วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้จัดงานเสวนาวิชาการระดมสมองเพื่อเตรียมหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาที่เหมาะแก่ภูมิภาคอาเซียน โดยมีนักศึกษาและครูอาจารย์ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าร่วมฟังราว 300 รูป/คน
โจทย์ใหญ่ซึ่งเป็นประเด็นในการจัดเสวนาก็คือการจัดหลักสูตรต้องเหมาะสมแก่ภูมิภาคอาเซียนและสามารถแข่งขันกับเวทีระดับนานาชาติในยุโรปได้ โดยในภาคเช้า วิทยากรที่ได้รับเชิญให้มาแสดงวิสัยทัศน์ในการแสดงปาฐกถานำการเสวนาคือผศ.ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ซึ่งเข้าใจหลักสูตรการศึกษาของสงฆ์ในประเทศไทยและการจัดหลักสุตรพุทธศาสนศึกษาในต่างประเทศเป็นอย่างดี
เพราะในอดีตนั้น นายปฐมพงษ์เคยสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคขณะเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 20 ปี เป็นอดีตนาคหลวงวัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากลาสิกขาบทแล้ว ยังได้ทุนสนับสนุนจากเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งประทานผ่านมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ไปศึกษายังต่างประเทศจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากสถาบันตะวันออก มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยในระหว่างศึกษานายปฐมพงษ์ยังได้ทุนไปทำวิจัยเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยปารีสในฝรั่งเศสและมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในสหรัฐอเมริกาด้วย ปัจจุบันนายปฐมพงษ์เป็นประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาพุทธศาสนศึกษา นานาชาติ สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล
นายปฐมพงษ์เริ่มบรรยายโดยอธิบายว่า การจัดหลักสูตรเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนามี 2 ประเภท กล่าวคือ "ปริยัติศึกษา" หรือ "ปริยัติธรรมศึกษา" และ "พุทธศาสนศึกษา" อย่างแรกนั้น เน้นจัดเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของเถรวาทแบบไทยๆ พระสงฆ์จึงต้องเรียนบาลีให้แตกฉานเพื่ออธิบายพระไตรปิฎกแก่ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธเถรวาท
อีกประการหนึ่งคือพุทธศาสนศึกษา ซึ่งหมายถึงการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในทุกๆ ด้าน ทุกๆ คัมภีร์ในทุกๆ ภาษา แปลว่าผู้ศึกษาจะเน้นคัมภีร์พระพุทธศาสนา ภาษาบาลี สันสกฤต ปรากฤตอื่นๆ ทิเบตและภาษาจีนใดๆ ที่ถนัดก็ได้ นอกจากนั้น การศึกษาอาจจะใช้หลักวิชาหลายๆ อย่างมาประกอบด้วย เช่น หลักวิชาทางประวัติศาสตร์, ทางภูมิศาสตร์, ศิลปะ, โบราณคดี, มานุษยวิทยา, ภาษาศาสตร์ ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจพระพุทธศาสนาดีขึ้น หลักวิชาเหล่านี้สามารถนำมาใช้ศึกษาพระพุทธศาสนาได้หมดเมื่อต้องการจะรู้จักพระพุทธศาสนาในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง เพราะคำว่า "พุทธศาสนศึกษา" นั้นกว้างขวางกว่า "ปริยัติธรรมศึกษา"มาก
"ถ้าจะจัดหลักสูตร เบื้องแรกต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่าจะเน้นปริยัติธรรมศึกษาหรือพุทธศาสนศึกษา หลังจากตั้งเป้าประสงค์ให้ชัดเจนแล้วค่อยกำหนดคุณสมบัติครูอาจารย์ โดยปรกติถ้าเป็นวัดหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อาจเน้นปริยัติธรรมศึกษาก็แล้วแต่ท่าน อย่างเมื่อเร็วๆนี้ มีมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่งจัดก็ดูเหมือนจะเน้นไปทางปริยัติธรรมศึกษา แต่มหาวิทยาลัยฆราวาสอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาหรือที่อื่นๆ สมควรไปเน้นพุทธศาสนศึกษา นอกจากเป้าหมายแล้ว ยังต้องมาสร้างครูอาจารย์และห้องสมุดให้เหมาะแก่การค้นคว้าวิจัยด้วย" นายปฐมพงษ์กล่าว
นายปฐมพงษ์อธิบายต่อไปว่า ตลาดภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเห็นผู้คนพูดถึงการเคลื่อนไหวของทางเศรษฐกิจ พูดถึงการใช้ตลาดร่วม พูดถึงการเคลื่อนย้ายไปมาของปัจจัยการผลิต ทุนและแรงงานอย่างสะดวกเมื่อเป็นตลาดเดียว แต่แทบไม่มีใครเน้นถึงการจัดหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาที่เน้นความเป็นเลิศ พอจะนำอาเซียนได้ในประเทศไทยนัก แม้ว่าขณะนี้มีหลายประเทศกำลังเร่งสร้างศูนย์หรือสถาบันพุทธศาสนศึกษาที่เน้นมาตรฐานระดับนานาชาติเป็นการใหญ่ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์หรือศรีลังกา เมื่อมีประชาคมอาเซียนขึ้นมา ผู้คนจะใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เมื่อคนรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้นก็มีช่องทางที่จะไปเลือกเรียนในประเทศที่คิดว่าหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาเข้มแข็งที่สุดเพื่อให้ตนเองมีคุณภาพที่สุด ดังนั้น เมื่อประเทศอาเซียนรวมตัวกันขึ้นมา ก็จะมีทั้งโอกาสที่จะเจริญเติบโตได้เปรียบกว่าที่อืนๆ หากรู้จักเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ หรือมีความความเสี่ยงที่จะตกกระป๋อง ตายอย่างเขียดหรือนิ่งอยู่กับที่หากมองโจทย์ไม่ละเอียดพอ
นายปฐมพงษ์บอกว่าไม่เพียงแต่ประเทศประชาคมอาเซียนเท่านั้นที่จะเป็นคู่แข่งของหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาในประเทศไทย ทุกวันนี้ ประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ พากันแข่งขันเปิดศูนย์พุทธศาสนศึกษาหรือหลักสูตรพุทธศาสนศึกษาแล้วก็นำคัมภีร์ใบลานจากประเทศแถบเอเชียไปศึกษากันเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ ประเทศอังกฤษ เยอรมนี อเมริกา ฝรั่งเศส ฯลฯ ได้ทำวิจัยทางพระพุทธศาสนาล้ำหน้าประเทศไทยไปมากแล้ว ห้องสมุดก็ดีกว่า แม้ว่าคนไทยจะมีนักวิชาการพระพุทธศาสนามาก แต่น้อยคนจะตีพิมพ์ผลงานในระดับวารสารนานาชาติ นักเรียนทุนจึงมักไปเรียนต่างประเทศหากต้องการจะแตกฉานในพระพุทธศาสนา
"ถามว่าทำไมยุโรปถึงหันมาเจาะศึกษาพระพุทธศาสนา? มีเหตุผลอยู่ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง พระพุทธศาสนามีเหตุผล และไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ ปัญญาชนนักคิดของยุโรปจำนวนมากมาลองศึกษาพระพุทธศาสนาแล้วเปลี่ยนศาสนาไปเลย เช่น ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์ เขาเป็นข้าหลวงอังกฤษที่ถูกส่งไปยังศรีลังกา เพื่อศึกษาวัฒนธรรมลังกา อันจะสามารถกำหนดนโยบายปกครองลังกาได้อย่างราบรื่น แต่เมื่อไปลังกา ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว เขากลับเปลี่ยนใจ หันมานับถือพระพุทธศาสนา จากนั้น ก็นำคัมภีร์ใบบานของพระพุทธศาสนาไปตรวจชำระและแปล ก่อตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนมีชาวอังกฤษเปลี่ยนมาเป็นพุทธมามกะเพิ่มมากขึ้นจนทุกวันนี้" อาจารย์ม.มหิดล กล่าวและว่า
อย่างที่สอง สังคมยุโรปเคยมีความขัดแย้งระหว่างศาสนจักรกับวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรง จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลอิ กาลิเลโอ ต้องถูกคุมขังและกรอกยาพิษจนตายในคุกมาแล้ว ชาวยุโรป โดยเฉพาะปัญญาชนที่มีเหตุผลจึงพากันรังเกียจศาสนจักร ต่อมาเมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิชาการระดับแนวหน้าของยุโรป เช่น ไอแซก นิวตัน, วอลแตร์, จอห์น ล็อค, บารุค สปิโนซ่า, ปีแอร์ แบร์เลอร์ จึงกำหนดให้ยุคสมัยนั้นเป็นยุครู้แจ้ง (Age of Enlightenment) หมายความว่าผู้คนจะหันไปเน้นทางวิทยา ศาสตร์เพื่อการดำรงชีวิตมากกว่าจะยึดติดอยู่กับพระคัมภีร์ใบเบิ้ลซึ่งสอนผิดจากหลักวิทยาศาสตร์
นายปฐมพงษ์อธิบายว่า ผลที่ตามมาก็คือนอกจากจะมีการแยกศาสนจักรออกจากอาณาจักรแล้ว ปัญญาชนยุโรปจำนวนมากเลิกนับถือพระเจ้าว่าเป็นผู้สร้างสากลจักรวาล หันมาเรียกตนเองว่า นักวิมัตินิยม (skeptics) บ้าง นักอัญญาณนิยม (agonistics) บ้าง นักเหตุผลนิยม (rationalists) บ้าง นักวัตถุนิยม (materialists) บ้าง นักอเทวนิยม (atheists) บ้าง พอรู้ว่าพระพุทธศาสนามีเหตุผลและเป็นอเทวนิยมจึงพากันแห่มาศึกษาและนับถือกันเป็นการใหญ่ กระทั่งบัดนี้ หลังจากชาวยุโรปได้พยายามรวบรวมคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ทางพระพุทธศาสนาทุกเล่มเท่าที่จะหาได้ไปเก็บไว้ศึกษา ไม่ว่าจะเขียนไว้ด้วยภาษาบาลี สันสกฤต ปรากฤต ภาษาโขตัน ภาษาทิเบตหรือภาษาจีน
นายปฐมพงษ์กล่าวว่าถ้าพูดถึงปริยัติธรรมศึกษาแล้ว ไทย พม่า ลาว เขมร ฯลฯ อาจมีการจัดหลักสูตรที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละชาติก็ล้วนแต่ต้องการรักษาวัฒนธรรมประเพณีตนเอง แต่เมื่อพูดถึง "พุทธศาสนศึกษา" หรือ Buddhist Studies แล้ว ทุกประเทศจะต้องจัดหลักสูตรและสรรหานักวิชาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคพื้นเอเซีย อาเซียนหรือยุโรป
นายปฐมพงษ์อธิบายเสริมว่าถ้าต้องการจะสร้างภาควิชาหรือศูนย์พุทธศาสนศึกษาให้เข้มแข็งเสียก่อน ยุโรปเน้นสร้างนักวิชาการที่ชำนาญคัมภีร์ที่เรียกว่า Text-based scholars ขึ้นมา เพราะคัมภีร์พระพุทธศาสนามีมาก อีกอย่างพระพุทธเจ้าก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คำสอนพระองค์เหลือแต่อยู่ในรูปคัมภีร์ หากจะบอกว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าต้องอ้างได้บอกได้ว่าอยู่ในคัมภีร์เล่มไหน หลักสูตรพุทธศาสนศึกษาจึงต้องการผู้ชำนาญคัมภีร์ที่อธิบายได้ว่าคำสอนของพระองค์มีพัฒนาไปอย่างไรในแต่ละคัมภีร์ที่แต่งในยุคต่างๆ
นักวิชาการที่เรียกว่า Text-Based Scholar นั้น ถ้าสร้างกันอย่างสมบูรณ์ จะได้นักวิชาการที่มีคุณสมบัติ 5 อย่างในคนๆ เดียว กล่าวคือ 1.สามารถแปลคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ตรวจสอบได้ว่าสำนวนแปลใครดีหรือไม่ดี (translation) 2.สามารถอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฎในคัมภีร์ต่างๆ ที่ตนเองศึกษาได้ (explanation) อย่างละเอียด เช่น ความหมายของนิพพาน, ความหมาายของปฏิจจสมุปบาท เทียบเคียงได้ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ 3.สามารถตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างสมเหตุสมผลเมื่อพบเห็นศัพท์กำกวม (Interpretation) 4.สามารถประยุกต์คำสอน ที่ศึกษาอยู่ในคัมภีร์จนแตกฉานแล้วให้เข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ จิตวิทยา วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ (application) 5.นักวิชาการเหล่านี้สามารถตรวจชำระคัมภีร์ใบลานต่างๆ ที่ค้นพบให้มีคุณภาพได้
นักวิชาการประเภท text-based เหล่านี้เสมือนเป็นเสาหลักในการพัฒนาพุทธศาสนศึกษา ประจำศูนย์หรือภาควิชา เนื่องจากคัมภีร์พระพุทธศาสนามีทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ทิเบต จีนและปรากฤตอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดียภาคเหนือ ดังนั้น ในการพัฒนาพุทธศาสนศึกษาจึงต้องมีนักวิชาการประเภทนี้ ผู้ชำนาญทั้งพระไตรปิฎกบาลี สันสกฤต จีนและทิเบตมาทำงานประสานกันเพื่อขับเคลื่อนความรู้ทางพระพุทธศาสนาในคัมภีร์ต่างๆ ไปสู่มหาชน ในที่สุด จะทำให้มหาชนเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าอันไหนคือพระสัทธรรมแท้ อันไหนคือสัทธรรมปฏิรูปที่พัฒนาขึ้นมาในชั้นหลังหรือได้รับอิทธิพลจากแนวคิดภายนอกพุทธศาสนา
นายปฐมพงษ์กล่าวด้วยว่า ถ้าสังคมไทยมี text-based scholars มากๆ โอกาสจะเกิดสัทธรรมปฏิรูปไม่มี เพราะจะนักวิชาการที่ชำนาญในคัมภีร์กล่าวตอบโต้ได้ทันท่วงที เพราะว่าถ้าหากประเทศไทยมีนักวิชาการประเภท text-based ที่ชำนาญคัมภีร์ต่างๆ มาก นักวิชาการเหล่านี้จะสามารถตอบโต้ได้รวดเร็วว่าอันไหนคือสัทธรรมปฏิรุป อันไหนไม่ใช่ อย่างกรณีวัดพระธรรมกายสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ผมบอกได้เลยว่าถ้ามีใครสักคนไปพูดแบบนี้ในอังกฤษ จะถูกนักวิชาการ text-based ของอังกฤษสับเละเลยครับว่ารู้ไม่จริง
ปัญหาของพุทธศาสนศึกษาในอาเซียนมีหลายประการ นายปฐมพงษ์ยกตัวอย่างเช่น
1.ตำราทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาลุ่มลึกมักจะแต่งโดยฝรั่ง แทบไม่มีคนไทยแต่งเลย ฝรั่งก็มองอย่างฝรั่ง ทำให้มองปัญหาทางพระพุทธศาสนาผิด-ถูกไปตามวัฒนธรรมยุโรป ที่ศัพท์วิชาการเรียกว่า eurocentric perspectives ตนเคยนั่งเถียงกับฝรั่งบ่อยเพราะเข้าใจวัฒนธรรมพุทธผิดก็มี
2.นักวิชาการมีจำนวนมาก แต่มีจำนวนน้อยที่สามารถผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติได้ ในขณะเดียวกัน ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งก็แทบไม่มีผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ทั่วโลกทำอยู่ ดังนั้น จึงมีปัญหาในเรื่องทบทวนผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ละเอียดพอ
3.หลายๆ มหาวิทยาลัยของประเทศไทยขณะนี้ ไม่ sensitive ต่อการพัฒนาพุทธศาสนศึกษา หรือเตรียมคนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน ผู้บริหารหลายคนอาจจะมองเห็นว่าตนไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้ประโยชน์ หรือมิฉะนั้นก็เห็นว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ไม่ทำเงินเข้ามหาวิทยาลัย กลัวว่าบริหารไปแล้วจะขาดทุน ขณะเดียวกัน แม้วัดและองค์กรทางพระพุทธศาสนาหลายแห่งจะมีเงินมหาศาล แต่ไม่ได้ทุ่มงบประมาณไปตอบโจทย์พุทธศาสนศึกษาในแนวยุโรปนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้ องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนาใหม่ๆ จึงก้าวไม่ทันยุโรป แม้ครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาที่พูดภาษาอังกฤษได้ก็มีน้อยมากในประเทศไทย
นายปฐมพงษ์ กล่าวสรุปว่า ขณะที่เรามีคู่แข่งมากมายสมัยนี้อันสืบเนื่องมาจากศูนย์หรือสถาบันที่สอนพุทธศาสนศึกษาได้มาตรฐานเกิดขึ้นมากมาย อาทิที่ Oxford, SOAS, Hamburg, Stanford, Berkeley, Cornell, Chicago ประเทศไทยหรือประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียนขณะนี้จึงยังเสียเปรียบเมื่อมองในเชิงขีดความสามารถหรือศักยภาพในการแข่งขัน (competitive edge) หรือเทียบเคียงภาควิชาพุทธศาสนศึกษาต่อภาควิชากับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในยุโรป (benchmarking)
การเกิดกรณี "สมีคำ" และยืดเยื้อมาเป็นเวลานานเป็นที่กล่าวขานของชาวบ้านไปทั่วเมือง รวมถึงนักการเมืองก็เริ่มตื่นตัวเห็นว่า "ศาสนาทรุดแล้ว" เป็นบทพิสูจน์บทบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลท่านนี้เป็นจริง
.....................
สำราญ สมพงษ์รายงาน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
แนะนำหนังสือนิยาย: พิราบโรยรุ่ง
1. คำนำ บทบรรยายเปิดเรื่องเล่าถึงสถานการณ์สื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน บทนำที่ให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครหลัก "สันติสุข" นักเขียนผู้มากประส...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น