วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

"สมศักดิ์" เปิด "กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย" ช่วยดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย เล็งขยายให้ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ



"สมศักดิ์" ปิ๊งไอเดีย จับมือ "ปลัด สธ."  ออกกฎหมายให้ อสม. หวังมีค่าตอบแทน-มีความยั่งยืน หลังที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายเฉพาะ ต้องใช้มติ ครม.อนุมัติค่าตอบแทนให้ เตรียมยกระดับ อสม. พร้อมเปิด "กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย" ช่วยดูแลพระสงฆ์อาพาธระยะท้าย เล็งขยายให้ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ

วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิด”กุฏิชีวาภิบาลจังหวัดสุโขทัย” โดยมี พระเทพวชิรเวที เจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.สุโขทัย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย พญ.ธัญญารักษ์ สิทธิวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข อสม. และประชาชนกว่า 500 คน เข้าร่วม ที่วัดราษฎร์ศรัทธาราม ตำบลทับผึ้ง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ตนรู้สึกดีใจที่ได้เจอพี่น้อง อสม. โดยตนมีความภาคภูมิใจ ที่ได้อยู่กับกลุ่มคนที่ต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้มีอายุยืนยาว ซึ่งตนทราบว่า อสม.ทุกคนเหนื่อยในการดูแลผู้คน เพราะต้องการให้ทุกคนหลุดพ้นจากความเจ็บป่วย ดังนั้น ตนจึงมีข่าวดี สำหรับ อสม.ทุกคน โดยตนได้หารือเบื้องต้นกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า จะช่วยออกกฎหมาย เป็น พ.ร.บ.สำหรับ อสม. เพื่อให้ อสม. มีค่าตอบแทน และมีความยั่งยืน โดยไม่ต้องกังวลว่า ในอนาคตจะได้เดือนละ 2,000 บาทหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย ก็ต้องใช้มติคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติ ซึ่งถ้าไม่ให้ อสม.ก็จะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกฎหมายแล้ว ก็จะเกิดความยั่งยืน ดังนั้น ตนจะช่วยผลักดันให้ อสม.เกิดความยั่งยืนต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการกุฏิชีวาภิบาล ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อาพาธ เพราะจากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2564 มีพระสงฆ์ สามเณร จำนวน 241,368 รูป ซึ่งพระสงฆ์ในจำนวนนี้ มากกว่า 50% เป็นผู้สูงอายุ และมีพระอาพาธระยะสุดท้าย ถึงจำนวน 9,655 รูป โดยที่ผ่านมา พระอาพาธติดเตียง หรือ พระอาพาธระยะท้าย มีความประสงค์จะกลับวัด แต่สถานที่รองรับพระอาพาธมีน้อยมาก ซึ่งวัดก็ยังขาดบุคลากรผู้ดูแลประจำวัด รวมถึงญาติที่รับไปดูแลที่บ้าน ส่วนใหญ่ก็มักต้องลาสิกขา

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ จึงดำเนินโครงการกุฏิชีวาภิบาล ตั้งแต่ปี 2567 ด้วยงบประมาณ 4.3 ล้านบาท เพื่อเป็นสถานที่ดูแลพระอาพาธระยะท้าย ซึ่งเริ่มต้นโครงการ มีการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลต้นแบบแล้ว จำนวน 5 แห่ง คือ 1.วัดทับคล้อ จ.พิจิตร เขตสุขภาพที่ 3 , 2.วัดหนองกะพ้อ จ.สระแก้ว เขตสุขภาพที่ 6 , 3.วัดท่าประชุม จ.ขอนแก่น เขตสุขภาพที่ 7 , 4.วัดบุญนารอบ จ.นครศรีธรรมราช เขตสุขภาพที่ 11 และ 5.วัดห้วยยอด จ.ตรัง เขตสุขภาพที่ 12 โดยโครงการมีเป้าหมาย จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล ให้ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้ จะมีการพัฒนาศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก หรือ พระดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในการช่วยดูแลพระอาพาธ โดยขณะนี้ มีพระคิลานุปัฏฐาก ที่ผ่านมาอบรมแล้ว คือ หลักสูตรพระบริบาลภิกษุไข้ ระยะเวลา 35 ชั่วโมง จำนวน 10,13 รูป หลักสูตรกรมอนามัย ระยะเวลา 70 ชั่วโมง จำนวน 13,414 รูป และหลักสูตรการดูแลพระอาพาธระยะท้าย กรมการแพทย์ ระยะเวลา 140 ชั่วโมงจำนวน 363 รูป

“ส่วนที่จังหวัดสุโขทัย มีการเปิดกุฏิชีวาภิบาล ครบทั้ง 9 อำเภอ 11 แห่ง รวม 17 เตียงแล้ว และล่าสุดวันนี้ มีการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาล อีก 1 แห่ง คือ ที่วัดราษฎร์ศรัทธาราม ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย จำนวน 4 เตียง ทำให้ปัจจุบัน จังหวัดสุโขทัย มีกุฏิชีวาภิบาล จำนวน 12 แห่ง ครอบคลุมทั้ง 9 อำเภอ มี 21 เตียง ซึ่งถือว่า เพียงพอ เพราะขณะนี้ มีพระสงฆ์อาพาธ เพียงจำนวน 2 เตียง และมีการอบรมพระคิลานุปัฏฐาก ในจังหวัดสุโขทัย แล้ว 278 รูป นอกจากนี้ ทางสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ยังไม่นิ่งนอนใจ ได้มีการตรวจสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ แล้วจำนวน 1,802 รูป พบว่า เป็นกลุ่มปกติ 1,290 รูป กลุ่มป่วย 512 รูป และอาพาธติดเตียง 11 รูป จึงถือได้ว่า โครงการนี้ มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ที่จะช่วยรองรับดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธติดเตียง หรือ พระอาพาธระยะท้าย เพื่อให้มีคนดูแล โดยไม่ต้องถูกทอดทิ้ง” รมว.สาธารณสุข กล่าว


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...