วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

'มจร'นำธารน้ำใจซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วม แนะตั้งธ.พุทธหนุนบริการสังคม

              จากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรามาถึงจังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครนั้น ได้มีหลายภาคส่วนลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยรวมถึงพระสงฆ์ด้วย

              โดยเฉพาะในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ภายใต้การนำของพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเปิดรับบริจาคสิ่งของจากญาติโยม ทั่วไป ทั้งนี้สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายธรรมวิจัย 035-248000 ต่อ 8138 หรือวัดมหาธาตุ 02-2222835 หรือเว็บไซต์ http://www.mcu.ac.th

              เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยในภาคต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย พระพรหมบัณฑิต พร้อมด้วยน.ส.จิตรา พรหมชุติมา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายสันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.ชลบุรี ประธานกรรมาธิการการศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันออกรายการที่ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง NBT หรือช่อง 11 เมื่อเวลา 22.00-24.00น.ของวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

              หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา พระพรหมบัณฑิต  ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีและคณะ พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชน จำนวน 3 คันรถบัส และรถส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่ง ได้นำถุงยังชีพซึ่งได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 500 ชุด และถุงยังชีพพร้อมปัจจัย จำนวน  1,000 ชุด จัดถวายแก่พระสงฆ์ที่เดือดร้อนจำนวน 109 วัด และประชาชนอีก 3 จุด อีกหลายร้อยครัวเรือน ฝ่ายสงฆ์มีพระราชภัทรธาดา เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานรับมอบ และรับช่วงดำเนินการแจกจ่ายแก่พระสงฆ์และประชาชนต่อไป

              ขณะเดียวกันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการ ได้รับรายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ว่ามีวัดที่ประสบภัยแล้ว 533 วัด ใน 12 จังหวัด 63 อำเภอ ได้แก่ ภาคเหนือ จ.นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีษะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี โดยภาคกลางสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

              ทั้งนี้ นายนพรัตน์ ได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด นำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จัดเตรียมไว้กว่า 5,000 ชุด ถวายให้พระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมจัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาท ช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร ที่ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้รูปละ 100 บาทต่อวัน ทั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตั้งศูนย์ให้การช่วยเหลือระดับจังหวัดและอำเภอในพื้นที่ประสบอุทกภัย ช่วยเหลือพระสงฆ์ที่ได้รับความเดือดร้อนและประสานกองทัพจัดรถส่งเครื่องอุปโภคและเคลื่อนย้ายของมีค่ามาไว้ในที่ปลอดภัยด้วย

              ขณะเดียวกันคณะสงฆ์ก็ได้จัดทำโครงการช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณร ญาติโยม ที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะคณะสงฆ์จากวัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นำโดย พระพรหมสุธี หรือ "เจ้าคุณเสนาะ เจ้าคณะภาค 12 กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. และพระราชมงคลรังษี วิ. เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้มอบหมายให้พระราชภาวนาพิธาน วิ. รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

              อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 1-13  ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน วัดบางไส้ไก่ กรุงเทพฯ นำโดยพระมหาสมัย จินฺตโฆสโก เลขานุการมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน และคณะครูอาสา ได้นำข้าวสาร อาหารแห้ง เสื้อผ้า ยารักษาโรค และเงินสดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ อ.ประจันตคาม อ.ศรีมหาโพธิ และอ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โดยจัดถุงยังชีพ 3,000 ชุด

              จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนและผู้ใจบุญทั้งหลายร่วมบริจาคสิ่งของ ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม ถวายพระภิกษุ สามเณร และประชาชนผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ตามกำลังศรัทธาโดยพร้อมเพรียงกัน จากนั้นคณะทำงานจะได้ทยอยนำสิ่งของทั้งหมดไปถวายพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ที่ประสบภัย รวมถึงญาติโยม พุทธศาสนิกชนที่กำลังมีความทุกข์และเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เพื่อบรรเทาเหตุการณ์เบื้องต้น เป็นการเยียวยาสร้างขวัญกำลังใจสืบไป ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญได้ที่ศูนย์อำนวยการที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-1933-7714 ๔ และ 08-7146-3944 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง อีกช่องทางหนึ่งด้วย

              นับเป็นอีกบทบาทหนึ่งของพระที่ให้บริการสังคม ถ้าจะให้ดีควรจะมีการตั้งเป็นกองทุนพระพุทธศาสนาหรือธนาคารพระพุทธศาสนาเพื่อการบริการสังคมขึ้นมา เพราะความจริงแล้วเงินของวัดหรือของพระพุทธศาสนาที่ฝากอยู่ตามธนาคารต่างๆมีจำนวนไม่น้อยไม่ต้องมีการเปิดรับบริจาคก็ยังได้ เมื่อเกิดเหตุเภทภัยใดๆขึ้นมาสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้ทันท่วงที อาจจะมีการตั้งเป็นโรงครัวเคลื่อนที่หรือตั้งเป็นหน่วยบริการแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่นหน่วยบริการให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจเพื่อให้หายเศร้าโศกจากการสูญเสียจากภัยน้ำท่วมเป็นต้น


...................................


'มจร'นำธารน้ำใจซับน้ำตาผู้ประสบภัยน้ำท่วม แนะตั้งธ.พุทธหนุนบริการสังคม : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สันติศึกษา"มจร"เทรนสุดยอดผู้นำภาคเอกชนและภาครัฐไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมืออาชีพ

  วันที่ ๒   พฤษภาคม   ๒๕๖๗๒   พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร.โค้ชสันติ  กระบวนกรธรรมะโอดี วิทยากรต้นแบบสันติภาพ  Buddhist Peace Facilitator ผู้อ...