วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557
'มองลิง3ตัวที่ญี่ปุ่น'เห็นวิธีสร้างสันติภาพสังคมไทย
เมื่อวันที่ 23 มี.ค.นี้ เว็บไซต์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง "สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์เก็บข้อมูลวิจัยด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมในประเทศญี่ปุ่น" โดยพระมหาเสรีชน นริสฺสโร ความว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์- 3 มีนาคม 2557 สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์นำโดยพระมหาสุทิตย์ อาภากโร,ดร. ผู้อำนวยการ พระมหาเสรีชน นริสฺสโร นักวิจัย ผศ.ดร.โกนิฏฐ์ ศรีทอง คณะสังคมศาสตร์ ดร.อธิเทพ ผาทา คณะพุทธศาสตร์ ดร.สมศักดิ์ สายหยุด รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พุทธโสธร และคณะ จำนวน 13 รูป/คน เดินทางไปศึกษาวิจัยด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ณ กรุงโตเกียว-โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้
วันพฤหัสบดีที่ 27 ก.พ. 2557 เดินทางถึงสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยสายการบินเดลด้าแอร์ไลน์ (Delta Air Lines) เที่ยวบินที่ DL 284 เข้าที่พัก จากนั้นเดินทางไปวัดเซ็นโซจิ (Senso-ji) หรือวัดวัดเจ้าแม่กวนอิมแห่งอะซะกุซะ (Asakusa Kannon Temple) ซึ่งเป็นวัดทางศาสนาพุทธมหายานอันเก่าแก่ที่สุดในโตเกียวที่คนไทยและคนญี่ปุ่นนับถือมาก เจ้าแม่กวนอิมเป็นเทพีแห่งความเมตตาปราณี ซึ่งชื่อกวนอิมนี้เป็นชื่อเรียกสั้น ๆ มาจากคำว่า กวนซื่อยิน (Guanshi Yin) อันหมายถึง ผู้สดับเสียงของโลก สำหรับในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะเรียกเจ้าแม่กวนอิมว่า คันนง (Kannon)
วันศุกร์ที่ 28 ก.พ. 2557 เดินทางไปยังวัดโคโตะกุอิน (Kotoku-in) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปใหญ่แห่งคะมะกุระหรือไดบุตสึ (Daibutsu) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สูง 13.35 เมตร หนัก 122 ตัน รวมฐาน ชาวญี่ปุ่นนิยมมาสักการะเพื่อขอบุตร มีรองเท้าฟางของพระใหญ่ไดบุตสึ มีร้านขายของที่ระลึก ที่นี่ยังมีต้นสนที่ราชวงศ์จักรีของไทยทรงปลูกไว้ครั้งเสด็จพระราชดำเนิน ณ วัดโคโตะกุอิน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกในปี ค.ศ. 1902 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงปลูกในปี ค.ศ. 1931 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปลูกในปี ค.ศ. 1987
วันเสาร์ที่ 1 มี.ค. 2557 เดินทางไปยังเมืองนิกโก (Nikko) โดยใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในทิวเขาในจังหวัดโทะจิงิ ประเทศญี่ปุ่น อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางทิศเหนือ ประมาณ 140 กิโลเมตร เที่ยวชมวัดรินโนจิ (Rinnoji) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 766 ใช้เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของวัดเล็กน้อยทั้ง 15 วัดที่อยู่ใกล้ๆ พื้นที่ด้านซ้ายมือเป็นที่ประดิษฐานดวงวิญญาณอิเอะมัตสึ (หลาน) โชกุนในตระกูลโทะกุงะวะรุ่นที่ 3 ชมศาลเจ้าโทโชงุ (Toshogu Shrine) อายุกว่า 1,200 ปี ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของท่านอิเอะยะชุ โชกุนผู้สร้างเมืองเอะโดะต่อ ตัวศาลเจ้ามีสถาปัตยกรรมที่สวยงามและมีงานประติมากรรมมากมายที่แฝงไว้ด้วยความนัย เช่น ประตูหินโทะริอิ (หนึ่งในสามประตูหินทีดีที่สุดในญี่ปุ่น), เจดีย์ 5 ชั้น, มีงานแกะสลักรูปลิง 3 ตัว ตัวหนึ่งปิดหู ตัวหนึ่งปิดปากและอีกตัวหนึ่งปิดตา อันมีความหมายตามหลักคำสอนของนิกายเทนไดว่า หากเราไม่มอง ไม่ฟังและไม่พูดในสิ่งที่เลวร้ายเภทภัยก็จะไม่ย่างกรายมาสู่ตัวเรา
วันอาทิตย์ที่ 2 มี.ค. 2557 เดินทางไปยังพระราชวังอิมพิเรียล (Imperial Palace) ที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ซึ่งงดงามและประกอบด้วยจุดสำคัญๆ หลายจุด เช่น ซันโนะมะรุโซโซกัน (Sannomaru Shozokan) พิพิธภัณฑ์ของพระราชวังอิมพีเรียลที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1992 เพื่อเก็บผลงานศิลปะของราชวงศ์ที่บริจาคให้กับรัฐบาล เท็นชุกะกุอะโตะ (Tenshukaku Ato) ซากฐานปราสาทเอะโดะขนาด 5 ชั้นที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1607 ด้วยความสูง 58 เมตร และมีปลาทองคำขนาดใหญ่สุดในญี่ปุ่นอยู่บนหลังคา โชเรียวบุโชชะ (Shoryobu Chosha) หอจดหมายเหตุของพระราชวังที่รับผิดชอบในการบริหารและรักษาเอกสารสำคัญ ตลอดจนดูแลหลุมฝังศพของราชวงศ์ที่ตั้งอยู่ในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น บะอิริงซะกะ (Bairin-zaka) แนวต้นซากุระที่ปลูกในสมัยเอะโดะโดยมีมากถึง 100 ต้น (สีแดง 50 ต้น และสีขาว 50 ต้น) เป็นต้น
วันจันทร์ที่ 3 มี.ค. 2557 เดินทางไปยังย่านชินจูกุ (Shinjuku) เยี่ยมชมศาลเจ้าเมจิ (Meiji Shrine) ซึ่งถูกสร้างอุทิศให้กับจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็งที่สวรรคตในปี ค.ศ.1912 และ 1914 ตามลำดับ ปัจจุบันที่นี่มักถูกใช้จัดพิธีกรรม พิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่นแท้ๆ และงานเทศกาลทางศาสนาต่างๆ ตลอดทั้งปี เช่น งานพิธี 753 (ชิจิโกะซัง) ที่เด็กญี่ปุ่นเมื่ออายุครบ 3,5 และ 7 ขวบ ต้องทำพิธีทางศาสนาเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ส่วนภายในนอกจากจะมีศาลเจ้าให้สักการะ ก็ยังมีเครื่องใช้ต่างๆ ของจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็ง และสวนสวยที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้และดอกไม้ให้ชม และเดินทางกลับประเทศไทยโดยสายการบินเดลต้าแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ DL 283
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าบทบาทของพระพุทธศาสนาที่ส่งผลต่อประชาชนที่เห็นได้ชัด คือ วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สงบสุข ซื่อสัตย์ ขยัน ตรงต่อเวลา มีวินัยรับผิดชอบ กตัญญู มีน้ำใจ มีภาษา มีศิลปะที่สวยสดงดงาม ศาสนสถานที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์กันขึ้นมา มีอิทธิพลต่อระบบความคิดและพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่น การจัดสภาพวัดและศาสนสถานให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี บางแห่งได้ดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร ดูแลสภาพผืนป่าให้คงมีความอุดมสมบูรณ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลกันเข้าไปในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี และตลอดการเดินทางของคณะครั้งนี้โดยส่วนใหญ่อาศัยรถไฟความเร็วสูงที่มีความสะดวกและรวดเร็ว ได้รับการต้อนรับนำทางโดยคุณเกษร สตรีไทยซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 20 ปี
จากรายงานนี้มีจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือภาพงานแกะสลักรูปลิง 3 ตัว ตัวหนึ่งปิดหู ตัวหนึ่งปิดปากและอีกตัวหนึ่งปิดตา อันมีความหมายตามหลักคำสอนของนิกายเทนไดว่า หากเราไม่มอง ไม่ฟังและไม่พูดในสิ่งที่เลวร้ายเภทภัยก็จะไม่ย่างกรายมาสู่ตัวเรา เพราะว่าเคยเห็นภาพนี้ที่พิพิธภัณฑ์มหาตมะ คานธีที่ประเทศอินเดียว และที่สวนโมขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี
นับได้ว่าเป็นคติธรรมร่วมสมัยและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสังคมไทยยามปัจจุบันได้เป็นอย่างดียิ่ง และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่สามารถสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้
.....................
'มองลิง3ตัวที่ญี่ปุ่น'เห็นวิธีสร้างสันติภาพสังคมไทย : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FBsamran sompong)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น