หลังจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ออกมาเตือนประชาชน ห้ามโพสต์ กดไลค์ หรือส่งต่อข้อความที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะจะถือว่าเป็นผู้กระทำผิดร่วม ทำให้มีเสียงวิพากวิจารณ์หนาหู
แถมล่าสุดยังเตรียมตรวจสอบการสนทนาผ่านโปรแกรมแชทยอดนิยม "ไลน์" ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ใช้กว่า 15 ล้านคน โดยให้เหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสังคมออนไลน์เป็นอย่างมาก
ต้องยอมรับกันว่า ไอที นั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญทุกภาคส่วนของสังคมรวมไปถึงสังคมสงฆ์ด้วย ส่วนการนำไปใช้จะมีค่ามากหรือน้อยและมีคุณหรือโทษอย่างไรนั้นคงขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้ใช้
เมื่อ "ไลน์" เข้ามาบทบาท สังคมสงฆ์ก็คงมองเห็นประโยชน์ว่าจะนำไปใช้ในการเผยแพร่ธรรมได้อย่างไร อย่างเช่น เจ้าอาวาสที่ใช้เทคโนโลยีสอนธรรมคือพระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ สมาหิโต) หรือหลวงพ่อเศรษฐี เจ้าอาวาสวัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กทม. ปัจจุบันได้ใช้แอพพลิเคชั่น "ไลน์" ผ่านสมาร์ทโฟนในการสอนธรรม ทั้งๆที่อายุ 70 ปีแล้ว
แต่เนื่องจากหลวงพ่อมีประสบการณ์เผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น อินเดียศรีลังกา จีน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ เป็นที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในต่างแดน หัวหน้าพระธรรมทูตประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา และได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
พระครูวรกิตติโสภณ ได้กล่าวว่า ได้ใช้เทคโนโลยีมานานแล้วตั้งแต่แชทและมาถึงไลน์เนื่องจากอาตมามีลูกศิษย์ที่เป็นชาวต่างประเทศต่างศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้สะดวกในการแนะนำธรรมได้ทันกาลและง่าย
เมื่อปอท.ประกาศออกมาเช่นนี้ย่อมสร้างความหวั่นวิตกให้กับสังคมสงฆ์ไม่มากก็น้อย ดังนั้น บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ภายใต้การนำของพระสุธีธรรมานุวัตร หรือเจ้าคุณเทียบ คณบดี ได้เล็งเห็นคุณและโทษของไอทีเพื่อไปการสร้างภูมิคุ้มกันภูมิรู้ให้กับนิสิตนักศึกษา และได้ให้คติธรรมเสมอผ่านทางเฟซบุ๊กนาม PhraSuthithammanuwat Thiab จึงได้เชิญ ดร.ขยัน จันทรสถาพร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายวิชาการ เรื่อง "พระพุทธศาสนากับเทคโนโลยีการสื่อสารยุคดิจิตอลไร้พรมแดน" เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา
ดร.ขยันได้ให้ความรู้ถึงความเป็นมาของเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่มีระบบอินเตอร์เน็ตจนกระทั้งเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟน โดยเริ่มตั้งแต่ภาพรวมระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่อระบบเครือข่ายโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์อันเป็นช่องทางเข้าสู่อินเตอร์เน็ต โปรแกรมบนอินเตอร์เน็ตในแพลตฟอร์มต่างๆ ผลกระทบของการใช้อินเตอร์เน็ตต่อสังคม และหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมอันเกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ดร.ขยันมองว่า Web-Social Media-Chat แม้นจะมีผลในทางบวกคือสะดวกในการเผยแพร่ข้อมูล สะดวกในการติดต่อรับทราบความเป็นไปกับครอบครัวญาติมิตร สะดวกในการรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สะดวกในการรับฟังความเห็นจากผู้อื่น
สะดวกในการบันทึกความเห็นและข้อมูล
ขณะเดียวกันก็มีผลในเชิงลบคือ ทำให้สถานที่อโคจร 24 ชั่วโมง เกิดปัญหาชู้สาว เกิดปัญหาการรับฟังข้อมูลไม่รอบด้าน แต่วิจารณ์ทันที เกิดปัญหาการใช้คำหยาบคาย ดูแคลน เกิดปัญหาการจงใจบิดเบือนข้อมูลหรือใช้ข้อมูลเท็จ เกิดปัญหาการใช้เวลาไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้ดร.ขยันได้ยกหลักธรรมพื้นฐานในพระพุทธศาสนา อันช่วยบรรเทาปัญหาอันเกิดจากผลกระทบของอินเตอร์เน็ต เบญจศีล ช่วยลดข้อมูลเท็จ การใช้คำหยาบ อคติ 4 ช่วยลดการบิดเบือนข้อมูลทั้งทางบวกและลบ พรหมวิหาร 4 ช่วยลดการริษยาอาฆาต โลกบาลธรรม ช่วยลดการจงใจทำผิด ลดการเข้าไปในที่อโคจรในอินเตอร์เน็ต กาลามสูตร 10 ช่วยลดการเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้กลั่นกลอง อบายมุข 6 ช่วยลดการใช้เวลาที่ไม่คุ้มค่า
พร้อมกันนี้ได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตกับพระพุทธศาสนา สำหรับพระภิกษุสามารถเผยแพร่ธรรมตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนฆราวาสได้เพิ่มโอกาสสนทนาธรรมกับพระภิกษุและผู้ทรงศีล (มงคลสูตร) เพิ่มโอกาสดูหรือฟังธรรมจากพระภิกษุ (คลิปวิดีโอและคลิปเสียง) เพิ่มโอกาสในการทำบุญกุศล (บริจาคออนไลน์) ทั้งพระภิกษุและฆราวาสสามารถเพิ่มโอกาสศึกษาค้นหาหลักธรรมได้โดยสะดวก (พระไตรปิฎกออนไลน์, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฯ) เพิ่มโอกาสในการรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมที่เป็นกุศล
ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์และสถานการศึกษาของคณะสงฆ์ว่าจะสร้างบุคลากรให้รู้คุณและโทษของไอทีแล้วนำไปใช้เผยแพร่ธรรมให้ทรงคุณค่าอย่างไร
.........................
สำราญ สมพงษ์รายงาน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"ดร.มหานิยม" ร่วมพิธีพุทธาภิเษกที่วัดอาวุธ "สมเด็จธงชัย" ประธาน เข้ากราบ "หลวงปู่ศิลา" เพื่อความเป็นสิริมงคล
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล) ออกปฏิบัติหน้าที่ด้านพระพุทธศาสน...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น