วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: การขับเคลื่อนโคก หนอง นา คือ “การฟื้นวิถีชีวิตคนอีสานกลับคืนสู่ท้องถิ่น”

 


“หลักการโคกหนองนาคือ หลักการการจัดการน้ำ หาน้ำ และกักเก็บน้ำ ใช้ประโยชน์จากน้ำ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำโคก หนอง นา ให้คุ้มค่าป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สิ่งนี้มันตอบโจทย์รากเหง้าของคนอีสานด้วย เพราะปกติแล้ว พื้นที่ของคนอีสานมีที่โคก ที่ลุ่ม ที่ดอน ซึ่งบนโคกเขาจะมีวิถีแบบหาอยู่หากินการสร้างที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เขาจะอยู่แบบคนที่สูง การทำโคก หนอง นา คือ การเอาคืนวิถีชีวิต เรื่องของภูมิปัญญา เรื่องของการแบ่งปัน เรื่องของการช่วยเหลือ เรื่องของความสามัคคีกันพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาระหว่างคนในพื้นที่เดียวกันกลับคืนมาด้วย..” ปริญญา นาเมืองรักษ์ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสานสะท้อนนโยบายการขับเคลื่อนโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่กำลังฮอตอยู่ตอนนี้ด้วยความดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นมา


“ทีมข่าวเฉพาะกิจบ้านเมืองออนไลน์”เดินทางไปดูโคก หนอง นา ที่อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจังหวัดนี้มีทั้งหมด 13 อำเภอมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 13 อำเภอ ครอบคลุม 85 ตำบล 635 ครัวเรือน บางแปลงขุดเสร็จแล้ว บางแปลงกำลังลงมือขุด และบางแปลงกำลังทำสัญญาจ้างขุด

อำเภอชื่นชมมี 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา จำนวน 37 ครัวเรือน ทีมข่าวได้รับการแนะนำให้ไปดูแปลงที่ ช่างกำลังขุดบ่ออยู่ และที่สำคัญเจ้าของแปลงนี้ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรีได้ถึงสองคน การทำเศรษฐกิจแนวนี้ ภาครัฐก็หันมาสนใจมาสร้างถนน นำไฟฟ้าเข้าชุมชนขุดบ่อบาดาลอำนวยความสะดวกให้ด้วย



“พี่น้อย” นางสาวพรทิพย์ เกษมจิตร์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ หรือ นพต. เป็นลูกจ้างโครงการโคก หนอง นา ประจำอำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้นำทางพาไปพบกับ “เจ้าของแปลง” ที่เข้าร่วมโครงการ 

พี่น้อย เล่าว่า เดิมตนเองเป็นเจ้าร้านขายของชำและปลาหมึก เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้รับผลกระทบ รายได้ลดน้อยลง และตนเองก็สนใจปลูกพืชผักสวนครัวอยู่แล้ว จึงสมัครเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ของกรมการพัฒนาชุมชน

“ก็ลองสมัครดู เพราะสิ่งนี้มันคือชีวิตของคนในชุมชนอยู่แล้ว มันคือวิถีชีวิตของคนอีสาน การทำเกษตร มันคือ ชีวิต เดิมก็มีร้านขายของชำและขายปลาหมึก เมื่อรู้ว่ากรมการพัฒนาชุมชนต้องการลูกจ้างสัญญารายปี น้อยก็เข้าสมัคร เมื่อได้ก็ทำสัญญาเป็นลูกจ้าง ได้ทำงานที่ชอบและมีรายได้ประจำด้วย..”

“ป้ามาต” หรือ นางสุมาต ศรีประเสริฐ คือ เจ้าของแปลงเกษตรขนาดใหญ่จำนวนเนื้อที่ 21 ไร่ แบ่งทำนาจำนวน 12 ไร่ ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ 3 ไร่ ปลูกผักผสมผสานจำนวน 2 ไร่ และเข้าร่วมโครงการโคกหนอง นา จำนวน 3 ไร่ และสร้างที่อยู่อาศัยพร้อมโฮมสเตย์อีกจำนวน 1 ไร่ 


“อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ป้ามาต หญิงตัวเล็กบุคลิกคล่องแคล่ว พูดจาอธิบายด้วยความภูมิใจสิ่งที่ตนเองทำและได้รับจากการดำเนินแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เดิมทำแต่นา เดียวน้ำท่วม เดียวภัยแล้ง ไปไม่รอด อยากลดต้นทุน เริ่มทำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว  ปลูกผักแบบผสมผสาน ไม่ปลูกแบบเชิงเดียวอีกต่อไป แบ่งเนื้อที่ปลูกผักบ้าง ทำนาบ้าง ขุดสระเลี้ยงปลาก็ทำ           

หัวใจสำคัญของานทำเศรษฐกิจพอเพียง คือ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มันจะลดรายจ่ายได้ ปลูกผักเอง เลี้ยงปลาเอง  ได้กินผักปลอดสารพิษ คนซื้อเยอะแยะ ในชุมชนก็มี ตลาดนัดก็มี ขายไม่หมดก็ถวายวัด ขายไม่หมดก็แบ่งให้กับชุมชน เพื่อนบ้าน

“ดิฉันทำเกษตรพอเพียงนี่แหละ ทหารก็มาช่วย กระทรวงเกษตรก็ลงมาช่วย อบต.ทำถนนเข้ามายังบ้าน ไฟฟ้าก็ถึง บ่อบาดาลหน่วยงานรัฐเขาก็มีขุดได้ ทำแบบนี้ส่งลูกเรียนจบจนปริญญาตรีได้ตั้งสองคน ทำแล้วมีความสุขมาก ตอนนี้รายได้ทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท สบาย ๆ ” ป้ามาต เล่าด้วยความภาคภูมิใจผลสำเร็จของตนเอง

ภายในบริเวณเนื้อที่ 21  ไร่ เต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิด มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ 2 บ่อ มีเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ในบ่อก็มีปลา ช่วงที่เราไปถึงรถแม็คโครกำลังขุดบ่อขนาดใหญ่ มีน้ำผุดออกมาให้เห็น เนื่องจากขุดลึกถึงชั้นดินตับเป็ด 

 


           

“เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา เพราะต้องการน้ำ การทำพืชเชิงเดียวไปไม่รอด ต้องการบริหารจัดการน้ำ บ่อที่มีอยู่น้ำไม่เพียงพอ ทำการเกษตร ปลูกต้นไม้ ต้องใช้น้ำปลูกทุกอย่าง ยิ่งหากเราต้องการเดินตามรอยศาสตร์ของในหลวงปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างน้ำนี้สำคัญมาก ตอนนี้กำลังขุดบ่อ เป็นงบปกติของกรมพัฒนาชุมชน..           

โควิดไม่สะทกสะท้านเลย ปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง ขายเอง ตอนนี้ไม่พอขาย นอกจากปลูกผักแล้ว พช.เขาก็มาส่งเสริมเลี้ยงหมู เห็ด เป็ดไก่ แบบนี้ยั่งยืนกว่าทำพืชเชิงเดียว วิกฤติอะไรก็มาทำร้ายเราไม่ได้ ไม่เครียด มีโฮมสเตย์ให้คนมาพักคืนละ 120 บาทต่อคน มีอาหารตอนเช้าให้ด้วย บางคนมานอนแล้วก็ซื้อผัก ซื้อผลไม้ในสวน มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกทาง พช.ช่วยได้เยอะ การส่งเสริมแบบนี้ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ เพราะเป็นการส่งเสริมอาชีพ..” ป้ามาต บอกส่งท้ายด้วยใบหน้าที่ภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป

พื้นที่ใกล้เคียงได้พบกับ “ผู้ใหญ่สวาท”คุณสวาท มานะศรี กำลังลงมือปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ประเภท  ยางนา พะยูง และตะเคียนอยู่ ริมบ่อที่ขุดแล้วสังเกตเห็นมีปลูกหญ้าแฝกและบนคันดินปลูกต้นกล้วยเอาไว้  

     


     

ผู้ใหญ่สวาท เป็นพี่ชายของป้ามาต บอกว่า ที่ดินตนเองเป็นที่ลุ่มเจอน้ำหลากและท่วมทุกปี ทำนาไปไม่รอด เจอน้ำท่วมทุกปี ไม่เหลือ จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ โคก หนองนา ในเนื้อที่จำนวน 3 ไร่ ตอนนี้มีบ่อ 2 บ่อ มีคลองใส้ไก่อีก 3  ขุดหมดแล้ว กำลังปลูกไม้ยืนต้น พวกไม้กินได้ พวกไม้ที่ใช้สอย แล้วก็ปลูกผักเลี้ยงปลาคิดว่าคุ้มกว่าทำนา                

“ทำโคก หนอง นา มันคือการผสมผสาน มันเก็บได้ตลอด ทำนาปลูกข้าวมันได้ครั้งเดียว ทำท่วมมา 2 ปี ผมไม่ได้อะไรเลย ข้าวเน่าหมด น้ำท่วมเสียมีค่าใช้จ่ายสูบน้ำอีก  โครงการนี้ศึกษาแล้วมันมีรายได้ตลอดเวลาและความมั่นคงมันก็ดี  หวังว่าหลังจากนี้จะมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี ตออดอายุเรา คิดว่าอย่างนั้นนะ..”  ผู้ใหญ่สวาทบอกความคาดหวังการเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน

ก่อนจากกันได้เจอกับผู้รับเหมาขุดบ่อ “พี่สมชาย หมื่นผล” พี่สมชายบอกว่า การรับจ้างขุดที่นี้ไม่มีปัญหาเรื่องแบบแปลน ขุดตามตามข้อตกลงระหว่างกรมพัฒนาชุมชนกับเจ้าของแปลงที่เข้าร่วมโครงการ

การทำสัญญาเป็นระบบแปลงต่อแปลง ขุดมาแล้ว 2 แปลงไม่มีปัญหาอะไร  กรมการพัฒนาชุมชนเจ้าของแปลง ช่างท้องถิ่น คุยกันเรียบร้อยเราก็ขุดตามแบบที่ตกลงกันเอาไว้ แม้รายได้ถึงมันจะน้อย ดีกว่าไม่มีงานทำ 


พี่สมชาย หมื่นผล บอกต่อว่า  “ผมมีรถขุด 2 คัน แบ่งงานกันทำอีกคันไปทำงานอีกจังหวัดขุดบ่อในโครงการโคก หนอง นาเหมือนกัน ก็พยายามทำความสุดสามารถ การขุดแต่ละพื้นที่ยากง่ายต่างกัน ยังที่อำเภอชื่นชมนี้ ขุด  2 บ่อ มีไส้ไก่ เชื่อมกัน ความลึกและความยาว การกันดินพังก็เป็นตามมาตรฐานแบบของกรมการพัฒนาชนสรุปราคา 104,000 บาท ใช้เวลาขุดประมาณ 10 วันกว่า จนแล้วเสร็จ เมื่อตรวจงาน รับงานเรียบร้อยก็เบิกจ่าย ไม่มีปัญหาอะไร..”


          

การเดินทางมาจังหวัดมหาสารคามเสียดายว่า“ทีมข่าวเฉพาะกิจบ้านเมืองออนไลน์” ไม่ได้เจอ “บุคคลตามเป้าหมาย” คือ  “พี่รุ่งริ่ง” หรือนายกระรัญ ดาวโคกสูง แห่งบ้านเหล่าอีหมัน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากติดภารกิจ “จิตอาสา” ต่างจังหวัด          

ชีวิตพี่รุ่งริ่ง เหมือนกับนักปราชญ์ชุมชนทั่วไปคือ “คิดนอกกรอบ” เห็นพ่อแม่ทำนา มีแต่หนี้ หากทางออกไม่เจอ วันหนึ่งดูข่าวพระราชสำนักเกี่ยวกับ “โคก หนอง นาโมเดล” จึงสนใจเพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งหนึ่งคือ “ทางออก” ของชีวิตความเป็นหนี้ได้ จึงตัดสินใจลาออกจากโรงงานที่ทำมา 15 ปี ไปฝึกอบรมที่ศูนย์กสิกรรมมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี  แล้วได้นำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” มาปรับใช้ที่บ้าน ในพื้นที่ 6 ไร่ ผ่านไป 1 ปี เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ช่วยลดรายจ่ายจากการซื้ออาหารการกิน และเริ่มมีรายได้เข้ามา โดยได้ผลิตถ่านไบโอชาร์ ควันที่ได้จากการเผาถ่านจะผลิตเป็นน้ำส้มควันไม้ เพื่อนำไปไล่แมลงในสวน แบ่งพื้นที่ไปเลี้ยงวัว ปลูกกล้วย มะละกอ อ้อย พืชผัก และอื่น ๆ โดยปลูกแบบผสมผสาน แบบเกื้อกูล รวมถึงปลูกไม้ดอกเพื่อล่อแมลง และมีแผนที่จะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ แบบหลุมพอเพียง ปลูกแบบรั้วกินได้ ทำให้มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยลำดับ

ตอนต่อไปทีมงานมีข้อมูลว่าที่ “จังหวัดสกลนคร” มีปราชญ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาเป็นศูนย์กลางของการมาอบรมของผู้คนที่สนใจด้านนี้หลายจังหวัด  และทั้งมีนักธุรกิจคู่หนึ่งสนใจทำโคก หนอง นา ด้วยความที่อยากรู้ อยากเห็นสภาพพื้นที่จริง และทำไมนักธุรกิจปัจจุบันจึงหันมาสนใจทำโคก หนอง นา กันจำนวนมาก จะไปเปิดมุมคิดและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ติดตามตอนหน้าจังหวัดสกลนคร..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ดร.นิยม เวชกามา" จับมือกรรมาธิการศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาตั้งวัดในศรีสะเกษกว่า 300 แห่ง

วันที่ 24 เมษายน 2567 ดร.นิยม เวชกามา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม  เวชยชัย ในฐานะอนุกรรมมา...