วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบัวบกอุดรธานี วอนหน่วยราชการออกโฉนดให้วัด



วันที่ 5 พฤษภาคม 2566  นางบุญเพ็ง คันธี  ประธานชมรมรักษ์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ตนเองเป็นชาวบ้านอยู่บ้านติ้ว ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ช่วง2ปีก่อนมีกลุ่มชาวพุทธศาสนิกชนที่ได้มาเที่ยวชมวัดพระพุทธบาทบัวบก  อยู่ที่บ้านติ้ว  แล้วมีความประทับใจมาก เนื่องจากวัดนี้เดิมเป็นวัดร้างเก่าแก่สมัยทวาราวดี อายุ 966 ปี มีเนื้อที่ 2,500 ไร่  โดยหลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน  ได้บูรณะวัดพระพุทธบาทบัวบกเมื่อปี 2460  จากนั้นจึงสร้างเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาท  นอกจากนี้ยังได้สร้างเจดีย์ไว้อีก 3 แห่ง คือ เจดีย์พระธาตุท่าอุเทน วัดพระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม, เจดีย์พระธาตุพระพุทธบาทบัวบก และเจดีย์พระธาตุพระบาทโพนสัน วัดพระธาตุพระบาทโพนสัน เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว  ปัจจุบันวัดพระพุทธบาทบัวบกมีพระสงฆ์จำนวน 10 รูป โดยมีพระครูพุทธบทบริรักษ์เป็นเจ้าอาวาส และเป็นรองเจ้าคณะอำเภอบ้านผือรูปที่ 1  ซึ่งเป็นเหลนแท้ๆ ของหลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี พระเกจิชื่อดังของภาคอีสาน

ภายในวัดมีศาสนสถานที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง  อาทิ พระธาตุเจดีย์ รอยพระพุทธบาทหลายรอย เช่น รอยพระพุทธบาทบัวบก รอยพระพุทธบาทหลังเต่า รอยพระพุทธบาทสาวก ถ้ำพญานาค โดยมีคำเล่าขานกันว่าถ้ำพญานาคนี้ทะลุไปถึงลำน้ำโขง ถ้ำฤาษีจันทรา เศียรพญากงพาน (พ่อของนางอุษา) บ่อน้ำทิพย์ (มีน้ำตลอดปี) สวนหินพญากงพาน พระแม่กาลีอายุหมื่นล้านปี ถ้ำเกิ้ง ลานธรรมพระพุทธเจ้าปางเปิดโลก เนินสาวเอ้  ลานโขดหินขนาดใหญ่  ที่สำคัญบูรพาจารย์หลายๆ รูปเคยธุดงค์วัตรในป่าพื้นที่ของวัดพระพุทธบาทบัวบก อาทิเช่น หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล, หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่บุญ ขันธโชติ, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ศรีทัตถ์ ญาณสัมปันโน, หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่จิ๋ว พุทธญาโณ บูรพาจารย์หลายรูปเขียนไว้ในตำราว่า พระอาจารย์สายกรรมฐานลุ่มน้ำโขงมาปฏิบัติธรรมบำเพ็ญพรตที่วัดพระพุทธบาทบัวบกทุกรูป และสำเร็จบำเพ็ญเพียรกุศลที่ถ้ำพญานาค  

นางบุญเพ็งกล่าวอีกว่า นอกจากวัดพระพุทธบาทบัวบกมีอายุเก่าแก่มากแล้ว ผืนป่ายังมีความสำคัญสำหรับการบำเพ็ญภาวนา ธรรมปฏิปทา ธรรมยาตราของสายพระปฏิบัติอีสานลุ่มน้ำโขง และนักปฏิบัติธรรมสองฝั่งโขง เข้าไปใช้พื้นที่ๆ เนื่องจากมีความเงียบสงบในการปฏิบัติธรรมตามรอยพระพุทธเจ้า ซึ่งป่ามีความสำคัญมาก  อีกทั้งไม่สามารถแยกป่าไม้กับพุทธศาสนาออกจากกันได้ พระครูพุทธบทบริรักษ์จึงให้ความสำคัญกับการดูแลผืนป่าเป็นอย่างมาก และเคยกล่าวไว้ว่า ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนทำเพื่อพุทธศาสนิกชน เพราะถ้าเทียบกับปัจจุบันนี้ 2500ไร่ไม่มากเกินไป ผืนป่าแห่งนี้จึงเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา อันเป็นเขตโบราณสถานทั้งหมดจำนวน 2500 ไร่  

“ด้วยความที่เจ้าอาวาสเป็นครูยาหมอยา หมอฝังเข็ม และเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย ท่านมีความรู้ความสามารถทางการแพทย์แผนโบราณ โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรในการรักษา การฝังเข็ม เคยรับนิมนต์ไปรักษาคนไข้ และสอนฝังเข็มที่ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ท่านรู้จักบรรดาสมุนไพรและต้นไม้ใบหญ้าที่สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ บูรพาจารย์และพระครูพุทธบทบริรักษ์ จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลผืนป่าของวัดนับตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนหลายคน มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระครูพุทธบทบริรักษ์  ท่านมีความเป็นห่วงถึงการขอออกโฉนดที่ดินของวัด จำนวน 2,500 ไร่ ที่ธรณีสงฆ์อีก 25 ไร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินได้รังวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมแจกโฉนดจำนวน  2,397 ไร่ 3 งาน 39.1 ตารางวา” นางบุญเพ็งกล่าวและว่า  เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทบัวบก และญาติโยมอยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกโฉนดให้ เพราะที่ผ่านม มีหลักฐานชัดเจนว่าวัดมีเนื้อที่กว่า 2500 ไร่  ที่สำคัญการออกโฉนดครั้งนี้จะยังประโยชน์โดยรวมให้กับคนไทยทั้งประเทศ พระพุทธศาสนา และความมั่นคงของประเทศชาติด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราห์อาหุเนยยวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ อาหุเนยยวรรคเป็นหมวดหนึ่งในอ...