วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

'พระอุบาลี'หนังสือการ์ตูนแผ่ธรรมเทียบชั้น'พระถังซัมจั๋ง'

              "พระถังซัมจั๋ง" คนไทยคงรู้จักดีเนื่องจากเป็นพระจีนที่เดินทางด้วยความลำบากฟันฝ่าอุปสรรคนานาเพื่อไปคัดลอกพระไตรปิฏกที่ประเทศอินเดียแล้วนำไปเผยแพร่ที่ประเทศจีน เนื่องจากมีการนำประวัติของท่านไปสร้างเป็นละคร ภาพยนต์และหนังสือมากมาย โดยมีตัวละครที่ดึงดูดความสนใจเช่น หงอคง ตือโป๊ยก่าย

              แต่หากจะพูดถึง "พระอุบาลี" แล้วคนไทยก็คงจะงงๆอยู่ว่าเป็นใครเป็นพระอินเดียหรือเปล่า ทั้งๆที่พระอุบาลีเป็นพระไทยที่เดินทางไปสืบสานพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ช่วงที่พระพุทธศาสนาใกล้จะสูญสิ้นจากแผ่นดินศรีลังกา ตามที่พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกาได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระและคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนา เมื่อปีพ.ศ.2296 ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศศรีลังกาจนทุกวันนี้ และพระที่นั้นถือว่าเป็นพระสยามนิกาย นับจาก พ.ศ.2296 มาถึงทุกวันนี้ก็ผ่านไป 260 ปีแล้ว

              เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของ "พระอุบาลี" ให้คนไทยได้ทราบและง่าย ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) จึงได้จัดทำหนังสือ"พระอุบาลีเพชรเม็ดงามของสยามวงศ์" ฉบับการ์ตูนขึ้น โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส หัวหน้าโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา และผอ.สถาบันภาษา มจร เป็นบรรณาธิการ

              ทั้งนี้พระมหาหรรษาได้ระบุถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก Hansa Dhammahaso  ความว่า ในปี พ.ศ. 2296 พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์ กษัตริย์ลังกา ได้ส่งราชทูตมาขอพระมหาเถระ และคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งเสื่อมโทรมลงไป สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมหัวโกศ จึงโปรดให้ส่งพระอุบาลี พร้อมคณะสงฆ์เป็นสมณทูตไปลังกา เพื่อประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทให้แก่ชาวลังกา โดยมีสามเณรสรณังกรเป็นพระภิกษุรูปแรกภายใต้การทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอุบาลีและคณะสงฆ์คณะนี้ จึงได้ตั้งนิกายสยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ขึ้นในลังกา จนทำให้พระพุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้

              “พระอุบาลีมหาเถระ” เป็นต้นแบบของพระธรรมทูตรุ่นแรกในสังคมไทยที่เดินทางไปทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป อีกทั้ง เป็นสมณทูตที่ทำหน้าที่ในการนำพระพุทธศาสนามาเป็นสะพานเชื่อมประสานพุทธศาสนิกชนของสองประเทศเข้าด้วยกัน สอดรับกับแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงให้หลักการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาว่า “เธอทั้งหลาย จงเที่ยวไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข และเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก”

              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคม จึงได้จัดพิมพ์หนังสือประวัติพระอุบาลีฉบับการ์ตูน เรื่อง “พระอุบาลี: เพชรเม็ดงามแห่งสยามวงศ์” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการประดิษฐานนิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา ทั้งนี้ คณะกรรมการทำงานปรับปรุงและพิมพ์หนังสือประวัติพระอุบาลีฉบับการ์ตูน มีวิริยะอุตสาหะดำเนินการจัดทำต้นฉบับโดยใช้เวลากว่า 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ เพื่อแจกเป็นธรรมทานและเชิดชูเกียรติพระอุบาลี เชื่อมั่นว่า หนังสือประวัติพระอุบาลีเถระฉบับการ์ตูนจะก่อให้เกิดคุณค่าต่อการประกาศกิตติคุณของท่านในฐานะเป็นพระธรรมทูต และเป็นแนวทางในการศึกษาเรียนรู้ประวัติและพัฒนาการพระพุทธศาสนาระหว่างประเทศไทยกับประเทศศรีลังกาสืบต่อไป

              พร้อมกันนี้พระมหาหรรษายังได้เปรียบเทียบระหว่างพระอุบาลีกับพระถังซัมจั๋งว่า มีจุดเน้นต่างกัน แต่งานของพระอุบาลียิ่งใหญ่มาก ไปฟื้นฟูพระพุทธศานาที่กำลังจะหายไปจากประเทศศรีลังกา ระหว่างเดินทางด้วยเรือเกือบมรณภาพต้องเสียสละทั้งชีวิตเพื่อรักษาพระพุทธศาสนา  เจอพายุร้าย มีคนตายไปหลายคน รวมถึงทูตไทยก็ตายด้วย  บางคนไปตายที่ประเทศศรีลังกาก็มี จึงถือว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่คนไทยไม่รู้จักพระอุบาลีแต่รู้จักพระถังซัมจั๋ง ทั้งๆที่พระถังซัมจั๋งยังได้กลับประเทศจีน แต่พระอุบาลีไม่ได้กลับประเทศไทยเลย มรณภาพที่ประเทศศรีลังกา

              และหนังสือพระอุบาลีภาคภาษาอังกฤษจะได้นำไปแจกให้กับผู้ร่วมงานสัมมนาการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก และพิธีเฉลิมฉลอง  ณ สถาบันพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา ( Sri Lanka International Buddhist Academy :  SIBA)  เมืองแคนดี้  ประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคมนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 260 ปีของการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ที่ มจร สถาบันพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา ( Sri Lanka International Buddhist Academy : SIBA) วัดพระเขี้ยวแก้ว ศรีลังกา คณะสงฆ์ศรีลังกาฝ่ายมัลลวัตตาและฝ่ายอัสสคีรี และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ร่วมกันจัดขึ้นโดยสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทางเว็บไซต์หลัก มจร http://www.mcu.ac.th ตั้งแต่เวลา 08.50น.ของวันที่  20 สิงหาคมเป็นต้นไป

.............................

สำราญ สมพงษ์รายงาน 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรยรุ่ง

1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข" นักเขียนผู้มากประส...