เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2564 นายธเนศ คงวังทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร จ.พิจิตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงตัวเองด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครัวเรือน
จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในสถานการณ์นี้ อย่างชุดยังชีพโควิด-19 ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร เป็นอุปกรณ์สำหรับทำเกษตรผสมผสานที่มีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จำกัด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของอุปกรณ์
ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
โดยกิจกรรมในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการจัดทำแปลงสาธิตการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมงและการรักษาสิ่งแวดล้อมตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในสถานศึกษาสังกัดสอศ. รวมทั้งสิ้น จำนวน 111 แห่ง
ด้านนายวินัย พยัคศรี ครูแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร กล่าวว่า ชุดยังชีพโควิด-19 เป็นอุปกรณ์สำหรับทำการเกษตรผสมผสาน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ไข่ และการปลูกผักไร้ดิน โดยทั้ง 3 กิจกรรมอยู่บนโครงเหล็ก 3 ชั้น ขนาดของโครงเหล็กกว้าง 65 ซม. ยาว 100 ซม. สูง 125 ซม.
โดยชั้นที่ 1 กิจกรรมการเลี้ยงปลา ใช้ถังขนาด 200 ลิตร ผ่าตามแนวนอน ชั้นที่ 2 กิจกรรมการเลี้ยงไก่ บรรจุกรงไก่ จำนวน 2 กรง สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้กรงละ 2 ตัว ชั้นที่ 3 กิจกรรมปลูกผักไร้ดิน ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2.5 นิ้ว ประกอบกันจำนวน 5 แถว เจาะรูเพื่อวางถ้วยปลูกผักได้แถวละ 6 ถ้วย รวม 30 ถ้วย และยังมีการติดตั้งระบบน้ำและระบบไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ โดยปั๊มน้ำใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ ควบคุม การทำงานของปั๊มน้ำอัตโนมัติด้วยวาล์วตั้งเวลา ซึ่งสามารถตั้งเวลาในการปั๊มน้ำจากน้ำในบ่อปลาหมุนเวียนไปยังระบบแปลงปลูกผักไร้ดิน และจะวนกลับมายังบ่อปลาอีกครั้ง
ซึ่ง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำชุดยังชีพ โควิด-19 ได้แก่ 1.ถังเคมีขนาด 200 ลิตร
2.เหล็กกล่องขนาด 1.2 x 1.2 นิ้ว
3.ท่อพีวีซีขนาด 2.1/2นิ้ว
4.แผงโซล่าเซลล์
5.เครื่องแปลงไฟ Invertor STA-1000A ขนาด 1,000 W
6.แบตเตอรี่
7.อุปกรณ์ควบคุมการชาร์จแผงโซล่าเซลล์
8.ตู้ควบคุมฝาทึบ
9.มอเตอร์ปั๊ม ขนาด 6.8 บาร์
10.ข้อต่อท่อพีวีซีแบบข้องอ 90 องศา
11.สว่านหรืออุปกรณ์อื่นที่สามารถเจาะรูได้
12. กรงไก่
13.ชุดปลูกผักไร้ดิน ประกอบด้วยถ้วยปลูก ฟองน้ำ
และ14.วาล์วตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ
ครูวินัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับวิธีทำชุดยังชีพโควิด-19 เริ่มจากสร้างแบบชุดยังชีพโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย
ชั้นที่ 1 สำหรับเลี้ยงปลา ชั้นที่ 2 สำหรับเลี้ยงไก่ และชั้นที่ 3 สำหรับปลูกผักไร้ดิน จากนั้นตัดเหล็กกล่องตามแบบ เชื่อมเหล็กทำโครงสร้าง ทาสีเหล็กหลังเชื่อมให้เรียบร้อย ตัดท่อพีวีซี ติดกาวประกอบท่อกับข้อต่อตามแบบที่ร่างไว้ เจาะรูท่อพีวีซี สำหรับใส่ฐานเพาะผักไร้ดิน ผ่าถังเคมีขนาด 200 ลิตร ตามแนวขวาง
สำหรับเลี้ยงปลา นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้มาประกอบกับโครงสร้าง ชั้นที่ 1 ถังสำหรับเลี้ยงปลา ชั้นที่ 2 กรงไก่ และชั้นที่ 3 แปลงปลูกผักไร้ดิน ติดตั้งปั๊มน้ำ และวางระบบน้ำ ติดตั้งระบบไฟฟ้ากับแผงโซล่าเซลล์
สุดท้ายทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของปั๊มน้ำ และระบบการไหลเวียนของน้ำ พร้อมกับติดตั้งชุดควบคุม Kidbright IDE ควบคุมการทำงานของปั๊มน้ำ ด้วยสมาร์ทโฟนจนได้เป็นชุดยังชีพโควิด – 19
ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิต 9,549 บาท สามารถยังชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในยามที่ต้องกักตัวอยู่บ้านตามแคมเปญที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
หากสนใจติดต่อได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร โทร.084-989-1529
ที่มาเพจอีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น