วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ร.ร.วัดพุทธิสารตั้งศูนย์ครูนานาชาติรับ'เออีซี'

              ปี2558นี้ประเทศไทยก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทุกภาคส่วนจึงมีความการเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป และสิ่งหนึ่งที่จะรองรับนั้นก็คือภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษไม่นับรวมภาษาเพื่อนบ้านก็มีความจำเป็นเช่นเดียวกัน  ไม่ใช่มีความรู้แค่ทักทายก็จบกันเท่านั้น

              โรงเรียนวัดพุทธิสาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้วเขต 2 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่ที่ ม. 5 ต. หนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งมีนายสมศักดิ์ ถาวรยิ่ง เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีนักเรียนจำนวน 187 คน สภาพทั่วไปของหมู่บ้านเป็นชนบท ประชาชนมีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนห่างจากตัวอำเภอเมืองสระแก้วประมาณ 50 กิโลเมตร และใกล้กับประเทศกัมพูชาจึงจำเป็นต้องเตรียมความอย่างเติมที่เช่นกัน

              วิธีการของโรงเรียนวัดพุทธิสารนั้นได้มีการจัดหาครูอาสาสมัครต่างชาติมาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาสในโรงเรียนวัดพุทธิสารและโรงเรียนเครือข่าย โดยมีนายวิชัย นนทการ (ครูเจสัน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นับเวลาย้อนหลังแรกเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2555 มาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนมีอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษจำนวน 6 รุ่น 7 คน 5 สัญชาติ ได้แก่ ชาวกัมพูชา 2 คน ชาวจีน 2 คน ชาวอเมริกัน 1 คน ชาวอิตาลี 1 คน และชาวอังกฤษ คน ร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกับครูไทยในกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่เต็มกำลัง

              ผลการในการดำเนินการในภาคเรียนที่ผ่านมาในปีการศึกษา 2555 นักเรียนได้มีพัฒนาการเรียนภาษาอังกฤษดีขึ้น คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบ O-net ของระดับโรงเรียน สูงกว่า คะแนนเฉลี่ยผลการสอบระดับสำนักงานเขต และมีนักเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าระดับประเทศ 3 คน ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสำเร็จที่ดีขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของการสอบในระดับของโรงเรียน 5 ปีย้อนหลัง โรงเรียนไม่ได้เคยได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับหรือสูงกว่าระดับเขตแม้แต่ครั้งเดียว

              และผลการเอกชิ้นที่บ่งบอกถึงพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของโรงเรียนคือ โรงเรียนได้ส่ง นักเรียนได้เข้าร่วมการแข่งขันเล่านิทานภาษาอังกฤษ (Story Telling) ระดับช่วงชั้นที่ 2 และแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ ช่วงชั้นที่ 1 เป็นปีแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งผลการแข่งขันนักเรียนได้รับรางวัลเหรียญทองระดับภาค เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา และได้รับรางวัลเหรียญเงินในระดับเขตพื้นที่การศึกษาในการแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของโรงเรียน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อพัฒนาภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง

              จากผลลัพธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้รับผิดชอบโครงการจึงต้องการขยายผลการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยอาสาสมัครชาวต่างชาตินี้ โดยศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติ โรงเรียนวัดพุทธิสาร ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “INTERNATIONAL COORDINATIION CENTER VOLUNTEER TEACHER, THAILAND”ขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่และโรงเรียนต่างได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนที่ขาดโอกาสในอนาคตจึง ได้เข้ามาศึกษาดูงานและเพื่อจะทำการขยายโครงการนี้ต่อไปให้เป็นระบบที่มีมาตรฐานสากลต่อไปยิ่งขึ้น 

              “ขอบคุณมากที่มีแนวความคิดดีๆสามารถพัฒนากระบวนการเรียนการ สอนภาษาอังกฤษให้เด็กชอบและมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีจนได้รับรางวัล ขอชื่นชม ....ขยายแนวความคิดนี้สู่โรงเรียนอื่น เพื่อเด็กสระแก้วของเราจะได้เก่ง และมีประสบการณ์ที่ดี” นายศักดิ์ชัย บรรณสาร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 กล่าวและว่า

              ในช่วงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2556 นี้ มีอาสาสมัครได้ส่งใบสมัครและจะมาทำหน้าที่ช่วยสอนในโรงเรียนและโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 12 คน จากหลายๆประเทศมาทำงานร่วมกันกับครูไทย ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา ฟิลิบปินส์ เยอรมัน ตุรกี และแคนาดา ขณะนี้โรงเรียนต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อมกับการต้อนรับครูอาสาสมัครต่างชาติมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาอังฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน สำหรับอาสาสมัครต่างชาติ นอกเหนือจากการเข้ามาช่วยสอนให้กับนักเรียนชนบทไทยแล้ว ทางศูนย์ประสานงานฯ ก็ได้จัดกิจรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชาวต่างชาติด้วย อันได้แก่ คอร์สเรียนภาษาไทย รำไทย เข้าร่วมกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยพุทธ และพาชมแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด เป็นต้น ซึ่งอาสาสมัครก็ประทับใจเป็นอย่างมากและอาสาเป็นเครือข่ายของโรงเรียนในการหาอาสาสมัครให้ทางศูนย์ด้วย

              จากผลการดำเนินจึงเป็นที่ประจักษ์ระดับหนึ่งว่า กิจกรรมที่ได้ทำในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้อย่างดียิ่ง ดังนั้น กิจกรรมยังต้องมีการดำเนินต่อเนื่องต่อไปและต้องมีการพัฒนากิจกรรมให้ดีขึ้นยิ่งๆขึ้นไปให้มีคุณภาพในระดับสากล มีอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถ ทุ่มเททำงานอาสาด้วยใจซึ่งปราศจากสิ่งตอบแทนมาจำนวนมากร่วมกิจกรรม และเพื่อหวังว่านักเรียนและครูจะมีความรู้ความสามารถในด้านการใช้ภาษาอังกฤษดีอย่างมีคุณภาพ สามารถนำความรู้สร้างประโยชน์สุขต่อประเทศชาติต่อไป

              ขณะเดียวกันโรงเรียนวัดพุทธิสารได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติ (International Coordination Center for Volunteer Teachers, Thailand) ขึ้น ด้วยแนวคิดและความตั้งใจของนายวิชัย  ที่อยากเห็นนักเรียนไทยตัวน้อยๆในชนบทของจังหวัดสระแก้วมีโอกาสฝึกพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครต่างชาติจากทั่วมุมโลก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย บัดนี้ความฝันนั้นเป็นจริง เด็กน้อยเหล่านั้นมีโอกาสแล้ว               

              วันที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2556 เป็นวันครบรอบของกิจกรรมครูอาสาสมัคร 1 ปีเต็ม ของการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ฯ สรุปมีอาสาสมัครต่างชาติตั้งแต่เริ่มต้นถึงปัจจุบันมาปฏิบัติหน้าช่วยสอนภาษา จำนวนทั้งสิ้น 69 คน จาก 17 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย เยอรมัน อิตาลี โปแลนด์ บราซิล สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ไอแลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส  อัฟริกาใต้ เยอรมณี  และแคนาดา มีโรงเรียนประถมในจังหวัดสระแก้วเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 23 โรงเรียน และอนาคตจะขยายโอกาสให้กับโรงเรียนอื่นๆในภาคตะวันออกและระดับประเทศ                       

              ทีมงานมีครูเจสัน นนทการ (ผู้ก่อตั้ง) ครูอาสาฯCelia Long(มือดีมือขวาผู้ก่อตั้ง)จากนิวซีแลนด์ และอาสาฯศุภชัย วิสาชัย (เวปมาสเตอร์อาสาฯของเรา) ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนากิจกรรมโดยงบประมาณอันน้อยนิด  พวกเราเอาใจทำงาน ยินดีสละเวลา ทรัพย์และแรงใจ มุ่งมั่นทำงานนี้ โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นทรัพย์สินเงินทอง แต่ทว่า รอยยิ้มของภาพแห่งการเรียนรู้ของครูและนักเรียนทั้ง ไทยต่างชาติต่างหาก คือรางวัลที่พวกเราพึงปรารถนาเป็นที่สุด        

              และหวังว่ากิจกรรมนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กๆแล้ว ยังหวังว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งจะช่วยเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมไทยให้ประทับใจตรึงตาชาวโลกได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ชาติไทยยืนหยัดบนเวทีโลกอย่างทัดเทียมนานาประเทศอย่างภาคภูมิใจ ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมการทำงาน ภาพประทับใจและความรู้สึกดีๆของโครงการของพวกเราได้ที่ www.freevolunteerthailand.org

              ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย จ.สระแก้ว รศ.ชาญวิทย์ เทียมบุญประเสริฐ  รองอธิการบดีฝ่ายเครือข่ายการเรียนรู้สังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยในงานโครงการสัมมนาด้านการให้บริการแก่ชุมชนและสังคมปี 2555 ที่ผ่านมางานบริการวิชาการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม มศว ได้งบประมาณทั้งสิ้น 68 ล้านบาท  ปี  2556 งบประมาณเพิ่มขึ้น เป็น 115 ล้านบาท และปี 2557 งบประมาณเพิ่มเป็น 116 ล้านบาท  งบประมาณที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการที่มศวเน้นการดูแลพื้นที่ชุมชนโดยเน้นนโยบายรัฐบาล หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย  โดยมหาวิทยาลัยอยู่ในพื้นที่ไหนหรือใกล้เคียงกับกับจังหวัดไหนให้ลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแล เป็นพี่เลี้ยงให้จังหวัดนั้นๆ ในส่วนของมศว นั้น รับผิดชอบ 2 จังหวัด คือ จ. นครนายกและ จ.สระแก้ว

              งบประมาณงานด้านบริการวิชาการที่เพิ่มขึ้นทุกปีถือเป็นพันธะกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยต้องใส่ใจมากขึ้น เพราะงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหมายถึงภาษีของประชาชนที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของมหาวิทยาลัย เราจึงต้องรับฟังความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ให้มากขึ้น ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และติดตามผลเพื่อให้งานลงพื้นที่เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้การทำงานต้องเชื่อมโยงหลายๆ ส่วนเข้าหากัน คณะแต่ละคณะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ยิ่งบูรณาการมากและหลากหลายคณะ หลากหลายหน่วยงานก็จะยิ่งเกิดประโยชน์กับทางชุมชน อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณได้ด้วย จะเห็นว่าโครงการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศวนั้น จะไม่มีการทำงานซ้ำซ้อน เพราะใช้โครงการฯใช้วิธีการบริหารด้วยการพูดคุย ประชุมกันก่อนที่จะเขียนโครงการฯ

              “ในปี 2550 งานบริการวิชาการแก่ชุมชน และสังคม จ.สระแก้ว อ.วัฒนานคร มีเป้าหมายลงพื้นที่ต.หนองหมากฝ้าย และหนองตะเคียนบอน ส่วนในจ.นครนายก ลงพื้นที่ในอ.องครักษ์ ในปีงบประมาณ2556 ยังคงพื้นที่เดิมที่เคยให้บริการอยู่ แต่จะขยับไปสู่ตำบลอื่นๆ ได้อีก 2 ตำบล แต่ให้อยู่ในเขตอ.วัฒนานครในจังหวัดสระแก้ว และอ.องครักษ์ในจังหวัดนครนายก ในปี 2557 ขยายพื้นที่ออกไปอีก แต่ให้คงพื้นที่ในปีงบประมาณ 2556 ไว้ แต่สามารถขยายพื้นที่ออกนอกพื้นที่อ.วัฒนานคร จ.สระแก้วได้ และออกนอกพื้นที่อ.องครักษ์ เป็นจ.นครนายกได้ จะเห็นว่าการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศว มียุทธศาสตร์และการวางแผนอย่างเป็นระบบและไม่ทอดทิ้งพื้นที่เดิมเคยไปให้บริการมาก่อน การจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีความเข้มแข็งได้นั้น ต้องอาศัยความต่อเนื่อง และติดตามผลอย่างจริงจัง ก่อนจะลงพื้นที่หรือเปิดพื้นที่ใหม่ๆ โดยการทำงานบริการวิชาการนั้นเพื่อสอดรับกับนโยบายการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

              ผศ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า งานบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมของมศว นั้น นอกจากจะเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้านแล้ว เราต้องเน้นให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน มีความสุขและเกิดการพัฒนา เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

              ดังนั้นหากทาง  มศว จะเข้าไปดูแลศูนย์ประสานงานครูอาสาสมัครนานาชาติโรงเรียนวัดพุทธิสารด้วย เชื่อแน่ว่าจะทำให้การเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็จะมีความคืบหน้ายิ่งขึ้น


..........................

(ร.ร.วัดพุทธิสารตั้งศูนย์ครูอาสานานาชาติรับเออีซี หวัง'มศว'ลงพื้นที่ส่งเสริมอีกแรง : สำราญ สมพงษ์(fb-samran sompong)รายงาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...