วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: ปราชญ์ชาวบ้าน“เทือกเขาภูพาน” ผู้ปลูกจิตสำนึกให้ “ฅน ฮัก ถิ่น” ขับเคลื่อนโคก หนอง นา โมเดล


รายงานพิเศษ: ปริญญา นาเมืองรักษ์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง “เทือกเขาภูพาน” ผู้ปลูกจิตสำนึกให้ “ฅน ฮัก ถิ่น” ขับเคลื่อน โคก หนอง นาโมเดล 

“ที่จังหวัดสกลนครให้ไปหาคุณบัญชา ราษีมิน เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำโคก หนอง นา”

ทีมงานได้รับสารสั้น ๆ จาก “อาจารย์หน่า” หรือ  “รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์” ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  หลังจากฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการพัฒนาชุมชนให้สอบถามข้อมูลเรื่องโคก หนอง นา จากผู้เชี่ยวชาญท่านนี้

จาก อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ถึง จ.สกลนคร วัดระยะทางประมาณ 300 กม. หลังจากพูดคุยกับป้าสุมาตหญิงแกร่งแห่งอำเภอชื่นชมเรียบร้อยประมาณเที่ยง ทีมงานตัดสินใจเดินทางไปสู่จังหวัดสกลนครทันที เนื่องจากกลัวมืดค่ำตรง “เทือกเขาภูพาน” ขับรถอาจไม่ปลอดภัยได้

“เทือกเขาภูพาน” ขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์ อดีตคือสมรภูมิรบของคนไทยที่มีความคิด

แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันคือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามสงบเงียบ มีเนื้อที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์

ขับรถผ่านเทือกเขาภูพานประมาณ 16.00 น. ธรรมชาติกำลังร่มรื่น มีรถผ่านมาเป็นระยะ ๆ ถนนค่อนข้างดี ไม่ได้อันตรายหรือขึ้นเนินลงเขาแบบถนน “สังขละบุรี” หรือ ถนน “อุ้มผาง” ที่เคยไป แต่ระหว่างทางเห็นป้ายบอก “ห้ามให้อาหารลิง” ตลอดทางและมีลิงอยู่ริมถนนอยู่บ่อยครั้ง ตรงนี้ต่างหากที่ต้องระวัง

ผ่าน “พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์” ทำให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หากไม่มีสองพระองค์ ปานนี้เทือกเขาภูพาน ไม่รู้ว่าจะมีสภาพเป็นเช่นใด กว่าจะถึงตัวเมืองจังหวัดสกลนครเกือบค่ำ

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2562จังหวัดสกลนครมีประชาชนทั้งหมด1,153,390 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อําเภอ 125 ตําบล และ 1,563หมู่บ้าน

จังหวัดสกลนครอบรมครบหมดแล้ว กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านขุดกันเกือบเสร็จหมดแล้ว เพราะทางเรามอบอำนาจเรื่องขุดบ่อ โคก หนอง นาให้ทางอำเภอจัดการไปเรียบร้อยแล้ว 

“จังหวัดสกลนครมีผู้เข้าร่วมโคกหนอง นา งบเงินกู้เพียงตำบลเดียว 21 ราย  แบ่งออกเป็น 3 ไร่จำนวน 20 แปลง และ 15 ไร่จำนวน 1 แปลง  20 แปลง มอบอำนาจให้ทางอำเภอซึ่งเขามีคณะกรรมการดำเนินการอยู่ ส่วนแปลง 15 ไร่ให้หน่วยงานทหารมาขุดให้ 

ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องโคกหนอง นา เรื่องช่างท้องถิ่นท่านก็ช่วยเหลือเต็มที่ทั้ง อบต.และเทศบาล และตอนนี้เราสร้างคนในพื้นที่ที่เราเรียกกว่านักพัฒนาต้นแบบได้ 10 คนจากงบตัวนี้”

แต่หากเป็นงบประมาณปกติจังหวัดสกลนครมีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นาทั้งหมด 156 แปลง  


“สมาน พั่วโพธิ์” พัฒนาการชุมชนจังหวัดสกลนคร บอกให้ทีมงานฟังหลังจากไปขอข้อมูลโคก หนอง นาจังหวัดสกลนคร พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่พาไปดูแปลงโคก หนอง นา ของ “คุณบัญชา ราษีมิน” ซึ่งทางพัฒนาการชุมชนจังหวัดขอให้ไปดูแปลงตัวอย่างของ“ปริญญา นาเมืองรักษ์” ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น อ. สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ด้วย  โดยมี “พี่กบ” ยุพาพินศรีนาม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นผู้นำทาง

“ปริญญา นาเมืองรักษ์” ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ “ฅน ฮัก ถิ่น” จ.สกลนคร เขาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสานมาสู่การปฏิบัติ โดยมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเห็นเกษตรกรนำหลัก 4 พอ คือ “พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น” ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ เป้าหมายสูงสุดหวังให้ลูกหลานอีสานคืนถิ่น เป็นทายาทเกษตรที่นำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาอีสานให้อุดมสมบูรณ์เป็น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

“หลักการโคกหนองนาคือ หลักการการจัดการน้ำ หาน้ำ และกักเก็บน้ำ ใช้ประโยชน์จากน้ำ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำโคก หนอง นา ให้คุ้มค่าป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สิ่งนี้มันตอบโจทย์รากเหง้าของคนอีสานด้วย เพราะปกติแล้ว พื้นที่ของคนอีสานมีที่โคก ที่ลุ่ม ที่ดอน ซึ่งบนโคกเขาจะมีวิถีแบบหาอยู่หากินการสร้างที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เขาจะอยู่แบบคนที่สูง การทำโคก หนอง นา คือ การเอาคืนวิถีชีวิต เรื่องของภูมิปัญญา เรื่องของการแบ่งปัน เรื่องของการช่วยเหลือ เรื่องของความสามัคคีกันพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาระหว่างคนในพื้นที่เดียวกันกลับคืนมาด้วย..” ปริญญา นาเมืองรักษ์ บอกให้เราฟังในช่วงหนึ่งของการสนทนา


ปริญญา เล่าต่อว่า  บรรพบุรุษของเขาอพยพมาจาก จ.ร้อยเอ็ด แล้วย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ลุ่มน้ำสงครามจึงเป็นที่ที่เขาเกิดและเติบโต เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านบัญชี ได้เดินทางไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียช่วงปี 2530-2535 และเมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย เขาได้ไปทำงานประจำที่บริษัทใน “เครือสหพัฒน์” กรุงเทพฯ จนถึงปี 2540 แต่เพราะทางบ้านประสบ“ปัญหาภาระหนี้สิน” ประกอบกับเพิ่งมีบุตรคนแรก เขาอยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง และเพราะเขาเห็นคุณค่าของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยที่มีทั้งแสงแดด อากาศ ดิน น้ำ และป่า ต่างจากซาอุดีอาระเบียที่มีแต่ทะเลทรายและลมแล้ง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะนำพาชาวอีสานให้รักษาผืนแผ่นดินไว้ให้ได้ แม้ว่าคนส่วนมากจะมองว่าอีสานแล้ง แต่ในสายตาของเขาอีสานนั้นร่ำรวยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี น้ำใจ และทรัพย์ในดินเพียงแต่จะต้องมองและแก้ปัญหาให้ตรงจุด

หลังจากกลับไปตั้งรกรากที่บ้านเกิดที่ จังหวัดสกลนคร แผนเข้าร่วมโครงการ “ทายาทรับภาระหนี้แทน” กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเกษตรผสมผสานไทย-เบลเยี่ยม อันเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้พบกับ “อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์” หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่กับ ธ.ก.ส. จึงได้แนวคิดในการทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืช ประมง และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดต้นทุน แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ แม้ว่าเกษตรกรมีความสามารถในการผลิต แต่มีต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์และอาหาร อีกทั้งการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ เกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สินอยู่


ปี 2548 เขาได้ตั้ง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น” ใช้แนวคิด สร้างงาน ประสานวิชา พัฒนาอาชีพ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่ม โดยใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ อาจารย์ปัญญา ลาออกไปทำงานที่ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก “ฅน ฮัก ถิ่น”  จึงไปช่วยงาน อาจารย์ปัญญา 2 ปี และได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่นั่น และ ในปี  2550 อาจารย์ปัญญาพาไปเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับ “อ.ยักษ์”ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาแล้ว ยังได้เรียนรู้การนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียงด้วย

เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานหัวใจหลักประกอบด้วย 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น

“ใช้พื้นที่ 50 ไร่ของตนเอง ตั้งเป็น ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น จากที่เคยทำเกษตรผสมผสานมาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกตามแนวเขตสวนยางพารา และทั้งแนวเขตที่นา ปลูกแทรกในสวนยางพารา และปลูกเป็นป่าต้นน้ำ ตรงกลางทำหนองน้ำ ทำโคกหัวคันนาทองคำ ในเมื่อเรามีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็น ก็จะเกิดความมั่งคั่งในเรื่องของอาหาร มั่งคั่งในเรื่องของญาติมิตร จากเดิมที่พื้นที่ไม่มีอะไร ก็เริ่มมีคนอยากเข้ามาศึกษามาเรียนรู้ในส่วนที่โครงการดำเนินการ เกิดความมั่งคั่งยั่งยืนในชีวิตประจำวัน

...ถามว่าทุกวันนี้ยังมีหนี้สินอยู่อีกหรือไม่ ก็ตรงบอกว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีหนี้อยู่ แต่พออยู่ได้ ที่นี่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ เป็นที่ร่วมเหล่าญาติ พี่น้อง และที่นี้เป็นฐานเรียนรู้ เป็นสถานที่อบรมผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ทั้งจากจังหวัดสกลนครและจากบึงกาฬด้วย” ปริญญา นาเมืองรักษ์  บอกให้เราฟัง พร้อมกับพาชมดูสวนยางและแปลงตามฐานต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ยืนต้น พืชคลุมดิน ส่งท้าย




การพูดคุยกับ “ปริญญา นาเมืองรักษ์”ได้ความรู้และมีเรื่องให้พูดคุยมากมาย เนื่องจากเขาเป็น “ปราชญ์เดินดิน” ติดดิน มีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ดิน ตามศาสตร์ของพระราชา โดยผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทุกวันนี้ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น ของเขาจึงมีคนมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย

ตอนหน้า จะไปเปิดใจ “นักธุรกิจ” สองสามีภรรยา“คุณบัญชา ราศีมิน -คุณกาญจนี ละศรีจันทร์”นักจิตอาสาผู้คลั่งใคล้ศาสตร์ของพระราชา มุ่งหวังที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน 28 ไร่ ให้เป็นโคก หนอง นา ท่ามกลางหินกรวดและความแห้งแล้ง ให้เขียวชอุ่ม และหวังให้ผืนดินแปลงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมทั้งเป็น “นักจิตอาสา” อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสตร์ของพระราชาทั่วประเทศด้วย ติดตามตอนหน้า??


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...