เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 เพจพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ช้านาน แต่เกษตรกรรมในวันนี้ไม่เหมือนอดีตอีกต่อไป แล้วไทยจะขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ?
ห้องเรียน The Change Maker สัปดาห์ที่ 3 พบกับ ดร.รสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Listen Field (ที่ให้บริการทั้งญี่ปุ่น ไทย อินเดีย และอเมริกา) และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CARE ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารและเกษตร ที่ครั้งนี้จะมาพูดเรื่อง “Future of Food and Agriculture” เทคโนโลยีขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืน ผ่านการปลูก ‘ส้ม’.
หนึ่ง - ส้มคือผลไม้ที่มีรสชาติขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทาง Listen Field จึงได้วิเคราะห์สายพันธ์ุ (Genomic Selection) เพื่อทำการจำลองผสมพันธ์ุข้ามสายพันธ์ุให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค.
สอง - การใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการดูแลที่เหมาะสมเพื่อให้รสชาติและคุณภาพออกมาตรงตามที่ต้องการ เช่น การใช้ Water Stress หรือการสร้างความเครียดให้พืชเพื่อสร้างกลไกความหวานให้ส้ม หรือการใช้เทคโนโลยีผ่านการวิเคราะห์รากต้นส้ม เพื่อศึกษาว่าน้ำที่รดไปนั้นปริมาณเหมาะสม หรือช่วงเวลาถูกต้องต่อการผลิตส้มที่ดีได้หรือไม่.
สาม - การใช้เทคโนโลยี Deep Learning หรือ AI รวมกับภาพถ่ายดาวเทียมผ่านการใช้ข้อมูลเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็น กลไกการเติบโต ทรงพุ่ม และอุณหภูมิ เป็นต้น เพื่อดูแลต้นส้มให้มีรสชาติตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรอีกด้วย.
สี่ - การสร้าง Predictive Modeling Platform เพื่อเอาข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมดมาประเมินผ่าน Machine Vision คือให้แมชชีนนั้นๆ เห็นภาพแบบเดียวกับที่มนุษย์เราเห็นแล้วนำไปวิเคราะห์ พร้อมกับนำภาพในพื้นที่เข้ามาช่วยประเมิน เช่น ในพื้นที่มีแมลงหรือไม่ สภาพอากาศแบบใดจะส่งผลให้เกิดแมลงในการเกษตร หรือหาความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการใช้จ่ายสำหรับยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ล้วนมีประโยชน์อย่างมาก เพราะชีวิตที่ดีเกิดจากอาหารที่ดี ประกอบกับเทรนด์อาหารปลอดภัยกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันอีกด้วย.
สุดท้าย - ดร.รสรินทร์บอกว่ากระบวนการทั้งหมดยังย้อนกลับมาสู่เรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ กล่าวคือการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ร่วมกับข้อมูลจะนำมาสู่การลดการใช้ทรัพยากร ลดปัจจัยการผลิต และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุดตามมา.
ซึ่งทั้งหมดคือการนำข้อมูลและ AI มาสร้างอนาคตของอาหารและเกษตรกรรมให้ไกลกว่า Smart Farmer ที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรในการทำฟาร์มเท่านั้น.
“ไม่ใช่ Smart Farmer เพราะเกษตรกรรู้จักพืชและงานเขาเป็นอย่างดี แต่ Future of Food and Agriculture คือการที่เกษตรสามารถควบคุมปัจจัยได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ถูกความต้องการ เพื่อจะเข้าใจว่าพืชเจริญเติบโต และจะสืบพันธุ์ผลผลิตต่อไปอย่างไร ทั้งหมดคือเรื่องของเกษตรกรรมในอนาคตทั่วโลกที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้” ดร.รสรินทร์ ทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น