วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565

ปลัดมหาดไทยดึง "พระสงฆ์" ร่วมทีมพี่เลี้ยงแก้จน 30 ก.ย.หมดทั้งแผ่นดินไทย


เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565  นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และทุกหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม ทั้งทางส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจน ภาคประชาสังคม เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องคนไทยด้วยกัน ที่เราเรียกรวม ๆ ว่า เป็นคนจน แต่ความหมายของคนจนในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่มิติเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงผู้ที่ขัดสนยากไร้ เข้าไม่ถึงโอกาส ตลอดจนไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ไม่มีทุนการศึกษา มีนัยยะหมายความไปถึงทุกกลุ่มที่มีความเดือดร้อนในชีวิตด้านต่าง ๆ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

สำหรับกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง เช่น มีครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง แล้วไม่สามารถที่จะไปหาหมอได้ด้วยตัวเอง หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นผู้ตกหล่นไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือไม่มีบ้านเลขที่ เพราะจากข้อมูลของกรมการปกครองพบว่า มีคนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน กว่า 2 แสนราย ที่ปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หมายความว่าเป็นคนไทยที่มีชื่ออยู่ในฐานทะเบียนราษฎร์ แต่ไม่ทราบหลักแหล่งที่อยู่แน่นอน อย่างเช่น สมัยก่อนทหารเกณฑ์จำนวนมากเขาต้องย้ายทะเบียนมาอยู่ในค่ายทหารในช่วงประจำการ แต่พอปลดประจำการ เจ้าตัวไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านออกไปจากค่ายทหาร เพื่อกลับไปเข้าทะเบียนบ้านตัวเอง พอนานเข้าทางกองทัพไม่รู้จะติดต่ออย่างไร จึงนำมาอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จุดนี้เองทำให้สิทธิของพวกเขาในการดำเนินการใด ๆ ทางนิติกรรม ทางทะเบียน ไม่สามารถกระทำได้ จะทำได้ต่อเมื่อย้ายออกจากทะเบียนบ้านกลางมาอยู่ในทะเบียนบ้านของตัวเองเสียก่อน อันนี้เป็นเพียงกรณีเดียวยังมีกรณีอื่น ๆ อีก นี่จึงเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญว่ามีคนไทยที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่อีกมาก 2 แสนราย ถือเป็นความเดือดร้อนอันหนึ่งทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งช่วยเหลือ

ปลัด มท.ฉายภาพว่า จากที่กล่าวมา ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมีหลายเรื่อง มหาดไทยได้เปิดโอกาสให้แจ้งความต้องการความช่วยเหลือ เรา มีทีมสำรวจระดับตำบล ทีมระดับอำเภอ ให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถแจ้งได้เพื่อที่จะเราจะได้รับรู้ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรบ้าง ตรงนี้เป็นเจตนาที่ดีจริง ๆ ที่รัฐบาลอยากจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน อยากจะช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน ด้วยใจจริง

สำหรับการดำเนินการขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ตอนนี้ ทางท่านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านได้เดินสายไปประชุมชี้แจงกับผู้ว่าราชการจังหวัด,รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและนายกเหล่ากาชาดซึ่งสวมหมวกเป็นประธานแม่บ้านมหาดไทยอยู่ในแต่ละจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว ได้แบ่งเดินสาย 4 ภาค และมีทีมงานระดับจังหวัดทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งงานขั้นแรกถือว่าเราได้ดำเนินการเสร็จแล้วเรียบร้อย นั่นคือการชี้แจงแนวทางการปฏิบัติกับบุคคลที่จะเป็นผู้นำในการที่จะผนึกกำลังร้อยดวงใจ ภายในจังหวัด ภายในอำเภอ ให้มาช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้พวกเขาอยู่รอดปลอดภัย มีความพอเพียง มีความมั่นคงยั่งยืนต่อไป

ส่วนการดำเนินการ ณ ตอนนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่ คือการค้นหาผู้ที่เดือดร้อนที่อยู่ในทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนให้พบ ขั้นต้นอย่างที่เคยกล่าวไปว่าเรามีข้อมูลที่ดีเยี่ยมจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นั่นคือ TPMAP ที่ทางสภาพัฒน์เขาได้ส่ง password มาให้ทางปลัดกระทรวง อธิบดี และ ผู้ว่าราชการ และนายอำเภอ 878 แห่ง มาให้แล้ว มีจำนวนล้านกว่าครอบครัว เราก็จะมีฐานข้อมูลสำคัญที่สามารถเข้าไปดูความเดือดร้อนของคนกลุ่มนี้ได้ เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าเป็นกลุ่มที่จะต้องเข้าไปตั้งทีมพี่เลี้ยง ช่วยให้เขาพ้นจากความเดือดร้อน ตามฐานข้อมูลนี้เป็นขั้นต้น

อย่างไรก็ดี ทางท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายว่า "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ดังนั้นทางกระทรวงมหาดไทยจึงขอให้อธิบดีกรมการปกครอง มอบหมายให้ท่านนายอำเภอทุกอำเภอไปตั้งทีมเพื่อที่จะสำรวจตรวจสอบ re X-Ray ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่ายังมีคนอื่นๆ ครัวเรือนอื่น ๆ ที่มีเรื่องเดือดร้อนในพื้นที่อีกหรือไม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกินสิ้นเดือนมีนาคมนี้ หรือใน 2 สัปดาห์ ก็จะสามารถตรวจสอบได้ครบถ้วน และเพื่อไม่ให้ตกหล่น กระทรวงมหาดไทยได้เปิดช่องทางในการให้พี่น้องประชาชนสามารถโทร.แจ้ง 1567 เป็นสายด่วนที่โทร.ได้ฟรี โทร.ได้ทุกจังหวัด สามารถแจ้งข้อมูลแจ้งรายละเอียดให้กับ ศูนย์ดำรงธรรม ในส่วนนี้จะเป็นเหมือนกันเปิดโอกาสให้ผู้ที่เดือดร้อนสามารถแจ้งเข้ามาอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการสำรวจในพื้นที่ จะทำให้เรารับรู้ รับทราบปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนได้แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้นอกระบบ หรือความเดือดเนื้อร้อนใจในเรื่องอื่น ๆ

เปรียบเทียบการทำงานของพวกเรา เสมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก ถ้าเราสามารถปรับได้ถูกจุด เราสามารถหาเป้าหมายเหมือนที่TPMAP เขาหาเป้าหมายมาให้เราแล้วได้เพิ่มเติม เราก็สามารถที่จะส่งทีมพี่เลี้ยงไปประกบเพื่อทำการแก้ไขปัญหาได้ทันที เป็นการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติการที่ทางท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. ระดับชาติ ท่านเน้นย้ำชว่าถ้าเป็นหน้างานของกระทรวง ทบวง กรมใด ก็ให้แจ้งไปที่ส่วนราชการนั้นๆ ให้ลงไปเป็นพี่เลี้ยง เช่น ถ้าเจอปัญหาหนี้นอกระบบเราก็ส่งเรื่องต่อให้ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) ซึ่งเขามีทีมดูแลเฉพาะอยู่ หรือเราไปเจอปัญหาผู้ป่วยติดเตียง ปัญหาบุคคลที่มีโรคประจำตัว เราก็ส่งให้ ทางสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งในโครงสร้าง เรามีองค์ประกอบของอบต.เทศบาลอยู่ด้วย หรือเราเจอเด็กที่ไม่มีทุนการศึกษา เราก็ส่งให้ท่านนายกเหล่ากาชาดจังหวัดส่งให้ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ช่วยประสาน หรือบุคคลที่ อยากมีวิชาชีพอยากฝึกอบรม เราก็ส่งต่อให้กระทรวงแรงงานหรือคนที่มีปัญหาในการทำไร่ทำนาหรือเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์เราก็ส่งให้กับกระทรวงเกษตรฯ เป็นต้น

ซึ่งคำว่า "ส่งให้" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการทำงานตามลำพัง เพราะทีมพี่เลี้ยงจะมีองค์คณะที่ประกอบไปด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและทางท้องถิ่น รวมถึงพระสงฆ์ คหบดี ตามที่ท่านนายอำเภอท่านจะตั้งทีมขึ้นมา เช่น ถ้าพูดถึงปัญหาด้านเกษตรไม่ได้หมายความแค่เพียงว่ากระทรวงเกษตรฯจะทำงานเพียงหน่วยเดียว ทีมเกษตรจะเป็นหัวหน้าทีมและมีทีมพี่เลี้ยงของเราประกบ เพื่อที่จะลงไปช่วยเหลือแบบพุ่งเป้าประกบติด และทำให้เกิดผลสำเร็จภายใน 30 กันยายนนี้ให้ได้

ปลัดสุทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากมีข่าวปรากฏออกไปว่าภายใน 30 กันยายนจะทำให้แล้วเสร็จปรากฏว่าก็มีคนแสดงความคิดเห็นว่าทำไม่ได้หรอก เช่น ในโลกโซเชียลก็มีความคิดเห็นหลากหลาย แต่ตัวผมเองได้บอกกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในทุกจังหวัดทุกอำเภอว่าอย่าหวั่นไหว เพราะว่าการทำงานเราต้องตั้งมั่นให้หนักแน่น เราจะตั้งใจจริงในการทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างสุดกำลังความสามารถ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...