วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: การขับเคลื่อน “โคก หนอง นา” จังหวัดนครนายก


           “จังหวัดนครนายกที่ดินแพงมากเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพเป็นจังหวัดท่องเที่ยว และที่จังหวัดนครนายกมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับคนเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา แปลงขนาดใหญ่ทั่วประเทศ  ให้ไปดูหน่อยว่า การดำเนินการโคก หนอง นา เป็นอย่างไรบ้าง และแรงจูงใจ คนเข้าร่วมโครงการ เป็นอย่างไร เขาสะท้อนปัญหาอะไรบ้าง..”   

           ทีมงานได้รับโจทย์เล็ก ๆ จากการประชุมร่วมกันกับทีมกองบรรณาธิการเพื่อหาพิกัดพื้นที่ลงสำรวจการทำโคกหนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน

           จังหวัดนครนายกเป็นจังหวัดเล็ก ๆ  มีประชากรไม่ถึง 3 แสนคน มีเพียงแค่ 4 อำเภอ แต่มีแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม เป็นที่ตั้งของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง การเดินทางจากกรุงเทพมหานครระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง ผ่านเส้นทางรังสิต -นครนายก ที่สองฝากฝั่งตั้งแต่เลยคลอง 9 ไป มีร้านต้นไม้ราคาย่อมเยาตลอดเส้นทาง

           จากข้อมูลของพัฒนาการจังหวัดนครนายก มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา จำนวน 166 แปลง ส่วนใหญ่ขนาด 1 ไร่ มี 128 แปลง ขนาด 3 ไร่เพียงแค่ 38 แปลง ตอนนี้บางแปลงเริ่มขุดบ้างแล้ว

           “พี่เจี๊ยบ” นิภาพรรณ เทียมธรรม ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ไกด์กิตติมศักดิ์พาทีมงานลงพื้นที่แปลงเป้าหมาย 2 แปลง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองและเขตอำเภอบ้านนา ซึ่งทั้ง 2 แปลงมีขนาด 3 ไร่ และ 1 ไร่ ที่น่าสนใจคือ ทั้ง 2 แปลง มิได้คิดแต่ปลูกพืชผัก ผลไม้หรือไม่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่คิดต่อยอดด้วย

           “ป้าวรรณ” อุทัยวรรณ ศรีตะปันย์ หญิงวัย 72 ปี อาชีพค้าขายผลไม้จำพวกมะยงชิดและผลไม้พื้นถิ่นอื่น ๆ เจ้าของแปลงแรกในเขตอำเภอเมือง  บอกว่า



          ที่ดินตรงนี้มีประมาณ  5 ไร่ เมื่อสองเดือนที่แล้วมีคนมาขอซื้อไร่ละ 2.5 ล้าน แต่ไม่ขาย เพราะไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน และตั้งใจเข้าร่วมโคก หนอง นา ลงทะเบียนเอาไว้กับกรมพัฒนาชุมชน 3 ไร่  อยากปลูกต้นไม้มะริด ซึ่งไม้ชนิดนี้ผลมันเหมือนแอปเปิ้ล ทานได้ และที่สำคัญปลูกเพื่อเอาต้นของมัน ไม้มะริดเป็นไม้เนื้อแข็ง ไปทำเครื่องดนตรีได้  ซึ่งปัจจุบันตลาดต้องการอย่างมาก

          สำหรับ “ไม้มะริด”  เป็นไม้ค่อนข้างหายาก เพราะมีถิ่นกำเนิดในฟิลิปปินส์ เมืองไทยไม่ค่อยมีปลูกกันมากนัก  ต้นมะริดเป็นไม้ที่มีการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ของเมืองตรัง ว่าเป็นไม้ที่ใช้ส่งส่วยให้กับเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เมืองตรัง พ.ศ. 2433 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้ประเภท ตลับ โถ ที่ทำด้วยไม้มะริด มีการกล่าวถึงไม้มะริดในเมืองตรังว่า “ได้ถามถึงไม้มะริดว่า ไม่มีซื้อขายกัน แต่ต้นที่มีอยู่นั้นไม่ใช่บนเขาสูง ที่ต่ำ ๆ ก็มี”

         สำหรับไม้มะริด ส่วนใหญ่ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ชั้นดี ด้ามเครื่องมือ หีบบุหรี่ หีบประดับมุก กรอบรูป ด้ามปืน เครื่องดนตรี เครื่องรางของขลัง ฯลฯ และด้วยภูมิปัญญาความรู้ของช่างดนตรีไทยในอดีต ได้นำไม้มะริดมาทำเครื่องดนตรี เล่าขานกันว่า…เครื่องดนตรีที่ทำมาจากไม้มะริดเสียงจะใส และกังวานมาก ฝรั่งนิยมมาหาซื้อกัน ปัจจุบันเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

         “อีกประการหนึ่งสำคัญ คือ ตั้งใจไว้ว่า ตรงนี้นอกจากจะทำโคก หนอง นา ปลูกต้นมะริดแล้ว จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จะทำเป็นโฮมสเตย์เล็ก ๆ เพราะติดถนนใหญ่  เป็นเส้นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลาย ๆ แหล่ง และตามปกติร้านกาแฟที่อยู่ติดกันซึ่งเขาจัดการได้ดีร่มรื่นก็มีคนมาเที่ยวมาพักประจำกันอยู่แล้ว จะให้ลูกสาวมาดูแล วางแผนไว้แบบนี้” ป้าวรรณ บอกเป้าหมายของการเข้าร่วมโคก หนอง นา

         และที่นี่ทีมงานเราได้เจอกับนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “นพต.”  จำนวนสองคน ทั้งสองคนได้รับผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 เต็ม ๆ



        “ไพบูลย์ จุอุบล”  อายุ 43 ปี เดิมมีอาชีพขายผักสดอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 รอบแรก ตลาดผักปิด ส่งผลให้ไม่มีรายได้จึงเข้าร่วมสมัครโครงการนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบโดยได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท

        “ค่าตอบแทน 9 พันบาท อยู่ได้ ทุกวันนี้ก็ทำงานร่วมกันทางพัฒนการอำเภอ ด้านเอกสารและลงพื้นที่ให้คำแนะนำกับเจ้าของแปลงทุกวัน หากไม่มีรายได้ตรงนี้ครอบครัวลงลำบาก..”

        “ณัฐพล ทศกรณ์” อายุ 23 ปีเพิ่งจบจากสถานบันการศึกษาแห่งหนึ่ง เพราะไม่มีงานทำเหมือนกัน จึงเข้าร่วมโครงการ

        “จบออกมาก็ไปสมัครงานหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่มีใครตอบรับกลับมา จึงสมัครเข้าร่วมโครงการของกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อทางกรมพัฒนาชุมชนรับก็มาทำงานตรงจุดนี้..”

        จังหวัดนครนายก อำเภอองค์รักษ์ มีครัวเรือนยกเลิกหลายแปลง เพราะเขาบอกว่าระเบียบขั้นตอนของภาครัฐมันเยอะ แต่เมื่อยกเลิกหน้าที่เราทางจังหวัดก็ต้องหาแปลงใหม่ ที่จังหวัดนครนายกที่ดินมีราคาแพง คนครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นจำพวกเจ้าของสวน บางแห่งเขามีร่องน้ำ บางแห่งเขามีบ่อของเขาอยู่แล้ว เมื่อเราเอาแบบแปลนของเราไปใส่ เจ้าของแปลงบางคนก็อาจไม่เอา เราก็ต้องชี้แจงเงื่อนไขให้เจ้าของแปลงเข้าใจ บางรายถอดใจ ยกเลิก เราก็ต้องหาแปลงใหม่

        “งานโคก หนอง นาเป็นงานใหม่ของกรมเรา ซึ่งพวกเราตั้งแต่ท่านอธิบดี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ จนถึงพวกเราก็พยายามทำงานเต็มที่ทำงานเกือบทุกวัน โคก หนอง นา ชาวบ้านได้ประโยชน์มาก มันสร้างความมั่นคงด้านอาหารและชีวิตได้จริง ชาวบ้านต่อยอดได้  แต่ในขณะเดียวกันปัญหาจุกจิกมันเยอะ ก็พยายามแก้ไขไป อันไหนแก้ไม่ได้ก็ต้องรายงานให้กรมรับทราบ เพราะบางเรื่องเป็นระดับนโยบาย..”   พี่เจี๊ยบ ระบายความใจให้ฟัง เมื่อพูดถึงแบบแปลนและปัญหาในพื้นที่

       หลังจากพวกเราดูพื้นที่โคก หนอง นา ของป้าวรรณ เรียบร้อยแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ แปลงที่ 2 อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่นี่ทีมงานได้รับข้อมูลว่า

      เจ้าของแปลงเป็นสตรีเช่นเดียวกัน กลับมาจากสหรัฐอเมริกา เคยทำงานจิตอาสาช่วยงานสมเด็จย่าสร้างโรงเรียน ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่สมเด็จย่าไปพัฒนาดอยตุง แปลงที่จะไปดูมีเนื้อที่ประมาณ  11 ไร่ เจ้าของแปลงแบ่งออกเป็น 3 โซน โซนแรก  เป็นแปลงโคก  หนอง นา โซนที่สอง ทำเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมและบ้านพัก  และโซนที่สาม ปลูกผัก ปลูกพืชสมุนไพร

        แต่กว่าจะเข้าถึงแปลงจากถนนลาดยาง ต้องผ่านคอนกรีตและลูกรัง แคบ ๆ ใช้เวลาพอสมควร เมื่อใกล้ถึงเห็นป้ายบอกว่า “โครงหนองนาโมเดล สถานปฎิบัติธรรม สวนสุขภาพสบายใจ พรหมสิริธรรม ป้าติ๋ว”


       “ป้าติ๋ว” หรือ สิริลักษณ์ พรมประเสริฐ อายุ 67 ปี  เล่าว่า  จะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ออกเป็น 3 โซน คือ  “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ชาติ หมายถึง ที่ดิน พื้นที่ดินเราตายไปแล้วมันเอาไปไม่ได้ มันก็ต้องอยู่กับชาติ ศาสนา มีการแบ่งโซนท้ายเป็นพื้นที่ปฎิบัติธรรมไว้ 3 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่พักจิต ดูจิตของเรา  แล้วก็ โซน พระมหากษัตริย์  ท่านได้ให้ทฤษฎีไว้ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เมื่อยามที่มีวิกฤติเดือดร้อนป่วยไข้เราก็ไม่ต้องไปพึ่งใคร เราก็กินของที่มีประโยชน์สุขภาพ เราก็ไม่ต้องไปหาหมอ อย่างตอนนี้วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด ชัดเลย เศรษฐกิจพอเพียง

      “มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่พระองค์ท่านยังไม่สวรรคตป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช ยังไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด มีผู้ถามท่านว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว พวกเราจะอยู่กันอย่างไง ท่านตอบว่าถ้าไม่มีภูมิพล ซึ่งหมายถึงพระองค์ ประเทศไทยก็ยังอยู่ได้ แต่ปลูกที่กินกินที่ปลูก เมื่อวิกฤติขึ้นมาเราไม่ต้องไปวิกฤตกับเขา เราหาเลี้ยงตัวเราได้ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีโคก มีหนอง มีนา มีผักข้างรั้ว ทั้งหมดที่พระองค์สอน ที่พระองค์สั่งเอาไว้ มันคือมรดกแห่งชีวิต มรดกเพื่อความอยู่รอดของคนไทยและของมนุษยชาติ..”

       เมื่อถามว่า คิดอย่างไร จึงเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา” กับกรมพัฒนาชุมชน มีคนชวนหรือไม่ ป้าติ๋ว บอกว่า

       โคก หนอง นาโมเดล พอเห็นประกาศในเว็บไซต์ก็เอาเอกสารไปที่อำเภอเลย ไปยื่นที่อำเภอว่า เรามีเจตจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการค่ะ แล้วทางอำเภอแจ้งมาว่าต้องไปอบรมที่ศูนย์พัฒนาชุมชนที่สาริกา 5 วัน 4 คืน แล้วเขาก็กำหนดวันที่ให้ไปอบรม จริง ๆ แล้วเคยไปอบรมที่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติกับอาจารย์ยักษ์หลายรอบแล้วค่ะ ทุก ๆ 2 ปีไปอบรมที่นั่นเพื่อให้ได้ความรู้ตามศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัวเรา



       ป้าติ๋ว บอกต่ออีกว่า  “จริง ๆ แล้วอยากเข้าร่วมโครงการให้มากกว่า 1 ไร่ แต่เขาบอกให้เอา 1ไร่ก่อน  บ่อที่เห็นอยู่นี่เพิ่งขุดเสร็จได้ไม่นาน ก็เป็นห่วงอยู่ว่า จะเก็บน้ำได้หรือไม่ เพราะเป็นดินทราย  อยากทำตรงนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของกรมพัฒนาชุมชน แล้วเราก็เป็นครูพาทำ เป็นจิตอาสาไป เพราะเคยทำจิตอาสามานานตั้งแต่ยุคสมเด็จย่าขึ้นไปพัฒนาดอยตุง รับอาสาหาเงินหาทุนร่วมไปสร้างโรงเรียนบนดอย ตอนอายุประมาณ 32 ปี ตอนนี้อายุ 65 ก็ 30 กว่าปีแล้ว ตอนหลังไปเมริกาก็ทำงานจิตอาสาในวัดไทย สอนเด็กบ้าง หาทุนสร้างวัดบ้าง ก็ทำมาเรื่อย ตอนนี้เกษียณแล้ว ก็เลยกลับมาทำโคก หนอง นา ซึ่งคิดว่ามันคือ ทางรอดของพวกเราและเราก็ชอบอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ด้วย” 

      ในขณะที่ “ดวงใจ ปะกิระคะ” พัฒนาการอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก บอกว่า “อำเภอบ้านนา มีครัวเรือนสมัครทั้งหมด 74 แปลง ที่อื่นอาจจะมีปัญหาเรื่องคนเข้าโครงการยกเลิก หรือมีปัญหาเรื่องช่าง   แต่ที่อำเภอบ้านนายังไม่มีใครยกเลิก ตอนนี้ยังรักกันอยู่ ขุดไปแล้ว 4-5 แปลง  ซึ่งเราต้องขอบคุณช่างที่มาช่วยเหลือตรงนี้..”

       ส่วน “สมศักดิ์ จรัสศรี” นายช่าง อบต. ศรีกะอาง อำเภอบ้านนา เปิดเผยกับทีมงานว่า  การขุดอาจมีปัญหาบ้างในเรื่องของจำนวนคิวดิน เช่น คลองที่ 1 สามร้อยคิว คลองที่ 2 สองร้อยคิว บ่อ หนึ่งพันคิว  เวลารถเขาขุดมันไม่ได้ เพราะมันต้องเป็นไปตามแบบ ทั้งความลึก และความกว้าง มาตรฐานเขาออกไว้แบบนั้น เวลาเบิกเงินเขาให้เบิกตามจำนวนคิวดิน ส่วนใหญ่ผู้รับเหมามักได้ไม่เต็มจำนวนที่ทางส่วนกลางเขาคิดเอาไว้

       “ตอนนี้บรรดารถแม็คโคร หลายแห่งก็บ่น มันไม่คุ้มเขา เพราะออกแบบเอาไว้ละเอียดเกิน แต่ก็เข้าใจ เพราะมันเป็นเงินรัฐ เงินภาษีของประชาชน ส่วนกลางก็ต้องควบคุม ส่วนผมในฐานะช่าง ก็ช่วยเหลือเต็มที่ มันเป็นหน้าที่ของข้าราชการอยู่แล้ว ในการที่จะช่วยเหลือชาวบ้านให้อยู่ดี กินดี..” นายช่างแห่ง อบต.ศรีสะอาง สะท้อนปัญหาในการขุดให้ทีมงานฟัง เพื่อให้หน่วยงานระดับบนได้เข้าใจปัญหาในการปฎิบัติงานจริงได้รับรู้ เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป


       สำหรับโครงการ “โคก หนอง นา”  นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลนำเงินรัฐเข้าสู่ระดับครัวเรือน โดยไม่ต้องผ่านกลุ่มหรือกองทุนอะไร จุดมุ่งหมายก็เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน รวมทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับชุมชนและประเทศ โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นตัวขับเคลื่อนตามทฤษฎีบันได 9 ขั้น ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนให้พึ่งตนเองได้ เพื่อให้อยู่เย็น เป็นสุข โดยภายใต้การนำของ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนป็นแม่ทัพ ในการพิชิตความยากจนให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ ในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด -19 เป็นภัยคุกคามการอยู่ดี กินดีของประชาชนอยู่อย่างทุกวันนี้!!

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564

ว.เกษตรและเทคโนโลยรพิจิตร สร้างชุดยังชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู้ภัยโควิด


เมื่อวันที่  22 เมษายน พ.ศ.2564 นายธเนศ  คงวังทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร  จ.พิจิตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่  9 และการทำเกษตรแบบผสมผสาน การเลี้ยงตัวเองด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ไว้บริโภคในครัวเรือน 

จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในสถานการณ์นี้ อย่างชุดยังชีพโควิด-19 ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร เป็นอุปกรณ์สำหรับทำเกษตรผสมผสานที่มีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จำกัด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ 

ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทที่ 7 การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมกับ       การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนองแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

 โดยกิจกรรมในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการจัดทำแปลงสาธิตการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมงและการรักษาสิ่งแวดล้อมตามวิถีธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในสถานศึกษาสังกัดสอศ. รวมทั้งสิ้น จำนวน 111 แห่ง  

 ด้านนายวินัย  พยัคศรี  ครูแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร กล่าวว่า ชุดยังชีพโควิด-19 เป็นอุปกรณ์สำหรับทำการเกษตรผสมผสาน ประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ไข่ และการปลูกผักไร้ดิน โดยทั้ง 3 กิจกรรมอยู่บนโครงเหล็ก 3 ชั้น ขนาดของโครงเหล็กกว้าง 65 ซม. ยาว 100 ซม. สูง 125 ซม.

 โดยชั้นที่ 1 กิจกรรมการเลี้ยงปลา ใช้ถังขนาด 200 ลิตร ผ่าตามแนวนอน ชั้นที่ 2 กิจกรรมการเลี้ยงไก่ บรรจุกรงไก่ จำนวน 2 กรง สามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้กรงละ 2 ตัว ชั้นที่ 3 กิจกรรมปลูกผักไร้ดิน ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2.5 นิ้ว ประกอบกันจำนวน 5 แถว เจาะรูเพื่อวางถ้วยปลูกผักได้แถวละ 6 ถ้วย รวม 30 ถ้วย และยังมีการติดตั้งระบบน้ำและระบบไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซล่าเซลล์ โดยปั๊มน้ำใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ ควบคุม             การทำงานของปั๊มน้ำอัตโนมัติด้วยวาล์วตั้งเวลา ซึ่งสามารถตั้งเวลาในการปั๊มน้ำจากน้ำในบ่อปลาหมุนเวียนไปยังระบบแปลงปลูกผักไร้ดิน และจะวนกลับมายังบ่อปลาอีกครั้ง 

ซึ่ง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำชุดยังชีพ                       โควิด-19  ได้แก่ 1.ถังเคมีขนาด 200 ลิตร

 2.เหล็กกล่องขนาด 1.2 x 1.2 นิ้ว 

3.ท่อพีวีซีขนาด 2.1/2นิ้ว                                   

4.แผงโซล่าเซลล์ 

5.เครื่องแปลงไฟ Invertor STA-1000A ขนาด 1,000 W 

6.แบตเตอรี่

 7.อุปกรณ์ควบคุมการชาร์จแผงโซล่าเซลล์

 8.ตู้ควบคุมฝาทึบ 

9.มอเตอร์ปั๊ม ขนาด 6.8 บาร์ 

10.ข้อต่อท่อพีวีซีแบบข้องอ 90 องศา

 11.สว่านหรืออุปกรณ์อื่นที่สามารถเจาะรูได้ 

12. กรงไก่ 

13.ชุดปลูกผักไร้ดิน ประกอบด้วยถ้วยปลูก ฟองน้ำ

 และ14.วาล์วตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ  

ครูวินัย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับวิธีทำชุดยังชีพโควิด-19  เริ่มจากสร้างแบบชุดยังชีพโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย   

 ชั้นที่ 1 สำหรับเลี้ยงปลา ชั้นที่ 2 สำหรับเลี้ยงไก่ และชั้นที่ 3 สำหรับปลูกผักไร้ดิน จากนั้นตัดเหล็กกล่องตามแบบ เชื่อมเหล็กทำโครงสร้าง ทาสีเหล็กหลังเชื่อมให้เรียบร้อย ตัดท่อพีวีซี ติดกาวประกอบท่อกับข้อต่อตามแบบที่ร่างไว้ เจาะรูท่อพีวีซี สำหรับใส่ฐานเพาะผักไร้ดิน ผ่าถังเคมีขนาด 200 ลิตร ตามแนวขวาง

 สำหรับเลี้ยงปลา นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้มาประกอบกับโครงสร้าง ชั้นที่ 1 ถังสำหรับเลี้ยงปลา ชั้นที่ 2 กรงไก่ และชั้นที่ 3 แปลงปลูกผักไร้ดิน ติดตั้งปั๊มน้ำ และวางระบบน้ำ  ติดตั้งระบบไฟฟ้ากับแผงโซล่าเซลล์ 

สุดท้ายทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของปั๊มน้ำ และระบบการไหลเวียนของน้ำ พร้อมกับติดตั้งชุดควบคุม Kidbright IDE ควบคุมการทำงานของปั๊มน้ำ  ด้วยสมาร์ทโฟนจนได้เป็นชุดยังชีพโควิด – 19 

ซึ่งใช้ต้นทุนการผลิต 9,549 บาท สามารถยังชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ในยามที่ต้องกักตัวอยู่บ้านตามแคมเปญที่ว่า “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” 

หากสนใจติดต่อได้ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพิจิตร โทร.084-989-1529  


ที่มาเพจอีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา 

วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: เปิดใจสองนักธุรกิจสามีภรรยา “บัญชา ราษีมิน – กาญจนี ละศรีจันทร์” นักจิตอาสาโคก หนอง นา

   


    “ผมเชื่อว่า โคก หนอง นา  มันคือ ทางรอด ของโลกยุคปัจจุบัน มิใช่ทางเลือก เมื่อเรามาทำแบบนี้ การใช้เงินลดน้อยลง คือ เราใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กินง่าย นอนง่าย เราปรับตัวใหม่หมดเลย แล้วในที่สุดเมื่อเราปรับตัวได้ เราสองคนจึงค้นพบว่า มันคือเป้าหมายของชีวิตเราจริง ๆ ..”


          แม้ปัจจุบันและโลกอนาคต เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทและตอบชีวิตในมนุษย์ได้หลาย ๆ  เรื่อง  แต่การมีอากาศที่บริสุทธิ์ การมีอาหารที่มั่นคง รวมทั้งการมีเครือข่ายบนฐานแห่ง “แบ่งปัน”  สิ่งเหล่านี้โลกสมัยใหม่นับวันจะถอยห่างลงไปทุกที

        การตอบโจทย์ชีวิตด้วยการ “วิ่งทวนชีวิต” กลับไปสู่จุดเดิมของความเป็นมนุษย์ ที่ต้องการความมั่นคง “อากาศและอาหาร” ที่บริสุทธิ์ ปัจจุบันทั่วโลกกำลังต้องการและแสวงหาแหล่งผลิตอากาศและอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดจากสารเคมี

       "โคก หนอง นา"   มีชื่อเต็ม ๆ คือ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ดำเนินการโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ

          กระทรวงมหาดไทย โดย กรมการพัฒนาชุมชน ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นการพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง



          “โคก หนอง นา”  คือทางเลือกเส้นทางหนึ่งสำหรับหลาย ๆ คนที่ต้องการคำตอบชีวิตในยุคปัจจุบัน โคก หนอง นา หมายถึง การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก หนอง นา เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ซึ่งโคก หนอง นา ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

          1.โคก: พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ / ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย / ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

         2.หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) / ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ / ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง / พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

         3.นา: พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

        เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “ทีมงานข่าว" ได้ทั้งท้ายเอาไว้ว่า จะไปเปิดใจ “นักธุรกิจ” สองสามีภรรยา “คุณบัญชา ราษีมิน -คุณกาญจนี ละศรีจันทร์”  นักจิตอาสาผู้คลั่งใคล้ศาสตร์ของพระราชา มุ่งหวังที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน 28 ไร่ ให้เป็นโคก หนอง นา ท่ามกลางหินกรวดและความแห้งแล้ง ให้เขียวชอุ่ม และหวังให้ผืนดินแปลงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมทั้งเป็น “นักจิตอาสา” อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสตร์ของพระราชาทั่วประเทศด้วย


       “พี่กบ”  ยุพาพิน  ศรีนาม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร อาสาเป็นไกร์กิตติมศักดิ์ศักดิ์เหมือนเดิมในการที่จะพายังพื้นที่โคก หนอง นา ของ“บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์”

       เมื่อไปถึงพื้นที่ บัญชา ราศีมิน และ กาญจนี  ละศรีจันทร์  พร้อมทีมงาน  “จิตอาสา” ครูพาทำประมาณ 10 คน ซึ่งล้วนเป็นคนในชุมชนรอรับอยู่แล้ว  สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดเล็ก ๆ  และช่วงที่ทีมงานไปถึง อากาศร้อนอบอ้าว บริเวณพื้นที่อยู่ท่ามกลางทุ่งนา ภายในสวนปลูกป่าไผ่ กล้วยและไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล เต็มไปหมด มีการขุดบ่อและคลองใส้ไก่ พร้อมกับวางท่อเชื่อมถึงกันหมดทั่วบริเวณพื้นที่ 28 ไร่

        เราสองคนเป็นนักธุรกิจการ์เม้นท์ เราทำโรงงานเย็บผ้าเสื้อผ้า เราชอบธรรมชาติ ต่อให้เรามีเงิน ถ้าเราไม่ใช้เงินเราแค่ทำกิน เราอยู่ได้ ความจริงชีวิตมนุษย์สุขกับทุกข์มันอยู่ใกล้เคียงกัน มันอยู่ที่ใจ เชื่ออย่างนั่น

         “ผมเชื่อว่า โคก หนอง นา คือ มันคือทางรอด ของโลกสมัยใหม่ มิใช่ทางเลือก เมื่อเรามาทำแบบนี้ การใช้เงินลดน้อยลง คือ เราใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กินง่าย นอนง่าย เราปรับตัวใหม่หมดเลย แล้วในที่สุดเมื่อเราปรับตัวได้ เราสองคนจึงค้นพบว่า มันคือเป้าหมายของชีวิตเราจริง ๆ ..”

         ทุกอย่างมันเกิดจากตัวเรา ความจริงสิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของมนุษย์ แต่มนุษย์ไม่รู้ว่าไปดิ้นรนอะไรถึงไหน พวกเราเพิ่งกลับจากไปทำเป็นครูพาทำแบบจิตอาสาที่อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ คนที่นั้นมิใช่เฉพาะคนดอยเต่าที่มาอบรมกับเรา ทั้งเชียงใหม่  เขาจะเอาผู้นำมาอบรมกับเรา แต่ละคนล้วนเป็นคนมีเงิน บางคนเป็นนายกเทศมนตรี เป็นนายก อบต.

          “ตอนแรก ๆ  เขาไม่พูดกับเราเลย อยู่ไป 2-3 วัน เราเริ่มปรับพฤติกรรมเขาใหม่ ให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอยู่นั่น คือ สิ่งที่เขาต้องกลับไปเป็นผู้นำชุมชน ต้องกลับไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในท้องถิ่น เขาเริ่มเปิดใจ เราก็ต้องให้ข้อมูลให้พวกเขารู้ว่า ทำไมปัจจุบันคนที่มีอยู่มีกินร่ำรวยแล้ว ทำไมเขาจึงกลับมาทำ 4 พ. (พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น)  บางคนเป็นผู้ใหญ่บ้าน เป็นลูกบ้าน มีหนี้มากมาย เราเป็นผู้ใหญ่บ้าน เราต้องทำให้เขาเห็นการอยู่แบบ 4 พ.  เมื่อทำให้เห็นอยู่ให้เย็นแบบ 4 พ.แล้ว ชาวบ้านเขาก็จะเห็นจะรู้เอง และในที่สุดหากพวกเขาคิดได้  ชาวบ้านจะได้ไม่เหนื่อย เขาจะได้ไม่ต้องไปวิ่งตามเงิน ซึ่งมันเหนื่อย..”

         บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์  บอกเล่าความเป็นมาชีวิตและวิธีคิดในการทำโคก หนอง นา  พร้อมกับพาเดินดูรอบ ๆ  บริเวณพื้นที่ซึ่งล้อมรอบไปด้วย “คลองใส้ไก่” และปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทั่วบริเวณจึงเขียวขจีไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ด้านนอก สถานที่ตรงนี้จึงเหมือนกับสวนป่า        

“ตรงนี้ผมใช้งบส่วนตัวทั้งหมดเลย  เริ่มขุดเมื่อวันที่ 12 มกราคมปี 63 มาจบวันที่ 14 เมษายน ในปีเดียวกัน ผมพอรู้เรื่องวิศวะอยู่บ้าง ผนวกกับได้เครือข่ายจากชมรมวิศวะขอนแก่นมาช่วยดู คำนวณเรื่องน้ำ ผมก็ไปอบรมเรื่องกสิกรรมธรรมชาติของอาจารย์ยักษ์มาด้วย อบรมหลายวัน และเวลาท่านไปบรรยายที่ไหน ก็ตามไปฟังไปดู ตรงนี้ก็ช่วยได้เยอะ

       และผมตั้งใจให้เป็นศูนย์อบรมโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน พื้นที่จริง ฐานเรียนรู้ ต้องมาดูตรงนี้ แต่เนื่องจากเราเพิ่งพัฒนาได้ปีเดียว สถานที่นอน ห้องน้ำ เรือนครัว ยังไม่พร้อม ต้องไปนอนเรือนลูกเสือที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี้มาก..”  บัญชี ราษีมิน กล่าวทิ้งท้าย


           หลังจากออกจากสวน บัญชา ราษีมิน - กาญจนี ละศรีจันทร์    “พี่กบ” ชวนแวะไปดูพื้นที่ของกรมการพัฒนาชุมชนอีกแห่ง พี่กบเล่าว่า เดิมตรงนี้เป็นที่ทำงานของกรมชลประทาน ตอนหลังเมื่อกรมชลประทานจบโครงการจึงมอบให้กรมการพัฒนาชุมชนดูแลต่อ เท่าที่ดูบ้านพักข้าราชการ -พนักงานทรุดโทรมหลายแห่ง แต่พื้นที่เต็มไปด้วยพืชผักสวนครัว

          และที่นี้ได้เจอกับ นพต.หรือนักพัฒนาต้นแบบ 2 ท่าน  “พี่เดือน” วงเดือน เหลาพรม ซึ่งนอกจากเป็น นพต. แล้วยังมีอาชีพเลี้ยงกบเสริมด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และ “พี่ชัย” พรชัย ปัญญาสาร มีอาชีพเพาะเห็ดขาย และทำงานให้กับกรมการพัฒนาชุมชนในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ด้วย

         ก่อนจากกันทั้งคู่ “ฝากคำขอบคุณถึงรัฐบาลและผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ที่เข้ามาช่วยเหลือคนตกงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ”


        ยุคนี้หากพูดถึงนโยบาย เพื่อปฎิบัติการในการสร้างความมั่นคงของชีวิต ทั้งเรื่อง อากาศ น้ำ และอาหาร แล้ว ยุคนี้คงไม่มีสิ่งใดมาเทียบกับโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชนได้  ซึ่งเป็นความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อย่างน้อย 7 ภาคี ในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายความพอเพียง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ที่เน้นการเริ่มต้น เพื่อพอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น โดยเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อน ต่อเมื่อมีเหลือแล้วจึงขยายต่อไปเป็นบันได 9 ขั้นไปนำไปสู่ความพอเพียงแบบยั่งยืนต่อไป...

ส.ส.อดีตพระป.ธ.5ยัน! “สละสมณะเพศ” ไม่ได้แปลว่า“สึก”



เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2564 ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สายพระ พรรคเพื่อไทย จ.สกลนคร เผยกับผู้สื่อข่าวเรื่องความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับอดีตพระเถระคดีเงินทอนวัด 5 รูปของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ว่าตนเคยได้รับโอวาทจาก สมเด็จพระวันรัต วัดบวรฯ ว่า “ประตูมีหู หน้าต่างมีช่อง” ซึ่งมีความหมายว่าจะทำอะไรก็จะมีคนรู้ภายหลังควรระวัง หลังจากที่มีการเผยความเป็นมาเป็นไปในกระแสข่าวจาก http://www.alittlebuddha.com ในหัวข้อ “ฟันธง (ชัย) ! สมเด็จธงชัยรับดาบจาก มส. ฟันอดีตเจ้าคุณธงชัยขาดจากความเป็นพระและอาจจะติดคุกคดีแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ลามเอาผิดเจ้าคุณสุรชัยข้อหาสนับสนุน ลุยล้างป่าช้าวัดสระเกศ” เป็นเว็บไซต์ข่าวที่เชื่อถือได้ในข่าวเชิงลึกในวงการสงฆ์จะรู้ดี หากเรื่องราวเป็นอย่างที่ว่าจริง ตนก็หมดกำลังใจที่จะเป็น ส.ส.สายพระ ช่วยเหลืองานพระพุทธศาสนาเพื่อให้อยู่ยืนยงคง 5,000 ปี ตนบวชเรียนอยู่ในผ้าเหลืองจนถึง ป.ธ.5 ไม่เคยเห็นเรื่องราวที่อื้อฉาวในวงการสงฆ์ขนาดนี้มาก่อน


สำหรับการที่จะเอา “สีข้างเข้าถู” เพื่อให้พระสึกโดยอ้างมาตรา 29-30 ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ มันก็ไม่สามารถจะสึกท่านได้เพราะกฎหมายเขียนชัดว่า “สละสมณะเพศ” มันเห็นชัดอยู่แล้วว่า “สละ” ก็แปลว่า “เอาออก” ส่วนคำว่า “สมณะเพศ” ก็แปลว่า “เพศของพระ” รวมความหมายก็คือ “เอาผ้าเหลืองออก” เพื่อไม่เห็นว่าเป็นพระ ซึ่งเป็นการเคารพผ้าเหลืองซึ่งเป็นของสูงกฎแบบนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องนำไปฝากขัง คนจะยิ่งใหญ่เพียงใหญ่จะใส่ชุดจอมพล หากจะต้องฝากขังก็ควรให้เกียรติชุดนั้นๆ ที่เป็นชุดที่มีเกียรติ  พระก็เหมือนกันจะถูกฝากขังแล้วห่มจีวรแล้วไปอยู่ในคุก มันจะดีหรือไหม  

ดร.นิยม กล่าวอีกว่า ถ้ามีคนถ่ายรูปออกมาให้เห็นอีกมันจะทำความเสื่อมเสียไหม กฎหมายจึงมีความจำเป็นต้องให้เอาผ้าเหลืองออกก่อน ส่วนหากจะให้พ้นจากการเป็นพระจริง พ.ร.บ.สงฆ์ ท่านเขียนชัดในมาตรา 26-28 ที่เขียนชัดว่า “สึก” แปลตรงๆ ถามเด็ก ป.6 ก็ยังรู้ สึกแปลว่า “ลาสิกขา” เมื่อ “ลาสิกขา” นั่นแหละคือการพ้นจากความเป็นพระ! ตอนนี้ตนขอวอนผู้มีอำนาจอย่าเอาการเมืองมาเล่นในวงการสงฆ์เลย จากศึกภายนอกก็มากอยู่แล้ว เจอสึกภายในอีกถึงขนาดเอาข้าราชการประจำเอามาเป็นเครื่องมือเล่นพรรคเล่นพวกเอาอดีตพระเบี้ยแลกขุนมาปั่นกระแส โดยไม่รู้จัก “ผิดชอบชั่วดี” มันจะเป็นบาปอันใหญ่หลวง ตนขอวอนอย่าทำอย่างนี้เลย

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564

“เฉลิมชัย” เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลก เห็นชอบพิมพ์เขียว 2570

 


“เฉลิมชัย” เร่งดันไทยฮับฮาลาลโลก เห็นชอบพิมพ์เขียว 2570 เดินหน้า “1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง” บุกตลาด 2 พันล้านคน ดึง “สคช.” ยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพฮาลาล จับมือ “ศอบต.” ขับเคลื่อน 3 โครงการอุตสาหกรรมฮาลาลภาคใต้พร้อมขยายบทบาทไทยในเวทีโลก 

เมื่อวันที่  21 เมษายน พ.ศ.2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริม สินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” (ฮาลาลบอร์ด-Halal Board) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเกษตรอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากจีน และเป็นอันดับ 12 ของโลก และภายใต้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตรฯ” ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤติการณ์โควิด 19 ในการเป็นประเทศผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลกภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วน

โดยในปี 2563 ที่ผ่านมาตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 2/2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุม

ได้เห็นชอบเนื้อหาร่างวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาล (1 วิสัยทัศน์ 5 แนวทาง) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” โดยมีเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศผู้นำในการผลิต การแปรรูป การส่งออกและการพัฒนาสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาลที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล และเข้าสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายในปี 2570 ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่กำหนดทั้งหมด 5 แนวทาง ได้แก่ (1) เพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (2) สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (3) เสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิต และการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (4) เพิ่มศักยภาพทางตลาด และโลจิสติกส์ (5) ยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวฮาลาลไทย (Thailand Halal Blueprint) ฉบับแรกที่มีความสมบูรณ์ประกอบด้วยเป้าหมาย วิสัยทัศน์ แผนปฏิบัติการ (Action Plan) เป็นแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดที่สำคัญ ผ่านการดำเนินกิจกรรม และโครงการที่กำหนดในแผนปฏิบัติการโดยร่างวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตและการลงทุนเกี่ยวกับสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” และคณะอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและผลิตผลการเกษตร มาตรฐาน “ฮาลาล” ในพื้นที่ชายแดนใต้ได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมไก่และโคครบวงจรที่จังหวัดยะลา 2 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการหลายร้อยรายในพื้นที่โครงการละกว่า 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโครงการอุตสากรรมไก่ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นการทำงานบนความร่วมมือกับศอบต.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นฮับของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลตามเป้าหมายที่วางไว้ 

“ที่ประชุมยังมีมติให้เปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจัดทำวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เป็นคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และนโยบายฯ เพื่อขยายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลในภาคเหนือภาคอีสานภาคกลางและภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองท่าหน้าด่านเช่น อุดรธานี เชียงราย ตาก เป็นต้น ส่วนภาคใต้มีอนุกรรมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลภาคใต้รับผิดชอบอยู่แล้วโดยเร่งขับเคลื่อนโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและศูนย์ AIC เพื่อเป็นฐานการผลิตแปรรูปสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรในการส่งออกไปอาเซียน เอเซียตะวันออก เอเซียใต้เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง อัฟริกา ยุโรปและอเมริกา” นายอลงกรณ์ กล่าว

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้เชิญนายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ จากสำนักงานมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ร่วมหารือแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยในยุคเกษตร 4.0 ผ่านการเสริมสร้างความรู้ และทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเป็นผู้กำหนด ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพได้กำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับผู้ประกอบอาหารฮาลาล ซึ่งสอดคล้องกับหลักศาสนา และมาตรฐานสากล อีกทั้งยังได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาหารฮาลาลของไทย โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำความร่วมมือร่วมกับสถาบันฯ ในด้านการขยายผลสาขาอาชีพที่กำหนดมาตรฐานเสร็จแล้ว การจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ การให้การรับรองตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงการจัดทำมาตรฐานอาชีพเพิ่มเติมในสาขาที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพที่ปรึกษาธุรกิจด้านฮาลาล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาลไทย

 

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2564

สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ออกประกาศแจงปม แพร่ข่าวสถานการณ์โควิดในวัดราชบพิธ


เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564   เพจสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความว่า "ประกาศ สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ที่ ๑ / ๒๕๖๔ เรื่อง ชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ข่าวไม่ตรงความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ๑๙ ในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ความว่า 



ตามที่ มีผู้นำภาพการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประกอบถ้อยคำว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เข้ามาพบปะกับพระเถรานุเถระภายในพระอาราม กระทั่งเกิดข่าวเท็จว่าเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เผยแพร่ไปตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง นั้น

สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ขอชี้แจงว่าภาพดังกล่าว เป็นการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อเพื่อสุขอนามัยภายในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตามรอบการปฏิบัติงานปกติ และเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช มีพระอนามัยดี ทรงอยู่ในการอภิบาลดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด อีกทั้งในระหว่างนี้ ไม่มีการอนุญาตให้บุคคลภายนอกผู้ไม่ได้ผ่านการตรวจว่าปลอดการติดเชื้อโควิด ๑๙ ขึ้นเฝ้าในทุกกรณีอยู่แล้ว จึงไม่มีกรณีพึงวิตกตามข่าวเท็จแต่ประการใด ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข้อความจริงอันพึงเชื่อถือได้ เฉพาะจากประกาศหรือการเผยแพร่ข่าวสารจากสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช หรือจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเท่านั้น 

ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๔"  

"อนุชา"ยันไม่เป็นความจริง! โควิดระบาดวัดราชบพิธ


แนะประชาชนปฏิบัติตามพระคติธรรมสมเด็จพระสังฆราช และปฏิบัติตนตามประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด  

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 ตามที่มีกระแสข่าวลืมทางโซเชียลมีเดีย ระบุมีการแพร่ระบาดบริเวณวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติให้ประสานไปยังวัดและตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว พบว่าไม่เป็นความจริง ขณะที่ทางวัดได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ผ่านมา ทางวัดได้ออกประกาศมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยงดการจัดกิจกรรมภายในวัด ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ในส่วนของพระอุโบสถหรือพระวิหารไม่อนุญาติให้ประชาชนเข้าชั่วคราว สำหรับผู้นำภัตตาหารหรือจตุปัจจัยมาถวายพระภิกษุสามเณร ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และสวมหน้ากากตลอดเวลา โดยไม่ใช้เวลาในวัดนานเกินควร ผู้มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ หรือมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ให้งดเดินทางมาวัด

 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนมักเดินทางเข้าวัด ซึ่งเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ จึงขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ และประกาศของทางวัดที่จะเดินทางไปอย่างเคร่งครัด และขอให้ยึดถือพระคติธรรมที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานเพื่อเป็นกำลังใจในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)  ความตอนหนึ่งว่า "ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งก่อให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่แสวงหาหนทางเพิ่มพูน “สติ” และ “ปัญญา” พร้อมทั้งแบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ความกลัวภัยและความหดหู่ท้อถอย คุกคามเข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร เสียสละ และสามัคคี"

  

ด้านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือทุกวัดทั่วประเทศ งดการจัดกิจกรรมที่นำมาซึ่งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีมาตรการในการคัดกรองผู้ขอบรรพชาอุปสมบท โดยต้องมีผลการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แสดงก่อน จึงจะอนุญาตให้มีการบรรพชาอุปสมบทได้

วัดราชบพิธฯกำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติ 12 ข้อ จนกว่าโควิดคลี่คลาย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา เพจ"สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช" เผยแพร่ประกาศวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ 1/2564 เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ระบุว่า ตามที่ได้มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ในเดือนเมษายน พ.ศ.2564 และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากในทุกพื้นที่ และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่นั้น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงกำหนดมาตรการและข้อปฏิบัติดังนี้

1.งดการจัดกิจกรรมภายในวัด ตั้งแต่บัดนี้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 2.เปิดพระอุโบสถหรือพระวิหารแล้วแต่กรณี เฉพาะเวลาพระภิกษุสามเณรลงทำวัตรเช้าเย็น และประกอบสังฆกรรมตามอาณัติสัญญา โดยไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าร่วม 3.ปิดประตูวัดทุกประตู ยกเว้นประตูฝั่งถนนเฟื่องนครด้านศาลาร้อยปี และประตูฝั่งถนนอัษฎางค์สำหรับพระภิกษุสามเณรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งจำเป็นต้องเข้าออกบริเวณวัด

4.หากพระภิกษุสามเณรไม่มีกิจจำเป็น ให้งดออกนอกวัด ยกเว้นบิณฑบาต หากจำเป็นต้องออกนอกวัดให้สวมหน้ากากและงดไปในที่ชุมชน เมื่อกลับถึงวัดให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง 5.ให้พระภิกษุสามเณรงดการเดินทางไปพำนักยังพื้นที่อื่น โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งงดรับพระอาคันตุกะมาพำนักภายในวัด 

6.ผู้นำภัตตาหารหรือจตุปัจจัยมาถวายพระภิกษุสามเณร ให้ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ และสวมหน้ากากตลอดเวลา โดยไม่ใช้เวลาในวัดนานเกินควร 7.ผู้มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ หรือมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ให้งดเดินทางมาวัด 8.พระภิกษุสามเณรและบุคคลภายในวัด ถ้ามีอาการตามข้อ 7. ให้รีบแจ้งเจ้าคณะที่ตนสังกัดทันที งดคลุกคลีกับคนใกล้ชิด และห้ามปกปิดข้อมูล 9.ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของวัด โดยเฉพาะผู้ที่ต้องถวายงานพระเถระสูงอายุ งดเดินทางไปยังพื้นที่และสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

10.ให้เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1.50เมตร 11.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล และงดการกราบลงบนพื้น ให้ใช้การไหว้แทนเพื่อลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ 12.สวมหน้ากาก เมื่อออกนอกกุฏิหรือพบปะบุคคลอื่น ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่อย่างสม่ำเสมอ ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019และปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัดทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายประกาศ ณ วันที่ 16เมษายน 2564

 

วันพฤหัสบดีที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2564

"อนุชา"รับพระวัดเทพศิรินทร์ติดโควิดหลายรูป เป็นพระบวชใหม่บางรูปก่อนบวชเคยไปเที่ยวทองหล่อ



วันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2564 จากกรณีที่มีกระแสข่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดียระบุว่ามีพระลูกวัดและลูกศิษย์วัดเทพศิรินทร์ติดโควิด-19 จำนวนหลายรูปนั้น นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า พระลูกวัดและลูกศิษย์วัดดังกล่าวเป็นพระมาบวชใหม่ ซึ่งก่อนบวชมีพระบางรูปได้เดินทางไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อมาก่อน จึงทำให้เกิดการระบาดภายในวัด 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานไปยังทุกวัดให้มีการพ่นยาฆ่าเชื้อในบริเวณวัด โดยเฉพาะพระอารามหลวง วัดท่องเที่ยว และสถานที่ภายในวัดที่มีประชาชนเข้าไปกราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น พร้อมทั้งให้เข้มงวดพระบวชใหม่ทุกรูป ต้องมีผลการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ยืนยันก่อน จึงให้บวชได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในศาสนสถาน และเน้นย้ำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งประสานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัด ให้ประสานไปยังเจ้าคณะจังหวัดให้เข้มงวดกวดขันเรื่องที่วัดจัดงาน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันแพร่ระบาดฯ และปฎิบัติตามมติ มส. อย่างเคร่งครัด  

ขณะเดียวกันรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางไปยังวัดหรือศาสนสถานต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ 

รายงานพิเศษ: ปราชญ์ชาวบ้าน“เทือกเขาภูพาน” ผู้ปลูกจิตสำนึกให้ “ฅน ฮัก ถิ่น” ขับเคลื่อนโคก หนอง นา โมเดล


รายงานพิเศษ: ปริญญา นาเมืองรักษ์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง “เทือกเขาภูพาน” ผู้ปลูกจิตสำนึกให้ “ฅน ฮัก ถิ่น” ขับเคลื่อน โคก หนอง นาโมเดล 

“ที่จังหวัดสกลนครให้ไปหาคุณบัญชา ราษีมิน เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำโคก หนอง นา”

ทีมงานได้รับสารสั้น ๆ จาก “อาจารย์หน่า” หรือ  “รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์” ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน  หลังจากฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการพัฒนาชุมชนให้สอบถามข้อมูลเรื่องโคก หนอง นา จากผู้เชี่ยวชาญท่านนี้

จาก อ.ชื่นชม จ.มหาสารคาม ถึง จ.สกลนคร วัดระยะทางประมาณ 300 กม. หลังจากพูดคุยกับป้าสุมาตหญิงแกร่งแห่งอำเภอชื่นชมเรียบร้อยประมาณเที่ยง ทีมงานตัดสินใจเดินทางไปสู่จังหวัดสกลนครทันที เนื่องจากกลัวมืดค่ำตรง “เทือกเขาภูพาน” ขับรถอาจไม่ปลอดภัยได้

“เทือกเขาภูพาน” ขุนเขาแห่งประวัติศาสตร์ อดีตคือสมรภูมิรบของคนไทยที่มีความคิด

แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันคือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามสงบเงียบ มีเนื้อที่ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม และกาฬสินธุ์

ขับรถผ่านเทือกเขาภูพานประมาณ 16.00 น. ธรรมชาติกำลังร่มรื่น มีรถผ่านมาเป็นระยะ ๆ ถนนค่อนข้างดี ไม่ได้อันตรายหรือขึ้นเนินลงเขาแบบถนน “สังขละบุรี” หรือ ถนน “อุ้มผาง” ที่เคยไป แต่ระหว่างทางเห็นป้ายบอก “ห้ามให้อาหารลิง” ตลอดทางและมีลิงอยู่ริมถนนอยู่บ่อยครั้ง ตรงนี้ต่างหากที่ต้องระวัง

ผ่าน “พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์” ทำให้นึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง หากไม่มีสองพระองค์ ปานนี้เทือกเขาภูพาน ไม่รู้ว่าจะมีสภาพเป็นเช่นใด กว่าจะถึงตัวเมืองจังหวัดสกลนครเกือบค่ำ

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2562จังหวัดสกลนครมีประชาชนทั้งหมด1,153,390 คน แบ่งการปกครองออกเป็น 18 อําเภอ 125 ตําบล และ 1,563หมู่บ้าน

จังหวัดสกลนครอบรมครบหมดแล้ว กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านขุดกันเกือบเสร็จหมดแล้ว เพราะทางเรามอบอำนาจเรื่องขุดบ่อ โคก หนอง นาให้ทางอำเภอจัดการไปเรียบร้อยแล้ว 

“จังหวัดสกลนครมีผู้เข้าร่วมโคกหนอง นา งบเงินกู้เพียงตำบลเดียว 21 ราย  แบ่งออกเป็น 3 ไร่จำนวน 20 แปลง และ 15 ไร่จำนวน 1 แปลง  20 แปลง มอบอำนาจให้ทางอำเภอซึ่งเขามีคณะกรรมการดำเนินการอยู่ ส่วนแปลง 15 ไร่ให้หน่วยงานทหารมาขุดให้ 

ที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องโคกหนอง นา เรื่องช่างท้องถิ่นท่านก็ช่วยเหลือเต็มที่ทั้ง อบต.และเทศบาล และตอนนี้เราสร้างคนในพื้นที่ที่เราเรียกกว่านักพัฒนาต้นแบบได้ 10 คนจากงบตัวนี้”

แต่หากเป็นงบประมาณปกติจังหวัดสกลนครมีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นาทั้งหมด 156 แปลง  


“สมาน พั่วโพธิ์” พัฒนาการชุมชนจังหวัดสกลนคร บอกให้ทีมงานฟังหลังจากไปขอข้อมูลโคก หนอง นาจังหวัดสกลนคร พร้อมกับขอให้เจ้าหน้าที่พาไปดูแปลงโคก หนอง นา ของ “คุณบัญชา ราษีมิน” ซึ่งทางพัฒนาการชุมชนจังหวัดขอให้ไปดูแปลงตัวอย่างของ“ปริญญา นาเมืองรักษ์” ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น อ. สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ด้วย  โดยมี “พี่กบ” ยุพาพินศรีนาม เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นผู้นำทาง

“ปริญญา นาเมืองรักษ์” ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสาน ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ “ฅน ฮัก ถิ่น” จ.สกลนคร เขาเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวอีสานมาสู่การปฏิบัติ โดยมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเห็นเกษตรกรนำหลัก 4 พอ คือ “พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น” ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ เป้าหมายสูงสุดหวังให้ลูกหลานอีสานคืนถิ่น เป็นทายาทเกษตรที่นำองค์ความรู้กลับไปพัฒนาอีสานให้อุดมสมบูรณ์เป็น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

“หลักการโคกหนองนาคือ หลักการการจัดการน้ำ หาน้ำ และกักเก็บน้ำ ใช้ประโยชน์จากน้ำ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำโคก หนอง นา ให้คุ้มค่าป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สิ่งนี้มันตอบโจทย์รากเหง้าของคนอีสานด้วย เพราะปกติแล้ว พื้นที่ของคนอีสานมีที่โคก ที่ลุ่ม ที่ดอน ซึ่งบนโคกเขาจะมีวิถีแบบหาอยู่หากินการสร้างที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เขาจะอยู่แบบคนที่สูง การทำโคก หนอง นา คือ การเอาคืนวิถีชีวิต เรื่องของภูมิปัญญา เรื่องของการแบ่งปัน เรื่องของการช่วยเหลือ เรื่องของความสามัคคีกันพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาระหว่างคนในพื้นที่เดียวกันกลับคืนมาด้วย..” ปริญญา นาเมืองรักษ์ บอกให้เราฟังในช่วงหนึ่งของการสนทนา


ปริญญา เล่าต่อว่า  บรรพบุรุษของเขาอพยพมาจาก จ.ร้อยเอ็ด แล้วย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ลุ่มน้ำสงครามจึงเป็นที่ที่เขาเกิดและเติบโต เมื่อจบการศึกษาระดับ ปวช. ด้านบัญชี ได้เดินทางไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียช่วงปี 2530-2535 และเมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทย เขาได้ไปทำงานประจำที่บริษัทใน “เครือสหพัฒน์” กรุงเทพฯ จนถึงปี 2540 แต่เพราะทางบ้านประสบ“ปัญหาภาระหนี้สิน” ประกอบกับเพิ่งมีบุตรคนแรก เขาอยากเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง และเพราะเขาเห็นคุณค่าของผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินไทยที่มีทั้งแสงแดด อากาศ ดิน น้ำ และป่า ต่างจากซาอุดีอาระเบียที่มีแต่ทะเลทรายและลมแล้ง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะนำพาชาวอีสานให้รักษาผืนแผ่นดินไว้ให้ได้ แม้ว่าคนส่วนมากจะมองว่าอีสานแล้ง แต่ในสายตาของเขาอีสานนั้นร่ำรวยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี น้ำใจ และทรัพย์ในดินเพียงแต่จะต้องมองและแก้ปัญหาให้ตรงจุด

หลังจากกลับไปตั้งรกรากที่บ้านเกิดที่ จังหวัดสกลนคร แผนเข้าร่วมโครงการ “ทายาทรับภาระหนี้แทน” กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการเกษตรผสมผสานไทย-เบลเยี่ยม อันเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้พบกับ “อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์” หัวหน้าศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่กับ ธ.ก.ส. จึงได้แนวคิดในการทำการเกษตรผสมผสาน ทั้งปลูกพืช ประมง และเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดต้นทุน แต่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ แม้ว่าเกษตรกรมีความสามารถในการผลิต แต่มีต้นทุนการผลิตทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์และอาหาร อีกทั้งการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ เกษตรกรจึงยังคงมีหนี้สินอยู่


ปี 2548 เขาได้ตั้ง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น” ใช้แนวคิด สร้างงาน ประสานวิชา พัฒนาอาชีพ มาเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนกลุ่ม โดยใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของตัวเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ อาจารย์ปัญญา ลาออกไปทำงานที่ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จังหวัดนครนายก “ฅน ฮัก ถิ่น”  จึงไปช่วยงาน อาจารย์ปัญญา 2 ปี และได้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่นั่น และ ในปี  2550 อาจารย์ปัญญาพาไปเรียนรู้อย่างลึกซึ้งกับ “อ.ยักษ์”ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ซึ่งนอกจากได้เรียนรู้เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาแล้ว ยังได้เรียนรู้การนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ เรื่องบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียงด้วย

เศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐานหัวใจหลักประกอบด้วย 4 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น

“ใช้พื้นที่ 50 ไร่ของตนเอง ตั้งเป็น ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น จากที่เคยทำเกษตรผสมผสานมาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกตามแนวเขตสวนยางพารา และทั้งแนวเขตที่นา ปลูกแทรกในสวนยางพารา และปลูกเป็นป่าต้นน้ำ ตรงกลางทำหนองน้ำ ทำโคกหัวคันนาทองคำ ในเมื่อเรามีอยู่ มีกิน มีใช้ มีความร่มเย็น ก็จะเกิดความมั่งคั่งในเรื่องของอาหาร มั่งคั่งในเรื่องของญาติมิตร จากเดิมที่พื้นที่ไม่มีอะไร ก็เริ่มมีคนอยากเข้ามาศึกษามาเรียนรู้ในส่วนที่โครงการดำเนินการ เกิดความมั่งคั่งยั่งยืนในชีวิตประจำวัน

...ถามว่าทุกวันนี้ยังมีหนี้สินอยู่อีกหรือไม่ ก็ตรงบอกว่า ทุกวันนี้ก็ยังมีหนี้อยู่ แต่พออยู่ได้ ที่นี่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ เป็นที่ร่วมเหล่าญาติ พี่น้อง และที่นี้เป็นฐานเรียนรู้ เป็นสถานที่อบรมผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ทั้งจากจังหวัดสกลนครและจากบึงกาฬด้วย” ปริญญา นาเมืองรักษ์  บอกให้เราฟัง พร้อมกับพาชมดูสวนยางและแปลงตามฐานต่าง ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ยืนต้น พืชคลุมดิน ส่งท้าย




การพูดคุยกับ “ปริญญา นาเมืองรักษ์”ได้ความรู้และมีเรื่องให้พูดคุยมากมาย เนื่องจากเขาเป็น “ปราชญ์เดินดิน” ติดดิน มีองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ดิน ตามศาสตร์ของพระราชา โดยผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิศาสตร์ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทุกวันนี้ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ฅน ฮัก ถิ่น ของเขาจึงมีคนมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย

ตอนหน้า จะไปเปิดใจ “นักธุรกิจ” สองสามีภรรยา“คุณบัญชา ราศีมิน -คุณกาญจนี ละศรีจันทร์”นักจิตอาสาผู้คลั่งใคล้ศาสตร์ของพระราชา มุ่งหวังที่จะพัฒนาที่ดินจำนวน 28 ไร่ ให้เป็นโคก หนอง นา ท่ามกลางหินกรวดและความแห้งแล้ง ให้เขียวชอุ่ม และหวังให้ผืนดินแปลงนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมทั้งเป็น “นักจิตอาสา” อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องศาสตร์ของพระราชาทั่วประเทศด้วย ติดตามตอนหน้า??


วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระอธิการทองอินทร์และพระครูวิมลปัญญาคุณ



เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ความว่า 



วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564

ไทยจะขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ?

 


เมื่อวันที่ 9   เม.ย. 2564  เพจพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ช้านาน แต่เกษตรกรรมในวันนี้ไม่เหมือนอดีตอีกต่อไป แล้วไทยจะขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ? 

ห้องเรียน The Change Maker สัปดาห์ที่ 3 พบกับ ดร.รสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Listen Field (ที่ให้บริการทั้งญี่ปุ่น ไทย อินเดีย และอเมริกา) และหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม CARE ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารและเกษตร ที่ครั้งนี้จะมาพูดเรื่อง “Future of Food and Agriculture” เทคโนโลยีขับเคลื่อนเกษตรยั่งยืน ผ่านการปลูก ‘ส้ม’.

หนึ่ง - ส้มคือผลไม้ที่มีรสชาติขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทาง Listen Field จึงได้วิเคราะห์สายพันธ์ุ (Genomic Selection) เพื่อทำการจำลองผสมพันธ์ุข้ามสายพันธ์ุให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค.

สอง - การใช้ข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการดูแลที่เหมาะสมเพื่อให้รสชาติและคุณภาพออกมาตรงตามที่ต้องการ เช่น การใช้ Water Stress หรือการสร้างความเครียดให้พืชเพื่อสร้างกลไกความหวานให้ส้ม หรือการใช้เทคโนโลยีผ่านการวิเคราะห์รากต้นส้ม เพื่อศึกษาว่าน้ำที่รดไปนั้นปริมาณเหมาะสม หรือช่วงเวลาถูกต้องต่อการผลิตส้มที่ดีได้หรือไม่.

สาม - การใช้เทคโนโลยี Deep Learning หรือ AI รวมกับภาพถ่ายดาวเทียมผ่านการใช้ข้อมูลเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็น กลไกการเติบโต ทรงพุ่ม และอุณหภูมิ เป็นต้น เพื่อดูแลต้นส้มให้มีรสชาติตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรอีกด้วย.

สี่ - การสร้าง Predictive Modeling Platform เพื่อเอาข้อมูลที่กล่าวไปทั้งหมดมาประเมินผ่าน Machine Vision คือให้แมชชีนนั้นๆ เห็นภาพแบบเดียวกับที่มนุษย์เราเห็นแล้วนำไปวิเคราะห์ พร้อมกับนำภาพในพื้นที่เข้ามาช่วยประเมิน เช่น ในพื้นที่มีแมลงหรือไม่ สภาพอากาศแบบใดจะส่งผลให้เกิดแมลงในการเกษตร หรือหาความสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งแต่เดิมปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการใช้จ่ายสำหรับยาฆ่าแมลงและปุ๋ย ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ล้วนมีประโยชน์อย่างมาก เพราะชีวิตที่ดีเกิดจากอาหารที่ดี ประกอบกับเทรนด์อาหารปลอดภัยกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันอีกด้วย.

สุดท้าย - ดร.รสรินทร์บอกว่ากระบวนการทั้งหมดยังย้อนกลับมาสู่เรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ กล่าวคือการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ร่วมกับข้อมูลจะนำมาสู่การลดการใช้ทรัพยากร ลดปัจจัยการผลิต และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุดตามมา.

ซึ่งทั้งหมดคือการนำข้อมูลและ AI มาสร้างอนาคตของอาหารและเกษตรกรรมให้ไกลกว่า Smart Farmer ที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรในการทำฟาร์มเท่านั้น.

“ไม่ใช่ Smart Farmer เพราะเกษตรกรรู้จักพืชและงานเขาเป็นอย่างดี แต่ Future of Food and Agriculture คือการที่เกษตรสามารถควบคุมปัจจัยได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ถูกความต้องการ เพื่อจะเข้าใจว่าพืชเจริญเติบโต และจะสืบพันธุ์ผลผลิตต่อไปอย่างไร ทั้งหมดคือเรื่องของเกษตรกรรมในอนาคตทั่วโลกที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้” ดร.รสรินทร์ ทิ้งท้าย 

สงฆ์สุรินทร์สร้างสังคมสุขภาวะ ชายแดนไทย-กัมพูชา

สงฆ์สุรินทร์ร่วมภาคีเครือข่ายประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะ พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา

เมื่อวันวันที่ 4 เมษายน  2564 เวลา 12.30 น.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง  จังหวัดสุรินทร์ คณะสงฆ์ภาค 11  ณ ห้องประชุมสำนักงานเจ้าคณะอำเภอกาบเชิง วัดอุดมพรหมวิหาร ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  

มีคณะทำงานจากภาคีเครือข่าย เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสวัด สถานศึกษา ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าประชุมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์สุขภาวะพระสงฆ์ในเขตพื้นที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่แนวเขตชายแดนไทย – กัมพูชา โดยในที่ประชุมพระครูพรหมวิหารธรรม เจ้าอาวาสวัดอุดมพรหมวิหาร เจ้าคณะอำเภอกาบเชิง ประธานคณะทำงาน ในระดับพื้นที่ เป็นประธานที่ประชุม ท่านได้ปรารภว่า....โดยที่ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560  ได้ถูกตราขึ้น โดยยึดหลักพระธรรมวินัยและข้อมูลทางวิชาการเป็นฐาน ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมและการเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

สะท้อนเจตนารมณ์และพันธะร่วมกัน และเป็นจุดอ้างอิงของพระสงฆ์ คณะสงฆ์ ชุมชน สังคม และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการกำหนดทิศทางเป้าหมายและยุทธศาสตร์การดูแลและสร้างเสริมสุขภาวะของพระสงฆ์และสังคมในอนาคต

และมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 7/2560  เมื่อวันที่ 20  มีนาคม พ.ศ.2560  มติที่ 191/2560  เรื่อง การดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะที่กำหนดให้ดำเนินการ 

วัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ทั่วประเทศ ตามหลักการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และเป้าหมายการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 3 ประเด็นสำคัญ คือ พระสงฆ์กับการดูแลสุขภาพตนเองตามหลักพระธรรมวินัย ชุมชนและสังคมกับการดูแลอุปัฏฐากพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย และบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคม 

โดยยึดหลักการสำคัญ คือการใช้ทางธรรมนำทางโลก และมาตรการสำคัญในการดำเนินการ 5 ด้านได้แก่ ความรู้ ข้อมูล การพัฒนา การบริการสุขภาพและการวิจัยที่จะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลสุขภาวะพระสงฆ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญาและทางสังคม ตลอดจนการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพโดยก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนทำให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ภายใน 10 ปี (พ.ศ.2560-2569)

สถานการณ์การดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพพระภิกษุและสามเณรภายหลังจาการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับคณะสงฆ์ ได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนงานตามบทบาทและหน้าที่ของส่วนงานเพื่อแก้ปัญหาสุขภาวะพระภิกษุและสามเณรทั้งด้านการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในบริการด้านสุขภาวะการรักษา การส่งเสริม การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตตามพระธรรมวินัย โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ 4 รูปแบบ คือ

1. พระสงฆ์เป็นกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

2. พระสงฆ์เป็นผู้เข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่

3. หน่วยงานองค์กรในชุมชนร่วมกับพระสงฆ์ในการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

4. คณะสงฆ์ร่วมเป็นกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ผลักดันข้อเสนอในการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับตำบลทุกตำบลในอำเภอ การมีส่วนร่วมดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะองค์กรสงฆ์และสุขภาวะของชุมชนนับว่าเป็นฐานสำคัญในการดูแลสุขภาวะองค์กรสงฆ์และเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

โดยที่พระสงฆ์เป็นผู้มีความสำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนา พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม และการพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชน ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเอง สิ่งแวดล้อมภายในวัด และขยายผลสู่การพัฒนาสุขภาวะของชุมชน          

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าพระสงฆ์กลับมีปัญหาทางสุขภาพ โดยเฉพาะป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือดและภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการฉันอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพและยังขาดความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงผลเสีย อันก่อให้เกิดการอาพาธหรือการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้เสี่ยงต่อสิ่งที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขจะกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในสังคม 

คณะสงฆ์อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ จึงได้นำเสนอโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพ เพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ต่อคณะทำงานที่มหาเถรสมาคม โดยประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง มหาเถรสมาคม ได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อการดังกล่าว และคณะสงฆ์อำเภอกาบเชิง จึงได้มีคำสั่งที่ 02/2564 ลงวันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2564  เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  คณะสงฆ์ภาค 11          

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หมวด 1 มาตรา 5 กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพฯ และมาตรา 47 กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (คณะกรรมการหลักฯ) สนับสนุน ประสาน และกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่โดยให้ได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น 

และได้มีการออกประกาศ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย ที่กำหนดไว้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเมตตาจาก พระมหาประเสริฐ สุเมโธ ,ดร. พระ อสว. จากจังหวัดบุรีรัมย์และพระครูปริยัติภัทรคุณ เจ้าอาวาสวัดสิงห์วงศ์ เจ้าคณะอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ประธานคณะทำงานพื้นที่ตำบลหนองไทร อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมเป็นกำลังใจและให้ข้อคิดเห็นแนวทางการทำงานเป็นภาคีเครือข่ายแบบการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน      


  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ คงทรัพย์ กรรมการบริหารและเลขานุการ ศูนย์ประสานงานเครื่อข่ายหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธ จังหวัดบุรีรัมย์ ปฏิบัติหน้าที่คณะทำงานและเลขานุการ ในการประชุม ได้สรุปผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ในระดับพื้นที่ มีข้อสังเกต พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ และได้มีมติเห็นชอบร่วมกันในการดำเนินโครงการการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในระบบสุขภาพ เพื่อสังคมสุขภาวะผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพ

ในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  ให้เป็นพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุรินทร์  โดยผู้นำชุมชนจะนำโครงการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล นำไปบรรจุแผนพัฒนาตำบล โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในพื้นที่ ช่วยประสานงานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งกลไก

และขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ดังนี้



1. ร่วมกันจัดทำแผนกิจกรรมการทำงานเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ ผ่านกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ที่เน้นการมีส่วนร่วมดำเนินการตามแผน โดยมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ และสรุปผลการดำเนินงานตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้

2. ร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ รวมถึงดำเนินการและจัดทำสรุปผลการดำเนินการตามที่กองทุนกำหนด

3. เข้าร่วมประชุม ร่วมกระบวนการพัฒนาศักยภาพกับคณะทำงานภาค (Node Core Team) และคณะทำงานส่วนกลาง ตามที่ได้รับการประสานงาน

4. ให้ความร่วมมือกับโครงการในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างดำเนินโครงการ         

5. บันทึกข้อตกลงการขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่กองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์            

พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธในระดับ ท้องถิ่นหรือพื้นที่ วัดอุดมพรหมวิหาร ตำบลคูตัน อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์  ขึ้น เพื่อรับบทบาทหน้าที่เป็นองค์การขับเคลื่อน หนุนเสริมบทบาทวัดและตำบล ให้การขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กรสงฆ์และชุมชนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายของมหาเถรสมาคมและรัฐบาล เกิดความคล่องตัว และเต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม โดยมีวัดร่วมกับตำบลเป็นศูนย์กลางการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และประชาชน สู่เป้าหมายพระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข  สืบต่อไป 

 



วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564

"พระพรหมบัณฑิต" รับถวายฉีดวัคซีนโควิดแล้ว



เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 เพจคติธรรม วาทะธรรม พระพรหมบัณฑิต ได้โพสต์ข้อความว่า "เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๔๕ น.โดยประมาณ พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ ประธานศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณฯ(มจร.) เข้ารับการฉีดวัคซีนปัองกันเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ตัววัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca)

พร้อมด้วยพระเดชพระคุณพระวิมลปัญญาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร เจ้าคณะแขวงวัดกัลยาณ์ โดยมี นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ ถวายการดูแลพร้อมด้วยคณะแพทย์ ณ โรงพยาบาลสงฆ์ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร คติธรรม วาทะธรรม พระพรหมบัณฑิต  รายงาน"

และวันที่ 9​ เมษายนนี้  โรงพยาบาล​สงฆ์​ กรมการแพทย์​ กระทรวงสาธารณสุข​ ได้ถวายการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคโรนา​ 2019​ (covid-19)​ แด่​ พระสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์เขตภาษีเจริญ​ จำนวน​ 5  แขวง​ ​ 25​ วัด​ และพระสงฆ์จากวัดประยุรวงศาวาส​ 20​ รูป​ รวม​ 48  รูป​  โดยทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนของ​ Astra​ Zeneca​ จำนวน​   1 โดส​ในวันนี้​และจะได้รับการฉีดอีก​ 1 โดส​ครั้งต่อไปในวันที่​ 22​ มิถุนายน​ 2564​ ณ​ ศาลาเศรษฐีสุนิรันดร​์​ วัดนาคปรก​ เขตภาษีเจริญ​ กรุ​งเทพมหานคร​ สรุปผลการฉีดวัคซีนภาพรวมวันนี้​ ไม่ปรากฎว่ามีพระสงฆ์รูปใดมีอาการไม่พึงประสงค์​ มีผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีนประการใด

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564

ภูมิใจไทยระทึกอีก! "ส.ส.แบงค์"ฉะเชิงเทราติดโควิด



เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564  นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ หรือ"ส.ส.แบงค์" ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต1 พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 7 เมษายน 2564  ได้ทราบผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็น "บวก"  จากการสอบสวนโรคน่าจะได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารร่วมกับกลุ่มเพื่อน  (กลุ่มเพื่อนมีความใกล้ชิดกับร้านอาหารที่พบเชื้อใน กทม. ) เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา อาการเบื้องต้นไม่มีไข้ และไม่แสดงอาการใดๆ ขณะนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพริ้นซ์สุวรรณภูมิ จึงกราบขออภัยทุกท่าน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย 

สำหรับ Timeline นั้นได้พยายามตรวจเพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนทำงานในพื้นที่เป็นประจำครับ 

วันที่ 1 เมษายน เวลา 12.22 น. ตรวจโควิด swab รพ.พญาไท2 ไม่พบเชื้อ เวลา 18.00 น. งานน้ำชา ลาดน้ำขาวเปรง

วันที่  2  เมษายน ยกเลิกงาน - ผู้ร้องเรียนเอกสารไม่พร้อม - นัดปรึกษาหารือ ผู้ติดต่อไม่สะดวก

วันที่  3  เมษายน เวลา 15.00-16.30 น. พระราชทานเพลิงศพ วัดอุดมรังสี เวลา 20.00-20.45 น. ฟังพระอภิธรรม วัดจุกเฌอ

วันที่  4 เมษายน เวลา 9.30-10.00 น. งานสานใจอัดนินโมส ตลาด16 เวลา 18.30-20.00 น. งานแต่ง อบต.คลองนครเนื่องเขต

วันที่ 4 เมษายน เวลา 21.30 น. ทานอาหารร่วมกัน 4 คน. -เพื่อนๆ ติดโควิดทั้ง2 คน เพื่อนๆมีความใกล้ชิด ร้านอาหารที่พบเชื้อใน กทม.

วันที่  5 เมษายน อยู่คอนโดคนเดียว ยกเลิกไปร่วมงานวันเกิดรุ่นพี่ (พี่แม็ก เดโช)

วันที่  6 เมษายน เวลา 10.30-11.30 น. รพ.พญาไท2 รับวัคซีน ไข้เลือดออกเข็ม 2 และไวรัสตับอักเสบ A เข็ม 2 ตรวจโควิด swab

วันที่  7 เมษายน อยู่คอนโดคนเดียว เวลา 22.00 ผลตรวจเป็นบวก

วันที่  8 เมษายน เข้ารับการรักษาที่ รพ. 

วันที่ 1 - 4 เมษายน อยู่ฉะเชิงเทรา และวันที่ 5-7 อยู่กทม. 

ตลอดเวลาที่อยู่นอกสถานที่ใส่หน้ากากอนามัยอยู่สม่ำเสมอ

ได้เห็นส.ส.-ส.ว.พุทธมีน้อย! หนุนพระ-เณรออกเสียงประชามติได้


วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2564 ในที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.. ในมาตรา 20 เรื่องการกำหนดบุคคลต้องห้ามออกเสียงประชามติ ที่กมธ.ระบุห้ามพระภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช และผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นผู้ออกเสียงประชามติ แต่กมธ.เสียงข้างน้อยและส.ส.ฝ่ายค้าน มีความเห็นว่า ไม่ควรตัดสิทธิพระภิกษุ สามเณรในการออกเสียงประชามติ เพราะพระภิกษุสงฆ์ก็มีความเป็นเจ้าของประเทศ ควรมีสิทธิทำประชามติได้          

ขณะที่พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การห้ามพระภิกษุออกเสียงประชามติ เนื่องจากความเหมาะสมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามพระภิกษุใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ก็ควรบัญญัติให้กฎหมายประชามติมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งพระภิกษุเป็นผู้ทรงศีล ไม่สมควรเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง หากให้ยุ่งเกี่ยวการเมืองไม่ว่ารูปแบบใด อาจเกิดความไม่เป็นกลางเกิดขึ้น ไม่ควรทำตัวอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบกับเนื้อหาที่กมธ.แก้ไขมาด้วยคะแนน 338 ต่อ 105 งดออกเสียง 3

ต่อมาดร.นิยม เวชกามา พรรคเพื่อไทย จ.สกลนคร เปิดเผยว่า การที่ตนได้อภิปลายถึงการคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ….  มาตรา 20 อนุ 1 หรือ (1) ที่ระบุ ห้ามภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวช ไม่ให้เป็นผู้ลงประชามตินั้น ตนได้อ้อนวอนขอมือ ส.ส. และ ส.ว. ในสภา และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ควรจะให้โอกาสพระสงฆ์และสามเณรสามารถลงประชามตินั้น ผลสุดท้าย ได้เสียงโหวดที่สนับสนุนให้พระสามารถลงประชามติได้เพียง 105 เสียง จากลงมติจำนวน 450 คน  งดออกเสีย 3 และไม่ลงคะแนนเสียง 4  

ดร.นิยม กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ตนต้องขอขอบคุณ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ พรรคก้าวไกล ที่อภิปรายสนับสนุนให้พระลงประชามติได้อย่างดุเดือด แต่สุดท้ายเราได้เห็นแล้ว ว่า ส.ส. และ ส.ว. เลือดชาวพุทธที่สนับสนุนพระมีน้อย ตนเห็นว่าภายภาคหน้าหากไม่มีการปฏิรูประบบการเมืองที่มีการชี้นำจากผู้ที่ชี้นำ ประเทศไทยอาจเป็นประเทศอดีตเมืองพุทธในอนาคต

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564

รายงานพิเศษ: การขับเคลื่อนโคก หนอง นา คือ “การฟื้นวิถีชีวิตคนอีสานกลับคืนสู่ท้องถิ่น”

 


“หลักการโคกหนองนาคือ หลักการการจัดการน้ำ หาน้ำ และกักเก็บน้ำ ใช้ประโยชน์จากน้ำ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่การทำโคก หนอง นา ให้คุ้มค่าป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สิ่งนี้มันตอบโจทย์รากเหง้าของคนอีสานด้วย เพราะปกติแล้ว พื้นที่ของคนอีสานมีที่โคก ที่ลุ่ม ที่ดอน ซึ่งบนโคกเขาจะมีวิถีแบบหาอยู่หากินการสร้างที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช เขาจะอยู่แบบคนที่สูง การทำโคก หนอง นา คือ การเอาคืนวิถีชีวิต เรื่องของภูมิปัญญา เรื่องของการแบ่งปัน เรื่องของการช่วยเหลือ เรื่องของความสามัคคีกันพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาระหว่างคนในพื้นที่เดียวกันกลับคืนมาด้วย..” ปริญญา นาเมืองรักษ์ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติภาคอีสานสะท้อนนโยบายการขับเคลื่อนโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่กำลังฮอตอยู่ตอนนี้ด้วยความดีใจที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นมา


“ทีมข่าวเฉพาะกิจบ้านเมืองออนไลน์”เดินทางไปดูโคก หนอง นา ที่อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งจังหวัดนี้มีทั้งหมด 13 อำเภอมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 13 อำเภอ ครอบคลุม 85 ตำบล 635 ครัวเรือน บางแปลงขุดเสร็จแล้ว บางแปลงกำลังลงมือขุด และบางแปลงกำลังทำสัญญาจ้างขุด

อำเภอชื่นชมมี 4 ตำบล 29 หมู่บ้าน มีผู้เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา จำนวน 37 ครัวเรือน ทีมข่าวได้รับการแนะนำให้ไปดูแปลงที่ ช่างกำลังขุดบ่ออยู่ และที่สำคัญเจ้าของแปลงนี้ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรีได้ถึงสองคน การทำเศรษฐกิจแนวนี้ ภาครัฐก็หันมาสนใจมาสร้างถนน นำไฟฟ้าเข้าชุมชนขุดบ่อบาดาลอำนวยความสะดวกให้ด้วย



“พี่น้อย” นางสาวพรทิพย์ เกษมจิตร์ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ หรือ นพต. เป็นลูกจ้างโครงการโคก หนอง นา ประจำอำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม เป็นผู้นำทางพาไปพบกับ “เจ้าของแปลง” ที่เข้าร่วมโครงการ 

พี่น้อย เล่าว่า เดิมตนเองเป็นเจ้าร้านขายของชำและปลาหมึก เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้รับผลกระทบ รายได้ลดน้อยลง และตนเองก็สนใจปลูกพืชผักสวนครัวอยู่แล้ว จึงสมัครเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ของกรมการพัฒนาชุมชน

“ก็ลองสมัครดู เพราะสิ่งนี้มันคือชีวิตของคนในชุมชนอยู่แล้ว มันคือวิถีชีวิตของคนอีสาน การทำเกษตร มันคือ ชีวิต เดิมก็มีร้านขายของชำและขายปลาหมึก เมื่อรู้ว่ากรมการพัฒนาชุมชนต้องการลูกจ้างสัญญารายปี น้อยก็เข้าสมัคร เมื่อได้ก็ทำสัญญาเป็นลูกจ้าง ได้ทำงานที่ชอบและมีรายได้ประจำด้วย..”

“ป้ามาต” หรือ นางสุมาต ศรีประเสริฐ คือ เจ้าของแปลงเกษตรขนาดใหญ่จำนวนเนื้อที่ 21 ไร่ แบ่งทำนาจำนวน 12 ไร่ ปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ 3 ไร่ ปลูกผักผสมผสานจำนวน 2 ไร่ และเข้าร่วมโครงการโคกหนอง นา จำนวน 3 ไร่ และสร้างที่อยู่อาศัยพร้อมโฮมสเตย์อีกจำนวน 1 ไร่ 


“อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ป้ามาต หญิงตัวเล็กบุคลิกคล่องแคล่ว พูดจาอธิบายด้วยความภูมิใจสิ่งที่ตนเองทำและได้รับจากการดำเนินแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เดิมทำแต่นา เดียวน้ำท่วม เดียวภัยแล้ง ไปไม่รอด อยากลดต้นทุน เริ่มทำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว  ปลูกผักแบบผสมผสาน ไม่ปลูกแบบเชิงเดียวอีกต่อไป แบ่งเนื้อที่ปลูกผักบ้าง ทำนาบ้าง ขุดสระเลี้ยงปลาก็ทำ           

หัวใจสำคัญของานทำเศรษฐกิจพอเพียง คือ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มันจะลดรายจ่ายได้ ปลูกผักเอง เลี้ยงปลาเอง  ได้กินผักปลอดสารพิษ คนซื้อเยอะแยะ ในชุมชนก็มี ตลาดนัดก็มี ขายไม่หมดก็ถวายวัด ขายไม่หมดก็แบ่งให้กับชุมชน เพื่อนบ้าน

“ดิฉันทำเกษตรพอเพียงนี่แหละ ทหารก็มาช่วย กระทรวงเกษตรก็ลงมาช่วย อบต.ทำถนนเข้ามายังบ้าน ไฟฟ้าก็ถึง บ่อบาดาลหน่วยงานรัฐเขาก็มีขุดได้ ทำแบบนี้ส่งลูกเรียนจบจนปริญญาตรีได้ตั้งสองคน ทำแล้วมีความสุขมาก ตอนนี้รายได้ทุกเดือน ๆ ละ 10,000 บาท สบาย ๆ ” ป้ามาต เล่าด้วยความภาคภูมิใจผลสำเร็จของตนเอง

ภายในบริเวณเนื้อที่ 21  ไร่ เต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิด มีบ่อน้ำขนาดใหญ่ 2 บ่อ มีเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ในบ่อก็มีปลา ช่วงที่เราไปถึงรถแม็คโครกำลังขุดบ่อขนาดใหญ่ มีน้ำผุดออกมาให้เห็น เนื่องจากขุดลึกถึงชั้นดินตับเป็ด 

 


           

“เข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา เพราะต้องการน้ำ การทำพืชเชิงเดียวไปไม่รอด ต้องการบริหารจัดการน้ำ บ่อที่มีอยู่น้ำไม่เพียงพอ ทำการเกษตร ปลูกต้นไม้ ต้องใช้น้ำปลูกทุกอย่าง ยิ่งหากเราต้องการเดินตามรอยศาสตร์ของในหลวงปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างน้ำนี้สำคัญมาก ตอนนี้กำลังขุดบ่อ เป็นงบปกติของกรมพัฒนาชุมชน..           

โควิดไม่สะทกสะท้านเลย ปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง ขายเอง ตอนนี้ไม่พอขาย นอกจากปลูกผักแล้ว พช.เขาก็มาส่งเสริมเลี้ยงหมู เห็ด เป็ดไก่ แบบนี้ยั่งยืนกว่าทำพืชเชิงเดียว วิกฤติอะไรก็มาทำร้ายเราไม่ได้ ไม่เครียด มีโฮมสเตย์ให้คนมาพักคืนละ 120 บาทต่อคน มีอาหารตอนเช้าให้ด้วย บางคนมานอนแล้วก็ซื้อผัก ซื้อผลไม้ในสวน มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกทาง พช.ช่วยได้เยอะ การส่งเสริมแบบนี้ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ เพราะเป็นการส่งเสริมอาชีพ..” ป้ามาต บอกส่งท้ายด้วยใบหน้าที่ภูมิใจกับสิ่งที่ตนเองได้ทำลงไป

พื้นที่ใกล้เคียงได้พบกับ “ผู้ใหญ่สวาท”คุณสวาท มานะศรี กำลังลงมือปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ ประเภท  ยางนา พะยูง และตะเคียนอยู่ ริมบ่อที่ขุดแล้วสังเกตเห็นมีปลูกหญ้าแฝกและบนคันดินปลูกต้นกล้วยเอาไว้  

     


     

ผู้ใหญ่สวาท เป็นพี่ชายของป้ามาต บอกว่า ที่ดินตนเองเป็นที่ลุ่มเจอน้ำหลากและท่วมทุกปี ทำนาไปไม่รอด เจอน้ำท่วมทุกปี ไม่เหลือ จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ โคก หนองนา ในเนื้อที่จำนวน 3 ไร่ ตอนนี้มีบ่อ 2 บ่อ มีคลองใส้ไก่อีก 3  ขุดหมดแล้ว กำลังปลูกไม้ยืนต้น พวกไม้กินได้ พวกไม้ที่ใช้สอย แล้วก็ปลูกผักเลี้ยงปลาคิดว่าคุ้มกว่าทำนา                

“ทำโคก หนอง นา มันคือการผสมผสาน มันเก็บได้ตลอด ทำนาปลูกข้าวมันได้ครั้งเดียว ทำท่วมมา 2 ปี ผมไม่ได้อะไรเลย ข้าวเน่าหมด น้ำท่วมเสียมีค่าใช้จ่ายสูบน้ำอีก  โครงการนี้ศึกษาแล้วมันมีรายได้ตลอดเวลาและความมั่นคงมันก็ดี  หวังว่าหลังจากนี้จะมีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน รายปี ตออดอายุเรา คิดว่าอย่างนั้นนะ..”  ผู้ใหญ่สวาทบอกความคาดหวังการเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา กับกรมการพัฒนาชุมชน

ก่อนจากกันได้เจอกับผู้รับเหมาขุดบ่อ “พี่สมชาย หมื่นผล” พี่สมชายบอกว่า การรับจ้างขุดที่นี้ไม่มีปัญหาเรื่องแบบแปลน ขุดตามตามข้อตกลงระหว่างกรมพัฒนาชุมชนกับเจ้าของแปลงที่เข้าร่วมโครงการ

การทำสัญญาเป็นระบบแปลงต่อแปลง ขุดมาแล้ว 2 แปลงไม่มีปัญหาอะไร  กรมการพัฒนาชุมชนเจ้าของแปลง ช่างท้องถิ่น คุยกันเรียบร้อยเราก็ขุดตามแบบที่ตกลงกันเอาไว้ แม้รายได้ถึงมันจะน้อย ดีกว่าไม่มีงานทำ 


พี่สมชาย หมื่นผล บอกต่อว่า  “ผมมีรถขุด 2 คัน แบ่งงานกันทำอีกคันไปทำงานอีกจังหวัดขุดบ่อในโครงการโคก หนอง นาเหมือนกัน ก็พยายามทำความสุดสามารถ การขุดแต่ละพื้นที่ยากง่ายต่างกัน ยังที่อำเภอชื่นชมนี้ ขุด  2 บ่อ มีไส้ไก่ เชื่อมกัน ความลึกและความยาว การกันดินพังก็เป็นตามมาตรฐานแบบของกรมการพัฒนาชนสรุปราคา 104,000 บาท ใช้เวลาขุดประมาณ 10 วันกว่า จนแล้วเสร็จ เมื่อตรวจงาน รับงานเรียบร้อยก็เบิกจ่าย ไม่มีปัญหาอะไร..”


          

การเดินทางมาจังหวัดมหาสารคามเสียดายว่า“ทีมข่าวเฉพาะกิจบ้านเมืองออนไลน์” ไม่ได้เจอ “บุคคลตามเป้าหมาย” คือ  “พี่รุ่งริ่ง” หรือนายกระรัญ ดาวโคกสูง แห่งบ้านเหล่าอีหมัน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากติดภารกิจ “จิตอาสา” ต่างจังหวัด          

ชีวิตพี่รุ่งริ่ง เหมือนกับนักปราชญ์ชุมชนทั่วไปคือ “คิดนอกกรอบ” เห็นพ่อแม่ทำนา มีแต่หนี้ หากทางออกไม่เจอ วันหนึ่งดูข่าวพระราชสำนักเกี่ยวกับ “โคก หนอง นาโมเดล” จึงสนใจเพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งหนึ่งคือ “ทางออก” ของชีวิตความเป็นหนี้ได้ จึงตัดสินใจลาออกจากโรงงานที่ทำมา 15 ปี ไปฝึกอบรมที่ศูนย์กสิกรรมมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี  แล้วได้นำศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” มาปรับใช้ที่บ้าน ในพื้นที่ 6 ไร่ ผ่านไป 1 ปี เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง ช่วยลดรายจ่ายจากการซื้ออาหารการกิน และเริ่มมีรายได้เข้ามา โดยได้ผลิตถ่านไบโอชาร์ ควันที่ได้จากการเผาถ่านจะผลิตเป็นน้ำส้มควันไม้ เพื่อนำไปไล่แมลงในสวน แบ่งพื้นที่ไปเลี้ยงวัว ปลูกกล้วย มะละกอ อ้อย พืชผัก และอื่น ๆ โดยปลูกแบบผสมผสาน แบบเกื้อกูล รวมถึงปลูกไม้ดอกเพื่อล่อแมลง และมีแผนที่จะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ แบบหลุมพอเพียง ปลูกแบบรั้วกินได้ ทำให้มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน ส่วนที่เหลือก็นำไปขายเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นโดยลำดับ

ตอนต่อไปทีมงานมีข้อมูลว่าที่ “จังหวัดสกลนคร” มีปราชญ์ชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการเดินตามรอยศาสตร์ของพระราชาเป็นศูนย์กลางของการมาอบรมของผู้คนที่สนใจด้านนี้หลายจังหวัด  และทั้งมีนักธุรกิจคู่หนึ่งสนใจทำโคก หนอง นา ด้วยความที่อยากรู้ อยากเห็นสภาพพื้นที่จริง และทำไมนักธุรกิจปัจจุบันจึงหันมาสนใจทำโคก หนอง นา กันจำนวนมาก จะไปเปิดมุมคิดและความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ติดตามตอนหน้าจังหวัดสกลนคร..

วิเคราะห์เปยยาลวรรคมาตุคามสังยุตต์ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 18: บทบาทในพุทธสันติวิธี

  วิเคราะห์เปยยาลวรรค มาตุคามสังยุตต์  ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 18: บทบาทในพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 18 ในหมวดสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ...