วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

นโยบายคืนถิ่นพ่นพิษทอดผ้าป่าแก้'ครูขาด'

            โรงเรียนได้ประชุมคณะกรรมบริหารสถานศึกษาพื้นฐานโรงเรียนบ้านรังงาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดหาทุนเพื่อจ้างครูอัตราจ้างจำนวน 3 อัตรา โดยจ้างอัตราละ 7,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นภาระที่โรงเรียนต้องหาทุนเพื่อดำเนินการจ้างครูอัตราจ้าง มาทำการสอนเป็นการชั่วคราวรายเดือนก่อนที่้จะได้ครูมาบรรจุหรือย้ายมาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียน โดยมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 21,000 บาท คณะกรรมการสถานศึกษาฯจึงเห็นสมควรจัดทอดผ้าป่ามาดำเนินการจ้างครูมาดำเนินการให้ครบชั้นเรียน อันจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาการศึกษาของบุตรหลาน

              ดังนั้นโรงเรียนบ้านรังงามจึงใครขอเรียนเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ่าป่าเพื่อหาทุนดังกล่าวมาดำเนินการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์(เด็กนักเรียนที่ขาดโอกาส) ให้ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ โดยมีครูสอนครบชั้นเหมือนโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วไป อันจะส่งผลให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาให้นักเรียนมีคุณภาพตรงตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรสืบต่อไป

              ข้อความดังกล่าวเป็นฎีกาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทำบุญทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา โดยจัดพิธีทอดเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2556 ที่ผ่าน มีพระครูนิกรธรรมวงศ์ เจ้าอาวาสวัดสหชาติประชาธรรม  เจ้าคณะตำบลทุ่งทอง อ.หนองบัว พระสมุห์ถวิล ฐิตจิตโต เจ้าอาวาสวัดรังงามปทุมรักษ์ ต.ทุ่งทอง เป็นต้น เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายบรรพชิต นายมะยม แย้มกุล นายกอบต.ทุ่งทอง นายประเสริฐ จรูญจิตรรวีร์ ผอ.โรงเรียนบ้านคลองกำลัง เป็นต้นเป็นคณะกรรมที่ปรึกษาฝ่ายฆราวาส โดยมีศิษย์เก่าร่วมเป็นกรรมการจำนวนมาก  โดยมียอดเงินบริจาคทั้งสิ้นกว่า 3 แสนบาท

              นายประเสริฐ กล่าวปราศรัยภายในงานว่า ตนเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้เมื่อปี 2526 การมาร่วมทอดผ้าป่าครั้งนี้ก็เหมือนเป็นการคืนถิ่นเก่า ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากมีการย้ายคืนถิ่นแล้วไม่มีการย้ายครูเข้ามาทดแทน ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่อำเภอหนองบัวประสบปัญหาลักษณ์เดียวกันนี้หลายแห่ง แม้นว่าจะเสนอขอไปทาง สพฐ.ตั้งแต่ที่เกิดปัญหาก็ยังไม่มีครูย้ายเข้ามาทดแทน

              นายสุกิจ ตะบุตร ผอ.โรงเรียนบ้านหนองดู่ อ.หนองบัว กล่าวว่า ตนนั้นเคยเป็นอดีตผอ.โรงเรียนแห่งนี้ เพิ่งย้ายไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา สมัยที่ตนเป็นผอ.มีครู 5 คน  เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2555  มีครูย้ายออก 2 คน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการย้ายเข้ามาทดแทน ครูที่เหลืออยู่ก็ทำการสอนคนละ 2 ชั้น ตนเองก็ทำหน้าที่ทั้งสอนและการบริหารไปด้วย แม้นว่าจะมีนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆได้เสนอตัวเข้ามาช่วยโดยทำเป็นลักษณะออกค่าย แต่ทางโรงเรียนต้องจ่ายเงินค่าดำเนินการมากพอสมควรจึงไม่สามารถรับการช่วยเหลือวิธีนี้ได้

              นายมะยม กล่าวว่า หากปล่อยปัญหาไว้เช่นนี้ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกหลาน ซึ่งจะโทษใครคงไม่ได้เช่นกันต้องโทษเวรกรรม เห็นรัฐบาลประชาสัมพันธ์ว่าอีก 2 ปีจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แต่ไม่เคยออกมาดูบ้านอกว่ามีปัญหาอะไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จะฝากอนาคตของลูกหลานไว้กับครู 2 เท่านี้แล้วจะเข้าสู่อาเซียนได้อย่างไร เมื่อฝากอนาคตการศึกษาไว้กับครูไม่ได้แล้วคงต้องฝากไว้กับชาวบ้าน

              "ความจริงแล้วผมเคยเสนอเรื่องเพื่อขอรับการถ่ายโอนการจัดการศึกษามาสังกัดองค์การปกครองส่วนถิ่น ที่อบต.ทุ่งทอง เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการแล้วได้รับการคัดค้านจากครู จึงทำให้ไม่ผ่านการเห็นชอบ แต่เมื่อโรงเรียนประสบปัญหาเช่นนี้ ท้องถิ่นจะนิ่งดูดายก็คงไม่ได้" นายกอบต.ทุ่งทองกล่าว

              นายผัน อินทะชิต รักษาการแทนผอ.โรงเรียนบ้านรังงาม กล่าวว่า จากยอดเงินบริจาคดังกล่าวคงจะช่วยจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มทำให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ภายในปีการศึกษานี้ สำหรับตนนั้นก็คงจะไม่ย้ายไปไหนจะอยู่ที่นี้แม้นว่าจะเหลือตนเป็นครูเพียงคนเดียวก็ตาม

              ด้านนายยอด รุ่งศรี ศิษย์เก่า กล่าวว่า เห็นครูลำบากจะนิ่งเฉยคงไม่ได้จึงได้แจ้งให้เพื่อนๆได้ทราบเพื่อได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์ เมื่อมาร่วมงานทอดผ้าป่าครั้งได้เห็นครูก็ดีใจแล้ว

              นี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับสถานการศึกษาในพื้นที่อำเภอหนองบัวในท้องถิ่นห่างไกล เนื่องจากเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้ที่จากพื้นที่ไปนาน กลับมาเยี่ยมญาติจึงทำให้ทราบปัญหา หากนั่งอยู่ห้องแอร์ทำงาน คงก็ไม่ทราบเช่นเดียวกับผู้บริหารในกระทรวง ได้เห็นความสามัคคีของชาวบ้านที่ร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ทอดผ้าป่า คงจะสามารถแก้ป้ญหาเชิงพุทธได้เพียงระยะสั้นๆเท่านั้น แต่ในระยะยาวคงต้องแก้ในระดับนโยบาย ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมีกฎหมายกำกับแต่นักการเมืองเสียผลประโยชน์ไม่สนับสนุนจึงเกิดปัญหาอย่างที่เห็น
ทอดผ้าป่าเพื่อการศึกษา "ศิษย์เก่าพัฒนาบ้านเกิด" จัดหาทุนจ้างครูอัตราจ้าง ณ โรงเรียนบ้านรังงาม หมู่ 7 ต.ทุ่งทอง อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวอำเภอนองบัว 20 กิโลเมตร การสัญจรไปมาลำบาก  ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ชั้้นอนุบาล 1 - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2556 มีนักเรียนทั้งสิ้น 90 คน ราชการครูปฏิบัติหน้าที่สอน 2 คน ทำให้มีครูสอนไม่ครบชั้นเป็นปัญหาต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ซึ่งผลจากโครงการย้ายครูคืนถิ่นตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ




สำราญ สมพงษ์รายงาน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรยรุ่ง

1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข" นักเขียนผู้มากประส...