วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2565

กมธ.วุฒิฯจัดปฏิรูปการเมืองวิถีใหม่ "ชวน" ย้ำการเมืองต้องได้คนดี "ปชช." เลือกคนไม่โกง



วันที่ 8 มีนาคม 2565  นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา กล่าวปราศรัยการเมือง เรื่อง ทำการเมืองให้สุจริต ในงานสัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมืองปี 2564 จัดโดย คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา ตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปการเมือง สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้การเมืองสุจริต และเป็นภารหน้าที่ของคนทุกคนที่ต้องสร้างคนดีให้บ้านเมือง เพื่อเป็นกระบวนการของการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะไม่เลือกนักการเมืองโกงเข้ามาบริหารบ้านเมือง เพราะเมื่อได้นักการเมืองโกง ย่อมใช้อำนาจแต่งตั้งข้าราชการที่ไม่ซื่อสัตย์เข้ามารับตำแหน่ง เพื่อมาทำงานให้กับตนเอง จากคดีความที่เกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการหลายคดีที่ผ่านมา พบว่าต้องติดคุกเพราะต้องทำงานรับใช้นักการเมือง หรือต้องทำเพราะเกรงใจนักการเมือง

นายชวน กล่าวด้วยว่าความซื่อสัตย์ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้เป็นคำที่ต้องใช้ในการถวายสัตย์ปฏิญาณตนในหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ องคมนตรี รัฐมนตรี ส.ว. ส.ส. องค์กรอิสระ เป็นต้น และยังเขียนว่าบุคคลที่ต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน คุณสมบัติต้องมีพฤติกรรมที่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ได้ฉายาว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง พบว่ามีคำว่าซื่อสัตย์ 23 คำ มีคำว่าสุจริต 38 คำซึ่งมากกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา แต่คำที่มากกว่าไม่จริงว่าจะมีความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่า แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของคน



"การปกครองที่ดี ไม่ใช่ปกครองด้วยหลัก แต่ต้องได้คนปกครองที่ดี ทั้งนี้ในทุกวงการมีคนที่ดีและไม่ดีเสมอ ดังนั้นต้องมีหลักควบคุมคนไม่ดีให้มั่นคง แม้ในอดีตไม่มีองค์กรอิสระ กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการรแผ่นดิน แต่ใช่ว่าบ้านเมืองจะมีปัญหามาก เพราะแม้องค์กรตรวจสอบมีไม่มาก แต่องค์กรที่มีอยู่ เช่น ศาล ทำหน้าที่ของตนเอง ในระบบอย่างมั่นคง ยืนหยัดรักษาหลัก มีแนวปฏิบัติที่ซื่อตรง ผมฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ เข้ามาเป็นนักการเมืองเพราะตั้งใจจะเป็นปากเสียงด้วยความซื่อสัตย์ต่อประชาชน ไม่ใช่ไม่มีอะไรทำ หรือเพราะเกษียณอายุราชการ ได้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมคนที่ใช้หลักนั้นไม่มั่นคง ไม่ซื่อตรง เกิดปัญหาต่อบ้านเมือง” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวถึงโครงการบ้านเมืองสุจริตด้วยว่า ตนของบ 15 ล้านบาท เพื่อทำโครงการ โดยให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าร่วม โดยมีกรรมการมาจากสถาบันการศึกษา ไม่มีนักการเมืองยุ่งเกี่ยว เป้าหมายรณรงค์เรื่องความสุจริตย้ำกับเด็ก ทั้งนี้ไม่ใช่การกำหนดหลักสูตร เพราะตนมองว่าการปลูกฝังเรื่องความสุจริต สักวันจะสามารถใช้จริงได้ เมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ดีกระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างช้าๆ หลายสถาบันเห็นด้วย บางสถาบันมองข้าม เพราะเห็นว่าไม่มีผลต่อผู้รับนโยบาย ทั้งนี้ปัญหาที่กล่าวจะลงเอยที่ภาคปฏิบัติ ที่ไม่ปฏิบัติตามหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. สุนทรวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 16 อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ สุน...