วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: เปิดใจสองนักธุรกิจสามีภรรยา “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” นักจิตอาสาโคก หนอง นา

   


    “ผมเชื่อว่า โคก หนอง นา  มันคือ ทางรอด ของโลกยุคปัจจุบัน มิใช่ทางเลือก เมื่อเรามาทำแบบนี้ การใช้เงินลดน้อยลง คือ เราใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กินง่าย นอนง่าย เราปรับตัวใหม่หมดเลย แล้วในที่สุดเมื่อเราปรับตัวได้ เราสองคนจึงค้นพบว่า มันคือเป้าหมายของชีวิตเราจริง ๆ ..”


          แม้ปัจจุบันและโลกอนาคต เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและตอบชีวิตในมนุษย์ได้หลาย ๆ  เรื่อง  แต่การมีอากาศที่บริสุทธิ์ การมีอาหารที่มั่นคง รวมทั้งการมีเครือข่ายบนฐานแห่ง “แบ่งปัน”  สิ่งเหล่านี้โลกสมัยใหม่นับวันจะถอยห่างลงไปทุกที

        การตอบโจทย์ชีวิตด้วยการ “วิ่งทวนชีวิต” กลับไปสู่จุดเดิมของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความมั่นคง “อากาศและอาหาร” ที่บริสุทธิ์ ปัจจุบันทั่วโลกกำลังต้องการและแสวงหาแหล่งผลิตอากาศและอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดจากสารเคมี

       "โคก หนอง นา"   มีชื่อเต็ม ๆ คือ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ดำเนินการโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ

          กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง



          “โคก หนอง นา”  คือทางเลือกเส้นทางหนึ่งสำหรับหลาย ๆ คนที่ต้องการคำตอบชีวิตในยุคปัจจุบัน โคก หนอง นา หมายถึง การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก หนอง นา เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ซึ่งโคก หนอง นา ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

          1.โคก: พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ / ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย / ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

         2.หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) / ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ / ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง / พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

         3.นา: พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

        เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ทีมงานข่าว" ได้ทั้งท้ายเอาไว้ว่า จะไปเปิดใจ “นักธุรกิจ” สองสามีภรรยา “คุณบัญชา ราษีมิน -คุณกาญจนี ละศรีจันทร์”  นักจิตอาสาผู้คลั่งใคล้ศาสตร์ของพระราชา มุ่งหวังที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน 28 ไร่ ให้เป็นโคก หนอง นา ท่ามกลางหินกรวดและความแห้งแล้ง ให้เขียวชอุ่ม และหวังให้ผืนดินแปลงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมทั้งเป็น “นักจิตอาสา” อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสตร์ของพระราชาทั่วประเทศด้วย


       “พี่กบ”  ยุพาพิน  ศรีนาม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร อาสาเป็นไกร์กิตติมศักดิ์ศักดิ์เหมือนเดิมในการที่จะพายังพื้นที่โคก หนอง นา ของ“บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์”

       เมื่อไปถึงพื้นที่ บัญชา ราศีมิน และ กาญจนี  ละศรีจันทร์  พร้อมทีมงาน  “จิตอาสา” ครูพาทำประมาณ 10 คน ซึ่งล้วนเป็นคนในชุมชนรอรับอยู่แล้ว  สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดเล็ก ๆ  และช่วงที่ทีมงานไปถึง อากาศร้อนอบอ้าว บริเวณพื้นที่อยู่ท่ามกลางทุ่งนา ภายในสวนปลูกป่าไผ่ กล้วยและไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล เต็มไปหมด มีการขุดบ่อและคลองใส้ไก่ พร้อมกับวางท่อเชื่อมถึงกันหมดทั่วบริเวณพื้นที่ 28 ไร่

        เราสองคนเป็นนักธุรกิจการ์เม้นท์ เราทำโรงงานเย็บผ้าเสื้อผ้า เราชอบธรรมชาติ ต่อให้เรามีเงิน ถ้าเราไม่ใช้เงินเราแค่ทำกิน เราอยู่ได้ ความจริงชีวิตมนุษย์สุขกับทุกข์มันอยู่ใกล้เคียงกัน มันอยู่ที่ใจ เชื่ออย่างนั่น

         “ผมเชื่อว่า โคก หนอง นา คือ มันคือทางรอด ของโลกสมัยใหม่ มิใช่ทางเลือก เมื่อเรามาทำแบบนี้ การใช้เงินลดน้อยลง คือ เราใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กินง่าย นอนง่าย เราปรับตัวใหม่หมดเลย แล้วในที่สุดเมื่อเราปรับตัวได้ เราสองคนจึงค้นพบว่า มันคือเป้าหมายของชีวิตเราจริง ๆ ..”

         ทุกอย่างมันเกิดจากตัวเรา ความจริงสิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์ แต่มนุษย์ไม่รู้ว่าไปดิ้นรนอะไรถึงไหน พวกเราเพิ่งกลับจากไปทำเป็นครูพาทำแบบจิตอาสาที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ คนที่นั้นมิใช่เฉพาะคนดอยเต่าที่มาอบรมกับเรา ทั้งเชียงใหม่  เขาจะเอาผู้นำมาอบรมกับเรา แต่ละคนล้วนเป็นคนมีเงิน บางคนเป็นนายกเทศมนตรี เป็นนายก อบต.

          “ตอนแรก ๆ  เขาไม่พูดกับเราเลย อยู่ไป 2-3 วัน เราเริ่มปรับพฤติกรรมเขาใหม่ ให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอยู่นั่น คือ สิ่งที่เขาต้องกลับไปเป็นผู้นำชุมชน ต้องกลับไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในท้องถิ่น เขาเริ่มเปิดใจ เราก็ต้องให้ข้อมูลให้พวกเขารู้ว่า ทำไมปัจจุบันคนที่มีอยู่มีกินร่ำรวยแล้ว ทำไมเขาจึงกลับมาทำ 4 พ. (พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น)  บางคนเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นลูกบ้าน มีหนี้มากมาย เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน เราต้องทำให้เขาเห็นการอยู่แบบ 4 พ.  เมื่อทำให้เห็นอยู่ให้เย็นแบบ 4 พ.แล้ว ชาวบ้านเขาก็จะเห็นจะรู้เอง และในที่สุดหากพวกเขาคิดได้  ชาวบ้านจะได้ไม่เหนื่อย เขาจะได้ไม่ต้องไปวิ่งตามเงิน ซึ่งมันเหนื่อย..”

         บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์  บอกเล่าความเป็นมาชีวิตและวิธีคิดในการทำโคก หนอง นา  พร้อมกับพาเดินดูรอบ ๆ  บริเวณพื้นที่ซึ่งล้อมรอบไปด้วย “คลองใส้ไก่” และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั่วบริเวณจึงเขียวขจีไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ด้านนอก สถานที่ตรงนี้จึงเหมือนกับสวนป่า        

“ตรงนี้ผมใช้งบส่วนตัวทั้งหมดเลย  เริ่มขุดเมื่อวันที่ 12 มกราคมปี 63 มาจบวันที่ 14 เมษายน ในปีเดียวกัน ผมพอรู้เรื่องวิศวะอยู่บ้าง ผนวกกับได้เครือข่ายจากชมรมวิศวะขอนแก่นมาช่วยดู คำนวณเรื่องน้ำ ผมก็ไปอบรมเรื่องกสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์มาด้วย อบรมหลายวัน และเวลาท่านไปบรรยายที่ไหน ก็ตามไปฟังไปดู ตรงนี้ก็ช่วยได้เยอะ

       และผมตั้งใจให้เป็นศูนย์อบรมโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่จริง ฐานเรียนรู้ ต้องมาดูตรงนี้ แต่เนื่องจากเราเพิ่งพัฒนาได้ปีเดียว สถานที่นอน ห้องน้ำ เรือนครัว ยังไม่พร้อม ต้องไปนอนเรือนลูกเสือที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี้มาก..”  บัญชี ราษีมิน กล่าวทิ้งท้าย


           หลังจากออกจากสวน บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์    “พี่กบ” ชวนแวะไปดูพื้นที่ของกรมการพัฒนาชุมชนอีกแห่ง พี่กบเล่าว่า เดิมตรงนี้เป็นที่ทำงานของกรมชลประทาน ตอนหลังเมื่อกรมชลประทานจบโครงการจึงมอบให้กรมการพัฒนาชุมชนดูแลต่อ เท่าที่ดูบ้านพักข้าราชการ -พนักงานทรุดโทรมหลายแห่ง แต่พื้นที่เต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว

          และที่นี้ได้เจอกับ นพต.หรือนักพัฒนาต้นแบบ 2 ท่าน  “พี่เดือน” วงเดือน เหลาพรม ซึ่งนอกจากเป็น นพต. แล้วยังมีอาชีพเลี้ยงกบเสริมด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และ “พี่ชัย” พรชัย ปัญญาสาร มีอาชีพเพาะเห็ดขาย และทำงานให้กับกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ด้วย

         ก่อนจากกันทั้งคู่ “ฝากคำขอบคุณถึงรัฐบาลและผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ที่เข้ามาช่วยเหลือคนตกงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ”


        ยุคนี้หากพูดถึงนโยบาย เพื่อปฎิบัติการในการสร้างความมั่นคงของชีวิต ทั้งเรื่อง อากาศ น้ำ และอาหาร แล้ว ยุคนี้คงไม่มีสิ่งใดมาเทียบกับโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชนได้  ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างน้อย 7 ภาคี ในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายความพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ที่เน้นการเริ่มต้น เพื่อพอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ต่อเมื่อมีเหลือแล้วจึงขยายต่อไปเป็นบันได 9 ขั้นไปนำไปสู่ความพอเพียงแบบยั่งยืนต่อไป...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...