วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559


วช.ไม่หวั่นม.44บอร์ดถูกยุบรวมเดินหน้าปั้นนักวิจัยตอบโจทย์ประเทศ : พระปราโมทย์   วาทโกวิโท นายสำราญ สมพงษ์ ผู้เข้าอบรมนักวิจัยรุ่นใหม่(ลูกไก่)รุ่นที่ ๒ รายงาน

            ตลอดระยะเวลา ๕ วัน ๕ คืน ระหว่างวันที่ ๓-๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ของการอบรม "สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) รุ่นที่ ๒ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โรงแรมน่านตรึงใจ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมประมาณ ๗๐รูป/คน จากหลากหลายสังกัด

            ได้เรียนรู้จากซุปเปอร์แม่ไก่ และแม่ไก่ ถึงเทคนิควิธีของการหาเหยื่อ เพื่อลูกไก่จะได้เจริญพันธุ์เป็นอาหารชั้นเลิศของมวลมนุษย์ชาติ เพื่อที่มนุษย์ชาติจะได้เจริญพันธุ์ทำตัวเป็นประโยชน์ในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ แบบมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้คู่คุณธรรม หากจะนำความรู้ไปใช้ต้องตั้งอยู่บนหลักพอเพียง สมเหตุสมผล และประเมินถึงความเสี่ยง สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลทั้งหลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส่ มีส่วนร่วม ประเมินคุณค่าเป็นค้น โดยต้องใช้ต้นทุนน้อยแต่รายได้มากประหยัดเวลา เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ



            แต่แล้วอยู่ ๆ ฟ้าก็ผ่ามากลางเล้าไก่ ด้วยมาตรา ๔๔ คำสั่งตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (นวนช.) ขึ้นมาใหม่มีนายกฯเป็นประธาน และให้เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และเลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นเลขานุการร่วม และให้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จํานวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปวิทยา แขนงต่าง ๆ ให้เกิดความรู้และการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อสนับสนุนให้การดําเนินการ ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จําเป็นต้องบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตรงตาม ความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และสามารถผลักดันให้มีการนําไปใช้ ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ในการนี้ สมควรกําหนดให้มีสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อทําหน้าที่ในการกําหนดทิศทางนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมทั้งปรับปรุงระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนกํากับและติดตามการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และประเมินผลการดําเนินการ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีเอกภาพ อันเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการวิจัยของประเทศ และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

            ทำให้ลูกไก่ขวัญกระเจิงด้วยคำถามตามมาต่างๆนานาว่า วช.ถูกยุบแล้วหรือ การอบรมครั้งนี้เป็นยุคสุดท้ายแล้วหรือ แล้วอนาคตนักวิจัยจะเป็นอย่างไร ทำให้ซุปเปอร์แม่ลูกต้องออกมาปลอมขวัญว่า  "วช.ยังอยู่เหมือนเดิม แต่จะมีการปรับการทำงานบทบาทให้ชัดเจนเพื่อตอบโจทย์ประเทศให้ชัดเจนในการทำร่วมกัน"

            พร้อมกับได้รับทราบการชี้แจงของ ดร.พิเชฐ    ดุรงคเวโรจน์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่า    การประกาศใช้มาตรา 44  ในครั้งนี้     ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญของวงการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศไทย  ที่จะมีการสร้างเอกภาพ  บูรณาการ  ลดความซ้ำซ้อน และสามารถกำหนดทิศทางการวิจัยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ  แทนที่จะเป็นการทำเพื่อตอบสนองการอยากรู้อย่างเดียว

            "การจัดตั้ง นวนช. โดยเป็นหน่วยงานระดับนโยบาย  เพื่อให้เกิดการสั่งการอย่างชัดเจน   มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  เพื่อวางนโยบายและขับเคลื่อนทำให้เกิดการบูรณาการได้จริง   ซึ่งคำสั่งนี้   มีการยุบเฉพาะคณะกรรมการใน 3 ชุดหลัก  ไม่ใช่การยุบสำนักงาน"  ดร.พิเชฐ กล่าว

            ขณะที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร   จิตต์มิตรภาพ รองประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อนวัตกรรม   อดีตประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ   เปิดเผยว่า   ถือเป็นเรื่องที่ดีและถือเป็นความสำเร็จของเครือข่ายองค์กรการบริหารงานวิจัยแห่งชาติหรือ คอบช.  และป็นเพียงบันไดขั้นแรกในการปฎิรูปการวิจัยในเรื่องนโยบายที่เป็นเอกภาพ   ส่วนบันไดขั้นต่อไปคือการจัดระเบียบหน่วยงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน  การบริหารทุนวิจัยที่เป็นระบบ การทำวิจัยร่วมระหว่างรัฐกับเอกชนและมีการพัฒนากำลังคน

            เมื่อได้รับทราบเหตุผลเช่นนี้บรรดาลูกไก่ที่เข้ารับการอบรมทั้ง ๕ วันก็สบายใจหายความกังวลและมีความสุขกับการที่จะได้ทำหน้าที่ตามความรู้ที่ได้รับการอบรมมา

            ดังนั้นการอบรมครั้งนี้จบลงเต็มเปรี่ยมด้วยความรู้และความสุขจากพิธีมอบวุฒิบัตร โดยมีพระราชคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดน่านเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยพระราชวรมุนี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พระชยานันทมุนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพุทธศาสตร์นครน่าน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน พระมหาบุญเลิศ  อินฺทปญฺโญ รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มจร นายนรินทร์   เหล่าอารยะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ร่วมในพิธี

            พระราชวรมุนี  กล่าวว่า  ขอบคุณ วช.เป็นอย่างยิ่งในความร่วมมือในครั้งนี้  มหาจุฬาฯมีภารกิจสำคัญ  คือ จัดการเรียนการเรียน  มีการทำวิจัย โดยมีการตั้งสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์  พอทำวิจัยจึงทำให้สังคมภายนอกมาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายมากขึ้น   จึงมีความโดดเด่นทางสังคมศาสตร์และงานวิจัย  จึงมีการฝึกนักวิจัยตามมา

            พระชยานันทมุนี  กล่าวว่า  เรามีนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อจะมาพัฒนาเมืองน่านและสังคมประเทศ เพื่อสอดคล้องกับไทย ๔.๐  ได้รับความร่วมมือฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร  ทำให้เมืองน่านมีงานวิจัยระดับเอเชียเกิดขึ้น   เราจะทำงานร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย

            นายนรินทร์   กล่าวว่า ผมในนามฝ่ายบ้านเมืองและในนามพุทธสมาคมนครน่าน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ เรามาเรียนรู้การวิจัย  ซึ่งเราไม่ค่อยจะวิจัย มักจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  ส่วนตะวันตกจะมีการวิจัยก่อนจะพัฒนาอะไรบางอย่าง อย่าลืมว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งวิทยาศาสตร์  คือ ถ้าปฏิบัติถึงอภิญญา ๖ จะทราบเรื่องราวต่างๆ  เราจึงเหมาะมากที่งานวิจัยจะมาตอบโจทย์งานพระพุทธศาสนา เราต้องผ่านการวิจัยก่อนจะไปสอน ไปทำการฝึกอบรม   เรื่องง่ายๆ ของพระพุทธศาสนาบางครั้งเราเข้าไม่ถึง เพราะเด็กรุ่นใหม่เป็นเด็กที่ชอบการทดลอง ชอบสงสัย ต้องผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้น่าสนใจมากขึ้น เพราะยุคสมัยใหม่เป็นของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ย้ำว่าพระพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์  

            "ผมลงพื้นที่กับชาวบ้านถือว่าเป็นการวิจัย ชาวบ้านมีความสงสัย ความสงสัยจึงทำให้เกิดงานวิจัย  สิ่งที่ตอบโจทย์ คือ ทางโลกและทางธรรมช่วยกันสนับสนุนกัน  เรื่องต่างๆ เป็นปัญหา หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ต้องมีงานวิจัยยอมรับ ผ่านการวิจัย มีเหตุมีผล  เราต้องทำงานวิจัย เพราะงานวิจัยคือ สิ่งทั่วโลกยอมรับ  เราจึงเอาเรื่องวิจัยในการแก้ปัญหาสังคม  สิ่งแรกที่จะแก้ปัญหาของน่าน เป็นปัญหาที่ดิน ฉะนั้น งานวิจัย ต้องสามารถตอบโจทย์ได้  ผมพยายามส่งเสริมให้บุคลากรทำวิจัย  เราจึงต้องทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์  ศาสนาพุทธดูเหมือนยากแต่ง่าย  ดูเหมือนง่ายแต่ก็ยาก  ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนา  งานวิจัยต้องตอบโจทย์ของชุมชน  สังคม ประเทศชาติต่อไป"  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน กล่าว

            การจัดการอบรมอบรม "สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ (ลูกไก่) รุ่นที่ ๒  โดย วช. และนโยบายตั้งนวนช.ครั้งนี้  ก็สมดังพุทธพจน์ที่ว่า "จิตเต สังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา" ความว่า "คิดดีก็มีแต่ความเจริญ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...