ชาวพุทธทั้งพระและฆราวาสที่เรียนนักธรรมและบาลีจะมีการสอบวัดผลปีละหนึ่งครั้ง สอบได้ก็จะได้เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆ หากสอบไม่ได้ก็จะซ้ำชั้นอยู่อย่างนั้นจนกว่าจะหมดความเพียรล้มเลิกไปเอง จึงทำให้เมื่อสอบเสร็จจะมีการลุ้นกันว่าผลสอบจะออกมาอย่างไร
ระหว่างสอบหากมีการทุจริตทราบไปถึงหูนักข่าวก็จะเป็นข่าวใหญ่ในวันรุ่งขึ้น หากไม่มีก็จะเงียบฉี่ก็จะรู้เฉพาะวงการผู้สอบเท่านั้น และก็จะเป็นข่าวอีกครั้งก็คราวประกาศผลสอบโดยเฉพาะประโยค 9 ก็ดูว่ามีสามเณรสอบได้กี่รูปสำนักเรียนวัดไหนสอบได้มากที่สุด เสร็จแล้วก็จบกันโดยไม่ได้เข้าไปดูว่าเนื้อหาของการสอบนั้นเป็นอย่างใดบ้าง มีหลักธรรมใดพอที่จะนำมาแก้ปัญหาสังคม ณ ปัจจุบันได้บ้าง พระเองก็ไม่บอกโยมเองก็ไม่อยากรู้
ในยุคสังคมข่าวสารข้อมูลสื่อสารกันด้วยอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ทำให้ได้มีโอกาสได้รับรู้ข้อสอบโดยเฉพาะภาษาบาลีซึ่งมีการสอบเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะประกาศผลสอบเร็วๆนี้
เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีความแตกแยกทางความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันถึงขั้นทำร้ายกันด้วยกำลังและอาวุธ แบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนเกือบทุกวงการถือหางกันอย่างชัดเจนไม่เว้นแม้นแต่วงการพระสงฆ์ ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นแนวทางว่าจะยุติความขัดแย้งอย่างไร เสียเวลาเสียโอกาสที่จะพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างมาก ก็ได้แต่กินยา "ทำใจ" ทุกวัน
ทีนี้ลองมาดูว่ามีหลักธรรมหรือวิธีการใดบ้างที่เป็นพุทธวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้บ้างจากข้อสอบนั้น
จากการตรวจสอบข้อสอบตั้งแต่ประโยค 1-2 ถึงประโยค 9 พบข้อสอบแปลไทยเป็นมคธ(บาลี)ประโยค 4 ที่มีเนื้อหาคัดมาจากธรรมบทโดยเกี่ยวกับพระชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกันด้วยสาเหตุเพียงเหลือน้ำในถังในห้องน้ำและมีการปรับอาบัติกัน การทะเลาะกันกันลุกลามใหญ่โตแบ่งออกเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน ในเนื้อหาบอกว่าลามไปจนถึงขั้นพรหมเลยทีเดียว เหมือนกับประเทศไทยคราวนี้ไม่มีผิด ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าฝ่ายตัวเองถูกและกล่าวหาอีกฝ่ายผิด
ร้อนถึงพระพุทธเจ้าว่ากล่าวตักเตือนให้ประนีประนอมกันแต่ไม่เป็นผล พระองค์จึงได้ปลีวิเวกไปจำพรรษาแต่พระองค์เดียวโดยมีช้างและลิงรับใช้ที่ป่าเลไลยก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ชาวเมืองโกสัมพีเสียประโยชน์ที่ไม่ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าจึงแก้เผ็ดหรือทำลายทิฐิพระด้วยการไม่ใส่บาตรไม่คบค้าสมาคมด้วย ส่งผลให้พระสำนึกผิดแล้วหันมาคือดีกันปัญหาก็ยุติ ที่เมืองสาวัตถีที่พระพุทธเจ้าจำพรรษานานที่สุดนี้เองทำให้ได้ทราบพุทธวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งหลายประการ
การทะเลาะกันของพระชาวเมืองโกสัมพีและวิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งของพระพุทธเจ้านี้ มักถูกนำไปอ้างอิงในบทความและผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นประจำ และถือว่าเป็นบทเรียนหนึ่งในหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ที่เปิดการเรียนการสอนรุ่นที่หนึ่งและกำลังเปิดรับสมัครเป็นรุ่นที่สองอยู่ขณะนี้
พบหลักธรรมในข้อสอบแปลไทยเป็นมคธ(บาลี)ประโยค 7 ที่มีเนื้อหาในมงคลสูตรที่พระจะสวดเป็นประจำที่เริ่มต้นด้วย "อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญจ เสวนา" เป็นต้น ซึ่งก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสมงคล 38 ประการนั้น ชาวเมืองสาวัตถีก็มีการโจทย์กันถึงเรื่องความดีกับความชั่วสิ่งไหนเป็นมงคลสิ่งไหนไม่เป็นมงคล จนเป็นสาเหตุให้มีการแบ่งฝ่ายเช่นเดียวกับประเทศไทยอีก ก็ลองนำมงคล 38 ประการเข้าไปจับในเหตุการณ์ในสังคมและการเมืองไทยปัจจุบันนี้ดูอาจจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งก็เป็นได้
มาที่ข้อสอบประโยค 8 วิชาแต่งฉันท์ภาษามคธ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคบเพื่อนและหน้าที่ของเพื่อนที่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งก็เนื้อหาสอดคล้องกับข้อสอบแปลไทยเป็นมคธ(บาลี)ประโยค 7 เป็นแต่เพียงยกมาเฉพาะเกี่ยวกับการคบเพื่อนหรือคบคนเท่านั้น คราวประกาศผลสอบแม่กองบาลีสนามหลวงน่าจะนำการตอบข้อสอบของนักเรียนที่สอบได้มาเปิดเผยด้วยก็จะเป็นการดีอย่างยิ่งเพราะเป็นการแต่งฉันท์หรือกลอน
สุดท้ายเป็นข้อสอบการแต่งภาษาไทยเป็นภาษามคธประโยค 9 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับศีลข้อที่สี่โดยเฉพาะข้อผรุสวาจาคือว่าร้ายบุคคลอื่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ไม่เป็นสมณะ" ก็คือไม่เป็นคนดีนั้นเอง จะเห็นได้ว่าสังคมไทยปัจจุบันนี้ละเมิดศีลข้อนี้กันเป็นว่าเล่นโดยเฉพาะวงการการเมืองจนกระทั้งมีการกล่าวขานกันว่า "โกหกสีขาว" ก็มี เมื่อสังคมไทยมีสภาพเช่นนี้แล้วจะถือว่าเป็นชาวพุทธที่ดีได้อย่างใด
จากการประมวลข้อสอบภาษาบาลีมาดังกล่าวพอจะเป็นแนวทางของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้อย่างแน่นอน โดยเริ่มจากเว้นจากการว่าร้ายกัน หันมาเป็นมุ่งสรรเสริญความดีของกันและกัน หลังจากนั้นปรับหรือปฏิรูปพฤติกรรมและแนวความคิดกันให้ตกผลึกว่าแนวทางใดถูกต้องไม่ถูกต้องอย่างใด หรือแนวทางใดเป็นมงคลแนวทางใดไม่เป็นมงคล เริ่มจากตัวเองเป็นอันดับแรก แล้วเข้าสู่กระบวนการของการสานเสวนาแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างที่พระพุทธเจ้าใช้กับชาวเมืองโกสัมพี
ลดอัตตาความเป็นตัวตนประโยชน์ตนลงบ้าง เชื่อแน่ว่าความขัดแย้งจะยุติอย่างแน่นอน อีกไม่นานก็พากันตายไปจากโลกนี้แล้วหรือใครจะอยู่ค้ำฟ้า
............................
ส่องข้อสอบบาลีปี57พบธรรมแก้ปัญหาขัดแย้ง : สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"
กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น