วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560

หวั่นเกิดสงครามโลกครั้งที่3 แนะใช้"อริสัจโมเดล"ดับไฟ


สถานการณ์โลกปัจจุบันนี้ได้ก้าวพ้นความขัดแย้งไปสู่ความรุนแรงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้พื้นที่ความรุนแรงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่ขณะนี้ได้ขยายพื้นที่ไปสู่ยุโรปและขยายไปทั่วโลกหลายระดับ


ล่าสุดระหว่างที่ทั่วโลกกำลังจับตาว่าจะเกิดสงครามบนสมุทรเกาหลีระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือหรือไม่ 


ทันใดนั้น เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2560 ตามเวลาท้องถิ่น   ช่วงเวลาที่คนไทยเล่นน้ำสงกรานต์เรียบร้อยแล้ว ประเทศสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฟซบุ๊กบีบีซีไทย - BBC Thai ได้รายงานว่า กองทัพสหรัฐฯ เพิ่งทิ้งระเบิด GBU-43/B  ทำลายเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มที่เรียกตนเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) ในจังหวัด นานกาฮาร์ของอัฟกานิสถาน โดยระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดที่ไม่ใช่นิวเคลียร์ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงที่สุด และมีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่เคยใช้ในการรบมา ส่ง


ระเบิด GBU-43/B เป็นระเบิดขนาดมหึมา ความยาว 9 เมตร น้ำหนัก 9,800 กิโลกรัม และใช้ระบบนำทางจีพีเอส นับเป็นแม่ของระเบิดทั้งมวลนี้สามารถแผ่คลื่นอัดอากาศจำนวนมหาศาลกระจายไปได้ในทุกทิศทางราว 1 ไมล์ อันเป็นผลมาจากแรงระเบิดทีเอ็นทีขนาด 18,000 ปอนด์ ขณะที่ตัวระเบิดทำจากอะลูมิเนียมบางซึ่งออกแบบมาเพื่อให้แรงระเบิดแผ่รัศมีไปในวงกว้างมากที่สุด


ขณะที่รัสเซียได้พัฒนาระเบิดขนาดมหึมาที่มีชื่อเรียกว่า "พ่อแห่งระเบิดทั้งมวล" (Father of All Bombs) เช่นเดียวกัน


จากสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดอยู่นี้ ก็มีการหวั่งเกรงว่าสงครามโลกครั้งที่สามจะเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือเป็นชนวนนั้น พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า หนึ่งในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) 

ได้ลงความเห็นในการบรรยายเรื่อง “สงครามและสันติภาพ” แก่นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2559  "ปัจจุบันนี้สงครามโลกครั้งที่ 3  เกิดขึ้นแล้ว"  โดยให้คำจำกัดความหรือลักษณะว่า เป็น “สงครามแบบไร้ตัวตน” หรือ “สงครามหลบใน”  และมีการนำเสนอนพุทธสันติวิธีที่จะสามารถยุติสงครามโลกครั้งที่ 3  แบบไร้ตัวตนได้หรือไม่อย่างไร 

ในการบรรยายดังกล่าว พล.อ.เอกชัย ได้ระบุว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดแล้วซึ่งมีลักษณะไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด เป็นสงครามรูปแบบใหม่ไม่ใช้อาวุธ ไม่ใช้กำลัง  กระจายไปทั่วโลก เป็น “สงครามไร้ตัวตน นิรนาม” เป็นยุคแห่งการนำศาสนาและวัฒนธรรมมาใช้ในกระบวนการทางจิตวิทยาโดยอาศัยสื่อต่างๆ เป็นเครื่องมือ ใครครองสื่อมากจะสามารถคุมได้หมด “Medid Power” ทั้ง Facebook Twitter Online Mobile Phone จึงนับได้ว่าเป็นการต่อสู้กันด้วยสิ่งที่มองไม่เห็น เป็นต่อสู้แบบ Soft Power และ Hard Power และมีการผสมผสานเป็น “Smart Power”  ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนด้วยวิธีทางการทูตให้ความคุ้มครองรักษาสันติภาพ ให้ความช่วยเหลือ


ฉะนั้นการสงครามอาจจะเป็นแนวทางให้คิดถึงวิธีการที่จะระงับสงครามโดยสันติวิธี มิใช่สงครามเพื่อระงับสงคราม แต่ยุคปัจจุบันใช้สื่อโชเซียลในการสร้างความรุนแรงสร้างสงคราม ศาสนาต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการก่อสงครามศาสนา จึงมีคำกล่าวว่า...“ผู้ที่จะชนะในสงครามครั้งใหญ่นี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าร่วมสงครามด้วย ผู้ที่เป็นคนดูอยู่เฉยๆ จะถือว่าพ่ายแพ้”  ขณะเดียวกันประเทศสหรัฐอเมริกาต้องการเป็นผู้นำฝ่ายเดียว ต้องการสร้างเงินสกุลเดียวของโลก และต้องการสร้างศาสนาโลกเดียว แต่พระพุทธทาสกล่าวว่า.... “โลกต้องมีศาสนาครบทุกชนิดมีศาสนาเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกัน” สิ่งที่น่ากลัวมากคือเวลามีความขัดแย้งมักจะก่อสงคราม ไม่ค่อยจะหาทางประนีประนอม
   

จุดชนวนสาเหตุของสงครามแบบไร้ตัวตน  คือ "ลัทธิชาตินิยม"  ระหว่างกลุ่มประเทศสังคมนิยมเก่าและกลุ่มประเทศมุสลิม ประกอบกับสหประชาชาติไม่มีความเป็นธรรม สนธิสัญญาแวร์ ซายส์ สนธิสัญญาสันติภาพโลกาโน (Locano Peace Pact) หรือ สนธิสัญญาสันติภาพปารีส (Paris Peace Pact) ไม่สามารถป้องกันสงครามได้ เพราะถูกร่างขึ้นเพราะจนปัญญาที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้  และที่สำคัญมาก คือ "สังคม วัฒนธรรม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และศาสนา" แตกต่างกัน เรียกว่าเป็นความขัดแย้งกันทางวัฒนธรรม โดยประเทศมุสลิมสายเคร่งต่อต้านประเทศสหรัฐเมริกาและตะวันตก ทำให้เกิดสงครามโจมตีของกลุ่มไอสิส (ISIS)  ในประเทศอิรักและประเทศซีเรีย หรือการแย่งชิงหมู่เกาะพาราเซลหรือสแปรตลีย์ หรือการท้าทายของอิหร่านและเกาหลีเหนือต่อประเทศสหรัฐอเมริกา
   

แต่สาเหตุของสงครามที่แท้จริงอยู่ที่ "ผลประโยชน์"  ของพวกตนเท่านั้น แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อกอบโกยเอาทรัพยากรธรรมชาติไปพัฒนาประเทศของตัวเอง วิธีของสงครามคือเริ่มด้วยการล้างสมองของผู้คนที่ยอมสิโรราบด้วยการมอมเมาอบายมุขทุกชนิด เพื่อป้องกันการแข็งข้อต่อสู้ขัดขืน กลายเป็นคนเฉื่อยชา ยอมเป็นทาสแต่โดยดี ถือว่าเป็นไม้เด็ดของนักล่าอาณานิคม จากนั้น เริ่มล้างสมองด้วยวัฒนธรรมประเพณี ด้วยการฆ่าเผาทำลายต้นตอของศาสนานั้นให้สิ้นซาก ออกกฎหมายห้ามผู้ที่นับถือศาสนาอื่นจากตนเองให้ได้รับตำแหน่งสูงๆ ในทางการเมืองและการปกครอง


จากภาวะสงครามปัจจุบันนี้มีลักษณะแบบไร้ตัวตนหรือหลบในจึงเกิดคำถามว่า แนวคิดสันติวิธีปัจจุบันนี้จะสามารถยุติสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบในได้หรือไม่ ปัจจุบันสำนักสันติวิธีทั้ง  3  สำนัก ซึ่งสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการความขัดแย้ง (Peaceful Means)  สันติวิธีในฐานะเป็นฐานของการเรียกร้องความต้องการโดยปราศจากความรุนแรงนั้นยังมองไม่เห็นทางว่าจะสามารถจะยุติสงครามทั้งแบบมีรูปแบบและไร้ตัวตนในยุคปัจจุบันได้เลย และแม้แต่กระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาษาก็ยังไม่มีรูปแบบทักษะที่เป็นมาตรฐานสากล 


คงจะมีเพียงสำนักเดียวเท่านั้นที่พอจะเยียวยาได้ นั่นก็คือสำนัสันติวิธีในฐานะเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต (Pacifism) และที่ปรากฏชัดก็เห็นจะมีแต่เพียงสำนักพุทธสันติวิธี (Buddhist Pacifism) ที่เน้นการสร้างสันติภายใน เพราะมีหลักธรรมที่ตรงกับธรรมนูญของยูเนสโกที่ว่า "สงครามและสันติภาพเกิดขึ้นที่ใจของมนุษย์" เป็นสำคัญ และพระพุทธเจ้าตรัสว่า "นาหํ  ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ" แปลความว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลกแต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ในโลก"    เพราะหากทุกคนรักสงบมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำ "สิทธิสัญญาสงบศึก"  เพราะทำสนธิสัญญาสงบศึกแล้วพากันละเมิด จึงควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม ด้วยการเริ่มจัดการกับสงครามภายในใจของเราเอง ดับสงครามภายใน เพื่อป้องกันสงครามภายนอก   และรู้จักเลือกคบกัลยาณมิตร สร้างเครือข่ายพระพุทธศาสนามีพุทธธรรมอยู่หมวดหนึ่ง ชื่อว่า “มงคลสูตร” คือเคล็ดลับการสร้างความสุขความเจริญ  สูตรแห่งความสำเร็จข้อแรกของพระพุทธเจ้าคือ "ต้องหลีกเลี่ยงคนพาล สังสรรค์บัณฑิต"  แล้วโลกให้คำสัญญากับการสร้างสันติภาพภายในมากน้อยเพียงใด ดังนั้น พุทธสันติวิธีในการยุติสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบในนั้นเป็นอย่างไร 
   

พุทธสันติวิธีในการยุติสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบในคือ “อริสัจโมเดล” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งเรียกกว่า “อริยสัจใหญ่” ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงธรรมวิจัยพบที่ใต้ต้นโพธิ์วันเพ็ญวิสาขบูชา ซึ่งอริยสัจที่เป็นตัวสันติวิธีก็คืออริยมรรคมีองค์ 8  ทางสายกลาง 8 ประการ คือ “เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ” แต่หากจะบูรณการเข้ากับกระบวนการเข้ากับแนวคิดนักสันติวิธีทั่วไปแล้วนำกิจของอริยสัจและหลักธรรมปธาน 4 จะเห็นได้ชัดคือมีลักษณะเป็นรูปแบบ 4 เหลี่ยม  ซึ่งสามารถสรุปเป็นโมเดลคือ “4ป.ยกกำลังสองโลกรอดมนุษยชาติรอด” 4ป.ชุดแรกคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และป้องกัน ดังนี้
   

1.ปริยัติ คือการ (ปลูก) ฝัง ด้วยการศึกษาซึ่งนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติหรือสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติศึกษา ซึ่งจะเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลง (Transformative Education) คือพัฒนาชีวิตและสังคมเป็นวัฒนธรรมแห่งไร้ความรุนแรง (Culture of Non-Violence) และเป็นวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ (Culture of Peace) เพื่อการพัฒนาปัญญา 3 ระดับคือ
   

1. สุตมยปัญญา เป็นการรับข้อมูลมาจากคนอื่นทั้งเป็นข้อเท็จจริง และสารสนเทศข้อมูลข่าวสาร
2. จินตามยปัญญา นำความรู้ไปคิดวิเคราะห์
3. ภาวนามยปัญญา คือ สร้างขึ้นเป็นทักษะ ที่เป็นความความรู้รอบและความรู้ลึก ที่สามารถมองเห็นด้านในเห็นความสัมพันธ์เชิงเหตุผล อะไรเป็นเหตุให้เกิดอะไร รู้เป็นระบบ “รู้รอบ”  คือ รู้ปฏิจจสมุปบาท รู้ว่าแต่ละสิ่งอาศัยกัน “รู้ลึก”  คือ รู้ “ไตรลักษณ์”  รู้ว่าไม่มีอะไรโลกนี้เป็นอนัตตา 
   

หากการศึกษาพัฒนาปัญญาได้ 3 ระดับนี้จะทำให้เกิดเป็นสัมมาทิฐิที่สมบูรณ์เป็นวิถีสันติวัฒนธรรมเพราะสามารถถอดแว่นสีออกไปได้ทำให้มองเห็นว่า “เราทุกคน คือ คนชาติเดียวกัน   ไม่ใช่ชาติไทย ไม่ใช่ชาติจีน   ไม่ใช่ชาติอังกฤษ หรือชาติอเมริกา หากแต่เป็นมนุษยชาติเหมือนกัน” ตามที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธีระบุ สอดรับกับความคิดของ “มหาตมะ คานธี” ที่ว่า “อารยธรรมไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้า ไม่ใช่เรื่องของการมีรสนิยมวิไลในการกิน อยู่ ดื่ม และการศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำ  แต่อารยธรรมหมายถึง ระดับความสูงต่ำของคุณธรรมในหัวใจคนต่างหาก” ทำให้ “อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์” กล่าวยกยกย่องว่า อาจเป็นได้ที่ในยุคต่อไป จะไม่มีใครอยากเชื่อว่าบุคคลเช่นนี้คือ มหาตมะคานธี ก็เคยมีชีวิตชีวาเดินเหินอยู่บนพื้นโลกนี้”   แต่ทั้งนี้แนวคิดของ “มหาตมะ คานธี” ได้รับอิทธิพลมากจากพระพุทธเจ้า 
   

อย่างไรก็ตามสันติศึกษาแบ่งออก 2 ประการ คือ 1.การเเลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Discovery of Others)  คือ เรียนรู้คนอื่นให้มาก เรียนรู้ศาสนาอื่น จะได้ทำความเข้าใจกัน และ 2.แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง (Projects of Shared Purpose) คือ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง อย่างเช่น คนที่ทะเลาะกันต้องร่วมเดินทางไปด้วยกัน สันติศึกษาต้องนำคนที่เห็นต่างมาทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อมุ่งสู่เป้า หมายให้คนสามัคคีกัน พร้อมกันนี้นักสันติวิธีจะต้องตั้งอยู่บนฐานของปัญญา อย่าใช้ชีวิต เหมือน “แร้งติดบวง” ติดในลาภยศ  และไม่ควรกล้าแบบบ้าบิ่น และตั้งอยู่บนพื้นฐานของขันติธรรมความอดทนต่อความแตกต่าง ดังพุทธพจน์ที่ “ขนฺตี  ปรมํ ตโป ตีติกฺขา”  แปลความว่า “ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง” และยึด “อนูปวาโท” การไม่ว่าร้ายใคร “อนูปฆาโต” การไม่ทำร้ายใคร ซึ่งใน พ.ศ.2538 องค์กานยูเนสโกประกาศปฏิญญาว่าด้วย หลักการแห่งขันติธรรม (Principles of Tolerance) เพราะคำว่าขันติธรรม เป็นการเคารพและการยอมรับนับถือ วัฒนธรรมของโลกที่หลากหลาย วิธีการแสดงออกและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป อดทนต่อความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ไม่มีเลือกปฏิบัติ ขันติธรรมเป็นฐานของสันติ และความอดทนต่อความแตกต่างเป็นฐานสำคัญสำคัญของศาสนาต่อสันติภาพ เพราะศาสนาเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง จึงประกาศว่า “No more wars in the name of religion : ไม่ยอมให้มีสงครามในนามของศาสนาอีกต่อไป” และทุกศาสนาก็มีหลักขันติธรรมเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติทั้งนั้น
   

ปริยัติหรือการศึกษานับได้ว่าเป็นการป้องกัน “สังวรปธาน” (Prevention)  ความขัดแย้ง หากเกิดความขัดแย้งก็สามารถบริหารจัดการไม่ให้เกิดความรุนแรง และสงครามเป็นภาวะแห่งสันติภาพภายในนับเป็นยุทธศาสตร์ใรการตั้งรับที่ดี
   

2.ปฏิบัติ คือการปลุกหรือการนำทฤษฏีความรู้นำไปปฏิบัติแก้ไข ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม เพื่อให้การสันติภาพตามหลักสันติวิธี  ตามขั้นตอนของ “ปหานปธาน” (Resolution)  โดยการไกล่เกลี่ยอย่างเช่นพระพุทธเจ้าทรงห้ามญาติทะเลาะกันเรื่องน้ำ ซึ่งพระองค์ตั้งอยู่บนหลักของความเป็นกลางทางการเมืองอย่างกรณีสงครามระหว่างพระเจ้าอชาตศัครูกับแคว้นวัชชี เป็นตัวอย่างของผู้นำศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนทูตจะต้องเตือนสติชาวโลกได้ โดยจะต้องใช้พุทธสันติวิธีหรืออริยสัจโมเดลวิเคราะห์หรือ  “SWOT” พื้นที่ตามหลัก “บวร” คือ “บ้าน(โลก)    วัด(ศาสนา)   โรงเรียน(สถานศึกษา-แนวคิด)” โดยวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและความเสี่ยง  รวมถึงปัจจัยที่จะเกิดความสำเร็จ คือ  1.ผู้นำ (Leaders)   2.ทุนทางสังคม (Social capita)     3.การมีส่วนร่วม (External Factors) 4.ผู้สนับสนุน (Participation) 


แล้วลงมือปฏิบัติการด้วยโมเดล “4ป.” อีกชุดหนึ่งคือ “ปลูก  ปลุก ปรับ  และเปลี่ยน”  “ปลูก” คือการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง “ปลุก” คือกระตุ้นให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการ  “ปรับพื้นนอก” คือ  พื้นฐานทางกายภาพและพฤติกรรมให้ตรงกัน  และ “ปรับพื้นใน”  คือ ปรับอินทรีย์และกำลัง คือ  ปรับศรัทธาคือปรับความเห็น  ปรับวิริยะ  ปรับสติ  ปรับสมาธิ  และปรับปัญญา เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนตามหลักเพื่อภาวนา 4 คือ กายภาพ คือ ทำ (เมตตากายกรรม)  พูด (เมตตาวจีกรรม) ตั้งอยู่บนฐานความคิดที่ประกอบด้วยเมตตา (เมตตามโนกรรม)   มีพฤติกรรมตรงกัน (ศีลสามัญญตา) รู้จักแบ่งปันเป็น (สาธารณโภคี) เปลี่ยนสภาวจิตและปัญญาให้ตรงกัน (ทิฐิสามัญญตา) ซึ่งจะทำให้เกิดเปลี่ยนความคิดว่า “ความเป็นศาสนิกของตนนั้นเป็นเพียงเปลือกผิว ของความเป็นมนุษย์เท่านั้น แก่นแท้ของเราทุกคน คือ เราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราต่างก็มีความต้องการพื้นฐานของชีวิตที่เหมือนกัน “รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน”  เราจึงไม่ควรให้ความเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวอิสลาม ชาวพราหมณ์ฮินดู ชาว ซิกข์ อันเป็นเพียงสมมติบัญญัติทางศาสนา มาแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ของเราออกจากกัน”  นับเป็นยุทธศาสตร์ในการรุกที่เยี่ยม 
   

3. ปฏิเวธ หรือภาวนาปธาน คือการสร้างสามัคคีสมานฉันท์ ด้วยหลักสังควัตถุ 4 คือการ การให้อภัยทานเป็นสำคัญ  ด้วยหลักสาราณียธรรม ธรรมสร้างความสามัคคี คือ 1.เมตตากายกรรม 2.เมตตาวจีกรรม 3.เมตตามโนกรรม  4.สาธารณโภคี 5.สีลสามัญญตา 6.ทิฐิสามัญญตา นับเป็นยุทธศาสตร์ใรการตั้งรบที่ยอด
   

4.ป้องกัน หรือ “อนุรักขนาปธาน” (Preservation) คือการรักษาสันติภาพที่เกิดขึ้นแล้ว  ให้คงอยู่ด้วยหลักธรรมาธิปไตยคือชนะทั้งคู่ (win win)  ชนะทั้งคู่  โดยยึดหลักสุจริต 3 ประการ 1.ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ 2.ไม่ละเว้นต่อหน้าที่ 3.ไม่ทุจริตต่อหน้าที่  ตั้งอยู่บนหลักธรรมคุ้มครองโลกคือหิริและโอตัปปะ ความรู้จักพอใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นการป้องกันชั้นเยี่ยม  นับเป็นยุทธศาสตร์ใช้ในการตั้งรั้งหรือหนีอย่างไร้เทียมทานเฉกเช่น “ขงเป้ง” ถอนทัพวางกลลวงสุมาอี้ฉันนั้น


พุทธสันติวิธีหรือตำราพุทธพิชัยสงครามตามแนว “อริยสัจโมเดล” ที่บูรณาการกับหมวดธรรมคือปธาน 4 สอดประสานกับหลักสันติวิธีตะวันตก ที่มุ่งเน้นการเน้นการสร้างสันติภายในเริ่มจากการปริยัติหรือสันติศึกษาภายในด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั้งเกิดสัมมาทิฐิ ว่า “โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน” ก็จะทำให้เป็นนักสันติวิธีแบบวิถีชีวิต(Pacifism)  สามารถยุติสงครามแบบไร้ตัวตนที่หลบซ่อนอยู่ในภวังคจิตที่เป็นอนุสัยกิเลสลงได้ เกิดสันติภาพภายใยแบบไม่มีความขัดแย้งภายใน ก็จะทำให้เกิดพลังทั้ง 5 คือศรัทธา วิริยะ  สติ  สมาธิ  และปัญญา ในการแก้ปัญหาความขัดแยง รุนแรง และสงครามไร้ตัวตนหรือหลบในของชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกให้เกิดสันติภาพ ด้วยโมเดลต่างๆ


โดยเริ่มจากหลัก "4ป." ในพื้นที่ "บวร"  เพื่อให้เกิด "ภาวนา4" ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือต้องมีหลักการ 2 คือความรู้คู่คุณธรรม เมื่อจะนำความรู้ไปใช้ในการสร้างสันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไข 3 คือ ประมาณ เหตุผล และภูมิคุ้มกันความเสี่ยง แบบเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะทำให้นักพุทธสันติวิธีสามารถยุติสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบในได้


ดังพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า “..เราตถาคตเกิดมาในโลก เสมือนช้างศึกหยั่งลงสู่สงคราม ช้างศึกที่หยั่งลงสู่สงครามนั้น ต้องพร้อมที่จะยอมรับ หอก ดาบ แหลม หลาว และลูกศร ซึ่งแล่นมาจากจตุรทิศ โดยที่ไม่หวาดกลัวแต่อย่างไร  ช้างศึกไม่รู้สึกหวาดกลัวต่ออาวุธสงครามฉันใด เราตถาคตเกิดมาในโลกก็ไม่หวั่นต่อคำคนฉันนั้น..”  เพราะพุทธสันติวิธีมีพลังแบบ “Soft Power” เช่นเดียวกันสงครามแบบไร้ตัวตนหรือหลบใน ซึ่งเป็นกำลังแห่งปัญญาแต่คนละด้านๆเป็นด้านขาวอีกด้านหนึ่งเป็นด้านดำ และปัจจุบันนี้ “พุทธสันติวิธี” คือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้รับความสนใจจากชาวตะวันตกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาในระดับนักการเมืองและทหาร 


พร้อมกันนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาได้มีตำแหน่งอนุศาสนาจารย์เช่นในประเทศไทย โดยมีคนไทยได้รับการบรรจุให้ดำรงตำแหน่งนี้รวมด้วย ขณะเดียวกันโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ก็มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสันติวิธีเช่นกันซึ่งจะทำให้มี “นักรบสันติวิธี” หรือสายพิราบ คานกับสายอำนาจนิยมหรือสายเหยี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักรบพุทธสันติวิธี” ซึ่งจะเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะพามนุษยชาติรอดจากภัยสงคราม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์สาราณิยาทิวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ ในพ...