วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หลบการเมืองร้อนร่วมงานบุญแห่พระบาง


ไหว้พระธาตุพูสีที่พระธาตุ
ประทุมมาศบัวทองพนมสถาน
หนเหนือขุนน้ำคือลำคาน
พู้นย่านบรรพชนพิชัยเมือง

หนออกหันสู่ภูซวง
ภูแมนแดนสรวงสถิตเนื่อง
ผานม ผาบัง ประนังเนือง
อร่ามเรือง ลาดภู แผ่นดินงาม


หนใต้ไล้ลู่ด้วยลำโขง
ข้ามโค้งลำของบ่เคยขาม
เลี้ยงย่านเลี้ยงยุคอยู่ทุกยาม
เรืองรามขุนลอผู้หล่อแดน

หนตก กราบพระ หลวงพระบาง
โขงคว้าง ถั่งหล้า พญาแถน
ปู่เญอ ย่าเญอ ยังคงแคว้น
ใจเมือง ใจแมน ใจแผ่นดิน..

              กลอนเรื่อง "หลวงพระบาง" ของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ กวีรัตนโกสินทร์นี้ อาจารย์ตั้งใจแต่งเพื่อเป็นการเชิญชวนผู้สนใจที่จะเดินทางไปร่วมงานบุญแห่พระบาง ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาวระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคมนี้

              ดังนั้นใครถวิลหาลมหนาว หลบเรื่องการเมืองร้อนไปค้นหาความง่ายงามของภาษาเพื่อนบ้านอย่างลาว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลงานบุญใหญ่ในเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง ซึ่งทางการแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ประกาศกำหนดการรัฐพิธีเฉลิมฉลองการอัญเชิญพระพุทธรูป "พระบาง"  ไปประดิษฐานยังหอพระบาง เป็นเวลา 3 วัน ดังนี้ วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2556  เวลา 08.00 น. เคลื่อนขบวนแห่พระพุทธรูป "พระบาง" ไปรอบเมืองหลวงพระบาง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

              ช่วงค่ำตั้งแต่เวลา 18.00 น. มีการแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมฉลอง การอัญเชิญพระพุทธรูป "พระบาง" อาทิ การขับทุ้มหลวงพระบาง ฟ้อนนางแก้ว ฯลฯ วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2556  เวลา 08.00 น. เคลื่อนขบวนแห่กองบุญผ้าป่าถวายพระบาง ให้พุทธศาสนิกชนรวมอนุโมทนาบุญ  ช่วงค่ำ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. มีการแสดงทางวัฒนธรรมเฉลิมฉลอง การอัญเชิญพระพุทธรูป "พระบาง" อาทิ การขับทุ้มหลวงพระบาง ฟ้อนนางแก้วฯลฯ วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2556   เวลา 06.00 น. ประเพณีตักบาตรตามธรรมเนียมชาวหลวงพระบาง เวลา 10.00 น. ถวายกองบุญผ้าป่าเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธรูป"พระบาง"  เวลา 11.00 น.ถวายภัตตาหารเพล แล้วเป็นอันเสร็จสิ้นการเฉลิมฉลอง

              ขณะเดียวกัน "ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต" นักค้นคว้าอิสระ รองเลขาธิการมูลนิธิสโมสรมิตรภาพวัฒนธรรมสากล จัดทริปพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ระหว่าง 13-16 ธันวาคม นี้ นอกเหนือจากงานหลักคือ งานฉลองหอและแห่พระบางแล้ว ยังนำชมสถานที่ท่องเที่ยวจ่างๆ ในเมืองหลวง และวังเวียง อีกด้วย วิทยานำชมโดย "ศรัณย์ บุญประเสริฐ" ผู้เชี่ยวชาญด้านอุษาคเนย์ศึกษาและมัคคุเทศท้องถิ่นชาวลาว

              ล่าสุดสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ นำเสนองานเขียนผลงานนักการทูต "เสน่ห์ภาษาลาว" โดย "พิษณุ จันทร์วิทัน" เอกอัครราชทูตไทยประจำ สปป.ลาว นครหลวงเวียงจัน พิมพ์ใหม่ล่าสุดไฉไลกว่าเดิมสี่สีทั้งเล่ม "ฟรี" สำหรับลูกทัวร์ ทริปงานแห่พระบาง หอพระบาง เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ระหว่าง 13-16 ธันวาคม ( 4 วัน 3 คืน)  ทัวร์เริ่มต้นที่หนองคายราคา 7,500 บาท

              ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดี เมืองหลวงพระบางมีความเกี่ยวพันกับมหากาพย์แห่งอุษาคเนย์เรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ทั้งนี้ยังเชื่องโยงกับต้นเรื่องพระเพื่อน พระแพง และพระลอมรณา จากเอกสารประกอบการสัมมนาศูนย์สังคีตศิลป์สัญจร ธนาครกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เรื่อง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง "มหากาพย์แห่งอุษาคเนย์"  ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 บอกเรื่องราวเค้าเรื่องท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ต้นเรื่องพระเพื่อน พระแพง และพระลอมรณา โดยเฉพาะเมืองของพระลอ

              โอกาสนี้  "ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต" ได้คัดย่อดังนี้ "วรรณคดีเรื่องพระลอ" ฉบับที่แพร่หลายทุกวันนี้ มีร่ายเริ่มบอกความเป็นมาของตัวละครสองฝ่าย คือพระลอ กับฝ่ายพระเพื่อน พระแพง ฝ่ายพระลออยู่เมืองแมนสรวง เนื้อร่ายระบุตำแหน่งว่าอยู่ทาง "ทิศตะวันออกหล้า แหล่งไล่สีมา ท่านนา"  หนังสือพระลอไม่ได้บอกว่าเอาอะไรเป็นศูนย์กลาง? จึงไม่รู้ว่าทิศตะวันออก–ทิศตะวันตก ของอะไร? เลยต้องคาดคะเนจากจากตอนพระลอเสี่ยงน้ำข้ามแม่(น้ำ)กาหลง มีร่ายบอกว่า "ถึงแม่กาหลง ปลงช้างชิดติดฝั่ง นั่งสำราญรี่กัน แล้ว ธ ให้ฟันไม้ทำห่วง พ่วงเป็นแพสรรพเสร็จ ธ ก็เสด็จข้ามแม่น้ำแล้วไส้"

              ตรงนี้เป็นพยานให้รู้ว่าเมืองแมนสรวงของพระลออยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกาหลง เมื่อจะต้องไปหาพระเพื่อนพระแพงด้วยแรงมนต์เสน่ห์ จึงต้องต่อแพข้ามแม่น้ำ เพราะเมืองสรวงของพระเพื่อน พระแพงอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกาหลง ปัญหาที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตคิดค้นถกเถียงกันมานานมาก แต่ยังตกลงกันไม่ได้คือ แม่น้ำกาหลงอยู่ที่ไหน? แท้จริงแล้ว น้ำแม่กาหลงก็คือแม่น้ำโขงหรือน้ำแม่ของ มีอยู่ในโคลงกลอนท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ในเล่มศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ น้ำแม่กาหลงในท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นแม่น้ำเดียวกันกับน้ำแม่กาหลงในพระลอ เพราะวรรณคดีสองเรื่องนี้เกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน พูดง่ายๆ ว่าท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นเรื่องตอนต้นของพระลอ

              ส่วนพระลอเป็นเรื่องตอนปลายของท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง ท้าวฮุ่ง ท้าวเจือง เป็นใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำโขง (เรียกแม่กาหลง) ชื่อดินแดน "โยนก"  บริเวณที่ราบลุ่มน้ำกก–อิง ทางเชียงแสน–เชียงราย–พะเยา ได้ขยายอำนาจข้ามน้ำแม่โขงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเขตของแถนกับแมน โดยมีแถนลอเป็นใหญ่ พวกแถนได้ร่วมกันต่อต้านแล้วฆ่าท้าวฮุ่งขาดคอช้างตายในสนามรบ เชื้อสายของท้าวฮุ่งสืบมาถึงพระพิษณุกร ครองเมืองสรวงอยู่ทางตะวันตกของน้ำแม่กาหลง (ในพระลอ) มีลูกสาว 2 คนชื่อ พระเพื่อน พระแพง แถนลอเป็นใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก เรียกเมืองกาหลง บริเวณริมน้ำโขง หรือหลวงพระบาง ทุกวันนี้ เชื้อสายของแถนลอ สืบต่อมาเป็นท้าวแมนสรวง ครองเมืองแมนสรวง อยู่ทางตะวันออกของน้ำแม่กาหลง (ในพระลอ) มีลูกชายชื่อพระลอ ในวรรณคดีเรื่องพระลอได้กล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งยุคท้าวฮุ่งไว้ 2 ครั้ง

              ครั้งแรก เมื่อพระลอถูกเสน่ห์ จะไปหาพระเพื่อนพระแพง นางบุญเหลือผู้เป็นแม่ได้บอกพระลอว่า พวกเราไปฆ่าปู่เขามีโคลงบาทหนึ่ง "เพราะปู่เขาเรารอน ขาดเกล้า"  ครั้งหลัง เมื่อย่าเลี้ยงรู้ว่าพระเพื่อนพระแพงสมสู่กับพระลอก็โกรธแล้วสั่งให้ฆ่าพระลอ เพราะเป็นลูกศัตรู ดังมีร่ายตอนหนึ่งบอกว่า พระลอนี้เป็น "ลูกไพรีใจฉกาจ ฆ่าพระราชบิดา แล้วลอบมาดูถูก ประมาทลูกหลานเรา"  ด้วยเหตุทั้งหมดนี้เอง พระเพื่อน พระแพง และพระลอ ถึงต้องถูกพิฆาตยืนตายพร้อมกันสามคน

              สำหรับทริปนี้ รับจำนวน 35 ที่นั่งเท่านั้น และจะหมดเขตวันที่ 9 ธันวาคมแล้ว ผู้สนใจสามารถแจ้งเข้าร่วมการเดินทางได้ที่ "ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต" โทร. 0851666473  หรือ mahashin19@gmail.com

..............................

: สำราญ สมพงษ์(FB-Samran Sompong)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.เปิดให้ตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เตรียมพร้อมสมัครเลือกสว.

  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567    สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดการประชุมชี้แจงให้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังห...