วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

วิพากษ์'ค้านใส่ชุดนศ.'สะท้อนสังคมวจีทุจริต?

               ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กลุ่มหนึ่งจัดทำโปสเตอร์เป็นภาพชายหญิงในชุดนักศึกษาแสดงท่าทางมีเพศสัมพันธ์ ติดทั่วมหาวิทยาลัยท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงการคัดค้านที่อาจารย์ผู้สอนรายวิชา TU 130 หรือวิชาสหวิทยาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียน ด้วยข้ออ้างเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพความเป็นมนุษย์ ไม่เหมาะสมกับสโลแกนของมหาวิทยาลัยที่ว่า "มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

               จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะถูกผิดหรือเหมาะสมอย่างไรก็ว่ากันไปตามสังคมประชาธิปไตยที่ค่อนข้างไปทางอเมริกาที่ให้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ก่อนได้ ส่วนจะถูกผิดอย่างไรนั้นค่อยตามแก้กันทีหลังจะมีผลกระทบอย่างไรช่างหัวเผือก ก็ได้แต่คิดว่าคำว่าประชาธิปไตยในสังคมไทยนั้นจะใช้โดดๆคงไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตัวเอง คงจะต้องมีอะไรมานำหน้าหรือไม่ อย่างเช่น สันติ หรือสัมมาเป็นต้น เป็นสันติประชาธิปไตยหรือสัมมาประชาธิปไตย

               อย่างไรก็ตามอีกมุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น มีเวทีสัมมนาความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาโครงการปริญญาโทสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการเรียนการสอนทางธรรมโดยเฉพาะวิชาพุทธศาสนศึกษามาหลายปีแล้วเช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย ทำให้พระแม่ชีได้มีโอกาสให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกาษาต่อที่ต่างประเทศเช่นประเทศอินเดียเหมือนรุ่นพี่

               งานสัมมนาครั้งนี้มีนักศึกษาเสนอวิทยานิพนธ์เช่น แนวคิดเกี่ยวกับความตายทรรศนะของพระไพศาล วิสาโล การแก้ปัญหาโลกร้อนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมทานตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเถรวาท การเยียวยาผู้ป่วยด้วยวิธีการเชิงพุทธบูรณาการ : กรณีศึกษาบทบาทและผลงานองพระครรชิต อกิญจโน ณ โรงพยาบาลชัยภูมิ  มุมมองทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการตาย : กรณีศึกษาผู้ป่วยระยะสุดท้าย คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล  วิธีการแก้ปัญหาการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่พระพุทธศาสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท

               วจีทุจริตในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท การศึกษาเรื่องความโลภในพระพุทธศาสนาเถรวาท การวิเคราะห์การเป็นนักบวชของแม่ชีไทยในพระพุทธศาสนาเถรวาท การบำบัดความเครียดตามวิธีแก้ปัญหาแบบอริยสัจ 4 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิวิจารณ์ตลอดงานคือผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และดร.วุฒินันท์ กันทะเตียน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล

               วิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจกับเหตุการณ์สังคมไทยปัจจุบันนี้มากที่สุดโดยเฉพาะในรั้วมธ.เองคงจะเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง วจีทุจริตในสังคมไทยตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งเป็นผลงานของแม่ชีทิพวรรณ เจินยุหะ ในฐานะนักศึกษา โดยแม่ชีทิพวรรณได้เสนอว่าสาเหตุที่ทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เพราะมีพฤติกรรมในสังคมไทยเกิดบ่อยๆ โดยไม่สำนึกว่าผลกระทบตามมาจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสื่อมวลชนนำเสนอเฉพาะในสิ่งที่ไม่ดี ทางทีวีมีการเปิดเผยความลับของดาราแม้จะจริงแต่ไม่ควรนำเสนอ ละครทีวีช่วงเย็นมักใช้คำรุนแรงเช่นเรื่องแรงเงา  เนื้อหาของเพลงก็กำกวมส่วนใหญ่ด้านลบ เช่นเพลงคันหู แน่นอก กินตับ

               ทั้งๆที่พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การพูดจึงมีคำสอนที่เกี่ยวกับการพูดไว้มากมาย เช่นให้งดเว้นจากมุสาวาทให้กล่าวคำสัตย์ ซื่อตรง เชื่อถือได้ไม่ลวงโลก ไม่ใช่วาจาละเมิดความเป็นจริงเพราะเห็นแก่ตัวหรืออามิสสินจ้างและมุ่งทำลายผู้อื่น ให้ละเว้นวจีทุจริตซึ่งอยู่ในอกุศลกรรมบท 10 ประการ ถือเป็นศีลขั้นละเอียดคือนอกจากมีเจตนางดเว้นการกล่าวมุสาวาทแล้วยังรวมไปถึงเจตนางดเว้นจากวาจาส่อเสียด วาจาหยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าตามหลักพระพุทธศาสนา การพูดจึงเป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือบกพร่อง ส่วนการที่ละเมิดศีลหรืออกุศลกรรมบถเป็นการพูดไม่ชอบเป็นวจีทุจริตซึ่งเป็นบาปและให้โทษ

               แม่ชีทิพวรรณเผยว่า วิทยานิพนธ์เรื่องนี้แม้นจะไม่สามารถแก้อะไรได้มากไปจนถึงขั้นออกกฎหมายมาบังคับแต่สิ่งที่จะได้คือเป็นการเตือนสติ สังคมไม่ควรจะสนบสนุนหรือลอกเรียนแบบ

               อย่างไรก็ตามแม้นว่าวิทยานิพนธ์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องดีสะท้อนปัญหาของสังคมได้ชัดเจนที่เต็มไปด้วยวจีทุจริตโดยเฉพาะวาจาส่อเสียด วาจาหยาบคาย และการพูดเพ้อเจ้อ แต่ก็ติดปัญหาว่าจะยกตัวอย่างได้อย่างไร อย่างเช่นการใช้วจีทุจริตของนักการเมือง  เพราะหากมีการยกขึ้นมาแล้วอาจจะถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทได้ ดังนั้นจึงได้ให้มีส่วนในการให้ความเห็นไปว่า อาจารย์ที่ปรึกษาควรจะมีส่วนทำให้วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้สำเร็จออกมาให้สมบูรณ์มากที่สุดแม้นจะยากก็ตาม

               หากต้องการที่จะหาความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนาเพื่อนำมาแก้ปัญหาสังคมเพิ่มเติมแล้ว วันอาทิตย์ที่ 22 ก.ย. นี้บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร ) โดยมีพระสุธีธรรมานุวัตรเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จะจัดแสดงผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งปีหรือ “ยอดมงกุฏ” อันล้ำค่าทางวิชาการ พระพุทธศาสนา ที่พร้อมเผยแพร่ให้สาธารณชนเข้าใจเข้าถึงและนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้จริง ที่สามารถนำพุทธบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่อย่างลงตัว  พร้อมได้องค์ความรู้ใหม่ตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม มวลมนุษยชาติได้
        
               งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ระดับดีและระดับดีเด่นที่นำมาแสดงในวันดังกล่าวอาทิเช่น การสร้างสังคมตื่นรู้จากชุมชนไม้เรียง จ. นครศรีธรรมราช ของนายประยงค์ รณรงค์ เจ้าของรางวัลแมกไซไซ,  แนวทางการฝึกอานาปานสติเพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬา ที่กำลังเป็นไฮไลท์ของคนทั้งประเทศ คือกีฬาเร็คเก็ต น้องเมย์ แชมป์โลกแบตบินตันชาวไทย เป็นตัวอย่างของการมีสติในการเล่นกีฬาได้เป็นอย่างดี,  การลดสภาวะซึมเศร้าในผู้ประสบภัยพิบัติด้วยการรับบทสวดโพชฌงคปริตรเข้าจิตใต้สำนึก ซึ่งเป็นทางออกสำหรับคนที่กำลังมีความทุกข์ให้ทุกข์น้อยลง, รูปแบบการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นแนวทางของการฝึกอย่างถูกวิธี ฯลฯ

               นอกจากนี้ ยังมี ผลงานวิจัยของอาจารย์ดร.แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม เรื่อง รูปแบบและกระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา : กระบวนการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบุญสู่เส้นทางธรรม ที่สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงของปัญหาและสาเหตุการเข้าวัดของคนในสังคมอย่างคาดไม่ถึง และอีกหลากหลายเรื่องที่พร้อมจะนำเสนอออกสู่สาธารณะ ซึ่งล้วนน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

               สำหรับการสัมมนาเผยแพร่ผลงานในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556  เวลา 9.00 – 17.00 น. ณ หอประชุม มวก. 49  พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย พระนครศรีอยุธยา

.....................

สำราญ สมพงษ์รายงาน(FB-samran sompong) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...