการเมืองไทยไม่อยากได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกันบ้างหรืออย่างไร ดูอย่างพม่าที่นักการเมืองไทยมองอย่างเหยียดหยามว่าด้อยพัฒนา หล้าหลังไทย

            แต่พม่าก็มีนักการเมืองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อ 20 ปีก่อนคือ "อองซาน ซูจี" และปีนี้ก็กำลังมีการเสนอชื่อผู้นำพม่าเพื่อรับรางวัลนี้ หากผลออกมาว่า "ได้" และมีแนวโน้มจะเป็นจริงด้วย แล้วนักการเมืองไทยจะเอาหน้าไปไว้ไหน แล้วไม่คิดสร้างชื่อกันบ้างหรืออย่างไร

            ขณะเดียวกันการเมืองไทยมาช่วง 6 ปีที่ผ่านมาก็ได้เห็นภาพพระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมของน้ำคลำการเมืองเน่าๆนั้นด้วย จนกระทั้งมีผู้เสนอความคิดให้พระสงฆ์ไทยมีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างประเทศศรีลังกาและพม่า

            นี้คงเป็นเหตุผลบางส่วนที่ทางมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถวายทุนทำวิจัย "พระกับการเมือง" ให้กับพระจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เชื่อว่าคงจะสร้างภาพลักษณ์ให้กับพระที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและนักการเมืองไทยได้บ้าง

            ทั้งนี้การทำวิจัยดังกล่าวภายใต้การนำของ "ปรีชา ช้างขวัญยืน" ผู้อำนวยการพุทธศาสน์ศึกษา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนละ 150,000 บาท

            แบ่งออกเป็น 2 หัวข้อเรื่องคือ  "แนวโน้วบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า" พระที่รับทุนคือ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี และเรื่อง "พระสงฆ์กับสงคราที่ยุติธรรม" พระที่รับทุนคือพระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย

            พระมหาหรรษาเปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กนาม "Hansa Dhammahaso" ความว่า สำหรับงานวิจัยเรื่อง "บทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า" นั้น ได้เริ่มต้นศึกษาและรวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่ตัดสินใจเข้าเรียนในหลักสูตรการเมืองการปกครองในระดับประชาธิปไตยสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 15 สถาบันพระปกเกล้าแล้ว โดยได้เจริญพร ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการตัดสินใจเข้าศึกษาหลักสูตรดังกล่าว เพื่อจะได้นำข้อมูลจากเพื่อนร่วมรุ่นที่เป็น ส.ส. ส.ว. และข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนมาประมวลเป็นข้อมูลในการทำวิจัยเรื่องนี้

            การทำวิจัยเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินทางไปศึกษา และสัมภาษณ์นักการศาสนา นักการเมือง และประชาชนบางส่วนในประเทศศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นกรอบในการกำหนด และตั้งคำถามว่า การเมืองคืออะไร พระสงฆ์ไทยว่าควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองได้หรือไม่ หรือเกี่ยวของในลักษณะใด จึงจะทำให้พระสงฆ์ได้วางบทบาทและสถานะของตนเองให้สอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมกับบริบท และสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

            เชื่อมั่นว่างานวิจัยเรื่องนี้จะทำให้ได้อีกหนึ่งคำตอบ หรือหนึ่งทางเลือกเพื่อที่จะบอกพระสงฆ์และสังคมไทยว่า แนวโนมบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองไทยในสองทศวรรษหน้า" ควรจะมีทิศทางและแนวทางอย่างไร การตอบคำถามเหล่านี้ มิได้มีนัยเพื่อตัวพระสงฆ์หรือนักการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่เป็นการวางสถานะ และจุดยืนของพระพุทธศาสนา เพื่อความตั้งมั่นและยั่งยืนของพระพุทธศาสนาทั้งในปัจจุบัน และอนาคตต่อไป

            ส่วนหัวข้อเรื่อง "พระสงฆ์กับสงครามที่ยุติธรรม" ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวข้อที่ร่วมสมัย และกลุ่มคนจำนวนมากกำลังอยากจะได้คำตอบว่า "พระสงฆ์สามารถทำสงครามเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมได้หรือไม่?"

            "จะเห็นว่า หัวข้องานวิจัยทั้งสองเรื่องนี้ มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก" พระมหาหรรษาระบุ

            เชื่อแน่ว่าผลงานวิจัยทั้ง 2 หัวข้อนี้จะได้เห็นภาพของนักการเมืองไทยเชิงพุทธเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นแบบอย่างของการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในไทยและทั่วโลกได้

.................

(หมายเหตุ : จุฬาฯถวายทุน'พระมหาจุฬาฯ' ทำวิจัย'พระกับการเมือง' : สำราญ สมพงษ์รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์กรรมฐานยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างสันติภาพภายในให้เป็นคุณลักษณะของนิสิตยุคเอไอ: ความเป็นมาและสภาพปัญหา หลักการ อุดมการณ์ วิธีการ แผนยุทธศาสตร์ โครงการ อิทธิพลต่อสังคมไทย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บทนำ ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทสำคัญในทุกมิติของชีวิต การพัฒนาคุณลักษณะของนิสิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสันติภ...