วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทึ่ง!นศ.สาวจุฬาฯสอบบาลีประโยค4ได้

              ดูเหมือนว่าในสังคมไทยนั้น การทำดีของพระจะรู้กันแต่วงการของพระเท่านั้น แต่หากพระทำไม่ดีอย่างเช่นกรณีของ "สมีคำ" เป็นข่าวและกล่าวขานกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะจบได้ก็ดูเมื่อ "สมีคำ" กลับไทยแล้วก็ไปนอนในคุกเท่านั้น ส่วนผลกระทบที่ตามมานั้นคงไม่มีการพูดกันว่าจะเหยียวยาอย่างไร คนออกมาเปิดเผยและทำคดีนี้ก็คงจะได้หน้ากันไปตามๆกัน

              ปัญหาของ "สมีคำ" ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อบวชเข้ามาแล้วแทนที่ศึกษาเหล่าเรียนตามระบบทั้งนักธรรมบาลีหรือการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็เอาดีทางไสยเวทและการก่อสร้าง

              อย่างไรก็ตามแม้นจะมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของคณะสงฆ์ออกมาก็จะเป็นข่าวเพียงวันสองวันที่มีการประกาศผลสอบบาลี แต่ก็เน้นที่สอบประโยคเก้าได้เท่าใดเท่านั้นแล้วก็จบกัน ไม่มีการสืบค้นว่าการศึกษานักธรรมบาลีนั้นเรียนกันอย่างไร และยิ่งมีแม่ชีและฆราวาสสอบบาลีศึกษาได้ด้วยแล้วยิ่งเงียบฉี่ไม่เป็นข่าว

              แล้วแบบนี้จะสู้การเรียนบาลีที่ประเทศศรีลังกาและพม่าได้อย่างไร เพราะทั้งสองประเทศนี้มีผู้สามารถบรรยายและตอบโต้เป็นภาษาบาลีได้ด้วยเหมือนกับภาษาอังกฤษ

              ดังนั้น น้อยคนนักจะรู้ว่าในแต่ละปีนั้นจะมีฆราวาสและแม่ชีสอบบาลีศึกษาได้จำนวนเท่าใด

              บาลีนั้นเป็นภาษาของคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและเป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันนี้มีระบบการเรียนการสอนและก็สอบภายใต้การดำเนินงานของแม่กองบาลีสนามหลวง โดยสำนักเรียนต่างๆจัดการเรียนและก็ส่งรายชื่อเข้าสอบปีละหนึ่งครั้ง สอบได้ก็เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆจนถึงประโยคเก้าซึ่งเทียบเท่าปริญญาตรีสามารถนำวุฒิการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วๆไปได้ หากสอบไม่ได้ก็จะต้องเรียนแล้วก็สอบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละความพยายามแล้วก็เลิกเรียนไปเอง  เพราะไม่มีการสอบซ่อม

              วิธีการเรียนการสอบบาลีนั้นทั้งสามเณร พระ แม่ชี และฆราวาสทั่วๆไปเหมือนกัน

              ล่าสุดทราบจากเฟซบุ๊กบาลีศึกษาแผนกบาลีมหาธาตุวิทยาลัย แจ้งว่า ในปี 2556 สำนักเรียนมหาธาตุวิทยาลัย มีน.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล อายุ 18 ปี ธรรมศึกษาเอก สอบได้บาลีศึกษา 4 ประโยคด้วย และมีแม่ชีและฆราวาสที่สอบได้ในประโยคเดียวกันอีก 4 คน รวมผู้ที่สอบได้ประโยค 1-2 ถึงประโยค 8 โดยเฉลี่ยประโยคละ 5 คน

              ขณะนี้น.ส.สุกัญญาเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2  สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เธอสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนภาษา-ฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พร้อมกันนี้เธอกำลังเรียนบาลีศึกษาประโยค 5 อยู่ที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ โดยเรียนร่วมกับแม่ชีและฆราวาสมากพอสมควร

              ทั้งนี้เธอเคยเขียนข้อความในบล็อกที่เว็บไซต์เด็ก-ดี ความโดยสรุปว่า เมื่อจบ ม. 4 เทอม 1 เริ่มอ่านภาษาบาลีเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะชอบวิชานี้มากกว่าภาษาฝรั่งเศสหาหนังสือมาอ่านประมาณ 200 เล่ม

              หลังจากจบเทอม 2 ได้ลงสอบบาลีศึกษาโดยเริ่มจากการสอบประโยค 1-2 ต้องสอบ 2 วิชา คือวิชาบาลีไวยากรณ์และแปลมคธเป็นไทย ซึ่งเก็บคะแนนโหดมาก ถ้าแปลผิด 1 คำหัก 2 คะแนน ถ้าวากยสัมพันธ์(เชื่อมคำ)ผิดหัก 3 คะแนน และถ้าแปลผิดทั้งประโยคหัก 6 คะแนน ผิดเกิน 18 คะแนนคือสอบตก โดยข้อสอบมีประมาณ 1 หน้ากระดาษเอ 4
             
              สอบปีนั้นเป็นอย่างที่คิดไว้คือสอบผ่านวิชาไวยากรณ์แต่ตกวิชาแปล ถึงจะเสียใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่ได้หว่านพืชก็ไม่ควรหวังผล เรียนมาเพียงไม่กี่เดือนสอบผ่านแค่วิชาไวยากรณ์ก็นับว่าดีแล้ว คนทั่วๆไปที่สอบผ่านใช้เวลา  2 ปีคือเรียนไวยากรณ์ 1 ปี และเรียนแปลอีก 1 ปี

              ตั้งแต่นั้นก็เริ่มอ่านธรรมบทภาค 1-4 และเริ่มอ่านเพื่อเตรียมสอบเอนทรานซ์ เมื่ออ่านจริงๆแล้วกลับพบว่าวิชาแปลไม่ยากอย่างที่คิด ปีหน้าฉันจะสอบใหม่อีกครั้ง ถ้าผ่านก็ดี แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

              การเรียนบาลีศึกษานั้นมีการเปิดสอนที่มหาธาตุวิทยาลัยและที่้สำนักเรียนทั่วๆ เช่น ที่วัดโมลีโลกยาราม บางกอกน้อยเปิดเรียนสำหรับบุคคลทั่วไป พร้อมกับกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อมหาบาชีวิชชาลัยด้วย หรือที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม หากอดีตพระมหาเปรียญมีเวลาว่างก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมและก็ส่งชื่อสอบอาจจะมีประโยคก็เป็นได้ อีกทั้งทำให้เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

....................

สำราญ สมพงษ์รายงาน

เปิดมรรควิธีแนว'ปฏิรูปการเมือง'สำเร็จ

              เปิดแล้วเวทีสภาปฏิรูปการเมืองที่ทำเนียบรัฐบาลตามคำเชิญของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า "ต้องการให้ทุกฝ่ายได้หารือกัน อยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าในฐานะผู้มีประสบการณ์  รัฐบาลเหมือนผู้ที่อยู่ปลายน้ำไม่สามรถทำอะไรคนเดียวได้"

              จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกเชิญเข้าร่วมแสดงความเห็น ก็ถูกสวนกลางเวทีจากนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา แบบไม่ต้องเกรงหน้าใครว่า หากมานั่งในวงใหญ่อย่างนี้ก็สิ้นเปลืองงบประมาณและเวลา  ควรจะมีการแบ่งกลุ่มให้ผู้เชี่ยวชาญไปศึกษา

              แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็แก้เกี้ยวว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาให้ทุกคนไม่เสียเวลาเปล่าแน่


              ขณะที่นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เสนอว่า ต้องสร้างความเข้าใจให้เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต้องทำร่วมกันก็จะสำเร็จ

              สอดคล้องกับความเห็นของนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า กระบวนการวันนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม ส่วนนายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ก็เสอให้มีการลงประชามติเพราะจะได้ยึดโยงกับประชาชน ด้านพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีอ้างว่าประชาชนร้องหาประชาธิปไตยอย่างเดียว

              ขณะที่คำกล่าวของนายโอกาส เตพละกุล ประธานที่สภาปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ว่า  "ประชาชนไม่รู้ว่าจะเชื่อใคร เพราะไม่มีเวทีที่ให้ประชานเชื่อถือง" ก็เป็นสิ่งที่น่ารับฟังเช่นกัน
    
              เมื่อพูดกันมาหลายคนก็ยังไม่รู้ว่ารูปแบบของเวทีปฏิรูปจะเป็นอย่างไร นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา ก็ได้เสนอว่า "เห็นด้วยกับแนวคิดของนายอุทัย จึงเสนอการวางแผนโรดแมปในระยะยาว 20 ปี และระยะสั้นตามลำดับ เพราะจะทำให้มองเห็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆได้ง่ายขึ้น เพื่อดูว่าเดินหน้าของประเทศไทยได้"  ก็ได้รับการเสียงสนับสนุนจากนายกระมล ทองธรรมชาติ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ   

              ส่วนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้อนแย้งว่า  ทุกส่วนต้องช่วยกัน และอยู่บนพื้นฐานการเข้าใจ ให้อภัยกัน โดยต้องหาวิธีที่เร็วที่สุด ส่วนการวางโรดแม็ปประเทศไทยนั้นวางได้ แต่ต้องดูว่าวางต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งนี้ทุกประเด็นปัญหาจบลงได้ถ้าไว้วางใจกัน

              นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เห็นว่า ตนอยู่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมา 30 ปี ไม่เคยมีรัฐบาลไหนมองนโยบายของประเทศข้ามปีต่อปี

              ด้านผู้นำท้องถิ่นอย่างนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เห็นว่า เรามีแผนศึกษามากมายแต่อยู่ที่รัฐบาลจะหยิบไปใช้หรือไม่

              ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยืนยันอยู่ข้างนอกว่า ที่จะไม่เปลี่ยนใจเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมืองในขณะที่ยังมีการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่

              จากที่ประมวลความเห็นบนเวทีปฏิรูปการเมืองมานี้ก็ยังมองไม่ออกว่า จะเดินหน้ากันอย่างไร แต่สิ่งที่นายอุทัยได้พูดไว้ที่ว่า "คิดว่าสิ่งดีที่สุดในการตัดสินใจปัญหาของประเทศ คือ เวลาที่คิดว่าจะทำอะไรให้คิดว่าทำเพื่อทั้งประเทศแล้วงานก็จะออกมาได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้นงานนี้ฐานะของพวกเราอยู่ตรงไหนและสิ่งที่นายกฯ บอกว่ามาหาทางออกของประเทศ พวกเราต้องหลับตาคิดถึงประชาชนก่อน แล้วรัฐบาลหวังอะไรกับ ถ้าทำเพื่ออนาคตจริงๆ ก็ต้องยอมรับเคารพความคิดเห็นของที่ประชุมบ้านเมืองก็มีโอกาส"

              เพราะคำว่าของนายอุทัยนี้คือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดเพราะจะทำให้เข้าสู่กระบวนการของการแก้ไขปัญหาเริ่มปฏิรูปการเมืองได้ เพราะหากยังหลับตาปฏิรูปการเมืองแล้วคิดถึงแต่คนๆเดียว คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวแล้วก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ

              ทำให้นึกถึงมรรควิธี 8 ประการที่จะพ้นจากทุกข์จุดเริ่มต้นอยู่ที่สัมมาทิฐิคือความเห็นที่ถูกต้องแล้วสัมมาสังกัปปะแนวคิดแก้ปัญหาก็จะเกิดตามมา สัมมาเวจาก็จะตามติดแทนที่จะชี้หน้าด่ากันก็หันมาให้กำลังใจกันซึ่งก็มีแนวทางอยู่แล้วเพราะว่าน.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยทำวิจัยช่วงที่ศึกษาปริญญาโทที่ มจร เอาออกมาใช้ก็น่าจะได้ผล หลังจากนั้น สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ก็จะเกิดตามมาและเชื่อว่าปฏิรูปการเมืองจะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน แต่หากยังมีมิจฉาทิฐิอยู่แล้วก็ยากอยู่

              ก็คงจะเอามะพร้าวมาขายสวนเพียงเท่านี้  เพราะว่าผู้ที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ก็มีอาจารย์ใหญ่คอยแนะนำอยู่หลายรูป จะกล่าวมากไปก็จะเข้าลักษณะเณรน้อยสอนสังฆราชไป ก็ได้แต่หวังปฏิรูปการเมืองจะประสบผลสำเร็จเท่านั้นเพราะประเทศไทยตกหลุดดำมานานแล้ว

........................

(หมายเหตุ : เปิดมรรควิธีแนว'ปฏิรูปการเมืองสำเร็จ' : กระดานความคิด โดยสำราญ สมพงษ์)






วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สภาป่วน!'สมศักดิ์'ตบะแตกดวงตาเห็นธรรมช่วยไม่ได้

             สภา"ป่วน วุ่น เดือด เละ ตีรวน" นี้เป็นอารมณ์การพาดหัวหนังสือพิมพ์หัวสีที่สะท้อนบรรยาการการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ฉบับที่ว่าด้วยกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา  ที่ได้เกิดเหตุประท้วงวุ่นวายขึ้นตลอดทั้งวัน ถึงขั้นต้องให้ตำรวจรัฐสภา เชิญ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ลุกยืนประท้วงออกจากห้องประชุม และสั่งพักการประชุมหลายครั้ง

             โดยเฉพาะช่วงที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุม ถึงกับระเบิดอารมณ์ตัดสินนำค้อนทุบบนบัลลังก์ 3 ครั้ง เพื่อเป็นสัญญาณให้ยุติความไม่สงบ พร้อมสั่งให้ตำรวจรัฐสภาเข้ามาในห้องประชุมเพื่อนำตัวสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ยอมนั่งลง และไม่อยู่ในความสงบออกจากห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาคุ้มกันนายสมศักดิ์ และพยายามเข้าไปนำตัว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนส่งเสียงดัง ออกไปจากห้อง
             ทั้งนี้เพราะส.ส. ประชาธิปัตย์เกือบทุกคนได้ลุกขึ้นยืนประท้วงและมีการตะโกนว่า "สภาทาส", "เผด็จการ", "ขี้ข้าทักษิณ" ขณะที่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำกระดาษที่มีข้อความว่า "สภาทาส" ขึ้นมาชูต่อหน้าบัลลังก์ ส่วนนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า "ประชุมต่อไปเลยจะได้รางวัล ทักษิณดูอยู่"

             และความวุ่นวายดำเนินไปตลอด 12 ชั่วโมง ด้วยกลยุทธ์ของพรรคประชาธิปัตย์พยายามขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่มีการกล่าวขานกันว่าเปิดโอกาสให้มีสภาผัวสภาเมียขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องเกิดคำถามว่าเป็นสิทธิ์หรือไม่ เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ กับการขัดขวางเช่นนั้น
             เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป 1 วัน นายสมศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระหว่างเตรียมเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ต้นแบบคนพอเพียงวิถีประชาธิปไตย ที่ห้องโถงรัฐสภา ถึงการทำหน้าที่ประธานที่ประชุม และถูกสมาชิกรัฐสภาประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้การประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เป็นไปด้วยความวุ่นวาย ว่า “ไม่ปวดหัว มีเหนื่อยเล็กน้อย แต่โคตรเบื่อเลย” จากนั้นได้ส่งยิ้ม ก่อนเดินเลี่ยงผู้สื่อข่าวเพื่อปฏิบัติภารกิจต่อไป

             ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสภาของบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะที่ระบุว่า "ทำให้เสือมเสียไปทั่วโลก" เข้าลักษณ์ชี้หน้าด่าฝ่ายตรงข้ามเช่นเดิม ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าที่เสือมเสียนั้นจริงหรือไม่หรือเพียงยกขึ้นมาด่าฝ่ายตรงกันข้ามเท่านั้น เพราะว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาเช่นนี้ในประเทศต่างๆเช่นเกาหลี ไต้หวัน ยูเครน ก็เกิดเหมือนกัน

             ความวุ่นวายในสภานะดีแล้วดีกว่าไปวุ่นวายนอกสภา และที่วุ่นวายนั่นแหละประชาธิปไตย ส่วนสภาเงียบๆมีแต่สภาเผด็จการเท่านั้น จึงไม่เข้าใจว่าผู้ที่วิจารณ์นั้นเข้าใจหลักปรัชญาการเมืองและหลักประชาธิปไตยดีหรือไม่ หรือรู้แต่อัตตาธิปไตยหรือคณาธิปไตยเท่านั้น ขณะเดียวกันสื่อต่างประเทศเขาดูที่เนื้อหาโดยเฉพาะกรณีมีตำรวจปราบจลาจลโผล่ที่รัฐสภาได้อย่างไร เท่ากับเอกสิทธิ์ ส.ส.ไม่มีความหมาย

             คำกล่าวของนายสมศักดิ์ในงานมอบรางวัลต้นแบบคนพอเพียงวิถีประชาธิปไตยนั้นน่าสนใจเช่นกัน เพราะนายสมศักดิ์ได้ยกหลักธรรมขึ้นมาสื่อให้ผู้รับรางวัลและสังคมได้ทราบรวมถึงพื้นฐานของตัวนายสมศักดิ์เองเป็นเช่นใดเช่น
             "เรามีความพอเพียงก็จะส่งผลให้กิเลส โลภ โกรธ หลง น้อยลง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดและดัชนีวัดความดีของคน โดยได้มีการพิสูจน์มาแล้ว ด้วยการได้คนดี 77 คนมานั่งตรงนี้  และ 2. หลักการประชาธิปไตย ที่สำคัญคือการมีสำนึกของพลเมืองในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ถ้าเป็นคนดีต้องมีสำนึกหน้าที่พลเมืองด้วย ซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยการส่งเสริมให้มีคนดีมาเป็นตัวแทนทำหน้าที่แทนพวกเรา และยังมีอีกหลายอย่างที่คนดีต้องมีสำนึกพลเมืองกระทำทุกโอกาสทุกเวลา

             ตามหลักพระพุทธศาสนาคือละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องแผ่ว ซึ่งการละชั่วทำดีมันเหมือนนามธรรมที่สัมผัสยาก แต่การทำจิตใจให้ผ่องแผ่วนั้นยากยิ่งกว่า เพราะถ้าไม่ปฏิบัติก็ยากที่จะเข้าถึง หรือที่เรียกว่า “ดวงตาเห็นธรรม” ตนเคยไปปฏิบัติธรรมในช่วงที่มีการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยการหลบไปบวชกับพี่น้องและครอบครัว ไปนั่งวิปัสสนาที่จ.พิษณุโลกเป็นจำนวน 10 วัน โดยไม่ได้มีการมองหน้าหรือพูดคุยกับพี่น้องที่ร่วมบวชด้วยเลย เพราะจะทำให้เกิดกิเลส ซึ่งตนสามารถทำได้
             สิ่งที่ผมได้มาคือการมีสติปัญญาทางธรรม อย่างน้อยก็ได้ดวงตาเห็นธรรมในระดับหนึ่ง ถือว่าเป็นกำไรชีวิต จะสังเกตว่าหลายคนมาถามผมถึงการทำหน้าที่ว่ามีอารมณ์โกรธหรือไม่ ซึ่งผมก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ามีบ้าง เพราะถ้าโกรธไม่เป็นก็บ้าแล้ว แต่อยู่ที่ว่าจะข่มอารมณ์ได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นไม่ต้องห่วงเพราะผมได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ไม่มีตบะแตก นิ่งเสียอย่างไม่มีแพ้  ขอให้ทุกคนช่วยกันขยายให้มีคนดีเพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศต้องการคนดีจริงๆ ไม่เอาแล้วพวกดีปลอมเพราะมีเยอะแล้ว"

              แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาเมื่อวันที่ 20 ส.ค.นั้นสะท้อนให้เห็นว่านายสมศักดิ์จะต้องหาโอกาสนั่งวิปัสสนาเพิ่มขึ้น เพราะกิเลสข้อโมหะหรือความหลงหรืออวิชชานั้นละยากที่สุด ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูงถึงจะ "บรรลุธรรม" ไม่ใช่ได้ "ดวงตาเห็นธรรม" หรือ "บรรลุธรรม" แค่ลมปากเท่านั้น
................

(หมายเหตุ : สภาป่วน!'สมศักดิ์'ตบะแตกดวงตาเห็นธรรมช่วยไม่ได้ : กระดานความคิด โดยสำราญ สมพงษ์รายงาน)

วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'สมีคำ'บทสะท้อนไทยด้อยพุทธศาสนศึกษา อ.มหิดลแนะเร่งทำหลักสูตรรับเออีซี

               วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้จัดงานเสวนาวิชาการระดมสมองเพื่อเตรียมหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาที่เหมาะแก่ภูมิภาคอาเซียน โดยมีนักศึกษาและครูอาจารย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าร่วมฟังราว 300 รูป/คน

               โจทย์ใหญ่ซึ่งเป็นประเด็นในการจัดเสวนาก็คือการจัดหลักสูตรต้องเหมาะสมแก่ภูมิภาคอาเซียนและสามารถแข่งขันกับเวทีระดับนานาชาติในยุโรปได้ โดยในภาคเช้า วิทยากรที่ได้รับเชิญให้มาแสดงวิสัยทัศน์ในการแสดงปาฐกถานำการเสวนาคือผศ.ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ซึ่งเข้าใจหลักสูตรการศึกษาของสงฆ์ในประเทศไทยและการจัดหลักสุตรพุทธศาสนศึกษาในต่างประเทศเป็นอย่างดี

               เพราะในอดีตนั้น นายปฐมพงษ์เคยสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 20   ปี  เป็นอดีตนาคหลวงวัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากลาสิกขาบทแล้ว ยังได้ทุนสนับสนุนจากเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งประทานผ่านมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ไปศึกษายังต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยในระหว่างศึกษานายปฐมพงษ์ยังได้ทุนไปทำวิจัยเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยปารีสในฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในสหรัฐอเมริกาด้วย  ปัจจุบันนายปฐมพงษ์เป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา นานาชาติ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล

               นายปฐมพงษ์เริ่มบรรยายโดยอธิบายว่า การจัดหลักสูตรเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนามี 2 ประเภท กล่าวคือ "ปริยัติศึกษา" หรือ "ปริยัติธรรมศึกษา" และ "พุทธศาสนศึกษา"  อย่างแรกนั้น เน้นจัดเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเถรวาทแบบไทยๆ  พระสงฆ์จึงต้องเรียนบาลีให้แตกฉานเพื่ออธิบายพระไตรปิฎกแก่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเถรวาท

               อีกประการหนึ่งคือพุทธศาสนศึกษา ซึ่งหมายถึงการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในทุกๆ ด้าน ทุกๆ คัมภีร์ในทุกๆ ภาษา  แปลว่าผู้ศึกษาจะเน้นคัมภีร์พระพุทธศาสนา ภาษาบาลี สันสกฤต ปรากฤตอื่นๆ ทิเบตและภาษาจีนใดๆ ที่ถนัดก็ได้ นอกจากนั้น การศึกษาอาจจะใช้หลักวิชาหลายๆ อย่างมาประกอบด้วย เช่น หลักวิชาทางประวัติศาสตร์, ทางภูมิศาสตร์, ศิลปะ, โบราณคดี, มานุษยวิทยา, ภาษาศาสตร์ ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น  หลักวิชาเหล่านี้สามารถนำมาใช้ศึกษาพระพุทธศาสนาได้หมดเมื่อต้องการจะรู้จักพระพุทธศาสนาในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง เพราะคำว่า "พุทธศาสนศึกษา" นั้นกว้างขวางกว่า "ปริยัติธรรมศึกษา"มาก

               "ถ้าจะจัดหลักสูตร เบื้องแรกต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าจะเน้นปริยัติธรรมศึกษาหรือพุทธศาสนศึกษา หลังจากตั้งเป้าประสงค์ให้ชัดเจนแล้วค่อยกำหนดคุณสมบัติครูอาจารย์ โดยปรกติถ้าเป็นวัดหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อาจเน้นปริยัติธรรมศึกษาก็แล้วแต่ท่าน อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่งจัดก็ดูเหมือนจะเน้นไปทางปริยัติธรรมศึกษา  แต่มหาวิทยาลัยฆราวาสอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาหรือที่อื่นๆ สมควรไปเน้นพุทธศาสนศึกษา นอกจากเป้าหมายแล้ว ยังต้องมาสร้างครูอาจารย์และห้องสมุดให้เหมาะแก่การค้นคว้าวิจัยด้วย" นายปฐมพงษ์กล่าว

               นายปฐมพงษ์อธิบายต่อไปว่า ตลาดภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเห็นผู้คนพูดถึงการเคลื่อนไหวของทางเศรษฐกิจ พูดถึงการใช้ตลาดร่วม พูดถึงการเคลื่อนย้ายไปมาของปัจจัยการผลิต ทุนและแรงงานอย่างสะดวกเมื่อเป็นตลาดเดียว แต่แทบไม่มีใครเน้นถึงการจัดหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาที่เน้นความเป็นเลิศ  พอจะนำอาเซียนได้ในประเทศไทยนัก  แม้ว่าขณะนี้มีหลายประเทศกำลังเร่งสร้างศูนย์หรือสถาบันพุทธศาสนศึกษาที่เน้นมาตรฐานระดับนานาชาติเป็นการใหญ่ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์หรือศรีลังกา เมื่อมีประชาคมอาเซียนขึ้นมา ผู้คนจะใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เมื่อคนรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นก็มีช่องทางที่จะไปเลือกเรียนในประเทศที่คิดว่าหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาเข้มแข็งที่สุดเพื่อให้ตนเองมีคุณภาพที่สุด ดังนั้น เมื่อประเทศอาเซียนรวมตัวกันขึ้นมา ก็จะมีทั้งโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้เปรียบกว่าที่อืนๆ หากรู้จักเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ หรือมีความความเสี่ยงที่จะตกกระป๋อง ตายอย่างเขียดหรือนิ่งอยู่กับที่หากมองโจทย์ไม่ละเอียดพอ
                               
                นายปฐมพงษ์บอกว่าไม่เพียงแต่ประเทศประชาคมอาเซียนเท่านั้นที่จะเป็นคู่แข่งของหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาในประเทศไทย ทุกวันนี้ ประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ พากันแข่งขันเปิดศูนย์พุทธศาสนศึกษาหรือหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาแล้วก็นำคัมภีร์ใบลานจากประเทศแถบเอเชียไปศึกษากันเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ ประเทศอังกฤษ เยอรมนี อเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ ได้ทำวิจัยทางพระพุทธศาสนาล้ำหน้าประเทศไทยไปมากแล้ว ห้องสมุดก็ดีกว่า แม้ว่าคนไทยจะมีนักวิชาการพระพุทธศาสนามาก แต่น้อยคนจะตีพิมพ์ผลงานในระดับวารสารนานาชาติ นักเรียนทุนจึงมักไปเรียนต่างประเทศหากต้องการจะแตกฉานในพระพุทธศาสนา

               "ถามว่าทำไมยุโรปถึงหันมาเจาะศึกษาพระพุทธศาสนา? มีเหตุผลอยู่ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง พระพุทธศาสนามีเหตุผล และไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ ปัญญาชนนักคิดของยุโรปจำนวนมากมาลองศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วเปลี่ยนศาสนาไปเลย เช่น ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์ เขาเป็นข้าหลวงอังกฤษที่ถูกส่งไปยังศรีลังกา เพื่อศึกษาวัฒนธรรมลังกา อันจะสามารถกำหนดนโยบายปกครองลังกาได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อไปลังกา ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว เขากลับเปลี่ยนใจ หันมานับถือพระพุทธศาสนา  จากนั้น ก็นำคัมภีร์ใบบานของพระพุทธศาสนาไปตรวจชำระและแปล ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนมีชาวอังกฤษเปลี่ยนมาเป็นพุทธมามกะเพิ่มมากขึ้นจนทุกวันนี้" อาจารย์ม.มหิดล กล่าวและว่า    

               อย่างที่สอง สังคมยุโรปเคยมีความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรง จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลอิ กาลิเลโอ ต้องถูกคุมขังและกรอกยาพิษจนตายในคุกมาแล้ว ชาวยุโรป โดยเฉพาะปัญญาชนที่มีเหตุผลจึงพากันรังเกียจศาสนจักร ต่อมาเมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 18   ซึ่งเป็นสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิชาการระดับแนวหน้าของยุโรป เช่น ไอแซก นิวตัน, วอลแตร์, จอห์น ล็อค, บารุค สปิโนซ่า, ปีแอร์ แบร์เลอร์ จึงกำหนดให้ยุคสมัยนั้นเป็นยุครู้แจ้ง (Age of Enlightenment) หมายความว่าผู้คนจะหันไปเน้นทางวิทยา ศาสตร์เพื่อการดำรงชีวิตมากกว่าจะยึดติดอยู่กับพระคัมภีร์ใบเบิ้ลซึ่งสอนผิดจากหลักวิทยาศาสตร์
  
               นายปฐมพงษ์อธิบายว่า ผลที่ตามมาก็คือนอกจากจะมีการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักรแล้ว ปัญญาชนยุโรปจำนวนมากเลิกนับถือพระเจ้าว่าเป็นผู้สร้างสากลจักรวาล หันมาเรียกตนเองว่า  นักวิมัตินิยม (skeptics) บ้าง นักอัญญาณนิยม (agonistics) บ้าง นักเหตุผลนิยม (rationalists) บ้าง นักวัตถุนิยม (materialists) บ้าง นักอเทวนิยม (atheists) บ้าง  พอรู้ว่าพระพุทธศาสนามีเหตุผลและเป็นอเทวนิยมจึงพากันแห่มาศึกษาและนับถือกันเป็นการใหญ่ กระทั่งบัดนี้ หลังจากชาวยุโรปได้พยายามรวบรวมคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาทุกเล่มเท่าที่จะหาได้ไปเก็บไว้ศึกษา ไม่ว่าจะเขียนไว้ด้วยภาษาบาลี สันสกฤต ปรากฤต ภาษาโขตัน ภาษาทิเบตหรือภาษาจีน
  
               นายปฐมพงษ์กล่าวว่าถ้าพูดถึงปริยัติธรรมศึกษาแล้ว ไทย พม่า ลาว เขมร ฯลฯ อาจมีการจัดหลักสูตรที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละชาติก็ล้วนแต่ต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีตนเอง แต่เมื่อพูดถึง "พุทธศาสนศึกษา" หรือ Buddhist Studies  แล้ว ทุกประเทศจะต้องจัดหลักสูตรและสรรหานักวิชาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน  ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นเอเซีย อาเซียนหรือยุโรป

               นายปฐมพงษ์อธิบายเสริมว่าถ้าต้องการจะสร้างภาควิชาหรือศูนย์พุทธศาสนศึกษาให้เข้มแข็งเสียก่อน  ยุโรปเน้นสร้างนักวิชาการที่ชำนาญคัมภีร์ที่เรียกว่า Text-based scholars ขึ้นมา เพราะคัมภีร์พระพุทธศาสนามีมาก อีกอย่างพระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คำสอนพระองค์เหลือแต่อยู่ในรูปคัมภีร์ หากจะบอกว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องอ้างได้บอกได้ว่าอยู่ในคัมภีร์เล่มไหน หลักสูตรพุทธศาสนศึกษาจึงต้องการผู้ชำนาญคัมภีร์ที่อธิบายได้ว่าคำสอนของพระองค์มีพัฒนาไปอย่างไรในแต่ละคัมภีร์ที่แต่งในยุคต่างๆ
  
               นักวิชาการที่เรียกว่า Text-Based Scholar นั้น ถ้าสร้างกันอย่างสมบูรณ์ จะได้นักวิชาการที่มีคุณสมบัติ 5 อย่างในคนๆ เดียว กล่าวคือ 1.สามารถแปลคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง  ตรวจสอบได้ว่าสำนวนแปลใครดีหรือไม่ดี (translation)  2.สามารถอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎในคัมภีร์ต่างๆ ที่ตนเองศึกษาได้ (explanation) อย่างละเอียด เช่น ความหมายของนิพพาน, ความหมาายของปฏิจจสมุปบาท เทียบเคียงได้ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ 3.สามารถตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างสมเหตุสมผลเมื่อพบเห็นศัพท์กำกวม (Interpretation) 4.สามารถประยุกต์คำสอน ที่ศึกษาอยู่ในคัมภีร์จนแตกฉานแล้วให้เข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ (application) 5.นักวิชาการเหล่านี้สามารถตรวจชำระคัมภีร์ใบลานต่างๆ ที่ค้นพบให้มีคุณภาพได้

               นักวิชาการประเภท text-based เหล่านี้เสมือนเป็นเสาหลักในการพัฒนาพุทธศาสนศึกษา ประจำศูนย์หรือภาควิชา เนื่องจากคัมภีร์พระพุทธศาสนามีทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ทิเบต จีนและปรากฤตอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดียภาคเหนือ ดังนั้น ในการพัฒนาพุทธศาสนศึกษาจึงต้องมีนักวิชาการประเภทนี้ ผู้ชำนาญทั้งพระไตรปิฎกบาลี สันสกฤต จีนและทิเบตมาทำงานประสานกันเพื่อขับเคลื่อนความรู้ทางพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ต่างๆ ไปสู่มหาชน ในที่สุด จะทำให้มหาชนเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าอันไหนคือพระสัทธรรมแท้ อันไหนคือสัทธรรมปฏิรูปที่พัฒนาขึ้นมาในชั้นหลังหรือได้รับอิทธิพลจากแนวคิดภายนอกพุทธศาสนา
  
               นายปฐมพงษ์กล่าวด้วยว่า ถ้าสังคมไทยมี text-based scholars มากๆ โอกาสจะเกิดสัทธรรมปฏิรูปไม่มี เพราะจะนักวิชาการที่ชำนาญในคัมภีร์กล่าวตอบโต้ได้ทันท่วงที เพราะว่าถ้าหากประเทศไทยมีนักวิชาการประเภท text-based ที่ชำนาญคัมภีร์ต่างๆ มาก นักวิชาการเหล่านี้จะสามารถตอบโต้ได้รวดเร็วว่าอันไหนคือสัทธรรมปฏิรุป อันไหนไม่ใช่ อย่างกรณีวัดพระธรรมกายสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ผมบอกได้เลยว่าถ้ามีใครสักคนไปพูดแบบนี้ในอังกฤษ จะถูกนักวิชาการ text-based ของอังกฤษสับเละเลยครับว่ารู้ไม่จริง

               ปัญหาของพุทธศาสนศึกษาในอาเซียนมีหลายประการ นายปฐมพงษ์ยกตัวอย่างเช่น
  
               1.ตำราทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาลุ่มลึกมักจะแต่งโดยฝรั่ง แทบไม่มีคนไทยแต่งเลย ฝรั่งก็มองอย่างฝรั่ง ทำให้มองปัญหาทางพระพุทธศาสนาผิด-ถูกไปตามวัฒนธรรมยุโรป ที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า eurocentric perspectives ตนเคยนั่งเถียงกับฝรั่งบ่อยเพราะเข้าใจวัฒนธรรมพุทธผิดก็มี
  
               2.นักวิชาการมีจำนวนมาก แต่มีจำนวนน้อยที่สามารถผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ ในขณะเดียวกัน ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งก็แทบไม่มีผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ทั่วโลกทำอยู่ ดังนั้น จึงมีปัญหาในเรื่องทบทวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ละเอียดพอ
  
               3.หลายๆ มหาวิทยาลัยของประเทศไทยขณะนี้ ไม่ sensitive ต่อการพัฒนาพุทธศาสนศึกษา หรือเตรียมคนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน  ผู้บริหารหลายคนอาจจะมองเห็นว่าตนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้ประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ไม่ทำเงินเข้ามหาวิทยาลัย กลัวว่าบริหารไปแล้วจะขาดทุน ขณะเดียวกัน แม้วัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนาหลายแห่งจะมีเงินมหาศาล แต่ไม่ได้ทุ่มงบประมาณไปตอบโจทย์พุทธศาสนศึกษาในแนวยุโรปนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาใหม่ๆ จึงก้าวไม่ทันยุโรป แม้ครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็มีน้อยมากในประเทศไทย
  
               นายปฐมพงษ์ กล่าวสรุปว่า ขณะที่เรามีคู่แข่งมากมายสมัยนี้อันสืบเนื่องมาจากศูนย์หรือสถาบันที่สอนพุทธศาสนศึกษาได้มาตรฐานเกิดขึ้นมากมาย อาทิที่ Oxford, SOAS, Hamburg, Stanford, Berkeley, Cornell, Chicago ประเทศไทยหรือประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนขณะนี้จึงยังเสียเปรียบเมื่อมองในเชิงขีดความสามารถหรือศักยภาพในการแข่งขัน (competitive edge) หรือเทียบเคียงภาควิชาพุทธศาสนศึกษาต่อภาควิชากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในยุโรป (benchmarking)

               การเกิดกรณี "สมีคำ" และยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเป็นที่กล่าวขานของชาวบ้านไปทั่วเมือง รวมถึงนักการเมืองก็เริ่มตื่นตัวเห็นว่า "ศาสนาทรุดแล้ว" เป็นบทพิสูจน์บทบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลท่านนี้เป็นจริง
.....................
สำราญ สมพงษ์รายงาน

'พระอุบาลี'หนังสือการ์ตูนแผ่ธรรมเทียบชั้น'พระถังซัมจั๋ง'

              "พระถังซัมจั๋ง" คนไทยคงรู้จักดีเนื่องจากเป็นพระจีนที่เดินทางด้วยความลำบากฟันฝ่าอุปสรรคนานาเพื่อไปคัดลอกพระไตรปิฏกที่ประเทศอินเดียแล้วนำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีน เนื่องจากมีการนำประวัติของท่านไปสร้างเป็นละคร ภาพยนต์และหนังสือมากมาย โดยมีตัวละครที่ดึงดูดความสนใจเช่น หงอคง ตือโป๊ยก่าย

              แต่หากจะพูดถึง "พระอุบาลี" แล้วคนไทยก็คงจะงงๆอยู่ว่าเป็นใครเป็นพระอินเดียหรือเปล่า ทั้งๆที่พระอุบาลีเป็นพระไทยที่เดินทางไปสืบสานพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงที่พระพุทธศาสนาใกล้จะสูญสิ้นจากแผ่นดินศรีลังกา ตามที่พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกาได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระและคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เมื่อปีพ.ศ.2296 ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศศรีลังกาจนทุกวันนี้ และพระที่นั้นถือว่าเป็นพระสยามนิกาย นับจาก พ.ศ.2296 มาถึงทุกวันนี้ก็ผ่านไป 260 ปีแล้ว

              เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของ "พระอุบาลี" ให้คนไทยได้ทราบและง่าย ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จึงได้จัดทำหนังสือ"พระอุบาลีเพชรเม็ดงามของสยามวงศ์" ฉบับการ์ตูนขึ้น โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หัวหน้าโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา และผอ.สถาบันภาษา มจร เป็นบรรณาธิการ

              ทั้งนี้พระมหาหรรษาได้ระบุถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso  ความว่า ในปี พ.ศ. 2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมหัวโกศ จึงโปรดให้ส่งพระอุบาลี พร้อมคณะสงฆ์เป็นสมณทูตไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา โดยมีสามเณรสรณังกรเป็นพระภิกษุรูปแรกภายใต้การทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอุบาลีและคณะสงฆ์คณะนี้ จึงได้ตั้งนิกายสยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา จนทำให้พระพุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

              “พระอุบาลีมหาเถระ” เป็นต้นแบบของพระธรรมทูตรุ่นแรกในสังคมไทยที่เดินทางไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป อีกทั้ง เป็นสมณทูตที่ทำหน้าที่ในการนำพระพุทธศาสนามาเป็นสะพานเชื่อมประสานพุทธศาสนิกชนของสองประเทศเข้าด้วยกัน สอดรับกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงให้หลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก”

              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคม จึงได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติพระอุบาลีฉบับการ์ตูน เรื่อง “พระอุบาลี: เพชรเม็ดงามแห่งสยามวงศ์” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการประดิษฐานนิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา ทั้งนี้ คณะกรรมการทำงานปรับปรุงและพิมพ์หนังสือประวัติพระอุบาลีฉบับการ์ตูน มีวิริยะอุตสาหะดำเนินการจัดทำต้นฉบับโดยใช้เวลากว่า 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ เพื่อแจกเป็นธรรมทานและเชิดชูเกียรติพระอุบาลี เชื่อมั่นว่า หนังสือประวัติพระอุบาลีเถระฉบับการ์ตูนจะก่อให้เกิดคุณค่าต่อการประกาศกิตติคุณของท่านในฐานะเป็นพระธรรมทูต และเป็นแนวทางในการศึกษาเรียนรู้ประวัติและพัฒนาการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกาสืบต่อไป

              พร้อมกันนี้พระมหาหรรษายังได้เปรียบเทียบระหว่างพระอุบาลีกับพระถังซัมจั๋งว่า มีจุดเน้นต่างกัน แต่งานของพระอุบาลียิ่งใหญ่มาก ไปฟื้นฟูพระพุทธศานาที่กำลังจะหายไปจากประเทศศรีลังกา ระหว่างเดินทางด้วยเรือเกือบมรณภาพต้องเสียสละทั้งชีวิตเพื่อรักษาพระพุทธศาสนา  เจอพายุร้าย มีคนตายไปหลายคน รวมถึงทูตไทยก็ตายด้วย  บางคนไปตายที่ประเทศศรีลังกาก็มี จึงถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่คนไทยไม่รู้จักพระอุบาลีแต่รู้จักพระถังซัมจั๋ง ทั้งๆที่พระถังซัมจั๋งยังได้กลับประเทศจีน แต่พระอุบาลีไม่ได้กลับประเทศไทยเลย มรณภาพที่ประเทศศรีลังกา

              และหนังสือพระอุบาลีภาคภาษาอังกฤษจะได้นำไปแจกให้กับผู้ร่วมงานสัมมนาการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก และพิธีเฉลิมฉลอง  ณ สถาบันพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา ( Sri Lanka International Buddhist Academy :  SIBA)  เมืองแคนดี้  ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคมนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 260 ปีของการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ที่ มจร สถาบันพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา ( Sri Lanka International Buddhist Academy : SIBA) วัดพระเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา คณะสงฆ์ศรีลังกาฝ่ายมัลลวัตตาและฝ่ายอัสสคีรี และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ร่วมกันจัดขึ้นโดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทางเว็บไซต์หลัก มจร http://www.mcu.ac.th ตั้งแต่เวลา 08.50น.ของวันที่  20 สิงหาคมเป็นต้นไป

.............................

สำราญ สมพงษ์รายงาน 



วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระตื่น!ปอท.คุมไลน์'มจร'จัดถกไอทีแผ่ธรรม

              หลังจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ออกมาเตือนประชาชน ห้ามโพสต์ กดไลค์ หรือส่งต่อข้อความที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะถือว่าเป็นผู้กระทำผิดร่วม ทำให้มีเสียงวิพากวิจารณ์หนาหู

              แถมล่าสุดยังเตรียมตรวจสอบการสนทนาผ่านโปรแกรมแชทยอดนิยม "ไลน์" ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ใช้กว่า 15 ล้านคน โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก

              ต้องยอมรับกันว่า ไอที นั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทุกภาคส่วนของสังคมรวมไปถึงสังคมสงฆ์ด้วย ส่วนการนำไปใช้จะมีค่ามากหรือน้อยและมีคุณหรือโทษอย่างไรนั้นคงขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้ใช้

              เมื่อ "ไลน์" เข้ามาบทบาท สังคมสงฆ์ก็คงมองเห็นประโยชน์ว่าจะนำไปใช้ในการเผยแพร่ธรรมได้อย่างไร อย่างเช่น  เจ้าอาวาสที่ใช้เทคโนโลยีสอนธรรมคือพระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ สมาหิโต) หรือหลวงพ่อเศรษฐี  เจ้าอาวาสวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กทม. ปัจจุบันได้ใช้แอพพลิเคชั่น "ไลน์" ผ่านสมาร์ทโฟนในการสอนธรรม ทั้งๆที่อายุ 70 ปีแล้ว

              แต่เนื่องจากหลวงพ่อมีประสบการณ์เผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น อินเดียศรีลังกา จีน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์  เป็นที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในต่างแดน หัวหน้าพระธรรมทูตประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา และได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

              พระครูวรกิตติโสภณ ได้กล่าวว่า ได้ใช้เทคโนโลยีมานานแล้วตั้งแต่แชทและมาถึงไลน์เนื่องจากอาตมามีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างประเทศต่างศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สะดวกในการแนะนำธรรมได้ทันกาลและง่าย

              เมื่อปอท.ประกาศออกมาเช่นนี้ย่อมสร้างความหวั่นวิตกให้กับสังคมสงฆ์ไม่มากก็น้อย ดังนั้น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ภายใต้การนำของพระสุธีธรรมานุวัตร หรือเจ้าคุณเทียบ คณบดี ได้เล็งเห็นคุณและโทษของไอทีเพื่อไปการสร้างภูมิคุ้มกันภูมิรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา และได้ให้คติธรรมเสมอผ่านทางเฟซบุ๊กนาม PhraSuthithammanuwat Thiab  จึงได้เชิญ ดร.ขยัน จันทรสถาพร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายวิชาการ  เรื่อง "พระพุทธศาสนากับเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอลไร้พรมแดน" เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

              ดร.ขยันได้ให้ความรู้ถึงความเป็นมาของเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่มีระบบอินเตอร์เน็ตจนกระทั้งเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน  โดยเริ่มตั้งแต่ภาพรวมระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อระบบเครือข่ายโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์อันเป็นช่องทางเข้าสู่อินเตอร์เน็ต โปรแกรมบนอินเตอร์เน็ตในแพลตฟอร์มต่างๆ ผลกระทบของการใช้อินเตอร์เน็ตต่อสังคม และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมอันเกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต

              อย่างไรก็ตาม ดร.ขยันมองว่า  Web-Social Media-Chat แม้นจะมีผลในทางบวกคือสะดวกในการเผยแพร่ข้อมูล สะดวกในการติดต่อรับทราบความเป็นไปกับครอบครัวญาติมิตร สะดวกในการรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สะดวกในการรับฟังความเห็นจากผู้อื่น
สะดวกในการบันทึกความเห็นและข้อมูล 

              ขณะเดียวกันก็มีผลในเชิงลบคือ ทำให้สถานที่อโคจร 24 ชั่วโมง เกิดปัญหาชู้สาว เกิดปัญหาการรับฟังข้อมูลไม่รอบด้าน แต่วิจารณ์ทันที เกิดปัญหาการใช้คำหยาบคาย ดูแคลน เกิดปัญหาการจงใจบิดเบือนข้อมูลหรือใช้ข้อมูลเท็จ เกิดปัญหาการใช้เวลาไม่คุ้มค่า

              ทั้งนี้ดร.ขยันได้ยกหลักธรรมพื้นฐานในพระพุทธศาสนา อันช่วยบรรเทาปัญหาอันเกิดจากผลกระทบของอินเตอร์เน็ต เบญจศีล ช่วยลดข้อมูลเท็จ   การใช้คำหยาบ อคติ 4 ช่วยลดการบิดเบือนข้อมูลทั้งทางบวกและลบ พรหมวิหาร 4 ช่วยลดการริษยาอาฆาต  โลกบาลธรรม ช่วยลดการจงใจทำผิด ลดการเข้าไปในที่อโคจรในอินเตอร์เน็ต กาลามสูตร 10 ช่วยลดการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้กลั่นกลอง อบายมุข 6 ช่วยลดการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่า

              พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตกับพระพุทธศาสนา สำหรับพระภิกษุสามารถเผยแพร่ธรรมตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนฆราวาสได้เพิ่มโอกาสสนทนาธรรมกับพระภิกษุและผู้ทรงศีล (มงคลสูตร) เพิ่มโอกาสดูหรือฟังธรรมจากพระภิกษุ (คลิปวิดีโอและคลิปเสียง) เพิ่มโอกาสในการทำบุญกุศล (บริจาคออนไลน์) ทั้งพระภิกษุและฆราวาสสามารถเพิ่มโอกาสศึกษาค้นหาหลักธรรมได้โดยสะดวก (พระไตรปิฎกออนไลน์, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฯ) เพิ่มโอกาสในการรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นกุศล

              ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์และสถานการศึกษาของคณะสงฆ์ว่าจะสร้างบุคลากรให้รู้คุณและโทษของไอทีแล้วนำไปใช้เผยแพร่ธรรมให้ทรงคุณค่าอย่างไร
.........................


สำราญ สมพงษ์รายงาน



วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พบ'สะเดาสีขาว'คนไม่งมงายเมินขอหวย กลางวัดพระนักพัฒนาเมืองนครสวรรค์

               คงจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วพอใกล้จะถึงวันหวยออก มักจะมีข่าวแปลกประหลาดออกมาเป็นประจำ พอชาวบ้านทราบก็แห่กันไปขอหวยเพื่อจะได้มีโชคลาภบ้าง  อย่างเช่นล่าสุดก็มีกล้วยประหลาดเผยแพร่ออกมา

               หรือล่าสุดนี้ได้รับแจ้งจากนายถนอม อำนวยเจริญ อายุ 81 ปี อยู่บ้านเลขที่ 562/1 หมู่ 7 ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ว่า ได้พบต้นสะเดาประหลาดสีขาวทั้งต้นเหมือนกับต้นโพธิ์เงิน อยู่ที่วัดหนองดู่ ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จึงได้เดินทางไปพิสูจน์ความจริง

               พบว่าเป็นต้นสะเดาสีขาวสูงประมาณ 1 เมตร ยอดสีชมพู อยู่กลางวัด และได้พบกับพระครูนิรันตรโสภณ อายุ 62 ปี  29 พรรษา เจ้าอาวาสวัดหนองดู่ เจ้าคณะตำบลหนองกลับ เขต  2 อ.หนองบัว กำลังควบคุมการพัฒนาวัดอยู่ จึงเข้าไปกราบขอสัวมภาษณ์ได้ความว่า ต้นสะเดาสีขาวนี้เกิดจากรากของต้นสะเดาต้นเก่ามาหลายปีแล้วตอนนี้สูงประมาณ 1 เมตร

               "เมื่อมีต้นสะเดาขาวเกิดขึ้น ชาวบ้านเดินทางมาดูแล้วถ่ายรูปเผยแพร่ แต่ที่แปลกก็คือไม่เคยขูดขอหวย และเวลาคนจะจับใบจะหูบเหมือนกันต้นไมยราบ และที่แปลกอีกประการหนึ่งก็คือว่ามีคนเข้ามาบวชที่วัดแห่งนี้มากขึ้นถึง 200 รูป เนื่องจากอาตมาเป็นอุปัชฌาย์ ทั้งนี้คงเกิดจากอาตมาเป็นคนตามใจญาติโยมไม่ขัดหากทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่หากไม่ถูกต้องแล้วอาตมาไม่ยอมเด็ดขาด" พระครูนิรันตรโสภณ กล่าวและว่า

               วัดหนองดู่แห่งนี้มีพระอยู่ 5 รูป เรียนนักธรรมหากรูปใดที่เรียนเก่งก็จะส่งไปศึกษาต่อที่สำนักเรียนอำเภอตากฟ้า จ.นครสวรรค์  ส่วนการอบรมญาติโยมนั้นก็จะมีการจัดกิจกรรมอบรมวิปัสสนากรรมฐาน อบรมต้านยาเสพติด การประกอบอาชีพอาชีพที่ถูกต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ เพราะถือว่านี้คือทางรอด โดยอาตมาถือคติที่ว่า "ตื่นแต่เช้าได้งานมากแต่ตื่นสายได้งานน้อย"

               เจ้าอาวาสวัดหนองดู่ กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่อาตมาอบรมญาติโยมเสมอนั้นก็คือศรัทธราความเชื่อในแนวทางที่ถูกต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของของการใช้สติปัญญาพิจารณาอย่างมีเหตุมีผลก่อนเชื่อ เพราะไม่ต้องการให้ศรัทธาพระอย่าง"เณรคำ"  แม้แต่ชื่อ "เณรคำ" อาตมาก็ไม่อยากได้ฟัง เพราะไม่เป็นมงคลสร้างความเสื่อมเสียมาก

               วัดหนองดูแห่งนี้สร้างมานานกว่า 60 ปีแล้วตั้งแต่ยังเป็นป่าที่เป็นทางช้างผ่าน ปัจจุบันนี้ภายใต้การบริหารของพระครูนิรันตรโสภณมีความเจริญพอสมควรมีทั้งโบสต์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ต้นไม้ร่มรื่นเป็นสปายะเหมาะสำหรับปฏิบัติธรรม ขณะนี้ก็กำลังบูรณะศาลาหลังเก่าที่เสาเป็นต้นไม้ทั้งต้น ที่ใช้ไม้เดิมๆเสริมด้วยไม้ใหม่ที่มีอยู่

               ทั้งนี้พระครูนิรันตรโสภณได้กล่าวว่า เพราะต้องการที่จะอนุรักษ์ของเก่าไว้ให้ลูกหลานได้เห็นย้อนถึงอดีตได้เห็นเรียนรู้

               สาเหตุที่พระครูนิรันตรโสภณเป็นพระนักพัฒนาทั้งวัตถุและคนเช่นนี้ เพราะเป็นพระที่แสวงหาความรู้เพื่อนำมาพัฒนาและฝึกอบรมชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นล่าสุดได้เข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารคณะสงฆ์ (ป.บส.) ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตนครสวรรค์จัดขึ้นให้กับพระสังฆาธิการตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส ตำบล อำเภอ จังหวัด ในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เพราะพระที่จะได้รับตำแหน่งพระสังฆาธิการจะต้องผ่านหลักสูตรนี้

               เพราะเหตุที่มีพระนักพัฒนาเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านหนองดู่ถึงไม่สนใจที่จะขูดต้นสะเดาขาวขอหวยเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะเขาเข้าใจว่าการจะถูกหรือไม่ถูกหวยนั้นไม่ใช่ขึ้นอยู่กับต้นไม้ แต่ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกันร้านค้าใกล้วัดจะติดป้ายเตือนสติอย่างเช่นอยากรวยอย่าหมิ่นเงินน้อยอย่าคอยวาสนา รวมถึงผี 6 อย่างเช่นผีสุรา ผีการพนันเป็นต้น หากคนไทยเข้าใจเหมือนกันชาวบ้านหนองดู่แล้ว สิ่งแปลกประหลาดต่างๆคงก็จะไม่เป็นสิ่งที่มีความหมายอีกต่อไป

............................

สำราญ สมพงษ์รายงาน



วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นโยบายคืนถิ่นพ่นพิษทอดผ้าป่าแก้'ครูขาด'

            โรงเรียนได้ประชุมคณะกรรมบริหารสถานศึกษาพื้นฐานโรงเรียนบ้านรังงาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดหาทุนเพื่อจ้างครูอัตราจ้างจำนวน 3 อัตรา โดยจ้างอัตราละ 7,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นภาระที่โรงเรียนต้องหาทุนเพื่อดำเนินการจ้างครูอัตราจ้าง มาทำการสอนเป็นการชั่วคราวรายเดือนก่อนที่้จะได้ครูมาบรรจุหรือย้ายมาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียน โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 21,000 บาท คณะกรรมการสถานศึกษาฯจึงเห็นสมควรจัดทอดผ้าป่ามาดำเนินการจ้างครูมาดำเนินการให้ครบชั้นเรียน อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการศึกษาของบุตรหลาน

              ดังนั้นโรงเรียนบ้านรังงามจึงใครขอเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ่าป่าเพื่อหาทุนดังกล่าวมาดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(เด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส) ให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ โดยมีครูสอนครบชั้นเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วไป อันจะส่งผลให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาให้นักเรียนมีคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรสืบต่อไป

              ข้อความดังกล่าวเป็นฎีกาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา โดยจัดพิธีทอดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2556 ที่ผ่าน มีพระครูนิกรธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสหชาติประชาธรรม  เจ้าคณะตำบลทุ่งทอง อ.หนองบัว พระสมุห์ถวิล ฐิตจิตโต เจ้าอาวาสวัดรังงามปทุมรักษ์ ต.ทุ่งทอง เป็นต้น เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายบรรพชิต นายมะยม แย้มกุล นายกอบต.ทุ่งทอง นายประเสริฐ จรูญจิตรรวีร์ ผอ.โรงเรียนบ้านคลองกำลัง เป็นต้นเป็นคณะกรรมที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส โดยมีศิษย์เก่าร่วมเป็นกรรมการจำนวนมาก  โดยมียอดเงินบริจาคทั้งสิ้นกว่า 3 แสนบาท

              นายประเสริฐ กล่าวปราศรัยภายในงานว่า ตนเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี 2526 การมาร่วมทอดผ้าป่าครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการคืนถิ่นเก่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากมีการย้ายคืนถิ่นแล้วไม่มีการย้ายครูเข้ามาทดแทน ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่อำเภอหนองบัวประสบปัญหาลักษณ์เดียวกันนี้หลายแห่ง แม้นว่าจะเสนอขอไปทาง สพฐ.ตั้งแต่ที่เกิดปัญหาก็ยังไม่มีครูย้ายเข้ามาทดแทน

              นายสุกิจ ตะบุตร ผอ.โรงเรียนบ้านหนองดู่ อ.หนองบัว กล่าวว่า ตนนั้นเคยเป็นอดีตผอ.โรงเรียนแห่งนี้ เพิ่งย้ายไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา สมัยที่ตนเป็นผอ.มีครู 5 คน  เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555  มีครูย้ายออก 2 คน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการย้ายเข้ามาทดแทน ครูที่เหลืออยู่ก็ทำการสอนคนละ 2 ชั้น ตนเองก็ทำหน้าที่ทั้งสอนและการบริหารไปด้วย แม้นว่าจะมีนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆได้เสนอตัวเข้ามาช่วยโดยทำเป็นลักษณะออกค่าย แต่ทางโรงเรียนต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการมากพอสมควรจึงไม่สามารถรับการช่วยเหลือวิธีนี้ได้

              นายมะยม กล่าวว่า หากปล่อยปัญหาไว้เช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกหลาน ซึ่งจะโทษใครคงไม่ได้เช่นกันต้องโทษเวรกรรม เห็นรัฐบาลประชาสัมพันธ์ว่าอีก 2 ปีจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ไม่เคยออกมาดูบ้านอกว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จะฝากอนาคตของลูกหลานไว้กับครู 2 เท่านี้แล้วจะเข้าสู่อาเซียนได้อย่างไร เมื่อฝากอนาคตการศึกษาไว้กับครูไม่ได้แล้วคงต้องฝากไว้กับชาวบ้าน

              "ความจริงแล้วผมเคยเสนอเรื่องเพื่อขอรับการถ่ายโอนการจัดการศึกษามาสังกัดองค์การปกครองส่วนถิ่น ที่อบต.ทุ่งทอง เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการแล้วได้รับการคัดค้านจากครู จึงทำให้ไม่ผ่านการเห็นชอบ แต่เมื่อโรงเรียนประสบปัญหาเช่นนี้ ท้องถิ่นจะนิ่งดูดายก็คงไม่ได้" นายกอบต.ทุ่งทองกล่าว

              นายผัน อินทะชิต รักษาการแทนผอ.โรงเรียนบ้านรังงาม กล่าวว่า จากยอดเงินบริจาคดังกล่าวคงจะช่วยจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ภายในปีการศึกษานี้ สำหรับตนนั้นก็คงจะไม่ย้ายไปไหนจะอยู่ที่นี้แม้นว่าจะเหลือตนเป็นครูเพียงคนเดียวก็ตาม

              ด้านนายยอด รุ่งศรี ศิษย์เก่า กล่าวว่า เห็นครูลำบากจะนิ่งเฉยคงไม่ได้จึงได้แจ้งให้เพื่อนๆได้ทราบเพื่อได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เมื่อมาร่วมงานทอดผ้าป่าครั้งได้เห็นครูก็ดีใจแล้ว

              นี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับสถานการศึกษาในพื้นที่อำเภอหนองบัวในท้องถิ่นห่างไกล เนื่องจากเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้ที่จากพื้นที่ไปนาน กลับมาเยี่ยมญาติจึงทำให้ทราบปัญหา หากนั่งอยู่ห้องแอร์ทำงาน คงก็ไม่ทราบเช่นเดียวกับผู้บริหารในกระทรวง ได้เห็นความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ทอดผ้าป่า คงจะสามารถแก้ป้ญหาเชิงพุทธได้เพียงระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวคงต้องแก้ในระดับนโยบาย ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีกฎหมายกำกับแต่นักการเมืองเสียผลประโยชน์ไม่สนับสนุนจึงเกิดปัญหาอย่างที่เห็น
ทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา "ศิษย์เก่าพัฒนาบ้านเกิด" จัดหาทุนจ้างครูอัตราจ้าง ณ โรงเรียนบ้านรังงาม หมู่ 7 ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอนองบัว 20 กิโลเมตร การสัญจรไปมาลำบาก  ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ชั้้นอนุบาล 1 - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2556 มีนักเรียนทั้งสิ้น 90 คน ราชการครูปฏิบัติหน้าที่สอน 2 คน ทำให้มีครูสอนไม่ครบชั้นเป็นปัญหาต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ซึ่งผลจากโครงการย้ายครูคืนถิ่นตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ




สำราญ สมพงษ์รายงาน



วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ไม่แปลก!ทนายเสธ.แดงช่วย'เณรคำ'

             ทันทีที่พระฐกฤต กัณตธัมโม โฆษกประจำตัวนายวิรพล สุขผล หรือ อดีตพระเณรคำ เข้าให้การกับดีเอสไอเกี่ยวกับทรัพย์สินและการใช้ชีวิตหรูหราของเณรคำ ได้ปรากฏกายนายสุกิจ พูนศรีเกษม ในฐานะทนายความ ที่เปิดเผยตัวเองว่า เป็นอดีตทนายความของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ล่วงลับ

             "ตอนนี้ ได้รับการทาบทามให้เป็นทีมกฎหมาย และทนายความให้กับอดีตเณรคำ เบื้องต้นยังไม่ได้กำหนดแนวทางการต่อสู้คดีที่ชัดเจน แต่เตรียมที่จะยื่นให้ศาลของประเทศสหรัฐฯ ไต่สวนการออกหมายจับของดีเอสไอว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นการออกหมายจับในคดีที่เหตุเกิดขึ้น นานกว่า 10 ปี" อดีตทนายเสธ.แดงระบุ

             หากดูประวัติของนายสุกิจแล้วไม่ธรรมดามีสำนักงานกฎหมายเป็นของตัวเองเปิดเว็บไซต์ชื่อ sukit-lawyer.com ซึ่งมีเนื้อหาเกียวกับประวัติของนายสุกิจอย่างละเอียดโดยเริ่มจาก การศึกษาจบปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นที่ 9 ปริญญารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยณิวัฒนา ปริญญาเอกด้านรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก

             ประวัติการทำงานด้านกฎหมายเช่น เป็นทนายฟ้อง พล.ต.ต.พีระพันธุ์  เปรมภูติ เลขาป.ป.ง. ในความผิดฐานยึดและอายัดทรัพย์สินโดยมิชอบ ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินทั้งหมด เป็นทนายความแก้ต่างให้กับ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เกี่ยวกับทรัพย์สิน และเป็นทนายฟ้องและแก้ต่างให้กับ น.พ.วิชัย ชัยจิตวณิชกุล คดีรถยนต์ ปาเจโร่

             มีตำแหน่งทางการเมืองเช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2545 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ปี2546 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ลงสมัครส.ว.กทม.ปี 2549

             มีผลงานด้านวิชาการเช่น จัดรายการตอบปัญหาทางกฎหมายบริการประชาชนทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 – 17.30 น. ที่สถานีโทรทัศน์  TNN 24 (ทรูช่อง 24)

             อย่างไรก็ตามผู้ใช้นามว่า "เสน่ห์โจรสลัด" ได้เขียนบทความเกี่ยวกับนายสุกิจให้ชื่อเรื่องว่า  "ทนายมาเฟีย-ทนายเทวดากับหนังสือย้อนรอยกรรม ระลึกชาติ สื่อวิญญาณ" ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยสรุปว่า "ทนายมาเฟีย" และ "ทนายเทวดา" เป็นฉายาของ "นายสุกิจยตน์ พูนศรีเกษม" ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการ การศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

             สำหรับที่มาของฉายา ทนายเทวดา นั้น ทนายสุกิจยตน์ บอกว่า พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นคนตั้งให้ เพราะไปช่วยวัด 3 แห่ง ว่าความฟ้องร้องกรรมการวัด จนได้เงินกลับคืนวัดหลายสิบล้านบาท โดยปัจจุบันนี้เป็นนิติกรประจำวัด 3 แห่ง คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี กรุงเทพฯ วัดจุฑาทิศธรรมสภาราม อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี และวัดถ้ำเขาชะอางค์โอน อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี

             ส่วนที่มาของฉายา ทนายมาเฟีย นั้น ทนายสุกิจยตน์ บอกว่า ได้มาเพราะไปเป็นทนายแก้ต่างและฟ้องให้กับบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก  และยังเป็นทนายให้แก่พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง กรณี พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้อง เสธ.แดงกับพวก เรียกค่าเสียหาย 2,500 ล้านบาท ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ยกฟ้อง"

             ทำให้เกิดคำถามสงสัยตามมาว่าอดีตทนายความเสธ.แดงคนนี้เกี่ยวกับ "เณรคำ" ได้อย่างไร

             หากจะพิจารณากลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับ "เณรคำ" ตั้งแต่เกิดเรื่องมา ไม่ว่าจะเป็นคนในสมาคมวิชาชีพผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย ที่มีสำนักงานอยู่แถว ต.บางเสาธง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวป้อง "เณรคำ" แต่ในวงการสื่อทั่วไปแล้วรู้ดีว่าสมาคมวิชาชีพผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทยเป็นกลุ่มคนกลุ่มไหน เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่จังหวัดสุรินทร์และอาจารย์กลุ่มเดียวกันนี้ก็ได้ออกมาปกป้องตลอด และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบไม่ใช่เฉพาะ "เณรคำ" เท่านั้น

             ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของนายสุกิจและกลุ่มคนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ "เณรคำ" หลังจากเกิดเรื่อง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำไมนายสุกิจถึงยื่นมือเข้ามาช่วย "เณรคำ"


......................

สำราญ สมพงษ์รายงาน


วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ฤาชำระคัมภีร์ใบลานมาตรฐานสากล จะเป็นยาวิเศษแก้วิกฤติ'เณรคำ'

               กระแสข่าวดัง "เณรคำ" ขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ทำให้มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมจนกระทั้งคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษมี มติให้สึกในข้อหาปาราชิกข้อเสพเมถุนขาดจากความเป็นพระ ขณะเดียวกันก็ถูกดีเอสไอ ป.ป.ส. ปปง.ไล่ล่าตัวมาดำเนินคดีในข้อหาหนัก 3 ข้อหาทั้งหลอกลวง ฟอกทรัพย์ และพรากผู้เยาว์  นี้่ก็ผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้วก็ยังไม่รู้ว่า "เณรคำ" หลบลี้อยู่ที่ใดแน่

              จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบกับชาวพุทธที่มีศรัทธาแบบอนิจจังอยู่ไม่น้อย พร้อมกับมีกระแสกดดันให้คณะสงฆ์วางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่น นี้อีก อย่างเช่นล่าสุดสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง "บทบาทของพระสงฆ์ต่อสังคมและประเทศชาติ" ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ของสถาบันพระสงฆ์ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ต่อที่ประชุม ครม. ในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา รม.ซึ่งก็มีมติเพียงรับทราบเท่านั้น

              โดยข้อเสนอที่น่าสนคือข้อเสนอที่ สป. เสนอในเรื่องของการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพื่อให้การส่งเสริมบทบาท ของพระสงฆ์ต่อสังคมและประเทศชาติบรรลุผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลควรดำเนินการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาควบคู่กันไปด้วย คือ

              1. สนับสนุนให้มีการบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" 2. ให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง 3. จัดทำแผนทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคง มีบทบาทในการพัฒนาคนสังคมและประเทศชาติ

               4. มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดร่วมกับเจ้าคณะจังหวัด จัดทำทำเนียบเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสังคมของแต่ละจังหวัด โดยคัดเลือกพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีผลงานในการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน ในการทำประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ เป็นสมาชิกเครือข่ายพระสงฆ์เพื่อสังคมโดยให้มีงบประมาณที่เหมาะสมเพียงพอ

              5. ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของสมัชชาชาวพุทธแห่งชาติและสมัชชาชาวพุทธ ประจำจังหวัด โดยมีกฎหมายรองรับสถานภาพเพื่อให้มีความเข้มแข็ง จัดให้มีงบประมาณและบุคลากรอย่างเหมาะสมเพียงพอ

              อย่างไรก็ตามก็ยังมีเสียงจากนักวิชาการและประชาชนทั่วไปได้เสนอให้มีการทำ สังคยานาทั้งหลักธรรมคำสอนหรือที่เรียกว่าชำระพระไตรปิฎกและบุคลากรในพระ พุทธศาสนาเป็นการเร่งด่วน      

              ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมซึ่งเป็นหน่วยงานสูงในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ได้ดำเนินการ อะไรที่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ได้เห็นภาพของนักวิชาการพุทธศาสนาทั้งพระและฆราวาสได้ออกมาแสดงความเห็น และจัดกิจกรรมเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตาม หน้าที่แก้วิกฤติดังกล่าว

              อย่างเช่นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2556 บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ร่วมกับโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา(นานาชาติ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย(มมร.) จัดประชุมวิชาการทางพระพุทธศาสนาเรื่อง "วิธีตรวจชำระคัมภีร์ใบลานให้ได้มาตรฐานสากล" ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว ปิ่นเกล้า ได้มีคณาจารย์และนิสิตบัณฑิตวิทยาลัยทั้ง 3 สถาบันและประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมประมาณ 100 รูป/คน

              ภายในงานได้มีนักวิชาการเสนอผลงานและวิจัยด้านนี้ได้อย่างเช่นนายปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธนันท์ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา(นานาชาติ) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการได้บรรยายเรื่อง"กำเนิดและวิวัฒนาการของทฤษฎีการ ตรวจชำระแบบสากลในยุโรป" แม่ชีวิมุตติยา (รศ.ดร.สุภาพรรณ ณ บางช้าง) โครงการหอพระไตรปิฎกศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายเรื่อง "การจัดเตรียมต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

              ดร.อเลกซานเดอร์ วิน ที่ปรึกษาโครงการชำระพระไตรปิฏกวัดธรรมกาย บรรยายเรื่อง"การตรวจชำระพระไตรปิฏกของวัดธรรมกาย" นายจี.เอ.โสมรัตเน บรรยายเรื่อง"การตรวจชำระคัมภีร์สังยุตตนิกายของสมาคมบาลีปกรณ์" นายศานติ ภักดีคำ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรบรรยายเรื่อง"การตรวจชำระคัมภีร์ใบลานในประเทศไทย" และนายชานป์วิชช์ ทัดแก้ว อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยาเรื่อง"ในการตรวจชำระคัมภีร์ใบลานฝ่ายสันสกฤต"

              ทั้งนี้นายปฐมพงษ์ กล่าวว่า  ประเทศไทยมีคัมภีร์ใบลานซึ่งเก็บรักษาไว้แต่โบราณเป็นจำนวนมาก มีกระจัดกระจายอยู่ในหอสมุดใหญ่ๆ เช่น หอสมุดแห่งชาติและวัดต่างๆ คัมภีร์ใบลานเหล่านี้คือที่มาของพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์วิเสสต่าง ๆ ที่ชาวไทยตรวจชำระก่อนจัดพิมพ์ ในปัจจุบันแม้จะมีหลายๆองค์องค์กรที่รับผิดชอบในการตรวจชำระคัมภีร์ใบลาน แล้วจัดพิมพ์ แต่ขั้นตอนการตรวจชำระยังไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้ขาดการยอมรับในระดับนานาชาติ ดังนั้น แม่จะจัดพิมพ์มามากมายเพียงใดความเชื่อถือในสายตานักวิชาการสากลก็ยังต่ำ อยู่

              "ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางวิชาการที่สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนสังคม ในฐานะเป็นปัญญาของแผ่นดิน หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาพุทธศาสนศึกษา(นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล ประสงค์จะให้ความรู้แก่ประชาชนในวงกว้างถึงประวัติความเป็นมาของทฤษฎีตรวจ ชำระแบบสากลตลอดจนขั้นตอนของการตรวจชำระให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้รับทราบ ซึ่งจะได้ใช้เป็นแนวทางในการนำไปตรวจชำระต่อไป

              ทางด้านพระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร  ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการตรวจชำระประไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆเรื่อยมา ซึ่งก็ทำแบบไทยๆและต่างคนต่างทำ ซึ่งไม่ได้ทำเป็นแบบสากลจึงขาดการยอมรับ มาครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงานได้มาจับมือร่วมกันแบบเป็นเจ้าภาพร่วมกัไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงาน หนึ่งเป็นพระเอกแต่เพียงผู้เดียวแต่เป็นพระเอกด้วยกันทั้งหมด จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี

              "อาตมาคิดว่างานวิชาการบริสุทธิ์มีแต่มิตรภาพเท่านั้น ไม่ควรมีอคติต่อกัน และไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะผิดไปจากหลักการทางพระพุทธศาสนา เพราะว่ามีหลักฐานอ้างอิงอยู่แล้ว" คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร กล่าว

              ขณะเดียวกันบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย ยังได้จัดโครงการพระไตรปิฎกสัญจร นำโดย ผศ.รังษี สุทนต์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย และผู้อำนวยการโครงการพระไตรปิฎกศึกษาประกาศนียบัตรบัณฑิต และนิสิตระดับประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาพระไตรปิฎกศึกษา และระดับปริญญาโททั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์สาขาพระพุทธศาสนาสัญจรไปตามพื้นที่ ต่างๆเพื่อให้ความรู้กับประชาชน

              จึงถือได้ว่าภาคนักวิชาการพุทธศาสนาได้เริ่มก้าวแรกแล้ว ที่จะทำให้ผ่านกระแสวิกฤติเณรคำไปให้ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของอนัตตาไม่ใช่อัตตา หรือไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือใบลานเปล่าเท่านั้น แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงในเหตุการณ์ปัจจุบันได้ด้วย

......................

สำราญ สมพงษ์รายงาน

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"

โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...