วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

'กรรมการมส.'ขึ้นดอยก่อไฟวางแผนพัฒนาชาวเขา

               พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมคณะเยี่ยมวัดห้วยบง  ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ โดยมีชาวบ้าน ราชการ ถวายการต้อนรับเป็นจำนวนมากมาย  โดยพระพรหมบัณฑิตได้นำการสัมมนาพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบนดอยกลางป่า ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นต้องมีการก่อไฟคลายหนาว ช่วงกลางคืนวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา 

               ก่อนที่พระพรหมบัณฑิตจะเดินทางไปที่วัดห้วยบง ช่วงเช้าได้ไปตรวจเยี่ยม มจร  วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่  พร้อมกับเปิดเผยว่า   มจร วิทยาเขตเชียงใหม่มีโครงการในการขยายวิทยาเขตเพิ่มเติมจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่วัดสวนดอก เนื่องจากได้รับมอบที่ดินจากกรมป่าไม้จำนวนกว่า 1,000 ไร่ บริเวณดอยสะเก็ด ห่างจากที่เดิมเพียงกว่า 20 กิโลเมตรเท่านั้น โดยเริ่มโครงการก่อสร้างตั้งแต่ ปี 2558-2571 ใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างจะแบ่งเป็นการสร้างวิทยาเขตเชียงใหม่กว่า 900 ไร่ และจัดพื้นที่ประมาณ100 ไร่เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลด้วย

               คงจะไม่ใช่เป็นภาพที่เห็นกันบ่อยนักที่พระเถระระดับกรรมการมหาเถรสมาคมที่ลงพื้นที่ในถิ่นธุรกันดาร ต้องนั่งรถจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปยัง อ.กัลยาณิวัฒนาหลายกิโลเมตร  ที่มีสภาพเป็นดอยหนทางขรุขระ แถมอากาศช่วงกลางคืนก็หนาวเย็น ทั้งนี้ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์เป็นการให้กำลังใจพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา

               ในโอกาสนี้พระพรหมบัณฑิตเป็นประธานในพิธีกลุ่มชาติพันธุ์แสดงตนเป็นพุทธมามกะ จำนวน  300  หลังคาเรือน ทอดผ้าป่าสามัคคีระดมทุนเพื่อสร้างวัดห้วยบง ซึ่งเป็นวัดสังกัดมหาวิทยาลัย โดยมีการวางผังแม่บทสร้างวัดห้วยบง ประกอบด้วย:   เขตพื้นที่สร้างถาวรวัตถุ อุทยานการศึกษา ศึกษาเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและประเพณีชนเผ่า ป่าอนุรักษ์ทรัพยากรณ์และสิ่งแวดล้อมชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง (ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน) และเขตพื้นที่ส่งเสริมพัฒนาอาชีพของชนเผ่า

              ทั้งนี้เนื่องจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายให้ดำเนินการสร้างวัดเพิ่มให้ครบ  9  วัด  ในเขตอำเภอกัลยาณิวัฒนา  และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่  กำลังดำเนินการเสนอขอจดทะเบียนวัดร้างให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์ต่อมหาเถรสมาคมพิจาณาอนุมัติแล้ว   เพื่อให้มีวัดในเขตปกครองของคณะสงฆ์ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาในอนาคต

              จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ทั้งคณะสงฆ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาวัดเขตอำเภอดังกล่าว  และ มจร วิทยาเขตเชียงใหม่  ได้ตระหนักถึงบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา ผลิตบุคลากรและการพัฒนาสังคมทั้งพื้นราบและบนพื้นที่สูง  ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์   เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาด้านจิตใจให้กับชุมชนทั้งเด็กเยาวชน  เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้ในด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชนเผ่า เพื่อเป็นศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง ของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นศูนย์พัฒนาศักยภาพให้กับพระบัณฑิตอาสาและพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูงสืบไป

              สำหรับโคงการพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขานี้เป็นโครงการภายใต้การดำเนินการของพระบัณฑิตที่จบการศึกษาจาก มจร แล้ว แต่อยู่ในช่วงของการปฏิบัติศาสนกิจก่อนรับปริญญา ซึ่งได้ดำเนินการมา 10 ปีกว่าแล้ว ทั้งนี้พระครูโฆษิตปริยัตยาภรณ์ (ธีรพงษ์) สิรินฺธโร ยะอุตม์ รองอธิการบดี มจร วิทยาเขตเชียงใหม่ บอกว่า การเข้าไปอยู่ของพระนักพัฒนาบนพื้นที่สูงก็เปรียบเหมือนนักวิจัยคนหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทมีส่วนร่วมในชุมชน คอยเก็บข้อมูลศึกษาสภาพทางด้านต่างๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม หรือสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาไปในที่ถูกที่ควรและเหมาะสม นับว่าพระนักพัฒนาบนพื้นที่สูงหรือพระบัณฑิตอาสาก็มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง

              เมื่อเข้าไปอยู่ชุมชนแล้วจำเป็นที่จะต้องพัฒนาทางด้านวัตถุบ้าง มิใช่เน้นไปในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะการพัฒนาทางด้านวัตถุนั้นจะโดดเด่น และสามารถเห็นภาพได้จริง เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปกระทำ แต่ควรที่จะเป็นไปโดยพอดีพองาม ไม่เบียดเบียนกำลังศรัทธามากจนเกินไป เราต่างรู้กันดีว่าสภาพของคนในชุมชนบนพื้นที่สูงนั้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากจนอยู่แล้ว การดำเนินชีวิตของคนในชุมชนบนพื้นที่สูงนั้นควรจะเน้นให้ใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้ ซึ่งจะทำให้ชุมชนพัฒนาไปอย่างมั่นคงยั่งยืน

              พระบัณฑิตอาสาจะทำงาน 3 ด้านไปพร้อมๆ กัน คือ 1.ด้านจิตใจ โดยใช้ธรรมะชะล้างความสกปรกของจิตใจ เป็นภูมิคุ้มกันจากสิ่งยั่วยุไปในทางที่เสื่อมทั้งหลาย พระบัณฑิตอาสาเองก็เล็งเห็นปัญหานี้ จึงได้มีการทำงานในเชิงรุกโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยใช้ธรรมะเป็นตัวหล่อหลอมให้เด็กเยาวชน คนในชุมชนเป็นคนดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ เกิดจิตสำนึก ละอายต่อการทำชั่ว เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนซึ่งจะเป็นขุมกำลังอนาคตของชาติ

               2.รักษาประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของแต่ละชาติพันธุ์ ถือเป็นสิ่งมีค่าและสำคัญ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชาติพันธ์ เป็นการสื่อถึงอารยธรรม สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณสู่รุ่นลูกจนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ายากที่จะประเมินค่า อีกทั้งยังแฝงไปด้วยความรู้ภูมิปัญญาของคนในอดีต เช่น การมัดมือของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งจะทำกันปีละ 2 ครั้ง โดยความเชื่อของชาติพันธุกะเหรี่ยง คือ เป็นการเรียกขวัญให้ลูกหลานในครอบครัว ทั้งนี้หากมองลึกๆ ลงไปจะเห็นได้ว่าพิธีกรรมเหล่านี้แฝงไปด้วยภูมิปัญญา นั่นก็คือทำให้เกิดความรักความสามัคคีกันในหมู่เครือญาติ ครอบครัว ทำให้เครือญาติได้มาพบปะกัน

              และ 3.ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมีการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม่ธรรมชาติ เช่นเดียวกับการทำงานของพระนักพัฒนาบนพื้นที่สูงที่เองที่นำเอาพิธีกรรมทางศาสนามาเป็นส่วนในการอนุรักษ์ป่าไม้ เช่น การบวชป่า การปลูกป่าในวันสำคัญต่างๆ เป็นต้น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยอนุรักษ์ป่าไม่ให้อยู่คู่กับชุมชน

              "ปัจจุบันเองพระสงฆ์ก็ยังเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและจิตใจ ก็เหมือนพระนักพัฒนาบนพื้นที่สูงที่ไปเป็นที่พึ่งทั้งทางกายและใจแก่คนในถิ่นทุรกันดาร แต่การเข้าไปอยู่ในอาศรมต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ของพระบัณฑิตอาสา ขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาบนพื้นที่สูงนั้นมิใช่เพียงแค่การเข้าไปอยู่เฝ้าอาศรม หรือสร้างศาสนะวัตถุจนใหญ่โตมโหฬาร โดยมิได้ใส่ใจเรื่องอื่นๆ ไม่เหลียวแลสภาพทางสังคมความเป็นอยู่ของคนในชุมชน แต่ได้ทำหน้าที่เป็นพระนักเผยแผ่โดยมิได้มีวันหยุดนิ่ง" พระครูโฆษิตปริยัตยาภรณ์ กล่าว

              พระเมธีธรรมาจารย์  รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร กล่าวว่า บอกว่า แม้บทบาทของพระธรรมจาริกและพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขา จะไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้คนทั่วไปมากนัก แต่สิ่งที่ท่านเหล่านั้นได้เสียสละเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่น่ายกย่อง ชมเชยและสาธุการเป็นอย่างยิ่ง จึงขอสะท้อนภาพแห่งความยิ่งใหญ่ของผู้นำแห่งขุนเขาอันกว้างใหญ่ไพศาล ให้ผู้คนได้รับทราบเพื่อร่วมให้กำลังใจในการปฏิบัติงานของท่านตามที่ได้รับมอบหมายความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ท่านได้มีโอกาสทำงานที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ต่อไป" พระเมธีธรรมาจารย์  กล่าว

.............................
'กรรมการมส.'ขึ้นดอยก่อไฟวางแผนพัฒนาชาวเขา : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...